ตลาดหุ้นคงเป็นเรื่องของคนตัวใหญ่

ใครๆ ก็คิดแบบนั้น

เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่สูงถึง 19 ล้านล้านบาท เทียบเท่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP เลยทีเดียว ต้องยอมรับว่าในภูมิภาคอาเซียน ตลาดหุ้นที่ครบเครื่องและเป็นที่สนใจของนักลงทุนเสมอมายังหนีไม่พ้นตลาดหุ้นไทย ซึ่งกำลังถูกท้าทายจากตลาดของเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซียและเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ

โจทย์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามแก้มาตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หลังการก่อตั้งตลาด mai (Market for Alternative Investment) เมื่อช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง คือการทำให้ทุกคนรวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงิน ผ่านการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และ mai แต่ดูเหมือนจุดที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ยังห่างไกลจากความฝันพอสมควร 

จึงเป็นที่มาของตลาดกระดานที่ 3 ซึ่งออกแบบมาเพื่อคนตัวเล็กแต่โตเร็ว คนที่กล้าฝันแต่ยังขาดโอกาส รวมทั้งคนทำธุรกิจที่ต้องการพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็นมืออาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามาเรียนรู้ ต่อยอด และก้าวไปสู่การระดมทุน ภายใต้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากขึ้น นั่นคือ ‘Live Exchange’ รวมทั้งระบบนิเวศเพื่อบ่มเพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่าง ‘Live Platform’ ด้วย

The Cloud ถอดความคิด ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai ที่ยอมรับว่านี่เป็นเรื่องยาก แต่อย่างไรก็ต้องทำ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มาก ตามความตั้งใจของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่วันนี้กลายเป็นเสาหลักเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดต้นหนึ่งไปแล้ว 

คุณประพันธ์ไม่ได้ให้น้ำหนักกับก้าวต่อไปของชีวิตมากนัก ในเมื่อจุดที่ยืนอยู่ทำให้เขามีความสุขอยู่แล้ว สิ่งที่ยังจะทำต่อไป คือการออกไปคุยกับคนใหม่ๆ และลากจุดเชื่อมโยงที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ไปสู่ความสำเร็จร่วมกันที่จับต้องได้

และนี่คือตัวตนของคุณประพันธ์

ลากจุดเชื่อมโอกาสผ่านวิธีคิด ‘ประพันธ์ เจริญประวัติ’ กับโจทย์ช่วยคนตัวเล็กในโลกธุรกิจ

บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ mai ทุกวันนี้เป็นเช่นไร

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันนี้ ถือเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจ ในช่วง 6 – 7 ปีที่ผ่านมา เราเป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียน แซงทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ทั้งจำนวนหุ้นที่เข้าระดมทุน และเสนอขายหุ้นครั้งแรกหรือไอพีโอมากที่สุด สภาพคล่องของเราก็เป็นเบอร์หนึ่งมาตลอด ถ้าย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของตลาด mai คือการมีกลไกของตลาดทุนที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก เป็นความตั้งใจให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้ 

วันนี้ผ่านมา 22 ปีแล้ว ก็ถือเป็นตลาดที่ 2 หรือ Second Board ที่มีบทบาทมาก มีทั้งหมด 184 บริษัทในตลาด มีถึง 44 บริษัทที่เคยอยู่ mai และเติบโตย้ายไป SET

ในช่วงทศวรรษที่ 3 ของตลาด mai นี้ เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทที่เข้ามาระดมทุน เดิมส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ ภาคการผลิต และที่เหลือก็กระจายกันไป แต่วันนี้เราเริ่มเห็นรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ทั้งธุรกิจเทคโนโลยี ธุรกิจสุขภาพเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงสองปีที่ผ่านมา 

ข้อมูลช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา วันนี้มูลค่าตลาด mai อยู่ที่ 4 แสนกว่าล้านบาทแล้ว การระดมทุนจาก IPO ตั้งแต่ตั้งตลาดมาอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาทและเอสพีโอ (การระดมทุนเพิ่มและการใช้เครื่องมือทางการเงิน) อยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านบาท โตกว่าถึง 1.5 เท่า นั่นคือเขาเข้ามาในตลาดแล้วเขาไปต่อ ทำให้ธุรกิจเติบโต ไม่ใช่แค่เข้าตลาดได้ก็จบนะ แต่มีการระดมทุนเพิ่มสำหรับการขยายธุรกิจต่อ

mai ก็ไปได้ดี ถ้าอย่างนั้น ทำไมต้องทำตลาดที่ 3 อย่าง Live Exchange

ถึงตลาดหลักทรัพย์ mai ของเราจะโดดเด่นในภูมิภาค แต่ถ้าดูจำนวนของบริษัทที่ได้เข้ามาจดทะเบียน เทียบกับผู้ประกอบการรายเล็กที่มีอยู่ 3 ล้านราย และมีบริษัทที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ส่งงบการเงินทุกปี 7 แสนราย ถือว่าน้อยมาก สิ่งที่เราเห็นถือว่าอยู่บนยอดของพีระมิด ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องการช่วยผู้ประกอบการให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

SET และ mai ต่างแค่เกณฑ์ ตัวเลขทุนจดทะเบียน และกำไร ที่เหลือเหมือนกันหมด อย่างเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเตรียมตัว รวมทั้งเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ง่ายสำหรับธุรกิจเล็ก วันนี้จึงมีบริษัท 200 – 300 แห่งรอเข้า mai แต่ก็เข้าได้ประมาณปีละ 15 เท่านั้นเอง

เราจึงทำกระดานที่ 3 คือ Live Exchange ซึ่งถือว่าท้าทายมาก เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ยังขาดการเตรียมความพร้อมพัฒนาธุรกิจอย่างรอบด้าน เราไปดูรูปแบบในต่างประเทศ พอจะเอาเข้ามาปรับใช้กับบริบทของไทยก็ยังหาที่ลงตัวไม่ได้ คิดว่า Live Exchange น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนใครในโลกสักเท่าไหร่ อย่างไต้หวันหรือเกาหลีใต้ เขามีธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) เยอะ มีคนพร้อมใส่เงินทุนให้ แต่ของบ้านเรายังมีไม่มาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เลยต้องกระโดดมาทำหน้าที่ตรงนี้ 

กว่าที่ธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพจะเข้าระดมทุนใน Live Exchange ได้ ต้องทำอย่างไรบ้าง

เรามี Live Platform แพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ ประกอบด้วยสองส่วนคือ Education Platform และ Scaling up Platform เพื่อเตรียมพร้อมผู้ประกอบการสู่ Live Exchange สำหรับระดมทุน ผมคิดว่าส่วนนี้มีประโยชน์มากกับธุรกิจขนาดเล็กที่มีมากกว่า 3 ล้านรายมาก เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาเรียนรู้และเตรียมความพร้อม ปัญหาของกลุ่มนี้คือ ขาดความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะเรื่องตลาดทุน อีกอย่างคือเรื่องระบบหลังบ้าน ต้องมีบัญชีและระบบควบคุมภายในซึ่งจะทำให้นักลงทุนสบายใจจะลงทุนด้วย นอกจากนี้ยังขาดที่ปรึกษาในการแนะนำและพาเข้าจดทะเบียนในตลาด รวมทั้งสร้างโอกาสในการเติบโต ซึ่ง Live Platform จะช่วยได้

ธุรกิจในบ้านเรามีความหลากหลายมาก ทั้งรายที่เพิ่งเริ่มต้นนับหนึ่งไปจนถึงบางรายที่มีความพร้อมจะเข้าตลาด โจทย์คือทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงได้ เราจึงสร้างบริการที่แตกต่างกัน ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรที่ตอนนี้มีอยู่ 25 ราย มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ธนาคาร หรือสมาคมทั้งหลาย ทุกคนทำงานกับธุรกิจขนาดเล็กมาเยอะ เราจึงช่วยกันออกแบบระบบให้ เพื่อสร้างโอกาสและเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจเหล่านั้น

ลากจุดเชื่อมโอกาสผ่านวิธีคิด ‘ประพันธ์ เจริญประวัติ’ กับโจทย์ช่วยคนตัวเล็กในโลกธุรกิจ
ลากจุดเชื่อมโอกาสผ่านวิธีคิด ‘ประพันธ์ เจริญประวัติ’ กับโจทย์ช่วยคนตัวเล็กในโลกธุรกิจ

เงื่อนไขของบริษัทที่จะเข้าระดมทุนใน Live Exchange มีอะไรบ้าง

สถานะของบริษัทที่จะเข้ามาต้องแปลงสภาพเป็นมหาชน เพื่อระดมทุนจากประชาชนในวงกว้างได้ อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติและพรบ.หลักทรัพย์ คาดว่าทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) จะอนุมัติในปลายปีนี้ ตอนนี้ก็ถือว่าใกล้ที่สุดแล้ว นอกจากนี้จะต้องทำงบ PAEs หรือมาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียต่อสาธารณะ (PAEs) ซึ่งเป็นสากล คนที่จะมาตรวจสอบต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่อยู่ในรายชื่อของ กลต. ด้วย เพราะเวลานักลงทุนจะลงทุน เขาต้องเห็นตัวเลขที่ถูกต้อง โปร่งใส

หลักเกณฑ์เพิ่มเติม

หลักการสำคัญคือรักษาสมดุลระหว่างการเข้าตลาดกับการดูแลผู้ลงทุน ผ่อนกฎเกณฑ์ลงมา อย่างถ้าจะเข้าตลาด mai เราจะให้ทำ PAEs 3 ปี ก่อนจะยื่นเข้าตลาดต้องใช้เวลาเตรียมตัวอย่างน้อย 4 ปี แต่อย่าง Live Exchange กำหนดงบ PAEs แค่ปีเดียวก็ยื่นได้เลย ช่วยประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ เราจะไม่กำหนดเรื่องทุนและกำไรด้วย เราอยากได้บริษัทที่มีโอกาสเติบโต หรือ Growth Company มีรายได้ระดับหนึ่งแล้ว มีโอกาสที่จะเติบโต ธุรกิจขนาดเล็ก ถ้ามาจากภาคบริการต้องมีรายได้ 50 ล้านขึ้นไป หรือจากภาคการผลิต ต้องมีรายได้ 100 ล้านขึ้นไป แต่เราไม่ดูกำไร หรืออย่างกลุ่มสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโต มีวีซีมาร่วมลงทุนแล้วก็ได้เหมือนกัน เพราะถือว่าวีซีตรวจสอบมาแล้วระดับหนึ่ง และเห็นศักยภาพที่จะโต โดยเราไม่ได้กำหนดสัดส่วนการขายหุ้น ให้เขากำหนดเอง เท่าไหร่ก็ได้ แต่กำหนดวงเงินว่าขั้นต่ำต้อง 10 ล้านบาท แต่เพดานไม่มี เท่าไหร่ก็ได้ เราอยากให้ธุรกิจเล็กและสตาร์ทอัพมาใช้ประโยชน์จากตลาดนี้ให้มากที่สุด

ใครลงทุนใน Live Exchange ได้บ้าง

เรื่องสำคัญของเราคือการดูแลผู้ลงทุนที่เหมาะสม การที่เราผ่อนเกณฑ์ ทำให้ต้องเลือกเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนที่ดูแลตัวเองได้ มีความรู้ความสามารถในการลงทุน รับความเสี่ยงได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นให้กับรายย่อย แต่จะเป็นนักลงทุนสถาบัน วีซี นักลงทุนรายใหญ่ และกลุ่มคนคุ้นเคยกับบริษัท นั่นคือผู้บริหารและพนักงานของบริษัทเหล่านั้น แต่พอตลาดนี้มีผู้ลงทุนน้อยราย ก็จะกำหนดให้ซื้อขายทุกวัน ได้วันละ 1 รอบแบบ Auction และตลาดนี้เป็นการซื้อขายเงินสด ซื้อวันนั้นจ่ายวันนั้น คนจะซื้อหุ้นใน Live Exchange ก็ต้องมีเงินในบัญชีจึงจะซื้อหุ้นได้ คนที่จะขายหุ้นก็ต้องมีหุ้นในบัญชีด้วยจึงจะขายได้ เพื่อป้องกันการเก็งกำไร

ลากจุดเชื่อมโอกาสผ่านวิธีคิด ‘ประพันธ์ เจริญประวัติ’ กับโจทย์ช่วยคนตัวเล็กในโลกธุรกิจ

ตัวผู้ประกอบการเองจะรู้ได้อย่างไรว่าควรเข้าตลาดหรือไม่

ทุกคนที่จะเข้าตลาด เขาต้องดูว่าคุ้มมั้ย มันมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ไม่ใช่คนทุกคนจะเหมาะกับการเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประโยชน์ของการเข้าตลาดมีหลากหลาย บางบริษัทต้องการทุน อย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เขาต้องการทุน พอเข้าตลาดแล้วก็ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลง แบงก์ก็เข้ามาหา บางที่อาจจะไม่ต้องการทุนเยอะแต่เขาต้องการเป็นที่ยอมรับว่า องค์กรเขาโปร่งใสและเติบโต ก็จะมีพันธมิตรเข้ามาหา บางที่ต้องการจัดการธุรกิจครอบครัว ไม่ได้ต้องการเงิน เพราะธุรกิจก็ดีอยู่แล้ว ก็ใช้กระบวนการจัดการองค์กรของบริษัทจดทะเบียนเพื่อสร้างธรรมาภิบาล สุดท้ายแต่ละบริษัทต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าคุ้มหรือไม่

ทุกวันนี้ยังสนุกกับการทำงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่

ผมยังรู้สึกว่าผมสนุกกับงาน สนุกกับสิ่งทำ เพราะได้สร้างผลกระทบทางบวกให้กับสังคม การทำงานในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรามีความเป็นพี่เป็นน้องกัน คุยกับผู้จัดการ ตลท. เราก็เรียกเขาว่าพี่ คุยแบบพี่น้องกัน ปัญหาในการทำงานของผมไม่ค่อยมีเรื่องคน น้อยมาก คนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่เป็นคนดี เพียงแต่ว่าอาจมีสไตล์แตกต่างกันเท่านั้นเอง

เรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องมีทั้งคนและระบบงานที่ดี คนมีความแตกต่างกัน บางคนไฟแรงเพราะต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพ บางคนก็มีลูก มีครอบครัว อยากลงหลักปักฐาน ก็ต้องเข้าใจเขาและจัดงานที่เหมาะกับเขา หน้าที่ของผู้บริหารที่สำคัญที่สุดคือต้องเสริมพลัง (Empower) ให้ลูกน้องมีพลังในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ทำงานร่วมกัน

บางคนบอกว่าคุณประพันธ์รู้จักคนเยอะมาก จนเป็นซูเปอร์คอนเนกชันได้เลยหรือ

เอาเป็นว่าผมโชคดีมากกว่า และเป็นหน้าที่ด้วย ผมเข้ามาอยู่ mai ก็รู้จักผู้บริหารจดทะเบียนเยอะ สมัยทำงานวาณิชธนกิจ เราก็รู้จักกับพวกเขาแค่เรื่องงาน แต่พอมา mai ก็รู้ทั้งชีวิตส่วนตัว ปัญหาของพวกเขา เราก็เข้าไปช่วย จนผมได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ซึ่งจัดหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง ก็รวมผู้บริหารจากทุกวงการของไทย ผมเป็นผู้ดูแลตั้งแต่รุ่นที่ 10 จนถึงรุ่นที่ 17 รุ่นละ 100 คนก็รู้จัก 800 คน

จากนั้นผมก็มาเป็นผู้จัดการตลาด mai แต่ก็ยังรักษาความสัมพันธ์กับทาง วตท. นะ รู้จักกันจนถึงรุ่นที่ 30 เลย ผมไปปาร์ตี้กับเขาทุกรุ่นล่ะครับ (หัวเราะ) วตท. ทำให้ผมรู้จักคนหลากหลายวงการ การทำงานก็ง่ายขึ้น พอมา mai เวลาเราอยากรู้ อยากจะทำอะไร เราก็เชื่อมโยงกันได้

พอเรารู้จักรุ่นใหญ่เยอะแล้ว วันนี้เราเห็นเทรนด์คือ ผู้บริหารรุ่นลูกหรือคนรุ่นใหม่กำลังเข้ามามากขึ้น ผมก็เลยไปนั่งเรียนกับคนรุ่นใหม่ เจอเด็กๆ เยอะเลย ตั้งแต่อายุ 20 กว่าไปถึง 40 ปี ทำให้เข้าใจพวกเขามากขึ้น ผมคิดว่าในสังคมไทย การรู้จักกันทำให้เราเข้าถึงได้ง่าย เรื่องความไว้ใจกันเป็นเรื่องสำคัญ เวลาที่เราไม่รู้จักกันก็จะมีระยะห่าง แต่พอรู้จักกันแล้วก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น รวมทั้งทำประโยชน์ให้กับคนได้มากขึ้น ตรงนี้เป็นจุดที่สำคัญ

ก้าวต่อไปของคุณประพันธ์จะก้าวไปไหน

พูดตรงๆ ผมคิดไม่ออก เพราะวันนี้ผมยังสนุกกับการทำงานอยู่ แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งที่มีโอกาส ก็คงจะใช้จุดแข็งที่เรามีอยู่ และสิ่งที่เราอยากทำให้เกิดประโยชน์ หาสิ่งที่ลงตัว แต่ว่าวันนี้ผมยังไม่ได้นึกถึง

สักวันจะเกษียณตัวเองจากการทำงานหรือเปล่า

ผมคิดว่าการเกษียณเป็นเรื่องปกติ วันนี้ผมวางแผนเกษียณแล้ว ผมวางแผนว่าผมยังทำงานเต็มที่ระดับหนึ่ง แล้วค่อยๆ ปรับเป็นแบบกึ่งเกษียณ ผมคิดว่าทุกช่วงของชีวิตคือการใช้ชีวิตให้เต็มที่ สร้างประโยชน์ ทุกวันนี้ผมก็เต็มที่และได้สร้างประโยชน์บนงานที่ทำอยู่ งานผมสนุกมาก ต้องขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำให้ผมได้เชื่อมโยงคนมากมายที่ผมรู้จัก ได้ร่วมสร้างระบบนิเวศเพื่อธุรกิจเล็กและสตาร์ทอัพ ทุกวันนี้ผมไปทำงาน แต่ไม่รู้สึกว่าทำงานสักเท่าไหร่ เหมือนไปนั่งคุยกับเพื่อนมากกว่า แต่การคุยของเราได้ทั้งงาน ความสนุก และเป็นประโยชน์กับคน และผมเองก็มีทีมงานที่ดีมากด้วย

ซูเปอร์คอนเนกชันที่เชื่อเรื่องการสร้างผลกระทบเชิงบวก ‘ประพันธ์ เจริญประวัติ’ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai รับโจทย์ท้าทายเพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพระดมทุนใน Live Exchange

Questions answered by the President of mai

1. คุณประพันธ์นอนวันละกี่ชั่วโมง

ประมาณ 6 – 7 ชั่วโมงบวกลบแล้วแต่วัน บางวันก็น้อยหน่อยเพราะมีงานต้องทำ ส่วนใหญ่ก็พอนะ แต่ผมก็รู้สึกง่วงตลอดเวลา (หัวเราะ)

2. สิ่งแรกที่ทำหลังจากตื่นนอนคืออะไร

ต้องหยิบโทรศัพท์มาเช็กอินรายงานตัวเข้าระบบก่อนเลย เพราะว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงทำงานที่บ้าน ต้องเช็กอินผ่านระบบ SET DNA ต้องบอกว่าอยู่ที่ไหน จากนั้นก็ดูไลน์ว่ามีใครส่งข้อความมาบ้าง มีอะไรเร่งด่วนหรือเปล่า

3. คนแรกที่ผู้จัดการ mai ต้องรีบตอบไลน์คือใคร

ไม่รู้สิ แล้วแต่นะ อะไรด่วนผมก็ตอบ ไม่ได้ปักหมุดใครไว้เป็นพิเศษ ตอนนี้ไลน์ผมเต็มห้าพันคนแล้ว แอดใครใหม่ไม่ได้ด้วย

4. ดื่มกาแฟวันละกี่แก้ว

ผมดื่มตามโอกาสมากกว่า ดื่มก็ได้ไม่ดื่มก็ได้ แต่ผมค้นพบว่าช่วงทำงานที่บ้าน ภรรยาเขาอยากกินกาแฟ เราพบเทคโนโลยีโบราณคือ Moga Pot ก็ไปซื้อมาใช้ มันก็โอเคนะ ได้อโรม่าด้วย ตอนนี้พี่น้องผมก็ถูกป้ายยาไปหลายคนแล้ว

5. ดื่มไวน์แดงหรือไวน์ขาว

ผมดื่มทุกอย่าง แต่ถ้าให้เลือก ผมชอบไวน์แดงมากกว่า ผมไปเข้าคอร์สไวน์มาเยอะมาก แต่จำอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้อะไรเลย (หัวเราะ) แยกแยะไวน์ได้สองอย่างคือ อร่อยกับไม่อร่อย อร่อยก็กินเยอะหน่อย ไม่อร่อยก็ถือแก้วและจิบๆ ไป สุดท้ายคืออยู่ที่ชอบไม่ชอบ สำคัญคือดื่มกับใคร ไวน์จะอร่อยหรือไม่อร่อยขึ้นกับความสนุกในตอนนั้น ถามว่าชอบดื่มกับใคร ก็ชอบดื่มกับเพื่อน

6. ด้วยหน้าที่ที่มี ซื้อหุ้นไม่ได้ แล้วลงทุนเพื่อวางแผนเกษียณอย่างไร

ผมก็ซื้อแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟ มีซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างที่ดินหรือคอนโดฯ บ้าง แต่ผมลงทุนกับความสัมพันธ์มากกว่า คือการให้เวลาและให้ใจ สิ่งที่ได้คือความเป็นเพื่อน

7. ชอบไปเที่ยวภูเขาหรือทะเล

สมัยก่อนจะชอบไปทะเล เพราะว่ามีกิจกรรมให้ทำ มีช่วงหนึ่งสักตอนอายุ 30 ปี ผมไปทะเลเกือบทุกอาทิตย์ติดต่อกันเป็นปี วันศุกร์เย็นก็ไประยอง ไปเสม็ด แล้วไปนั่งทำมิวสิกวิดีโอริมทะเล ตอนนั้นคิดว่าไปภูเขาไปทำไม ไม่เห็นมีอะไรให้ทำเลย แต่พออายุเริ่มเยอะขึ้น ความคิดเปลี่ยน ก็ยังไปทะเลนะ แต่ชอบไปภูเขามากขึ้น อย่างที่ผ่านมาก็ไปทั้งภูเก็ต หัวหิน เขาใหญ่ ผมก็ชอบทุกที่ ตอนนี้ชอบทั้งภูเขาและทะเล

8. จริงหรือเปล่าที่มีคนบอกว่า พออายุเยอะขึ้นจะมองต้นไม้สวย

จริง! เราเริ่มมีความสุขกับการนั่งมองใบไม้ ต้นไม้ โดยเฉพาะวันที่ฝนตก อากาศเย็นๆ ต้นไม้จะสวยขึ้น เวลาไปเที่ยวป่าหน้าฝนคือดีที่สุด ไม่ร้อนและต้นไม้สวย ช่วงที่ดีเลยคือปลายฝนต้นหนาว อากาศเย็นด้วย นี่เดี๋ยวผมก็จะไปเขาใหญ่อีกแล้ว

9. สิ่งที่คุณประพันธ์สอนลูกมาโดยตลอดคืออะไร

ผมสอนว่า Live your life fully ใช้ชีวิตให้เต็มที่ เพราะมันเป็นชีวิตของเขา และเราก็ให้ความรักเขา ทำให้เขารู้ว่าครอบครัวเขาไม่ได้มีปัญหาและให้เขาใช้ชีวิตไปเป็นคนดี จะเป็นอะไรก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ และถ้าทำประโยชน์ให้ผู้คนได้ก็ทำ แค่นี้เอง พอแล้ว ถ้ามีอะไรพลาดพลั้ง เขาก็ต้องรับผิดชอบชีวิตได้ ผมว่าการที่เราไปบังคับหรือบอกให้ใครให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้มันยาก ให้เขาใช้ชีวิตของเขาเองดีกว่า

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ