สองสามปีที่ผ่านมานี้ ถ้าจะพูดถึงเรื่อง ‘บ้านเล็ก’ หรือ Tiny Houses คงไม่มีเมืองไหนในอเมริกาจะคึกคักมากไปกว่าเมืองขนาดกลางอย่างพอร์ตแลนด์เป็นแน่

เท่าที่เห็นด้วยตัวเองก็คือมีบ้านแบบนี้เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด บางแห่งเปิดให้เช่าเป็น  Airbnb บางแห่งตั้งตนเป็นโรงแรมบ้านเล็กแห่งแรกในโลก บางแห่งโฆษณาว่าเป็นชุมชนเพื่อคนเชื่อในบ้านเล็ก บางแห่งสร้างขึ้นโดยจิตอาสาเพื่อผู้หญิงไร้บ้าน

เทศบาลเมืองเองก็ดูจะสนับสนุนเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย ถึงกับมีโครงการจะสร้างบ้านเล็กจำนวน 300 หลัง ถ้าใครยอมให้เอาไปตั้งที่หลังบ้านตัวเองเพื่อให้ครอบครัวคนไร้บ้านได้มาอยู่อาศัย ครบ 5 ปีก็จะได้บ้านเล็กนั้นไปเป็นกรรมสิทธิ์

เมื่ออาทิตย์ก่อนก็เพิ่งมีทัวร์ดูบ้านเล็ก ที่มีผู้คนเดินทางมาจากทั่วโลกหลายร้อยคน แว่วว่าเดือนหน้าก็จะมีการประชุมสุดยอดบ้านเล็กแห่งชาติ ติดต่อกัน 3 วันรวด! จนมีคนบอกว่าพอร์ตแลนด์น่าจะเป็นเมืองหลวงแห่งบ้านเล็กของอเมริกา (ควบคู่ไปกับอีกหลาย ‘เมืองหลวงแห่ง’ ที่ใครต่อใครพากันมอบให้)

ผู้เขียนเองก็สนใจเรื่องนี้ในหลายแง่มุมด้วยกัน แล้วพอยิ่งสนใจก็ยิ่งเห็นข่าวคราวเรื่องนี้หนาตาขึ้นเรื่อยๆ แต่ก่อนอื่นขอเล่าให้ฟังก่อนก็แล้วกันค่ะว่าไอ้เจ้าบ้านเล็กที่พูดมาทั้งหมดนี้มันคืออะไรและหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่

บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต
บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต

Tiny Houses เป็นแนวโน้มใหม่ในการสร้างบ้านให้มีขนาดเล็กกะทัดรัดแค่พออยู่ คือประมาณไม่เกิน 200 ตารางฟุต (หรือไม่เกิน 18.5 ตารางเมตร) ที่เกิดขึ้นมาพักใหญ่แล้ว แต่เพิ่งจะกลายเป็นกระแสและถูกพูดถึงในสื่อต่างๆ อย่างมากเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

บ้านเล็กมี 2 แบบด้วยกัน คือ Tiny House on Wheels บ้านเล็กแบบมีล้อ ที่หน้าตาคล้ายๆ RV กับบ้านเล็กที่สร้างบนที่ดินซึ่งมีบ้านใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งเรียกตามกฎหมายว่า ADU (Accessory Dwelling Unit) แต่บางคนก็เรียกว่า Granny’s Flat หรือ Mother-In-Law Unit

บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต

บ้านเล็กที่เราสนใจคือแบบที่มีล้อ เพราะมันเกี่ยวโยงกับความเชื่อและความพยายามของคนที่ต้องการปลดตัวเองจากพันธนาการด้านการเงินของสังคม ลองนึกดูสิคะว่าทุกวันนี้คนจำนวนมากแค่ไหนที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นหนี้ และหนี้ก้อนสำคัญที่ผูกพันกันไปยาวนานหลายสิบปี (บางทีจนกระทั่งเกษียณ) ก็คือหนี้เงินกู้มาซื้อหรือสร้างบ้าน หรือถ้าไม่เป็นหนี้ก็มีค่าเช่าคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์เป็นรายจ่ายก้อนหลักที่ต้องถูกหักจากเงินเดือนไปเรื่อยๆ ยังไม่นับค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการอยู่อาศัย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าส่วนกลาง หรือค่าซ่อมแซมจิปาถะ พูดง่ายๆ ก็คือคนส่วนใหญ่รอบๆ ตัวเราต่างก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกันนี้จนราวกับมันเป็นเรื่องปกติ

แต่แล้วก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่ามันน่าจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ ที่ทำให้ชีวิตเครียดน้อยกว่านี้ และทำให้ชีวิตมีอิสระมากขึ้น พวกเขาเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีบ้านหลังใหญ่ (บ้านคนอเมริกันทั่วไปมีพื้นที่ประมาณ 2,700 ตารางฟุต) ทำไมต้องมีข้าวของมากมายที่ไม่จำเป็น เป็นไปได้ไหมที่เราจะลุกขึ้นสร้างบ้านด้วยสองมือของตัวเองและด้วยเงินจำนวนไม่มากนัก และที่สำคัญ… ไม่ต้องเป็นหนี้

บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต
ดี วิลเลียมส์

คนสำคัญที่สุดที่จุดประกายเรื่องนี้มีชื่อว่า ดี วิลเลียมส์ (Dee Williams) เธอเคยใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง ทำงานให้กับองค์กรสิ่งแวดล้อมของรัฐ ผ่อนบ้านขนาด 3 ห้องนอน มีรายจ่ายจิปาถะ ชีวิตมีความเครียดแฝงเร้น แต่ดีบอกตัวเองเสมอว่าทุกอย่างค่อนข้างโอเค จนกระทั่งเธออายุ 40 แล้วล้มลงเพราะหัวใจวาย เธอฟื้นคืนสติใน 3 วันต่อมาแล้วพบว่าตัวเองได้รับการผ่าตัดหัวใจ ใส่เครื่องกระตุ้นที่ต้องมาลุ้นกันใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้า และพบว่าชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ที่แน่ๆ คือดีรู้ว่าเธอจะใช้ชีวิตต่อไปแบบเดิมไม่ได้อีก

โชคดีที่ในออฟฟิศของคุณหมอมีนิตยสารเล่มหนึ่งที่พูดถึงบ้านเล็ก ดีตัดสินใจปลดตัวเองจากหนี้สินทั้งหมดที่มี กำจัดข้าวของที่ไม่ต้องการใช้ แล้วเริ่มต้นลงมือสร้างบ้านด้วยเงิน 3 แสนบาท เรียนรู้ ต่อสู้กับความกลัวและความยากลำบากตลอดกระบวนการนั้น แล้วสุดท้ายเธอก็ได้บ้านหลังน้อยที่มีรอยนิ้วมือประทับอยู่ในทุกตารางนิ้ว ดีบอกว่า เธอไม่เคยรู้สึกเป็นอิสระแบบนั้นมาก่อนเลยในชีวิต

เธอขอเอาบ้านติดล้อขนาด 84 ตารางฟุตไปจอดที่สนามหลังบ้านของเพื่อนสองคนที่มีลูกเล็ก ในบริเวณเดียวกันมีน้าอายุมากของเพื่อนซึ่งต้องการคนมาดูแล ทั้งสามครอบครัวได้ทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนพื้นที่ในชีวิตของกันและกัน ดีดูแลคุณน้าของเพื่อนจนกระทั่งเธอเสียชีวิตลงเมื่อหลายปีก่อน การไม่ต้องผ่อนบ้าน แทบไม่มีใบเรียกเก็บเงินที่ต้องจ่าย (ไฟฟ้าในบ้านได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ห้องน้ำคือโถน้ำใบเขื่องกับอ่างล้างหน้าที่มีถังรองข้างใต้เอาน้ำทิ้งไปใช้อย่างอื่นได้ และโถส้วมพกพาที่สามารถย่อยสลาย ครัวคือเตาแก๊สหัวเดียวกับถังแก๊สใบเล็ก เรียกว่า footprint แทบจะเป็นศูนย์ ค่าสาธารณูปโภคเหลือเพียงเดือนละ 8 เหรียญฯ) ทำให้เธอไม่ต้องทำงานประจำ และมีเวลาพบปะ พูดคุย สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นมากขึ้นมหาศาล

ที่สำคัญ พอเปลือกที่ห่อหุ้มและหลังคาที่คลุมหัวมีขนาดเล็กลง เธอกลับรู้สึกใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น รู้ร้อน รู้ฝน รู้หนาว และมีชีวิตอยู่กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปภายนอก เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม และนั่นเองที่ทำให้เธอได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เมื่อเข้าใจสิ่งที่ทำอย่างถ่องแท้และมีความสุขกับมัน เธอก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังกล้าๆ กลัวๆ แต่อยากเดินบนถนนเส้นเล็กๆ ที่แม้นจะขรุขระแต่ก็อาจจะสุขใจกว่าถนนหลวงหกเลนเป็นไหนๆ

ตอนนี้ถ้าใครสนใจหาข้อมูลเรื่องบ้านเล็ก ชื่อของดี วิลเลียมส์ มักจะปรากฏขึ้นเป็นอันดับแรกๆ จะเรียกว่าเป็นดาวดวงใหญ่ในวงการบ้านเล็กก็คงจะไม่ผิดนัก หนังสือ Go House Go และ The Big Tiny ที่เธอเขียน รวมทั้ง Portland Alternative Dwellings องค์กรเล็กๆ ที่เธอร่วมก่อตั้งกับเพื่อนอีก 2 คน ถือเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่คนสนใจบ้านเล็กเข้าไปหาข้อมูลและแรงบันดาลใจกันอยู่เสมอ

ทำไมบ้านเล็กต้องอยู่บนล้อ… เราเองก็ถามคำถามนี้เหมือนกัน

คำตอบก็คือ เพราะอเมริกามีกฎหมายก่อสร้างที่เข้มงวดมาก และกำหนดให้สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินสำหรับอยู่อาศัยต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 1,000 ตารางฟุต และห้องแต่ละห้องต้องสูงไม่ต่ำกว่า 7 ฟุต แน่นอนกว่าเจอข้อใหญ่ใจความแบบนี้ก็ไม่ต้องคิดจะสร้างบ้านเล็กกันพอดี แต่ช่องโหว่มันอยู่ที่ ถ้าสร้างบ้านบนฐานของรถเทรลเลอร์ แล้วจดทะเบียนเป็นรถ RV (Recreational Vehicle) ก็จะสามารถเลี่ยงข้อกำหนดนั้นได้ นั่นเลยเป็นที่มาว่าทำไมบ้านเล็กจึงต้องมีล้อ

แต่ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือ กฎหมายอีกนั่นละที่ห้ามไม่ให้คนอยู่อาศัยอย่างถาวรในรถที่จดทะเบียนเป็น RV (เอ๊า!) เว้นเสียแต่ว่าจะไปจอดในบริเวณที่กำหนดให้เป็น RV Park เท่านั้น หรือเฉพาะบางรัฐเพิ่งเพิ่มกฎหมายยอมให้ไปจอดที่สนามหลังบ้านคนได้หากจะไปเป็นผู้ดูแลคนป่วยหรือคนชราช่วยตัวเองไม่ได้ (แต่กรณีของดีนั่นเกิดก่อนจะมีกฎหมายใหม่นี้เสียอีก)

เท่ากับว่าตอนนี้บ้านเล็กก็ยังค่อนข้างจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ผู้คนกำลังเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้เมืองพิจารณาเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องใหม่ ทางการยังไม่รู้จะรับมือยังไง หลายคนที่เราได้คุยก็บอกว่าปัญหาหลักๆ คือตอนนี้เทศบาลไม่รู้จะสร้างรายได้จากบ้านเล็กเหล่านี้ยังไง เพราะใบอนุญาตก่อสร้างหรือเชื่อมต่อสาธารณูปโภคก็ไม่ต้องขอ ภาษีโรงเรือนก็ไม่มี แต่เชื่อเถอะว่าพอมันเป็นกระแสมากๆ อย่างนี้ เดี๋ยวก็ต้องมีการปรับแก้กฎหมายให้เรียกเก็บเงินกับบ้านเล็ก และทำให้มันเป็นเรื่องถูกต้องจนได้

แต่ในระหว่างที่ยังถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ คนที่มีบ้านเล็กก็อาศัยจอดที่หลังบ้านของคนรู้จัก หรือรวมตัวกันเป็นชุมชนเล็กๆ แล้วผูกไมตรีกับเพื่อนบ้านให้ช่วยกันระแวดระวัง เพราะถ้าไม่มีใครร้องเรียนก็ไม่มีใครมาไล่นั่นเอง

ใครที่ฟังมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกสนใจมาก อยากรู้ต่อไปว่ามันจะใช่ทางของเราจริงๆ หรือเปล่า หรือไอ้เจ้าบ้านเล็กนี่มันมีเสน่ห์ตรงไหน เราอยากแนะนำให้ไปดูสารคดีทาง Netflix เรื่อง Small Is Beautiful ของผู้กำกับออสเตรเลียชื่อ Jeremy Beasley (เจเรมี บีสลีย์) ที่เล่าเรื่องผ่านคนพอร์ตแลนด์ 4 คนที่อยู่ในต่างช่วงเวลาของการสร้างบ้านเล็ก

เบ็นเป็นเด็กหนุ่มเพิ่งเรียนจบและได้รับมรดกก้อนหนึ่งจากพ่อที่เพิ่งเสียชีวิต เขาตัดสินใจใช้เงินก้อนนั้นสร้างบ้านเล็กก่อนเริ่มต้นชีวิตวัยทำงาน นิกกี้กับมิทเชลเป็นคู่รักวัย 30 ที่ฝันจะเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการไม่เป็นหนี้และมีบ้านที่สร้างด้วยตัวเอง ส่วนแคเรนเป็นสาวใหญ่วัย 50 ที่เพิ่งผ่านวิกฤตในชีวิต และอยู่บ้านเล็กมาได้ 2 ปี มีความสุขดีแต่ยังต้องต่อสู้กับความไม่แน่นอนของกฎหมายและความไม่แน่นอนของชีวิต

น่าสนใจที่ตลอดเวลาปีกว่าที่หนังติดตามชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ เราไม่ได้เห็นแค่ขั้นตอนการสร้างบ้าน แต่กลับได้เห็นจิตใจของแต่ละคนคลี่คลายออกมาผ่านตัวบ้านที่ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่าง เห็นทั้งรอยฟกช้ำทางใจที่เกิดขึ้นใหม่และบาดแผลเก่าที่ได้รับการเยียวยา สิ่งที่ทุกคนพูดตรงกันก็คือความเป็นจริงไม่ง่ายเหมือนความฝัน บ้านเล็กเป็นมโนคติที่ดูเหมือนจะสวยงาม (หรือเพ้อฝัน อย่างที่หลายๆ คนเอาไปแซะ แม้แต่ซีรีส์ Portlandia ก็ยังมีตอนหนึ่งที่ล้อเรื่องบ้านเล็กเสียจนเราหัวเราะก๊าก) แต่ในความเป็นจริงนั้นต้องมีใจและความเข้มแข็งจริงๆ ถึงจะรอด

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ คนที่เป็นเจ้าของบ้านเล็กในอเมริกานั้นส่วนใหญ่เป็นคนมีการศึกษาสูง มีความคิด มีหนี้บัตรเครดิตน้อยกว่าคนทั่วไป (65% ไม่มีหนี้บัตรเครดิตเลย) และเกือบครึ่งมีอายุมากกว่า 50 ปี อนุมานได้ว่าคนเหล่านี้ค่อนข้างมีอิสระทางการเงินอย่างแท้จริง

บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต
thetinylife.com

อีกวิธีหนึ่งที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับบ้านเล็กได้ดีมากๆ ก็คือการได้มีประสบการณ์ตรง หรือพูดง่ายๆ ก็คือลองไปอยู่บ้านเล็กดูเสียให้มันรู้ว่าไหวไหม ไม่ต้องตกใจว่าผู้เขียนบอกให้ไปเคาะประตูขอเบียดอยู่กับเจ้าของบ้านหลังจิ๋ว เพราะเดี๋ยวนี้มีโรงแรมบ้านเล็กให้มาพักได้ถึง 2 แห่งด้วยกันในพอร์ตแลนด์ แห่งแรกชื่อว่า Caravan ที่ประกาศชัดเจนว่าเป็นโรงแรมบ้านเล็กแห่งแรกในโลก มีบ้านพักด้วยกันทั้งหมด 6 หลัง แต่ละหลังมีธีมแตกต่างกันออกไป และเนื่องจากอยู่ในชุมชนศิลปะและออกจะฮิปปี้หน่อยๆ อย่าง Alberta Art District หน้าตาและอารมณ์ของโรงแรมนี้จึงค่อนข้างจะโบฮีเมี่ยนอยู่ไม่น้อย

ถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองอาจจะรั่วไม่ถึงขั้น อาจจะเหมาะกับโรงแรมบ้านเล็กอีกแห่งที่ชื่อ Tiny Digs มากกว่า เพราะโรงแรมนี้อยู่ย่าน Southeast ซึ่งเป็นแหล่งกินดื่มเที่ยวและอยู่อาศัยของคนพอร์ตแลนด์วัยทำงาน เมื่อวานเราเพิ่งแวะไปดูด้วยตาตัวเองว่าหน้าตาบ้านเล็กเหล่านี้เป็นยังไง แล้วก็ให้แปลกใจที่มันน่ารักกว่าที่คิดเสียอีก!

บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต
บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต
บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต
บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต

บ้านทั้ง 7 หลังมีขนาดประมาณ 150 ตารางฟุต มีห้องนอน ครัวเล็กๆ ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำครบถ้วนเหมือนโรงแรมทั่วไป เพียงแต่ย่อส่วนทุกอย่างลงมา แต่เราไม่รู้สึกว่ามันอึดอัดคับแคบนัก คืออยู่สองคนสบายๆ เห็นแล้วไฟลุกโชนอยากจะสร้างบ้านเล็กของตัวเองขึ้นมาเลย (ตั้งปฏิญาณในใจว่าจะสร้างแน่ๆ)

เราได้คุยกับลิน หนึ่งในเจ้าของโรงแรม ได้ความรู้ใหม่หลายเรื่องด้วยกัน ประการแรกคือเจ้าของทั้งสี่คนพบกันตอนเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถ RV ทั้งสี่สนใจเรื่องบ้านเล็กอยู่มากเป็นทุนเดิม และสนใจจะทำโรงแรมเล็กๆ เมื่อทั้งสี่ย้ายมาอยู่พอร์ตแลนด์พร้อมกันด้วยความบังเอิญ ความคิดเรื่องสร้างโรงแรมบ้านเล็กจึงเริ่มเป็นรูปธรรม

ทั้งหมดไปขอความรู้จากเจ้าของ Caravan (ยอมบอกด้วย ใจดีจัง) และเริ่มดำเนินการขออนุญาตจากเทศบาลเมือง เพื่อเปลี่ยนลานขายรถมือสองให้กลายเป็น RV Site เพราะต้องการต่อน้ำไฟเข้าตัวรถแต่ละคัน ทุกห้องจึงมีไฟฟ้าและชักโครกแบบกดได้เหมือนห้องน้ำทั่วไป (คือก็ต้องยอมรับว่าการมี small footprint และ live off the grid อาจจะไม่ใช่ความสามารถและความพร้อมของทุกคน) แต่ก็ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตไปอ่วมทีเดียว คือประมาณหนึ่งล้านห้าแสนบาท (จ๊าก… มิน่าล่ะเทศบาลถึงมาจี้ไล่เอากับคนที่อยากมีบ้านเล็ก เพราะเสียรายได้ส่วนนี้ไปนี่เอง)

ส่วนบ้านเล็กแต่ละหลังนั้น สร้างโดยหุ้นส่วนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับเหมาอยู่แล้ว ค่าก่อสร้างประมาณหลังละล้านบาท สิริรวมค่าสร้างบ้าน 7 หลัง ค่าใบอนุญาต ค่าเชื่อมต่อและวางระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดก็ประมาณสิบล้านบาท ฟังดูเหมือนแพง แต่เมื่อเทียบกับบ้านเดี่ยวสามห้องนอนหลังหนึ่งในย่าน Southeast ของพอร์ตแลนด์เดี๋ยวนี้ที่ราคาประมาณเกือบยี่สิบล้านบาท ก็ถือว่าไม่แพงเลย

พอเราถามว่าเปิดมา 1 ปีธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง ลินตอบทันทีว่าดีมาก ดีจนเกินประมาณการที่วางเอาไว้เสียอีก คงเพราะยังเป็นเรื่องใหม่ และคนที่มาพอร์ตแลนด์สนใจอะไรแปลกๆ อยู่แล้ว วันที่เราแวะไปนั้นมีคนมาพักเต็มเกือบทุกหลัง และเป็นอย่างนั้นมาตลอดทั้งปี ค่าบ้านคืนนึงก็ไม่ใช่ถูกๆ (คืนละห้าหกพันบาท) นับว่าเป็นแนวโน้มธุรกิจที่ดีมากจริงๆ จนเราเชื่อว่าจะมีโรงแรมบ้านเล็กแบบนี้เกิดขึ้นอีกหลายแห่งทั่วอเมริกาและทั่วโลกแน่ๆ

เล่ามาเสียยาว ก็จะขอเล่าถึงอีกโครงการบ้านเล็กที่น่ารักและดีต่อใจ นั่นคือ โครงการบ้านเล็กเพื่อผู้หญิงไร้บ้าน ที่เกิดขึ้นจากคณะสถาปัตย์ฯ ของ Portland State University (PSU) ที่ให้นักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าช่วยกันออกแบบและสร้างบ้านหลังเล็ก (แบบไม่มีล้อ) จำนวน 14 หลัง แล้วนำไปตั้งที่ชุมชน Kenton ซึ่งอยู่ทางเหนือของพอร์ตแลนด์

บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต

โครงการนี้ดีตรงที่เป็นความร่วมมือกันของหลายฝ่าย ทั้งมหาวิทยาลัย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร คนในชุมชน และองค์กรทางศาสนา ที่นอกจากช่วยให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งได้มีบ้านแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูสุขภาพและหางานให้ทำด้วย เพื่อที่วันหนึ่งพวกเขาจะได้มีบ้านจริงๆ และมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะการที่ต้องใช้ชีวิตร่อนเร่บนถนนนั้น เป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งในการหางานและจัดการชีวิตให้กลับมาอยู่ในร่องในรอย แต่การแค่ให้มีบ้านเพียงอย่างเดียวย่อมไม่พอ ต้องให้ความช่วยเหลือด้านอื่นด้วยจึงจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

บ้านเล็กอาจจะไม่ใช่บ้านที่เหมาะสำหรับทุกคน แต่ที่แน่ๆ มันเป็นทางเลือกและทางออกของคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างน่าจับตามอง ใครสนใจหาข้อมูลและความรู้เพิ่มเติม หรืออยากมาเรียนสร้างบ้านเล็ก มีเว็บไซต์ที่เราเห็นว่ามีประโยชน์หลายเว็บ ไม่ว่าจะเป็น The Tiny Life หรือเว็บของ เลนน่า เมนาร์ด หรือรายการโทรทัศน์หลายรายการก็พูดถึงเรื่องบ้านเล็กโดยเฉพาะ

บ้านเล็กมีล้อ ทางเลือกใหม่ของคนพอร์ตแลนด์ที่ไม่อยากผ่อนบ้านตลอดชีวิต
เลนน่า เมนาร์ด

ขอจบตอนนี้ด้วยเรื่องของบ้านเล็กที่เราว่าน่ารัก สวยเนี้ยบ สร้างแรงบันดาลใจของสาวญี่ปุ่น 2 คนนี้ก็แล้วกันค่ะ

Save

Save

Save

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์