3 กุมภาพันธ์ 2021
5 K

01

ปอย ตรีชฎา

ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์ นั่งรออยู่ที่ Cafe Tabebuya ข้างโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายประถม)

ที่นี่ไม่ใช่ร้านกาแฟ แต่เป็นมุมกาแฟพร้อมเครื่องชงครบเซ็ตและบาริสต้า สำหรับให้บริการเหล่านักวิจัย คนทำงาน และแขก ได้ดื่มด่ำกับเครื่องดื่มดีๆ และมีพื้นที่นั่งคิดงานที่ปลอดโปร่งโล่งสบาย

ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของเครือบริษัท BIOMT (บริษัท ไบโอฟาร์มาเทค จำกัด และ บริษัทไบโอฟาร์มาแปซิฟิก จำกัด) สถานที่รับผลิตวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาตรฐาน GMP ที่ใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุลและแล็บสุดล้ำซึ่งตั้งอยู่กลางเมือง

ปอยเป็นเจ้าของที่นี่, คงไม่น่าแปลกใจนัก

ปอยเป็นนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล งานของเธอคือการสวมชุดกาวน์สีขาว ส่องกล้องจุลทรรศน์ ทำงานกับเกลียวดีเอ็นเอ, ใช่-ปอย ตรีชฎา ที่คุณรู้จักนั่นแหละ

แค่คุณไม่เคยรู้จักชีวิตเธอในด้านนี้เท่านั้นเอง

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

02

ปอยชอบวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก

ชีวิตของปอยในวัยเยาว์ถูกเล่าผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง แต่นี่คือมุมที่คุณอาจไม่เคยฟังที่ไหนมาก่อน

“ปอยชอบวิทยาศาสตร์แนวการแพทย์กับพยาบาลตั้งแต่ประถมค่ะ ปอยเป็นอาสาสมัครประจำห้องพยาบาลช่วยทำแผล ชอบมาก เวลาใครพูดสรรพคุณของสมุนไพรปอยก็จะเชื่อ แล้วตั้งสมมติฐานแบบเด็กๆ ว่าคงเป็นเพราะแบบนี้ เช่น คุณย่ารถมอเตอร์ไซค์ล้ม เอาน้ำผึ้งรวงมาทาแผลที่ถลอก แล้วแผลแห้ง ตกสะเก็ดเร็ว ปอยก็ตั้งสมมติฐานว่า ในน้ำผึ้งรวงต้องมีอะไรที่ทำให้แผลหายเร็ว ปอยจำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแบบนี้มาตลอด” แล้วน้ำผึ้งมีสรรพคุณนี้จริงไหม เธอว่า

“เมื่อร่างกายเกิดบาดแผล เชื้อโรคและแบคทีเรียจะเข้ามาทางบาดแผล ระบบเม็ดเลือดขาวก็จะเข้ามาทำหน้าที่ในการต้านเชื้อโรค ในน้ำผึ้งมีความเข้มข้นของน้ำตาลสูงมาก ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตได้ การทำงานของเม็ดเลือดขาวจึงลดลงไปด้วย ท้ายที่สุดอาการบวมแดงและการอักเสบจึงค่อยๆ หายไป”

จุดเปลี่ยนในชีวิตด้านวิทยาศาสตร์ของปอยเกิดขึ้นตอนเรียน ม.2 เธอนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยการเขียนสมมติฐานว่า ในอนาคตเราจะไม่พึ่งพาต้นไม้ในการผลิตอาหารอย่างเดียว แต่จะจำลองคลอโรพลาสต์ออกมาให้สังเคราะห์แสงสร้างแป้งให้คนบริโภคได้ งานนี้ปอยชนะ เธอจึงมีความมั่นใจ และอยากเรียนสายวิทย์อย่างจริงจัง

ปอยเรียนต่อมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต ที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ด้วยเป้าหมายที่อยากเป็นหมอ ช่วง ม.4 ก็เรียนได้คะแนนระดับท็อปดี แต่ชีวิตเธอพลิกผันกว่านั้น

03

ปอยคิดแค่ อยากมีแฟน

“ช่วงเรียน ม.6 ความคิดอยากเป็นหมอหายหมดเลย คิดแค่ อยากมีแฟน” ปอยหัวเราะเบาๆ เธอปีนกำแพง โดดเรียน จนหมดสิทธิ์สอบ ไม่สนใจจะเรียนให้จบ ไม่สนใจจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย

โชคดีที่ ไพลิน (ประทีป ณ ถลาง) เพื่อนสนิทของปอยพาปอยไปแก้เกรด ทำทุกอย่างจนเรียนจบ ม.6 พร้อมเพื่อน แต่ไพลินก็ทำให้ปอยสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่สำเร็จ

“คิดว่าจะมีแฟน คิดแค่นั้นเลยจริงๆ” ปอยหัวเราะ

เพื่อนสนิทของปอยสอบติดหมอ วิศวะฯ เข้ามาเรียนในกรุุงเทพฯ ปอยก็หนีแม่ตามเพื่อนมาอยู่กรุุงเทพฯ ในใจก็เยาะเย้ยเพื่อนว่า เรียนหนัก สมน้ำหน้า แต่พอเวลาผ่านไป เห็นเพื่อนไปเรียนหนังสือทุกวัน แต่เธอกลับอยู่กับความว่างเปล่า เลยคิดอยากเรียนหนังสือบ้าง

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech
ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

04

ปอยกลับไปซบอกแม่แบบหน้าแตก

“สุดท้ายปอยก็กลับไปซบอกแม่แบบหน้าแตก บอกแม่ว่าอยากเรียนแล้ว ตอนนั้นที่เดียวที่ยังเปิดรับที่ปอยหาได้คือ คณะนิเทศศาสตร์ ภาคพิเศษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตปอยเล่าเส้นทางชีวิตบทต่อมา

เรียนได้ 3 เดือน ปอยก็ชนะการประกวดมิสทิฟฟานี่ ปี 2547 จากนั้นเธอก็มีชีวิตในวงการบันเทิงอย่างที่ทุกคนทราบ แต่ที่อาจจะไม่ทราบคือ

ปอยเลิกเรียนมหาวิทยาลัย จนเวลาผ่านไป 2 – 3 ปี เพื่อนๆ เรียนใกล้จะจบแล้ว ปอยก็อยากกลับมาเรียนอีกครั้ง ปอยเลือกเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แทนที่จะเป็นชีววิทยามหาวิทยาลัยเดียวกัน เพราะกลัวความยากของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเธอลืมไปแล้วว่า ถึงจะยากแต่ก็เคยทำได้ดี

“ปรากฏว่ากฎหมายยากมาก” ปอยลากเสียงยาว “ยากแบบวัวตายควายล้ม ยากที่สุด ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยเก่งเลย ถึงขนาดปอยต้องไปลงเรียนนิติรามด้วย จะได้เรียนเป็นภาษาไทย เรียนไปสักพักปอยก็ไปดรอป”

ด้วยความที่เป็นนักแสดง ปอยจึงได้รับคำชวนให้ไปเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดง ที่มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งอยู่ในเครือซูเปอร์สตาร์ อะคาเดมี่ ปอยได้เรียนวิชาพื้นฐานหลายอย่างทั้งการแสดง ร้องเพลง ซึ่งเป็นขุุมทรัพย์ให้เธอเอาไปใช้ทำงานในวงการบันเทิง ปอยลงเรียนเพื่อเติมความรู้เรื่อยๆ เรียนๆ ขาดๆ สุดท้ายก็เป็นอย่างที่เราเดากันได้

เธอยังเรียนไม่จบปริญญาตรี

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

05

ปอยชอบอ่านฉลาก

“มีคนบอกว่า ไม่น่าเชื่อว่าปอยจะอธิบายอะไรในเชิงวิทยาศาสตร์ได้” อย่างเช่น เรื่องน้ำผึ้งรักษาแผลอักเสบ ปอยบอกว่า เรื่องวิทยาศาสตร์หลักๆ ที่เธอสนใจตั้งแต่วัยเยาว์คือเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงาม ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง ไปจนถึงเรื่องการฉีดอะไรทั้งหลาย

เธอสนใจมาตั้งแต่เรียน ม.ปลาย ตำราของเธอในยุคที่ยังไม่มีกูเกิลคือนิตยสาร CLEO ปอยพลิกอ่านเซกชันบิวตี้ซ้ำไปซ้ำมาจนหน้ากระดาษยับยู่ แค่เรื่องวิตามินซี เธอก็รู้ละเอียดมาก

“ทุกอย่างที่ปอยใช้ต้องมีเหตุผล ปอยชอบอ่านฉลาก ดูส่วนผสม ตอนเด็กๆ มีคนชอบถามว่าใช้อะไร ทำอะไร ปอยจะไม่พูดว่าใช้อันนี้ แต่จะจูงใจด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์ เวลาเล่าก็อินมาก”

ปอยเล่าต่อว่า ในวัย 20 ปี เธอเคยให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ว่าใช้ครีมอะไร ปอยตอบชื่อยี่ห้อตามความจริงโดยไม่ได้ค่าโฆษณา พร้อมเหตุผลที่ศึกษาด้วยตัวเองว่า

“ครีมตัวนี้มีฤทธิ์ทำให้ผิวชั้น Stratum Corneum ของเราซึ่งเป็นเซลล์ที่ตายแล้วหลุดลอกออกไป เวลาเราทาครีมอื่นเข้าไป ผิวจะดูดซึมเข้าไปได้ดีกว่าปกติ เพราะเราผลัดเซลล์ชั้นข้างบนนั้นแล้ว”

หลังจากรายการออกอากาศ แบรนด์นั้นก็ติดต่อปอยให้เป็นพรีเซนเตอร์ทันที

06

ปอยอยากสวย

“ตอนเด็กอยากมีแฟน ช่วงอายุยี่สิบสาม ยี่สิบสี่ อยากสวยอย่างเดียว ปอยศึกษาว่าอะไรทำให้ผิวสวย จำได้ว่าแต่ละแบรนด์ที่เคยกินมีส่วนผสมใดที่มีประสิทธิภาพ อะไรที่เป็นผลเสีย ปอยเลยอยากทำวิตามินที่ทำให้ปอยสวย ทำไว้กินเอง ไม่ได้คิดเรื่องธุุรกิจเลยเพราะคิดว่าคงทำไม่ได้ เราไม่มีทั้งทุน ทั้งความรู้ด้านธุรกิจ”

จากที่เคยศึกษาผ่านหน้านิตยสารและฉลากข้างขวด ปอยเริ่มสนุกกับการอ่านงานวิจัย เธออินถึงขั้นโทรไปคุยกับนักวิจัยต่อ ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศในหลายมหาวิทยาลัย จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็คือการโทรไปคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.ภก. จีรเดช มโนสร้อย และ ศาสตราจารย์ ดร.ภญ.อรัญญา มโนสร้อย ซึ่งเกษียณจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว พออาจารย์เห็นว่าปอยสนใจงานพวกนี้ เลยชวนเธอไปเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ซึ่งเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์

นี่คือการเรียนปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของปอย

ปอยได้เรียนกับสุดยอดอาจารย์ระดับประเทศ ระหว่างเรียนก็มีไอเดียผุดขึ้นมาตลอด พอได้อ่านงานวิจัยว่า กรุ๊ปเลือดของคนมีนัยยะสำคัญกับการย่อยอาหารและระบบการดููดซึมอาหาร ปอยปรึกษาอาจารย์ว่าอยากทำผลิตภัณฑ์ช่วยควบคุมน้ำหนักตามกรุ๊ปเลือด อาจารย์ก็ช่วยประสานขอทุนวิจัยจาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) ทำเป็นโครงการวิจัย เมื่อทำออกมาเป็นสินค้าจริงก็ได้รับรางวัล

ปอยมองทุกเรื่องที่เรียนเป็นโอกาส เธอเห็นความเป็นไปได้มากมาย จนแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์วางขาย 3 ตัว คือผลิตภัณฑ์ช่วยเสริมผิว ช่วยย่อยอาหารตามหมู่เลือด และช่วยป้องกันการอักเสบของคนเป็นสิว

พอเรียนได้ 2 ปี ปอยก็ได้รับโอกาสสำคัญให้ไปทำงานที่ฮ่องกงอย่างที่เราทราบข่าว

เธอก็เลยต้องหยุดเรียนอีกครั้ง

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech
ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

07

ปอยคิดเรื่องที่อยากทำจริงๆ มากขึ้น

ปอยเซ็นสัญญากับบริษัทผลิตภาพยนตร์ในฮ่องกง ระยะเวลา 5 ปี แต่ละปีต้องเล่นหนัง 3 เรื่อง พอหมดสัญญา 5 ปี ก็ได้รับการต่อสัญญาอีก 10 ปี

ชีวิตนักแสดงของปอยต้องทำงานทุกวัน นอกจากถ่ายหนังแล้วค่ายก็ยังมีงานพรีเซนเตอร์ งานอีเวนต์ และงานอื่นๆ มาให้ทำตลอด แต่งานที่โหดที่สุด คือการเดินทางไปโปรโมตหนังทุกภูมิภาคทั่วประเทศจีน เป็นการเดินทางแบบลืมวันลืมคืน ทุกวันเต็มไปด้วยคิวงานและความรีบเร่ง

“ทำได้ประมาณห้าปีก็เริ่มเบื่อ ตอนนั้นน่าจะอายุยี่สิบเก้า มีช่วงที่ปอยหดหู่ ไม่รู้เป็นอะไร คงสับสนว่าอนาคตจะเป็นยังไง ทำงานที่ฮ่องกงก็ดูมีอนาคตดีนะ แต่ไม่รู้สึกเหมือนตอนแรกๆ ไม่มีแพสชันกับงานด้านนี้แล้ว เริ่มติสต์ มีงานเข้ามาร้อยเปอร์เซ็นต์ รับแค่ห้าเปอร์เซ็นต์ อยากกลับไปอยู่ที่ที่มีธรรมชาติ มีต้นไม้เยอะๆ เริ่มคิดเรื่องอาชีพน้อยลง คิดเรื่องที่เราอยากทำจริงๆ มากขึ้น เริ่มมีกลุ่มเพื่อนที่แตกต่างออกไปจากเดิม”

พอเกิดการระบาดของ COVID-19 ปอยก็ถือโอกาสนี้กลับมาตั้งหลักทบทวนชีวิตที่เมืองไทย

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

08

ปอยยอมขับรถไปกลับอโศก-ศาลายา เพื่อไปเรียนแค่ครึ่งชั่วโมง

“ปอยฝันบ่อยมากว่าตัวเองไม่รับผิดชอบเรื่องทำการบ้าน มาจากตอนที่เรียน ม.ปลาย ไม่จบ เพราะไม่ส่งการบ้าน โดดเรียน ผ่านไปสิบปีก็ยังเป็นปม ยังรู้สึกแบบนี้อยู่” ปอยเล่าต่อว่า เธอพยายามคลายปมด้วยการเรียนปริญญาตรีให้จบ ด้วยการโอนหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มาสมทบกับที่ ม.สยาม ลงทะเบียนเรียนเพิ่มอีกเล็กน้อย เธอก็ได้วุฒิศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต ซึ่งวิชาที่เรียนครึ่งหนึ่งเป็นวิชาวิทยาศาสตร์แท้ๆ

ช่วงที่ COVID-19 ระบาดเมื่อต้น พ.ศ. 2563 ปอยใช้เวลาว่างระหว่างอยู่บ้านลงเรียนเพิ่มเติม เริ่มจากคอร์สไฟแนนซ์ จากนั้นก็พบว่ามหาวิทยาลัยมหิดลเปิดให้เรียนฟรีหลายวิชา แต่มีวิชาเดียวที่เป็นสายวิทยาศาสตร์คือ วิชาประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ปอยก็ลงเรียน เรียนไปบ่นไป เพราะมันยากมาก แต่เธอยิ่งเรียนก็ยิ่งชอบ วิชานี้ควรเรียน 3 เดือน แต่ปอยเรียนอัดทั้งวัน จนเรียนจบภายในเดือนเดียว และทำคะแนนสอบได้ดี

พอปอยเห็นเพจของมหาวิทยาลัยมหิดลแชร์รูปที่ปอยถ่ายคู่กับประกาศนียบัตรที่ได้รับ ปอยก็โทรไปถามว่า มีวิชาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์วิชาไหนที่คนซึ่งไม่ได้จบมาด้านนี้อย่างเธอเรียนได้บ้าง เธอได้รับคำตอบว่ามีวิชาที่เปิดให้เข้าไปนั่งเรียนเอาความรู้เฉยๆ ไม่ได้วุฒิแต่อย่างใด

นั่นคือวิชาพื้นฐานตัวแรกของหลักสูตรระดับปริญญาโท (นานาชาติ) ด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลและพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ของสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล วิชานี้เรียนกันทั้งหมด 6 คน 5 คนเป็นนักศึกษาปริญญาโทของหลักสูตร ปอยเป็นบุคคลภายนอกเพียงคนเดียว แต่สุดท้ายเธอก็สอบผ่านเกณฑ์รายวิชาได้

เมื่อเห็นว่าปอยเรียนได้ ผู้ดูแลหลักสูตรประชุมกันแล้วอนุญาตให้เธอเข้าเรียนในวิชาที่ 2 ของหลักสูตรเดิมต่อได้ ซึ่งไม่เคยเปิดให้คนนอกเรียนมาก่อน พอปอยสอบผ่าน เธอก็ได้รับอนุญาตให้เรียนวิชาที่ 3 4 5 และวิชาที่ 6 ตามลำดับ ซึ่งวิชาที่ 6 เป็นวิชาสุดท้ายในปีการศึกษาที่ 1 ของหลักสูตรปริญญาโท ก่อนจะแยกย้ายไปทำวิทยานิพนธ์

ปอยปรึกษาอาจารย์ว่าจะขอลงทะเบียนเป็นนักศึกษาจริงจัง แม้ว่าคุณสมบัติจะไม่ได้ แต่ปอยก็เรียนและสอบผ่านวิชาที่ยากมากๆ มาได้หมด ทางสถาบันเลยแนะนำให้ยื่นสมัครไปที่บัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัย ผลตอบรับแรกคือ ไม่ผ่าน เนื่องจากวุฒิปริญญาตรีไม่ตรงตามคุณสมบัติ

แต่พอจะอนุโลมได้ ถ้าหลักสูตรอนุมัติ

เมื่อเรื่องส่งมาถึงสถาบัน เหล่าผู้ทรงคุณวุฒิก็ประชุมกันแล้วอาจารย์ฝรั่งก็เรียกปอยไปสัมภาษณ์ เขาถามตรงเป้าว่า ในอดีตเธอมีปัญหาเรื่องการเรียนไม่จบ ถ้าเรียนที่นี่แล้วมีอะไรมารบกวนเวลา จะเลิกเรียนอีกไหม ปอยให้คำมั่นสัญญาอะไรกับหลักสูตรได้บ้าง

“ปอยไม่สามารถสัญญาอะไรได้เลย” ปอยพูดสิ่งที่ตอบในวันนั้น “เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีอะไรเข้ามาในชีวิต แต่ตั้งแต่วิชาแรกถึงวิชาสุดท้ายปอยเข้าเรียนเกินเก้าสิบแปดเปอร์เซ็นต์ ที่ขาดเรียนคือเป็นงานรัฐที่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ปอยหยุดรับงานทั้งหมดที่ฮ่องกงเพื่อเรียน ปอยขับรถจากอโศกไปศาลายาเพื่อเรียนครึ่งชั่วโมงแล้วกลับมาทำงานต่อที่อโศก ขอแค่ได้ไปรู้ครึ่งชั่วโมงก็คุ้มแล้ว สิ่งเหล่านี้พอจะยืนยันความตั้งใจของปอยได้ไหม”

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผลสอบสัมภาษณ์ออกมาว่า นางสาวตรีชฎา จะเป็นนักศึกษาในระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขา วิชาพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลและพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2564 อย่างเป็นทางการ

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

09

ปอยจะอธิบายสิ่งที่ปอยเรียนให้ฟังแบบง่ายที่สุด

“สิ่งมีชีวิตทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือพืช ประกอบขึ้นจากหลายๆ อวัยวะทำหน้าที่ร่วมกัน หากมองลึกลงไปกว่านั้น จะเห็นว่าหนึ่งอวัยวะเกิดจากการร่วมมือกันของเนื้อเยื่อ และท้ายที่สุดแล้วเนื้อเยื่อเหล่านั้นเกิดจากเซลล์หลายๆ เซลล์รวมกัน แต่ละเซลล์เป็นเสมือนบ้านที่เก็บสิ่งที่สำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิต นั่นคือรหัสพันธุกรรม และต้องเป็นแบบเฉพาะเหมือนเป็นบาร์โค้ดประจำตัว บ้านแต่ละหลังจะปกป้องสิ่งนี้ให้ดีที่สุด โดนอันตรายน้อยที่สุด เพราะมันหวังว่ารหัสเหล่านี้จะถูกส่งทอดต่อไปยังลูกหลานให้ขยายเผ่าพันธุ์และดำรงอยู่บนโลกใบนี้ให้ได้นานที่สุด เมื่อไหร่ก็ตามที่เซลล์อยากจะทำกิจกรรมต่างๆ ภายในเซลล์ เช่น การขยายเผ่าพันธ์ุ หรือทำลายความผิดพลาดบางอย่าง มันจะหยิบบาร์โค้ดที่เป็นของเครื่องมือนั้นๆ มา แล้วทำการก็อปปี้เก็บต้นฉบับไว้อย่างเดิม แล้วเอาโค้ดที่ทำการคัดลอกนั้น มาแปลรหัสเพื่อสร้างเครื่องมือนั้นจริงๆ

“เครื่องมือเหล่านั้นจะอยู่ภายใต้รูปแบบของโปรตีน ในบางครั้งเซลล์จำเป็นต้องควบคุมก้อนโปรตีนที่ผลิตได้ โดยการมีแม่กุญแจในก้อนนั้น มันจะยังไม่ทำงานจนกว่าจะไปเจอลูกกุญแจที่เข้าคู่กัน นี่คือความมหัศจรรย์หนึ่งของร่างกายที่ชาญฉลาดมากในเรื่องการป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะทำไปสู่การกลายพันธุ์ แต่ใดๆ ในโลกล้วนไม่แน่นอน แม้เซลล์มีการระวังตัวมากขนาดนี้ ระบบการทำงานก็ยังมีโอกาสผิดพลาด และสร้างสิ่งต่างๆ ที่ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ และส่งผลต่อระบบต่างๆ เป็นลูกโซ่ไป นี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติในมนุษย์ รวมถึงการเกิดโรคด้วย”

10

ปอยเป็นเจ้าของโรงงาน

ผลพวงจากการเรียนคอร์สไฟแนนซ์ออนไลน์ตอน COVID-19 คือการเอาบัญชีย้อนหลังของบริษัทมาดูแล้วพบว่า ต้นทุนที่มากที่สุุดคือค่าจ้างโรงงานอื่นผลิต ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ปอยเลือกโรงงานที่ดีที่สุด คิดสูตรเอง ซื้อเครื่องจักรเองเอาไปตั้งที่โรงงาน นำเข้าวัตถุดิบเอง และขอ อย. เอง

คุณชลธิชา ชวาลเวชกุล ผู้จัดการและทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท สก๊อต อินดัสเทรียล จำกัด เพื่อนสนิทและหุ้นส่วน ยืนยันว่าปอยทำโรงงานเองได้ ถ้าทำโรงงานขนาดเล็ก ใช้เครื่องจักรขนาดไม่ถึง 50 แรงม้า จะไม่เข้าข่ายกฎหมายโรงงาน ไม่ได้ใหญ่โตและยุ่งยากอย่างที่คิด

ปอยนึกถึงภาพสถานที่ผลิตยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ของบริษัทชั้นนำในญี่ปุ่นกลางย่านสุดหรูอย่างกินซ่า เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เธอเคยไปดู ปอยก็เลยทำขออนุญาตใช้อาคารพื้นที่ 420 ตารางเมตร ในซอยสุขุมวิท 31 เป็นสถานที่ผลิตยาและเครื่องมือทางการแพทย์ ท่ามกลางความงุนงงของเจ้าหน้าที่เขต ว่าจะจัดตั้งสถานที่ผลิตกลางเมืองจริงๆ หรือ เมื่อเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปล่อยของเสียอันตรายสู่ภายนอกแต่อย่างใด และกำลังแรงม้าของเครื่องจักรอยู่ในเกณฑ์ บริษัทของเธอก็ได้รับใบอนุญาต

ปอยให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดและระบบต่างๆ ในโรงงานที่ต้องได้มาตรฐานสากล ต้นทุนการผลิตของเธอเลยสูงลิ่ว จนมีคนแนะนำให้เธอไปขอการสนับสนุนของ BOI ปอยก็จัดทำเอกสารกองโตเข้าไปพรีเซนต์จนผ่านเกณฑ์ประเภทกิจการเทคโนโลยีชีวภาพและสถานที่ผลิต

ปอยให้นิยามว่า ธุรกิจของเธอคือการเป็นผู้รับจ้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารครบวงจร มาตรฐาน GMP ที่ใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุล ปอยแยกธุรกิจออกเป็น 2 บริษัท บริษัทไบโอฟาร์มาเทค ทำงานวิจัย ส่วนบริษัท ไบโอฟาร์มา แปซิฟิก ทำการผลิต

“วันนี้เราเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเอง มีไอเดียอะไรก็ไปขอ อย. แล้วผลิตออกมาได้ตลอด เลยจะมีผลิตภัณฑ์ตามมาอีกหลายแบรนด์” แต่ถึงอย่างนั้น แบรนด์ของเธอเองก็ไม่ได้ผลิตได้เร็วอย่างที่ใจอยาก “ตอนนี้ต้องชะลอๆ เพราะข้อจำกัดด้านกำลังการผลิต ทั้งงานของลูกค้าและยังมีงานวิจัยที่ยังต่อคิวกันอีกเพียบ”

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

11

ปอยทำนวัตกรรมให้เข้าถึงง่าย

“เมื่อก่อนโรงงานทำหน้าที่แค่ผสมสารเอ กับสารบี กับสารซี แล้วตอกเม็ด บรรจุแคปซูล บรรจุกล่อง ทำการศึกษานิดหน่อย แล้วส่งสินค้าให้ผู้ประกอบการ แต่พอปอยศึกษาในระดับโมเลกุล ทำนวัตกรรมให้เข้าถึงง่าย คนก็เลยสนใจเยอะ” ปอยพูดถึงความแตกต่างจากโรงงานอื่นๆ

“น้องๆ ในทีมปอยไม่ได้มีแค่เภสัชกรหรือนักวิทยาศาสตร์การอาหาร แต่ยังมีนักเทคโนโลยีชีวภาพ นักชีวการแพทย์ นักวิศวกรรมเคมี และนักชีววิทยาระดับโมเลกุล น้องๆ ให้ไอเดียใหม่ๆ กับปอยเยอะมาก เพื่อช่วยเพิ่มประโยชน์ถึงขีดสุุด และลดโทษให้เหลือน้อยที่สุด”

นวัตกรรมที่ทีมของปอยช่วยกันสร้างก็คือ การเปลี่ยนการใส่ซองกันชื้นลงในกล่องวิตามิน เป็นการเคลือบฟิล์มที่อิ่มน้ำลงบนเม็ดยา เมื่ออิ่มน้ำแล้วจึงไม่ดูดความชื้นอีก เทียบประสิทธิภาพแล้วดีกว่าใช้ซองกันชื้นเยอะ ไม่มีขยะด้วย

อีกอย่างคือ ลดปริมาณของสารไม่สำคัญในเม็ดยา ซึ่งส่งผลเสียต่อตับไต จาก 50 เปอร์เซ็นต์เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ ผู้บริโภคได้ยาประสิทธิภาพเท่าเดิม แต่เม็ดเล็กลงและส่งผลต่อตับน้อยลง

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

12

ปอยชอบอาคารเก่า

ช่วงที่ปอยไปทำงานและอยู่ที่ฮ่องกง เธอประทับใจย่านตึกเก่าสวยๆ ซึ่งได้รับการอนุรักษ์อย่างดี ข้างนอกเหมือนเดิม ข้างในใช้ชีวิตอยู่ได้สบาย ถือว่าเป็นย่านที่แพงที่สุดในฮ่องกง เธอนึกได้ว่าภูเก็ตก็มีแบบนี้ ด้วยความที่สนใจอาคารเก่ามากขึ้น พอกลับมาเมืองไทย เธอก็ชวนเพื่อนคอเดียวกันไปเดินดูอาคารเก่า ชิมอาหารโบราณ แล้วก็คิดว่าจะรักษาอาคารเหล่านี้ที่ภูเก็ตอย่างไร

ปอยได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สรุปว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวตัวเมืองภูเก็ตอยากมาดูอาคารเก่ามากที่สุด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมตัองอนุรักษ์อาคารเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมายังได้รับการดูแลที่ไม่ดีนัก ปอยขอนัดพบนายกเทศมนตรีเพื่อเอางานวิจัยไปเล่า แล้วไปชวนคุยว่าท่านจะช่วยอะไรได้บ้าง

จากนั้นไม่นาน เกิดอุบัติเหตุเรือเฟอรี่ล่ม นักท่องเที่ยวจีนไม่มาเที่ยวภูเก็ต ททท. เลยอยากให้ปอยเป็นพรีเซนเตอร์ชวนนักท่องเที่ยวจีนกลับมา

“ปอยบอกว่า ให้ปอยมาช่วยประชาสัมพันธ์มันไม่ช่วยเลย นักท่องเที่ยวรู้สึกไม่มั่นใจในหลายๆ เรื่อง ถ้าอยากแก้ปัญหาน่าจะต้องแก้แบบนี้ๆ นะคะ ปอยเสนอว่า ภูเก็ตไม่ได้มีแค่แสงสี แต่ในส่วนของเมืองเก่ามีงานวิจัยบอกว่า สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้วันละหกล้านบาทในวันธรรมดา และสิบสองล้านบาทในวันหยุด เราน่ากระตุ้นตรงนี้ นักท่องเที่ยวมีปมกับทะเล เราก็ขอโทษแล้วแก้ไข ช่วงเวลาแก้ไขก็หันมาโปรโมตเมืองเก่าแทน ททท. ก็งงว่าปอยไม่เอาเงินเหรอ ปอยบอกว่า ทำไปก็ไม่เห็นผลหรอก ปอยอยากลองเสนอไอเดียนี้ให้รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวฯ”

หลังจากใช้ความพยายามอยู่นานผ่านหลายช่องทาง สาวภูเก็ตคนนี้ก็ได้เข้าประชุมกับ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในขณะนั้น พร้อมด้วยผู้ว่าการ ททท. และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย รัฐมนตรีเห็นด้วยกับกลยุทธ์ของปอย เลยให้ปอยพาคณะลงไปดูพื้นที่จริง

“ปอยพาท่านไปดูว่า เมืองเก่าจริงๆ เป็นแบบนี้ ที่ภูเก็ตได้รางวัลด้านอาหารจากยูเนสโก มาจากชาวบ้านที่ทำอาหารโบราณ ไม่ใช่ร้านที่คนไปถ่ายรูป แต่ร้านโบราณดั้งเดิมกำลังจะหายไปเพราะลูกหลานไม่ทำต่อ เขาขายราคาถูกมาก ลูกค้าก็น้อย ปอยอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนตรงนี้”

หลังจากนั้น ภูเก็ตก็ได้รับรางวัลเมืองอนุรักษ์ ผู้ใหญ่จึงเริ่มให้ความสำคัญในการอนุรักษ์เมืองเก่าแบบเป็นรูปธรรม

13

ปอยซื้อบ้านมาทำเอง

ด้วยความรักในอาคารเก่า ด้วยเห็นตัวอย่างการอนุรักษ์ที่ดีจากฮ่องกง และด้วยความเป็นคนภูเก็ต ปอยจึงอยากสร้างตัวอย่างการบูรณะอาคารเก่าให้ทุกคนได้มาเรียนรู้

“ถ้าไม่มีคนทำ ปอยก็ซื้อบ้านมาทำเอง” ปอยเล่าถึงแผนที่เตรียมจะซื้ออาคารเก่าบนถนนถลาง แล้วชวน อาจารย์เต้ย-อริยะ ทรงประไพ เรี่ยวแรงหลักในการบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กับ อาจารย์ยุ้ย-ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ จากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ บินลงไปศึกษาวิเคราะห์ถึงสถาปัตยกรรมโบราณด้วยกัน แล้วหาแนวทางการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง เพื่อทำเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและคนรุ่นใหม่

“ค่าบูรณะแพงกว่าค่าตึกค่ะ” ปอยหัวเราะ “แต่ทุกคนพยายามช่วยปอยหาทางออก ที่ดินจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ทำคงหากำไรไม่ได้ เพราะถ้าอยากมีรายได้ เราต้องทำลายอาคาร เราทำแค่รื้อของที่ไม่จริงออก เก็บของที่จริงไว้ อยากทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง อาจจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้ามาเรียนรู้”

ในช่วงปีที่ผ่านมา ปอยพาเพื่อนมากมายไปดูอาคารหลังนี้ “ปอยไม่พานักธุรกิจไปดู แต่พาคนที่รักเหมือนเราไปดู ปรึกษาว่าทำยังไงให้เลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องได้กำไรหรอก เราไปหาตังค์ด้านอื่นดีกว่า”

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

14

ปอยเป็นนักวิจัย

ไม่ว่าคุณจะจดจำว่า ปอย ตรีชฎา คือใคร แต่ตอนนี้เธอคือ

“นักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล อนาคตของปอยคงอยู่แบบนี้ไปสักพักหนึ่ง ตอนนี้มีแพสชันในด้านงานวิจัยมาก ส่วนงานในวงการบันเทิงจะเลือกรับงานที่ทำแล้วไม่กระทบงานตรงนี้ ปอยชอบโมเดลของดาราหลายคนที่รับงานห้าปีครั้ง แล้วทุกอย่างเป็นมาสเตอร์พีซ อย่าง จอนจีฮยอน (Jun Ji Hyun) หรือ กงยู (Gong Yoo) เขาวางกลยุทธ์ชีวิตไว้ค่อนข้างดี พอเขารับงานน้อย ก็เอาเวลาที่เหลือไปลงทุนทำธุรกิจดีๆ แล้วทำไมเราจะทำแบบนั้นไม่ได้”

ปอยขยายความต่อว่า งานที่รับต้องไม่ขัดกับภาพนักวิจัยและนักธุรกิจ “ถ้าเป็นงานที่ต้องเปิดมากๆ ปอยก็อายน้องๆ ในทีมเหมือนกันนะ แล้วก็เกรงใจครูบาอาจารย์ด้วย” ปอยตอบพร้อมรอยยิ้มเขิน

15

ปอยทำได้ ทุกคนก็ทำได้

ธุรกิจของปอยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ น่าสนใจว่าเธอมองคุณค่าของงานนี้อย่างไร

“โรงงานนี้ทำสิ่งใหม่ๆ ให้คนมีสุขภาพดีขึ้น จากมุมมองของคนที่ชอบตั้งสมมติฐาน แล้วกลั่นกรองออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพ คนเข้าใจว่าการเป็นเจ้าของนวัตกรรมมันยาก แต่ปอยจะทำให้ดูเป็นเรื่องง่าย อยากให้เห็นว่าคนไทยเป็นเจ้าของนวัตกรรมได้ หนังสือเรื่อง Sapiens บอกว่า อีกห้าสิบปีข้างหน้าคนที่เป็นมหาอำนาจจริงๆ ของโลกไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นคนที่กุมเทคโนโลยีชีวภาพ ในอนาคตต้องวัดความเจริญของเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมด้วย ถ้าเราไม่อยากโดนกดขี่โดยประเทศมหาอำนาจ คนในประเทศก็ต้องช่วยกัน

“อีกเรื่องที่ปอยคิดมาตลอดคือ เด็กเรียนสาขาวิทยาศาสตร์น้อยลงทุกปี บางคนเรียนจบก็ไปเป็นนักวิจัยที่ต่างประเทศ เพราะไม่เห็นโอกาสในไทย ทีมงานของเราประกอบด้วยน้องๆ ในสายวิทยาศาสตร์เยอะมาก เขาเคยท้อแท้ว่าโตไปจะทำงานอะไรดี เพราะไม่มีพื้นที่ให้เขาเอาสิ่งที่วิจัยไปทำให้เกิดขึ้นจริง ปอยอยากทำให้เด็กๆ สายวิทย์กล้าคิดนอกกรอบมากขึ้น

“ปอยอยากทำให้เห็นว่า จากพี่ปอยที่ดูเหมือนจะโง่ๆ ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ลำดับต้นๆ ของประเทศยังยอมรับ เพราะเราพิสูจน์ให้เขาเห็น ขนาดปอยไม่ใช่เด็กแล้ว ยังเรียนได้เลย ถ้าปอยทำได้ นักเรียนสายวิทย์ทุกคนที่กำลังเรียนอยู่ก็ต้องทำได้”

ปอย ตรีชฎา กับบทบาทนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล  และเจ้าของแล็บผู้สร้างนวัตกรรม Biotech

รับฟังเรื่องราวชีวิตในวัย 34 ปีของปอย ตรีชฎา ได้ที่พอดแคสต์รายการ Coming of Age

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล