11 กรกฎาคม 2017
19 K

ห้องสมุดในฝันของคุณหน้าตาเป็นอย่างไร

เต็มไปด้วยหนังสือและอีบุ๊กส์ดีๆ หลายประเภทให้ยืมได้ฟรี มีฐานข้อมูลเอกสารอ้างอิงล้นเหลือ มีสาขามากมาย ยืมและคืนหนังสือที่ไหนก็ได้ มีกิจกรรมหลากหลาย มีบรรณารักษ์ใจดีมีความรู้เรื่องหนังสือมาก (นี่หมายถึงทั้งมีความรู้มาก และมีบรรณารักษ์แบบนี้จำนวนมาก) ทันสมัย ใช้งานง่าย เข้าถึงประชาชน นอกจากหนังสือควรจะมีหนังและเพลงทุกประเภททั้งเก่าและใหม่ล่า มี zine ด้วยยิ่งดีใหญ่ อ้อ… อย่าลืมห้องหนังสือเด็กต้องน่ารักและมีการเล่านิทาน และที่สำคัญ … การได้ไปห้องสมุดคือประสบการณ์แสนสนุกสำหรับทุกคนในครอบครัว

ถ้าคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นตรงกับใจของคุณแล้วล่ะก็ ขอเชิญให้แวะมาใช้บริการระบบห้องสมุดของพอร์ตแลนด์และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งรวมเรียกกันว่าห้องสมุดมณฑลมัลท์โนมาห์ (Multnomah County Library) ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 150 ปี และเป็นระบบห้องสมุดที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในอเมริกา จากสถิติบอกว่าปี 2016 ที่ผ่านมา มีหนังสือและสื่อต่างๆ ถูกยืมไปราว 22 ล้านชิ้น! (คือประมาณ 24 ชิ้นต่อคนต่อปี)

ฮิปสเตอร์ก็เป็นหนอนหนังสือด้วยนะเอ้า! (พูดเล่นหรอกน่า ฮิปสเตอร์พอร์ตแลนด์นั่นมันมีแต่ในแม็กกาซีน)

ทำไมคนพอร์ตแลนด์ถึงรักการอ่านและรักการใช้ห้องสมุด ก็เพราะห้องสมุดพอร์ตแลนด์เริ่มต้นขึ้นจากคนรักการอ่านน่ะสิ!

ย้อนไปเมื่อปี 1846 สมัยพอร์ตแลนด์ยังเป็นเมืองชายแดนฝุ่นตลบ พ่อค้าวาณิชชั้นสูงจำนวนหนึ่งหยิบมือ รวมตัวกันตั้งห้องสมุดแบบบอกรับสมาชิกขึ้น โดยให้สมาชิกจ่ายค่าแรกเข้า 5 เหรียญ และจ่ายอีก 3 เหรียญทุกไตรมาส พวกเขาเรียกมันว่า Library Association of Portland และในยุคแรกมีสมาชิกทั้งระยะสั้นและระยะยาวประมาณร้อยกว่าคน ความตั้งใจแรกเริ่มของคณะผู้ก่อตั้งคือการทำห้องสมุดไว้อ่านกันในหมู่ผู้มีอันจะกินของพอร์ตแลนด์ในขณะนั้น แต่คณะกรรมการบางส่วนไม่เห็นด้วย และพยายามต่อสู้เพื่อให้คนทั่วไปได้มีโอกาสใช้งาน ความพยายามของพวกเขาจะไม่สำเร็จเลย ถ้าไม่ได้มหาเศรษฐีจิตใจดีอย่างจอห์น วิลสัน ที่มอบหนังสือหายากเกือบเก้าพันเล่มที่เขาสะสมไว้ให้กับ LAP หลังจากที่เขาเสียชีวิตลงในปี 1900 โดยในพินัยกรรมระบุว่า ต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้หนังสือเหล่านี้ได้ฟรี

ขณะนั้น LAP มีอาคารห้องสมุดของตนเอง แต่ยังขาดบรรณารักษ์ที่มีความรู้ความสามารถพอที่จะรับมือกับหนังสือบุญหล่นทับจำนวนมหาศาล พวกเขาตัดสินใจจ้างแมรี่ แฟรนซิส อิสม (Mary Frances Isom- คนทั่วไปเรียกเธอว่าแมรี่ แฟรนซิส) ซึ่งจบการศึกษาด้านบรรณารักษ์จากสถาบันแพรทท์ที่นิวยอร์ก ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันสอนด้านวิชาบรรณารักษ์ที่ก้าวหน้าที่สุดในอเมริกาขณะนั้น การจ้างแมรี่ แฟรนซิสนี่เองที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าและพัฒนาการห้องสมุดของพอร์ตแลนด์ให้เจริญรุดหน้าอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

แมรี่ แฟรนซิส

แมรี่ แฟรนซิส เกิดที่แนชวิล รัฐเทนเนสซี่ แต่มาโตที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ้ เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของศัลยแพทย์ประจำกองทัพ ครอบครัวของเธอนับว่าเป็นผู้มีอันจะกิน และให้ความสำคัญกับการศึกษาของผู้หญิง เมื่อพ่อแม่ของเธอเสียชีวิตและทิ้งมรดกก้อนใหญ่ไว้ให้ แมรี่ ฟรานซิสอายุได้ 34 ปี (ถือว่ามากเกินจะแต่งงาน) เธอมองหาว่ามีอาชีพอะไรที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ ถึงแม้ทรัพย์สมบัติที่มีจะพอเลี้ยงเธอไปจนตายโดยไม่ต้องทำอะไรเลยก็ตาม

ในสมัยนั้น อาชีพที่ถือว่าเหมาะสำหรับผู้หญิงฉลาดมีความรู้ คือการเป็นบรรณารักษ์ แมรี่ แฟรนซิสเลือกไปเรียนที่แพรทท์เพราะแม่รี่ ไรท์ พลัมเมอร์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการขณะนั้น มีชื่อเสียงว่าเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า และยัังเป็นคนแรกที่แยกให้มีมุมหนังสือเด็กออกมาเป็นสัดส่วน ห้องสมุดของแพรทท์ยังกลายมาเป็นต้นแบบของห้องสมุดในยุคต่อๆ มาด้วย

พอร์ตแลนด์
พอร์ตแลนด์

เมื่อแมรี่ แฟรนซิสเดินทางมาถึงพอร์ตแลนด์ งานช้างที่เธอต้องเผชิญก็คือการปรับ LAP ให้เป็นห้องสมุดประชาชน คือคนเข้ามาใช้งานได้ฟรี จะทำอย่างไรให้คนทั่วไปสนใจการอ่าน และจะหาเงินทุนที่ไหนมาสนับสนุนการบริหารงานและการขยายตัวของห้องสมุดหน้าใหม่นี้ แทนที่จะได้แต่นั่งคอยบนหอสมุดให้คนเดินมาหา สิ่งที่แมรี่ แฟรนซิสทำก็คือพาหนังสือออกไปหาประชาชน! เธอจัดให้มีรถเคลื่อนที่ (Book Mobile) ออกไปยังจุดต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่บ้านของชาวนายากจนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง จุดไหนที่ชาวบ้านมักมารวมตัวกัน อย่างเช่น ที่ทำการไปรษณีย์ บ้านคน หรือแม้แต่โรงนา เธอก็ตั้งให้เป็นสถานีสำหรับยืมและคืนหนังสือ หากมีผู้อาสาจะเป็นเจ้าหน้าที่ดูแล

สถานีเหล่านี้มีหนังสือประมาณ 50-100 เล่ม ซึ่งล้วนเป็นหนังสือที่ชาวบ้านในชุมชนนั้นขาดแคลนและเรียกร้องมา อย่างเช่น พจนานุกรม สารานุกรม คู่มือ วรรณกรรมต่างๆ หรือหนังสือด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์ในชุมชนชาวนา (ลองนึกว่าสมัยก่อนไม่มีกูเกิ้ล ความรู้จากหนังสือคงจะต้องเป็นสิ่งมีค่ามาก) ในตัวเมืองพอร์ตแลนด์เอง เธอก็สร้างกระแสความสนใจ ด้วยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เวลาที่มีหนังสือใหม่ หรือใช้บิลบอร์ดกระตุ้นให้คนอยากมาใช้บริการห้องสมุด

พอร์ตแลนด์

ในขณะนั้น ห้องสมุดมีอาคารก่ออิฐขนาดใหญ่อยู่หลังเดียวตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งแน่นอนว่าไม่สะดวกหรือเพียงพอที่จะรองรับประชากรของพอร์ตแลนด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากในยุคนั้น โชคดีที่อภิมหาเศรษฐีแอนดรูว์ คาร์เนกี้กำลังบริจาคเงินทุนสำหรับสร้างห้องสมุดใหม่ทั่วอเมริกา สาขาย่อยหลายสาขาของ LAP จึงถูกสร้างขึ้นทั่วทุกมุมเมือง เป็นการกระจายห้องสมุดไปยังชุมชนที่มั่นคงยิ่งไปกว่ารถเคลื่อนที่หรือสถานียืมหนังสือ เพียง 3-4 ปีแรกที่แมรี่ แฟรนซิสเข้ามารับตำแหน่ง ห้องสมุดพอร์ตแลนด์มีสาขาใหม่เพิ่มขึ้นถึง 11 สาขาทีเดียว! (ปัจจุบันนี้มี 19 สาขา) และห้องสมุดกลาง (Central Library) ที่ปัจจุบันนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารประวัติศาสตร์ของอเมริกา ก็ถูกสร้างขึ้นหลังจากเธอเริ่มทำงานเพียง 11 ปีเท่านั้นเอง (อ่านประวัติของห้องสมุดแต่ละสาขาของพอร์ตแลนด์ได้ที่นี่)

พอร์ตแลนด์

นอกจากแมรี่ แฟรนซิสจะเป็นบรรณารักษ์หัวก้าวหน้าแล้ว เธอยังรู้จักเล่นการเมืองด้วย เพราะอย่างที่เล่าไว้ในตอนต้นว่าห้องสมุดพอร์ตแลนด์นั้น ก่อตั้งขึ้นโดยคนชั้นสูงที่ล้วนแต่เป็นผู้ชายและมีอำนาจทางสังคม แมรี่ แฟรนซิสรู้วิธีที่จะเข้าถึงคนเหล่านั้น (เพราะเธอเองก็มาจากครอบครัวมีฐานะ) และสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้หญิงก็สามารถมีบทบาทในการบริหารจัดการได้ โดยที่ไม่ได้ลดความสำคัญของคณะกรรมการที่อยู่มาก่อน ความเชื่อมั่นนั้นเองทำให้เธอสามารถคิดสร้างโครงการต่างๆ ได้มากมาย และได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการ รวมทั้งคนที่เข้ามาทำงานด้วย เรียกว่าคนในก็ไม่ทิ้ง คนนอกก็ออกไปหาแท้ๆ เลย

เรื่องสำคัญมากอีกเรื่องคือเงินทุนสนับสนุน คณะผู้บริหาร LAP รู้ดีว่าลำพังเพียงเทศบาลเมืองพอร์ตแลนด์นั้น คงไม่สามารถให้เงินสนับสนุนได้มากพอ ต้องมองให้สูงขึ้นไปในระดับมณฑล แต่รัฐโอเรกอนเองยังไม่มีกฏหมายรองรับเรื่องนี้ แมรี่ แฟรนซิสจึงทำการร่างกฏหมายห้องสมุด ที่ระบุให้มณฑลมัลท์โนมาห์ต้องกันภาษีโรงเรือน (Property Tax) ส่วนหนึ่งไว้เพื่อใช้สนับสนุนห้องสมุด แล้วไปล็อบบี้สมาพันธ์สตรีโอเรกอนซึ่งค่อนข้างมีอิทธิพล ให้ลงคะแนนเสียงสนับสนุน จนกฏหมายผ่านและได้รับการบังคับใช้ในปี 1901 และกลายเป็นระบบห้องสมุดแรกในฝั่งตะวันตกของอเมริกาที่ได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และยังคงมีผลบังคับใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันรัฐโอเรกอนยังคงใช้ภาษีโรงเรือนมาสนับสนุนห้องสมุดและโรงเรียน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะคนในชุมชนนั่นเองเป็นผู้ใช้และได้รับประโยชน์จากทั้งสองสถาบันนี้โดยตรง (แอบกระซิบว่าภาษีโรงเรือนของที่นี่แพงมาก บ้านเราจ่ายปีละเกือบสองแสน)

อีกเรื่องที่เป็นคุณความดีของแมรี่ แฟรนซิสก็คือห้องหนังสือคุณภาพสำหรับเด็กๆ ที่ได้รับการปลูกฝังมาจากแพรทท์ เธอบอกว่า “การสร้างให้เด็กๆ โตขึ้นกลายเป็นนักอ่านนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องที่พึงกระทำแล้ว ยังเป็นการสร้างฐานของผู้ใช้งานห้องสมุดในอนาคตด้วย” เธอรู้ดีว่ามีเด็กจำนวนมากมายที่ไม่สามารถเดินทางมายังห้องสมุดใหญ่ในเมืองได้ เธอจึงทำกล่องหนังสือสำหรับเด็ก แล้วแจกจ่ายไปยังโรงเรียนทั่วทั้งมณฑล “ถ้าหากเราละเลยที่จะสร้างโอกาสในการอ่านให้กับเยาวชนของเราแล้ว รัฐก็จะต้องบาดเจ็บจากการที่มีประชากรที่ด้อยคุณภาพ และห้องสมุดก็สมควรได้รับการตำหนิ” คือวาทะที่เธอกล่าวเอาไว้

พอร์ตแลนด์
พอร์ตแลนด์

ความสามารถของแมรี่ แฟรนซิส คณะกรรมการของ LAP ซึ่งทั้งมีวิสัยทัศน์และมีทุนทรัพย์ (ว่ากันว่าประธานกรรมการที่ทำงานคู่กับแมรี่ แฟรนซิสตลอดช่วงที่เธอเป็นหัวหน้าบรรณารักษ์คือ วินสโลว์ แอร์ – Winslow Ayer นั้น ต้องควักสมุดเช็คออกมาสมทบทุนให้ห้องสมุดอยู่เนืองๆ) เงินสนับสนุนจากรัฐที่ได้มาจากภาษีของประชาชน และความกระตือรือร้นของประชาชนเอง ทำให้ระบบห้องสมุดมณฑลมัลท์โนมาห์เจริญรุดหน้า และถือว่าเป็นระบบห้องสมุดที่น่าศึกษาและใช้เป็นแบบอย่างมากที่สุดในอเมริกาเลยก็ว่าได้

เราเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นบรรณารักษ์จากรัฐอื่น เขาเล่าอย่างกระตือรือร้นว่าเมื่อเทียบกับห้องสมุดนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสถาบันห้องสมุดที่แข็งแรงและขลังที่สุดในอเมริกาแล้ว ห้องสมุดมณฑลมัลท์โนมาห์นั้นถือเป็นหัวหอกในด้านการเข้าถึงประชาชน คือมีความเป็นกันเองและหัวก้าวหน้ากว่า และการมีภาษีสนับสนุนนั้นทำให้ห้องสมุดมีฐานะมั่นคง ต่างจากห้องสมุดในรัฐอื่นๆ หลายต่อหลายรัฐ ที่ได้รับเงินทุนแบบกระพร่องกระแพร่ง จึงไม่เจริญเท่าที่ควร เมืองพอร์ตแลนด์เองก็ชัดเจนเรื่องความเป็นเมืองหนังสือ เพราะถึงแม้จะมีห้องสมุดให้คนอ่านหนังสือได้ฟรีแล้ว ร้านหนังสือใหญ่ยักษ์อย่าง Powell’s ก็เป็นร้านหนังสือระดับตำนาน และยังมีคนให้การสนับสนุนมาก พอๆ กับร้านหนังสือเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง เท่ากับว่าการมีห้องสมุด ไม่ได้ทำให้ร้านหนังสือขายไม่ได้ แต่กลับเป็นการส่งเสริมและสร้างบรรยากาศการอ่านให้คึกคักขึ้นต่างหาก

เราเอง ในฐานะคนที่กลายมาเป็นพลเมืองของพอร์ตแลนด์ และใช้บริการห้องสมุดมาได้ราว 6 ปีกว่า ก็รู้สึกทึ่งจริงๆ กับความเป็นมิตร และความกว้างขวางของหนังสือและสื่อต่างๆ ที่ห้องสมุดมีให้คนได้ใช้ คือจะหาหนังสือ เพลง หนังอะไรก็มีไปหมด (หนังทดลองเรื่องแรกของพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ อย่างดอกฟ้าในมือมาร ยังมีเลยอ่ะคิดดู) แถมยังมีอะไรใหม่ๆ ออกมาให้ได้ใช้งาน อย่าง Hoopla ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นห้องสมุดสำหรับ(ยืม)ดูหนังฟังเพลง ดาวน์โหลดอีบุ๊กส์ และฟังหนังสือเสียงให้ใช้งานได้ด้วย (ห้องสมุดเป็นผู้จ่ายค่าสมาชิกให้กับ Hoopla ส่วนสมาชิกห้องสมุดใช้ฟรี เย้!)

Multnomah County Library เบื้องหลังการสร้างห้องสมุดในฝันที่เมืองพอร์ทแลนด์
Multnomah County Library เบื้องหลังการสร้างห้องสมุดในฝันที่เมืองพอร์ทแลนด์

วิธีการใช้ห้องสมุดก็ง่ายมากๆ เพียงแค่สมัครเป็นสมาชิกที่สาขา (ใช้แค่ใบขับขี่ที่แสดงว่าเราเป็นคนพอร์ตแลนด์) ได้เลขที่สมาชิกมาแล้วก็เข้าไปเสิร์ชหาหนังสือหรือสื่อที่ต้องการในเว็บไซต์ หรือในแอพฯ บนมือถือหรือแท็บเล็ทก็ได้ จากนั้นก็ลงทะเบียนเข้าไปจองหนังสือนั้นได้เลย สามารถเลือกได้ด้วยว่าจะไปรับที่สาขาไหน พอหนังสือมาถึงแล้วก็จะมีอีเมล์หรือข้อความแจ้งมาทางมือถือ แล้วพอไปยืมออกมา ใกล้จะถึงกำหนดคืน ก็จะมีข้อความมาเตือนอีกรอบ จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับ ใครไม่รู้จะอ่านหนังสืออะไรดี เวลาไปที่สาขาก็จะมีการเอาหนังสือมาแนะนำหมุนเวียนไปเรื่อย โดยแต่ละสาขาจะคิดหาธีมของแต่ละสัปดาห์เพื่อเลือกหนังสือมาวางให้ไม่ซ้ำกัน หรือในเว็บไซต์ก็มีแนะนำหนังสือหลากหลายรูปแบบ ทั้งหนังสือใหม่ หนังสือได้รางวัล หนังสือขายดี หรือหนังสือที่ทีมงานแนะนำ หรือมีการให้ส่งข้อความ ‘ถามบรรณารักษ์’ ได้ด้วยว่าความสนใจเราประมาณนี้ มีหนังสืออะไรแนะนำบ้าง จะเอาใจกันไปถึงไหนเนี่ย!

อีกกิจกรรมหนึ่งที่บ้านเราชอบมากคือการพาลูกๆ ไปห้องสมุด (ลูกสาวเราทั้งสองคนมีบัตรสมาชิกห้องสมุดตั้งแต่อายุได้แค่สัปดาห์เดียว เพราะสมัครง่ายมาก แค่พ่อหรือแม่แสดงใบขับขี่ก็ได้แล้ว) เพราะทุกสาขาจะมีห้องหนังสือเด็กที่มีหนังสือภาพและหนังสือเด็กมากมาย จัดเป็นหมวดหมู่ตามช่วงอายุ มีมุมของเล่น และมีชั่วโมงเล่านิทานหลายวันต่อสัปดาห์ จะเลือกไปใช้บริการที่สาขาไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสาขาที่ใกล้บ้าน แต่คนที่นี่ส่วนใหญ่ก็มักจะถามกันว่า “บ้านอยู่ใกล้ห้องสมุดไหน” เป็นเรื่องปกติ เมื่อถึงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน ก็ยังมี Summer Reading Program ให้เด็กๆ อ่านหนังสือสะสมคะแนน เพื่อรับรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ที่น่ารักกำลังดี ส่วนผู้ใหญ่ก็มีโปรแกรมอ่านหนังสือที่น่าสนุกไม่แพ้กัน แถมของรางวัลใหญ่ปีนี้ ที่เป็นกระเป๋ารูปใบยืมหนังสือโบราณมันช่างน่ารักน่าชังเสียนี่กระไร

Multnomah County Library เบื้องหลังการสร้างห้องสมุดในฝันที่เมืองพอร์ทแลนด์
Multnomah County Library เบื้องหลังการสร้างห้องสมุดในฝันที่เมืองพอร์ทแลนด์

นอกจากนี้ ห้องสมุดยังมีบริการจัดหางานสำหรับคนไร้บ้าน สอนทำการบ้านสำหรับเด็กเล็ก เรื่อยไปจนถึงการทำรายงานสำหรับเด็กมัธยมปลาย มีข้อมูลทำวิจัยสำหรับผู้ใหญ่ สอนใช้คอมพิวเตอร์หรือสอนอ่านหนังสือสำหรับวัยเกษียณ มี Book Club มีกลุ่มถักนิตติ้ง และห้องกิจกรรมสำหรับให้คนมาขอยืมใช้งาน (ยืมได้ทุกอย่างเลยแฮะ) เรียกว่ามีทุกสิ่งสำหรับทุกคน สมดังที่แมรี่แฟรนซิสกล่าวไว้ว่า “ห้องสมุดประชาชน ดูแลโดยประชาชน และเพื่อประชาชน” (The public library is the people’s library. It’s maintained by the people for the people.) อย่างแท้จริง

ฝันหวานๆ ของเราคือการได้เห็นระบบห้องสมุดแบบนี้ในกรุงเทพฯ และทั่วเมืองไทย ห้องสมุดที่มีวรรณกรรมทั้งเก่าและร่วมสมัย วรรณกรรมเด็ก ภาพยนตร์ไทย เพลงทุกยุคทุกสมัย อีบุ๊กส์ทุกปกที่อยากอ่าน มีหนังสือทำมือ มีกิจกรรมทางวรรณกรรมสนุกๆ ให้คนได้มาคุยกัน มีสาขากระจายอยู่ในทุกเขต (ห้องสมุดลาดพร้าว ห้องสมุดบางบัวทอง ห้องสมุดฝั่งธน ห้องสมุดดอนเมือง ฯลฯ ฟังดูดีไหม) แล้วแต่ละสาขาต้องเฟี้ยวมากๆ คือไม่ใช่จะมาแนวห้องสมุดเชยๆ บรรณารักษ์เกล้ามวยใส่แว่นนี่ไม่เอาแล้วนะจ๊ะ เดี๋ยวนี้โลกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว (บรรณารักษ์พอร์ตแลนด์บางคนนี่สักลายพร้อยเชียว)

ที่สำคัญคือผู้คนจูงลูกจูงหลานไปหาหนังสืออ่านกัน หรือไม่ก็ไปฟังเล่านิทาน เวลามีหนังสือใหม่มาก็ถามไถ่กันว่า “นี่ๆ อ่านเล่มนี้หรือยัง มาแล้วนะ” อยู่ที่ไหนก็เข้าไปจองหนังสือได้เพราะเว็บไซต์และแอพฯ ใช้ง่ายโหลดได้อย่างด่วน ไม่ช้าและงงจนคนท้อถอยที่จะใช้งาน และที่สำคัญ รัฐบาลต้องเป็นผู้ออกเงินสนับสนุน ใส่ไปในกฏหมายเลยนะคะหนูขอร้อง แล้วอย่ามาแก้กฏหมายกันบ่อยๆ อิฉันงงมาก คือกว่าพอร์ตแลนด์เค้าจะมาถึงวันนี้ต้องใช้ความพยายามและเวลาร้อยกว่าปี แต่เรามีตัวอย่างให้ลอก (ดีขนาดนี้ช่วยกรุณาลอกหน่อยเถอะค่ะ) ได้เลยเนี่ย อย่าลังเลเลยนะคะ ประชาชนรักการอ่านอย่างพวกเราก็ต้องช่วยกันกดดัน สร้างกระแสร่วมกัน เราต้องการห้องสมุดดีๆ เราไม่อยากให้เด็กและผู้ใหญ่ทุกวันนี้อ่านแต่หนังสือซุบซิบข่าวดารา เราอยากให้เขารู้ว่าหนังสือและข้อมูลที่มีสาระทำให้จิตวิญญาณของเขาเข้มแข็ง แล้วปัญหาสังคมมากมายจะลดลงอย่างมหาศาล ประหยัดงบประมาณรัฐไปอีกโข

มาช่วยกันฝันถึงห้องสมุดในฝัน แล้วช่วยกันทำมันให้เป็นความจริงอย่างที่พอร์ตแลนด์และมณฑลมัลท์โนมาห์ทำมาแล้ว ดีไหมคะ

multcolib.org

ขอขอบคุณ : พิชาญ สุจริตสาธิต  และ Multnomah County Library

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์

Photographer

Avatar

พิชาญ สุจริตสาธิต

ช่างภาพอิสระ ชอบทำงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ ชอบปลูกต้นไม้ ชอบทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะโดยไม่จำกัดอุปกรณ์ เพราะเชื่อว่าความรู้ทุกอย่างจะส่งเสริมกัน และทำให้เราเป็นคนที่มองโลกได้ละเอียดขึ้น