ใครจะรู้ว่าในซอยหนึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากเมืองทองธานี จะมีรถ Land Rover ซ่อนอยู่นับร้อยคันราวกับอาณาจักร
เราเดินทางมาไกล หลังได้ฟังเรื่องเล่าจากทีม The Cloud ว่ามีธุรกิจอู่ซ่อมรถที่รับเฉพาะคนร้อยเอ็ดเป็นพนักงานเท่านั้น แน่นอน คำถามแรก ๆ ที่เราถาม ประชัน หาญพละ คือมันเป็นจริงตามนั้นหรือเปล่า
เขาตอบกลับมาว่า “เป็นร้อยเอ็ดประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ อีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นขอนแก่น” เรื่องจริงแท้ที่สุดจึงกลายเป็นพนักงานทั้งหมดมาจากอีสานไม่ผิดแน่
บทความชิ้นนี้เกิดจากการนั่งคุยกับเขานาน 2 ชั่วโมงกว่า บวกกับการทดลองนั่งรถรอบเมืองทองอีกเกือบชั่วโมง ประชันเปลือยชีวิตตั้งแต่การเป็นลูกเกษตรกรเมืองร้อยเอ็ด ระหกระเหินมาทำงานที่ศูนย์รถอีกร่วมสิบปี ก่อนลาออกมาเปิดอู่นอกเองแบบเพิงหมาแหงน สู่เจ้าของกิจการอู่ซ่อมรถ Land Rover ใหญ่สุดในไทย ที่คัดเลือกพนักงานจากบ้านเกิดเป็นอันดับแรก
หลังพวงมาลัยรถคันละหลายล้าน พาหนะยอดนิยมของนักธุรกิจหลักร้อยล้านขึ้นไป คือผลงานของเหล่าช่างเลือดอีสานที่ไม่เพียงฝีมือดี แต่ยังอยู่กันเป็นครอบครัวเหมือนยกแผ่นดินอีสานมาไว้ที่นี่
ต่อไปนี้คือเรื่องราวการทำธุรกิจแบบบ้าน ๆ ของประชัน ที่รับรองว่าม่วนคักอย่าบอกใคร


นักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว
ประชันบอกกับเราว่าเขาขี่มอเตอร์ไซค์เป็นตั้งแต่ ป.3 และขับรถยนต์เป็นตั้งแต่ ป.5
แต่รถคันแรกที่ทำให้เกิดความชอบเรื่องเครื่องยนต์คือ แบคโฮ รถขุดดิน สมัยที่บ้านเกิดของเขาเริ่มขยายทางถนน
“เราไปนั่งดูเขาทำ แบคโฮมันจ้วงยังไง สวิงยังไง ไปทำตัวสนิทกับเขาจนเขาให้เราลองไปนั่งเล่น ได้ขับรถที่มันมีปุ่มเยอะ ๆ ล้อเอียงแล้วใบมีดมันจะหมุน เวลาคนขับไปกินข้าวเราก็ขับแทนแก ขับเล่น แต่งทางไปเรื่อย
“บ้านเราเป็นร้านขายของชำเล็ก ๆ ถ้าใครมีรถมอเตอร์ไซค์ เราก็จะให้เขาพาขี่รอบบ้านก่อนถึงจะขายของให้ หรือวัยรุ่นที่เขามีรถยนต์กลับมาจากกรุงเทพฯ เราก็จะไปถามเขาว่าขอนั่งด้วยได้ไหม”
ประชันเป็นเด็กที่ปั่นจักรยานไปกลับโรงเรียนกว่า 40 กิโลเมตรจนถึงมัธยมต้น ด้วยความที่ครอบครัวเกษตรกรของเขามีรายได้ไม่มากนัก เมื่อถึงชั้นมัธยมปลายก็เริ่มขัดสนที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนต่อ แต่ประชันก็ยังตั้งใจเรียนอย่างหนัก เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าที่เป็น และถีบตัวเองให้พ้นจากความยากจน
“เราคิดกับตัวเองว่า ฉันต้องมาอยู่แบบนี้เหรอ ไม่อยากทำนา ไม่อยากทำไร่ เราไม่ได้อยากหนีจากความจนนะ แต่เราไม่มีสิทธิ์เลือกเหรอ เราจะหาจุดยืนของเราใหม่ การศึกษาเท่านั้นที่จะพาเราไปถึงจุดนั้นได้
“ถ้ามองว่าเรามีที่ทางแล้วจะไปทำนาอยู่กินอย่างสมถะก็ได้ แต่บางทีคนเรามันต้องไขว่คว้าหาสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต เราอยากเรียนหนังสือ เราต้องได้ดีกว่านี้ เราอยากไปดูโลกกว้างบ้าง”
จากร้อยเอ็ด จุดมุ่งหมายต่อไปของประชันคือ ตักสิลา เมืองแห่งการศึกษา จ.มหาสารคาม หวังจะเป็นพรมปูทางให้เขาเข้ามาเรียนในเมืองหลวงได้สำเร็จ โดยอาศัยอยู่กับญาติที่เป็นช่างซ่อมรถไถ พอได้ช่วยซ่อมนิด ๆ หน่อย ๆ ตามประสา
ในที่สุดหนุ่มน้อยจากแดนอีสานก็ได้มีชีวิตในกรุงเทพฯ สมใจนึก ด้วยการเรียน ปวส. ที่สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ประชันอาศัยอยู่กับญาติและมีเพื่อนเป็นเครื่องยนต์อีกครั้ง แปลกที่คราวนี้เขาไม่ได้รับบทเป็นช่าง แต่หาเลี้ยงตัวเองด้วยการรับจ๊อบเสริมเป็นกระเป๋ารถเมล์สาย 6 ทุกเสาร์-อาทิตย์
เราถามเขาในภายหลังว่ามีอะไรเกี่ยวกับรถยนต์ที่ยังไม่เคยทำอีกบ้าง ประชันตอบทันควันว่า “คงไม่มีแล้ว” เพราะแม้กระทั่งนักแข่งรถออฟโรดเขาก็เคยเป็น
เรื่องราวของเขาเริ่มจะสนุกเข้มข้นก็ตรงนี้ เพราะหลังเรียนจบ เขาดันเลือกไปเป็นครูสอนหนังสือเด็กช่าง พบเจอคนที่มีต้นทุนชีวิตสูงกว่าแต่กลับโยนทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้ประชันคิดอยากมีธุรกิจของตัวเองเป็นครั้งแรก
“ชีวิตเราแม่งตื่นตั้งแต่ตี 5 ปั่นจักรยานไปกลับวันละ 40 กิโล ความคิดของเด็กบ้านนอกนะ เราคิดว่าทำไม ทำไมถึงไม่เป็นกูวะ”


เพิงหมาแหงน
สอนนักเรียนอยู่ได้ปีกว่า ประชันก็ไปสะสมประสบการณ์มาเต็มกระเป๋าจากการทำงานที่ศูนย์ซ่อม Land Rover อีกกว่า 13 ปี นานพอที่จะทำให้พนักงานคนหนึ่งออกรถป้ายแดงให้ครอบครัวได้
ระหว่างนั้น ความคิดสมัยเป็นครูก็คอยวนเวียนมากวนใจอยู่เรื่อย ๆ ว่าเขาจะต้องเป็นเจ้าของธุรกิจให้ได้ในสักวัน หลังจากประชันเริ่มเล่าความฝันของตนให้ภรรยาฟัง เป้าหมายนั้นก็ไม่ใช่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ อีกต่อไป
สองสามีภรรยาทุบหม้อข้าวตัวเองแตก ทำธุรกิจอู่ซ่อมรถในสภาพเพิงหมาแหงน ตัวเขาอาศัยความเชี่ยวชาญและลูกค้าเก่าจากการซ่อมรถมานานนับทศวรรษ ส่วนฝ่ายหญิงเป็นอดีตนักบัญชี ถือว่าเป็นคู่สร้างคู่สมเลยก็ว่าได้
“เรากางเต็นท์แบบเพิงหมาแหงนอยู่ข้างทาง ลูกค้าที่รู้จักกันก็ทยอยเข้ามา จนทำให้เราต้องขยายกิจการมาอยู่ที่นี่
“เขาไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งปลูกสร้างหรอก คุณมาอยู่เพิงหมาแหงนอย่างนี้เหรอ คนเรามันดูที่ฝีมือ ลูกค้าเขาจะสนใจว่าดูแลเรื่องรถยนต์ให้ฉันจบมากกว่า รู้จักเกี่ยวกับระบบแลนด์โรเวอร์มากกว่า ดีกว่าเขาไปเข้าศูนย์ที่ โอเค คุณกลับบ้านนะ เสร็จแล้วจะโทรบอก แต่บางคนเขาต้องการนั่งคุยกับช่าง ลองรถกับช่าง ว่ารถเป็นอะไร มีส่วนไหนที่ต้องระวังหรือดูแลบ้าง”
จนถึงตรงนี้ก็ยังไม่เห็นว่าประชันเอาขาเข้าไปเกี่ยวกับวงการธุรกิจตอนไหน เขาบอกกับเราว่าต้องผลัดกันไปลงเรียนเพิ่ม ภรรยาเรียนวันเสาร์ ตัวเขาเรียนวันอาทิตย์ เมื่อเรียนรู้เรื่องธุรกิจจนครบถ้วนกระบวนการ ก็ยากที่จะมีใครมาเอาเปรียบ อย่างการนำเข้าส่งออกสินค้าที่ผู้ประกอบการควรรู้ไว้เป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันอู่ซ่อมรถของประชันมีพนักงานอยู่เกือบ 30 คน แบ่งเป็นแผนกเครื่องยนต์ แผนกทำสี แผนกประกอบ แผนกซ่อมทั่วไป ช่างทุกคนเลือกแผนกได้ตามความถนัด และลูกค้าทุกคนสามารถเดินเข้ามาพูดคุย บอกความต้องการกับช่างได้อย่างใกล้ชิด
ส่วนอายุ ช่างของประชันมีตั้งแต่วัยรุ่นอายุ 18 ไปจนถึงคนอายุ 70 ที่เก่าแก่พอ ๆ กับรถคลาสสิกด้านหลังนั่นแหละ เขาตั้งฉายาให้อย่างติดตลกว่า ช่างเทวดา จนเราต้องถามต่อว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
“เพราะจะไปแตะต้องเขาไม่ได้เลย” ประชันตอบพร้อมกับเสียงหัวเราะ


ช่างเทวดา
“คิดตั้งแต่ตอนอยู่ข้างทางว่า ทำไมมีโอกาสแล้วไม่ดึงคนอื่นให้มีโอกาสเหมือนเรา ถ้าเขาอยากกินดี เขาก็ต้องได้กินดีเหมือนเรา ทำไมเราไม่ไปสอนเขา ทำไมไม่ดึงมาทำด้วย ไม่มีความคิดว่ากลัวเขาจะรวยกว่า คิดแค่ว่าอยากให้เขาได้มีชีวิตดีขึ้นเหมือนกันกับเรา
“เราเลี้ยงข้าวช่าง 3 มื้อ ใครอยากกินอะไรแม่บ้านก็ทำให้หมด ค่าข้าวอย่างมากก็วันละ 200 – 300 บาทแล้วนะ เดือนหนึ่งก็เกือบหมื่น พนักงานเกือบ 30 คน ต้องมีงาน Happy Birthday ทุกเดือนถูกไหม (หัวเราะ) แต่ที่นี่เราเป็นคนจ่าย มีวงเงินให้
“อยากให้เขามีเงินเก็บ พอมีแล้วการบริหารงานมันจะไม่รั่วไหล เขาจะไม่คิดลักเล็กขโมยน้อย ถ้าเลี้ยงไม่อิ่มก็อาจจะคิดเยอะ รับจ๊อบไปตามบ้าน ดูกระสอบข้าวสารตรงนู้น” เขาชวนให้เรามองไปตามไปยังลานกว้างกลางอู่ “เราทำนาเพื่อมากินที่นี่เลย
“เราบังคับพนักงานทุกคน ต้องโอนตังค์ให้พ่อแม่เดือนละ 3,000 บาท พ่อแม่เขาจะได้กินอยู่สบาย อยากให้เขามีความภูมิใจในตัวเอง ไม่ใช่ทำงานไป 3 ปีไม่มีอะไรเลย มันท้อนะ 30 ชีวิตนี้เวลากลับบ้านพ่อแม่เขาก็ดีขึ้น ขับรถกลับบ้านเรียงกัน 3 คันแบบนี้ มันก็มีความสุข”
ไม่เพียงดูแลคนที่ร้อยเอ็ดเท่านั้น ประชันเพิ่มเงินเดือนเป็นค่าเช่าห้องให้กับพนักงานที่มีครอบครัวอยู่ที่นี่ ส่วนคนไหนที่ครองตัวเป็นโสดก็มีห้องนอนบนชั้นสองของอู่ให้อยู่ฟรี เสื้อผ้าชุดยูนิฟอร์มก็ตัดเย็บให้อย่างดี เพราะเขาพยายามประหยัดรายจ่ายของทุกคนให้ได้มากที่สุด แม้คนที่ต้องเสียมากขึ้นจะเป็นตัวเขาเองก็ตาม

โรงเรียนเพาะช่าง
ประชันเล่าว่า การที่พนักงานทั้งหมดเป็นคนอีสานทำให้พูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ทุกคนมีปูมหลังคล้ายกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ค่อยอิจฉาริษยา เขาเองก็เคยรับคนจากหลากหลายพื้นที่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กเมืองนั้นมีวิถีชีวิตแตกต่างกันมาก ทำให้บางครั้งก็พากันออกนอกลู่นอกทาง นำปัญหาภายนอกเข้ามาจนวุ่นวาย
“ที่นี่เราสอนกัน ช่วยกัน เรียนรู้เทคนิคจากกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เจ้าไขน็อตบ่เบิดเด้อ ข้อยขันให้ มื้อนี้มึงดีนะที่กูไปตรวจให้ยู้ ด้วยความมาจากพื้นที่เดียวกันก็ต้องช่วยกันสร้างองค์กร เพื่อนที่ยังสอนอยู่วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น เขาก็จะเอาเด็กฝึกงานมาส่งให้เรา
“จะมาจากถิ่นไหนก็โอเค ขอแค่เข้ากับพวกเราได้ และเราคัดเด็กนะ กฎคือห้ามดื่มเหล้าระหว่างขับรถส่งของ ง่วงก็จอดพักนะลูกพี่ เพราะสินค้าบนรถของเรามีมูลค่ามหาศาล ยาเสพติดก็ห้ามเด็ดขาด ที่นี่รับประกันเลย เพราะว่าเราตรวจเด็กทุกเดือน ถ้ามีคืออัญเชิญออก ลาขาด นี่คือองค์กรเรา ไม่งั้นมีแต่ความเสียหาย”
นอกจากนี้เวลาไปดูงานเรื่องรถที่ต่างประเทศ ประชันจะไปพร้อมกับพนักงานอย่างน้อย 2 คนและล่ามแปลภาษา อัดคลิปไว้ทั้งหมดเพื่อนำกลับมาให้ทุกคนศึกษาเองที่เมืองไทย และเขาจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษช่วงเงินเดือนออก ประชันเล่าพลางหัวเราะว่า ช่วงนี้จะปล่อยให้หยุดงานไม่ได้เป็นอันขาด เขาลงมือสอนหนังสือให้กับพนักงานรุ่นเล็กทุกคน ส่วนรุ่นใหญ่ก็ฝึกฝนการแก้ปัญหารถยนต์ผ่านการดูวิดีโอด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นกิเลสคงเข้าครอบงำเป็นแน่


เท่าที่ฟังมา รูปแบบการดูแลพนักงานของเขาคล้ายกับโรงเรียนประจำอยู่ไม่น้อย เราจึงถามเขาถึงวิธีการควบคุมให้ลูกอีสานทุกคนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด
“ตอนเทรนเราจะพูดถึงชีวิตก่อน คุณมาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร คุณมาทำมาหากิน คุณมาเป็นช่าง วันหนึ่งคุณโตไปเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นบุคลากรของสังคม คุณต้องมีความรู้ อย่ามัวมาเล่นไร้สาระ เสเพลเสพยาบ้าอยู่นี่ไม่มีประโยชน์ เด็กพวกนี้ต้องอบรมเพราะพื้นเพเขาคือเด็ก ม.3 เด็กเกเรที่พ่อแม่พี่น้องฝากมา เราก็เอามาชุบจนดีทุกคน เปลี่ยนหัวสมองมันใหม่หมดเลย สอนให้เขาได้เรียนรู้ว่านี่คือสิ่งที่จะติดตัวไปตลอดชีวิตจนวันตาย
“พอเป็นคนบ้านเดียวกัน ถ้าวันนี้จะส่งแล้วขอเลื่อน เราก็จะพูดแรงนิดหนึ่งว่า เงินเดือนพวกมึงกูเปลี่ยนเป็นวันที่ 15 บ้างได้ไหม มันก็จะทันกันตรงนี้ ไม่มีลูกเล่นเยอะ”
ตลอดเวลาการพูดคุย สำเนียงท้องถิ่นกับลีลาการเล่าของประชัน ทำให้พอจะเข้าใจว่า แม้โรงเรียนประจำแห่งนี้จะเต็มไปด้วยข้อกำหนดกฎเกณฑ์ แต่ก็คงเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่นักเรียนกับครูใหญ่หยอกล้อกันได้อย่างสนิทสนม เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ
…แล้วก็เรื่องน่าปวดหัว
“ช่างบางคนอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็กก็ดึงเขามาทำงานด้วย เราบอกเขา ทำไมไม่คลุมผ้ารถ มื้อนี้ฝนมันบ่ตกดอกหำ เอ้า แล้วพี่จะรู้ได้ไง นี่แหละคือคำว่าญาติพี่น้อง ต้องค่อย ๆ บอกเขาว่า ไปคลุมให้หน่อยแหน่”
ข้อเสียที่ต้องเผชิญก็หนีไม่พ้นความสนิทสนมอีกเช่นเคย เพราะคำที่ถูกบรรจุไว้ให้เป็นนิสัยยอดนิยมของคนไทย นั่นคือ หยวน ๆ ให้หน่อย เดี๋ยวค่อยทำ
ประชันจึงต้องสลับบทบาทของตนอย่างชัดเจน นับจาก 8 โมงเช้าเป็นต้นไปทุกคนคือพนักงานโดยมีเขาเป็นผู้บริหาร จะมาเกรงใจกัน ไม่กล้าใช้งานพี่น้องไม่ได้ ต่อให้เป็นช่างเทวดาก็ไม่สน เว้นเสียแต่ช่างมีอายุที่เขาสนิทมาก ประชันต้องอาศัยลูกล่อลูกชน มอบหมายให้ภรรยาเป็นคนจัดการความเรียบร้อย (ในที่นี้คือการว่ากล่าวตักเตือน) เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ถึงมือภรรยา เมื่อนั้นก็เหมือนผึ้งแตกรังทุกที
พอเข็มนาฬิกาบอกเวลา 5 โมงเย็นพอดี จากนายช่างก็พากันถอดเสื้อคลุม กลายมาเป็นลุงหลานครอบครัวเดียวกัน ล้อมวงกินข้าวด้วยกันเหมือนเดิม


ไปหนำแหน่
หากจะนับว่าในประเทศไทยมีอู่ซ่อมรถ Land Rover โดยเฉพาะอยู่เท่าไหร่ ก็ให้ใช้แค่มือข้างเดียว
“ถือว่าขาดแคลนมากนะ แต่ใครไม่มีประสบการณ์เปิดไม่ได้หรอก อู่พวกนี้จะอยู่ยืนยาวได้ต่อเมื่อฝีมือคุณดีจริง เพราะสังคมมันแคบมาก”
นอกจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้นทุกวัน มองปราดเดียวก็รู้ว่างานช้าเพราะอะไร ไม่เว้นช่องว่างให้พนักงานโกหก จุดแข็งอีกอย่างของเขาคือการเป็นอู่ครบวงจร แทนที่เจ้าของรถจะตระเวนไปซ่อมช่วงหลังร้านนี้ที ตั้งศูนย์ใหม่ร้านนู้นที ประชันรวบรวมทุกบริการมาไว้ที่นี่ จะสี จะผ้า จะหลังคา แอร์ ยาง ก็ทำให้หมดในครั้งเดียว จึงเป็นเหตุที่ทำให้เขาต้องลงทุนกับพนักงานอย่างเต็มที่ เพื่อรักษามาตรฐานให้ได้ดีในทุกกระบวนการ
“อะไหล่เราก็มีครบทุกอย่างทั้งใหม่และมือสอง นำเข้าเอง ต้นทุนก็ถูกกว่า เรื่องเงินไม่ค่อยเป็นปัญหาของลูกค้า แต่ถ้าเขาสั่งเองแล้วใช้ได้ 3 เดือนพังใครจะรับผิดชอบ ถ้ามาหาเรา ราคาเท่ากัน แต่ประชันเคลมให้”

ด้วยความเป็นศูนย์นอก Land Rover ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ก็คล้ายจะเป็นศูนย์กลางของคนรักรถด้วยเหมือนกัน ประชันจัดทริปพาก๊วน Land Rover ขึ้นเหนือล่องใต้ ไต่ขอบประเทศไปไกลถึงเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ลาว เวียดนามก็มี โดยเขาไปในนามทีมเซอร์วิส หลังผ่านเส้นทางดีสลับลูกรัง ช่างก็เตรียมพร้อมที่จะตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมใช้งานทุกเช้า เพียงแค่ยื่นกุญแจให้
เป้าหมายต่อไปของเขา จึงเป็นการกระจายกิจการให้ครอบคลุมหลากหลายพื้นที่มากขึ้น
“อายุเยอะแล้ว อยากให้ทุกคนที่อยู่ในอ้อมกอดของเราขยายกิจการให้ได้ อยากมีเครือข่ายที่สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี มีให้หมด คุณไม่ต้องพะวงเลยว่าไปไหนแล้วจะไม่มีคนซ่อม”

อีสานคงกระพัน
ช่วงสุดท้ายของการสนทนา ประชันสตาร์ทรถคู่ใจพร้อมพาเรากับน้องฝึกงานอีกคนนั่งรถไปด้วย เหตุเกิดจากคำถามว่าทำไมถึงชอบ Land Rover เขาไม่ตอบ แต่บอกให้ลองนั่งแล้วจะรู้
สิ่งที่เรารู้ คือประชันในวัย 46 ปี หวังเพียงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี และขอให้ลูกหลานของเขาตั้งหลักเป็นเท่านั้น
“มีคนหนึ่งทำ Land Rover กับเรามาสิบกว่าปี พอเดินได้ขาแข็งแล้วเขาก็ไปเปิดสาขาที่ขอนแก่น ชีวิตดีขึ้น เป็นเจ้าของธุรกิจ มีอู่เหมือนเรา เอาคนในพื้นที่มาเป็นพนักงานเหมือนเรา แต่เขายังเรียกเราเฮียเหมือนเดิม ไปไหนเฮียมีที่พักนอนสบาย อยากกินอะไรน้องมันก็พาไปกิน เพราะเขาเกิดมาจากน้ำใจเรา เราสอนให้เขาเป็นนายคนและเป็นนายตัวเองให้ได้”
หนุ่มใหญ่ผิวคล้ำแดดชวนสังเกตตลอดทาง ว่าทัศนวิสัยบนท้องถนนชัดเจนมากขนาดไหนด้วยท่วงท่าทะมัดทะแมง มีฐานะ ต่างจากภาพจำความเป็นอีสานที่คนบางกลุ่มยังคงมองว่า…
“โง่ เขามองว่าคนอีสานมันโง่ ซื่อบื้อ หลอกใช้ง่าย” ประชันพูดสวนมาทันทีแม้เราจะยังพูดไม่จบ
ทำให้อยากรู้ต่อว่าในฐานะเด็กอีสานที่ดิ้นรนด้วยตัวเองมาจนถึงจุดนี้ ผ่านการฝึกฝนบักหำหล่ามาก็มากจนเป็นช่างฝีมือดี แล้วตัวเขาเองมองภาพคนอีสานในปัจจุบันนี้อย่างไร
“ด้วยความจน ยุคหนึ่งการศึกษาอาจจะยังเข้าไม่ถึง แต่ยุคนี้ไม่ใช่แบบที่คุณคิดหรอก
“หนึ่ง คนอีสานเขามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สอง เขาเป็นคนรักเพื่อนฝูง สาม เขาไม่เอาเปรียบใคร โดยพื้นเพเป็นคนชอบสนุก ชอบเต้นรำฟังเพลง แต่ความซื่อทำให้คนอีสานมีข้อเสียอยู่อย่าง คือไว้ใจคนง่าย
“เกณฑ์การรับพนักงานเราเลยเลือกจากพื้นเพก่อน ไม่ได้แปลว่าไม่รับเหนือ ไม่รับใต้นะ แต่ต้องยอมรับว่ามันทำให้บ้านเราที่ร้อยเอ็ดดีขึ้น
“พ่อแม่ลูกน้องจากที่เคยลำบากก็มีเงินใช้ทุกเดือน มีเงินซื้อหยูกซื้อยา ซื้ออาหารกิน ถึงลูกเขาจะมาจากสังคมเสื่อมโทรม เราก็มาปรับให้เขามีความคิด เป็นคนใหม่ ในบุคลิกใหม่ ใช้ชีวิตแบบมีวิชาความรู้ให้มากที่สุด พอเด็ก ๆ ได้เห็นว่าลุงคนนี้ น้าคนนี้ พี่คนนี้ สร้างตัวได้จากหยาดเหงื่อแรงงาน เขาก็อยากจะเอาเป็นแบบอย่าง ถ้าวันหนึ่งสังคมที่เราเลี้ยงขึ้นมามันดี เด็กที่มีปมด้อยพวกนี้ก็จะหายไปเรื่อย ๆ
“พี่มีรอยยิ้ม น้องก็มีรอยยิ้ม สิ่งนี้มันยิ่งกว่ากำไร” ประชันแสดงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลเกินกว่าทัศนวิสัยรถในฝันของเขาเสียอีก

Lesson Learned:
- การทำธุรกิจแบบครอบครัว ควรหาเส้นแบ่งระหว่างเจ้านายกับลูกน้องให้เจอ ข้อดีคือเปิดอกคุยกันได้ทุกอย่าง แต่ข้อเสียคือความสนิทสนมและความเกรงใจ อาจทำให้แผนงานยืดหยุ่นจนควบคุมยาก
- ตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการได้ในครั้งเดียวด้วยการทำธุรกิจครบวงจร สิ่งสำคัญคือต้องรักษามาตรฐานให้ได้ในทุกกระบวนการ
- ไม่จำเป็นต้องรับทุกคนที่สมัคร แต่ขอให้คัดเลือกพนักงานเสมอ เฟ้นหาคนที่พร้อมจะเรียนรู้ เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาฝีมือในอนาคต
- ลงทุนกับพนักงานอย่างเต็มที่ ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ ความเป็นอยู่ เพื่อให้พนักงานรับผิดชอบภาระน้อยลง ทำงานที่รับมอบหมายได้อย่างเต็มกำลัง
- การดึงคนจากพื้นเพเดียวกันมาช่วยงาน ไม่เพียงสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ แต่ยังส่งเสริมให้คุณภาพของสังคมโดยรวมดีขึ้นตามไปด้วย