ถ้าพูดถึงปราสาทหิน ทุกคนอาจจะนึกถึงบรรดาปราสาทหินในภาคอีสานของเรา อย่างปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง หรืออาจจะไปนึกถึงปราสาทหินในประเทศกัมพูชา อย่างปราสาทนครวัด ปราสาทบายน 

เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้จะไปไหนมาไหนยังไม่ค่อยสะดวก จะไปดูปราสาทหินใหญ่ๆ ในกัมพูชาก็ยาก วันนี้เลยจะขอพาไปชมสถานที่แห่งหนึ่งที่จำลองรูปแบบปราสาทหินโบราณมาแบบใกล้เคียงมากเลยทีเดียว นั่นคือ ‘ปราสาทนครหลวง’ แห่ง ‘วัดนครหลวง’ นั่นเองครับ

ปราสาทนครหลวง ปราสาทหินสไตล์ขอมของกษัตริย์อยุธยา ที่คนมักคิดว่าถอดโมเดลมาจากนครวัด

ปราสาทนครหลวง หรือ พระมหาปราสาทพระนครหลวง หรือ พระที่นั่งนครหลวง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2174 ในรัชสมัยของ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ภายหลังจากการสร้างวัดไชยวัฒนาราม 1 ปี โดยพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม กล่าวถึงการสร้างปราสาทนครหลวงเอาไว้ว่า

…ศักราช 993 ปีมะแมศก ทรงพระกรุณาให้ช่างออกไปถ่ายอย่างพระนครแลปราสาทกรุงกัมภุชประเทศเข้ามา ให้ช่างกระทำพระราชวังเป็นที่ประทับร้อน ตำบลริมวัดเทพจัน สำหรับจะเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท จึงเอานามเดิมซึ่งถ่ายมาใช้ชื่อว่า พระนครหลวง…

ปราสาทนครหลวงนี้ นอกจากใช้เป็นสถานที่ประทับในระหว่างเสด็จขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแล้ว ยังมีหลักฐานอีกว่า สถานที่แห่งนี้ใช้สำหรับประกอบพระราชพิธียิงอัตนาหรือการสวดอาฎานาฏิยสูตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรุษหลวง จัดขึ้นในเดือน 4 และพระราชพิธีกวนข้าวทิพย์และถวายข้าวยาคูแก่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่กระทำในเดือน 10 

ทว่าต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ศูนย์กลางอำนาจย้ายลงมายังกรุงเทพมหานคร ความทรงจำและความสำคัญของปราสาทนครหลวงแห่งนี้ก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป จากปราสาทของพระมหากษัตริย์ กลายเป็นวัดขึ้นใน พ.ศ. 2352 โดย ตาปะขาวปิ่น ผู้สร้างมณฑปและรอยพระพุทธบาท 4 รอยไว้ที่ลานชั้นบนสุดของปราสาทนครหลวง ก่อนที่ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานผ้าพระกฐินที่วัดแห่งนี้ และมีพระราชประสงค์ให้บูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทนครหลวง แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ เพราะมีอาคารประดิษฐานรอยพระพุทธบาท 4 รอยอยู่ข้างบนแล้ว จะรื้อออกก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่สมควร

และไม่ใช่แค่รัชกาลที่ 4 เท่านั้นนะครับ แม้แต่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็เคยเสด็จมาที่ปราสาทนครหลวงแห่งนี้เช่นกันใน พ.ศ. 2421 เมื่อครั้งเสด็จทางชลมารคประพาสมณฑลอยุธยา และเสด็จประทับร้อนที่นี่ ที่สำคัญ ในครั้งนั้นทรงให้มีการสำรวจปราสาทนครหลวง โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากาพย์กนกรัตน์ ทำการรังวัดและทำผังถวาย แต่ในการเสด็จครั้งนั้น ศาลาพระจันทร์ลอยยังเป็นแค่ร่องรอยอาคารบนเนินเฉยๆ แสดงว่าศาลาพระจันทร์ลอยสร้างขึ้นหลัง พ.ศ. 2421 ซึ่งเป็นปีที่รัชกาลที่ 5 เสด็จมาแน่นอน 

แต่ก่อนที่เราจะไปชมของจริงกัน มีเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่งที่จะชวนคุยกันก่อนครับ นั่นก็คือ ต้นแบบของปราสาทนครหลวงนี้นั่นเอง

แม้ว่าในพระราชพงศาวดารกล่าวว่านำรูปแบบของปราสาทหินจากประเทศกัมพูชามาสร้างปราสาทนครหลวง ซึ่งถามว่าเหมือนกับปราสาทหิน 100 เปอร์เซ็นต์ไหมก็คงไม่ใช่ แต่ถือว่าใกล้เคียงยิ่งกว่าอาคารใดๆ ในสมัยอยุธยา ทว่าในพระราชพงศาวดารกลับไม่ได้ระบุว่าปราสาทที่ว่าคือปราสาทอะไร คนส่วนใหญ่มักจะตีความกันว่าน่าจะเป็นปราสาทนครวัดอย่างแน่นอน เพราะเป็นปราสาทสำคัญและขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองพระนครของกัมพูชา 

แต่หากเปรียบเทียบรูปแบบแล้วจะเห็นจุดต้องสงสัยอยู่จุดหนึ่ง คือจำนวนยอดของปราสาทครับ หากนับจำนวนยอดทั้งหมด ปราสาทนครหลวงมีทั้งสิ้น 29 ยอด รวมยอดประธานและยอดบริวาร ในขณะที่ปราสาทนครวัดมีแค่ 9 ยอดเท่านั้น ต่างกันถึง 20 ยอดเลยนะครับ แถมแผนผังยังต่างกันอีกต่างหาก

ปราสาทนครหลวง ปราสาทหินสไตล์ขอมของกษัตริย์อยุธยา ที่คนมักคิดว่าถอดโมเดลมาจากนครวัด

ในเมืองพระนครของกัมพูชามีปราสาทหินอยู่มากมาย มีปราสาทอยู่หลังหนึ่งซึ่งมี 29 ยอดเท่ากับปราสาทนครหลวงเลยครับ ปราสาทแห่งนั้นก็คือ ‘ปราสาทบาปวน’ นั่นเอง ซึ่งถือเป็นปราสาทสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองพระนครเพราะตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน จึงมีสถานะประหนึ่งปราสาทหินสำคัญประจำพระราชวัง ซึ่งตรงกับคำอธิบายในพระราชพงศาวดารว่า ‘ปราสาทกรุงกัมภุชประเทศ’ พอดีเป๊ะเลย จึงสรุปได้ว่า ปราสาทนครหลวงได้แรงบันดาลใจมาจากปราสาทบาปวน ไม่ใช่ปราสาทนครวัดแต่อย่างใดนะครับ

ปราสาทนครหลวง ปราสาทหินสไตล์ขอมของกษัตริย์อยุธยา ที่คนมักคิดว่าถอดโมเดลมาจากนครวัด

ทีนี้ก็ได้เวลาไปชมปราสาทนครหลวงของจริงกันแล้วครับ

ปราสาทนครหลวง ปราสาทหินสไตล์ขอมของกษัตริย์อยุธยา ที่คนมักคิดว่าถอดโมเดลมาจากนครวัด

ปราสาทนครหลวงเป็นอาคารหลังใหญ่ที่สุดในวัดนครหลวงเลยครับ และมุมสวยที่สุดที่จะเห็นปราสาทนครหลวงได้กว้างที่สุดก็คือบริเวณสนามหญ้า (เดินทะลุไปทางด้านหลังศาลาพระจันทร์ลอยได้เลย) เพราะจะเห็นภาพรวมทั้งหมดของปราสาทนครหลวงในมุมกว้างแบบสุดๆ ซึ่งเราจะเห็นความย้อนแย้งกันระหว่างความใหม่กับความเก่า มีทั้งส่วนที่ยังเป็นอิฐเปลือยซึ่งเป็นของดั้งเดิม และส่วนที่มีฉาบปูนมีหลังคา ซึ่งเป็นของที่ทำในสมัยหลังแล้วด้วย

ความเป็นปราสาทขอมที่ผมได้เกริ่นมาตั้งแต่แรก จะเห็นได้ชัดเจนจากจุดนี้เลยครับ นั่นคือการมีฐานซ้อนกันถึง 3 ชั้น พบได้ในปราสาทขอมสำคัญหลายแห่ง อย่างปราสาทนครวัด ปราสาทบาปวน หรือปราสาทบายน ก็จะมีส่วนนี้อยู่ โดยชั้นที่ 1 และ ชั้น 2 ยังคงสภาพดั้งเดิมสมัยอยุธยาเอาไว้ได้ดีเลยทีเดียว แม้ส่วนยอดปราสาทบริวารจะหักหายไปไม่สมบูรณ์แล้วก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม ส่วนประตูและบันไดมีการฉาบปูนเอาไว้ และมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างจากส่วนที่เป็นอิฐอย่างชัดเจน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะส่วนนี้เกิดจากการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ ราวสมัยรัชกาลที่ 4 นั่นเอง 

พอเราเดินขึ้นไปบนฐานชั้นแรก เราจะพบทางประทักษิณมีร่องรอยของฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเอาไว้โดยรอบ และมีพระปรางค์ตั้งอยู่ตามตำแหน่งคล้ายๆ กับที่วัดไชยวัฒนาราม แค่เปลี่ยนจากเมรุทิศเมรุรายของวัดไชยวัฒนารามเป็นปรางค์ทิศและปรางค์มุม ปรางค์บางองค์ยังเหลือสภาพเกือบสมบูรณ์เลยครับ ถ้าเข้าไปข้างใน เราก็จะเห็นการก่ออิฐของส่วนยอดปราสาทอย่างชัดเจน

สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์
สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์

เมื่อขึ้นไปถึงฐานชั้นบนสุดของปราสาทนครหลวงซึ่งถือเป็นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะทั้งหมดล้วนผ่านการสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์แทบทั้งสิ้น แทนที่พระมหาปราสาทนครหลวงเดิมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งน่าจะสร้างเป็นอาคารเครื่องไม้ตามจารีตการสร้างพระราชมณเฑียรของพระมหากษัตริย์ด้วยไม้ 

แน่นอนว่าพระมหาปราสาทนครหลวงนั้นได้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาจนไม่เหลือร่องรอยใดๆ แล้ว กลายเป็นสาเหตุให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าปราสาทนครหลวงยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ถ้าสมมติว่าปราสาทนครหลวงนี้สร้างไม่เสร็จจริง พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาก็คงไม่ใช้สถานที่แห่งนี้สำหรับประทับ เมื่อเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท หรือใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆ หรอกครับ 

ที่ฐานชั้นบนสุดนี้เป็นที่ตั้งของมณฑปจตุรมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเอาไว้ข้างใน ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายเอาไว้หลายขนาด หน้าบันของมณฑปมีจารึกระบุข้อความว่า “มณฑป พระนครหลวง ปฏิสังขรณ์ขึ้นเมื่อปีรัตนโกสินทร์ศก 122”  ตรงกับ พ.ศ. 2446 ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งน่าจะเป็นการบูรณะโดย พระปลัดปลื้ม (ต่อมาคือ พระครูวิหารกิจจานุการ (ปลื้ม)) พระชาวอำเภอนครหลวงที่ไปบวชอยู่ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส และได้มาบูรณปฏิสังขรณ์วัดนครหลวงแห่งนี้

สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์

มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทมีรูปแบบค่อนข้างเรียบง่าย ไม่มีการประดับหน้าบันอะไร มียอดเป็นมณฑป แต่ก่อนเข้าไปชมข้างในมณฑป เราจะพบรูปพระคเณศที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณด้านเข้าด้านหน้า ซึ่งพระคเณศองค์นี้อาจดูแปลกตาไปสักหน่อย เพราะท่านนั่งอยู่บนแท่นหัวกะโหลก เชื่อกันว่ามีต้นแบบมาจากพระคเณศศิลปะชวาตะวันออกจากจันทิสิงหาส่าหรี สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 16 และจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

ผู้สำเร็จราชการชาวฮอลันดาน้อมเกล้าฯ ถวายพระคเณศองค์นี้แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสชวาเมื่อ พ.ศ. 2439 ไม่เชื่อลองเทียบกันดูครับว่าคล้ายกันขนาดไหน

สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์
สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์

พอเข้ามาข้างในก็จะพบกับรอยพระพุทธบาท 4 รอยขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางอาคาร ในแต่ละด้านมีแท่นฐาน ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาเอาไว้หลายองค์และหลายปาง ทั้งปางที่พบเห็นได้ทั่วไปอย่างปางมารวิชัย และปางที่พบได้ไม่บ่อยนักอย่างปางป่าเลไลยก์ด้วยครับ 

ส่วนรอยพระพุทธบาท 4 รอยที่อยู่ตรงกลางนี้ถือเป็นรอยพระพุทธบาท 4 ขนาดใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเลยครับ โดยรอยพระพุทธบาททั้ง 4 เรียงจากใหญ่ไปเล็กและมีการเรียงสลับไปมา เชื่อกันว่าตาปะขาวปิ่นผู้สร้างได้แรงบันดาลใจมาจากวัดพระพุทธบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากโดยเฉพาะกับชาวเชียงใหม่ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ รอยพระพุทธบาทที่ปราสาทนครหลวงนี้มีลวดลายมงคล 108 ประการอยู่บนรอยพระพุทธบาทด้วย แต่ที่เชียงใหม่เป็นรอยพระพุทธบาทธรรมชาติ จึงไม่มีลายใดๆ ครับผม

สืบประวัติ ปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์
สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์

นอกจากปราสาทนครหลวงแล้ว ภายในวัดนครหลวงยังมีอาคารที่น่าสนใจหลังอื่นอีกด้วยครับ มาเริ่มกันที่ศาลาพระจันทร์ลอย ในอดีตเคยมีอาคารบางหลังอยู่ในบริเวณนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาคารก็ชำรุดทรุดโทรมลง ชาวบ้านจึงได้นำอิฐจากอาคารหลังเดิมไปสร้างวัดจนไม่เหลือสภาพใดๆ จนกระทั่งพระปลัดปลื้มสร้างศาลาพระจันทร์ลอยแห่งนี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หลัง พ.ศ. 2421 ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการบูรณะมณฑปรอยพระพุทธบาทบนปราสาทนครหลวง 

ศาลาหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานศิลาพระจันทร์ลอย เป็นแผ่นหินทรงกลมขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นธรรมจักรแต่ไม่มีซี่ มีการแกะสลักเป็นพระพุทธรูป เจดีย์ และรูปสัตว์เอาไว้บนแผ่นหินนี้ด้วย

สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์
สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์

ที่สำคัญ ศิลาพระจันทร์ลอยนี้เดิมไม่ได้อยู่ที่วัดนี้ แต่นำมาจากวัดอื่น แถมโบราณวัตถุชิ้นนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากทีเดียวเลยครับ

ศิลาพระจันทร์ลอยนี้เล่ากันว่าลอยน้ำมาตามแม่น้ำป่าสัก (ลอยน้ำอีกแล้ว ตามสไตล์ของวัตถุศักดิ์สิทธิ์หลายชิ้นที่มักมีประวัติลอยน้ำมา) และจุดที่พบศิลานี้เป็นจุดแรกก็คือบ้านศิลาลอย อำเภอท่าเรือ แต่ชาวบ้านไม่สามารถนำหินนี้ขึ้นมา จนลอยต่อไปยังวัดเทพจันทร์ และวัดแห่งนี้แหละครับที่นำศิลาพระจันทร์ลอยขึ้นมาสำเร็จ แต่ไม่ได้สำเร็จทันทีนะครับ ตอนแรกเกือบไม่ได้เหมือนกัน จนสมภารวัดเทพจันทร์ผู้มีวิชาอาคมต้องนำสายสิญจน์ 3 เส้นไปคล้องจึงนำขึ้นมาได้ และประดิษฐานยังวัดแห่งนี้

แล้วศิลาพระจันทร์ลอยมาอยู่ที่วัดนครหลวงได้ยังไง มาฟังกันต่อนะครับ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงมหาดไทยได้อัญเชิญศาลาพระจันทร์ลอยนี้ไปเก็บไว้ที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร โดยอัญเชิญขึ้นที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาท่าเรือนี้ถูกเรียกว่า ‘ท่าพระจันทร์’ มาจนถึงปัจจุบันเลยครับ ซึ่งก็แน่นอนครับว่าท่าพระจันทร์นี้ ก็คือท่าพระจันทร์ตรงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั่นเอง

แต่ศิลานี้อยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ไม่นานก็มาเหตุให้ต้องกลับไปยังอำเภอนครหลวงอีกครั้ง เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงพระสุบินว่า ให้นำพระจันทร์ลอยกลับไปไว้ยังที่เดิม จึงอัญเชิญศิลาพระจันทร์ลอยนี้กลับไปยังอำเภอนครหลวง แต่แทนที่จะกลับไปยังวัดพระจันทร์ลอยดังเดิม ศิลานี้กลับนำมาประดิษฐานยังวัดนครหลวงแทน และอยู่มานับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากศาลาหลังนี้ประดิษฐานศิลาพระจันทร์ลอย หน้าบันของศาลาหลังนี้จึงเป็นรูปพระจันทร์ในม่านเมฆ แล้วข้างในก็ไม่ได้มีแค่ศิลาพระจันทร์ลอยนะครับ ยังมีพระพุทธรูปหินทรายแดงอีกหลายองค์ประดิษฐานอยู่ในนี้ด้วยครับ

แน่นอนว่าเมื่อมีวัดก็ต้องมีโบสถ์หรืออุโบสถด้วยครับ อุโบสถของวัดนครหลวงเป็นจุดที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยมีคนไปชมเท่าไหร่ แต่ก็สวยอย่างเรียบง่ายทีเดียวครับ ตัวอาคารน่าจะสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตาม ทั้งใบเสมาหินทรายแดงที่อยู่รอบอาคารและพระประธานข้างใน ต่างก็เป็นศิลปะอยุธยาด้วยกันทั้งคู่ 

อ้าว แต่ผมบอกว่าตอนแรกเลยที่นี่ไม่ใช่วัด และอุโบสถหลังนี้มาได้ยังไง ก็คงมาตอนที่มีการปรับเปลี่ยนที่นี่จนกลายเป็นวัดนั่นละครับ โดยอาจอัญเชิญทั้งพระประธาน ทั้งใบเสมามาจากวัดร้างในบริเวณใกล้เคียงก็ได้ เพราะถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่า ใบเสมารอบอุโบสถนี้มีอยู่ประมาณ 2 รูปทรงซึ่งต่างกันอย่างมาก ผิดวิสัยใบเสมาที่ในวัดเดียวกันมักจะมีรูปแบบเดียวกัน ดังนั้น จึงอาจเป็นเครื่องยืนยันว่าทั้งพระประธานและใบเสมา 2 รูปทรง น่าจะอัญเชิญมาจากที่อื่นจริงๆ

สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์
สืบประวัติปราสาทนครหลวง ปราสาทหินที่ถอดโมเดลจากขอม แปลงเป็นวัดในสมัย ร.4 และกลายเป็นที่ตั้ง ‘พระจันทร์’ จากท่าพระจันทร์

เห็นไหมครับว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความทรงจำบางอย่างก็ค่อยๆ เลือนหายไปด้วยกันเช่นกัน จากปราสาทราชวังกลายสภาพเป็นวัด ซึ่งหากมองในมุมหนึ่ง ก็น่าเสียดายที่เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นปราสาทนครหลวงในสภาพสมบูรณ์ เมื่อครั้งยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์อีกแล้ว

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็กลายเป็นเรื่องดีที่การเปลี่ยนสภาพในครั้งนั้น ทำให้ปราสาทนครหลวงคงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ในสภาพที่ยังปรากฏร่องรอยความยิ่งใหญ่ในอดีตเอาไว้ได้พอสมควร ไม่เสื่อมหายพังทลายไปเช่นโบราณสถานหลายแห่งที่สิ้นสภาพ จนไม่เหลือร่องรอยอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังได้จดจำ

เกร็ดแถมท้าย

  1. นอกจากวัดนครหลวงแล้ว ใกล้ๆ กันยังมี ‘วัดใหม่ประชุมพล’ อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของอำเภอนครหลวงซึ่งมีทั้งโบสถ์เก่า ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลาย และจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลายที่ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี รวมไปถึงเจดีย์องค์ใหญ่ที่มีจิตรกรรมอยู่ข้างในด้วยครับ
  2. ส่วนใครที่สนใจเรื่องราวของวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งวัดนครหลวงตั้งอยู่ในระหว่างเส้นทางจากพระนครศรีอยุธยาไปไหว้พระพุทธบาทนั้น ผมได้เคยเขียนถึงไปแล้ว อ่านเพิ่มเติมได้นะครับ
  3. ถ้าใครสนใจเรื่องราวของปราสาทนครหลวงแบบลึกซึ้ง ขอแนะนำบทความใน วารสารหน้าจั่ว ชื่อ ปราสาทนครหลวง อยุธยา ของ อ.เกรียงไกร เกิดศิริ และคณะได้เลยครับ เขียนวิเคราะห์ได้น่าสนใจและลึกซึ้งมากเลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ