เวลาเลือกซื้อผักผลไม้ คุณเลือกจากอะไร

คนส่วนใหญ่มักตอบว่าเลือกลูกหรือกำที่สวย ไม่แหว่ง ไม่เบี้ยว ไม่มีรอย

นั่นเป็นเหตุผลให้เฉพาะที่อเมริกา มีผักผลไม้ที่ต้องถูกทิ้งไปเพราะไม่เข้าข่ายที่ว่ามา ปีละ 3 พันล้านกิโลกรัม… ค่ะ เขียนไม่ผิด… 3 พันล้านกิโลกรัม! ลองนึกสิคะว่าถ้ารวมกันทั้งโลกนี้จะต้องคูณไปอีกกี่เท่า

Tristram Stuart

ผักผลไม้เหล่านี้ เกินกว่าครึ่งถูกทิ้งตั้งแต่ที่ฟาร์ม ส่วนที่เหลือถูกคัดทิ้งที่ซูเปอร์มาร์เก็ต มันน่าเจ็บปวดและน่าเสียดายแค่ไหน ที่แรงงานและทรัพยากรมากมายถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์ เพียงเพราะความต้องการ (หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์) ของผู้บริโภคที่อยากได้แต่ของไม่มีตำหนิ

จะว่าไปมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกนะคะ เราจ่ายเงินทั้งทีก็ต้องอยากได้ของดีที่สุดแลกมา แล้วสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตนั้นจะตั้งข้อกังขากับอะไรที่หน้าตาไม่ปกติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาพืชผลที่ถูกทิ้งจำนวนมหาศาล เห็นตัวเลขแล้วน่าใจหายจริงๆ เลยใช่ไหมคะ คนส่วนใหญ่ได้ยินแล้วก็คงจะเศร้าใจ แต่ไม่รู้จะช่วยยังไงดี เวลาไปจ่ายกับข้าวแล้วจะให้เลือกแต่ผักผลไม้บูดๆ เบี้ยวๆ ก็ไม่ไหวนะคะ ครั้นจะให้ถ่อไปถึงไร่ถึงสวนช่วยซื้อผักผลไม้ที่พ่อค้าคนกลางเขาไม่รับซื้อ อันนี้ก็พูดเป็นเล่นไปอีก สรุปก็เลยใช้ชีวิตต่อไปแบบถอนใจเป็นครั้งคราว

แต่ เบ็น ไซม่อน (Ben Simon) ไม่คิดอย่างนั้นค่ะ เขาเห็นปัญหา และลงมือแก้ไขมัน ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่แมรีแลนด์เมื่อปี 2011 ตอนนั้นเบ็นกับเพื่อนๆ พบว่ามีอาหารเหลือทิ้งจากโรงอาหารเป็นจำนวนมากทุกๆ คืน และอาหารจำนวนมากยังอยู่ในสภาพที่กินได้ พวกเขาจึงตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อ Food Recovery Network (FRN) เพื่อเก็บอาหารเหล่านั้นส่งไปบริจาคให้กับเครือข่ายองค์กรที่ช่วยเหลือคนอดอยากหิวโหย

แนวคิดและการดำเนินงานของ FRN ได้รับความสนใจอย่างมาก มีนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆ รวมทั้งนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ (แม้แต่โรงเรียนสอนทำอาหาร) ขอเข้าร่วมโครงการกันอย่างคึกคัก จนตอนนี้ FRN กลายเป็นเครือข่ายนักเรียนนักศึกษากู้อาหารที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา เพียง 5 ปีกว่า พวกเขาเก็บอาหารไปแจกจ่ายให้คนอิ่มท้องได้เกือบล้านกิโลกรัม แทนที่จะต้องถูกทิ้งไปเฉยๆ โดยไม่มีใครทำอะไรเลย (ใครที่สนใจอยากเริ่มต้นโครงการแบบนี้ในเมืองไทย ลองเข้าไปดูรูปแบบการดำเนินงานหรืออีเมลขอคำแนะนำจากเขาได้นะคะ)

เมื่อเบ็นเรียนจบ เขากับเพื่อนอีกคนชื่อเบ็นเหมือนกัน (แต่นามสกุลเชสเลอร์ – Chesler) เริ่มคิดการใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ทำอย่างไรจึงจะขยายแนวความคิดนี้ออกไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือปัญหาผลิตผลเหลือทิ้งที่ทับถมอยู่ในกองขยะ โชคดีที่สองเบ็นได้พบกับรอน คลาร์ก (Ron Clark) รอนมีประสบการณ์หลายสิบปีในการทำงานกับ Food Bank (สถานสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ยากไร้) ในแคลิฟอร์เนีย และเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ Farm to Family ที่รับเอาผลิตผลขี้เหร่จากฟาร์มมาบริจาคให้กับคนไม่มีจะกิน รอนรู้ดีว่าถึงแม้เขากำลังสร้างมหากุศล แต่ก็ยังมีผลผลิตบุญน้อยถูกทิ้งอีกมากมายเหลือคณานับ ทั้งสามมีความเชื่อเดียวกันว่าทางเดียวที่จะช่วยกันแก้ปัญหาได้ คือขยายความรับผิดชอบไปยังผู้บริโภค

ปี 2015 ธุรกิจส่งผักผลไม้ไม่สมประกอบในราคาเป็นกันเองที่ชื่อ Imperfect Produce ก็ถือกำเนิดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก

Imperfect Produce

เพียงแค่สองปีกว่า พวกเขากู้ผักผลไม้คืนมาได้ถึงสี่ล้านกว่ากิโลกรัม ลดปริมาณน้ำ (ที่ต้องสูญเปล่าไปกับการเพาะปลูกแล้วไม่ได้ขาย) ได้ถึงเกือบสองพันล้านลิตร ช่วยให้คนประหยัดค่าจ่ายตลาดไปได้ถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท และลดประมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเกิดขึ้นจากพืชผลเน่าเสียไปได้ถึงสามสิบเอ็ดล้านปอนด์ จากที่ตอนแรกส่งแค่ในแคลิฟอร์เนีย ตอนนี้ Imperfect Produce ขยายฐานลูกค้าและเกษตรกรไปยังพอร์ตแลนด์ ซีแอตเทิล และชิคาโก ข่าวว่าเมืองอื่นๆ อีกหลายเมืองกำลังจะทยอยตามมาอย่างรวดเร็ว

ฟังดูมีความหวังมากเลยใช่ไหมคะ ดีจังที่ธุรกิจเพื่อสังคมแบบนี้เติบโตราวกับไฟลามทุ่ง แสดงว่าผู้บริโภคมีความต้องการและความพร้อมที่จะร่วมมือกัน ถ้ามีคนมาบริหารจัดการอย่างเข้าใจทุกฝ่าย และที่สำคัญที่สุดคือ มีโมเดลทางการตลาดที่ทำให้ง่ายและดีต่อชีวิตของทุกคน

บ้านของผู้เขียนเพิ่งเริ่มรับกล่องผลิตผลจาก Imperfect Produce ได้ไม่นาน แต่ก็ตกหลุมรักเทใจให้ไปเรียบร้อย เพราะถึงแม้ดูจากผู้ก่อตั้งทั้งสามแล้วโหงวเฮ้งจะออกเด็กค่ายสายเนิร์ดแน่นอน แต่หน้าตาและการสื่อสารของธุรกิจกลับทันสมัยน่ารักน่าเอ็นดู

Imperfect Produce

วิธีการใช้งานก็แสนสะดวก เข้าไปลงทะเบียนไม่กี่บรรทัด จากนั้นเลือกว่าจะให้มาส่งทุกอาทิตย์หรืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ก็ได้ แล้วใกล้ๆ วันมาส่ง ก็สามารถเข้าไปเลือกได้ว่าจะเอาไม่เอาผักอะไรบ้างในกล่องนั้น พอถึงวันส่งจริง ก็มีข้อความมาบอกในมือถือด้วยว่าคนขับรถกำลังไปแล้วนะจ๊ะ ถึงขั้น track ได้ด้วยว่าอยู่ตรงไหนอีกกี่นาทีจะมาถึง ส่งเสร็จค่อยตัดบัตรเครดิต ช่วงไหนไม่อยู่จะงดรับติดต่อกันก็ได้หลายสัปดาห์ บอกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้

ในกล่องที่มาส่ง มีโปสการ์ดให้ความรู้เกี่ยวกับพนักงาน ผลผลิต พร้อมทั้งมีสูตรอาหารจากผักผลไม้แปลกๆ ด้วย ในเว็บไซต์เองก็มีบล็อกบอกเกร็ดน่ารู้สำหรับคนรักโลกและชอบทำอาหาร ในอินสตาแกรมก็ชักชวนให้ลูกค้าส่งรูปผักหน้าตาตลกๆ ที่ตัวเองได้รับมาให้คนอื่นช่วยกันขำ แต่ทั้งหมดไม่มากไปจนตามอ่านตามดูไม่ทัน และการปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ก็ดูออกว่าคิดมาแล้วว่าคนมีพฤติกรรมและความต้องการอย่างไร

Imperfect Produce Imperfect Produce Imperfect Produce

ผู้เขียนเคยคิดจะสมัครสมาชิก CSA (Community Supportive Agriculture) ซึ่งเป็นการเข้าไปซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง แต่เราต้องจ่ายเงินล่วงหน้าไปก่อนเลยสำหรับทั้งฤดูกาลนั้น ซึ่งแพงพอสมควร (ฟาร์มผักอินทรีย์ที่มีจุดรับผลิตผลที่ใกล้บ้านผู้เขียนที่สุด คิดราคาฤดูละสามหมื่นกว่าบาท คือเฉลี่ยเดือนละหมื่น) เพื่อเกษตรกรจะได้เอาเงินไปบริหารจัดการฟาร์ม พอถึงเวลา เราก็ไปรับผลผลิตตามจุดที่กำหนด ซึ่งเลือกไม่ได้ว่าจะได้อะไรบ้าง เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรจะปลูกอะไรและมีอะไรพร้อมเก็บเกี่ยวในช่วงนั้นบ้าง ทำให้เพื่อนหลายคนของผู้เขียนที่บอกรับเป็นสมาชิกแบบนี้มาบ่นให้ฟังอยู่เนืองๆ ว่าได้ผักที่บ้านเขาไม่กินอยู่บ่อยๆ

การลงขันก็เท่ากับเราต้องร่วมกันรับผิดชอบความเสี่ยงด้วย หากมีภัยธรรมชาติหรือความผิดพลาดทำให้ฤดูกาลเพาะปลูกนั้นล้มเหลวก็แปลว่าจะไม่ได้ผลผลิต ผู้เขียนศึกษารายละเอียดอยู่พักใหญ่ แล้วก็ตัดสินใจว่าเรายังไม่พร้อมจ่ายเงินเดือนละหมื่นกว่าบาทเป็นค่าผักผลไม้ ถึงแม้ใจจะอยากช่วยสนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์และรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมลักษณะนี้ก็ตาม

Imperfect Produce Imperfect Produce

ครั้นพอได้ยินถึงเรื่อง Imperfect Produce ผู้เขียนก็พบว่านี่มันเป็นสิ่งที่เราแสวงหามานาน เราอยากกินผักผลไม้ปลอดสารพิษในราคาไม่แพง เราอยากสนับสนุนเกษตรกร และเราอยากสนับสนุนธุรกิจที่คิดดีทำดี

เหตุผลที่ผักผลไม้จาก Imperfect Produce ราคาถูกกว่าตามซูเปอร์มาร์เก็ตเกือบครึ่ง (หรือเกินครึ่ง) ก็เพราะเขาไปรับผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง และผลผลิตเหล่านี้ ยังไงก็ต้องถูกทิ้ง ดังนั้น ต้นทุนจึงต่ำมาก คนซื้อก็เลยซื้อได้ในราคาถูก ถามว่าหน้าตาของที่ได้แย่มากไหม ตอบได้เลยว่าไม่ บางอย่างนี่ผู้เขียนยังต้องพลิกไปพลิกมาว่ามันผิดปกติตรงไหน เพราะดูไปก็เหมือนของที่ขายตามร้านค้า บางอย่างอาจจะผิวมีตำหนิ ลูกใหญ่ไป เบี้ยวนิดเบี้ยวหน่อย แต่มันก็เป็นความจริงของธรรมชาติไม่ใช่เหรอคะ เราเองต่างหากที่ถูกหล่อหลอมมาให้เชื่อว่าผักผลไม้ต้องมีขนาดและหน้าตาสวยงามพิมพ์นิยมเดียวกันหมด พอได้เห็นอะไรแบบนี้ผู้เขียนกลับยิ่งรู้สึกเห็นคุณค่าและความงามของพืชผักเหล่านี้มากขึ้นเสียอีก

พูดถึงเรื่องนี้แล้วก็เลยทำให้นึกถึงสารคดีดูสนุกสร้างความหวังเรื่อง Wasted! The Story of Food Waste

สารคดีซึ่งเล่าถึงภาพรวมปัญหาอาหารถูกทิ้งของทั้งโลกในหลากหลายแง่มุม และความพยายามของหัวเรี่ยวหัวแรงหนึ่งหยิบมือจากทั่วโลก ที่กำลังช่วยกันคลี่คลายและสลายปัญหานี้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นแดน บาร์เบอร์ (Dan Barber) เชฟชื่อดังแห่ง Blue Hill Farm ที่หยิบเอาส่วนผสมที่คนทั่วไปโยนทิ้ง แล้วสร้างสรรค์ให้มันกลายเป็นอาหารสุดหรูแสนอร่อยสำหรับผู้มีอันจะกิน หรือซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อ Daily Table ที่รับพืชผลและผลิตภัณฑ์อาหารบริจาคจากเครือข่ายเกษตรกร ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และผู้ผลิตเจ้าต่างๆ แล้วเอามาขายให้คนยากคนจนในราคาถูก มีส่วนขายอาหารปรุงสำเร็จที่ดีต่อสุขภาพและราคาใกล้เคียงกับฟาสต์ฟู้ด ทำให้คนรายได้น้อยมีทางเลือกและโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่ดีมากขึ้น

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือวงการอาหารสัตว์ องค์การสหประชาชาติมีรายงานออกมาว่า ถ้าเราให้หมูกินอาหารที่เหลือจากมนุษย์แทนที่จะกินอาหารสัตว์ซึ่งทำจากข้าวโพดและถั่วเหลือง เราจะมีอาหารพอที่จะเลี้ยงประชากรโลกได้เพิ่มถึง 3 พันล้านคนต่อปี! ฟังดูก็เป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อย เพราะแต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น มนุษย์เราเองนี่ละที่หาเรื่องเลี้ยงหมูก็เพื่อจะให้กินเศษอาหาร แล้วจะได้กลับมาเป็นอาหารให้มนุษย์อีกที แต่เวลาผ่านไป ระบบการเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม ทำให้หมูเหล่านี้กลับมาแย่งอาหารของมนุษย์

ที่ญี่ปุ่นมีทางออกสำหรับเรื่องนี้ค่ะ เพราะเกษตรกรเริ่มใช้อาหารจากบริษัท Agri Gaia System ที่ก่อตั้งขึ้นโดยคุณฮิโรยูกิ ฮาโกอุ (Hirouki Hakou) ซึ่งเคยเป็นคนขับรถเก็บขยะมาก่อน แต่วันหนึ่งเขารู้สึกรับไม่ได้อีกต่อไปกับการขนเศษอาหารจำนวนมากมายไปเททิ้งทุกวัน เขาจึงตั้งโรงงานรับเอาอาหารเหลือจากแหล่งต่างๆ มาแปรรูปให้กลายเป็นอาหารสัตว์ จนตอนนี้ AGS กลายเป็นโรงงานอาหารสัตว์แปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และมีกำลังการผลิตถึงวันละ 250 ตัน ฟังแล้วอยากจะกราบเสียตรงนี้เลย

Imperfect Produce Imperfect Produce Imperfect Produce

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือการนำกากอาหารเหลือทิ้งจากโรงงานไปใช้สร้างพลังงาน ตัวอย่างเช่นโรงงานผลิตโยเกิร์ต Yoplait ในรัฐเทนเนสซี ที่มีปัญหาหางนมเหลือเป็นจำนวนมากจากการผลิต Greek Yogurt (ปกตินม 1 ลิตรจะผลิตโยเกิร์ตได้ 1 ลิตร แต่โยเกิร์ตแบบกรีกต้องใช้นมถึง 3 ลิตรเพื่อผลิตโยเกิร์ตที่ข้นจนเกือบเป็นคัสตาร์ดได้ 1 ลิตร) ก่อนหน้านี้โรงงานต้องขนเอาหางนมเหล่านี้ไปฝังกลบ เพราะมันมีกากตะกอนอินทรีย์มากเกินกว่าจะทิ้งลงระบบบำบัดปกติได้ พวกเขาแก้ปัญหาด้วยการสร้างแทงก์ขนาดใหญ่ยักษ์ แล้วเติมหางนมเหล่านี้ลงไปเป็นอาหารให้กับแบคทีเรียที่อยู่ในแทงก์ แบคทีเรียจะทำการย่อยโปรตีนและน้ำตาล ทำให้กลายเป็นน้ำสะอาด และปล่อยก๊าซมีเทนออกมาเป็นผลพลอยได้ เนื่องจากโรงงานเป็นระบบปิด จึงสามารถส่งก๊าซไปใช้เป็นพลังงานหมุนเวียน ทำให้ลดค่าไฟฟ้าไปได้ถึง 10% คิดเป็นมูลค่าปีละเกือบร้อยล้านบาททีเดียว น่าดีใจที่ในเมืองไทยเราก็มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากสร้างก๊าซชีวภาพจากของเสียในโรงงาน และกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็ส่งเสริมเรื่องนี้ด้วย

พูดกันถึงภาครัฐ ก็ต้องเล่าถึงความใส่ใจของรัฐบาลหลายประเทศ ที่มองเห็นความรุนแรงของปัญหาอาหารเหลือทิ้ง และปรากฏการณ์เรือนกระจกที่จะสาหัสขึ้นหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป จนถึงกับออกกฎหมายควบคุมการทิ้งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และอิตาลี โดยฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งหรือทำลายอาหารที่ยังกินได้หรือเพียงใกล้วันหมดอายุ แต่ต้องบริจาคให้กับองค์กรช่วยเหลือผู้อดยากหิวโหยแทน ไม่อย่างนั้นจะถูกปรับมหาศาล ตอนนี้เมืองน้ำหอมกำลังล็อบบี้ให้ประเทศอื่นใน EU ออกกฎหมายลักษณะเดียวกันด้วย ส่วนรัฐบาลเกาหลีใต้สนุกกว่า คือมีถังขยะแยกสำหรับทิ้งอาหารเหลือ ก่อนจะทิ้งได้ต้องสแกนบัตรประชาชนก่อน แล้วสิ้นเดือน ประชาชนก็ต้องจ่ายค่าอาหารที่ตัวเองทิ้งตามน้ำหนัก ผลปรากฏว่าตอนนี้เกาหลีใต้แก้ปัญหาอาหารถูกส่งไปกองขยะได้เกือบหมดประเทศ! นี่… มันต้องเอาจริงกันอย่างนี้

ทำไมการทิ้งอาหารถึงได้เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ก็เพราะว่าอาหารที่เราทิ้งลงถัง แล้วถูกเก็บใส่รถขยะ เอาไปเทรวมกันที่กองขยะปล่อยให้เน่าเหม็นนั้น เป็นตัวการที่สำคัญของการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่ออาหารย่อยสลาย และไม่มีก๊าซออกซิเจนเพราะถูกทับถมรวมกันเป็นกองพะเนิน มันจะปล่อยก๊าซมีเทนออกสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วไอ้เจ้าก๊าซมีเทนนี้เอง ที่สร้างปรากฏการณ์เรือนกระจกได้หนักหนาสาหัสกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า! เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเสียด้วย ลองเดาดูเล่นๆ นะคะว่าผักกาดหอม 1 หัวในกองขยะ ใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะย่อยสลายได้หมด… 2 สัปดาห์? 2 เดือน?… ผิดหมดค่ะ… คำตอบคือ 25 ปี!! ผู้เขียนได้ยินอย่างนี้แล้วคิดมากขึ้นเยอะเลยค่ะก่อนจะทิ้งอะไร

แล้วทีนี้จะทำยังไงกับชีวิตตัวเองดี… อย่าเพิ่งเครียดค่ะ ผู้เขียนมีคำแนะนำง่ายๆ 11 ข้อที่จะช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งในครัวเรือนมาฝากด้วยค่ะ

  1. อย่าซื้อของเยอะเกินความจำเป็น ถ้าบ้านอยู่ใกล้ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ให้ซื้อครั้งละน้อยๆ แล้วใช้ให้หมด ก่อนไปซื้อของ วางแผนแต่ละมื้ออาหาร จะได้รู้ว่าต้องซื้ออะไรบ้าง แล้วพอไปที่ร้านก็ใจแข็ง อย่าซื้อโน่นนี่เพราะรู้สึกว่ามันน่ากินไปหมด
  2. อย่าตักอาหารเยอะเกินไปให้สมาชิกในบ้านหรือแขกที่มากินข้าว ใช้วิธีตักปริมาณน้อย แล้วค่อยเติมเอาจะดีกว่า รู้ไหมคะว่าเราถูกวัฒนธรรมร้านอาหารทำให้รู้สึกว่ากับข้าวต้องจานใหญ่ๆ ถึงจะดูน่ากิน อยู่บ้านใช้จานเล็กๆ ก็อาจจะช่วยให้กินน้อยลงได้ ดีต่อสุขภาพและไม่มีอาหารเหลือด้วย
  3. ถ้ามีอาหารเหลือ ใส่กล่องเก็บเข้าตู้เย็น แปะวันที่ไว้ด้วยก็จะดี แล้วสร้างนิสัยในการกินอาหารเหลือผสมไปกับอาหารใหม่ ตู้เย็นจะได้ไม่อัดแน่นไปด้วยของที่กินไม่หมด
  4. เก็บอาหารให้ถูก แต่ละอย่างจะได้เสียช้าลง ผักผลไม้บางอย่างไม่ควรวางไว้ใกล้ผักผลไม้อื่นเพราะมันปล่อยก๊าซที่ทำให้ผลไม้อื่นสุกหรือเสียง่าย หรือผักจำนวนมาก ตัดก้านแล้วแช่น้ำ อยู่ได้นานกว่าแช่ตู้เย็นเสียอีก ตำแหน่งการวางของในตู้เย็นก็ช่วยยืดอายุอาหารและประหยัดพลังงานด้วยค่ะ
  5. จัดตู้เย็นให้เป็นระเบียบ เพื่อให้มองเห็นอาหารทุกอย่าง จะได้คอยหยิบอะไรที่เสียง่ายหรือใกล้หมดอายุมาใช้ได้ทัน
  6. อย่ายึดวันหมดอายุหรือ sell-by date เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย วันที่เหล่านี้เป็นตัวกำหนดคุณภาพของอาหาร ไม่ใช่ว่าถึงวันนั้นแล้วจะกินไม่ได้จริงๆ ให้ใช้วิจารณญาณจากดูด้วยตา ดมกลิ่น หรือลองชิมดู ก่อนจะตัดสินใจโยนทิ้งเพียงเพราะวันที่บนบรรจุภัณฑ์
  7. จดบันทึกสิ่งที่ทิ้ง เขียนราคาลงไปด้วยยิ่งดี (เห็นกันจะจะว่าเสียเงินไปเท่าไหร่นี่ช่วยได้มากเลยค่ะ) แล้วก่อนจะออกไปซื้อของ เปิดตู้เย็นและชั้นเก็บอาหารดูก่อนว่ามีอะไรอยู่แล้วบ้าง จะได้ไม่ซื้อของอย่างเดียวกันมาซ้ำๆ ทำให้ใช้ไม่หมด
  8. บริจาคอาหารให้กับคนที่หิว ลองหาข้อมูลดูว่าใกล้ๆ บ้านมีใครรับบริจาคอาหารบ้าง หรือถ้าไม่มี เราตั้งโต๊ะบริจาคอาหารสำหรับชุมชนยากจนที่อยู่ใกล้ๆ ได้ไหม เราจะได้เอาอาหารดีๆ ที่คิดว่ากินไม่หมดแน่ๆ ไปบริจาค หรือถ้าเป็นอาหารเหลือทิ้ง มีโรงเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ใกล้ๆ ที่รับบริจาคอาหารไหม
  9. ผักผลไม้บางอย่างต้องซื้อทีละกำใหญ่ๆ กินยังไงก็ไม่หมด งั้นหัดดองผัก ทำผลไม้แช่อิ่มดีไหม จะได้มีอาหารเก็บไว้กินนานขึ้นอีก ไม่ต้องเสี่ยงกับสารกันบูดหรือขัณฑสกรด้วย หรือบางอย่างที่ใช้ทีละนิดเดียว เช่น พริก ใบกะเพรา ลองปลูกเองดีไหมจะได้ไม่ต้องซื้อเยอะๆ ให้เหลือทิ้ง หรือจะล้างแล้วเด็ดแช่ช่องแข็งก็ช่วยให้มีของใช้ได้นานขึ้น
  10. หาสูตรอาหารจากของที่เรามี หรือใช้แอพอย่าง Handpick ที่ช่วยคิดว่าของแบบนี้จะทำเป็นอาหารอะไรได้บ้าง นอกจากได้ทำอะไรใหม่ๆ แล้วยังได้ใช้ของที่มีอยู่ให้หมดด้วย
  11. ทำปุ๋ยจากเศษอาหาร อันนี้มีคนบอกว่าให้ใส่ไว้อันดับท้ายๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีเวลา สนใจ หรือมีที่พอจะทำปุ๋ย ถ้าทำได้ก็จะดี แต่ทางที่ดีให้ลดขยะจากอาหารเหลือก่อน จากนั้นหาทางบริจาค ส่งไปเป็นอาหารสัตว์ แปรรูปเป็นพลังงาน จากนั้นจึงจะมาคิดเรื่องทำปุ๋ย (บ้านผู้เขียนพยายามมาหลายรอบแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จเสียที เพราะสัดส่วนของสดกับของแห้งยังไม่ได้ที่)

Imperfect Produce

ไหนๆ ก็เล่ามายาวขนาดนี้แล้ว ขอเล่าถึงนักรณรงค์เรื่องการลดปริมาณอาหารเหลือที่สำคัญอีกคนหนึ่งของโลกค่ะ เขาเป็นหนุ่มอังกฤษรูปหล่อวัย 40 ชื่อ ทริสแทรม สจ๊วต (Tristram Stuart) ที่สนใจปัญหานี้มาตั้งแต่อายุ 15 จนตอนนี้เขียนหนังสือขายดีออกมา 2 เล่ม TED Talk ของเขาก็มีคนเข้ามาดูเป็นล้าน แถมยังเป็นผู้ก่อตั้งคราฟท์เบียร์ยี่ห้อ Toast Ale ที่เอาขนมปังชิ้นหัวท้าย ซึ่งถูกทิ้งมากมายมหาศาลจากการผลิตแซนด์วิช มาทำเป็นหัวเชื้อในการหมักเบียร์ (ทำให้นึกถึงคราฟต์โซดาไทยยี่ห้อ Castown ที่ทำจากเปลือกกาแฟเหลือทิ้ง น่ารักไม่แพ้กัน) ลองเข้าไปฟัง TED Talk ของทริสแทรม เปิดหูเปิดตากันดีไหมคะ

เราได้ยินกันบ่อยเหลือเกิน ว่าต่อไปโลกจะมีประชากรเกือบ 9 พันล้านคน เราต้องหาทางผลิตอาหารเพิ่มเพื่อเลี้ยงประชากรโลกจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ความจริงคือ นั่นไม่ใช่เรื่องจริงเลยค่ะ เพราะมีการคำนวณออกมาแล้วว่า ตอนนี้เราผลิตอาหารล้นเกินความต้องการของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (อเมริกาผลิตอาหารถึงเกือบ 4 เท่าของความต้องการที่แท้จริงของคนในประเทศ)

แต่ปัญหาที่แท้จริงคือเราทิ้งอาหารจำนวนมากมายมหาศาลซึ่งควรจะได้นำไปเลี้ยงผู้คนมากกว่า ว่ากันว่า 40% ของอาหารที่ผลิตขึ้นในอเมริกานั้นไม่ได้รับการบริโภค และถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับคำกล่าวของเชฟมาซซิโม่ บ็อตตูร่า (Massimo Bottura) ว่า “เราไม่จำเป็นต้องผลิตเพิ่ม เราเพียงแค่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม” ตัวอย่างมากมายที่เล่ามา รวมทั้งเรื่อง Imperfect Produce ที่ผู้เขียนใช้เปิดประเด็นนั้น แม้จะเป็นเพียงน้ำหยดหนึ่งในทะเลทราย แต่ถ้าน้ำนั้นหยดต่อเนื่องกันจากหลายๆ จุด ผู้เขียนเชื่อว่าสักวันมันต้องกลายเป็นบึงใหญ่ กลายเป็นโอเอซิสที่มีต้นไม้และสิ่งมีชีวิตเจริญงอกงาม

มาช่วยกันนะคะ ปัญหาระดับโลก เริ่มแก้ได้ด้วยคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราทุกคนค่ะ

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์