ฟ้าเริ่มมืดลงแล้ว
เสียงนกร้องที่เคยเจื้อยแจ้วเริ่มเพลาเสียงลง…ส่งสัญญาณถึงช่วงเวลาราตรีที่คืบคลานเข้ามาครอบครอง

บรรยากาศ

ความเปลี่ยนแปลงแห่งโมงยามดังกล่าวได้ยังผลให้หลายสิ่งมีชีวิตเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลาย เพื่อตระเตรียมตัวและใจรอการหลับใหลที่ใกล้เข้ามาทุกที

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางท้องฟ้าที่กำลังมืดลงนั่นเอง ขบวนแสงสีฟ้าก็พลันส่องเป็นทางยาวจากทางซ้ายไปด้านขวา…ก่อนหน้าที่สลับกลับมายังฝั่งซ้าย

ไม่นานนัก เสียงร้องฮัม ‘ฮู้ ฮู ฮู้ ฮู…’ ก็พลันดังขึ้นชำแรกบรรยากาศขึ้นมาสู่การรับรู้ของคนหลายร้อยคนที่อยู่เบื้องหน้า

ฉับพลันเมื่อเสียงสตรัมกีตาร์แผดสำเนียงผ่านลำโพงออกมาสวนทางกับเสียงเฮเบื้องล่าง ลานเล่นล้อ อันเป็นลานจัดกิจกรรมสำหรับนิสิตซึ่งอยู่ใกล้กับกองกิจการนิสิตและสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ปฏิกิริยาตอบรับกลับไปมาระหว่างฝ่ายที่อยู่บนและล่างของเวทีที่ยกระดับขึ้นมาแบบง่ายๆ ได้เชื่อมผสานทั้งระหว่างผู้เล่นกับผู้ชม…

ระหว่างช่วงเวลา 6 ปีที่เพลงนี้ได้เริ่มถ่ายทอดสู่ผู้ฟัง กับปัจจุบันขณะที่นักดนตรีชุดเดิมได้ถ่ายทอดมันอีกครั้ง

และระหว่างขวบปีที่ 18 ซึ่งวงดนตรีที่กำลังถวายหัว ตัว และใจอยู่บนเวที

กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางอันขรุขระทว่าเติบโต สะดุดล้มทว่าลุกยืน สูญเสียทว่ายังมีย่างก้าวใหม่ติดตามมาจนมีวันนี้…

ของวงดนตรีที่ชื่อ POTATO

POTATO

POTATO

Change IV

ทุกด้านทุกมุม

ถ้าผมย้อนกลับไปได้ก็คงบอกกับตัวเองว่า มึงไม่ต้องเครียดหรอก เดี๋ยวมึงเจออุปสรรคอีกเยอะ เพราะฉะนั้น ไอ้ที่มึงเป็นอยู่ทุกวันนี้มันยังจิ๊บๆ ลุยไปเลย”

เสียงพูดทุ้มต่ำในสำเนียงเรียบๆ ของ ชูหั่ง-ทีฆทัศน์ ทวิอารยกุล ผู้ชายวัยต้น 40 ได้กล่าวเอาไว้ในตอนหนึ่งของการสนทนาถึงประสบการณ์ร้ายๆ ครั้งแรกๆ ที่เขาได้พบเจอในฐานะมือกีตาร์ของวงโปเตโต้

POTATO

วงดนตรีที่เขาเห็นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ในยุคที่ยังเป็นวงที่กอปรด้วยสมาชิกทั้งหมด 5 คน รวมถึง โน้ต-นันทไกร ฉ่ำใจหาญ และ วิน-รัตนพล เก่งเรียน สองมือกีตาร์ที่มาก่อนเขา…ซึ่งยังอยู่เบื้องหลัง รั้งบทบาทของโปรดิวเซอร์

การจากไปของคนหลังยังผลให้เขาต้องตกกระไดพลอยโจนออกมาสู่เบื้องหน้า และสัมผัสกับประสบการณ์ที่ปัจจุบันถูกเรียกกันว่า ‘Cyberbullying’ อันนำมาซึ่งคำพูดในตอนต้น

“แรกๆ ที่ผมเข้ามานี่โดนด่าผ่านอินบ็อกซ์มากจนต้องปิดเฟซบุ๊กน่ะ มีถึงขนาดว่า ‘เอาพี่วินไปไหน ไอ้เหี้ย’ อย่างนี้มีเยอะจนเราปิดดีกว่า ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เล่นครับ” ชูหั่งรำลึกถึงเหตุการณ์การเพรียกคืนมือกีตาร์คนเก่าเมื่อ 7 ปีก่อน

ด้วยวินนั้นนอกจากเป็นมือกีตาร์ ยังเป็นสมาชิกที่มีชื่อเสียงในหมู่แฟนเพลงไม่แพ้ ปั๊ป-พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข นักร้องนำของวง ขณะที่สำหรับชูหั่ง มือกีตาร์ผู้เป็นไอดอลของคนจำนวนมากคนนี้ เป็นเหมือนกับน้องชายหรือคนในครอบครัวมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ร่วมงานกับวง

“ตอนนั้นผมแยกออกมาจากทีมงานของวงไปแล้ว แต่ยังคุยกับวินอยู่ตลอด วันที่ผมตัดสินใจเข้ามาอยู่ในวงผมค่อนข้างคิดมาก เพราะเราอยู่กับเขามาตลอด แล้วการที่จะมารับหน้าที่มือกีตาร์แทนคนที่มีคนรักมากๆ คนหนึ่งมันก็เป็นความกดดันอยู่แล้ว ช่วงนั้นลำบากใจมาก พอมาถึงวันที่ต้องตัดสินใจแล้วผมก็ยกโทรศัพท์โทรหาวิน ว่ากลับมารวมวงไหม เดี๋ยวพี่กลับไปเป็นโปรดิวเซอร์ให้ พอคุยกันจบวินเขาก็ไม่ได้ตอบตกลงอะไร หลังจากนั้นผมก็ติดต่อวินไม่ได้อีกเลย แต่ก็คิดว่านั่นแหละคือคำตอบ ว่าวินอยากจะไปทำในเวย์ของเขา” ชูหั่งมองลงไปที่สองมือที่ผสานวางอยู่บนโต๊ะ

“ถามว่าคิดไหมว่าจะไม่รับ ผมก็คิด ผมเคยคิดจะบอกว่า เฮ้ย ไม่เอาดีกว่า ผมเครียดถึงขนาดไปปรึกษาแม่ว่าจะเอายังไง เพราะว่าสมัยที่ทำงานวินเขาก็เป็นคนที่แม่ ที่ครอบครัว ผมรัก แม่ยังถามเลยว่า “อ้าว แล้วเอาวินแม่ไปไว้ที่ไหนล่ะลูก” แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจรับ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ถ้าเราไม่รับ มันก็ไม่ใช่วินอยู่ดีแหละ นี่คือเหตุผลหลักเลย เพราะว่ามันชัดเจนแล้วว่าวินเขาต้องการไปในทิศทางของเขาแล้ว

“เมื่อตัดสินใจรับ สิ่งแรกที่ผมคิดอย่างแรกเลยก็คือ เราจะต้องเจออะไร เรารู้อยู่แล้วว่ามีคนรักวินขนาดไหน เราเข้ามานี่เรามีความกดดันขนาดไหน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมทำอย่างแรกก็คือ ผมต้องโฟกัสในสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ เหมือนม้าแข่งที่มีที่ครอบตากั้นไว้ให้เห็นแต่ทางข้างหน้า เมื่อผมตัดสินใจไปแล้ว ผมจะไม่วอกแวก หรือสนใจคำพูดใคร ถามว่ามีมากระทบความรู้สึกบ้างไหม ก็มีครับ แต่ว่าวิธีการนั้นมันก็ทำให้ผมยังทำงานต่อไปได้”

POTATO POTATO

ซึ่งถึงวันนี้เขาได้ผ่านคืนวันเหล่านั้นมาได้ด้วยความเข้าใจแล้ว แต่แน่นอนว่าเมื่อแรกเผชิญย่อมยังความเจ็บปวดมาให้กับตัวเขาอยู่ไม่น้อย

“ตอนนี้ผมว่ามันเข้าสู่ยุคที่เขาตีแล้วเราไม่เจ็บแล้ว คือเราไม่ได้แสดงอาการอะไร ถามว่ารู้สึกไหม เวลาโดนตีเราก็รู้สึกแหละ เราก็เจ็บ ถึงผมจะเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวงมานาน แต่ก็มีคนไม่รู้จักผมเยอะ เพราะว่าสมัยที่ผมทำโปรดิวส์นั้นผมแทบไม่มีรูปถ่ายกับโปเตโต้เลย วันก่อนยังนั่งคุยกับแฟนว่าอยากรวมรูปตอนทำงานกับโปเตโต้ดู พอไปค้นฮาร์ดดิสก์เก่าๆ ก็แทบไม่มีรูปถ่ายเลย ก็อาศัยช่วงเวลาที่ทำงานที่ปั๊ปจะคอยบอกบ้างว่าชื่อนี้บนปกอัลบั้มคือผมนะ เคยดูเอ็มวีเพลงนี้ไหมที่พี่หั่งนั่งทำงานอยู่ พอคนเริ่มรู้จักว่าไอ้นี่มันคือใคร ทุกอย่างก็เริ่มเบาลง หลายคนส่งอินบ็อกซ์ส่งในไอจีมา เฮ้ยพี่ อันนี้พี่หรือเปล่า เห็นในเอ็มวี อ๋อ พี่ทำงานมาตั้งแต่ตอนนี้ คือพอเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เริ่มคลี่คลาย”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดมากที่สุดกลับไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาแทนที่ใคร หากแต่เป็นข้อกล่าวหาที่ว่า เพราะเขาทำให้ดนตรีของโปเตโต้เปลี่ยนไป

“ที่ผมรู้สึกแย่เพราะเราเคยเป็นคนหนึ่งที่สร้างวงมา เราก็รู้แหละว่าโปเตโต้คืออะไร เราเป็นคนสร้าง ก็เปรียบเหมือนเราเป็นพ่อคนแม่คน เราทำใจได้ไหมว่าวันหนึ่งลูกของเราเขามีความเป็นตัวของตัวเอง วันหนึ่งเขาโตขึ้นเขามีความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะทางความรู้สึก ทางกาย หรืออะไรก็แล้วแต่ เรารับได้หรือเปล่า แล้วเราจะยอมรับให้เขาเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของเขาหรือเปล่า อันนี้คือสิ่งที่ยากที่สุด” ชูหั่งค่อยๆ ตอบอย่างระมัดระวัง

“แล้วเมื่อเราตัดสินใจยอมให้เขาได้เป็นไปตามธรรมชาติของเขา ให้โปเตโต้ได้เป็นไปตามธรรมชาติของเขา เรากลับโดนต่อว่าว่ามึงแม่งทำให้โปเตโต้เปลี่ยนไป ทั้งที่ชีวิตวงดนตรีมันก็เหมือนคนหนึ่งคน จากแรกเกิด จนโตมาเป็นเด็กโต จนไปเป็นวัยรุ่น จนเป็นคนแก่ คนบางคนลืมไปว่าโปเตโต้อยู่ในวงการมา 17 ปี ถ้าคุณย้อนกลับไปในวันแรกคือเขาเป็นเด็กทารก เมื่อปีแรกเขาเป็นเด็กทารกคนหนึ่ง วันนั้นเราอยากให้เขาเป็นอะไรก็ได้ เราชื่นชอบเขา เขาน่ารัก เขาเป็นแบบที่เราต้องการ วันหนึ่งพอเขาโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เขาก็เหมือนคนคนหนึ่ง เมื่อเขาไม่ได้ดั่งใจเราแล้ว ก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะว่าเขามีความเป็นตัวของตัวเอง เขามีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องที่ผมเจ็บปวด เราถูกมองว่าเป็นคนที่ไปเปลี่ยนวง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันคือธรรมชาติ ในความรู้สึกของผม ผมรู้สึกว่ามันคือสิ่งที่มันต้องเป็นไปในแบบนั้น”

ซึ่งสุดท้ายแล้วอุปสรรคปัญหานานาประการก็กลายมาเป็นแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังอัลบั้มชุดที่ 7 ของวง ที่มีชื่อง่ายๆ ว่า ชุดที่เจ็ด ที่ทั้งแฟนเพลงและสมาชิกวงเองรอคอยมาตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี

POTATO

“จุดเริ่มต้นของอัลบั้มนี้มันเริ่มต้นจากการคุยกัน เรารู้สึกว่าช่วงเวลาก่อนหน้าที่มันจะเกิดอัลบั้มนี่มันมีปัญหาเยอะมาก ทั้งตัวปั๊ปเอง หรือตัววง ต้องต่อสู้กับอุปสรรคหลายอย่างในเรื่องของฟีดแบ็กต่างๆ เรื่องการเปลี่ยนแปลง หรือปัญหาของวงต่างๆ เราเลยอยากนำเสนอในเรื่องว่าทำไมเราถึงผ่านมาได้ เราคิดยังไงเวลาเราเจอเรื่องแย่ๆ เราทำยังไง เราอยากจะนำเสนอในมุมนั้นว่าทุกๆ ปัญหา ทุกๆ อุปสรรค มันมีเรื่องดีๆ ซ่อนอยู่” ชูหั่งยิ้มออกมาในที่สุด
“สำหรับผม มันผ่านช่วงนั้นไปแล้วครับ พีเรียดที่ผมโดนว่าว่า เฮ้ย พอเปลี่ยนมือกีตาร์ใหม่ไป งานเปลี่ยนไปเลย ถามว่าอีก 9 เพลงเปลี่ยนไปไหม มันเปลี่ยนไปหมดเลย แต่ถามเรากลัวไหม มันไม่ได้กลัวแล้วครับ ผมว่าความรู้สึกที่ต้องรับสภาพตรงนั้นมันมีภูมิต้านทานไปแล้วว่าโลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ โปเตโต้อยู่กับเหตุการณ์ลักษณะนี้เสมอมาอยู่แล้ว หลายๆ ครั้งที่เราโดนเรื่องพวกนี้เราก็จะมาคุยกันเอง ปั๊ปเป็นคนหนึ่งที่จะคอยบอกตลอดว่า พี่มันก็เป็นอย่างนี้แหละ พวกผมก็โดนกันมาทุกรูปแบบแล้ว เรามีคนรู้จักก็เลยต้องรับเรื่องพวกนี้ เราคงไปห้ามความรู้สึกคนหรือไปกำหนดความคิดคนไม่ได้ แต่ว่าเรารู้ตัวเองได้”

หากโปเตโต้เหมือนกับคนหนึ่งคนอย่างที่ชูหั่งกล่าวไว้ โปเตโต้ก็คงเป็นคนที่ผ่านสถานการณ์ประเภท ‘สิ่งที่มันต้องเป็นไป’ มาครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งที่สุดแล้วก็เป็นเชี้อโรคร้ายที่กลายมาเป็นวัคซีนที่ค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเขาและวงทีละน้อย

รวมถึงน้องชายคนเล็กของวง…ที่เคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายคล้ายกันนี้มาก่อน

Change III

แค่นี้

“ผมเป็นมือกลอง ความที่ผมตีอยู่ข้างหลัง ก็จะมองเห็นว่าแต่ละคนในวงเป็นยังไง จำได้ว่าวันแรกที่พี่หั่งเล่นคอนเสิร์ตร่วมกับวง พี่หั่งแกก้มหน้าก้มตาเล่นแบบเรียบร้อยมาก ซึ่งผมเข้าใจความรู้สึกเขาดี ฟีลไม่ต่างจากผมตอนมาอยู่วงใหม่ๆ ที่ก้มหน้าก้มตาตีไม่มองใคร ไม่ปฏิสัมพันธ์กับใครทั้งนั้น เอากูให้รอดก่อน พี่เขาคงตื่นเต้นแน่ แล้วโมเมนต์นั้นผมก็รู้สึกตื่นเต้นแทนเขา เพราะทุกครั้งที่เห็นเขาเล่นบนเวทีนิ่งๆ แบบนั้น มันจะย้อนคิดถึงตัวเองวันแรกที่มาเล่นกับโปเตโต้เสมอ”

POTATO

กานต์ อ่ำสุพรรณ ผู้ถือไม้กลองบัญชาการภาคจังหวะอยู่หลังกลองชุดประจำวงโปเตโต้มาเป็นเวลา 11 ปี รำลึกถึงครั้งแรกที่สมาชิกรุ่นปัจจุบันแสดงดนตรีบนเวทีคอนเสิร์ตด้วยกัน

ขณะที่เมื่อเขาย้อนนึกถึงวันแรกที่ได้มาเป็นสมาชิกคนใหม่ของวง ภาพจำและความรู้สึกก็เป็นเช่นที่เขากล่าวก็ไม่ได้แตกต่างกับชูหั่ง ณ สถานการณ์เดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการตอบรับจากเหล่าแฟนคลับผู้เหนียวแน่นของวง

“สิ่งที่เขาเจอมันค่อนข้างคล้ายๆ กับตอนที่ผมเจอ โดยเฉพาะในแง่การถูกเปรียบเทียบ เขาไม่ได้มองว่าเราเข้ามาแล้วทำให้วงเปลี่ยนแค่ไหน พวกแฟนเพลงหรือคนทั่วปจะมองว่าเรามาแทนที่ ‘แทนที่ทำไมวะ คนเดิมก็ดีอยู่แล้ว’ แต่เขาไม่เข้าใจว่าเราเปลี่ยนแปลงเพื่ออะไร มันมีเหตุอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง พอพี่หั่งบอกว่าโดนแบบนี้ๆ เราก็จะนิ่งๆ ย้อนคิด เพราะเราก็โดนมาเยอะเหมือนกัน ยุคนั้นเป็นเว็บบอร์ดอยู่ เมื่อก่อนโปเตโต้เป็นใคร เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วผมอ้วนมาก หนักร้อยกว่ากิโล เขาจะด่าตั้งแต่เรื่องอ้วน ก็อ้วนทำไมมาอยู่ตรงนี้ ไปยันครอบครัวผมเลย” กานต์เล่าถึงความหลังครั้งเลวร้ายที่เขาต้องเผชิญแม้ไม่เคยต้องการ

“ตอนแรกผมก็คิดว่าไม่ต้องสนใจ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกลับยิ่งถาโถมเข้ามา สุดท้ายมันค่อยๆ กัดกินในใจทีละนิดว่าคนไม่ได้ชอบเรา เหมือนเราแม่งหน้าด้านอยู่ จากเมื่อก่อนตอนที่เล่นดนตรีกลางคืนผมจะติดเล่นเกมกับเพื่อน ชอบเล่นอินเทอร์เน็ตมาก สมัยนั้น Hi5 ดังมาก ตอนหลังพอมาอยู่วงก็เลิกเล่นไปเลย ไม่ไหวแล้ว เว็บบอร์ดเข้าไปอ่านก็มีแต่เรื่องด่าเรา”

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อันเผ็ดร้อน ตอนที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร กานต์ก็ได้รับกำลังใจจากคนที่ใกล้ตัวเขาที่สุดคนหนึ่งในเวลานั้น ซึ่งยังผลให้เขาสามารถหลุดพ้นออกจากสภาวะอันทดท้อได้ในที่สุด  

“เวลาออกทัวร์เราจะแยกกันนอนห้องละ 2 คน ผมจะนอนห้องเดียวกับพี่ปั๊ป ก็จะคุยกันว่าแต่ละคนเป็นไงบ้าง ซึ่งพอพี่ปั๊ปรู้ก็จะคอยปลอบว่าไม่ต้องไปสนใจหรอก พักเล่นเน็ตไปก่อนแล้วมาทำงานของเราให้เต็มที่ดีกว่า สุดท้ายเดี๋ยวผลตอบรับมันจะมาเอง คนก็จะรู้เองว่ามันคือความเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งสุดท้ายก็เป็นอย่างนั้นนะครับ แต่ต้องใช้เวลา จากตรงนั้นก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ คนเริ่มพูดถึงโปเตโต้ในแง่ดนตรีเยอะขึ้น จากแต่ก่อนจะคิดถึงกันแต่เรื่องรูปร่างหน้าตา ซึ่งผมเข้าใจ เพราะแม้แต่ผมเองสมัยเรียนมหา’ลัยก็ยังเคยซื้อดีวีดีคอนเสิร์ตโปเตโต้เพื่อมานั่งดูว่าพวกนี้เล่นกันจริงเปล่า ซึ่งมีคนน่าจะคิดแบบผมเยอะเลย”

POTATO POTATO

เวลาที่ผ่านไปยิ่งทำให้กานต์ได้ค่อยๆ เรียนรู้และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงเติบโตและเข้าใจการก้าวเข้าสู่เส้นทางของโปเตโต้ ที่มิใช่เป็นเพียงวงดนตรีวงหนึ่ง หากพ่วงบทบาทของศิลปินระดับมหาชนเอาไว้ ซึ่งหมายถึงการอยู่ภายใต้แสงสว่างของสปอตไลต์ ที่ง่ายต่อการปะทะและวิพากษ์วิจารณ์

“สาเหตุที่ผมผ่านมาได้ หนึ่ง ก็เพราะคนรอบข้างด้วย คนที่ให้กำลังใจนี่สำคัญมาก เพราะว่าสิ่งที่เราทำอยู่ ณ ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่ามันดีไม่ดีวะ สุดท้ายกูตั้งใจทำแทบตายแต่คนมาตีตราว่า เฮ้ย มึงเข้ามาทำไม มือกลองเขาก็มีอยู่แล้ว ทั้งที่เราตั้งใจแทบตาย รักษาหน้าที่เราแทบตาย” กานต์อธิบาย

“ถึงตอนนั้นผมจะโดนเกลียด อ้วนโน่นนี่นั่น แต่สุดท้ายเราเป็นนักดนตรี ผมเชื่อว่าเวลาเราตั้งใจจะทำอะไร ถ้าทำด้วยใจจริงๆ แล้วมันจะเห็นผลเอง ก็ตั้งใจทำไปก่อนจนเริ่มมีคนชอบเรา เริ่มมีคนยกเราเป็นไอดอล ‘ผมตีกลองได้เพราะพี่’ ‘ผมเริ่มฟังโปเตโต้เพราะว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนี่แหละ’ ก็เอาตรงนั้นมาเป็นแรงผลักดัน มาเป็นกำลังใจ ให้ตัวเอง”

จวบทุกวันนี้ แม้ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบจะยังไม่หมดไปเสียทีเดียว แต่สำหรับกานต์ เขามองสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเอาความเข้าใจสิ่งที่เป็นไปเป็นที่ตั้ง ยังผลให้เขาสามารถรับมือและยืนหยัดกับสิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขามีได้ดีขึ้น

“ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ด่าเรา ตีโคตรรก เล่นสดกลบโน่นกลบนี่หมด แรกๆ เครียด หลังๆ ก็โอเค วิธีของผมก็คือ ถ้ามีมากกว่า 1 คนพูดก็เอามาทบทวนว่ามันอาจจะรกจริงก็ได้ แล้วก็ต้องดูว่าคำวิจารณ์เป็นไงบ้าง มันมีหลายแบบ เราก็ไปปรับของเรา YouTube มีคลิปที่ผมเล่นเยอะแยะ เราก็ลองดูว่าต้องปรับเปลี่ยนตรงนี้หน่อยไหม ตอนนี้ผมใช้คำวิจารณ์มาฝึกฝนตัวเองแทน”

ด้วยเหตุนั้น แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เกิดขึ้นกับโปเตโต้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงภายในอารมณ์ความรู้สึกอยู่เป็นระยะ แต่ถึงวันนี้กานต์ก็มองสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ดีมากกว่าที่จะกลัดกลุ้มไปกับมัน

“ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงของวงมันกลายเป็นจุดเด่นของวงนี้ไปแล้ว จากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสมาชิกวง ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงกับดนตรีของวงไป” กานต์ตั้งข้อสังเกต ก่อนที่จะพูดถึงเป้าหมายเกี่ยวกับวงจากมุมมองของตัวเขาเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่แตกต่างไปจากเมื่อครั้งเขามาร่วมวงใหม่ๆ อยู่ไม่น้อยเช่นกัน

“ผมว่าเป้าหมายที่มีต่อวงก็เริ่มเปลี่ยนไป ผมจำได้ว่าช่วงแรกๆ ที่เข้าวงมาเนี่ยมันก็เปลี่ยนครั้งใหญ่ไปรอบหนึ่งแล้ว ทั้งเรื่องดนตรีที่ชัดเจนขึ้นในเชิงว่าดนตรีเราเข้มข้นขึ้น เรากล้านำเสนอในสิ่งที่ฉีกจากเดิมมากขึ้น ก็คล้ายๆ ตอนนี้ที่เราเริ่มเปลี่ยนมุมมอง ขณะที่แนวคิดต่างๆ ก็ดูชัดเจนขึ้น” กานต์กล่าว “เราโตกันแล้วไงครับ ตอนนั้นเพิ่ง 20 กว่า ตอนนี้ 30 กว่าแล้ว พี่หั่ง 40 แล้ว ก็เลยคิดเป็นผู้ใหญ่ขึ้น แฟนเพลงที่โตมาพร้อมกัน มันไม่ยากที่เขาจะคิดตามเราได้ ดังนั้น ผมจึงคิดว่ามันก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีนะครับ กลายเป็นผมแทบไม่ได้คาดหวังแล้วว่าคนจะต้องมาชอบอัลบั้ม ชุดที่เจ็ด กันมากๆ แต่แค่ให้คนได้ยินสิ่งที่เราตั้งใจในทุกเพลงที่เราทำ แค่นั้นก็โอเคแล้วครับ”

POTATO POTATO

จากวันนั้นถึงวันนี้ 11 ปีแล้วที่นามสกุลหลังชื่อซึ่งกลายเป็นนิคเนมติดตัวเขาว่า ‘กานต์ โปเตโต้’ ให้หลายอย่างกับชีวิตเขามากกว่าเพียงแค่ชื่อเสียงเงินทอง สำหรับเขาแล้วมันคุ้มค่ามาก แม้จะต้องแลกกับคำวิพากษ์วิจารณ์อันรุนแรงตลอดเวลาที่ผ่านมา

“โปเตโต้ให้ทุกอย่างในชีวิตผมเลยครับ ให้บ้าน ให้รถ ให้เมีย (หัวเราะ) มันแทบจะเป็นอาชีพอย่างเดียวของผมตอนนี้เลย นอกจากนั้น ผมว่าวงนี้ยังดึงศักยภาพของเราออกมา เฮ้ย มึงทำได้ แบบนี้ มึงต้องพยายามหน่อยนะ…พี่ๆ ทุกคนเขาช่วยผลักดันเรา วันไหนที่เราท้อแท้สุดๆ เขาก็ดึงเราขึ้นมา วันไหนที่เรานอยด์กับการซ้อมการเล่น หมดไฟ เขาเป็นคนที่ผลักดันเรา เฮ้ย หมดไฟไม่ได้นะ ผมจึงไม่เคยคิดว่าตัวเองเสียอะไรไปให้กับวงนี้เลย” กานต์กล่าวพร้อมกับยิ้มกว้าง

“แม้แต่เรื่องที่โดนด่า ผมก็มองว่ามันก็ดีแล้วล่ะที่รู้ว่ามีทั้งคนชอบ คนรัก คนเกลียด คนให้กำลังใจ เพราะมันเป็นบทพิสูจน์ว่าสิ่งที่ผ่านเข้ามานั้นทำให้เรามีทุกวันนี้ได้จริงๆ เหมือนเราใช้คำวิจารณ์ตรงนั้นมาเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองว่าไม่ได้ ยอมไม่ได้ อย่าท้อ เพราะสุดท้ายแล้วมันเห็นผลแน่นอน แค่ระยะเวลามันจะนานหรือสั้นแค่นั้นเอง”
แน่นอนว่าเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขที่เรียกว่า ‘เวลา’ นั้นย่อมส่งผลกระทบและก่อให้เกิดผลพวงในทางใดทางหนึ่งกับแต่ละคน แต่ละสถานการณ์ และแต่ละความเปลี่ยนแปลง

กระนั้นทุกสิ่งย่อมมีข้อยกเว้น

หนึ่งในบทพิสูจน์คือ ผู้ชายร่างผอมคนนี้ที่ร่วมกุมบังเหียนในส่วนภาคจังหวะของโปเตโต้กับกานต์มาโดยตลอด รวมทั้งรั้งตำแหน่งมือเบสของวงมาจนเกือบตลอดอายุขัยของโปเตโต้

แต่ดูเหมือนว่าเวลาจะไม่อาจเปลี่ยนผันทั้งภาพลักษณ์ แนวคิด และจุดยืน ของเขาไปได้เลยแม้แต่น้อย…

Change II

สมดุล

“ผมอยู่กับความเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลา แต่ผมก็ไม่ได้มองความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องใหญ่ บางคนที่เขาออกไปเพราะว่าเขาใส่ใจกับชีวิตส่วนตัวหรือมีสิ่งที่เขาอยากจะทำมากกว่าวง ส่งผลให้การ Concentrate ต่อวงของแต่ละคนมีความต่างไป ในขณะที่เราใส่ใจกับวงมาก ส่วนคนที่ออกไป ตอนนี้เขาก็มีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ต่างไปจากวง ยกเว้นบ๋อม ซึ่งยังอยู่ในวงการดนตรีแบบจริงจังเพียงคนเดียว”

คือคำกล่าวของ ปิยวัฒน์ อนุกูร หรือโอม ที่ได้ใช้ชื่อวงมาต่อท้ายชื่อมานานถึง 17 ปีแล้ว นับเป็นสมาชิกโปเตโต้ที่อยู่โยงมายาวนานที่สุด รองก็แต่เพียงปั๊ป นักร้องนำ เท่านั้น

POTATO

“ผมเข้ามาปี 45 คือหลังจากที่ปีย์ (ปีย์ชนิตถ์ อ้นอารี นักร้องนำคนแรก) เสียชีวิตไปอาทิตย์เดียว” โอมรำลึก “อาจจะไม่ใช่แรกสุดขนาดปั๊ป แต่ตอนนั้นก็เป็นช่วงที่วงเพิ่งเริ่มมาได้ชุดเดียว สมาชิกเหลือแค่ปั๊ป บ๋อม โน้ต แล้วไม่มีมือเบส ขณะเดียวกันช่วงแรกที่ซ้อมกันยังเป็นช่วงที่เรายังต้องหามือกีตาร์กันอยู่เลย ต้องผ่านการหาประมาณ 7 – 8 คนกว่าจะได้วินมา และอาจเพราะอยู่ในแทบทุกช่วงเปลี่ยนแปลงของวงมาตั้งแต่แรก เอ๊ะ หรือว่าผมจะอยู่มานานเกินไปวะ” มือเบสผมยาวประจำโปเตโต้กล่าวถึงตรงนี้ก็หัวเราะออกมา
ไม่ว่าจะพิจารณาจากภาพลักษณ์ภายนอกไปจนถึงแนวคิดภายในใจ โอมค่อนข้างมีภาพลักษณ์ที่ผิดแผกจากสมาชิกคนอื่นๆ ที่ล้วนแต่อยู่ในซีกจริงจังและมักขบคิดกันมากกับแต่ละย่างก้าวของชีวิต แต่สำหรับโอมแล้วเขาเลือกที่จะมองหาแง่งามตามระหว่างทางเดินมากกว่าเพ่งไปที่เป้าหมายให้ต้องกลับมากดดันตัวเอง

“ทุกวันนี้เราสนุกไปกับทุกวันที่เราใช้ เรามีความสุขกับทุกอย่างที่เราทำ เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะตายหรือเปล่า เราก็เลยทำทุกอย่างให้ตัวเองมีคุณค่าสำหรับการทำงาน สำหรับการทำอะไร แล้วก็มีความสุขไปกับทุกวัน ดีกว่าจะมานั่งคาดหวัง ถ้าวันหนึ่งกูป่วยแล้วมันท้อแท้ล่ะ เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น ผมเลยใช้ทุกอย่างให้มันเป็นความสุขดีกว่า” โอมตอบด้วยรอยยิ้มร่า “วิธีการคิดของผมจะคิดแค่ว่าวันนี้จะต้องทำอะไร พรุ่งนี้จะต้องทำอะไร รู้แค่วันนี้กับพรุ่งนี้ แล้วถ้าสมมติว่าไปวางแผนกันล่วงหน้า สุดท้ายมันก็มักจะผิดแผนอยู่ดี”

ด้วยเหตุนั้น ทำให้โอมเลือกที่จะยิ้มหัวให้กับการผิดแผนต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงอัลบั้ม ชุดที่เจ็ด ของโปเตโต้ที่สามารถระบุได้เต็มปากว่าต้องพบกับจุดสะดุดมาตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี นับจากที่ชูหั่งได้กลายเป็นสมาชิกถาวรของโปเตโต้ และเริ่มปักหมุดเพื่อทำอัลบั้มชุดใหม่ของวงกัน

เพื่อที่จะต้องผิดแผนกันครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่กระนั้นก็คงไม่ต้องตั้งคำถามให้เสียเวลาว่าอุปสรรคปัญหาที่วงต้องเผชิญนั้นไม่อาจทำให้มือเบสสายร็อกของวงต้องสะเทือนเลยแม้สักกระผีก

POTATO

“ขณะที่ปั๊ปคิดแต่เรื่องงาน ผมจะเป็นพวกไร้สาระ แล้วแต่พวกมึง ยังไงก็ได้ ถ้าทั้งสามคนบอกว่าดี ผมก็บอกว่าดี เพราะเป็นคนค่อนข้างไม่คิดอะไรมาก เรียกว่าพวกมากลากไป” โอมหยุดคิดเพียงเสี้ยวนาทีเมื่อพูดถึงตรงนี้ “อาจจะมีเครียดกับเขาบ้างนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่นาน ขนาดช่วงที่ปั๊ปเครียดมาก ผมไปมีเรื่องกับคนอื่น คนอื่นด่าผม ปั๊ปเป็นคนรักเพื่อน เขาจะออกมาปกป้องเพื่อนเสมอ แต่โอมจะไม่เครียด กูรู้ว่าเครียดก็เกลียดไปสิ คือเกลียดกูแต่ก็ทำร้ายกูไม่ได้ไง เพราะว่ามีมึง คือถ้าเราทำแล้วมีความสุขของเราใครก็ทำอะไรไม่ได้”

นั่นคือข้อดีของความเป็นโอม โปเตโต้ ที่ทำให้เขาสามารถรับแรงปะทะได้ดีและทรงประสิทธิภาพกว่าเพื่อนร่วมวง
“ถามว่าที่คนอื่นๆ โดนกระแสกันหนักเพราะอะไร เพราะทุกคนเล่นโซเชียล ทุกคนจะอ่านคอมเมนต์ แต่ไม่ใช่ผม ผมไม่เล่น ผมไม่อ่าน คือถ้าให้กลับไปใช้ Nokia จอขาวดำ หรือไม่มีคลื่นโทรศัพท์เลย ผมก็อยู่กับผมได้ โดยไม่ต้องสนใจคนรอบข้างว่าจะพูดยังไง เรื่องของมึง แต่กูรู้ว่าสิ่งที่กูทำเป็นยังไงก็พอแล้ว นั่นคือกู ออกไปทำงานออกไป ไม่ต้องไปอ่านคอมเมนต์ เพราะคำพูดบางคำพูดมันก็อาจจะกระทบจิตใจเรา แต่ถ้าไม่อ่าน เราก็ไม่รู้แล้ว”

ไม่เพียงแต่กระแสแง่ลบ แต่ในด้านของความสำเร็จที่ผ่านมาของโปเตโต้ก็ไม่ได้ทำให้เขาตื่นเต้นหรือใช้ชีวิตหวือหวาประสาร็อกสตาร์เฉกเช่นกัน

“ผมไม่เคยมองจุดนั้นเลยครับ ผมมองแค่ว่าเรามาทำงาน ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นไอดอล เราก็แค่เป็นนักดนตรี เอนเตอร์เทนเนอร์คนหนึ่งซึ่งทำให้คนมีความสุข แต่ไม่เคยมองว่าจะต้องถึงจุดสูงสุด หรือมาจดจ่อกับความรู้สึกว่าวันนี้เราตกนะ” โอมกล่าวด้วยท่าทีสบายๆ สไตล์ของเขา

“ผมไม่เคยคิดว่าวันนี้ร่วงหรือวันนั้นรุ่ง เราจะมองแค่สิ่งที่ทำแล้วเรามีความสุข เราคิดแค่นั้น คนอื่นอาจจะรู้สึกแต่เราไม่รู้สึก ผมดีใจที่วงมีเพลงดัง มีเพลงฮิต แต่พอมีคอนเสิร์ตใหญ่ก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่ามีคอนเสิร์ตใหญ่แล้ว ทำให้เต็มที่เลยดีกว่า คิดแค่ว่ามันก็เป็นคนเสิร์ตอีกครั้งหนึ่ง แล้วเดี๋ยวมันก็จะมีครั้งหน้าอีก แค่ทำครั้งนี้ให้มันสุด แล้วครั้งหน้าอยากทำอะไรก็ทำ เพราะฉะนั้น คิดแค่เราจะทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถามว่าตื่นเต้นไหม ผมตื่นเต้นกับอะไรน้อยมากครับ ในชีวิตไม่ค่อยตื่นเต้นอะไร เรียบง่ายมากๆ”

เมื่อถามถึงที่มาของแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความเรียบง่ายดังกล่าว โอมยอมรับว่าการได้ไปสัมผัสงานจิตอาสาอย่างงานเก็บศพในช่วงหนึ่งมีผลค่อนข้างมากกับแนวคิดสุขนิยมในปัจจุบันขณะของเขา

“การได้ไปทำงานตรงนั้น ได้เห็นเรื่องของความเป็นความตาย มันทำให้ผมได้มุมมองอีกฝั่งหนึ่งกลับมา ซึ่งตรงนี้มันอาจทำให้ผมกลายเป็นคนชิลล์ ด้วยรู้สึกว่าไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือเปล่าก็เลยไม่คิดอะไรล่วงหน้าไปไกลๆ ซึ่งผมก็เอาความคิดตรงไปสอนลูกว่ายังไงก็ทำให้ทุกวันมีความสุขแล้วกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะรับได้แค่ไหน เพราะเราเป็นคนค่อนข้างปล่อยให้เขาทำโน่นนั่นนี่เอง อยากทำอะไรก็ทำ ถ้าสุดท้ายมึงเรียนไม่จบ สอบตก ก็ไปซ่อมเอาแล้วกัน”

POTATO POTATO

โอมขยายความถึงแนวคิดการเลี้ยงลูกของเขาต่อไปว่า

“ผมขอแค่ลูกรู้หน้าที่ว่าตัวเองต้องทำอะไรแค่นั้นเอง ไม่ค่อยคาดหวังว่าเขาจะต้องประสบความสำเร็จในด้านการเรียน เพราะที่เราเคยมองเห็นมา วันหนึ่งมึงแม่งไม่ต้องเรียนจบเสมอไปหรอก ขอแค่มึงสามารถหาอะไรทำเพื่อเลี้ยงชีวิตได้แค่นี้ก็พอแล้วเปล่าวะ เราไม่ได้มองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าเขาอยากจะรู้เรื่องเรื่องหนึ่งก็ไม่จำเป็นว่ามึงจะต้องไปเก่งเลข ไม่ต้องมานั่งท่องสูตร ท่องสูตรธาตุ ทุกวันนี้บวกลบคูณหารก็ต้องใช้โทรศัพท์กันแล้ว คือไม่ต้องรู้ไปเยอะ รู้แค่ชีวิตที่มึงจะต้องใช้ก็พอ ผมสอนลูกแค่นี้”

สำหรับคนที่เริ่มเลิกคิ้วแปลกใจที่มือเบสสายชิลล์สลับโหมดมาอยู่ฝั่งจริงจัง ขอให้เตรียมใจไว้อีกนิดถึงประเด็นที่โอมกำลังจะเล่าต่อไปว่า ในขณะที่ปั๊ปกับชูหั่งเป็นแกนนำในการรังสรรค์งานเพลง โอมกลับพอใจที่จะรับหน้าที่แม่บ้านประจำวง คอยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวง

“โอมเป็นคนที่ดูแลเรื่องเงิน เรื่องค่าใช้จ่ายในวง มาตั้งแต่แรกแล้วครับ จากช่วงแรกๆ ค่ายช่วยดูแลให้ แต่บางทีผมก็ถามค่ายเหมือนกันว่าเงินส่วนนี้ส่วนนั้นหายไปไหน แล้วไม่มีใครตอบผมได้ ผมเลยดึงกลับมาดูเอง จบ เพราะที่สุดแล้วถ้าไม่ดูก็ไม่มีคนดู แล้วเรื่องเงินถ้าไม่ใช่คนในวงดูก็จะไม่มีใครรักษาผลประโยชน์ได้เท่าตัววง คือจะคุยกันยังไงก็ได้ แต่อ่านจากสัญญาว่ามีอะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง ห้ามอะไรบ้าง ผมอ่านพวกนี้มากกว่าคนอื่นในวง นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องบริหารจัดการรายรับรายจ่าย รับมาแค่ไหน จ่ายไปเท่าไหร่ ดูใหบาลานซ์”

แม้ว่าภาพลักษณ์ร็อกเกอร์จะดูขัดแย้งกับงานบัญชีอยู่ค่อนข้างมาก แต่โอมได้เคี่ยวกรำทักษะด้านนี้มาตั้งแต่ก่อนเข้าวงโปเตโต้แล้ว

“ก่อนมาเล่นดนตรี ช่วงอายุ 20 กว่าๆ ผมเคยเปิดศูนย์นม เพราะแม่เห็นว่าผมไม่เรียน แม่ก็เลยเอาเงินก้อนหนึ่งไปเปิดศูนย์นมดัชมิลล์ สาขาลำสาลี โดยแม่โยนให้น้าเปิด แล้วเขาก็ให้ผมเข้าไปทำ ทุกอย่างในศูนย์ผมรู้หมด ผมต้องมานั่งบวกลบคูณหาร คิดวิธีว่าจะทำยังไงให้ร้านมีกำไร ผมเลยได้เรียนรู้มาจากตรงนั้น ถึงตอนนั้นจะอยู่ในสภาพเมาตลอดเวลา แต่ตื่นเช้ามาก็ต้องส่งนมให้ลูกน้องไม่เคยขาด ได้ยอดเท่าไหร่ก็มาจัดการ พอถึงตอนเย็นได้ยอดเท่าไหร่ก็เคลียร์ยอด เป็นอย่างนี้ 6 วันต่อสัปดาห์ หยุดวันอาทิตย์วันเดียว”
แม้จะดูเป็นงานที่สามารถทำได้ดีและเป็นธรรมชาติ แต่โอมก็ยืนยันว่า ตราบเท่าที่ยังเล่นดนตรี เขาไม่มีวันนอกใจจากวงการนี้ไปไหน

“ณ วันที่ผมยังต้องเล่นดนตรีอยู่ ผมไม่คิดจะทำอะไรเลยครับ เพราะชีวิตผมไม่มีเวลา สมมติว่าจะคิดหาอะไรทำจริงๆ จังๆ ก็ต้องมีเวลาให้กับมันจริงๆ”

POTATO

และเมื่อมองย้อนกลับมายังจุดที่เขายังคงเล่นดนตรีอย่างที่เคยเป็นมาเสมอในฐานะมือเบสของวงโปเตโต้ ก็ดูเหมือนว่าโอมจะยังไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นๆ จริงๆ ด้วย นอกจากภรรยา ลูก (และเวลาสังสรรค์อีกเล็กน้อย) แล้ว ก็ดูเหมือนว่าเขาจะไม่มีพื้นที่หัวใจให้กับสิ่งอื่นสิ่งใดอีกแล้ว

“โปเตโต้ให้ทุกอย่างกับผม ให้อาชีพ ให้บ้าน ให้รถ แต่ก่อนนี้ผมแทบไม่อยากมีวันหยุดเลยนะ พอมีวันหยุดทีหนึ่งก็จะบอกคนอื่นๆ ว่า มึงทำงานเถอะ กูอยากไปทำงาน กูซ้อมได้ทุกวัน มึงทำเลย มึงชวนกูได้ตลอด เพราะว่ากูก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร ถ้าไม่ใช่เรื่องของวง อยู่กับพวกมึงแล้วชีวิตมีคุณค่ามากกว่าอยู่คนเดียวแล้วอยู่ไปวันๆ เป็นอย่างนั้นอยู่หลายปี จนตอนหลังผมถึงเริ่มหาอย่างอื่นทำ พอเราไม่อยู่ตรงนี้ เราก็หาอย่างอื่นทำต่อ ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุข มีแฟน มีลูก ทุกอย่างมันจบแล้ว มันไม่เครียดแล้ว แต่ตอนนั้นมันยังมีความเครียดอยู่ ยังหาความสุขของตัวเองไม่เจอ” โอมกล่าว

“ตลอด 17 ปี ผมภูมิใจมากที่สิ่งที่เราทำมันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘POTATO Mania’ ซึ่งผมมองว่าทุกวันนี้มีวงดนตรีน้อยวงมากนะที่ 17 ปีผ่านไปแล้วยังมีแฟนเพลงเหนียวแน่น ได้รับการกล่าวถึง และทุกคนยังรักกัน ซึ่งตรงนี้ต้องยกเครดิตให้กับปั๊ป เขาเป็นนักร้องที่ให้ความสำคัญกับวง และพยายามนำเสนอตัวเองในฐานะส่วนหนึ่งของวงมาตลอด เขาคือปั๊ป โปเตโต้ แต่เขาไม่ใช่โปเตโต้ ปั๊ปทำให้มันเป็นแบบนั้นมาตลอด ผมถึงยกเครดิตให้เขาตลอดว่านี่แหละคือคนที่ทำให้โปเตโต้ไปด้วยกันได้ เวลาปั๊ปมองทุกอย่างที่เกี่ยวกับวง เขาจะมองด้วยมุมมองของครอบครัว ขณะเดียวกันปั๊ปก็ไม่เคยพูดว่าเขาเป็นเฮด เขาไม่เคยคิดว่าใครเป็นหัวหน้าใคร แต่ทุกคนคือทีม ซึ่งนั่นคือความคิดที่มีมาตลอดตั้งแต่แรก

“ดังนั้น ถึงเวลาจะผ่านไป 17 ปี ต่อให้มันเปลี่ยนอะไรไปทั้งหมด แต่ทุกวันนี้แค่ 4 คนที่อยู่ตรงนี้เราทุกคนยังรักโปเตโต้เหมือนกัน ผมก็พอใจมากแล้ว และนั่นก็คือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุด”

โอมกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่นักร้องนำซึ่งเขาเพิ่งกล่าวถึงก็ได้ก้าวเข้ามา…
เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวที่เคยเป็นมา…และกำลังจะเป็นไป

Change I

อรุณ

“ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่วงยังมีงานต่อเนื่องในรูปแบบซิงเกิล เราทุกคนต่างก็จะมีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งมองย้อนกลับไปแล้วเราไม่เคยมีปัญหาหรือความรู้สึกที่ไม่ดีกับสิ่งนี้เลยนะครับ กลับกลายเป็นว่าเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำไป เพราะเมื่อแต่ละคนมีทัศนคติที่ต่างกัน มีวิถีชีวิตที่ต่างกันไป เรื่องราวของแต่ละคนมันก็สะท้อนกลายเป็นแรงบันดาลใจต่างๆ กลับมาให้เรา ให้วงด้วย”

นี่คือคำอธิบายเกี่ยวกับวันเวลาที่หายไปของโปเตโต้จากปั๊ป นักร้องนำ นักแต่งเพลงหลักของโปเตโต้ โดยเฉพาะในยุคหลัง มือกีตาร์เสริม และกระบอกเสียงประจำวง นับจากที่วงได้ออกอัลบั้มเต็มชุดสุดท้ายคือ Human เมื่อ 8 ปีก่อน และร่วม 2 ปีนับจากซิงเกิลล่าสุดคือ ทุกด้านทุกมุม

ระหว่างระยะเวลาที่ผ่านไปก็มีความเปลี่ยนแปลงสารพันเกิดขึ้น ทั้งในด้านเทคโนโลยี เทรนด์ ไปจนถึงวงการเพลง อุตสาหกรรมบันเทิง และความคงอยู่หรือเป็นไปของแต่ละศิลปิน ซึ่งปั๊ปเองก็มองเห็น เข้าใจ และตระเตรียมตัวกับใจที่จะยอมรับและปรับตัวเสมอมา

POTATO

“ในเมื่อมันไม่มีอะไรที่หยุดนิ่ง เราก็สนุกไปกับมันดีกว่า ถ้าหากศิลปินยุคนี้จะต้องออกเพลงแต่เป็นซิงเกิล ไม่ต้องทำอัลบั้มอีกแล้ว ก็ช่างมัน เราก็ทำไปอย่างเต็มที่”
แต่กระนั้นปั๊ปก็ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเลยสักครั้งเดียวที่โปเตโต้จะเบนเข็มออกไปจากแผนเดิมที่จะออกผลงานใหม่ในรูปแบบของอัลบั้ม

“เรารู้สึกลึกๆ ในใจอยู่แล้วว่าการทำเพลงแค่ 1 เพลงนั้นมันไม่สามารถบอกอะไรได้ตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนการปิดหนังสือ 1 เล่ม เพราะใน 1 อัลบั้มนั้นมีเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายที่เราเจอ มันเลยมีหลายเรื่องมากที่เราอยากจะเล่า แต่เราไม่สามารถเล่าทั้งหมดนั้นลงไปในเพลงเดียวได้ เราไม่สามารถเล่าว่าฉันมีความสุขด้วย มีความทุกข์ด้วย และผิดหวังด้วย ได้ใน 1 เพลงครับ ถ้าอย่างนั้นมันก็คงจะเป็นเหมือนอาหารที่กินแล้วไม่อร่อยแน่ๆ คือเราก็ทำได้แค่คาดหวังว่ามันจะต้องกลายมาเป็นอัลบั้ม”

กว่าจะมาถึงวันนี้ที่ทุกคนได้ฟังได้เห็นงาน ชุดที่เจ็ด อัลบั้มชุดที่ 2 ของโปเตโต้ในบ้านใหม่คือ genie records จึงไม่มีอะไรเลยที่ง่ายดาย

“เราคุยเรื่องเพลงในชุดนี้กันจริงจังช่วงประมาณต้นปีที่แล้ว แต่ว่าจริงๆ แล้วก่อนหน้านั้นก็เคยเอาเพลงล็อตที่มีในมือไปให้พี่ๆ ในค่ายเขาลองฟังแล้ว แต่ตอนนั้นเพลงกลุ่มที่ว่ายังเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามกันอยู่ พวกผมก็เลยไปสร้างเพลงใหม่กันมาเรื่อยๆ โดยที่ระหว่างนั้นเราก็ทำเพลงต่อจากที่ได้ทำไว้แล้วบางส่วน คือตอนนั้นมันก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ อย่างเนื้อเพลงจะยังมีแค่ประมาณ 10 – 20% ของทั้งเพลง แต่เราก็ได้นำมาทำต่อให้มันจบ” ปั๊ปอธิบาย

POTATO POTATO

“ส่วนเพลงที่ทำในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ถ้าเพลงใหม่เลยก็จะเป็นเพลง เธอทำให้ฉันรู้ นอกนั้นก็เป็นเพลงที่เราทำกันไว้เมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้วอย่างเพลง เท่าไหร่ไม่จำ เราก็เอามาปัดฝุ่นใหม่ ไม่ใช่การขายของเก่านะ เพราะเพลงนี้เป็นเพลงใหม่สำหรับคนฟัง แต่สำหรับเรามันเป็นเพลงที่เราทำเพื่อรอจังหวะ รอเวลา มากกว่า”

แต่ด้วยจังหวะและเวลาที่ถูกต้องเหมาะสมนั้นไม่ได้มีมาตลอด รวมถึงอาจไม่ได้มีพร้อมสำหรับทุกคน หลายครั้งที่เหมือนทั้งสองปัจจัยนั้นจะมาถึงวง เพื่อที่จะต้องจากไปภายในเวลาเพียงไม่นาน

ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา สมาชิกทั้งสี่คนของโปเตโต้จึงต้องมองเห็นกลุ่มเพลงที่มีอยู่คงค้างในสต็อกและหัวใจครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่มีโอกาสออกมาสู่ภายนอกในรูปแบบของอัลบั้มเสียที แต่กระนั้นทุกคนโดยเฉพาะปั๊ป เลือกมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ
“ผมก็ไม่กล้าบอกว่าเราคิดบวกนะ เพราะก่อนจะคิดบวกจริงเราก็ต้องคิดลบมาก่อนเสมอ มันก็มีปัญหาแหละ แต่สุดท้ายแล้วอยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองจุดขาวในกระดาษดำมากกว่า ในสิ่งที่ดีมันก็มีสิ่งที่ไม่ดี และในสิ่งที่ไม่ดีมันก็มีสิ่งที่ดีซ่อนอยู่ พวกเราจะคุยกันเสมอว่า ถึงเราจะไม่ได้เป็นนักดนตรีที่เก่งระดับโลก แต่อย่างน้อยก็ต้องมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ พูดง่ายๆ คือสนุกและรู้สึกไปกับทุกสิ่งที่เราทำให้ได้เยอะที่สุด แล้วก็นึกถึงคนฟังว่าเขาอยากได้ยินอะไร แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นสิ่งที่ยาก เพราะบางครั้งมันก็จะย้อนแย้งกับสิ่งที่ตัวเองรู้สึก แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็ถือเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งของชีวิตครับ” ปั๊ปกล่าวก่อนที่จะยิ้มออกมา

“เราก็แค่เอนจอยกับสิ่งที่มันเป็นไปเรื่อยๆ คือไม่ได้คิดมากจนถึงกับต้องปรับตัวตามสิ่งที่เปลี่ยนไป แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ปิดกั้น คือเราก็ดูว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง แล้วก็กลับมามองวงเรา ซึ่งเอาจริงๆ วงของเราก็เปลี่ยนไปตลอด ดังนั้น มันจึงไม่มีอะไรแน่นอน แล้วนับประสาอะไรกับวงการเพลง กระทั่งวงการธุรกิจ หรือวงการอะไรก็ตาม”

ดังเช่นที่ปั๊ปพูดว่า โปเตโต้นั้นถือเป็นวงดนตรีที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ มาแล้วหลายครั้ง กระทั่งกานต์ มือกลองของวง ยังได้กล่าวในช่วงตอนหนึ่งว่า จุดนี้ได้กลายเป็นจุดเด่นของวงไปแล้ว สำหรับนักร้องนำที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งยืนหยัดร่วมกับโปเตโต้มาตั้งแต่ชุดแรกผู้นี้ล่ะ เขามีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

“มันก็มีทั้งได้ทั้งเสีย และมันก็มีเรื่องที่เราต้องเรียนรู้เยอะเหมือนกัน แต่สรุปแล้วผมขอเลือกทางที่มันได้ดีกว่า ซึ่งมันคือได้ในแง่ของทัศนคติ วันที่เราเป็นเด็กเราก็ไม่ได้รู้หรอกว่าการที่เพื่อนตายในวันที่เราอายุ 20 มันเป็นยังไง หรือการทะเลาะกันเรื่องการทำงานนั้นเป็นยังไง ตอนเด็กเราไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้หรอก เพราะตอนเด็กชีวิตเราก็มีแต่เรื่องเรียนหนังสือ และเที่ยวเล่นสนุกสนานไปกับเพื่อน ปัญหาใหญ่ที่สุดก็เป็นการงอนกันหรือความอิจฉาเพื่อน

“ส่วนหนึ่งมันก็มาจากความรู้สึกที่เรามีต่อกันมากๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความคาดหวัง ที่เรามีต่อกัน ความอ่อนไหวของคน เวลาผ่านไปมันก็ทำให้ทุกอย่างแตกร้าวได้ง่าย คือมันไม่ใช่เรื่องงานที่เราวางแผนว่าอยากจะได้แบบนี้ และหากมันเป็นแบบนี้ถึงจะดีที่สุด แต่มันคือความคาดหวังในตัวซึ่งกันและกันนั้นมันพังทลายลงมามากกว่า ส่วนเรื่องงานมันคือข้ออ้างที่เราใช้ว่ามันคือสาเหตุของปัญหา แต่จริงๆ แล้วมันมาจากความรู้สึกลึกๆ ข้างในที่เรามีต่อสังคมหรือคนรอบข้างมากกว่า

“ปัญหาที่เกิดขึ้นมันทำให้ผมรู้สึกว่าผมยังไม่เข้าใจอะไรอีกเยอะเลย ผมยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย ถามว่าโตขึ้นไหม ผมไม่ได้คิดว่ามันโตนะ แต่มันแค่เป็นบทเรียนหนี่งที่ทำให้เราเข้าใจ เป็นบทเรียนที่ไม่ใช่รูปแบบของตัวหนังสือ แต่เป็นบทเรียนที่เราเข้าใจด้วยความรู้สึกที่เราต้องเผชิญกับมันว่าเราจะผ่านมันไปยังไง นอกจากนั้น ถ้าเราลองปรับมุมมองนิดหนึ่งก็จะพบว่าจริงๆ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ดี ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชีวิตเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน สุดท้ายแล้วปัญหาก็จะเป็นบ่อเกิดของปัญญาที่ดี”

POTATO

และเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงตอนนี้ ผ่านการเปลี่ยนแปลงในสารพัดแง่มุม สารพันเรื่องราว ผ่านทั้งสุข ทุกข์ เศร้า ยินดี แล้วก็ความสูญเสีย 18 ปีกับโปเตโต้ ก็ยังคงเป็น 18 ปีที่มีคุณค่าความหมายมากมายสำหรับปั๊ปเสมอ

“ผมยังนึกไม่ออกว่าโปเตโต้เอาอะไรไปจากผมบ้าง เพราะผมรู้สึกว่ามีแต่ได้นะครับ ถ้าในแบบรูปธรรมล่ะก็ โปเตโต้ทำให้ผมได้มีบ้านที่เป็นชื่อของตัวเองตามกฎหมาย (หัวเราะ) นอกจากนั้น ก็ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ ได้ความตื่นเต้นหลายๆ อย่างในชีวิต เราเริ่มตั้งแต่ที่แต่ละคนในวงยังไม่รู้จักดนตรี เหมือนแค่ชอบร้องเพลงเฉยๆ แต่กลับมีประตูบานใหญ่บานหนึ่งอยู่ตรงหน้า ซึ่งตอนแรกเราเองก็ไม่รู้ว่าจะเปิดไหวหรือเปล่า แต่เราที่เป็นคนตัวเล็กๆ นี่แหละบังเอิญเปิดมันได้เร็ว แล้วก็ค่อยๆ พบว่ามีแต่อะไรก็ไม่รู้อยู่ตรงหน้าเรามากมาย แล้วเราก็ค่อยๆ คลุกคลีอยู่กับมัน เรียนรู้และทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ จนเราได้มีแฟนเพลงและมีความรักที่เกิดขึ้นกับแฟนๆ เพลงแบบไร้เงื่อนไข” ปั๊ปกล่าวพร้อมกับมองไปนอกหน้าต่าง

“นอกจากนั้น ยังทำให้ผมเข้าใจเรื่องความเจ็บปวดในแบบที่เราไม่คิดว่าจะได้เจอ มันเยอะและแน่นจนไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไง ทั้งเจอเพื่อนในวงการบันเทิง เจอเพื่อนนักดนตรีด้วยกัน เจอคนอ่อนแอ เจอตัวเองในรูปแบบคนอ่อนแอที่อยากยอมแพ้แล้ว ซึ่งก็เป็นช่วงก่อน 7 ปีที่แล้ ที่พี่ฟองเบียร์ นักแต่งเพลงที่เขียนเพลงให้เราประจำ มาบอกว่าจะไม่เขียนเพลงให้แล้ว และก็เกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาที่มือกีตาร์คนก่อนทำงานด้วยกันไม่ได้แล้ว ผมก็ยังอ่อนแอเหมือนเดิมนะ แต่สถานการณ์ตรงหน้าทำให้เราต้องสู้กับความอ่อนแอให้ได้มากกว่าเดิม ซึ่งถึงที่สุดแล้วเราไม่ชนะและไม่ได้สำเร็จในแบบที่คนอื่นคาดหวัง แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่เป็นนักสู้”

ฟ้ามืดสนิทแล้ว
เสียงนกร้องที่เคยเจื้อยแจ้วเงียบเสียงไปนานแล้ว ช่วงเวลาราตรีได้เข้ามาครอบครองบรรยากาศจนเต็มร้อย

มีเพียงขบวนแสงสีฟ้าที่ยังคงส่องเป็นทางยาวจากทางซ้ายไปด้านขวา ก่อนหน้าที่สลับกลับมายังฝั่งซ้าย ตามจังหวะของไลน์เบส และซาวนด์กีตาร์ที่แต่งแต้มบรรยากาศทั่วบริเวณให้ตรึงอยู่กับสภาวะอันแสนตรึงเครียด

ขณะที่บนเวทีเบื้องหน้านั้น ปั๊ปในสภาพเหงื่อโทรมกายยังผลให้เสื้อยืดสีดำของเขาที่ประทับลายภาพปกของอัลบั้มชุดล่าสุดนั้นเปียกแนบไปกับลำตัว

เขาเดินจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งของเวทีอย่างไม่หยุดหย่อน ขณะที่มือของเขาคอยประคองถือไมโครโฟนให้จรดกับริมฝีปากอย่างมั่นคง ราวกับเพื่อไม่ให้สาส์นที่ตัวเขากำลังถ่ายทอดออกไปสู่ผู้ชมเบื้องล่างนั้นต้องตกหล่นไป

“เราไม่รู้แล้วล่ะว่าพรุ่งนี้จะยังไง ซีดีจะขายดีไหม คนจะฟังสตรีมมิ่งหรือเปล่า แฟนเพลงจะรักเราอยู่หรือเปล่า แต่ตอนนี้หน้าที่เราคือเล่นดนตรี ทำเพลง เราแค่ทำมันเปล่าวะ แค่ทำมันตอนนี้ มันก็ประสบความสำเร็จกันเองแล้ว ความกลัวเป็นสิ่งที่เราต้องสู้ทุกวัน ผมเองก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น ก็แค่ทำ…แค่นี้”

แล้วจากนั้นกานต์ก็ฟาดไม้กลองไปยังไฮแฮตเพื่อให้สัญญาณเริ่มต้นเพลงต่อไป ก่อนที่ชูหั่งจะสะบัดคอร์ดที่ให้เสียงแผดสนั่น ขณะที่โอมก็โยกลำตัวไปมาโดยมีจุดศูนย์กลางของร่างกายอยู่ที่เครื่องดนตรีที่เขารัก

ชั่วขณะหนึ่ง ปั๊ปก็กรอกเสียงส่งคำร้องผ่านไมค์ไปยังผู้ชมถึงสิ่งเขาคิด…เชื่อมั่น…และถวายหัวร่วมกับโปเตโต้มาตลอดระยะเวลา 18 ปี…

รวมถึงชั่วเวลาต่อจากนี้ไป

ไม่ว่าจะต้องล้มให้ต้องลุก ไม่ว่าจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นอีก แต่เขาก็ยืนหยัดที่จะยืนยันว่า…ไม่ว่าจะอย่างไร แก่นแกนแห่งความโปเตโต้ก็จะไม่มีวันเปลี่ยนไป

“รับรู้จากข้างใน ฟังแค่หัวใจ หัวใจเราเอง

แค่ทำสิ่งที่ใจ เลือกที่จะไป ไม่กลัว

แม้ว่าอาจต้องเจอ ความเจ็บช้ำใจ ช้ำใจเท่าไหร่

แค่ไม่กลับหลังไป เชื่อในหัวใจ”

POTATO

Writer

Avatar

พีรภัทร โพธิสารัตนะ

คนรักดนตรีที่เริ่มต้นชีวิตนัก(อยาก)เขียนด้วยการเป็นนักวิจารณ์ดนตรีอิสระที่มีผล งานลงในนิตยสาร a day, Hamburger, Esquire และอีกมากมาย รวมถึงเคยถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคนดังออกมาเป็นตัวหนังสือประเภทอัตชีวประวัติ มาแล้วหลายคน หลายเรื่องในหลายเล่ม ผ่านทั้งชื่อจริงและนามปากกาอย่าง ภัทรภี พุทธวัณณ นิทาน สรรพสิริ และวรวิทย์ เต็มวุฒิการ ก่อนหน้าที่จะผันตัวเองเป็น “บรรณาธิการตัวเล็ก” ให้กับนิตยสาร DDTแล้วนับจากนั้นบรรณาธิการตัวเล็กคนนี้ก็ไม่อาจหลีกหนีไปจากมนต์เสน่ห์ของานหนังสือได้อีกเลย ปัจจุบันทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารให้กับนิตยสารแจกฟรีภาษาจีนที่ชื่อ “Bangkok Youth” และยังคงฟังเพลง เขียนหนังสือ และเสาะหาเรื่องดีๆ มาประดับความคิดอ่านอยู่เสมอ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล