‘ประกายแก้ว’ เป็นแบรนด์รับผลิต-ซ่อมกระจกสเตนกลาส (Stained Glass) สไตล์คลาสสิกที่มีอายุย่างเข้า 31 ปี
ถ้านึกไม่ออก ให้คิดถึงกระจกที่ประดับอยู่ในโบสถ์คริสต์ เป็นรูปพระเยซู นักบุญคนสำคัญ เรื่องเล่าในพระคัมภีร์ไบเบิล กระจกสเตนกลาสเป็นงานศิลปะรูปแบบหนึ่ง สร้างด้วยการนำกระจกสีมาตัดเป็นชิ้น ๆ ก่อนประกอบเป็นภาพ รูปร่างต่าง ๆ ที่ต้องการ

พวงแก้ว นันทนาพรชัย สร้างประกายแก้วเพื่อตอบสนองความหลงใหลที่เธอมีต่อศิลปะชนิดนี้ และปัจจุบันลูกสาวคนโต ฟุ้ง-ฌัลลกัณฐ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา กำลังเข้ามารับช่วงต่อดูแลกิจการในฐานะทายาทรุ่นสอง
บริการของประกายแก้วมีตั้งแต่รับทำกระจกสเตนกลาสตามสั่ง ขายกระจกชนิดต่าง ๆ เช่น กระจกสี กระจกเงาตกแต่ง กระจกเงาโบราณ กระจกเดินรางตะกั่ว ฯลฯ บริการซ่อมแซมกระจกสเตนกลาสที่รับตั้งแต่ลูกค้าทั่วไปจนถึงวัดวาอารามโบสถ์อายุหลายร้อยปีทั่วไทย ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลังมาเพราะความเชื่อมั่นในประสบการณ์การทำงานของประกายแก้ว
“ตอนนี้เราเป็น General เบ๊” คำตอบของฟุ้งเมื่อเราถามถึงตำแหน่งของเธอในประกายแก้ว เจ้าตัวตอบปนขำ ตำแหน่งงานไม่ใช่สิ่งที่ฟุ้งสนใจเท่ากับเป้าหมายที่วางไว้เมื่อตัดสินใจเข้ามา คือการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ และทดลองทำกระจกสเตนกลาสในรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากเป็นกระจกตกแต่งบ้าน เพื่อให้คนเห็นความเป็นไปได้และตัดสินใจใช้บริการประกายแก้ว
งานทดลองของฟุ้งตอนนี้มีตั้งแต่จี้สร้อยคอ กล่องใส่ของ ป้ายชื่อศิลปินเกาหลี ฯลฯ เธออยากปรับเปลี่ยนความคิดของคนมีต่อกระจกสเตนกลาสว่า ไม่ใช่ของหรูหราหรือภาพบูชาสำหรับประตู-หน้าต่างเท่านั้น แต่เป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย
และบรรทัดถัดจากนี้ฟุ้งพร้อมเล่าเรื่องของเธอกับการดูแลประกายแก้วให้เราฟัง


ธุรกิจ : ประกายแก้ว
ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2536
ประเภท : ผลิตและซ่อมกระจกสเตนกลาส
ผู้ก่อตั้ง : พวงแก้ว นันทนาพรชัย
ทายาทรุ่นสอง : ฌัลลกัณฐ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
ออกแบบกระจกสเตนกลาสชิ้นแรก
“เราเห็นมาตั้งแต่เกิดเลยรู้สึกชิน มองมันเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงครอบครัว”
บริเวณด้านล่างของบ้านอุทิศให้เป็นพื้นที่ของประกายแก้ว มีการสร้างสตูดิโอผลิตงาน กั้นที่ไว้เก็บวัสดุสำหรับใช้ทำงาน ไปจนถึงทำห้องรับรองลูกค้าที่จัดโชว์ผลงานจำนวนมาก
ฟุ้งคุ้นชินกับเสียงตัดกระจก แสงที่ตกกระทบกับกระจกสะท้อนออกมาเป็นสีต่าง ๆ และความร้อนของเตาเผา สภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้เจ้าตัวชอบของที่มีความแวววาวเป็นพิเศษ มีส่วนสร้างทักษะวาดรูปติดตัวตั้งแต่เด็ก
พ่อแม่มักพาเด็กหญิงฟุ้งไปหาลูกค้าด้วยบ่อย ๆ ระหว่างรอฟุ้งจะนั่งวาดรูปเล่น จนมีลูกค้าคนหนึ่งเห็นรูปที่ฟุ้งวาด และขอรูปมาใช้ทำกระจกสเตนกลาส
“ลูกค้าจ้างทำกระจกสเตนกลาสตกแต่งบ้าน ทีนี้ยังมีที่เหลือที่เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี จนเห็นรูปวาดเราแล้วน่าจะชอบ เลยขอเอาไปทำเป็นกระจก” พูดจบฟุ้งหยิบกระดาษกับดินสอมาวาดภาพที่พอจำได้ราง ๆ ว่าเป็นรูปโบ
“ตอนนั้นเราอายุ 14 ยังเด็กมาก ๆ เลยไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษตอนเห็นของจริง คิดแค่ว่าสวยดี สวยกว่าที่เราวาดอีก”


ความชอบวาดรูปทำให้ฟุ้งเลือกเรียนต่อด้านแฟชั่นในระดับปริญญาตรี เพื่อศึกษาหลักการออกแบบ (Design Thinking) อย่างจริงจัง ทำให้ฟุ้งได้รู้เรื่องอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อโลก อุตสาหกรรมสิ่งทอก็เป็นหนึ่งในนั้น ฟุ้งเชื่อเรื่องความยั่งยืน อยากใช้ชีวิตให้ส่งผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด จึงตัดสินใจไม่ไปต่อกับวงการแฟชั่น
“เสื้อผ้าเป็นของที่ผลิตจนล้นตลาดอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปผลิตเพิ่ม บวกกับเราได้ศึกษาเรื่องกระจกสเตนกลาสมากขึ้น ได้ช่วยงานที่บ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เลยคิดว่าในเมื่อที่บ้านทำธุรกิจนี้อยู่แล้ว เรามาทำต่อได้
“กระจกสเตนกลาสเป็นงานที่มีคุณค่าในตัวเอง และมีอายุยาวนานเมื่อเทียบกับอายุการใช้งานของเสื้อผ้าหรืออายุของคน”
หลังเรียนจบ ฟุ้งตัดสินใจเข้ามาทำงานที่ประกายแก้วอย่างเต็มตัว พร้อมพกแนวคิดเรื่องความยั่งยืนและความรู้ด้านการออกแบบมาใช้ทำงาน


ทำสินค้าฟุ่มเฟือยให้ยั่งยืน
เทคนิคทำกระจกสเตนกลาสของประกายแก้วเป็นแบบดั้งเดิม แฮนด์เมด ไม่ใช้เครื่องจักร เลือกใช้วัสดุคุณภาพดี เพื่อให้ได้งานที่แข็งแรงคงทน มีอายุการใช้งานยาวนาน
“กระบวนการผลิตกระจกอาจไม่ได้เป็นมิตรต่อโลกมาก แต่ถ้าเทียบอายุการใช้งานของมันค่อนข้างยาวนาน สิ่งที่เราทำเลยเป็นการผลิตสินค้าให้ตรงตามประสิทธิภาพ เราใช้วัสดุที่ผลิตแบบดั้งเดิมทั้งหมด เป็น Raw Material ที่นำกลับมาหลอมใช้ได้อีก”
ประกายแก้วไม่ได้ผลิตกระจกสีเอง แต่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงวัสดุอย่างรางโลหะที่คอยเชื่อมกระจกสีแต่ละชิ้นไว้ด้วยกันจนกลายเป็นกระจกสเตนกลาส ฟุ้งบอกว่าที่นี่ใช้เป็นรางตะกั่ว เพราะตะกั่วเป็นโลหะที่เกิดสนิมไม่ได้ ทำให้ทนต่อสภาพอากาศทุกรูปแบบ

งานของประกายแก้วจะเริ่มต้นเมื่อมีลูกค้าติดต่อเข้ามาพร้อมโจทย์ของงาน จากนั้นเป็นหน้าที่ของประกายแก้วที่จะรังสรรค์ความต้องการลูกค้าให้ออกมาเป็นของจริง
งานแบบไหนที่ลูกค้าจะเลือกมาหาประกายแก้ว – เราถาม พร้อมได้รับคำตอบแทบจะทันทีว่า “เป็นงานศิลปะสั่งทำที่คนอื่นไม่รับทำ งานละเอียดที่ต้องตัดกระจกชิ้นเล็ก ๆ มาประกอบ ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยรับงานแบบนี้ เพราะยากและใช้เวลานาน ใช้ความชำนาญของช่างสูง”


สไตล์งานกระจกสเตนกลาสที่เป็นจุดเด่นของประกายแก้วเป็นงานศิลปะที่ออกแบบอย่างประณีต มีกลิ่นอายงานศิลปะแต่ละยุคสมัย ทั้งศิลปะยุคกลางที่เราเห็นในโบสถ์คริสต์ ศิลปะอาร์ตนูโว ไปจนถึงศิลปะสมัยใหม่ ปรับให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าและพื้นที่อย่างสวยงาม ด้วยกระจกเจียรปลีชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เป็นประกาย พ้องกับชื่อร้าน
ฟุ้งได้เรียนทำกระจกสเตนกลาสจากบรรดาช่างในประกายแก้ว มีความคิดเล็ก ๆ ว่าอยากออกแบบงานที่เป็นออริจินอลของประกายแก้ว เพราะงานแทบจะทั้งหมดออกแบบตามที่ลูกค้าต้องการ เธออยากสร้างงานที่เป็นซิกเนเจอร์ของประกายแก้ว ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเริ่มออกแบบ
แม้ว่ากระจกสีจะจัดในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย และกระบวนการผลิตไม่ได้เป็นมิตรต่อโลกขนาดนั้น แต่ฟุ้งยืนยันว่าอายุการใช้งานของมันนานพอที่จะไม่ต้องผลิตมาก ๆ ลดปริมาณและกระบวนการผลิตที่จะส่งผลกระทบต่อโลก
“กระจกสเตนกลาสที่มีอายุมากที่สุดในโลก เท่าที่คนค้นเจอในปัจจุบัน เป็นกระจกในมหาวิหาร Augsburg ประเทศเยอรมนี รู้สึกว่าจะสร้างตั้งแต่ปี 1065
“เรารู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำมีอายุการใช้งานยืนยาว เราแค่ต้องผลิตสินค้าให้บรรลุเป้าหมายนั้น ให้มันอยู่จนส่งต่อไปรุ่นอื่น ๆ ได้ กระจกสเตนกลาสแข็งแรงด้วยตัวมันเอง ถ้าไม่ได้มีอะไรมากระทบ มันไม่พังอยู่แล้ว”


เปิดตลาดหาลูกค้ากลุ่มใหม่
ความคิดอยากขยายฐานลูกค้าเกิดตอนทำประกายแก้วไปได้สักพัก ฟุ้งพบว่าพฤติกรรมเรื่องที่อยู่อาศัยของคนเปลี่ยนไป คอนโดมิเนียมกลายเป็นที่นิยม และการตกแต่งบ้านสไตล์มินิมอลยังคงได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ประกายแก้วต้องหาลูกค้าเพิ่ม
“กระจกสเตนกลาสจะทำเป็นอะไรก็ได้ อยู่ที่การดีไซน์ ทําเป็นสไตล์มินิมอลหรือโมเดิร์นไปเลยก็ได้ แต่ปัญหาคือคนยังไม่รู้จักมัน ยังไม่รู้ว่าทําอะไรได้บ้าง ลดโอกาสที่กระจกสเตนกลาสจะได้ทําหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ
“ฉะนั้น ความยากของการขายกระจกสเตนกลาส คือเป็นของที่คนไม่ค่อยรู้จัก ไม่คุ้นชิน แล้วคนชอบอยู่กับอะไรที่ตัวเองรู้สึกสบายใจ กระจกสเตนกลาสอาจเป็นสิ่งที่เขารู้สึกว่าต้องระวังเพราะมันเป็นแก้ว แตกแล้วเรื่องใหญ่ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้เขารู้จักและมองเห็นภาพออกว่าเขาจะนำไปใช้มันได้ยังไง”
ฟุ้งค้นคว้าข้อมูลและลงมือทดลอง เริ่มจากของถนัดอย่างการออกแบบเครื่องประดับ จี้สร้อยคอเป็นสิ่งที่ฟุ้งเริ่มทดลองชิ้นแรก ๆ ก่อนจะขยายมาเป็นกล่องใส่ของขนาดเล็กใส่นามบัตรไปจนถึงขนาดใหญ่ ป้ายชื่อ พร้อมกับที่ลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามา ไม่ใช่แค่คนที่ชอบและอยากตกแต่งบ้านด้วยกระจกสเตนกลาส แต่เป็นเหล่านักสะสมและแฟนคลับศิลปินดาราที่อยากทำของให้เป็นตัวแทนสิ่งที่เขารัก
“ตลาดกระจกสเตนกลาสมีความแปลกอย่างหนึ่ง เช่น เราวางขายกล่องที่ทำจากกระจกสเตนกลาสราคา 800 บาท จะมีคนเดินมาหยิบและบอกว่าแพงจัง ไปซื้อกล่องธรรมดา ๆ ก็ได้ และมีคนที่บอกว่า เฮ้ย ทำไมถูกจัง เป็นตลาดที่ขึ้นอยู่กับความชอบจริง ๆ”
ระหว่างที่ฟุ้งทดลองไปเรื่อย ๆ พร้อมเกิดความสนุกที่สิ่งที่คิดไว้ออกมาเป็นจริง ผู้ก่อตั้งอย่างพวงแก้วเกิดคำถามในช่วงแรกถึงสิ่งที่ฟุ้งกำลังทำ
“ตอนแรกแม่ก็ไม่ชอบ เขาถามว่าทําแบบนี้มันจะได้เงินจริง ๆ ไหม ซึ่งก็ไม่ได้เงินจริง ๆ หรอก แต่เป็นวิธีทําให้คนเห็นศักยภาพของกระจกสเตนกลาสมากขึ้น”
อาจมีบางเรื่องที่ 2 คนเห็นไม่ตรงกัน แต่การส่งต่อความรู้เป็นสิ่งที่ฟุ้งและแม่สนใจ เพราะไม่ได้มีแค่ลูกค้าที่อยากได้ของ แต่มีคนที่อยากสร้างกระจกสเตนกลาสด้วยตัวเอง ประกอบกับใน TikTok มีการแชร์งานอดิเรกทำกระจกสเตนกลาส


ประกายแก้วออกสินค้าใหม่ คือชุด DIY ทำกระจกสเตนกลาสด้วยตัวเอง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และในอนาคตจะเปิดเวิร์กช็อปสอนทำกระจกสเตนกลาส โดยใช้บริเวณหลังบ้านสร้างเป็นเรือนกระจกสำหรับเป็นที่เรียน
นักเรียนกลุ่มแรกที่พวงแก้วขอมา คือกลุ่มเด็กพิการทางการได้ยิน เพื่อสร้างอาชีพและทักษะให้พวกเขา ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มคนที่สนใจ ฟุ้งบอกว่าเวิร์กช็อปน่าจะได้ฤกษ์เปิดสอนปีหน้า

ประกายแก้วอายุครบ 200 ปี
“แม่เคยบอกไว้ว่าอยากให้ร้านมีอายุถึง 200 ปี”
เราถามทันทีว่า แล้วคนฟังรู้สึกยังไง ฟุ้งตอบว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะร้านทำกระจกสเตนกลาสหลาย ๆ ร้านทั่วโลกมีอายุถึงร้อยปี เป็นธุรกิจที่ส่งต่อในครอบครัวรุ่นสู่รุ่น หรือถ้าไม่มีใครในครอบครัวอยากทำต่อ ก็พร้อมมีคนที่จะรับไปดูแลต่อ
“กระจกสเตนกลาสอาจไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่เทียบกับสินค้าชนิดอื่น แล้วก็เป็นตลาดที่คนทำ-คนซื้ออยู่ได้ด้วยความรัก เพราะถ้าไม่ชอบไม่รักคงไม่มาอยู่”
ความรู้สึกของฟุ้งที่มีต่อกระจกสีหรือประกายแก้วหลังมาดูแลได้ 4 – 5 ปี อยู่ในขั้นหลงใหล เธอไม่กล้าเรียกว่าเป็นความรักแล้วหรือไม่ แต่เธอยังคงสนุกที่ได้ทดลองทำกระจกสเตนกลาสในรูปแบบต่าง ๆ ดีใจที่คนอื่นได้เห็นความสามารถของกระจกสเตนกลาส


ถ้าการทดลองจบแล้ว แปลว่าถึงจุดสิ้นสุดความสัมพันธ์ของเธอกับประกายแก้วไหม – เราถาม
ฟุ้งนิ่งคิดไปครู่หนึ่งก่อนตอบว่า “ก็เป็นไปได้นะ แต่เราคิดว่ามันคงไม่เกิดขึ้น เพราะเราเห็นคนทำกระจกสเตนกลาสที่ต่างประเทศ ทุกคนทำมาตลอดชีวิต ต้องใช้เวลา 30 – 40 ปีถึงจะเรียกว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราก็เพิ่งเริ่มต้นทำงานนี้เอง กว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นช่างฝีมืออย่างแท้จริงได้อีกยาวนาน
“ความกดดันที่เรามาทำตรงนี้ นอกจากการทําให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้ก็ไม่ได้มีเรื่องอื่นแล้ว เพราะความตั้งใจของประกายแก้วตั้งแต่แรก คือทํางานให้คนมีความสุข ทั้งตัวเรา ช่าง และลูกค้า ถ้าทุกคนมีความสุขถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการทําประกายแก้ว”
คนเขียนคงไม่น่ามีชีวิตถึงวันที่ประกายแก้วฉลองครบ 200 ปี แต่มั่นใจว่าสิ่งที่จะอยู่ต่อไปแน่ ๆ คือผลงานของประกายแก้ว เป็นบันทึกส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปได้รู้จักคนรุ่นนี้

ติดตามประกายแก้วได้ที่ Facebook : ร้านประกายแก้ว Prakaykaew Stained Glass