“มันต้องคิดตั้งแต่เริ่มเลยครับ ว่าเราอยากอยู่แบบนี้”

ใหม่-ประพันธ์ นภาวงศ์ดี ภูมิสถาปนิกแห่ง Shma Company Limited เจ้าของบ้านหลังงามเอ่ยเริ่มบทสนทนา หลังพาพวกเราเดินขึ้นบันไดมานั่งคุยกันยังดาดฟ้าชั้น 3 ของบ้าน วันนั้นอุณหภูมิเฉียด 40 องศา มีเพียงร่มเงาไม้ใหญ่รอบด้าน และลมพัดเบาๆ คลายร้อน 

ใหม่-ประพันธ์ นภาวงศ์ดี ภูมิสถาปนิกแห่ง Shma Company Limited

เอาเข้าจริง เราแทบไม่ได้รู้สึกร้อนเท่าอุณหภูมิที่ปรากฏเลยสักนิด

มองจากด้านนอก เราปล่อยความทึ่งไปปะทะกับต้นไม้สูงชะลูดที่ลดหลั่นไล่ระดับชั้นตามอาคารชั่วครู่ ก่อนมองลอดหลังประตูเหล็กสีขาวสูงโปร่งจรดชั้น 2 ซึ่งทำหน้าที่เป็นรั้วในตัว เห็นตัวอาคารสีขาว 3 ก้อน เรียงทอดยาวไปในแนวลึก เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของอากาศจากทิศทางลมที่มาตามแนวเหนือใต้ และเมื่อเบรกตัวอาคารเป็น 3 ก้อนเช่นนี้ มีข้อดีคือทำให้มีคอร์ตกลางบ้านสำหรับปลูกต้นไม้ได้อีกที่

ก่อนมา เรานิยามบ้านสีขาวหลังนี้ให้เป็น

บ้านที่อยากทดลองหาความเป็นไปได้ในการปลูกต้นไม้ใหญ่บนอาคาร

บ้าน 3 ชั้นที่ปลูกต้นไม้กว่า 150 ต้นบนบ้าน

บ้านป่ากลางเมือง

และบ้านที่วางฟังก์ชันเหมือนคอนโดมิเนียม

ก่อนกลับ เราว่าไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่าประโยคนี้

‘บ้านที่แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองเริ่มต้นได้จากที่บ้าน’

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

บ้าน 3 ชั้นที่เริ่มจากการอยากทำสวนบนหลังคา

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ใหม่และพี่สาวทั้งสองคิดอยากให้ครอบครัวรวมถึงคุณแม่ที่เริ่มอายุมากแล้ว กลับมาอยู่รวมกันอีกครั้ง พวกเขาตกลงกันว่าจะสร้างบ้านหลังใหม่บนที่ดินผืนเดิมซึ่งเคยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก แต่พอโตขึ้น ความต้องการใช้พื้นที่ก็โตตามไปด้วย เมื่อพื้นที่ที่เคยมีสวนหน้าบ้านต้องหายไป เขาคิดหาวิธีใหม่ที่จะทำให้บ้านยังคงมีทั้งสวนและพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต้องการ บนที่ดินผืนเดิมขนาด 72 ตารางวานั้น

“สวนบนหลังคาเป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมเราถึงเอาทุกอย่างไว้ข้างบน ซึ่งเราอยากทำอยู่แล้วและคิดว่ามันก็ดีด้วย เพราะว่าสวนหลังคาเหมาะกับการปลูกพวกสวนกินได้ที่ต้องการแสงมากเป็นพิเศษ แต่ส่วนหนึ่งเราก็ยังอยากให้มันดูร่มรื่น ดูมีความเป็นธรรมชาติ

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน
บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

“การใช้งานในชีวิตประจำวันก็ด้วย คือเราไม่อยากขึ้นสูงกันเยอะ หมายถึงเราไม่อยากให้สร้างบ้านเป็นทรงสูง ซึ่งมันจะกลายเป็นว่าคนต้องเดินสามชั้น เพื่อขึ้นมานอน เราอยากอยู่กันแค่ชั้นสอง มันก็เลยต้องแผ่เต็มไซส์ที่ดินแบบนี้ แล้วเราก็แบ่งอาคารเป็นสามก้อน มีคอร์ตให้แสงและลมเข้ามาในบ้านได้”  ใหม่เล่าต่อหลังขยับมุมนั่งหลบแดด

ส่วนฟังก์ชันอื่นๆ ในบ้านก็สร้างโดยอ้างอิงจากใช้งานจริง อย่างห้องครัวควบรวมห้องกินข้าวที่อยู่ตั้งแต่หน้าบ้านหากซื้อของอะไรกลับมาก็เก็บตู้เย็นได้เลย ไม่ต้องเดินไปถึงข้างหลัง นอกจากต้นไม้ เขาบอกว่าครัวนี่แหละก็เป็นอีกหัวใจหลักของบ้าน เพราะทุกคนใช้เวลาร่วมกันในห้องนี้เยอะที่สุด

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน
บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

ถัดมาเป็นห้องนั่งเล่นไซส์เล็ก แต่ใหญ่พอให้ครอบครัวนั่งดูหนังด้วยกันในเวลาว่าง ตรงข้ามเป็นห้องคุณแม่ และห้องพี่สาว

ขึ้นไปบนชั้น 2 เขาเอาข้อดีของคอร์ตกลางบ้านมาช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้อีกชั้น ระหว่างห้องของครอบครัวพี่สาวอีกคนหนึ่ง รวมถึงห้องนอนหลานๆ และห้องนอนของเขา ซึ่งพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคนนี้ เขาออกแบบโดยใช้วิธีคิดเดียวกับคอนโดมิเนียม คือให้มีพื้นที่กว้างพอสำหรับใช้ชีวิตส่วนตัวอยู่ในห้องได้ตลอดเวลาอย่างไม่อึดอัด มีทางเดินทอดยาวก่อนเข้าสู่ตัวห้อง มีแพนทรีเล็กๆ ในตัว ตรงข้ามมี Walk-in Closet และห้องน้ำไร้ประตูที่ผนังอีกฝั่งเปิดโอเพ่นให้เทควิวคอร์ตยาร์ดเต็มตา

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

แต่ละห้องเน้นใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ Built-In สีเรียบน้อยชิ้น เข้าคู่กันกับบ้านโทนขาวสะอาดอย่างพอดี ไม่มาก แต่ก็ไม่เรียบนิ่งเกินไปนัก สีโทนอบอุ่นของไม้ยิ่งขับเน้นให้บรรยากาศบ้านน่าอยู่ บวกกับเพดานสูง 3 เมตร และช่องเปิดสูงจรดเพดานที่พรางสายตาด้วยแผงระแนงเหล็กสีขาว ช่วยทำให้บ้านดูโปร่งโล่งอย่างไม่ต้องสงสัย

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

ส่วนชั้น 3 ก็ยกให้เป็นห้องของต้นไม้ ห้องซักล้างและตากผ้าโดยเฉพาะ รวมพื้นที่ใช้งานจริงจึงอยู่ที่ 300 ตารางเมตร

ขณะเดินขึ้นบันได เราสังเกตเห็นช่องสกายไลท์เหนือบันได ตรงนี้ใหม่บอกว่าอยากให้แสงส่องสว่างทั้งวันโดยไม่ต้องเปิดไฟ โดยเทคนิคเล็กๆ ที่น่าสนใจมาก คือการขยับส่วนพักบันไดไม่ให้ชนกับกำแพง เพื่อให้แสงส่องลอดไปจนถึงชั้นหนึ่ง ส่วนราวกันตก ลูกนอนและลูกกรงซี่ห่างช่วยทำให้บ้านดูไม่ทึบตัน รวมถึงช่องระหว่างอาคารที่เจาะช่องแสงพร้อมปลูกต้นไม้เอาไว้นั้น ล้วนทำให้บ้านสว่างและลดใช้พลังงานได้แทบทั้งสิ้น

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน
บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

บ้านที่อยากให้ Google Map มองเห็นเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

นอกจากครัวสวนกินได้แล้ว สารพัดพรรณไม้เขียวชอุ่มบนตัวบ้านทุกชั้น คือโปรเจกต์ที่ภูมิสถาปนิกหนุ่มอยากทดลองปลูกต้นไม้ใหญ่บนอาคาร

“การปลูกต้นไม้ใหญ่บนอาคาร เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันว่ามันจะรอดไหม ซึ่งผมเป็นภูมิสถาปนิกอยู่แล้ว ก็เลยคิดให้มันเป็นการทดลองดูความเป็นไปได้ว่าต้นไม้จะเติบโตได้แค่ไหน

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

“อีกอย่างที่เราสนใจคือธรรมชาติกับเมืองมันอยู่คู่กันได้ ซึ่งเราไม่ควรคิดแบ่งแยกว่าเมืองก็เมื้อง เมือง ธรรมชาติก็ธรรมช้าด ธรรมชาติ ความจริง มันอยู่ร่วมกันได้ ถ้าเราแปลนดีๆ จัดการดีๆ

“เราอยากให้บ้านหลังนี้เป็นคำตอบว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองมันอยู่ตรงไหนได้บ้างในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อค่าที่ดินแพงขึ้นเรื่อยๆ คนก็ไม่อยากเหลือพื้นที่บนดินมาปลูกต้นไม้แล้ว อันนี้เป็นเทรนด์ที่เราเห็น เราเลยคิดว่าจะทำยังไงให้สีเขียวบนอาคารมันยั่งยืนได้ แต่ก็เราไม่อยากเห็นแบบที่ปลูกต้นเดียวแล้วนั่งหงอยๆ” เขาอธิบายด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ

“ตอนนี้ก็เห็นภาพชัดเลยนะครับ ว่าปลูกหลายๆ ต้นมันช่วยพยุงกันเองได้ ในแง่การพยุงหมายถึงมันไปรอดกันมากขึ้น เหมือนมันเกื้อกูลกัน” ชายหนุ่มเสริม

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน
บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

สำรวจด้วยสายตาคร่าวๆ แค่บริเวณชั้น 3 นี้ มีพันธุ์ไม้หลายชนิดล้อมตัวเราเอาไว้ ลักษณะแต่ละต้นล้วนเป็นไม้ยืนต้นทรงสูง ซึ่งสูงกว่า 6 – 8 เมตร แน่ๆ

“มีต้นอะไรบ้างคะเนี่ย” เราเอ่ยถามสั้นๆ

“มีต้นพะยอม ต้นคูน จำปี กันเกรา พะยูง บุหงาส่าหรี แคนา” เขานิ่งไปครู่หนึ่งคล้ายกำลังคิด ก่อนเอ่ยต่อว่า “เยอะมากครับ”

“ผลไม้ก็มีนะครับ อย่างชมพู่ก็ออกปีละครั้ง มะเฟือง มะยม มะยงชิดก็มีนะ แต่ยังไม่ได้ออก ส้มโอ ผักสวนครัวก็มีมะนาว กับเลมอนที่เพิ่งออกลูกอยู่ตอนนี้ มีต้นหม่อน มัลเบอรี่ ตระไคร้ ที่ทดลองปลูกหลายๆ อย่างก็เพื่อให้เก็บกินได้ตลอด บางอย่างเอาไปต้มดื่มเป็นน้ำสมุนไพร ส่วนชั้นล่างสุดพื้นที่แคบ ก็เลยปลูกกล้วยแทน ดูแลง่าย ได้กินตลอด แบ่งกระรอกด้วย” ระหว่างไล่เรียงชื่อพันธุ์ไม้ เขาก็ชี้มือไปที่ระรอกน้อยอีกครอบครัวหนึ่งที่มาปักหลักอยู่ด้วยกัน

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

“ที่เราตั้งใจคืออยากให้สวนบนหลังคามันปกคลุมไปด้วยไม้ยืนต้น ให้มองจาก Google Map แล้วเห็นเป็นสวนเลยครับ ไม่ใช่ตัวบ้าน ส่วนชั้นอื่นๆ อย่างชั้นสองก็อยากให้เป็นวิวที่มองเห็นได้จากถนน และรักษาความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่อยู่อาศัย ตอนนี้มีอย่างน้อยๆ ยี่สิบกว่าชนิด รวมทั้งหมดแล้วน่าจะประมาณหนึ่งร้อยห้าสิบต้นได้ครับ ที่ต้องมีเยอะขนาดนี้เพราะอยากปลูกให้เหมือนป่า คล้ายๆ ป่าเบญจพรรณ

“พี่สาวก็ชอบ ส่วนพี่เขยเองมาจากต่างจังหวัดก็ชอบธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ตอนก่อสร้าง แน่นอนเขาอาจจะยังไม่เห็นภาพหรอกว่าจะเขียวขนาดนี้” เขาเล่านึกย้อนไปอย่างติดตลก

บ้านที่สร้างให้ทั้งคนทั้งต้นไม้อยู่

หลังออกแบบแล้วว่าอยากให้บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่ของต้นไม้กว่า 150 ต้น ขั้นตอนที่สำคัญคือปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง เพื่อวางแผนคำนวณทั้งเรื่องการรับน้ำหนักและการดูแลจัดการต้นไม้เหล่านั้นด้วย

ส่วนหาการข้อจำกัดให้เหมาะสมกับการเติบโตของต้นไม้ ใหม่บอกว่าทดลองปลูกที่ความลึกของดิน 1 เมตร ซึ่งปกติของสวนดาดฟ้าจะอยู่ที่ 1.5 เมตรและออกแบบให้ความกว้างของกระบะอยู่ที่ 2-3 เมตร

“เราปลูกต้นไม้จากต้นที่เล็ก เพราะเราเชื่อว่ามันจะปรับตัวเพื่อการเติบโตตามสภาพแวดล้อมได้ ที่เห็นต้นขนาดนี้ ตอนปลูกครั้งแรกสูงประมาณครึ่งเดียวเมตรสองเมตร นี่ใช้เวลาสองปีกว่าเองนะ แล้วพอความลึกของดินมันจำกัด มันก็จะไม่โตไปกว่านี้ เหมือนกับปลูกบนพื้นดินอยู่แล้ว

“อีกอย่างเราก็ไม่ได้เลือกต้นที่รากมันแตกแขนงแพร่ออกไปมากอย่างพวกต้นไทร เราปลูกต้นไม้ทรงสูง ไม่เน้นต้นที่ทรงแผ่กว้าง เพราะกลัวว่ามันจะเอียงแล้วล้มได้ ซึ่งต้นไม้ที่เป็นทรงสูง กิ่งจะไม่แผ่ออกไปด้านข้าง รากก็จะไม่แผ่ขยายด้วยครับ

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

“ส่วนถ้ากังวลว่ารากจะชอนไช กังวลเรื่องความแข็งแรงหรือการรั่วซึม พวกนั้นเราก็ต้องมีระบบที่จะป้องกันข้างใน เช่น ตัวกระบะต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่ใช่แค่ก่ออิฐ ถ้าทำแค่นั้นมันจะมันไม่แข็งแรงและรับน้ำหนักของดินไม่ได้อยู่แล้ว และต้องมีตัวกันซึมสองชั้น ผสมตัวกันซึมที่คอนกรีตหนึ่งชั้น ส่วนตัวกันซึมอีกชั้นเป็นแผ่นยางพ่นไฟให้มันเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกับตัวคอนกรีตอีกที

“ผมว่าถ้าอยากทำคงต้องปรึกษาสถาปนิกหน่อย เพราะว่าไม่ใช่เรื่องเบสิกขนาดที่ใครก็ทำได้ มันมีผลิตภัณฑ์พิเศษที่ต้องใช้หลายๆ อย่าง อย่างเมื่อกี้เป็นพวกกันซึมที่กันไม่ให้รากไช แล้วก็ต้องรู้เรื่องการวางตำแหน่งให้ถูกเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะการวางตำแหน่งท่อน้ำ แล้วก็ต้องคำนวณโครงสร้างเผื่อต้นไม้โตไว้อยู่ดี ถ้าปรึกษาวิศวกรด้วยเขาคำนวณได้อยู่แล้ว เราแค่บอกว่า ดินหนักเท่านี้ แล้วมีต้นไม้กี่ต้นอะไรแบบนี้

“ส่วนระบบน้ำก็เราต่อท่อในระบบเรียบร้อย รดน้ำก็แค่เปิดก๊อก ที่สำคัญคือเราต้องคิดเผื่อการดูแลรักษาให้มันง่ายด้วย ไม่งั้นเราจะไม่มีแรงไปดูแลรักษามัน”

ส่วนเรื่องค่าก่อสร้างที่หลายคนอยากรู้ว่าราคาเป็นมิตรไหม เราแอบกระซิบถามมาให้แล้ว

“ต้นทุนการก่อสร้างไม่ได้แพงกว่าบ้านอื่นนะ ตามมาตรฐานการสร้างบ้านสมัยนี้ที่ตกประมาณสองหมื่นกว่าบาทต่อตารางเมตร ผมว่ามันก็บริหารจัดการได้ ถ้าเราก็เลือกวัสดุภายในให้มันถูกหน่อย ไม่ได้สเปกอะไรพิเศษมาก เราก็ไปเฉลี่ยเอาตรงนั้น

“ส่วนต้นไม้ ใช้ต้นเล็กเพราะฉะนั้นราคายิ่งไม่แพง ต้นนึงหลักร้อย ช่วยประหยัดงบ แล้วรอโตเอา แต่ถ้าซื้อไซส์ใหญ่นี้มาเลยอาจมีห้าพันหกพัน หรือเกือบหมื่นบาท”

บ้านที่ดูแลไม่ยากและไม่เยอะเหมือนต้นไม้

อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนอาจคิดไกลไปก่อนแล้วว่าต้องดูแลรักษายาก ใหม่เล่าว่าไม่ได้ลำบากอะไร เพราะอย่างที่เขาบอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะทำให้คล้ายกับป่าเบญจพรรณซึ่งเป็นป่าโปร่งและมีพันธุ์ไม้หลายชนิดคละเคล้าปนกัน เมื่อไม้ยืนต้นหลายชนิดอยู่รวมกันเป็นระบบนิเวศที่มันเกื้อกูลกันแล้ว แทบไม่ต้องดูแลอะไรมาก ปล่อยไปตามธรรมชาติได้เลย

“เราพยายามคิดว่าจะให้มันอยู่แบบยั่งยืนได้ยังไงด้วยครับ ที่บอกว่าทดลองคืออยากรู้ว่า พื้นที่สีเขียวบนอาคารที่เป็นต้นไม้ใหญ่ เป็นป่าแบบนี้ มันจะเป็นไปได้ไหม รวมถึงมองเรื่องดูแลรักษาให้น้อยที่สุด แล้วเราจะไม่ปลูกไม้พื้นราบเท่าไหร่ เพราะอยากให้พวกใบ้ไม้หล่นลงมาคลุมบนดิน เหมือนในป่าจริงๆ และมันจะได้กลายเป็นดินในอนาคต

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

“จากที่เคยทำมา ปัญหานึงของการปลูกต้นไม้บนอาคารคือดินจะเริ่มยุบ และทรุดตัวไปเรื่อยๆ เลยคิดว่าถ้าเราทำให้ใบไม้กลายเป็นดินได้ เราก็ไม่ต้องมานั่งเติมดิน ซึ่งเท่าที่ดูก็ยังโอเคเลยสองปีผ่านไป ดินเหมือนไม่ได้ลดลง แต่ถ้าลองกรุยดูก็จะเห็นชั้นของใบไม้ทับกันอยู่ และใบไม้เหล่านั้นยังช่วยกักเก็บความชื้น ช่วยให้ดินอุ้มน้ำ พอมันเกื้อกูลกันได้ ก็ให้ธรรมชาติดูแลกันเอง”

นอกจากการปล่อยให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันเองแล้ว ส่วนหนึ่งก็ต้องมีการดูแลตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม้ให้ต้นไม้หนาแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่อาจมีลมพัดแรงจนกิ่งหักหรือต้นไม้ล้ม เขาจึงมีการเสริมไม้ค้ำยันเป็นแนวยาวเรียงต่อกันทุกต้นเข้าช่วย

“พอมันอยู่ตัวแล้วเราดูแลมันน้อยลงเรื่อยๆ คือปีแรกต้องรดน้ำเยอะ เพราะว่ามันยังไม่มีใบไม้คลุมดิน เอาจริงค่าดูแลรักษาเหล่านี้ไม่ได้มากมาย อย่างน้อยเราประหยัดค่าไฟไปเยอะ เพราะต้นไม้เหล่านั้นกลายเป็นฉนวนกันความร้อนจากหลังคาสู่ตัวบ้าน บางวันแทบไม่ต้องเปิดแอร์เลยด้วยซ้ำ ส่วนค่าน้ำก็จะสูงหน่อย แต่ว่าสิ่งที่เราได้จากต้นไม้มันเยอะกว่านั้นไงครับ สูดลมหายใจแล้วมันสดชื่น บางวันกลิ่นเหมือนรีสอร์ทเลย”

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

ส่วนปัญหาคลาสสิกกับข้างบ้าน ไม่ว่าจะเศษใบไม้ที่ปลิวร่วงไปบ้าง หรือแม้กระทั่งกิ่งไม้ที่อาจยื่นล้ำอาณาเขต ใหม่บอกว่าสำหรับเขาและเพื่อนบ้านละแวกนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าให้พูดกันตามตรง หลายบ้านก็เลือกที่จะตัดปัญหาด้วยการตัดต้นไม้ออกไปด้วยเลย ตรงนี้เขามองว่ามันไม่ใช่ทิศทางที่ดีเท่าไหร่นักสำหรับเมืองในอนาคต

“อย่างที่เคยไปทำงานในสิงคโปร์มา พวกนี้จะไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะว่ามีกฎหมายให้ขอบข้างที่ดินต้องปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ไม่มีนี่ต้นไม้เธอ ต้นไม้ฉัน กลายเป็นว่าทุกคนชอบต้นไม้ และปลูกต้นไม้ ในที่สุดมันก็ดีต่อเมืองส่วนรวม ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากได้ต้นไม้นะ แต่ไม่อยากปลูก ไม่อยากดูแลจัดการ ไม่อยากกวาด ถ้ามองอย่างนี้มันก็ทำให้เมืองร้อนขึ้นเรื่อยๆ ก็จบ ผมว่าทัศนติก็สำคัญ”

บ้านที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ

“จริงๆ คน ธรรมชาติ สัตว์ มันก็อยู่ร่วมกันในเมืองได้ ถ้าเราเอาธรรมชาติแยกไปเราเองนั่นแหละที่จะอยู่ไม่ได้” ใหม่เอ่ยขึ้น หลังปล่อยให้บทสนทนาเงียบลงสักพัก

“ถ้ามองว่าทุกๆ บ้านทำแบบนี้ เราก็เหมือนได้ระบบนิเวศอันใหม่ที่อยู่ข้างบน คือผมว่ามันเป็นโมเดลที่ต้องคิดว่า ในอนาคตเราจะอยู่ร่วมกันยังไง ทั้งบ้านทั้งระบบนิเวศ แน่นอนว่าถ้าเรามีที่เยอะๆ ก็ไม่มีปัญหาหรอก บ้านอยู่มุมนึง แล้วที่เหลือเป็นสวน แต่ถ้าในอนาคตเราไม่สามารถจ่ายเงินซื้อที่ใหญ่ๆ มาสร้างบ้านได้ เราก็ต้องหาโมเดลที่เรายังเก็บสวนไว้ได้มารองรับ อันนี้ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่เราทำ

“อีกส่วนที่เห็นชัดๆ เลยตอนนี้ คือเรื่องฝุ่น PM 2.5 คนเริ่มเห็นความสำคัญของต้นไม้มากขึ้น อย่างน้อยๆ Developer เนี่ยรู้เลยว่า เค้ามี Data ว่าลูกค้าอยากได้อะไร พื้นที่สีเขียวก็เป็นส่วนแรกๆ ตอนนี้ มันไม่ใช่แบบการตกแต่งสวยหรืออะไรแล้ว สิ่งแวดล้อมที่ดีกลายเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจซื้อ โปรเจกต์ใหม่ๆ ที่เราทำอยู่ของ Developer ก็เริ่มให้มีพื้นที่สีเขียวเกินปกติที่กฎหมายกำหนดแล้ว เพราะเขารู้ว่าคนอยากได้”

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

บ้านที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเมือง

นอกจากการปลูกต้นไม้แล้ว ตอนนี้พี่สาวของใหม่เองก็ทดลองหลายอย่าง ตั้งแต่การแยกเอาขยะที่เป็นเศษอาหาร (Organic Waste) มาฝังกลบในดินบริเวณคอร์ตยาร์ด เพื่อพยายามช่วยให้มันย่อยสลายและเพิ่มจำนวนไส้เดือนที่จะมาช่วยดูแลต้นไม้ให้อีกแรง ส่วนอีกถังหนึ่งบนชั้น 3 ก็นำเอาใบไม้และเศษอาหารมาหมักทำเป็นปุ๋ยด้วย

ทั้งหมดนี้ พวกเขาเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีเริ่มได้จากบ้าน หน่วยสเกลที่เล็กที่สุดและลงมือทำได้ง่ายที่สุด

“ผมว่าตอนนี้ทัศนคติมันเลยสำคัญกว่า แล้วค่อยหันกลับมามองเรื่องต้นไม้ เรื่องพืชพันธุ์ ถ้าเรายังเกี่ยงกันว่าฉันปลูกแล้วจะไปโดนบ้านเธอ ดูเป็นเรื่องยิบย่อยมาก เราแทบจะอยู่ไม่ได้แล้ว กรุงเทพฯ อากาศแย่มาก เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ

“ถ้าดูในแปลนกรุงเทพฯ จริงๆ พื้นที่ส่วนบุคคลทั้งนั้นกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ พื้นที่รัฐก็อาจจะแค่ยี่สิบถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นพื้นที่ของเราจะต้องดีก่อนด้วย ไม่ใช่เรียกร้องให้รัฐสร้างสวนสาธารณะอย่างเดียว

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

“เทรนด์ของโลกตอนนี้ก็กำลังสนใจเรื่องระบบนิเวศในเมือง ที่ได้รับเชิญไปรัสเซีย งาน 100+ FURUM RUSSIA ก็ไปพูดเรื่องนี้มาเหมือนกัน อย่างที่สิงคโปร์ มีโครงการ Mapletree Business City II ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Google Asia Pacific ด้วย เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กว่ายี่สิบสองไร่บนหลังคาที่จอดรถ ผมว่าคนกำลังสนใจเรื่องพวกนี้ว่ามันจะยั่งยืนได้ยังไง ซึ่งพื้นที่สีเขียวนั้น ต้องคิดไปพร้อมกับเรื่องน้ำว่าจะนำขึ้นมารดต้นไม้อย่างยั่งยืนทั้งระบบยังไง โปรเจกต์นี้เขาเลยเริ่มดูกันตั้งแต่เมื่อฝนตกลงมาผ่าน Landscape แล้วมันไปไหนต่อ จากนั้นเราจะเอาน้ำเก็บกลับไปใช้ยังไง เหมือนดูระบบการจัดการน้ำภาพรวมไปเลย เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เนื่องจากเป็นเกาะ ทรัพยากรน้ำเขาน้อยอยู่แล้ว

“เมืองไทยเองก็ต้องเริ่มพูดเรื่องนี้ได้แล้ว เรามีน้ำเยอะก็จริง แต่ในสเกลระดับประเทศก็เริ่มมีปัญหา มันไม่ใช่น้ำท่วมอย่างเดียว ทั้งแล้ง ทั้งท่วม มันหนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสองทาง แล้วเราจะจัดการมันยังไง ซึ่งของฝั่ง Landscape เราก็คิดว่าการจัดการพื้นที่สีเขียวที่ดี มันก็จะช่วยได้หมด ช่วยเรื่องน้ำไปด้วย

“เราเองก็สนใจเรื่องระบบนิเวศแบบยั่งยืนจริงๆ จากพื้นที่สีเขียวในเมืองมาก

“เพราะเราปล่อยให้ธรรมชาติรักษาระบบนิเวศตัวเองได้ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะเลย”

บ้านของภูมิสถาปนิกที่ปลูกต้นไม้บนบ้านกว่า 150 ต้นจน Google Maps มองเป็นสวนไม่ใช่บ้าน

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล