เรื่องมันเริ่มมาจากสิริยากรอยากเลี้ยงไก่

ประสาคนเรื่องเยอะก็เลยหาข้อมูลแยะ แล้วยิ่งสืบไปอ่านมา ก็ได้ยินคำว่า Eco-Lawn โผล่มาให้เห็นควบคู่ไปกับเรื่องราวของคนเลี้ยงไก่ในเมืองมากขึ้นทุกที

ทำไมต้องมาเรียกว่าอีโค่ แล้วไอ้เจ้าสนามหญ้าเขียวๆ ที่เราเห็นอยู่ทั่วไป ทั้งตามบ้านคน สวนสาธารณะ สนามกีฬา สนามกอล์ฟ และที่อื่นๆ มันไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมยังไงกันฮึ ไม่สงสัยเปล่า เราเปลี่ยนประเด็นจากแม่ไก่อ้วน มาหาข้อมูลเรื่องสนามหญ้าที่ว่านี้มันเสียเลย

สนามหญ้า

สิ่งที่ได้รู้ทำเอาอ้าปากค้างทีเดียวค่ะ

การจะมีสนามหญ้าเขียวชอุ่มนุ่มเท้าได้นั้นต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงลิบลิ่ว ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการจ้างคนมาปรับพื้นที่หรือซื้อหญ้ามาปู หรือราคาของการดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่ใช้รด ปุ๋ยที่ใส่ ค่าเครื่องหรือคนตัดหญ้า ซึ่งเราเห็นและรู้กันดีอยู่แล้ว แต่หมายถึงราคาที่แอบแฝงอยู่จากผลของการกระทำที่ว่ามาเหล่านั้นต่างหาก

ถึงแม้ประธานาธิบดี ท. ของประเทศ อ. จะหลับหูหลับตาบอกว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวง แต่มนุษย์โลกที่ยังพอมีสติปัญญาอยู่บ้างต่างรู้ดีว่ามันเป็นเรื่องจริง และเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังสร้างภัยพิบัติและความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ เราได้ยินเรื่องไฟป่า แม่น้ำจะเหือดแห้ง และภัยแล้งบ่อยขึ้นทุกที ตอนนี้นักสิ่งแวดล้อมต่างพากันหันมามองการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองไปกับสนามหญ้า ซึ่งไม่ได้มีส่วนในการผลิตอาหาร และสร้างประโยชน์สุขให้กับคนจำนวนนิดเดียวเท่านั้นเมื่อเทียบกับพื้นที่ จะเรียกว่าเป็นความฟุ่มเฟือยอย่างหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้ สถิติบอกว่าครัวเรือนอเมริกันใช้น้ำถึง 1 ใน 3 (บางฤดูอาจมากถึง 50%) ไปกับการรดน้ำต้นไม้และสนามหญ้า และกว่าครึ่งระเหยกลายเป็นไอหรือไหลซึมไปโดยเปล่าประโยชน์ จนตอนนี้ หลายๆ รัฐเริ่มมีมาตรการประหยัดน้ำ ด้วยการลดหย่อนภาษีให้คนที่เปลี่ยนสนามหญ้ามาเป็นพืชท้องถิ่นชนิดอื่น ที่ทนแล้งและต้านทานโรคหรือแมลงได้ดีกว่า หรือที่เรียกว่า Xeriscaping

USA

รายงานขององค์การนาซาบอกว่า ‘หญ้าสนาม’ เป็นพืชเชิงเดี่ยวที่มีพื้นที่การปลูกสูงที่สุดในอเมริกา และมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงสูงกว่าภาคการเกษตรอย่างที่หลายคนไม่เคยรู้ สารเคมีเหล่านี้นอกจากจะทำลายดินและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นอันตรายโดยตรงต่อผู้ที่สัมผัสกับสนามหญ้านั้น โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะร่างกายไม่สามารถกำจัดสารพิษได้ดีเท่าผู้ใหญ่ เราจึงได้ยินว่ามีเด็กป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งสมอง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเชื่อหรือไม่คะว่าโรคมะเร็งก็เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในหมาและแมวด้วยเช่นกัน เรารู้ดีว่าสารเคมีเป็นตัวการที่สำคัญของการทำงานผิดเพี้ยนในเซลล์ร่างกายสิ่งมีชีวิต ตอนนี้คนจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจกินผักผลไม้ปลอดสารพิษ แต่อาจจะลืมนึกไปว่าการสัมผัสกับสนามหญ้าที่เต็มไปด้วยสารเคมีนั้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความป่วยไข้เช่นกัน

หลายคนบอกว่าจะให้เปลี่ยนใจไปปลูกอย่างอื่นก็คงไม่ได้ เพราะสนามหญ้านั้นมีคุณค่าทางใจ มองไปแล้วก็เขียวสบายตา และช่วยเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์อีกด้วยซ้ำ นักวิทยาศาสตร์พูดถึงเรื่อง Carbon Sink หรือการที่พืช (ในที่นี้คือสนามหญ้าที่ได้รับการดูแลอย่างดี) ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศแล้วกักเก็บไว้ในดิน เป็นการลดภาวะเรือนกระจกได้ทางหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยกับทุกประเด็นที่กล่าวมาค่ะ บ้านผู้เขียนเองก็มีสนามหญ้าทั้งหน้าบ้านหลังบ้าน แต่วันนี้สิ่งที่จะมาชวนกันคุยก็คือ จะทำอย่างไรให้สนามของเราเขียวสวย ที่สำคัญคือ ดีต่อสิ่งแวดล้อมและเจ้าของบ้านด้วย

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เคยชินกับการมีสนามหญ้าหน้าบ้าน แต่รู้หรือไม่คะว่าการปลูกหญ้าสนามเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง และเอาเข้าจริงก็เพิ่งกลายเป็นความนิยมแพร่หลายมาไม่ถึงร้อยปี

คำว่า lawn หรือสนามหญ้า มีรากศัพท์มาจากคำว่า laune ในกลุ่มภาษาเคลท์ (Celtic) ซึ่งหมายถึง พื้นที่ปิด และปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกสมัยยุโรปยุคแรกตั้งถิ่นฐาน ราวปีคริสตศักราช 1540 สมัยนั้นชาวบ้านจะกันพื้นที่ส่วนกลางไว้สำหรับนำสัตว์เลี้ยงอย่างม้า แกะ และวัว มาปล่อยให้หากินร่วมกัน แต่แรกก็คงจะมีพืชหลายชนิดขึ้นสูงๆ ต่ำๆ แต่เมื่อถูกสัตว์กัดเล็มอย่างต่อเนื่อง มันก็กลายเป็นทุ่งหญ้าเรียบๆ สั้นๆ ซึ่งเป็นต้นแบบของสนามหญ้าในปัจจุบัน

ม้า แหล่งน้ำ

การมีสนามเพื่อความสวยงามเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าบ้านนั้นมาเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 17 – 18 ในประเทศอังกฤษ ในหมู่เจ้านายและอภิมหาเศรษฐี เพื่อเป็นการประกาศศักดาว่า อันตัวข้าพเจ้านั้นรวยเหลือหลาย มีคฤหาสน์หลังใหญ่มโหฬาร มีที่ดินเหลือเฟือ นอกจากเรือกสวนไร่นา ทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์แล้ว หน้าคฤหาสน์นี้ข้าฯ จึงสามารถปล่อยให้เป็นสนามดอกแคโมมีล (พืชยอดนิยมสมัยนั้น) เพื่อความบันเทิงใจเล่น แล้วในเมื่อไม่ใช่ทุ่งหญ้าสำหรับสัตว์ การรักษาให้สนามเรียบสั้นสวยงาม จึงเป็นหน้าที่ของบ่าวไพร่กับกรรไกรและเคียวตัดหญ้าในมือ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าไม่มีอันจะกินจริงๆ ทำไม่ได้แน่นอน

คฤหาสน์ คฤหาสน์

สนามหญ้ากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านคนทั่วไป หลังจากนายเอ็ดวิน เบียร์ด บัดดิ้ง (Edwin Beard Budding) ประดิษฐ์เครื่องตัดหญ้าขึ้นเมื่อปี 1830 และมีหลายบริษัทพัฒนาเครื่องตัดหญ้ารุ่นต่อๆ มาให้มีประสิทธิภาพและราคาถูกลงเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการขยายตัวของที่อยู่อาศัยของชาวอังกฤษไปยังชานเมือง ทำให้บ้านมีบริเวณมากขึ้น รวมทั้งกีฬาสนามที่เริ่มได้รับความนิยมอย่างฟุตบอล เทนนิส กอล์ฟ และคริกเก็ต ทำให้สนามหญ้าขยายตัวอย่างรวดเร็วมากในราวต้นศตวรรษที่ 19

ตัดหญ้า

ขณะเดียวกันบนแผ่นดินใหม่อย่างอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 เมื่อผู้ที่อพยพมาจากอังกฤษนำเอารูปแบบการใช้ชีวิตติดตัวข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคฤหาสน์ เกษตรกรรม ปศุสัตว์ และแน่นอน… กระแสนิยมเรื่องสนามหญ้า ถึงแม้ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาที่เป็นอาณานิคมใหม่ของอังกฤษ (ซึ่งรวมเรียกว่า New England) นั้นจะมีหญ้าและพืชท้องถิ่นขึ้นอยู่ก่อนแล้ว แต่ชาวอังกฤษที่ย้ายมากลับบอกว่ามันเป็นพืชคุณภาพต่ำ ไม่มีคุณค่าทางอาหารมากพอสำหรับสัตว์เลี้ยงที่เอามาด้วย แถมเดินแล้วก็ยังระคายตีนแดงของผู้ดีอังกฤษ ใครที่จะอพยพมาแผ่นดินใหม่จึงได้รับการแนะนำให้พกเอาเมล็ดโคลเวอร์ (Clover) และหญ้าติดตัวมาด้วย ธุรกิจนำเข้าเมล็ดหญ้าก็เริ่มต้นขึ้นในช่วงนี้ จนหญ้าพันธุ์เบอร์มิวด้า (Burmuda) และเคนตักกี้บลูกราสส์ (Kentucky Bluegrass) กลายเป็นสายพันธุ์หญ้าที่มาแทนที่หญ้าท้องถิ่น และยังปลูกกันอยู่ในอเมริกาจนถึงปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมทีนั้น สนามหญ้าก็เป็นเครื่องแสดงฐานะและอำนาจของผู้มีอันจะกินเหมือนกับในอังกฤษ แล้วจึงขยายตัวไปยังชนชั้นกลาง เมื่ออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเมล็ดหญ้าเริ่มแพร่หลายและมีราคาถูกลง ลองนึกถึงฉากจาก The Great Gatsby แล้วตัดภาพมาอีกทีเป็นสนามหน้าบ้านในเรื่อง Pleasantville ประมาณนั้นเลยค่ะ

ปัญหามันมาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อสนามหญ้าเริ่มแพร่หลายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในอเมริกา เพราะการที่หญ้านำเข้าเติบโตได้ดีในแถบนิวอิงแลนด์ก็เพราะมันมีสภาพอากาศใกล้เคียงกับในอังกฤษ แต่พอย้ายพื้นที่ปลูกไปทางใต้หรือฝั่งตะวันตก ปริมาณน้ำฝนและความสมบูรณ์ของดินไม่เพียงพอ คือเรียกว่าไม่ได้เหมาะที่จะปลูกหญ้าเหล่านี้หรอก แต่ธรรมชาติของมนุษย์ขี้เหม็นอย่างเรานั้นชอบที่จะฝืนธรรมชาติ จึงพยายามต่อสู้ด้วยการรดน้ำและใส่ปุ๋ยอย่างหนัก ตามมาด้วยยาฆ่าแมลงอีกสารพัด เพียงเพื่องจะทำให้หญ้าพันธุ์ต่างถิ่นเขียวสวยและดูแข็งแรงแบบปลอมๆ ในดินแดนที่ไม่เหมาะสมกับมัน แล้วก็หลับหูหลับตาทำกันแบบนี้มาร่วมร้อยปี จนถึงจุดที่ธรรมชาติบอกว่าไม่ไหวแล้วโว้ย ปุ๋ยไนโตรเจนที่ถล่มใส่ดินมันไม่ได้ถูกหญ้าเอาไปใช้เท่าไหร่ ถึงได้ตกค้างทำให้ดินเป็นกรดอย่างหนัก แถมไหลซึมลงไปยังแหล่งน้ำ ทำให้สาหร่ายเจริญผิดปกติและสร้างสภาวะ dead zone ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีออกซิเจน จึงไม่มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้

หญ้า

สนามหญ้า

และแล้วก็มาถึงทางออกค่ะ… นั่นก็คือ Eco-Lawn (โอ้โห เกือบลืมไปเลย)

อธิบายง่ายๆ ก็คือ คุณยังมีสนามได้ แต่กรุณาใช้หญ้าพันธุ์ที่โตช้า ทนแล้ง ทนโรค และชนะเลิศที่สุดคือ ต้องมีเมล็ดพืชตระกูลถั่วคละเคล้าอยู่ด้วยเพื่อเพิ่มปุ๋ยธรรมชาติให้กับดิน ถ้าย้อนกลับไปดูสนามหญ้ายุคแรกๆ นั้นจะเห็นว่ามีชื่อของโคลเวอร์ควบคู่อยู่ด้วยเสมอ แต่อยู่ดีๆ ใครก็ไม่รู้เกิดแหนงหน่ายเจ้าโคลเวอร์ใบแฉกกับดอกจิ๋วๆ ของมัน จนเดี๋ยวนี้ลดลำดับชั้นจนกลายเป็นวัชพืชที่ไม่พึงปรารถนาไปเสียนี่ แต่หารู้ไม่ว่าโคลเวอร์นี่ล่ะของดีเลยค่ะ เพราะมันเป็นพืชตระกูลถั่ว ที่มีความสามารถในการดึงเอาไนโตรเจนในอากาศมาตรึงไว้ที่ปมราก แล้วเมื่อถูกตัดใบ รากก็จะตายและคายเอาไนโตรเจนที่สะสมไว้กลายเป็นอาหารให้พืชที่ขึ้นอยู่ข้างๆ ซึ่งก็คือหญ้า เป็นวงจรอาหารที่ไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีเลย เดี๋ยวนี้จึงมีการตื่นตัวนำโคลเวอร์กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของเมล็ดหญ้าสนาม ส่วนพันธุ์หญ้าที่หิวกระหายน้ำและอาหารมากๆ ก็ถูกแทนที่ด้วย Fescue ซึ่งเป็นหญ้าที่ต้องการน้ำน้อย โตช้า (เท่ากับไม่ต้องตัดบ่อย เพราะรู้ไหมคะว่าการตัดหญ้าด้วยเครื่องตัดหญ้าที่ใช้น้ำมันเป็นเวลา 1 ชั่วโมงนั้น ปล่อยควันพิษออกมาเท่ากับรถยนต์ถึง 11 คัน!) ข้อดีอีกอย่างคือสนามแบบนี้จะไม่ด่างหากถูกสุนัขมาฉี่ใส่ และโคลเวอร์เป็นอาหารที่ดีมากของไก่ …สุดท้ายก็ตอบโจทย์เสียทีว่าทำไมสนามที่ว่านี้จึงฮิตมากในหมู่ Urban Homestead ทั้งหลาย

สนามหญ้า สนามหญ้า

ทีนี้มาพูดกันถึงเมืองไทยบ้าง ความนิยมสนามหญ้าของเราก็มีประวัติความเป็นมาและพัฒนาการไม่ต่างจากยุโรปและอเมริกาเท่าไหร่นัก สนามหญ้ายุคแรกๆ ของเมืองไทยนั้นเริ่มขึ้นในบ้านเจ้านายและขุนนาง แล้วจึงค่อยๆ ลุกลาม จนปัจจุบันกลายมาเป็นโจทย์บังคับของบ้านเดี่ยวและบ้านจัดสรรแทบทุกแห่ง แต่ก่อนที่เราจะถอดรองเท้าลงไปเหยียบย่ำหญ้าเขียวๆ นุ่มๆ เหล่านี้ เราเคยตั้งคำถามบ้างหรือไม่คะว่ามันปลอดภัยแค่ไหน หญ้าแผ่นๆ จากนาหญ้า ที่เขาเอามาปูนั้นส่วนใหญ่ (หรือผู้เขียนขอเดาว่าเกือบทั้งหมด) ผ่านการใส่ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมาอย่างหนัก เมื่อมาถึงเราแล้วจึงเขียวสวยอยู่ไม่นานก็เริ่มเหลือง เพราะไม่มีทางที่เราจะให้น้ำให้ปุ๋ยได้เข้มข้นขนาดนั้น มีสนามแล้วก็หมายถึงต้องคอยรดน้ำ ต้องคอยตัดอยู่เสมอ ถ้าใจไม่แข็งพอและไม่มีเวลาทำปุ๋ยยูเรียธรรมชาติก็ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีเพื่อรักษาให้หญ้าเขียวสวยต่อไป ผู้เขียนคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่เราหันมาทบทวนว่ามีทางเลือกอื่นไหมที่ไม่ใช่หญ้า และเป็น Eco-Lawn แบบไทยๆ อย่างเช่นปลูกถั่วบราซิลก็ช่วยบำรุงดิน แถมดอกสวย หญ้าเกล็ดหอยหรือใบต่างเหรียญที่เป็นพืชพื้นเมืองของเราไม่ต้องการแดดมาก ทนการเหยียบย่ำ ใบสวย มีดอกสีขาวเล็กๆ น่ารักด้วย พืชเหล่านี้เป็นต้นเตี้ยเรี่ยดินจึงแทบไม่ต้องคอยตัด ไม่ต้องการน้ำมากด้วยค่ะ

ถั่วบราซิล ใบต่างเหรียญ หญ้าเกล็ดหอย

ที่พูดมาส่วนใหญ่ผู้เขียนเน้นไปที่สนามหญ้าตามบ้าน แต่จริงๆ แล้วที่น่าเป็นห่วงมากๆ อีกอย่างก็คือสนามหญ้าตามสวนสาธารณะ ตามโรงเรียน ตามสนามกีฬา นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่เล่ามาแล้ว เราเคยถามกันบ้างหรือเปล่าว่าสนามหญ้าเหล่านั้นใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงมากแค่ไหน ปลอดภัยหรือเปล่าที่จะให้ลูกหลานหรือตัวเราเองลงไปสัมผัสใกล้ชิด อย่าหาว่าผู้เขียนโลกไม่สวยและคิดมากเกินไปเลยนะคะ เป็นไปได้ไหมว่าที่ผ่านมาเราคิดและตั้งคำถามกับเรื่องนี้น้อยเกินไป และถึงเวลาที่เราควรจะเรียกร้องให้มีการควบคุมการใช้สารเคมีในสนามหญ้า ผักอินทรีย์เมื่อมีคนต้องการมากๆ ตลาดก็เกิดขึ้นได้ ทำไมหญ้าแผ่นอินทรีย์จะเป็นไปไม่ได้ ผู้เขียนเชื่ออย่างนั้นนะคะ

ที่แน่ๆ คือผู้เขียนกำลังจะเริ่มโละสนามที่บ้าน แล้วปรับมันให้เป็น Eco-Lawn เตรียมต้อนรับแม่ไก่ที่จะมาถึงในไม่ช้า การแก้ปัญหาใหญ่ๆ ไม่ต้องรอช้า เพราะอย่างน้อยมันก็เริ่มได้ที่ตัวเราเอง จริงไหมคะ

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์