10 กันยายน 2020
11 K

ใครที่ยังคงชื่นชอบงานนิทรรศการภาพถ่ายผู้คนแห่งเจริญกรุง หรือ Portrait of Charoenkrung ที่จัดขึ้นในช่วงงาน Bangkok Design Week เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เรามีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า ตอนนี้นิทรรศการภาพถ่ายผู้คนนี้กำลังจัดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบที่พิเศษมาก เพราะได้ย้ายสถานที่ไปจัดยังเมืองสงขลา ภายใต้ชื่อว่า Portrait of Songkhla ที่ตัวเมืองเก่าสงขลาในช่วงวันที่ 11 – 27 กันยายน พ.ศ. 2563 

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

โดยนิทรรศการ Portrait of Songkhla นี้ยังคงได้รับการดูแลโดยทีมงานเจ้าเดิมคือ CEA (Creative Economy Agency) ร่วมกับ เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ก่อตั้งแกลเลอรี่ a.e.y.space ในฐานะผู้จัดงาน และโรงเรียนสังเคราะห์แสงที่ประกอบไปด้วยสมาชิกผู้รักการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจทั้งสี่คน ได้แก่ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, เอ็กซ์-อาวุธ ชินนภาแสน, โต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ และ แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช มาร่วมกันสร้างให้นิทรรศการนี้เกิดขึ้นได้ ณ เมืองสงขลา 

ถ้านิทรรศการที่เจริญกรุงคือการเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นย่านที่เป็นมิตรกับบรรดาช่างภาพ ด้วยการเริ่มต้นจากนิทรรศการภาพถ่าย Portrait of Songkhla นี้ก็มีเป้าหมายคล้ายกัน คือสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เมืองสงขลา 

เพราะกระดาษแผ่นบางๆ ที่เราเรียกกันว่า ‘ภาพถ่าย’ นั้นมีพลังมากกว่าที่เราคิด 

และนี่คือเรื่องราวของภาพถ่ายแห่งสงขลา

นิทรรศการ Portrait of Songkhla ผู้คนแห่งสงขลา

สถานที่จัด : โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ถนนนครนอก เปิดทุกวัน 10.00-18.00 น.

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ส่วนหนึ่งมีที่มาจากที่ CEA มีแผนจะตั้งศูนย์การเรียนรู้ใหม่ที่เมืองสงขลา บริเวณศาลหลักเมืองใกล้โรงงิ้ว และจะจัดงานนิทรรศการ Songkhla (Old Town) Creative District เพื่อเป็นการเปิดตัว โดยได้ชวนพาร์ตเนอร์คนอื่นๆ มาจัดนิทรรศการสร้างสรรค์คู่กันไปด้วย และนั่นก็คือ Portrait of Songkhla

“ในส่วนของ a.e.y. Space เราก็ทำงานศิลปะกับเมืองและชุมชนมาประมาณแปดปีแล้ว ตอนต้นปีผมมีโอกาสขึ้นไปกรุงเทพฯ และดูงาน Portrait of Charoenkrung ตอนนั้นขนลุกมาก รู้สึกว่าคอนเทนต์แบบนี้มันทำที่บ้านเราได้ เพราะก่อนหน้านี้เราก็เคยขอภาพเก่าจากคนในชุมชนมาจัดนิทรรศการพร้อมกับเล่าเรื่องบ้านของตัวเอง พอได้รับการติดต่อจากทาง CEA มันเหมือนทุกอย่างมันประจวบเหมาะกันพอดี” เอ๋อธิบายถึงช่วงเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ 

“มุมมองของเรา เราเห็นว่าสงขลาเป็นหนึ่งในจังหวัดดินแดนภาคใต้ที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง คนส่วนมากจะรู้จักหาดใหญ่มากกว่า เพราะมีทั้งสนามบินและสถานีรถไฟ แต่พอได้ไปเยี่ยมชมเมืองสงขลาจริงๆ เราพบว่าเมืองสงขลาเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม มีธรรมชาติอันสวยงาม ทั้งอาหารการกิน ศิลปะ และสถาปัตยกรรม 

“สงขลาเป็นเหมือนเมืองที่มีการผสมผสานระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ที่พอดี เนื่องจากอดีตสงขลาเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญ อีกฝั่งติดทะเลอ่าวไทย ส่วนอีกฝั่งนั่นเป็นทะเลสาบสงขลา ทำให้การเชื่อมต่อถึงกันในเรื่องการค้ามีการสัญจรไปมาของผู้คนที่มาจากทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรป ชาวจีน และชาวมุสลิม” ทางทีมโรงเรียนสังเคราะห์แสงเล่าถึงภาพแรกที่มีต่อเมืองสงขลา

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน
Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

สิ่งที่ทำให้นิทรรศการนี้แตกต่างจากเมื่อครั้งเจริญกรุงคือ ทางทีมงานคุยกันแล้วสรุปว่าสิ่งที่ดีที่สุดในการถ่ายทอดความเป็นเมืองสงขลาได้ดีที่สุดก็คือผู้คนในท้องถิ่นนั่นเอง ดังนั้น แทนที่บรรดาทีมโรงเรียนสังเคราะห์แสงจะไปถ่ายภาพด้วยตัวเอง ก็กลายเป็นที่ปรึกษาในโครงการ และมอบหน้าที่ให้เอ๋หาช่างภาพท้องที่แล้วจัดทำเวิร์กช็อปวิธีการทำงานให้ช่างภาพเหล่านั้นแทน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนในชุมชนหันมามีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น รวมถึงเพื่อให้คนทั้งในชุมชนและนอกชุมชนได้เข้าถึง และเข้าใจเรื่องราวของเมืองสงขลาว่าเป็นเมืองที่มีความพิเศษอย่างไร

ด้วยการประสานงานของทางเอ๋กับบรรดาช่างภาพในท้องที่ ก็พาให้ไปเจอกับกลุ่มช่างภาพในเฟซบุ๊ก ‘แลนด์บ้าง ไลฟ์บ้าง พิกัดสงขลา’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกช่างภาพอยู่ประมาณ 4,000 คน ให้มาเข้าร่วมในการทำโปรเจกต์นี้ให้เป็นจริงขึ้นมา สิ่งแรกที่โรงเรียนสังเคราะห์ต้องทำ คือลงไปสำรวจพื้นที่ภายในตัวเมืองสงขลากับช่างภาพในชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโปรเจกต์นี้

“ผมว่าการเวิร์กช็อปจากโรงเรียนสังเคราะห์แสงเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับช่างภาพที่นี่มาก มันคือการให้โอกาสและความรู้คนในท้องถิ่น แล้วมันจะอยู่ติดตัวกับคนท้องถิ่นต่อไป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต มันไม่เหมือนกันกับงานที่คนกรุงเทพฯ มาทำเสร็จแล้วก็ไป ที่สุดท้ายมันไม่ได้ทิ้งร่องรอยอะไรให้กับคนท้องถิ่นเลย” เอ๋เล่าถึงวิธีการทำงานที่ต่างออกไป

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

ทางทีมโรงเรียนสังเคราะห์แสงได้ลงพื้นที่รอบแรก เพื่อเก็บข้อมูลว่าเมืองสงขลามีเรื่องราวมากพอจะแบ่งหมวดหมู่ได้เหมือนเจริญกรุงไหม และชวนบรรดาช่างภาพที่มาเข้าร่วมนิทรรศการนี้มาลงพื้นที่ พร้อมทั้งพูดคุยอธิบายไปพร้อมๆ กับคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการก่อนที่จะลงมือถ่ายภาพ ซึ่งให้ผลที่ออกมาแตกต่างไป

“สิ่งสำคัญที่สุดในการลงไปเวิร์กช็อป คือช่างภาพที่มาร่วมนั้นล้วนแล้วแต่เป็นถ่ายภาพแลนด์สเคปหรือภาพวิวเป็นหลัก เขาไม่ได้เชื่อในรูปแบบ Family Portrait เราเลยลงไปเพื่อที่จะบอกว่ามันดียังไงบ้าง อย่างเมื่อก่อนเราเคยคิดว่า Family Portrait มันดูแล้วมันเหมือนไม่มีอะไร แต่จริง ๆ มันท้าทายมาก เพราะภาพ Family Portrait ไม่ได้พูดเรื่องตัวเองแล้ว มันกลายเป็นว่าเรามีหน้าที่ทำให้ครอบครัวเขามีความสุขที่สุดกับสิ่งที่เขาได้ 

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

“ครั้งแรกของเวิร์กช็อป เราลงไปทำให้ดูเลยว่านี่คือวิธีการที่ได้มาซึ่งภาพ บรรดาช่างภาพที่พื้นที่เขาก็เพิ่งเห็นว่ามันมีวิธีการแบบนี้ จากนั้นพวกเขาก็เข้าใจและเริ่มสนุกกับการถ่ายภาพแบบที่พูดคุยกับตัวแบบก่อน บางคนถ่ายไปสามรอบ กลับมาดูแล้วยังไม่พอใจ เขาก็นัดถ่ายกันอีกในเวลาว่าง กลายเป็นว่าจากเดิมที่คนถ่ายและคนถูกถ่ายบ้านอยู่ใกล้กันแต่ไม่รู้จักกัน เป็นว่าตอนเย็นจะกลับเข้าบ้านก็ต้องแวะพูดคุยกันเสมอ (หัวเราะ) ซึ่งผมว่าการถ่ายภาพเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ในแง่ของการรวมเอาความรู้สึกแล้วนำมาบันทึกให้มันคงที่อยู่แบบนั้น” ทีมงานโรงเรียนสังเคราะห์แสงอธิบายด้วยความตื่นเต้น

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

โดยนิทรรศการผู้คนแห่งสงขลานี้แบ่งออกเป็น 6 หมวดหลักๆ ภายในย่านเมืองเก่า รวมทั้งหมด 76 ครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. ประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องราวและอาคารที่มีความสำคัญของย่านเมืองเก่าสงขลาที่เป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ทั้งชาวพุทธ ชาวจีน ชาวมุสลิม 
  2. ร้านค้าและธุรกิจในชุมชน สะท้อนความรุ่งเรืองที่ผ่านมาในอดีตของสงขลา ก่อนจะค่อยๆ โรยราในช่วงหลัง และการเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนเริ่มกลับมาต่อยอดเปลี่ยนเมืองให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในปัจจุบัน
  3. อาหาร เป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มากๆ เพราะด้วยการเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่มีการหยิบยืมและผสมผสานอาหารข้ามวัฒนธรรมกัน จนกลายเป็นอาหารที่หาไม่ได้จากที่อื่น
  4. ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงศิลปินที่อาศัยอยู่ในเมืองสงขลา
  5. ภูมิปัญญา ในส่วนของผู้คนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง
  6. ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของเมืองสงขลาในยุคปัจจุบัน

ซึ่งภาพของทุกครอบครัวถูกนำมาผสมผสานรวมกัน ออกมาเป็นงานคอลลาจเหมือนกันกับที่เจริญกรุง โดยจัดแสดงอยู่ที่ผนังหัวมุมถนนหนองจิก-นางงาม

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน
Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

นอกจากนี้ ภายในงานนิทรรศการนี้ยังมีโปรเจกต์ส่วนตัวของทีมโรงเรียนสังเคราะห์แสงทั้ง 4 คนมาจัดแสดงอีกด้วย นี่เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า สงขลามีเรื่องราวให้น่าบอกเล่ามากมายขนาดไหน

“ตอนแรกเราก็คิดแค่ลงไปทำเวิร์กช็อปแค่นั้น แต่พอได้ลงไปกันจริงๆ และเห็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในเมืองแล้ว พวกเราก็มองหน้ากันว่ามันต้องทำอะไรเพิ่มสักอย่าง เพื่อให้นิทรรศการนี้มันสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องบังเอิญดีที่แต่ละคนมองเห็นวัตถุดิบคนละอย่าง แต่กลับร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของสงขลาพอดีเลย เรื่องอดีตหรือฟิล์มเก่าจะเป็นของเอ็กซ์ ภาพปัจจุบันหรือบุคคลในท้องถิ่นจะเป็นของตุลย์และโต้ กิจการร้านอาหารที่ส่งต่อไปยังอนาคตจะเป็นของแบงก์” ทีมโรงเรียนสังเคราะห์แสงเล่าถึงนิทรรศการย่อยที่จะเกิดขึ้น

สงขลาเมืองแห่งประวัติศาสตร์

From Singora to Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก
สถานที่จัด : ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถนนนางงาม เปิดทุกวัน 10.00-18.00 น.

ในย่านเมืองเก่าของสงขลานั้นมีร้านถ่ายภาพเก่าแก่อยู่ร้านหนึ่ง ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 8 ก่อนที่กิจการจะโรยราจนร้านต้องปิดกิจการลงเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และลูกหลานของบ้านนั้นก็ปล่อยบ้านไว้แบบเดิม เป็นโชคดีที่เอ๋ซึ่งสนใจเรื่องภาพเก่ามีโอกาสไปสำรวจเข้า 

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

“เราไปเจอกล่องกระดาษกล่องหนึ่ง พอเปิดดูมันเป็นฟิล์มกระจก ดูแล้วน่าจะเป็นช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราเลยเก็บไว้ทั้งหมดโดยที่ก็ไม่รู้จะเอาภาพเหล่านั้นออกมายังไง จนสองปีผ่านมา ตอนที่โรงเรียนสังเคราะห์ลงมาเวิร์กช็อปเลยเอาให้พวกเขาดูก็ฮือฮากันใหญ่เลย 

“ต้องบอกก่อนว่าในยุคนั้นคนสงขลาเป็นคนที่ค่อนข้างทันสมัยนะ มีร้านถ่ายภาพหลายร้าน และคาแรกเตอร์ของแต่ละร้านไม่เหมือนกัน อย่างภาพที่เราได้มาบ่งบอกได้เลยเลยว่าช่างภาพคนนี้มีฝีมือมาก พอเอ็กซ์เห็นเขาก็เกิดไอเดียว่าจะนำฟิล์มกระจกเหล่านี้มาทำให้กลายมาเป็นภาพที่ทุกคนดูได้อีกครั้ง” เอ๋เท้าความถึงที่มาการเจอฟิล์มเก่าก่อนที่กลายมาเป็น Side Project ของเอ็กซ์

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน
Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

“ตอนนั้นผมลองเอามาทำตามสิ่งที่ผมถนัด นั่นคือการอัดขยายในห้องมืด พอได้ลองอัดภาพออกมาแล้วก็รู้สึกว่ามันมีความเป็นไปได้ในการจัดแสดง แต่ปัญหาหนึ่งคือฟิล์มที่พี่เอ๋เจอมันมีไม่พอ ก็เลยต้องไปรวบรวมฟิล์มกระจกมาจากที่อื่นๆ เพื่อให้เห็นชุดภาพที่สมบูรณ์ขึ้น ทั้งจากการรถไฟแห่งประเทศไทย จากหอจดหมายเหตุวชิรญาณ และหอจดหมายเหตุที่สงขลา ซึ่งมันเล่าได้ครบทุกมิติ 

“อย่างภาพที่อยู่หอจดหมายเหตุสงขลาเป็นภาพท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาพตลาด ภาพทะเล ส่วนภาพที่หอจดหมายเหตุกรุงเทพฯ เป็นบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น การเสด็จประพาสต้น พอผมอ่านเรื่องสงขลาทั้งหมด ผมรู้สึกว่ามันน่าเล่าและคิดว่าน่าจะดีที่ทำออกให้คนอื่นได้เห็น บางภาพหลายคนอาจเคยเห็น แต่ภาพบางภาพหลายคนอาจยังไม่ได้เห็น” เอ็กซ์เล่าถึงงานฟิล์มกระจกที่กำลังจะเกิดขึ้น

บุคคลผู้ขับเคลื่อนเมืองสงขลา

The Soul of Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในเมืองเก่าสงขลาและสร้างรอยยิ้มให้กับชุมชนในทุกวันนี้
สถานที่จัด : บ้านเก้าห้อง ถนนหนองจิก เปิดทุกวัน 10.00-18.00 น.

ในช่วงที่ลงพื้นที่ทำเวิร์กช็อป ทางด้านตุลย์ก็ได้พบเจอกับผู้คนตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นบุคคลชื่อดังประจำชุมชนที่ทำเรื่องดีๆไว้ให้กับสังคม และทุกคนในเมืองก็รู้จักบุคคลเหล่านี้เป็นอย่างดี

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

“คนใต้จะมีคำพูดว่า การที่เขาเป็นคนใต้เนี่ย เขาไม่ได้เป็นที่ตัวนะ เป็นยันหัวใจตับไตไส้พุง รักพี่น้อง ถิ่นฐานเกิดตัวเอง ผมเลยไปโฟกัสที่บุคคลสำคัญที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมในพื้นที่ อย่างคุณลุงบันเทิง ซึ่งเป็นคนขี่รถมอเตอร์ไซค์ เป็นโฆษกประจำเมือง อย่างเวลามีรับบริจาคโลหิต แกก็จะมาขี่มอเตอร์ไซค์ประกาศ คนในพื้นที่จะลงเงินกัน แกจะมีคำพูดติดปากเท่ๆ ว่า ก่อนตายอยากใช้เสียงของแกเป็นประโยชน์กับคนจนวาระสุดท้าย เราเลยอยากทำเพื่อจะบอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำ ทุกคนรับรู้นะ อยากให้เขารู้สึกว่าเขามีรางวัลในชีวิต โดยที่ทุกคนก็รับรู้ร่วมกัน” ตุลย์เล่าถึงงานที่ทำ

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

ไม่ใช่เพียงแค่คุณลุงบันเทิงที่ทำหน้าที่เป็นโฆษกป่าวประกาศให้กับชุมชนเท่านั้น แต่ตุลย์พบว่ายังมีบุคคลแบบนี้อยู่อีกมากมาย เช่น เด็กที่เพิ่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาหมาดๆ แต่ได้เข้าร่วมการต่อต้านการสร้างเขื่อนที่จะทำให้หาดทรายที่สวยงามหายไป โดยภาพของผู้คนเหล่านี้มีทั้งหมด 36 ภาพ แค่นี้ก็น่าสนใจแล้วว่า ภาพอีก 34 ภาพจะเป็นคนที่มีบทบาทอะไรอีกบ้าง

นางงามแห่งสงขลา

Miss Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายสะท้อนความงามของเมืองสงขลาผ่านหญิงสาวชาวสงขลา
สถานที่จัด : บ้านเก้าห้อง ถนนหนองจิก เปิดทุกวัน 10.00-18.00 น.
Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

ในส่วนงานของโต้นั้นได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ที่โยงเข้ากับคอนเซปต์ของโปรเจกต์ ว่าตั้งแต่ พ.ศ.2478 เมืองสงขลาได้มีการจัดงานประกวดนางงามขึ้น ในปีนั้นสาวงามที่ได้รับคัดเลือกเป็นนางงามคนแรกของสงขลา คือนางงามมาจากชุมชนบนถนนเล็กๆ ใจกลางเมืองสงขลาที่เดิมมีชื่อว่า ‘ถนนเก้าห้อง’ ภายหลังจากการประกวดถนนเส้นนั้นก็เปลี่ยนชื่อไปเป็น ‘ถนนนางงาม’ ทำให้โต้ตัดสินใจที่จะเดินลงไปถ่ายภาพผู้หญิง หรือ ‘นางงาม’ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณถนนนางงามนั่นเอง

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

“ถนนนางงามจริงๆ แล้วเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์พวกเราด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างตั้งอยู่ตรงนั้น และเป็นถนนหลักในสงขลา Old Town ก็เลยคิดว่าเราจะนำเสนอภาพของสงขลายังไง พอเป็นเรื่องนางงามสงขลา คิดว่าทุกคนต่างมีความงามในแบบของตัวเอง ผมเลยอยากนำเสนอความงามในแบบที่ไม่ใช่สังคมตีกรอบค่านิยมไว้ อีกอย่างเราอยากเล่าด้วยว่า สงขลามันมีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีหลากหลายวัย หลากหลายศาสนา ที่มาอยู่รวมๆ กัน ผมถ่ายเป็นแฟชั่น Portrait เพื่อให้เห็นว่าคุณสามารถสวยในแบบของตัวเอง ส่วนคอสตูมคือหยิบจากของเขาเป็นหลัก แล้วมา Mix and Match ให้มันเข้ากับตัวเขา” โต้เล่าถึงนิทรรศการภาพแฟชั่นของเขา

ความอร่อย (ที่กำลังจะสูญหาย) ของสงขลา

The Last Recipe of Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายอาหารสูตรลับแบบฉบับเมืองเก่าสงขลาที่กำลังจะหายไป
สถานที่จัด : ผนังตึกจีนบนถนนยะหริ่ง เปิดทุกวัน
Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

เรื่องอาหารเป็นเรื่องแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของแบงก์ หลังจากที่ค้นพบว่ามีร้านอาหารรสเลิศอยู่มากมายทั่วเมือง แต่กลับกลายเป็นว่าร้านอาหารเหล่านั้นดำเนินกิจการโดยเจ้าของที่เป็นรุ่นสุดท้าย จะไม่มีคนมารับช่วงต่ออีกต่อไป ความอร่อยในทุกวันนี้กำลังเลือนรางหายไปในอนาคต แบงก์เลยหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมานำเสนอในโปรเจกต์นี้

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

“เรื่องของกินของสงขลาสำหรับผมคือที่สุดแล้ว มีวันหนึ่งพอเรากินข้าวเสร็จ พี่เอ๋ก็บอกว่า แบงก์ นี่คือรุ่นสุดท้ายแล้ว ไม่มีใครทำต่อ แล้วมีอยู่หลายร้านมากๆ ที่เป็นแบบนี้ ผมเลยใช้ชื่องานว่า Last Recipe มันคืองานภาพถ่ายที่เสนอหน้าเมนูใหญ่ๆ ที่กำลังบอกว่าพวกคุณจงไปกินซะ ก่อนที่มันจะไม่มีอีกแล้ว สิ่งที่ผมคาดหวัง คือการที่เราทำโปรเจกต์ คนที่มาดูไม่ว่าจะเป็นทายาทเจ้าของร้านหรือคนทั่วไปนั้นเกิดความคิดอยากสานต่อกิจการต่อไป เพราะถ้าปล่อยไว้แบบนี้มันก็จะหายไป” แบงก์เล่าถึงความฝันที่อยากเห็นอาหารเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดต่อไป

ศิลปินใหม่แห่งสงขลา

Songkhla (Oldtown) Through Young Eyes นิทรรศการภาพถ่ายจากมุมมองของนักสำรวจตัวน้อยแห่งเมืองเก่า
สถานที่จัด : aey space ถนนนางงาม เปิดทุกวัน 10.00-18.00 น.
Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

นอกจากงานนิทรรศการหลักอย่างผู้คนแห่งสงขลา และ Side Project ของทางโรงเรียนสังเคราะห์แสงแล้ว ในงานยังมีนิทรรศการที่น่ารักและน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมันคือการสร้างโอกาสให้กับศิลปินตัวน้อยแห่งสงขลานั่นเอง โดยจุดเริ่มต้นมาจากวันที่มีการเวิร์กช็อปกันนั้น มีเด็กสองคนเห็นคณะช่างภาพเดินพูดคุยและถ่ายภาพกันในละแวกบ้านของเขา เลยออกมาทักทายด้วยความเป็นกันเอง ทำให้พวกเขาเกิดความคิดขึ้นมาว่า น่าจะมีเวิร์กช็อปและพื้นที่สำหรับเด็กๆ ในชุมชนบ้าง เลยเกิดเป็นนิทรรศการ Through Young Eyes 

“เด็กยุคใหม่นั้นเติบโตมากับเทคโนโลยีใหม่ บางคนไม่เคยรู้จักกับกล้องฟิล์มเลยด้วยซ้ำ เราอยากให้เด็กๆ ที่เขาไม่ได้เติบโตมาในยุคกล้องฟิล์มได้สัมผัสประสบการณ์ในการถ่ายภาพ เลยจัดสอนให้เด็กได้รู้จักการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม โดยเด็กที่มาร่วมกิจกรรมถ่ายภาพรวบรวมโดยผู้ดูแลศิลปะเด็กในชุมชน ให้เขามองมุมมองสงขลาผ่านตาของพวกเขา ว่าเขารู้สึกยังไง เขาคิดยังไงกับบ้านของเขา

Portrait of Songkhla นิทรรศการเล่าเรื่องผู้คนแห่งสงขลาในมุมมองใหม่ที่ไม่มีใครเห็นมาก่อน

“เด็กที่มาเข้าร่วมนั้นมีทั้งที่เด็กสุดคือหกปี มากสุดคือสิบสี่ปี มีความหลากหลายมาก ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าหลังจากเด็กๆ ได้เริ่มลงมือถ่ายภาพกัน ภาพที่ได้มานั้นสวยงาม มีความบริสุทธิ์ มีความอิสระ ไร้ซึ่งกรอบและขอบเขต เป็นการชี้ให้เห็นว่าเด็กเหล่านี้มีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว 

“และเราก็ไม่อยากใช้มุมมองของพวกเรามาตัดสินว่าภาพไหนดีหรือไม่ดี เลยใช้วิธีการเปิดโหวตโดยตัวเด็กๆ เอง เพราะด้วยความที่เขาเป็นเด็ก เขาก็จะมีสมาธิจดจ่อได้ไม่มาก เราเลยให้เขายกมือ ใครชอบภาพไหน ให้ยกมือเลย ไม่ต้องมีเหตุผล สิ่งที่พวกเราชอบมากก็คือไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ มันเป็นเรื่องจริงเขาบอกว่า ภาพดีก็คือภาพดี ขนาดเด็กที่ยังไม่มีความรู้เรื่องภาพมากนักยังรู้ว่าภาพนี้มันดี

“นอกจากนี้ยังมีการคุยกับพ่อแม่ที่พาลูกๆ มาเข้าร่วมด้วย เราบอกไปว่า วันหนึ่งเราไม่รู้หรอกว่าเด็กคนนี้จะโตไปเป็นศิลปินหรือไปเป็นอะไร แต่ถ้าเกิดเขามาในเส้นทางนี้ นี่คือบันทึกม้วนแรกในชีวิตของเขา เราเลยคิดกันว่า เราอยากเอานิทรรศการนี้มาวางไว้ที่ a.e.y.space จากนั้นจะมีการขายภาพ เราจะพรินต์กับเฟรมให้ แล้วเงินที่ได้จะเป็นทุนการศึกษากับเด็กคนนั้นไปเลย” ทีมงานทุกคนเล่าโปรเจกต์นี้ด้วยเสียงตื่นเต้น

จากเจริญกรุงสู่สงขลา

ถ้านิทรรศการที่เจริญกรุงคือการเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นย่านที่เป็นมิตรกับบรรดาช่างภาพ ด้วยการเริ่มต้นจากนิทรรศการภาพถ่าย ตัวงานนิทรรศการ Portrait of Songkhla นี้ก็มีเป้าหมายคล้ายกัน คือสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับเมืองสงขลา เพื่อให้กลายเป็นเมืองที่เป็นหมุดหมายปลายทางของนักเดินทางในอนาคต ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นเมืองแห่งเทศกาลการถ่ายภาพ หรือ Photo Festival จะเป็นเมืองแห่งอาหาร หรือเป็นเมืองแห่งศิลปะก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

งานนิทรรศการซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมทำกันอย่างเต็มที่ด้วยใจรักจริงนั้น จะเปิดให้ทุกคนได้มารับชมไปพร้อมกันในช่วง 11 – 27 กันยายน ที่บริเวณเมืองเก่าของสงขลา และเราขอให้มั่นใจได้ว่าการไปเยือนสงขลาในนิทรรศการนี้ จะทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวชีวิต ประวัติศาสตร์ และประสบการณ์ที่ไม่เคยมีการบอกเล่ากันของเมืองสงขลา แบบที่หาไม่ได้ในโอกาสอื่นๆ อีกแล้ว

Writers

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

Avatar

ภูมิ เพชรโสภณสกุล

อดีตนักศึกษาเอกปรัชญา นักหัดถ่าย นักหัดเขียน เป็นทาสแมว ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักดนตรี