‘See the forest for the trees’ เป็นสำนวน หมายถึงการมองให้เห็นภาพรวม ไม่ใช่มัวแต่จดจ่ออยู่กับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ประหนึ่งมองต้นไม้แล้วก็ให้รู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าใหญ่ ไม่ได้แยกส่วนอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง

ส่วน Forest For The Trees นั้น เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในเมืองพอร์ตแลนด์ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยศิลปิน Gage Hamilton (เกจ แฮมิลตัน) และเจ้าของแกลเลอรี่ Matt Wagner (แมตต์ วากเนอร์) ที่ตั้งใจอยากให้คนเงยหน้าจากชีวิตประจำวัน หันขึ้นมามองเห็นเมืองทั้งเมืองเสมือนเป็นแกลเลอรี่ขนาดใหญ่ ผนังตึกคือผืนผ้าใบ ที่มีศิลปินและนักคิดมาช่วยกันระบายให้สนุกสนานสวยงาม

ลองนึกถึงบ้านที่มีแต่ผนังโล่งๆ ปราศจากสีสันและงานศิลปะดีๆ มันคงไม่ต่างอะไรกับเมืองที่มีแต่ตึกและผนังรกร้าง มองไปทางไหนก็เหือดแห้ง ปราศจากชีวิตชีวา ถ้ามีคนเบื่อและมือบอนหน่อยก็อาจจะพากันเอาสีสเปรย์มาพ่นให้เหนื่อยลูกตามากขึ้นไปอีก เทียบกับเมืองที่เดินไปทางไหนก็เจองานศิลปะที่ไม่ได้เอาแต่ซ่อนตัวอยู่ในแกลเลอรี่ แต่ร้องรำทำเพลงอยู่ตามผนังตึกต่างๆ ให้เราได้แปลกใจเล่นเมื่อพบเห็น แน่นอนว่าเมืองแบบหลังนี้ย่อมทำให้เรารู้สึกดีที่ได้อยู่ในเมืองนั้น และพานจะรู้สึกดีที่โลกนี้ยังมีสิ่งสวยงาม

Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดีForest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี

นั่นเป็นความรู้สึกของเราจริงๆ เวลาที่ขับรถหรือเดินไปทางไหน จู่ๆ ก็จะมีงานจิตรกรรมบนผนังตึก (murals) โผล่หน้ามาทักทาย ก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้ว่าใครเป็นคนมาวาดรูปเหล่านี้ไว้ หรือทำไมต้องเป็นผนังตึกเหล่านั้นที่ถูกเลือกมาประแป้งแต่งหน้าเสียสวยแจ่ม แต่วันหนึ่งเพื่อนบ้านที่เป็นศิลปินก็เล่าให้เราฟังว่า จิตรกรรมบนผนังตึกที่เราเห็นอยู่ทั่วไปในพอร์ตแลนด์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของ Forest For The Trees แทบทั้งนั้น พอเราเข้าไปดูรายชื่อศิลปินและผลงานที่ผ่านมาในเว็บไซต์ ก็ถึงกับร้องอ๋อว่าที่แท้ก็ FFTT นี่เองที่เป็นตัวตั้งตัวตี และเพื่อนบ้านเรา [ชื่อ Josh Keyes (จอช คีย์ส) ที่วาดรูปแรดคะนองเสยป้ายจราจรบนผนังสีขาว] ก็เป็นหนึ่งในผู้สร้างผลงานเอาไว้ด้วย เท่จริงๆ เลย

FFTT นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 นี่เอง แต่โกยศิลปินมาพ่นสเปรย์สะบัดฝีแปรงบนผนังตึกพอร์ตแลนด์ไปแล้วเกือบ 70 แห่ง หลายๆ จุดแทบจะกลายเป็นภาพจำของพอร์ตแลนด์ไปแล้วด้วยซ้ำ คือแขกไปใครมาก็มักจะแวะถ่ายรูปคู่กับตึกเหล่านั้นไปอวดกันในโซเชียลมีเดีย ที่สนุกก็คือมีแผนที่สำหรับให้คนตามไปดูงานเหล่านี้ และบางทีก็มีการจัดอีเวนต์รวมตัวกันปั่นจักรยานชมงานศิลปะของ FFTT ด้วย

Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี

สิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ ‘ได้’ ด้วยกันทุกฝ่ายก็คือ หนึ่ง คนจัดงานซึ่งเป็นศิลปินและเจ้าของแกลเลอรี่ ถึงแม้จะไม่มีรายได้โดยตรงจากงานนี้ แต่ก็ได้สร้างกระแสความสนใจในศิลปะให้เกิดขึ้นในเมือง คือเอาศิลปะออกมาให้ดูกันฟรีๆ แบบไม่ต้องไปถึงแกลเลอรี่ จะตั้งใจไม่ตั้งใจยังไงก็ต้องได้เห็น ทั้งด้วยขนาดที่ใหญ่และอยู่ในโลเคชันที่มีคนผ่านไปมา ยิ่งพอร์ตแลนด์เป็นเมืองคนเดิน คนขี่จักรยาน และคนขับรถช้า ก็ยิ่งเอื้อให้มีโอกาสได้เห็นและหยุดดูมากเข้าไปใหญ่ สอง ศิลปินที่มาร่วมสร้างงาน ซึ่งมาจากทั่วอเมริกาและทั่วโลก ได้มีโอกาสเปิดตัวให้คนรู้จักผลงานมากขึ้น ทั้งจากลายเซ็นที่อยู่บนตึกและจากข้อมูลในเว็บไซต์ของ FFTT บางคนเป็นนักวาดผนังอาชีพ บางคนไม่เคยทำงานสเกลใหญ่ขนาดนี้มาก่อน แต่ปรากฏว่างานน่าสนใจเชียวพอได้โอกาสทำอะไรใหญ่ๆ เพื่อนบ้านเราบอกว่าเขาแทบไม่ได้ค่าจ้างจากงานนี้เลยด้วยซ้ำ แต่ถือว่าได้สร้างงานศิลปะเพื่อเมืองและเพื่อชุมชน และได้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจนี้ ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น แถมตอนที่ทำงาน ยังมีเชฟดังมาทำอาหารสุดหรูให้กินอีกด้วย (เป็นบ้านเราคงจะได้ข้าวกล่องกะเพราไก่ไข่ดาว) ศิลปินบางคนถือว่าได้มาเที่ยว เท่านี้ก็ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อย

สาม เจ้าของตึกที่เคยมีแต่ผนังเปลือยโล่งไม่น่าสนใจ จู่ๆ ก็ได้งานศิลปะมาประดับตึก พอมีคนมาดู ก็อาจจะได้ลูกค้าเพิ่มไปอีกทาง สี่ เมืองพอร์ตแลนด์เองก็ได้ความงามที่หลากหลายมาสร้างสีสันและความน่าสนใจให้กับเมือง เพราะก็ต้องยอมรับว่าเมืองใหม่อายุไม่กี่ร้อยปีอย่างพอร์ตแลนด์นั้นไม่ได้มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ วัด วัง โบสถ์วิหาร หรืออาคารประวัติศาสตร์ ที่เชิดหน้าชูตา พิพิธภัณฑ์ศิลปะถึงจะค่อนข้างขยัน แต่ก็ไม่ได้มีงานระดับโลกชิ้นหายากที่คนจะต้องดั้นด้นมาดู คนส่วนใหญ่ที่มาพอร์ตแลนด์มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มาหาอะไรแนวๆ ดังนั้น การตามรอยศิลปะบนผนังตึกที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง ก็เลยกลายมาเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวอีกอย่างหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในลิสต์ นอกเหนือจากไปกิน Voodoo Doughnuts และไอติม Salt & Straw (ฮา!) จึงไม่น่าแปลกใจที่กรมการขนส่งพอร์ตแลนด์ (Portland Bureau of Transportation) เองนั้นมีเงินทุนสนับสนุนให้กับโครงการศิลปะข้างถนนแบบนี้ด้วย นอกเหนือไปจากองค์กรที่ให้เงินสนับสนุนโครงการศิลปะโดยตรงอย่าง Regional Arts and Culture CounCil ที่เคยสนับสนุน FFTT มาก่อน

Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี

เมื่อวานเราจับลูกสาวตัวน้อย 2 คนใส่รถ แล้วขับวนไปดูงานชุดล่าสุดที่ศิลปินเพิ่งมาช่วยกันระบายไว้เมื่อต้นเดือนสิงหาที่ผ่านมานี้เอง ผลปรากฏว่าเราสนุกกันมาก และสะดวกดีเพราะไม่ต้องลงจากรถ ยังเปิดเพลง กินขนมอะไรกันไปได้ด้วย (คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กคงพอจะนึกภาพออกว่าการเอาเด็กเล็กถอดเข้าถอดออกจากคาร์ซีทนี่มันไม่สนุกเอาเสียเลย และจากประสบการณ์พา 2 สาวไปดูงานอิมเพรสชันนิสม์คับคั่งที่ Musée d’Orsay ที่ปารีสมาหมาดๆ พบว่าลูกไม่สนุกด้วย ร้องแต่จะกลับโรงแรมไปเล่นเลโก้!) ไม่ได้ลบหลู่ แต่เราแอบคิดในใจว่านี่มันเหมือนแกลเลอรี่ Drive-thru เลยแฮะ ผิดกันที่นี่ไม่ใช่อาหารขยะ แต่เป็นงานศิลปะที่ผ่านการคิดมาอย่างดี เสพด้วยตา และให้คุณค่าโดยตรงต่อสมองและหัวใจ และในที่สุดก็ทำให้เราเห็นเมืองจากความเชื่อมโยงของศิลปะฝาถนนเหล่านี้ เหมือนเห็นป่าได้จากการมองต้นไม้อย่างที่ชื่อโครงการอุปมาไว้จริงๆ

Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี Forest For The Trees : องค์กรศิลปินที่เปลี่ยนผนังตึกทั่วพอร์ตแลนด์เป็นผลงานศิลปะชั้นดี

ขอขอบคุณ : พิชาญ สุจริตสาธิต
www.forestforthetreesnw.com

Save

Save

หมายเหตุ จิตรกรรมฝาผนัง (murals) นั้นเป็นงานศิลปะที่ศิลปินได้รับการว่าจ้างและได้รับอนุญาตจากเจ้าของอาคารให้สร้างงานศิลปะบนผนัง อาจจะเป็นด้านนอกหรือด้านในอาคารก็ได้ ตัวศิลปินเองก็ได้รับการยอมรับยกย่องอย่างเปิดเผย [muralist ที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็อย่างเช่น Diego Rivera (ดิเอโก ริเวรา) สามีของ Frida Kahlo (ฟริดา คาห์โล) นั่นไง]

ต่างจากงานกราฟฟิตี้ (graffiti) ที่มักจะไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่ และศิลปินไม่ได้รับการว่าจ้างแต่ประการใด ศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อก้องอย่าง Banksy นั้น ทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยมีใครเห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์