จักรยานอะไรห่วยที่สุดในโลก

คำตอบคือ…

จักรยานหาย!!

ฮ่าๆๆๆๆ ขำเลยปะคะ

แต่คนที่ไม่ขำคือคนอย่างสมคิดเมื่อหลายเดือนก่อนค่ะ ทำงานทั้งวันเหนื่อยจะแย่ เลิกตั้ง 3 ทุ่ม ออกจากออฟฟิศไขล็อกจักรยานเรียบร้อยกำลังจะกลับบ้าน แล้วนึกขึ้นได้ว่าลืมของ เลยเอาจักรยานพิงตึกไว้ วิ่งเข้าไปเอาของเดี๋ยวเดียว เดินออกมาจักรยานอันตรธานไปแล้ว! ฮีโทรมาตอน 3 ทุ่มบอกว่าไอต้องเดินกลับบ้าน จักรยานหาย สรุปว่าวันนั้นชายวัยกลางคนไร้จักรยานกลับมาบ้านเกือบ 4 ทุ่ม (ทำไมไม่นั่งรถเมล์) แล้วก็จิตตกอยู่หลายวัน เพราะจักรยานแพง ทุกวันนี้มีคันใหม่แล้วแต่ก็ยังมองหาจักรยานสีดำคันนั้นอยู่เลย โถๆๆๆ สงสารนาง

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

สงสารเด็กคนนี้ด้วยค่ะ เด็กผู้ชายอายุ 11 ชื่อ เมอร์ริล เดนนี่ (Merrill Denny) ที่ตกหลุมรักจักรยานสติงเรย์สีม่วงคันหนึ่งหมดใจ พอไปสารภาพกับเจ้าของร้านว่าอยากได้แต่ที่บ้านคงไม่มีปัญญาซื้อ เจ้าของร้านก็ดีใจหาย บอกว่าอยากมาทำงานแลกจักรยานไหมล่ะ เมอร์ริลสุดแสนจะลิงโลด ขยันขันแข็งไปทำงานตลอดฤดูร้อน จนในที่สุดก็ได้จักรยานคันนั้นมาด้วยความภาคภูมิใจ แต่ไม่กี่เดือนต่อมา เมอร์ริลขี่จักรยานคู่ใจไปจอดที่หน้าร้านขายของชำแถวบ้าน แค่ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น พอซื้อของเสร็จออกมาจากร้าน ความฝันที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายก็กลายเป็นความว่างเปล่า จักรยานถูกขโมยไปซะแล้ว! ความเสียใจเจ็บใจฝังลึกอยู่ในความทรงจำของเมอร์ริลมาตั้งแต่นั้น

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

หมุนเวลามาอีก 25 ปี เมอร์ริลโตเป็นผู้ใหญ่ ย้ายมาอยู่ชานเมืองใกล้ๆ พอร์ตแลนด์ และยังคงขี่จักรยานอย่างจริงจัง ขนาดขี่ข้ามทวีปอเมริกาคนเดียวก็เคยมาแล้ว มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาร่วมขี่ในงาน Reach the Beach ที่เป็นการขี่จักรยานทางไกลไปทะเล เพื่อระดมทุนช่วยผู้ป่วยโรคปอด มีนักปั่นมาร่วมงานมากมาย ระหว่างทางหลายคนแวะจอดที่ร้านขายของชำเพื่อซื้ออาหารว่างเพิ่มพลัง เมอร์ริลก็จอดกับเขาด้วยเพื่อซื้อกล้วย ก่อนเข้าร้าน เขาสังเกตว่ามีจักรยานวางระเกะระกะบนทางเท้าหลายคัน เพราะไม่มี Bike Rack หรือเหล็กให้ล็อกจักรยาน ความที่รู้จักคุ้นเคยกันกับเจ้าของร้าน เมอร์ริลจึงถามแกมบ่นว่าเมื่อไหร่ยูจะมีที่จอดเสียที เพราะนี่คือเส้นทางที่คนขี่จักรยานผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก เจ้าของร้านพอจะรู้ว่าเมอร์ริลมีความรู้ความสามารถทางช่างเชื่อมเหล็กอยู่บ้าง จึงท้าว่าทำไมเมอร์ริลไม่ออกแบบให้เขาสักอันเสียเลยล่ะ

ความฝังใจในวัยเด็กที่จักรยานถูกขโมยเพราะไม่มีเหล็กล็อก บวกกับความคันส่วนตัว ทำให้เมอร์ริลกลับมาคิดเรื่องนี้จริงจัง ในเวลานั้น (ค.ศ. 1992 คือเกือบ 30 ปีที่แล้ว) มีที่จอดจักรยานอยู่ไม่กี่แบบให้เลือกในท้องตลาด หลักๆ คือแบบที่เป็นเหล็กดัดโค้งๆ ที่เรียกว่า Wave หรือ Serpentine Bike Rack หน้าตาแบบนี้

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

เมอร์ริลคิดว่ามันอาจจะดูเฟี้ยวฟ้าวเกินหน้าตาบ้านๆ ของร้านไปหน่อย ก็เลยคิดว่าน่าจะออกแบบอะไรที่ล็อกจักรยานได้สะดวก และมองดูน่าสนใจเข้ากับบุคลิกของร้าน ก็เลยทำเป็นเหมือนครึ่งบนของจักรยานครูเซอร์ละลายลงไปกับทางเท้า แล้วเรียกชื่อขำๆ ว่า Cruiser Meltdown

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

แล้วประวัติศาสตร์ก็บันทึกลงไปในวันนั้น ว่านั่นคือที่จอดจักรยานแบบ One-of-a-kind / Custom-made ชิ้นแรกของประเทศอเมริกา! และหลังจากนั้นมา เมอร์ริลก็สร้างสรรค์ที่จอดจักรยานหน้าตาแปลกใหม่ออกมาอีกนับชิ้นไม่ถ้วน และมีคนนึกสนุก (บางคนก็อาศัยหัวการค้า) ทำงานศิลปะที่ใช้งานได้แบบนี้ออกมาอีกเต็มไปหมด

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

เมอร์ริลบอกว่าเหล็กนั้นมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ใฝ่ฝันอยากจะทำรูปอะไรก็จะบันดาลทำให้ได้หมด ลองคิดง่ายๆ ก็ได้ค่ะว่าทุกครั้งที่มีการโค้งงอ ต้องเอาเหล็กอย่างน้อยสองชิ้นมาอ็อกมาเชื่อมต่อกัน แล้วขัดให้ดูเหมือนเป็นเหล็กชิ้นเดียวต่อเนื่อง งานบางชิ้นดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ใช้เหล็กตั้ง 83 ชิ้นมาเชื่อมและทำอยู่เกือบครึ่งปี! ดูงานเหล่านี้ก็ได้ค่ะ แล้วลองนึกเล่นๆ ว่าถ้าเป็นเราจะทำได้ยังไง เมอร์ริลบอกว่าคิดง่ายๆ เหมือนตัวต่อจิ๊กซอว์ที่ทำด้วยเหล็กนั่นแล

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา
อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา
อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

แล้วอีกเรื่องที่ต้องไม่ลืม คือจริงๆ แล้วมันคือที่ล็อกจักรยาน! เพราะฉะนั้น คนก็ต้องดูออกและเอาจักรยานมาล็อกได้ง่ายด้วย อุ้มถามว่าเหล็กล็อกจักรยานที่ดีควรจะเป็นยังไง เมอร์ริลในฐานะที่ตัวเองก็เป็นคนขี่จักรยาน ตอบเรามาทันทีทันใดว่า “มันต้องกว้างพอ” 

แปลว่าเหล็กล็อกแบบ Wave นี่ไม่ตอบโจทย์อย่างแรง เพราะแต่ละช่องนี่กว้างแค่ฟุตเดียวเอง เวลาเอาจักรยานไปจอดที ฮู้ยยย… โอกาสที่จะไม่ครูดเป็นรอยหรือชนกับจักรยานคนอื่นนี่น้อยยิ่งกว่าเห็นดาวตก

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

เมอร์ริลบอกว่าเวลาเขาออกแบบ เขาจะบอกลูกค้าเสมอว่ายูใส่ให้กว้างไปเลยช่องละอย่างน้อย 2 ฟุต หรือดีที่สุดคือให้คนจอดแบบเอาจักรยานมาเทียบขนานด้านข้าง ให้มีจุดรับน้ำหนัก 2 จุดเพื่อความมั่นคง ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เอาจริงๆ แล้วเหล็กล็อกจักรยานของกรมการขนส่งพอร์ตแลนด์ (PBOT) นี่ก็เวิร์กน้อยอยู่เมื่อไหร่ หน้าตาเป็นแบบนี้ค่ะ จอดได้สองคันขนานกัน รับน้ำหนัก 2 จุดมั่นคงจักรยานไม่ล้มไปขวางทางคนเดินเท้าด้วย

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา
อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

เหล็กล็อกจักรยานที่เมอร์ริลขอร้องว่าอย่าติดตั้งกันอีกเล้ยยยยพี่น้อง คือแบบ Wheel Rack ซึ่งคือแบบที่ให้เอาล้อหน้าเข้าไปเสียบแล้วล็อกกับเหล็ก เพราะอะไรรู้ไหมคะ เพราะล้อจะพังและขโมยง่ายที่สุด! คือจักรยานโดยเฉพาะพวกจักรยานทางไกลที่ล้อบางๆ เนี่ย เขาออกแบบมาให้สามารถรับน้ำหนักจากโดยรอบ (Radial Strength) ไม่ใช่น้ำหนักจากด้านข้าง (Lateral Strength) เวลาเราเอาล้อเข้าไปเสียบแล้วต้องขยับๆ ให้พอดี ล้อก็จะบิดโดยไม่รู้ตัว แถมถ้าอยากขโมย ปลดล้อหน้าออกก็เอาจักรยานที่เหลือไปได้ทั้งคัน แล้วมันจะดีเหรอ!

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

แต่ทุกวันนี้อุ้มก็ยังเห็นมีเหล็กล็อกจักรยานแบบนี้อยู่ทั่วไป เมอร์ริลบอกว่า เพราะคนที่สั่งมาติดน่ะเดาได้เลยว่าไม่ใช่คนขี่จักรยาน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเจ้าของตึกสั่งลูกน้องทำนอง “เอ้า เทศบาลเมืองสั่งให้มีที่จอดจักรยานหน้าตึกห้าคัน ลื้อไปสั่งอันที่ถูกๆ มาติดให้หมดเรื่องหมดราวไป” ก็เลยได้เหล็กล็อกล้อหน้ามาด้วยประการฉะนี้ หรืออีกอย่างก็คือคิดว่ามันดู “น้อยๆ” สวยดี หารู้ไม่ว่ามันไม่ดีต่อจักรยาน!

พูดถึงเรื่องเทศบาลเมือง ก็ต้องเล่าต่อให้ฟังว่าเมืองจักรยานผู้คนหัวก้าวหน้าทำตัวสบายๆ อย่างพอร์ตแลนด์นี่น่ะ พอเป็นเรื่องเหล็กล็อคจักรยาน เมอร์ริลบอกว่ามีกฏระเบียบโหดหินที่สุดในอเมริกาเลยก็ว่าได้! แถมกว่าจะได้ใบอนุญาตก็อาจจะหลายเดือน อุ้มเข้าไปอ่านดูในเว็บไซต์ของ PBOT แล้วก็โอ้โหในใจ เออหนอข้อกำหนดเยอะแยะหยุมหยิมจริงๆ ด้วย ต้องห่างจากถนนและสิ่งก่อสร้างห้างร้านต่างๆ เท่าไหร่ ส่วนสูงความกว้างยังไง ทำจากอะไร มีช่องห่างแค่ไหน (แต่ที่บอกว่าห้ามมีช่องว่างขนาดระหว่าง 3.5 – 9 นิ้ว เพราะเดี๋ยวเด็กจะเอาหัวไปติดนี่ก็ไม่เก็ทเหมือนกันนะ ลูกฉันเกิดมายังหัวใหญ่ตั้ง 14 นิ้วเข้าไปแล้ว)

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา
อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา
อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา
อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

คือถ้าคุณมีธุรกิจแล้วคิดจะติดตั้งที่จอดจักรยานเก๋ๆ บนทางเท้าหน้าตึก ต้องสำรวจสถานที่ ส่งแบบ ขอใบอนุญาตกันเป็นเรื่องใหญ่โตเลยเชียวล่ะ แต่ก็อย่างว่านะ ของที่จะอยู่ไปอีกถาวรยาวนาน ก็ต้องแน่ใจว่าสวยและปลอดภัย ไม่เหมือนป้ายโฆษณาที่อยู่ๆ ก็มาตั้งอยู่กลางทางเท้าแถวสีลม ที่เมื่อตอนนู้นเราไปใช้ชีวิตเป็นคนตาบอดอยู่ 7 วัน (จำได้ไหม) เดินปิดตาเสยมาแล้วหน้าเกือบเยิน อันนี้แอบเล่าดักไว้ก่อน เผื่อเหล็กล็อกจักรยานจะกลายเป็นเรื่องฮิตขึ้นมาในกรุงเทพฯ จะได้อย่างน้อยมีมาตรฐานความปลอดภัยให้เอาไปใช้ได้นะคะคุณผู้ว่าฯ 

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเล่าให้ฟัง (ที่ฟังเมอร์ริลเล่าให้ฟังมาอีกที) ก็คือเหล็กล็อกจักรยานที่สร้างสรรค์และแก้ปัญหาให้กับเมืองอย่างมหาศาลอันนี้ค่ะ

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

เรื่องมันเกิดขึ้นเพราะเมืองพอร์ตแลนด์ (และอีกหลายๆ เมืองทั่วอเมริกา) ต้องเปลี่ยนมิเตอร์จ่ายค่าที่จอดรถ จากแบบหยอดเหรียญรุ่นโบราณ มาเป็นแบบดิจิทัลใช้เครดิตการ์ด เทศบาลเมืองก็เลยต้องทำการรื้อถอนมิเตอร์รุ่นเก่าออก วันหนึ่งเมอร์ริลเข้าไปแถวดาวน์ทาวน์ เห็นเจ้าหน้าที่เอากรวยมากั้นทางเท้าเป็นการใหญ่ เพราะเขาจะขุดเจาะคอนกรีตเพื่อถอนเอาเหล็กก้านมิเตอร์ที่ฝังอยู่ในทางเท้าออก แค่ดูก็รู้ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาเยอะมาก แล้วต้องทำตั้งกี่ร้อยกี่พันอัน

เมอร์ริลเห็นแล้วก็เก็บมาคิด เพราะเอาเข้าจริง เสาของมิเตอร์พวกนี้ บางทีคนก็เอาจักรยานไปล็อคใช้แทนเหล็กล็อคจักรยานกันอยู่แล้ว แทนที่จะต้องขุดรากถอนโคน ทำไมเราไม่แค่ถอดหัวมิเตอร์ข้างบนออก แล้วเปลี่ยนให้มันกลายเป็นที่จอดจักรยานแทนเสียเลย แบบนี้ประหยัดงบประมาณ และทำให้ของที่ต้องทิ้งกลับมีฟังก์ชั่นการใช้งานขึ้นมาด้วย

จริงๆ จะทำเป็นเหล็กกลมๆ ธรรมดาก็ได้ แต่ประสาเมอร์ริล ก็เลยทำให้เป็นรูปจักรยาน เหมือนเป็นการให้ข้อมูลไปในตัวว่าจากนี้ไป ตรงนี้กลายเป็นที่จอดจักรยานแล้วนะชาวเมือง จากงบประมาณเมืองที่ต้องใช้ในแต่ละจุดหลายแสนบาท ก็เลยลดเหลือแค่ไม่กี่พันบาท เมืองอย่างฟิลาเดลเฟียและซีแอตเทิลเห็นเข้าก็ชอบใจ สั่งเมอร์ริลให้ทำส่งไปอีกหลายพันชิ้น (ส่วนเมืองอื่นๆ เห็นแล้วก็ก็อปไปทำกันเอง ถือว่าไม่ได้เงินแต่ได้กุศลแล้วกันนะเมอร์ริล) ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เข้าท่าจริงๆ

อุ้มลองเสิร์ชดูรูปเหล็กล็อกจักรยานในเมืองไทย ก็เห็นแบบล็อกล้อหน้าขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ คือถ้าไม่ได้คุยกับเมอร์ริล อุ้มเองก็คงไม่รู้เหมือนกันว่ามันไม่ดี แต่ทีนี้เรารู้แล้ว ก็ช่วยบอกต่อๆ กันไปนะคะ เพราะถ้าจะส่งเสริมการขี่จักรยาน นอกจากทำเลนจักรยาน ทำเส้นทางสำหรับนักปั่นอะไรต่อมิอะไรแล้ว เรื่องเหล็กล็อกจักรยานนี่อาจจะยังไม่มีคนพูดถึงหรือให้ความสำคัญเท่าไหร่ ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันเป็นปัจจัยสำคัญที่คนจะขี่ไม่ขี่ไปไหนมาไหนเลยล่ะค่ะอุ้มว่า และในทางกลับกัน เหล็กล็อกจักรยานที่ออกแบบและผลิตมาอย่างดี ก็จะทำให้ธุรกิจมีลูกค้ามามากขึ้น มีคนจำได้ด้วย (เจ้าของร้านหลายแห่งในพอร์ตแลนด์บอกอย่างนี้จริงๆ)

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

อุ้มแอบถามให้ว่า ถ้าจะทำเหล็กล็อกจักรยานรูปก้อนเมฆที่หน้าออฟฟิศ The Cloud ชาวสองล้อ จะยากไหม แพงไหม ทำได้ไหม เมอร์ริลตอบว่าทำด๊ายย… ถ้าให้เขาทำก็คงประมาณ 70,000 – 80,000 บาท แล้วก็ถามกลับมาอีกด้วยว่า ยูจะเอาแบบสองมิติหรือสามมิติ มีฝน มีฟ้าแลบไหม จอดได้กี่คัน อุ้มฟังแล้วอึ้งสัมปทานไปนิดหนึ่ง แต่ก็คิดว่าเป็นไอเดียที่น่าสนุกดี จึงจะจบ คุณ-ภาพ-ชี-วิต ลงตรงนี้ ด้วยการหาเรื่องให้คุณทรงกลดจัดประกวดที่จอดจักรยานรูปก้อนเมฆ ได้แบบแล้วไปขออนุญาตเจ้าของตึก จัดหาคนอ็อกเหล็กพ่นสี ระดมทุนจาก Kickstarter แล้วทำการติดตั้งให้เหมาะสม

ส่วนคนเขียนสบายใจปั่นจักรยานหนีไปแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ

อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา
อดีตเด็กจักรยานหาย ผู้เปลี่ยนพอร์ตแลนด์ให้มีที่จอดจักรยานแฟนซีสุดในอเมริกา

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์