1 กุมภาพันธ์ 2020
46 K

ย่านเจริญกรุงเคยเป็นแหล่งการค้าและธุรกิจแห่งแรกๆ ของไทยเมื่อกว่า 150 ปีที่ผ่านมาอย่างที่หลายคนรู้

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญและบริบทของเมืองก็เปลี่ยนตาม จนเจริญกรุงในวันนี้เงียบเหงาและซบเซาไปจากความเป็นย่านการค้าอย่างที่หลายคนก็คงจะนึกออก ถ้าปล่อยย่านเมืองเก่าให้เงียบเหงาต่อไป จะทำการค้าอะไรก็จะยากมากขึ้น ผสมกับความสะดวกสบายที่สู้ย่านเมืองใหม่ไม่ได้ คนอยู่อาศัยในรุ่นต่อไปก็คงจะย้ายออกไปเรื่อยๆ ยิ่งคนย้ายออกไป เมืองที่เงียบเหงาอยู่แล้วก็ยิ่งซบเซาลงไปอีก เศรษฐกิจในย่านก็แย่ลงไปตามลำดับ แถมคนที่ย้ายเข้ามาใหม่แล้วไม่ได้มีความผูกพันกับพื้นที่ ก็อาจจะทำกิจการบางอย่างที่ยิ่งบีบให้คนในพื้นที่ย้ายออกไปอีกเรื่อยๆ การได้เห็นย่านเจริญกรุงกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมก็อาจจะไม่ได้ไกลตัวเรามากไปนัก

ไม่นานมานี้ผมได้ยินว่ามีกลุ่มคนที่พยายามปรับเปลี่ยนและพลิกฟื้นให้เจริญกรุงกลับมาคึกคักอีกครั้งในบทบาทใหม่ นั่นคือย่านที่เป็นมิตรต่อการถ่ายภาพ ทั้งสำหรับช่างภาพและคนรักการถ่ายภาพทั่วๆ ไป ลองคิดดูว่าถ้าคนรักการถ่ายภาพไม่ว่าจากชาติไหนที่มากรุงเทพฯ ก็ต้องมาเยือนย่านเจริญกรุง ราวกับเป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับคนรักการถ่ายภาพ จะสร้างความคึกคักให้เจริญกรุงได้ขนาดไหน

และน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นเมื่อเครื่องมือที่พวกเขาใช้ในการเปลี่ยนแปลงย่านนี้ ไม่ใช่อุปกรณ์ก่อสร้างใดๆ แต่เป็นรูปภาพและนิทรรศการภาพถ่าย ‘Portrait of Charoenkrung’ ที่จะจัดขึ้นในย่านเจริญกรุง ช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 หรือ Bangkok Design Week 2020 ในวันที่ 1 – 9 กุมภาพันธ์นี้

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

คนกลุ่มนั้นคือ โรงเรียนสังเคราะห์แสง โรงเรียนสอนถ่ายภาพที่เกิดจากบุคคลที่รักการถ่ายภาพทั้ง 4 คน ประกอบไปด้วย ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์, อาวุธ ชินนภาแสน, โต้-วิรุนันท์ ชิตเดชะ และ แบงค์-ชัยพฤกษ์ เฉลิมพรพานิช โดยร่วมมือกับ CEA (Creative Economy Agency) หรือชื่อเดิมคือ TCDC ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุง ในที่นี้คือเรื่องของ ‘การถ่ายภาพ’ นั่นเอง

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

เราจึงได้โอกาสชวนทีมสังเคราะห์แสงทั้ง 4 คนมาพูดคุยถึงที่มาที่ไปและกระบวนการทำงานของพวกเขา ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับย่านเจริญกรุงด้วยกระดาษบางๆ ที่เราเรียกกันว่า ‘ภาพถ่าย’

01

Portrait of Charoenkrung ผู้คนแห่งเจริญกรุง

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

โรงเรียนสังเคราะห์แสงเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อร่วมกันในเรื่องการถ่ายภาพว่า การถ่ายภาพที่ดีจะทำให้ภาพถ่ายไม่ได้เป็นแค่ภาพถ่าย แต่มันเป็นได้มากกว่านั้น จากเหตุการณ์ที่ตุลย์เคยเจอมากับตัวเองที่อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองอย่างการสร้างทางรถไฟเส้นใหม่ขึ้นมา เลยทำให้เกิดเป็นโปรเจกต์การอนุรักษ์พื้นที่ในชื่อว่า ‘ภาพเก่าเล่าขาน ตำนานตะพานหิน’ เป็นการนำภาพเก่าที่แขวนอยู่ตามบ้านเรือนผู้คนในชุมชน มีทั้งภาพชาวบ้าน นักการเมือง และข้าราชการต่างๆ นำมาสแกนแล้วรวบรวมทำเป็นหนังสือ ผลลัพธ์คือมันทำให้ผู้คนในชุมชนได้มีโอกาสมาพูดคุยกัน และนำไปสู่การช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่เมืองเก่าของชุมชนไว้ได้

ทางโรงเรียนสังเคราะห์แสงได้เรียนรู้จากเคสนั้นอยู่ 2 เรื่อง หนึ่ง คือการจะเปลี่ยนแปลงย่านย่านหนึ่งขึ้นมา ไม่ใช่การนำสิ่งต่างๆ เข้าไปในชุมชน แล้วคาดหวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเริ่มคิดถึงคนในชุมชนก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยให้คนในชุมชมสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเองต่างหาก และสอง คือสิ่งที่จะทำให้ภาพถ่ายมีพลังในการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นั่นคือเรื่องของวิธีในการถ่ายภาพนั่นเอง

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

“เมื่อก่อนพวกเราก็แค่เดินไปเจอคนหรือบ้านสวยๆ แล้วอยากได้ภาพก็ถ่ายภาพ แต่ตอนหลังๆ เรารู้สึกว่าเราควรวางกล้องไว้และเข้าไปพูดคุยก่อน พอพูดคุยเสร็จเราก็จะได้ทั้งภาพ ได้ทั้งเรื่องราว เราเลยคิดว่าสิ่งนี้มันน่าจะเป็นวิธีที่ดี ผสมกับทางทีมได้เห็นโปสเตอร์หนัง Parasite ภาพที่ถ่ายหน้าบ้าน เราก็นึกถึงภาพแบบ Family Portrait ขึ้นมา ซึ่งมันหายไปจากสังคมทันทีเมื่อมือถือมันถ่ายภาพได้ เราเลยคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่างกับภาพถ่ายครอบครัวแบบนี้” ทางทีมสังเคราะห์แสงเล่าถึงไอเดียตั้งต้นของงาน

เมื่อได้ Family Portrait เป็นไอเดียตั้งต้น กระบวนการต่อมาจึงเป็นความคิดที่ว่า หากต้องการพัฒนาให้ย่านเจริญกรุงน่าสนใจ ก็ต้องเข้าไปรู้จักว่าแท้จริงแล้วย่านนี้มีอะไรบ้าง จึงตั้งทีมค้นคว้าขึ้นมา เพื่อศึกษาหาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ถึงรากเหง้าของความเป็นเจริญกรุง เมื่อได้ข้อมูลจากการค้นคว้ามาแล้ว ทางทีมจึงตัดสินใจเลือกถ่ายทอดภาพครอบครัว เพื่อเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาและธุรกิจที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลาของย่านเจริญกรุง โดยได้คัดเลือกออกมาทั้งหมด 50 ครอบครัว 50 ภาพ เริ่มจากแบ่งหมวดหมู่ตามยุคสมัยในการเข้ามาอาศัยในพื้นที่ตั้งแต่กลุ่มคนยุคแรกจนถึงผู้เข้ามาใหม่ ทำให้เห็นการเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคได้อย่างชัดเจน แล้วจึงแบ่งออกเป็นศาสนา อาชีพ เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด หากว่าในวันข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในย่านนี้ อย่างน้อยเราก็ได้บันทึกไว้ว่าเคยมีใครมาประกอบอาชีพอะไรกันอยู่ในย่านนี้บ้าง เพราะอะไร

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung
Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

“วิธีการคิดมันเหมือนจะง่ายนะครับ ถ่ายภาพครอบครัวเพื่อเล่าเรื่องว่าครอบครัวเหล่านี้ทำให้พื้นที่และเศรษฐกิจเจริญขึ้นมา แต่ความยากก็คือครอบครัวในย่านนี้ไม่ค่อยยอมให้เราเปิดบ้านเข้าไปถ่ายภาพ เราเลยต้องเลือกเข้าไปคุยกับบรรดาผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นหลังแรกๆ แล้วค่อยเอาภาพที่ได้มาไปให้บ้านอื่นๆ ดู ก่อนจะกลายเป็นภาพครอบครัวที่สองและสามไปเรื่อยๆ ในที่สุด

“ส่วนวิธีถ่าย ทีแรกเราก็อยากจะไปจัดท่าทางการยืนของคนในครอบครัว แต่พอถ่ายไปเรื่อยๆ เรากลับรู้สึกว่าปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นดีกว่า มันอาจจะไม่ใช่ภาพที่ดีที่สุดสำหรับเรา แต่มันจะเป็นภาพที่ดีที่สุดสำหรับเขา เพราะมันคือครอบครัวของเขา ยกตัวอย่างเช่น ร้านขายยาเอี๊ยะแซ หนึ่งในครอบครัวแรกๆ ที่นัดแนะกันมาให้จนได้ภาพครอบครัวตั้งแต่รุ่นที่สามจนถึงรุ่นที่ห้า หรือร้านก๋วยเตี๋ยวรูที่รุ่นลูกออกไปทำธุรกิจจนมีฐานะ แต่ก็กลับมาถ่ายภาพที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าๆ ที่ตนเติบโตมา ซึ่งนี่คือดีเอ็นเอสำคัญของงานนะครับ ผมว่ามันคือการให้เกียรติคน มันคือการเปิดใจซึ่งกันและกัน เราตั้งใจไปถ่ายภาพกับคนที่เขาอยู่ในพื้นที่ที่มีคนถ่ายภาพเดินผ่านไปผ่านมาไม่รู้กี่คน แล้วก็แอบถ่ายเขาบ้าง หรือถ่ายตรงๆ แบบที่ไม่ทักทายอะไรกันเลย แม้กระทั่งสบตาหรือยิ้มให้กันก็ไม่มี แต่กลายเป็นว่าบรรดาคนในย่านนี้เริ่มคุ้นชิน เปิดใจ และเริ่มมอบรอยยิ้มให้กับคนรักการถ่ายภาพมากขึ้นแล้ว” ทีมสังเคราะห์แสงเล่าถึงวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

โดยภาพครอบครัวทั้ง 50 ครอบครัวนี้จะนำไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการในช่วงวันที่ 1 – 9 กุมภาพันธ์ ในเทศกาล Bangkok Design Week 2020 ที่บริเวณพิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย ซึ่งหลังจบงานทางทีมงานจะเก็บภาพและนำกลับไปมอบให้กับแต่ละครอบครัว โดยหวังให้แต่ละครอบครัวได้นำภาพพวกนั้นมาประดับติดบ้านของพวกเขา และกลายเป็นนิทรรศการถาวรในย่านนี้ต่อไป

02

Charoenkrung by film มองเจริญกรุงผ่านฟิล์ม

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

นอกจากมีนิทรรศการภาพครอบครัวแล้ว ทางทีมได้ลองมองไปในย่านเจริญกรุง เห็นว่าในพื้นที่นั้นมีทั้งงาน Wall Paint และ Graffiti กระจายอยู่เต็มทั้งพื้นที่ แม้จะเป็นย่านที่คนมาถ่ายภาพเยอะ แต่กลับไม่มีการแสดงงานภาพถ่ายเลย ผสมกับการที่ทาง CEA อยากให้คนข้างนอกได้เข้าไปร่วมงานกับคนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันในอนาคต เลยเกิดเป็นไอเดียที่จะสร้างนิทรรศการภาพถ่ายแบบถาวรขึ้นมาอีกจุดหนึ่งในย่านนี้

“ผมมองว่าย่านเจริญกรุงเกิดขึ้นมาร้อยห้าสิบปีแล้ว ถ้าเปรียบเทียบเป็นคนนี่ต้องแก่มาก มีเรื่องราวน่าสนใจ ผ่านอะไรมาเยอะ เป็นปูชนียบุคคลที่ทุกคนก็มาพึ่งพาพึ่งพิง ให้อาชีพสร้างโอกาสอะไรแบบนี้ ผสมกับนโยบายของทาง CEA ที่อยากให้คนข้างนอกได้มาร่วมงานกับคนในพื้นที่ ทางเราเลยมาคิดว่าในย่านเจริญกรุงนี้มีธุรกิจร้านล้างฟิล์มเข้ามาเปิดหลายแห่ง ก็เลยชวนทางร้านล้างฟิล์มให้ไปชวนลูกค้าที่มาล้างฟิล์มที่ร้านอีกทีหนึ่ง มาร่วมกันจนได้ช่างภาพสี่สิบเก้าคน มาร่วมกันถ่ายทอดมุมต่างๆ ของเจริญกรุงออกมาผ่านม้วนฟิล์มและโจทย์ที่ได้รับมา ทั้งแสง สี กราฟิก คน สัตว์”

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

โดยทางทีมคิดถึงความฝันของคนที่ชอบถ่ายภาพ นั่นคือการได้มีนิทรรศการภาพของตัวเอง เพราะหลายคนที่ชอบถ่ายภาพนั้นไม่ได้มีพื้นที่ทำนิทรรศการเลย ได้แต่ถ่ายมาแล้วสแกนดูผ่านหน้าจอเฉยๆ จึงเกิดเป็นไอเดียที่จะนำภาพของช่างภาพ 49 คนนี้มาพรินท์และติดตั้งเป็นนิทรรศการถาวรที่ศาลเจ้าโรงเกือก ซึ่งการจะทำให้งานภาพถ่ายกลายมาเป็นนิทรรศการถาวรที่ติดตั้งกลางแจ้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยสภาพแวดล้อมที่เจอทั้งแดดและฝน ทางทีมจึงเลือกวิธีการพิมพ์ภาพลงบนแผ่นอะลูมิเนียมแทน นอกจากเป็นงานที่ตอกย้ำความเป็นย่านถ่ายภาพแล้ว ยังหวังให้เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนที่มาพบเห็นด้วย

03

Chareonkrung by Chareonkrung สูจิบัตรจากคนเจริญกรุงเพื่อคนเจริญกรุง

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

ระหว่างที่ทางทีมสังเคราะห์แสงลงพื้นที่ถ่ายภาพครอบครัว พวกเขาได้ไปเจอกับโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์จีนซิงจงเอี๋ยนเข้าโดยบังเอิญ

“วันแรกเราก็ไปนั่งคุยกับตัวเจ้าของ และนี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราเจอบ่อยมาก คือความรู้สึกที่คนในพื้นที่และเจ้าของธุรกิจแถวตรงนั้นเขาพูดว่า อย่ามาถ่ายเลย จะเลิกกิจการแล้ว อะไรแบบนี้ เราก็เลยพูดว่าเพราะอย่างนี้แหละครับต้องรีบถ่ายเก็บไว้ ก่อนที่มันจะไม่เหลืออะไร”

ด้วยความที่งานนิทรรศการจำเป็นต้องมีสูจิบัตรอยู่แล้ว ประกอบกับการได้มาเจอกับโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์จีนซิงจงเอี๋ยน จึงเกิดเป็นไอเดียพิมพ์สูจิบัตรของงานให้อยู่ในรูปแบบของหนังสือพิมพ์

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung
Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

“พอมีไอเดียว่าอยากให้โรงพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนพิมพ์สูจิบัตรออกมาให้ เราเลยทำเนื้อหาในสูจิบัตรให้กลายมาเป็นหนังสือพิมพ์ของเจริญกรุงประจำปี 2020 นอกจากบันทึกงานนิทรรศการแล้ว ก็เป็นเหมือนการบันทึกข่าวคราวของครอบครัวหรือธุรกิจไหนในย่านนี้เอาไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ อย่างร้านนั้นมีลูกหลานมาช่วยขยายกิจการแล้ว หรือบ้านนั้นเปลี่ยนบ้านตัวเองไปเป็นที่พักแล้ว และตั้งใจว่าจะนำไปแจกให้กับทุกบ้านที่ได้ไปถ่ายภาพมา เพื่อให้พวกเขากระจายสู่มือของคนในชุมชนต่อๆ ไป แต่สำหรับคนที่อยากได้ไปเก็บไว้ เราก็มีเตรียมไว้จำหน่ายด้วยเหมือนกัน”

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

นอกจากพิมพ์สูจิบัตรแล้ว ตัวโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์จีนซิงจงเอี๋ยนนี้ก็จะกลายเป็นจุดแสดงผลงานอีกหนึ่งจุด เพราะทางทีมเตรียมนำตัวงานสูจิบัตรมาห่อและหุ้มอาคารนี้ไว้ด้วย เพื่อให้ย้อนนึกไปถึงสมัยก่อนที่ทางโรงพิมพ์จะติดหนังสือพิมพ์จีนไว้ด้านหน้าเพื่อให้คนที่เดินผ่านไปมาได้ยืนอ่านฟรีๆ นับว่าเป็นประสบการณ์ย้อนภาพอดีตที่น่าสนใจมากทีเดียว

04

Proud of Chareonkrung เซียงกงก็สวยได้

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

หลายครั้งที่ทางทีมสังเคราะห์แสงลงพื้นที่แถวย่านขายอะไหล่เก่าอย่างเซียงกง ตลาดน้อย แล้วได้เห็นความสวยงามของแสงเงาที่มาตกกระทบชิ้นส่วนเหล็กต่างๆ เลยถ่ายภาพเก็บไว้ แต่บรรดาผู้คนในย่านเซียงกงนั้นกลับสงสัยและตั้งคำถามทางทีมกลับมาว่า ถ่ายไปทำไม ไม่เห็นมีอะไรสวยเลย เหมือนว่าคนที่อยู่เขาไม่ได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจอะไรกับของเหล่านี้ ทางทีมจึงอยากทำบางอย่างที่เชื่อมต่อคนข้างนอกกับคนเซียงกงได้ เกิดเป็นไอเดียที่จะสร้างป๊อปอัพสตูดิโอขึ้นมา เพื่อให้คนในเซียงกงได้รับรู้ว่ายังมีคนเห็นความงามในย่านนี้อยู่

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

“คือคนเดินผ่านตรงนั้น มันมีคนที่มองเห็นความงามอยู่เยอะ ซึ่งคนที่อยู่ตรงนั้นก็จะสวยอะไรวะ เขาเป็นอย่างนี้จริงๆ คนอยากถ่าย แต่เจ้าของไม่เห็นความงาม เราก็เลยรู้สึกว่า เราอยากทำให้ตรงนี้มันเป็นสเตจเพื่อให้คนมาถ่ายภาพกองเหล็กพวกนี้ มันคือการเอาการถ่ายภาพมาเชื่อมกับคนในชุมชน โดยเราได้คุยกับพี่คนหนึ่งในย่านไว้ เราจะขนไฟสตูดิโอมาเซ็ตให้ถ่ายภาพกันโดยมีกองเหล็กพวกนี้เป็นฉากหลัง แล้วตั้งไฟจัดแสงไว้เรียบร้อย และมีรายละเอียดบอกวิธีปรับตั้งกล้อง คุณมาถึงก็แค่หยิบเอาไฟสตูดิโอต่อกับกล้อง ปรับตั้งค่าตามที่บอกแล้วถ่ายได้เลย”

05

Charoenkrung is not a place, it’s a people เจริญกรุงไม่ใช่ย่าน แต่คือผู้คน

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

ด้วยความที่ทางทีมสังเคราะห์แสงมีภาพถ่ายของผู้คนในย่านเจริญกรุงอยู่เยอะ และอยากให้งานภาพถ่ายเหล่านี้เป็นแลนด์มาร์กอะไรอีกสักอย่างที่คนจะได้เห็นภาพรวมของย่านทั้งหมด ซึ่งมีมิติทับซ้อนกันอยู่ทั้งเรื่องการค้า สถานทูต ศาสนา และการเมือง ผ่านช่วงเวลาที่ยาวนาน เลยเกิดเป็นไอเดียการนำภาพผู้คนหลายๆ ภาพมาผสมผสานรวมกันเป็นงานกราฟิกที่เรียกกันว่า Photomontage หากคนที่เดินผ่านมาเห็นภาพนี้ภาพเดียว เขาจะได้เห็นทั้งเรื่องศาสนา เรื่องสถานทูตที่เข้ามา เรื่องเซียงกง เรื่องยุคสมัยตั้งแต่คนเก่าคนแก่จนถึงผู้เข้ามาใหม่จบในภาพเดียว คล้ายเป็นบทสรุปของโปรเจกต์นี้ โดยภาพนี้ได้ติดตั้งอยู่ที่ ร้านอาหารวัวทอง ซอยเจริญกรุง 45

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

งานแสดงทั้ง 5 จุดที่ทางทีมสังเคราะห์แสงตั้งใจสื่อสารออกมา นอกจากเป็นการเปลี่ยนมุมมองของผู้คนที่มาพบเห็นและได้มีความรู้เกี่ยวกับย่านนั้นๆ แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะกลายเป็นผลขยาย คือความสุขของคนที่อยู่ในพื้นที่ คำว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ใช่แค่ตัวผู้คนในชุมชน แต่รวมไปถึงนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มคนภายนอกที่เดินเข้าไป ที่น่าจะได้เห็นผู้คนในเจริญกรุงที่เป็นมิตรและยินดีต้อนรับสังคมคนชอบถ่ายภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการนำไปพูดถึงในแง่มุมที่ดีและเกิดเป็นความภูมิใจในพื้นที่ของตัวเอง โดยทางทีมสังเคราะห์แสงเองได้มองโมเดลทั้งหมดนี้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่อาจใช้แก้ปัญหาชุมชนอื่นๆ ได้ และยินดีหากมีย่านหรือชุมชนไหนที่สนใจหยิบโมเดลไปใช้งานต่อไป

เราเชื่อแล้วว่าภาพถ่ายบางๆ และการถ่ายภาพนั้น เป็นมากกว่าภาพถ่ายและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง

Bangkok Design Week 2020, Portrait of Charoenkrung

Writers

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

Avatar

อาทิตยา จันทร์เศรษฐี

นัก(หัด)เขียนและนัก(หัด)วาด สะสมสติ๊กเกอร์และโปสการ์ด ตกหลุมรักท้องฟ้าซ้ำไปซ้ำมา และสัญญากับตัวเองว่าจะอ่านหนังสือเดือนละเล่ม

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan