‘เด็กอายุต่ำกว่า 18 พบจิตแพทย์ได้ด้วยตนเอง’ คือสิ่งที่วัยรุ่นผู้ยื่นขอแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้อยากให้เด็กไทยทุกคนรู้

“ขอโทษที่ช้านะคะ หนูเพิ่งกลับมาจากเยี่ยมเคส”

ญา-ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา กล่าวขอโทษทีมงาน ก่อนจะนั่งลงด้วยสีหน้าเหน็ดเหนื่อย เราบอกน้องว่า “ไม่เป็นไรเลย” ก่อนน้องจะอธิบายเพิ่มเติมว่า “เคสนักเรียนซึมเศร้าที่กำลังดูแลติดต่อไม่ได้กะทันหัน” ญาเลยต้องรีบไปที่บ้านเคสเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ ทำให้มาสัมภาษณ์สายในวันนี้

ระหว่างที่ฟังญาเล่า เรารู้สึกทึ่งกับ ‘เด็กอายุ 17’ คนนี้ เพราะไม่ใช่แค่น้องขอยื่นแก้กฎหมายให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พบจิตแพทย์ได้ด้วยตนเอง แต่น้องยังมีชีวิตประจำวันแตกต่างจากเด็กทั่วไป ญาเรียนหนังสือระบบโฮมสคูลที่ออกแบบการเรียนรู้แต่ละวันได้ และการเรียนรู้ในแต่ละวันของเธอคือการดูแลเพจ Mental Me-Youth Mental Health Change Making Centre ขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพจิตวัยรุ่น การให้คำปรึกษาและออกไปเยี่ยมเคสผู้ป่วยทางใจ การจัดอบรมหลักสูตรจัดการอารมณ์ในโรงเรียนแก่นักเรียน-ครู-ผู้ปกครอง รวมถึงการขึ้นเวทีเสวนาต่าง ๆ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ญาเป็นหนึ่งในวิทยากรขึ้นพูดเรื่องสุขภาพจิตเยาวชน ในงาน ‘วันสุขภาพจิตโลก – Better Mind, Better Bangkok’ จัดขึ้นครั้งแรก ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมูลนิธิ Sati App มูลนิธิรุกข์ กลุ่ม Understand และเครือข่าย Global Shapers Bangkok เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการดูแลสุขภาพจิตคนไทย ญาบอกว่าในงานนั้น สิ่งที่เธออยากให้วัยรุ่นไทยรับรู้ที่สุดคือ เด็กอายุต่ำกว่า 18 พบจิตแพทย์ได้ด้วยตนเองแล้วนะ

และนี่คือเรื่องราวการเคลื่อนไหวด้านสุขภาพจิตของเด็กไทยคนหนึ่ง ซึ่งผลักดันจนแก้ พ.ร.บ.สุขภาพจิตฉบับนี้จนสำเร็จ เพราะอยากให้เด็กไทยทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี

ปราชญา เด็ก 17 ผู้ยื่นแก้กฎหมายให้ ‘เด็กต่ำกว่า 18 พบจิตแพทย์ได้ด้วยตัวเอง’ สำเร็จ

เด็กคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาผลักดันกฎหมาย… เพราะเพื่อนประถมพยายามฆ่าตัวตาย

“ตอนนั้นญาอยู่ชั้นประถม เห็นเพื่อนกรีดข้อมือตัวเองซ้ำ ๆ ก็เลยไปหาข้อมูลในกูเกิล แล้วพบว่าสิ่งที่เพื่อนเป็นเรียกว่าโรคซึมเศร้า พอจะพาเพื่อนไปหาหมอ ก็พบว่ากฎหมายไทยตอนนั้นไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 พบจิตแพทย์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง”

จากการเห็นความทุกข์ใจของเพื่อนและเห็นช่องโหว่ของกฎหมายตอนนั้น ทำให้ญาเริ่มขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพจิตตั้งแต่อายุ 14 ปี ขณะนั้นญาเป็นแกนนำเยาวชนเลิฟแคร์คลับ อีกทั้งยังเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตบางกะปิ จึงร่วมมือกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ารับการรักษาบำบัดได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ครั้งแรกญาและทีมงานไปยื่นหนังสือกับกรมสุขภาพจิตและพิมพ์ใบยินยอมเป็นแผ่นใหญ่พร้อมโซ่คล้องไว้ เพื่อสื่อสารกับบรรดาผู้ใหญ่ว่า ‘ช่วยปลดโซ่ตรวนให้เด็ก ๆ พบจิตแพทย์ด้วยตนเอง’

“ตอนเราพาเพื่อนประถมไปหาหมอ หมอบอกให้กลับไปก่อนเพราะไม่มีผู้ปกครอง ทั้งที่เขาก็แย่มาก ๆ แล้วตอนนั้น พอกลับมาบอกพ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่ยอมรับ พยายามคุยเรื่องนี้ให้พวกเขาเข้าใจ เขาก็บอกว่าห้ามมายุ่งกับลูกเขา มีเคสแบบนี้เยอะนะคะที่พ่อแม่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง พอหาข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการแก้กฎหมายฉบับนี้ เราพบว่ามีทั้งเด็กที่ไม่อยากให้พ่อแม่รับรู้ว่าเขาเป็นอะไรอยู่ และเด็กที่อยากให้เราบอกพ่อแม่ให้หน่อย เขาไม่กล้าจริง ๆ เพราะเขาไม่แน่ใจว่าพ่อแม่จะปฏิบัติยังไง”

อย่างไรก็ตาม 1 ปีผ่านไป การแก้ไขกฎหมายยังไม่สำเร็จ ญาและทีมงานก็ยังผลักดันกฎหมายต่อโดยไปยื่นหนังสือให้กระทรวงสาธารณสุขซึ่งกำลังสนใจประเด็นดังกล่าวพอดี ในครั้งนั้นญาได้เข้าร่วมประชุมกับทีมร่างกฎหมายฉบับนี้ จน พ.ศ. 2563 ก็แก้ไขกฎหมายฉบับนี้สำเร็จ

“ตอนนี้มีการออกนโยบายเป็นแนวทางให้จิตแพทย์ ส่วนเด็กก็รับคำปรึกษาจากนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ได้ รวมถึงรับยาบางตัวได้ แค่ให้เด็กได้รับการปรึกษาจากหมอ ไม่ใช่แค่ได้เจอหมอนะคะ มันคือการทำให้เด็กและครอบครัวได้เจอนักสังคมสงเคราะห์ด้วย เพราะว่าบางเคสเป็นเรื่องหนักมาก ดังนั้น ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องรับการปรึกษา พ่อแม่ก็ต้องเข้ารับคำปรึกษาเช่นกัน การแก้กฎหมายฉบับนี้เลยเป็นการเปิดประตูการแก้ไขปัญหา”

ปราชญา เด็ก 17 ผู้ยื่นแก้กฎหมายให้ ‘เด็กต่ำกว่า 18 พบจิตแพทย์ได้ด้วยตัวเอง’ สำเร็จ

เด็กคนหนึ่งที่พยายามช่วยเหลือวัยรุ่นมากมายที่เจ็บปวด

หลังจากผลักดันกฎหมายสำเร็จ น้องญาก็มุ่งพัฒนาตัวเองด้านองค์ความรู้และทักษะทางด้านการให้คำปรึกษา ผ่านการเรียนคอร์สสุขภาพจิตจากกรมสุขภาพจิต องค์กรต่าง ๆ และผู้เชี่ยวชาญมากมาย รวมถึงการฝึกฝนทักษะจากหน้างาน เพราะในขณะนั้นน้องญาได้รับตำแหน่งประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ทำให้มีโอกาสจัดอบรมเรื่องสุขภาพจิตและให้คำปรึกษาเคสนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่เป็นประจำ ก่อนจะตั้งเพจ Mental Me เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพจิตเด็กไทยผ่านการให้องค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ การผลักดันกฎหมายสำคัญ การอบรมหลักสูตรการจัดการอารมณ์ในโรงเรียน และการให้คำปรึกษาสำหรับนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพจิต

“จากการทำงาน 6 ปีที่ผ่านมา ญาพบว่าความเจ็บปวดของวัยรุ่นไทยมาจาครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง เช่น ครอบครัวกดดัน คาดหวังในตัวเด็กมากเกินไป เราได้ยินซ้ำ ๆ ว่าอยากให้ลูกเป็นหมอ ข้าราชการ เด็กแต่ละคนมีสิ่งที่ชอบแตกต่างกัน อาจไม่ตรงสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังไว้ 

“เราได้เห็นพ่อแม่ที่กดดัน ด่า ไปจนทุบตีลูก ความเจ็บปวดต่อมาคือมาจากโรงเรียน เป็นความเจ็บปวดจากการถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนหรือคุณครู และสุดท้ายคือความเจ็บปวดที่มาจากสื่อออนไลน์ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนโควิดเราว่าการกลั่นแล้งในโลกออนไลน์ก็หนักแล้วนะ แต่หลังจากโควิด เราพบว่าหนักขึ้นมาก ๆ คงเพราะเรียนออนไลน์ ต้องใช้โทรศัพท์ทั้งวัน มันจะมีตั้งแต่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ไปจนการกลั่นแกล้งกัน โพสประจานกันในโลกออนไลน์”

“เวลาญาดูแลเคส ก็มีตั้งแต่รับฟัง ให้คำปรึกษา บางเคสเราก็พาไปพบจิตแพทย์ด้วย ซึ่งก็จะมีโมเมนต์ดี ๆ ที่เราจำไม่ลืม เช่นเคสหนึ่งที่ญาให้คำปรึกษาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เขาได้รับความรุนแรงในครอบครัว เคสนี้คุณพ่อเขาเมาเหล้าแล้วทำร้ายร่างกายลูก แต่พอสร่างเมาก็จะขอโทษลูก เขาเหมือนมีอาการทางจิตด้วย เด็กเหมือนโดนทำร้ายและโดนเยียวยาสลับกันไป เคสนี้เราคุยกันบ่อยมาก ๆ เราพยายามให้เขาไปรักษาแต่คุณพ่อก็ไม่ยอมให้ไป สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือช่วยพยุงเคสไปจนวันที่เขาไปพบจิตแพทย์ได้ จนหลังจากที่ปลดล็อกโควิดก็พาเขาไปพบจิตแพทย์ ตอนนั้นเขาก็กอดญาแล้วร้องไห้ เรารู้สึกกับโมเมนต์นั้นมาก ๆ บอกไม่ถูกเลย”

ปราชญา เด็ก 17 ผู้ยื่นแก้กฎหมายให้ ‘เด็กต่ำกว่า 18 พบจิตแพทย์ได้ด้วยตัวเอง’ สำเร็จ

เด็กทุกคนต้องการพ่อแม่ที่เป็น ‘เพื่อนผู้นำ’

ในมุมมองของญา เธอเชื่อว่าการผลักดันกฎหมายอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาสุขภาพจิตที่ครอบคลุม แต่เป็นการขับเคลื่อนพร้อมกันในทุกมิติ ทั้งจากฝั่งพ่อแม่ โรงเรียน องค์กรต่าง ๆ และภาครัฐ ญาและทีมงานเชื่อว่าทุกคนควรมีทักษะการจัดการอารมณ์เพื่อดูแลจิตใจตนเองให้ดีที่สุด จึงสร้างหลักสูตรการจัดการทางอารมณ์สำหรับโรงเรียน เพื่อฝึกฝนทักษะการดูแลเยียวยาจิตใจสำหรับนักเรียน อีกทั้งยังมีการฝึกฝนทักษะการให้คำปรึกษาสำหรับครูอาจารย์และผู้ปกครองอีกด้วย

“มีครั้งหนึ่งที่ญาพยายามหาคำตอบจากการสอบถามว่า ‘พ่อแม่ที่เด็กต้องการคือพ่อแม่แบบไหน’ สรุปคือเด็กต้องการพ่อแม่ที่เป็น ‘เพื่อนผู้นำ’ คือรับฟังและเข้าใจเขาได้แบบเพื่อน และพร้อมเป็นผู้นำเวลาเขามีปัญหา ช่วยแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่พ่อแม่ที่อยากเป็นแต่ผู้นำ ที่ใช้อำนาจมากดทับเด็ก ๆ เด็กหลายคนสะท้อนว่าความสัมพันธ์ในบ้านหลายครั้งก็เหมือนเจ้านายลูกน้อง พ่อแม่สั่งอะไรก็ต้องทำ เด็กก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ถูกมองเห็น รับฟัง

“เราคิดว่าหลักการในการดูแลสุขภาพจิตทุกคนให้ดีไปด้วยกัน คือการรับฟัง ญาเคยคุยกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เขาเล่าว่าถ้าเปรียบความเครียดความทุกข์ใจเป็นน้ำเต็มแก้ว แค่มีคนฟัง น้ำก็ออกไปครึ่งแก้วแล้ว มันแบ่งเบาได้มากจริง ๆ 

ซึ่งการรับฟังอาจจะยาก หลายครั้งเราก็ฟังแบบผ่าน ๆ ไป เล่นโทรศัพท์ไปด้วย แต่การฟังจริง ๆ คือฟังแบบเข้าอกเข้าใจจริง ๆ ฟังผ่านสายตาท่าทาง แค่นั้นความทุกข์เขาก็ถูกแบ่งเบา ญาโชคดีที่โตมากับคุณแม่ที่รับฟังลูกมาก ๆ อนุญาตให้ตั้งคำถามและสงสัยได้ตลอดไม่ว่าจะมีเรื่องอะไร เวลาญามีเรื่องเครียด คุณแม่ก็จะพยายามเป็นที่ปรึกษาและรับฟัง ทำให้เราเห็นตัวอย่างการรับฟังที่ดี ช่วงแรก ๆ ที่ทำงาน ญาไม่มีความรู้เรื่องการให้คำปรึกษาเลยนะ แต่ญาคิดภาพที่แม่รับฟังเรา เลยพยายามถ่ายทอดความรู้สึกแบบนั้นออกไป”

ปราชญา เด็ก 17 ผู้ยื่นแก้กฎหมายให้ ‘เด็กต่ำกว่า 18 พบจิตแพทย์ได้ด้วยตัวเอง’ สำเร็จ

เด็กทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ครั้งหนึ่งเคสนักเรียนที่ญาให้คำปรึกษากระโดดสะพานฆ่าตัวตาย หลังจากนั้นญาก็เกิดความเครียดมาก เธอยอมรับว่าการทำงานพวกนี้ที่ต้องรับอารมณ์และเรื่องราวหนัก ๆ ของผู้คนนั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิต จนในที่สุดญาได้พูดคุยกับพี่ ๆ นักจิตบำบัดและจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางจัดการอารมณ์และเรียนรู้การจัดสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต เพราะยังไงงานนี้ก็เป็นงานที่เธอรักที่สุดและอยากจะทำจริง ๆ

“แรงผลักดันในการทำงานของญาเวลานี้ น่าจะเป็นความสนใจส่วนตัวที่เราสนใจด้านนี้อยู่แล้ว และเราก็มีภาพฝันว่าอยากให้สุขภาพจิตของเด็กไทยดีขึ้น ต้องไม่ถึงจุดที่มีเด็กฆ่าตัวตายทุกวัน ภาพฝันนี้ไม่ได้มีตั้งแต่แรกนะคะ แต่พอเราขับเคลื่อนการแก้ไข พ.ร.บ. สำเร็จ ก็คิดว่าน่าจะไปต่อได้มากกว่านั้น

“การทำงานนี้ทำให้เราเรียนรู้มาก ๆ ว่าเสียงของเด็กมีคุณค่า และเสียงของเด็กก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะก่อนหน้าที่เราจะผลักดันกฎหมาย เราปรึกษาพี่คนหนึ่งแล้วเขาบอกว่าเรื่องนี้มันยากนะ เด็กอายุ 14 ทำคนเดียวไม่ได้แน่นอน ทั้งที่ตอนนั้นเราต้องการคำแนะนำ แต่ได้ยินว่าทำไม่ได้หรอก มันก็ลดความมั่นใจว่าเราจะทำได้มั้ยนะ แต่ก็คิดว่าทำไปก่อนจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายทีหลัง พอทำสำเร็จ เราก็พบว่า เสียงของเด็กและความสามารถของเด็กมีคุณค่า เด็กเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ได้ถ้าเข้าใจบริบทและวิธีการ”

ปราชญา เด็ก 17 ผู้ยื่นแก้กฎหมายให้ ‘เด็กต่ำกว่า 18 พบจิตแพทย์ได้ด้วยตัวเอง’ สำเร็จ

Writer

Avatar

วิภาดา แหวนเพชร

ขึ้นรถไฟฟ้าหรือไปไหนจะชอบสังเกตคน ชอบคุยกับคนแปลกหน้าโดยเฉพาะ homeless ชีวิตมนุษย์นี่มหัศจรรย์มากๆ เลย ชอบจัง

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)