คุณว่าคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองวัดกันด้วยอะไร…
ถ้าถามเรา คำตอบที่ผุดขึ้นในหัวอย่างแรกคือ พื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบขนาดของพื้นที่สีเขียวสาธารณะต่อจำนวนคนที่อยู่ในเมืองนั้น
และถ้าจะวัดกันตามคำตอบที่ว่ามานี้ พอร์ตแลนด์ก็ถือว่าเป็นเมืองที่เราว่าผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีถึงดีมาก
ไม่เชื่อลองถามใครที่เคยมาเมืองนี้ดูก็ได้ เพราะถ้าให้พูดว่ารู้สึกยังไงกับพอร์ตแลนด์ ก็มักจะได้คำตอบแรกๆ ว่า “มันเขี๊ยวเขียว!” อยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่ตามบ้านเรือน ถนนหนทาง ที่มีต้นไม้ใหญ่ๆ ขนาบสองข้าง ไปจนถึงริมแม่น้ำ ตามสวนสาธารณะ และในป่าที่อยู่ติดๆ กันกับชุมชนชนิดเดินไม่กี่สิบก้าวก็ถึง


ตามดัชนีสวนสาธารณะที่เรียกว่า ParkScore® index ขององค์กรอิสระที่ชื่อ Trust for Public Land ซึ่งทำการเปรียบเทียบเมืองใหญ่ที่สุดในอเมริกาจำนวน 100 เมือง พอร์ตแลนด์ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ มีประชากรแค่ไม่ถึงล้านคน กลับมี ParkScore® สูงเป็นอันดับที่ 5 (รองจากเมืองใหญ่เบิ้มอย่างมินนิอาโปลิส วอชิงตัน ดี.ซี. และซานฟรานซิสโก โดยมีพื้นที่สีเขียวถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่เมืองทั้งหมด) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่ไม่น่าแปลกใจนักสำหรับคนพอร์ตแลนด์เอง เพราะชีวิตของคนที่นี่ล้วนผูกพันอยู่กับการไป Park อย่างแนบจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างง่ายๆ…ครอบครัวเราเอง …ในละแวกบ้าน (คือเดินไปได้ในเวลาไม่เกิน 10 นาที) มีสวนสาธารณะขนาดย่อมขนาดใหญ่อยู่หลายสวน มีป่าซึ่งเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อนชื่อ Mt.Tabor (เมานต์เทเบอร์) อยู่ห่างไปแค่ 10 ถนน มีสนามเด็กเล่นทั้งแบบมีเครื่องเล่นมาตรฐานทั่วไป หรือสนามเด็กเล่นแบบธรรมชาติ* (Nature Playground) เกือบ 10 แห่ง และโดยเฉลี่ยบ้านเราไปใช้พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ประมาณสัปดาห์ละ 3 หนเป็นอย่างน้อย
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเขียวของพอร์ตแลนด์ก็คือ ก่อนหน้านี้เพียง 70 ปี พอร์ตแลนด์เคยได้ฉายาว่าเป็น Stumptown หรือเมืองที่มีแต่ตอไม้ เพราะมีการขยายเมืองอย่างก้าวกระโดด และต้องตัดต้นไม้เป็นจำนวนมากจนเหลือแต่ตอ ชาวเมืองในขณะนั้นรู้สึกเดือดร้อนกับปรากฏการณ์นี้ และมีความเป็นห่วงว่าพื้นที่สีเขียวกับทัศนียภาพที่สวยงามจะถูกทำลายจนไม่เหลือ จึงรวมตัวกันร้องเรียนไปถึงผู้มีอำนาจ โชคดีที่ Tom McCall (ทอม แมคคอลล์) ผู้ว่าการรัฐขณะนั้น มีวิสัยทัศน์และมีหัวใจสีเขียว เขา ‘ได้ยิน’ เสียงของประชาชนและผลักดันจนโอเรกอนเป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้กฎหมาย Urban Growth Boundary ที่มีข้อใหญ่ใจความกำหนดขอบเขตของเมือง หากต้องการขยายก็ต้องอาศัยการโตแนวดิ่ง คือสร้างตึกสูงให้มากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้ชานเมืองแผ่ขยายไปไม่จบสิ้น จนรุกรานอาณาเขตของป่าไม้หรือพื้นที่ทำไร่ไถนาของชาวบ้านเขา


ในสุนทรพจน์ที่ผู้ว่าฯ แม็คคอลล์กล่าวไว้เมื่อปี 1973 นั้น มีตอนหนึ่งที่เขาเรียกการพัฒนาที่ดินแบบไม่ยั้งคิดว่าเป็น “การคุกคามสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตอย่างหน้าไม่อาย และถือเป็นการปล้นสะดมจากผืนแผ่นดิน” เลยทีเดียว ท่านผู้นำเปี่ยมวิสัยทัศน์และน่านับถือท่านนี้ ใช้วิธีให้ทั้งชาวนา นักพัฒนาที่ดิน และนักสิ่งแวดล้อม เข้ามามีส่วนร่วมในการวางผังเมือง จนในที่สุดก็เกิดความตกลงร่วมกันว่าจะกั้นเขตเมือง เขตป่าไม้ และเขตที่ดินทำกิน ไม่ให้ล่วงเกินกัน และมีคณะที่งานที่เรียกว่า Land Conservation and Development Commission ซึ่งมาจากตัวแทนของแต่ละเขต คอยกำกับการวางแผนใช้ที่ดินของเขตตัวเองให้เป็นไปตามแผนแม่บท ทีนี้ก็คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าโอเรกอนหรือพอร์ตแลนด์นั้น ไม่ได้ ‘อยู่ดีๆ ก็เขียว’ แต่เกิดจากความร่วมมือของรัฐและประชาชนมาตั้งแต่ต้น คือคนเล็กๆ ช่วยกันผลักดันจนเป็นนโยบาย และนโยบายก็ย้อนกลับมาช่วยควบคุมคนอีกทีหนึ่ง
พูดถึงเรื่องคน ก็อดไม่ได้ที่จะเล่าให้ฟังถึงการควบคุมกันเอง โดยยังไม่ต้องพูดถึงนโยบายหรือกฎหมายอะไรทั้งนั้น ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราเจอมากับตัวเองก็อย่างเช่นตอนที่เพิ่งซื้อบ้านเมื่อ 3 ปีก่อน เราให้คนมาตัดต้นคามิเลียที่อยู่หน้าบ้าน เพราะรู้สึกว่ามันใหญ่เกะกะที่จอดรถและระสายไฟ ปรากฏว่าเดินไปทางไหนก็โดนเพื่อนบ้านมาทัก (บางคนที่อายุเยอะหน่อยก็ถึงกับดุ) ว่าทำไมยูถึงไปตัดต้นไม้ที่อยู่มานาน บางคนกดดัน มาถามอยู่เรื่อยว่าตกลงบ้านยูจะปลูกต้นอะไรแทน ทีแรกเราถึงกับงง เอ๊ะ ต้นไม้มันอยู่ในเขตบ้านฉัน ทำไมจะมาลงประชาทัณฑ์กันเยี่ยงนี้ แต่อยู่ๆ ไปก็เริ่มเข้าใจ ว่าคนที่นี่เขาคิดว่าต้นไม้และธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันรักษา ไม่ใช่ว่าคุณซื้อที่ดินแล้วนึกจะตัดจะโค่นก็ทำได้ตามอำเภอใจ ยิ่งต้นไม้ที่อยู่ตรงถนนหน้าบ้าน (Street Tree) นั้น ยิ่งเป็นข้อบังคับของเมืองว่าเจ้าของบ้านจะต้องดูแล และออกค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเองด้วย ถ้าจะตัดต้องทำเรื่องขออนุญาตจากเทศบาลเมือง และต้องมีเหตุผลเพียงพอ เช่น ต้นไม้เป็นโรค หรืออยู่ในลิสต์ต้นไม้ที่สร้างความรำคาญ (Nuisance Plant List) และมีข้อยกเว้นห้ามตัดต้นไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น Heritage Tree** เพราะถือว่าเป็นต้นไม้เก่าแก่และมีความสำคัญ


ที่หน้าบ้านเรามีต้นไม้ใหญ่อยู่ 2 ต้น คาดว่าจะปลูกมานานหลายสิบปี ต้นหนึ่งเป็น Silver Maple สวยงามดี แต่อีกต้นเป็น Black Locust ที่ถึงจะโตใหญ่ แต่ก็เอียงกะเท่เร่และมีรากใหญ่ชอนไชไปผุดต้นเล็กๆ ทั่วไปหมด เข้าไปเช็กดูก็ติดโผอยู่ในกลุ่มต้นไม้สร้างความรำคาญจริงๆ เลยทำเรื่องขออนุญาตเทศบาลเพื่อจะตัดทิ้ง เวลาขอก็ต้องบอกด้วยว่าจะปลูกต้นอะไรทดแทน และไม่ใช่จะปลูกอะไรมั่วซั่วก็ได้ ต้องเป็นต้นไม้ที่อยู่ใน Street Tree List อีกด้วยจ้า ได้ใบอนุญาตมาแล้วก็ต้องไปหาบริษัทรับตัดต้นไม้ (ซึ่งมีมากมายเพราะเป็นธุรกิจที่เขียวสะพรั่งไม่แพ้ต้นไม้ในพอร์ตแลนด์) มาตัด เสียเงินไปทั้งสิ้น 1,750 เหรียญฯ หรือประมาณ 60,000 บาทเท่านั้นเอ๊ง! ขอบคุณนะจ๊ะใครก็ไม่รู้ที่มาปลูกทิ้งไว้ให้ ใจดีจริงๆ เลย เฮือก…


ขอยกอีกตัวอย่างใกล้ๆ บ้าน แต่คราวนี้งานเข้ามากกว่าคราวที่เราโดนดุเรื่องตัดพุ่มคามิเลีย เรื่องมันมีอยู่ว่าที่ถนนถัดไปมีโครงการจะมาสร้างอพาร์ตเมนต์ขนาด 14 คูหา แต่ปรากฏว่ามีอันจะต้องตัดต้นไม้ใหญ่อายุเกือบร้อยปีที่อยู่ในที่นั้น ชาวบ้านรู้เข้าก็รับไม่ได้ ถึงกับรวบรวมรายชื่อและมีการร้องเรียนไปยังบริษัทอสังหาริมทรัพย์เจ้าของโครงการ ต้องส่งตัวแทนมาประชุมกัน แล้วสุดท้าย บริษัทก็ต้องยอมเสียรายได้ แก้แบบให้เหลือแค่ 12 ยูนิต เพื่อรักษาต้นไม้ใหญ่ให้ยังคงร่มเงาและความร่มใจแก่ชาวบ้านละแวกนี้ต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน
ถึงจะเป็นตัวอย่างที่ยกมาจากแถวบ้าน แต่มันก็เป็นภาพเล็กๆ ที่สะท้อนความเป็นเมืองรักษ์ต้นไม้ของพอร์ตแลนด์ออกมาได้อย่างชัดเจน เพราะไม่ว่าจะจิ้มนิ้วลงไปตรงไหนของแผนที่ เรื่องคล้ายๆ หรือแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นอยู่เสมอ เรียกว่าประชาชนที่นี่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ แล้วยังมีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและเทศบาลเมืองที่เอาจริงเอาจัง การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเกิดขึ้นได้ภายในแค่ไม่ถึงชั่วอายุคน ฟังดูแล้วก็อยากให้ฝันสีเขียวที่เป็นจริงแบบนี้เกิดขึ้นบ้างที่เมืองไทย ห้างกับคอนโดฯ พอแล้วได้ไหม อยากเก็บต้นไม้ใหญ่ อยากปลูกต้นไม้ใหม่ อยากให้คนมองไกลๆ และคิดเผื่อไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะที่คนพอร์ตแลนด์มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทุกวันนี้ได้ ก็เพราะคนรุ่นก่อนช่วยกันปลูกต้นไม้ และวางรากฐานการจัดการเอาไว้เป็นอย่างดี เวลาพูดถึงการลงทุน เรามักจะนึกถึงการลงทุนที่เป็นตัวเงิน หากแต่ลืมไปว่าการปลูกต้นไม้นั้น เป็นการลงทุนทางสังคมที่ให้ผลในหลายมิติและในระยะยาว แถมยังมีความยั่งยืนไปอีกหลายชั่วอายุคนด้วย



ขอขอบคุณ : พิชาญ สุจริตสาธิต
*Nature Playground เป็นโครงการใหม่ของ Portland Parks & Recreation (ซึ่งรับหน้าที่ดูแลสวนสาธารณะและ Community Center เกือบ 300 แห่งทั่วพอร์ตแลนด์) ที่ออกแบบสนามเด็กเล่นให้มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเอาท่อนไม้ใหญ่ๆ มาเรียงให้เด็กปีนป่าย มีบริเวณให้เล่นน้ำ เล่นทราย หรือซุ้มกิ่งไม้ และแต่ละส่วนเชื่อมเข้าหากันอย่างกลมกลืน
**Heritage Tree คือต้นไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสภาเทศบาลเมืองพอร์ตแลนด์ว่ามีขนาดใหญ่ อายุเก่าแก่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และพฤกษศาสตร์ จึงไม่สามารถตัดหรือลิดกิ่งได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากสภาฯ ทั้งเมืองพอร์ตแลนด์มีต้นไม้มรดกทั้งสิ้นเกือบ 300 ต้น ทุกต้นมีแผ่นเหล็กบอกชื่อและรายละเอียดทางพฤกษศาสตร์ติดไว้ ที่ถนนบ้านเราก็มีกับเขาด้วย 1 ต้น เป็นต้นแปะก๊วย และอยู่ในฐานข้อมูลต้นไม้มรดกลำดับที่ 205 ความดีงามของโครงการนี้ก็คือ ใครก็สามารถเสนอต้นไม้เพื่อให้เป็น Heritage Tree ได้ (จะได้ไม่ต้องถูกตัด) เพราะปกติก็มีการเพิ่มต้นไม้มรดกทุกปีอยู่แล้ว และตอนนี้มีหนังสือชื่อ From Stumptown to Tree Town: A Field Guide for Interpreting Portland’s History through its Heritage Trees โดย David-Paul B. Hedberg ซึ่งเล่าถึงที่มาที่ไปและชวนกันดูต้นไม้มรดกในพอร์ตแลนด์ น่ารักและได้ความรู้มากๆ สามารถดาวน์โหลดอ่านได้ ที่นี่