บอกก่อนเลยว่าผู้เขียนเคยเป็นคนกลัวแมลงทุกชนิด โดยเฉพาะต่อ แตน และผึ้ง (เพราะเคยโดนแตนต่อยมาแล้วหลายหน)

แล้วทำไมอยู่ดีๆ จะมาเล่าเรื่องผึ้ง แถมไม่เล่าเปล่า จะมาชวนกันเลี้ยงเสียด้วย!

เหตุเพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อนที่น่ารักคนหนึ่งมาแนะนำให้ผู้เขียนรู้จักกับผึ้งท้องถิ่นของอเมริกา ที่เรียกว่า Mason Bees แล้วบอกว่าเป็นผึ้งนิสัยดี ไม่ต่อย และช่วยผสมเกสรต้นไม้ได้ดีมาก โดยเฉพาะไม้ผล แถมยังเหมาะจะเลี้ยงไว้หน้าบ้านให้เด็กๆ ได้ตื่นเต้นและเรียนรู้ไปด้วย

สิ่งที่น่าสนใจและเป็นความรู้ใหม่เกี่ยวกับผึ้ง Mason (ขอตั้งชื่อให้แบบบ้านๆ ว่าผึ้งก่อสร้าง) นี้ก็คือมันไม่ได้ทำรังใหญ่ๆ มีราชินีผึ้งหรือผึ้งงาน และผลิตน้ำผึ้งเหมือนผึ้งที่เราเคยรู้จัก แต่มันจะทำรังในท่อหรือโพรงเล็กๆ อยู่ใกล้ๆ กัน อารมณ์เหมือนคนอยู่คอนโด ที่ห้องติดกันแต่ต่างคนต่างอยู่ (เป็นเหตุให้ผึ้งเหล่านี้มีอีกชื่อเรียกว่า Solitary Bees คือเป็นผึ้งสันโดษ ไม่มีราชินีให้ต้องปกป้อง มันจึงไม่ดุเหมือนผึ้งที่เราเคยรู้จัก หน้าตาออกจะกระเดียดไปทางแมลงวันเสียมากกว่าด้วยซ้ำ ตอนที่มันออกมาจากรังใหม่ๆ ลูกสาวผู้เขียนเอามือไปลูบเล่นยังได้เลย)

ชวนกันมาเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นที่ใจดี แสนขยัน และเป็นความหวังใหม่ของวงการอาหารโลก

ตอนแรกผู้เขียนก็ยังลังเลเพราะไม่เคยเลี้ยงมาก่อน ไม่รู้จะไปหารังและอุปกรณ์การเลี้ยงจากที่ไหน แต่ปรากฏว่าหาข้อมูลไปได้ไม่นาน ก็อ่านเจอว่าเพื่อนบ้านประกาศแจกรังให้ฟรีทางอินเทอร์เน็ต เลยไปรับเอามา 30 รัง (ถ้านึกไม่ออกให้คิดถึงรังไหม แต่ขนาดเล็กจิ๋วกว่ามากและเป็นสีน้ำตาล) วางไว้ที่โต๊ะกินข้าว ระหว่างนั้นก็ขับรถออกไปซื้อท่อกระดาษที่ร้านขายอุปกรณ์ทำสวน กะว่ากลับมาจะเลื่อยไม้ทำบ้านให้ ปรากฏว่าเปิดเข้าประตูบ้านมา คุณผึ้งแกกัดรังออกมาส่งเสียงหวี่ๆ กันอยู่ในซองกระดาษที่เพื่อนบ้านใส่มาให้ เล่นเอาผู้เขียนตกอกตกใจ รีบออกไปเลื่อยไม้ตอกตะปูประกอบเป็นบ้านหลังน้อยแทบไม่ทัน

ชวนกันมาเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นที่ใจดี แสนขยัน และเป็นความหวังใหม่ของวงการอาหารโลก ชวนกันมาเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นที่ใจดี แสนขยัน และเป็นความหวังใหม่ของวงการอาหารโลก

ชวนกันมาเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นที่ใจดี แสนขยัน และเป็นความหวังใหม่ของวงการอาหารโลก

ความมหัศจรรย์ที่ผู้เขียนและลูกสาววัย 4 ขวบได้ประสบในเวลาหลายเดือนหลังจากเอาบ้านและรังผึ้งน้อยนักก่อสร้างออกไปวางที่หน้าบ้านวันนั้น มีมากมายหลายเรื่องอย่างที่ผู้เขียนไม่เคยนึกมาก่อน เราได้เห็นตั้งแต่ผึ้งออกมาจากรังใหม่ๆ แล้วเริ่มต้นทำงาน มันบินเข้าบินออกจากบ้านวันละหลายสิบรอบอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อหาเกสรและน้ำหวานมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ใส่ไว้ด้านในสุดของท่อ วางไข่ แล้วไปหาดินมาก่อเป็นผนังบางๆ กั้นเป็นห้อง จากนั้นก็ปั้นก้อนเกสรก้อนใหม่ วางไข่ เอาดินปิดท่ออย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเต็ม (ทีนี้เข้าใจแล้วใช่ไหมคะว่าทำไมเขาถึงเรียกว่าผึ้งก่อสร้าง)

ความเก่งของผึ้งตัวเมียก็คือมันจะวางไข่ตัวผู้ไว้ด้านหน้าเพื่อป้องกันไข่ตัวเมียที่อยู่ลึกเข้าไปด้านในจากแมลงและสิ่งรบกวนอื่นๆ แล้วพอฤดูใบไม้ผลิปีต่อไป ผึ้งตัวผู้ก็จะกัดรังออกมาก่อนเพื่อเคลียร์สถานที่ พอตัวเมียออกมาผสมพันธุ์กัน ตัวผู้ก็ตายไป ส่วนตัวเมียเมื่อทำหน้าที่วางไข่เสร็จเรียบร้อยก็ตายตามไปเช่นกัน วงจรชีวิตตั้งแต่กัดรังออกมาจนตายนั้นจึงแสนสั้นเพียง 4 – 6 สัปดาห์เท่านั้นเอง

ถ้าใครอ่าน (หรืออ่านข้าม 55) มาถึงตรงนี้ อาจจะสงสัยว่าเล่ามาทำไมเสียยืดยาว แล้วตกลงผึ้งก่อสร้างนี่มันสำคัญหรือดีตรงไหน คำตอบก็คือ ด้วยความที่ผึ้งก่อสร้างนั้นใช้ทั้งตัวลงไปคลุกเกสร และไม่มีกลไกของร่างกายที่เก็บเกสรกลับรังได้เก่งเท่าผึ้งงานที่สร้างน้ำผึ้ง (ซึ่งลงตอมตรงไหนก็เก็บเกสรกลับรังเสียเรียบวุธ) ทำให้มันต้องไปแวะเก็บเกสรจากดอกไม้จำนวนมากมายมหาศาลกว่าหลายสิบเท่า แต่นั่นแปลว่าโอกาสที่มันจะช่วยผสมพันธุ์ให้ต้นไม้ติดลูกก็มากกว่าหลายสิบเท่าด้วย!  ว่ากันว่าผึ้งก่อสร้างเพียงตัวเดียว สามารถผสมเกสรได้มากเท่ากับผึ้งงานถึง 60 ตัว เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนกับผึ้งงานเป็นคนเก่งแต่รักษาผลประโยชน์เฉพาะพวกพ้องของตัวเอง

ส่วนผึ้งก่อสร้างทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่มีความอุตสาหะ และงานที่ทำก่อทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน สังคมเราควรจะส่งเสริมคนประเภทหลังมากกว่าจริงไหมคะ อีกเหตุผลที่สำคัญก็คือ ทุกวันนี้เราได้ข่าวเรื่องปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย (Colony Collapse Disorder) ที่ผึ้งงานหายไปอย่างฉับพลันเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ผึ้งหลายพันธุ์เข้าข่ายหรือสูญพันธ์ุไปแล้วก็มี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาผึ้งหรือแมลงที่มีความสำคัญต่อการผสมเกสรหรือการถ่ายเรณูมาทดแทน ไม่อย่างนั้นปรากฏการณ์ต่อไปที่จะเกิดขึ้นก็คือการขาดแคลนอาหารและราคาอาหารที่จะสูงขึ้นอย่างมหาศาล อันเนื่องมาจากพืชพันธุ์ต่างๆ ไม่ติดลูกหรือไม่ติดเมล็ด

ฟังดูอาจจะไกลตัวใช่ไหมคะ แต่ผู้เขียนบอกได้เลยว่าจริงๆ แล้วมันใกล้ตัวกว่าที่เราคิดมาก เพราะอาหารที่เรากินแทบทุกอย่างนั้นต้องอาศัยการผสมเกสรจากแมลงเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว พืชที่ให้น้ำมัน พืชที่เป็นอาหารสัตว์ ไล่เรื่อยไปจนถึงพืชที่นำมาทอเป็นเส้นใยอย่างฝ้ายและกัญชง ลองคิดดูสิคะว่ามันจะน่ากลัวแค่ไหนถ้าผลผลิตเหล่านี้ลดน้อยลงจริงๆ จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก

ชวนกันมาเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นที่ใจดี แสนขยัน และเป็นความหวังใหม่ของวงการอาหารโลก

ทุกวันนี้สวนและไร่ขนาดใหญ่ในอเมริกานั้นใช้บริการของคนเลี้ยงผึ้งน้ำหวาน (Honeybee) ที่จะขนรังใส่รถบรรทุกขนาดยักษ์พาผึ้งมาผสมเกสรในช่วงที่พืชออกดอก แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จำนวนผึ้งได้ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง เพราะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นในแปลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผึ้งด้วย การขนรังผึ้งย้ายไปไร่แล้วไร่เล่าเองก็ทำให้ผึ้งเกิดความเครียด แถมไม่กี่ปีก่อน รถบรรทุกที่ขนผึ้งเกิดอุบัติเหตุ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอเมริกา ทำให้เสียประชากรผึ้งไปหลายสิบล้านตัว! เรียกว่ามีวิกฤตขนาดหนักที่คนเริ่มต้องหันมาสนใจ และหาทางทำอะไรคนละไม้คนละมือเพื่อช่วยกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

และนี่เองเป็นที่มาของความตื่นตัวเรื่องการหาผึ้งพื้นเมืองที่เลี้ยงได้ง่ายกว่า และมีประสิทธิภาพในการผสมเกสรมากกว่าผึ้งน้ำหวาน (การวิจัยรายงานว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการผสมเกสรของผึ้งนั้นมีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากน้ำผึ้งและผลผลิตจากผึ้งอื่นๆ มาก) ผึ้งก่อสร้างนั้นเป็นผึ้งในตระกูล Osmia ซึ่งเป็นผึ้งพื้นเมืองของอเมริกามาช้านาน และผ่านวิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับสภาพอากาศและต้นไม้ที่เติบโตอยู่ในภูมิภาคนี้ แต่ก็ถูกคุกคามจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร และการรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยจากการขยายตัวของเมือง ทำให้ต้องได้รับความช่วยเหลือจากมนุษย์ที่ไปรุกรานอย่างเราเช่นกัน

การสร้างบ้านและดูแลผึ้งก่อสร้างอย่างที่ผู้เขียนเพิ่งเริ่มทำนี้ ถือว่าเป็นวิธีง่ายๆ แต่ช่วยเพิ่มประชากรผึ้งท้องถิ่นให้มากขึ้นได้หลายเท่า (จากแค่ 30 รังที่ไปรับมา ผ่านไปไม่กี่เดือน ผู้เขียนเพิ่งแกะท่อกระดาษออกมาล้างทำความสะอาดรัง และเก็บเข้าตู้เย็น* นับจำนวนรังใหม่ได้เกือบ 150 รัง เท่ากับเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า จนปีหน้าต้องเตรียมบ้านเพิ่ม และต้องหาทางแจกจ่ายรังให้คนอื่นบ้างแล้ว) บางคนก็ถึงกับเริ่มต้นเป็นเกษตรกรเลี้ยงผึ้งก่อสร้าง เพื่อส่งรังให้กับไร่หรือสวนขนาดใหญ่ มีรายได้รังละสิบกว่าบาท ส่งทีละเป็นพันๆ รังก็มีรายได้หลายหมื่นบาททีเดียว

ในประเทศไทย เท่าที่ได้หาข้อมูลดู แมลงที่น่าจะใกล้เคียงกับผึ้งก่อสร้างในอเมริกาน่าจะเป็นแมลงที่เรียกว่าผึ้งจิ๋วหรือชันโรง (อ่านว่า ชัน-นะ-โรง) ซึ่งเป็นแมลงท้องถิ่นมีทุกภาคของประเทศไทย (ทำให้มีชื่อเรียกอื่นๆ แตกต่างกันไปในแต่ละภาคด้วย ไม่ว่าจะเป็นขี้ตึง ขี้ตังนี ขี้ย้า แมลงอุง แมลงโลม แมลงขี้สูด หรือตัวตุ้งติ้ง) และมีความสามารถในการผสมเกสรสูงมาก และไม่มีเหล็กไนเหมือนผึ้งหลวง สำนักพิมพ์บ้านและสวนเพิ่งจะมีหนังสือ มาเลี้ยงผึ้งและชันโรงกัน หรือในอินเทอร์เน็ตก็มีข้อมูลพอสมควร

ถึงตอนนี้อาจจะยังดูเป็นเรื่องของเกษตรกร แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเรามีสวนผักคนเมืองแล้ว ต่อไปก็น่าจะมีสวนผลไม้คนเมือง และแมลงผสมเกสรสำหรับคนเมืองด้วยเช่นกัน เพราะการผลิตอาหารไม่ได้เป็นหน้าที่ของเกษตรกรเพียงลำพัง แต่เราทุกคนช่วยกันได้และต้องช่วยกันด้วย

ชวนกันมาเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นที่ใจดี แสนขยัน และเป็นความหวังใหม่ของวงการอาหารโลก ชวนกันมาเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นที่ใจดี แสนขยัน และเป็นความหวังใหม่ของวงการอาหารโลก

ย้อนกลับมาถึงโครงการเลี้ยงผึ้งก่อสร้างของผู้เขียนกับลูกสาวตัวน้อย สิ่งที่ผู้เขียนถือว่าได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือความรู้มากมายมหาศาลที่เราได้รับในช่วงเวลาอันแสนสั้น จากคนที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับผึ้งก่อสร้าง เพียงฤดูกาลเดียวผู้เขียนก็เข้าใจวงจรชีวิตทั้งหมด และมีความรู้เรื่องการผสมเกสรและห่วงโซ่อาหารมากขึ้นหลายเท่า จากคนที่กลัวแมลงขึ้นสมอง เราสองแม่ลูกกลับไปนั่งมองดูผึ้งน้อยทำงานแบบจมูกแทบจะชนรังวันละหลายรอบ โดยที่ผึ้งแสนขยันก็บินเข้าบินออกทำงานวุ่นไม่ได้สนใจเราเลย

เมื่อวันก่อนนี้ผู้เขียนแกะท่อกระดาษแล้วจับรังผึ้งก่อสร้างสบายๆ ลูกสาวตัวน้อยเห็นแม่ไม่กลัวก็จับบ้างและนั่งเล่นข้างรังผึ้งหน้าตาเฉย เรายังคุยกันว่าฤดูใม้ผลิปีหน้าจะสร้างบ้านและเอารังผึ้งก่อสร้างไปให้ที่โรงเรียนใส่ไว้ในสวนด้วย เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็มีงาน Mason Bee Cocoon Harvesting Party ที่คนเลี้ยงผึ้งก่อสร้างเอาท่อเอาบ้านผึ้งก่อสร้างมาแกะและทำความสะอาดด้วยกัน ถือเป็นกิจกรรมชุมชนที่สนุกดีและทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน และที่สำคัญ ทำให้ได้รู้ว่ามีคนอื่นที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้เหมือนกับเรา ผู้เขียนเลยมีกำลังใจที่จะไปบอกต่อ เพราะในอเมริกาเองเรื่องการเลี้ยงผึ้งก่อสร้างก็ยังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว และต้องการอาศัยการช่วยกันบอกปากต่อปากเช่นเดียวกัน

ชวนกันมาเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นที่ใจดี แสนขยัน และเป็นความหวังใหม่ของวงการอาหารโลก

อีกวิธีหนึ่งที่เราจะช่วยกันได้ก็คือปลูกดอกไม้หรือพืชผักที่มีเกสรให้ผึ้ง (และแมลงผสมเกสรอื่นๆ) ได้มาหาอาหาร แต่ปัจจัยที่สำคัญก็คือต้องเป็นต้นไม้ดอกไม้หรือเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ผ่านสารเคมี และจะให้ดีก็ควรเป็นผักพื้นบ้าน บ้านใครมีบริเวณพอสมควร แล้วเคยปลูกหรือคิดจะปลูกแต่ไม้ประดับ ลองเปลี่ยนใจปลูกไม้ผลดูก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีนะคะ เพราะนอกจากจะได้ผลไม้ที่ปลอดภัยไว้กินแล้ว ยังสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับผึ้งยามต้นไม้ออกดอก และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างพื้นดินและน้ำอย่างได้ประโยชน์ด้วย

ว่าจะเขียนเรื่องผึ้ง ไหงมาจบลงที่เรื่องชวนกันปลูกต้นไม้ไปได้ แต่เอาเข้าจริง มันก็เป็นเรื่องเดียวกันนะคะ เพราะห่วงโซ่อาหารนั้นจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้ ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องผักเรื่องต้นไม้มีคนพูดถึงกันอยู่มากมายแล้ว แต่เรื่องผึ้งและแมลงที่มีประโยชน์นั้นยังได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย ถ้าบทความสั้นๆ นี้จะช่วยจุดประกายให้คนหันมาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ก็จะดีใจมากเลยล่ะค่ะ

ใครสนใจอยากหาข้อมูลเพิ่มเติม มีองค์กรชื่อ Crown Bees ที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมีความรู้ในเว็บไซต์ด้วย ลองเข้าไปดูกันได้ค่ะ

ชวนกันมาเลี้ยงผึ้งท้องถิ่นที่ใจดี แสนขยัน และเป็นความหวังใหม่ของวงการอาหารโลก

*หลังจากที่ผึ้งก่อสร้างตัวเมียวางไข่และเอาดินมาปิดปากท่อเรียบร้อยแล้ว ไม่นานไข่ก็จะฟักเป็นหนอน แล้วเริ่มกินเกสรและน้ำหวานที่แม่ผึ้งปั้นทิ้งไว้ให้เป็นอาหาร จากนั้นก็จะสร้างเส้นใยเป็นรังรอบๆ ตัวเอง แล้วพัฒนาจนกลายเป็นผึ้งก่อสร้างที่โตเต็มวัย ก่อนจะจำศีลไปตลอดหน้าหนาว พออากาศอุ่นขึ้นในฤดูใบไม้ผลิก็จะกัดรังออกมาเริ่มต้นวงจรชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถ้าเราปล่อยผึ้งที่โตเต็มวัยอยู่ในรังทิ้งไว้ข้างนอกก็ได้ แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะมีเชื้อราหรือแมลงอื่นๆ เข้าไปเจาะวางไข่และกินหนอนผึ้งก่อสร้างจนไม่ได้กลายมาเป็นผึ้งรุ่นต่อไป เมื่อถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง คนเลี้ยงจึงต้องเอาท่อกระดาษมาแกะออกเพื่อดูว่ารังปลอดภัยดีหรือเปล่า และล้างน้ำทำความสะอาดก่อนจะใส่กล่องรักษาความชื้น เก็บเข้าตู้เย็นเพื่อให้อุณหภูมิค่อนข้างคงที่ แล้วเอารังออกไปวางในท่อกระดาษชุดใหม่เมื่ออุณหภูมิภายนอกอุ่นพอ และดอกไม้เริ่มบานมากพอจะมีเกสรเป็นอาหารให้ผึ้งที่กำลังหิวพอดี ท่อกระดาษของผู้เขียนดูด้านนอกก็เรียบร้อยสะอาดสะอ้านดี แต่พอแกะออกมาด้านในมีทั้งรา ทั้งหนอนของแมลงอื่นๆ และรังที่โดนแตนเจาะ ผู้เขียนเลยเข้าใจว่าทำไมจึงต้องมาแกะมาเก็บให้วุ่นวายด้วย

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Save

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์