“ตอนแรกก็ไม่เข้าใจนะว่าสตันต์มันคืออะไร คิดแค่ว่าคงแค่เตะต่อยเหมือนดาราที่อยู่ในหนัง แต่พอได้เข้ามา ฟ้าว่าเสน่ห์การทำงานสตันต์จริง ๆ อยู่ตรงที่เราได้ทำอะไรที่คนปกติเขาไม่ได้ทำกัน” ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ หรือ ‘ซีซาร์’ ในวงการสตันต์ระดับอินเตอร์ กล่าวแบบนั้นถึงอาชีพสตันต์หญิง หรือ ‘สตันต์วูแมน’ หนึ่งในจำนวนไม่เกินนิ้วมือข้างเดียวของบ้านเรา  

ฟ้าเกิดและเติบโตมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ในครอบครัวที่มีน้องชายอีกคนที่ห่างกัน 3 ปี พ่อและแม่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ตลอดมาตั้งแต่เล็กไม่มีใครเกี่ยวข้องกับทีมงานถ่ายทำกองหนัง ละคร หรือแวดวงกีฬาประเภทใดที่พอจะใกล้กับอาชีพปัจจุบัน 

แต่นับตั้งแต่จำความได้ ฟ้าเล่าว่าตัวเองชอบเล่นอะไรผาดโผนเหมือนเด็กผู้ชาย และเล่นกีฬาทุกประเภทที่โรงเรียนมี ก่อนจะพบว่าคงสนุกดีไม่น้อยหากได้เตะต่อยมวยเหมือนในทีวีตามที่เธอกล่าว จึงไปขอพ่อเรียนมวยไทย แต่เป็นธรรมดาที่ต้องเป็นห่วงลูกสาวคนเดียวจะเจ็บตัว ฟ้าเลยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนที่เด็กหญิงจะได้รู้จักศิลปะการต่อสู้อีกแบบอย่างเทควันโด คราวนี้ด้วยแรงสนับสนุนจากผู้เป็นย่า ฟ้าจึงได้ฝึกเทควันโดเรื่อยมาจนเติบโตขึ้นเป็นนักกีฬาสร้างชื่อเสียงให้สถาบัน และคว้าเหรียญรางวัลในระดับท้องถิ่นมามากมาย 

เมื่อเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ฟ้ายังคงเป็นนักกีฬาเทควันโดให้มหาวิทยาลัย แต่เริ่มมีความสนใจน้อยลง กระทั่งวันหนึ่งเมื่อ “อยากตีลังกา” แบบที่เธอบอก ด้วยคำแนะของเพื่อน จึงทำให้ฟ้าได้เจอสถานที่ไว้ให้ทำแบบนั้นที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ซึ่งมีอุปกรณ์พร้อม และนอกจากได้พบนักกีฬาสารพัด ทั้งยิมนาสติกไปจนถึงกลุ่มเอ็กซ์ตรีมอย่างฟรีรันนิงซึ่งมักมาฝึกซ้อมแถวนั้น ฟ้ายังได้พบทีมสตันต์แมนตัวจริงที่มาใช้ที่นั่นด้วยจุดประสงค์เดียวกัน และจากการเห็นแววของสาวคนนี้ เธอจึงถูกชักชวนให้มาร่วมกันฝึกเพื่อเป็นหนึ่งในทีมสตันต์แมน

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลงผู้อุทิศให้วงการสตันต์แมนหมดหัวใจ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ฟ้าก็ได้รับการว่าจ้างในฐานะนักแสดงคิวบู๊ ซึ่งบางครั้งถึงขั้นต้องเสี่ยงตายเพื่อความบันเทิงของผู้ชม ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ฟ้าทำหน้าที่เป็นสตันต์ให้กับทุกกองถ่ายมาหมดแล้ว ไม่ว่าหนัง-ละครไทย ไปจนถึงหนังต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในบ้านเรา ล้วนแต่เรียกใช้บริการของเธอ  

หนังฝรั่งเศสอย่าง Les Bodin’s en Thaïlande (2021) หนังไทยอย่าง AI Love You (2022) หนังอินเดียอย่าง KATE (2021) หรือ Enthiran 2.0 (2018) หนังฮอลลีวูดอย่าง Extraction (2020) หนังอินโดฯ อย่าง Triple Threat (2019) หนังจีนอย่าง The Big Call (2017) หรือ Paradox (2017) และหนังญี่ปุ่นอย่าง Lupin III (2015) คือตัวอย่างรายชื่อผลงานนานาชาติที่ฟ้าเคยผ่านมา และล่าสุดคือการได้เป็นสาวไทยคนเดียวที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสตันต์แมนของ เฉินหลง ใน Project X-Traction (Snafu) หนังเรื่องใหม่ของเฮียจมูกหินที่อีกไม่นานคงได้ดูกันภายในปีนี้ 

ด้วยบทบาทหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นจอเล็กหรือใหญ่ น้อยคนจะได้เห็นเธอแบบเต็มตา แต่ในบ่ายวันหนึ่งที่ระอุถึง 38 องศาเซลเซียส เธอก็มานั่งลงตรงหน้าเพื่อให้คุยกันแบบยาว ๆ และไม่ใช่แค่วงหน้าที่ได้เห็นมากกว่าในหนัง เธอยังเผยถึงความคิดกับทิศทางของสตันต์เมืองไทย ประสบการณ์ดี-ร้ายในอาชีพ แพสชันของ จา พนม ความสวยที่ไม่สนรอยแผล รัฐบาลกับซอฟต์พาวเวอร์ ความน้อยใจในอาชีพ ความมุ่งมั่น และอีกมาก ที่น่าจะพอให้สัมผัสได้ถึงอีกความหวังของหนังบู๊ไทยจากสตันต์วูแมนคนนี้

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลงผู้อุทิศให้วงการสตันต์แมนหมดหัวใจ

นอกจากสตันต์ คุณทำอาชีพอื่นด้วยมั้ย

ไม่มีค่ะ เป็นสตันต์ฟูลไทม์

ในบ้านเรามีสตันต์ผู้หญิงแบบคุณกี่คน

น่าจะสัก 3 – 4 คน

ทำไมผู้หญิงไทยถึงไม่คอยทำอะไรแบบนี้ หรือเขาคิดกันได้

(หัวเราะ) ไม่รู้ แต่เพื่อนเคยถามนะว่า ไม่เจ็บเหรอ ไม่ห่วงสวยเหรอ แต่ฟ้าก็ชอบเจ็บตัวแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก จักรยานล้มบ้างอะไรบ้าง เราก็ไม่เป็นไร ชอบกระโดดลงมาจากกำแพง ความผาดโผนเป็นอะไรที่ท้าทายกับเราดี 

ผิดกับผู้หญิงทั่วไป แค่แผลเป็นยังกลัวกันมาก

แต่ฟ้าไม่กลัว ฟ้ามีแผลเป็นเยอะมาก เต็มตัวเลย เอาแค่แต่งหน้า ฟ้ายังไม่ชอบแต่งเลย แต่ถ้าถามว่าอยากสวยมั้ย ก็อยากค่ะ เพราะเราเป็นผู้หญิง อย่างไรก็ต้องอยากสวยอยู่แล้ว แต่ขี้เกียจเสียเวลาแต่งหน้า สู้เราเอาเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นได้เยอะกว่า 

คุณเป็นทอมหรือเปล่า

ไม่ได้เป็น (หัวเราะ) เคยมีคนถามแบบนี้ ตอนนั้นประมาณ ม.3 เขาฮิตตัดผมสั้น พอเทรนด์ใหม่มา เราก็อยากซอยผมบ้าง แต่โรงเรียนไม่ให้ตัด ต้องเสมอติ่งหู ห้ามซอยเหนือหู แต่เราอยากทำเลยไปทำมา พอพวกน้อง ๆ ม.2 เห็นก็กรี๊ดกันใหญ่ (หัวเราะ) ก็บอกว่าใจเย็น ๆ นะ พี่ไม่ใช่ทอม อย่างวันวาเลนไทน์ก็จะเอาสติกเกอร์หัวใจมาแปะให้ เอาดอกกุหลาบมาให้ น้อง ๆ มาเต็มเลย เพราะเราก็เล่นกีฬาด้วย น้อง ๆ เขาก็เห็นกัน (หัวเราะ)

ได้เหรียญอะไรมาก็มาก ทำไมไม่มุ่งมั่นไปทางเป็นนักกีฬาเทควันโดที่ฝึกมาแต่เด็ก ตั้งเป้าจะไปโอลิมปิกอะไรแบบนั้น

ไม่ใช่แนวของฟ้าเลย เราแค่อยากออกกำลังกายให้ตัวเองมีความสุข เราก็ขยันซ้อม แต่แค่อยากให้ครอบครัวภูมิใจมากกว่า เพราะไหน ๆ เขาก็ให้โอกาสเรามาทำแล้ว เราควรได้เหรียญให้เขา แล้วอีกอย่างคือเราชอบซ้อมเตะซ้อมต่อยอะไรแบบนี้ด้วย 

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลงผู้อุทิศให้วงการสตันต์แมนหมดหัวใจ
ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลงผู้อุทิศให้วงการสตันต์แมนหมดหัวใจ

ชอบอะไรในเทควันโด เพราะได้เตะคนหรือเสียงเชียร์เวลาลงแข่ง

น่าจะชอบตอนเวลาเราไปแข่งแล้วมีคนมาเชียร์เราเยอะ ๆ เหมือนทำให้เรามีกำลังใจฮึกเหิมในการแข่ง เวลาซ้อมเราก็นึกถึงว่าเราจะทำได้มั้ย 

แล้วความเป็นนักกีฬาแบบนั้นมันไปสุดที่ตรงไหน

น่าจะเป็นตอนเข้ามหาวิทยาลัย ตอนแรกเรียนที่เชียงใหม่ที่มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น แล้วก็ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ที่มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต คณะท่องเที่ยวและการโรงแรม อาจเพราะเราโตขึ้น เราก็เริ่มเป็นผู้หญิงมากขึ้น รักสวยรักงามมากขึ้น และเหนื่อยกับการซ้อม ก็อยากสวย ตอนแรกใส่ส้นสูงไม่เป็น ใส่กระโปรงไม่เป็น เห็นเพื่อนในมหาลัยใส่เราก็อยากลองบ้าง เหมือนเพิ่งเข้ากรุงมา ไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เปิดหูเปิดตาเป็นโลกใหม่ (หัวเราะ) แต่ก็ยังเป็นนักกีฬามหาลัย เป็นนักกีฬาเทควันโดเหมือนเดิม แต่เริ่มไม่ซ้อม ไม่จริงจัง 

จนได้มาเจอกับทีมสตันต์ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นคือตรงนั้นเลย?

ใช่ค่ะ พอดีตอนนั้นเขากำลังหาสตันต์ผู้หญิงมาฝึก ตอนนั้นก็ 13 ปีมาแล้ว มันแทบจะไม่มีสตันต์ผู้หญิงเลย เราคิดว่าน่าสนใจ พี่เขาก็พาไปฝึก 

ช่วงนั้นสตันต์ในหนังบู๊ไทยอย่าง องค์บาก ก็สร้างชื่อให้วงการนี้พอสมควรแล้ว

ใช่ค่ะ วงการสตันต์เริ่มเฟื่องฟูแล้ว แต่เราไม่รู้วิธีการจะเข้าไปอย่างไร แต่พอพี่เขาพาไปฝึก เราเรียนเทควันโดมาก็เตะได้อยู่แล้ว แต่พอมาเป็นสตันต์ ทุกอย่างปรับเปลี่ยนใหม่หมด เพราะถ้าเราเตะแบบเทควันโดมันใช้ในหนังไม่ได้ มันเป็นระเบียบแบบแผนเกินไป มันไม่เรียล พอเป็นสตันต์ก็ต้องมาฝึกพื้นฐานใหม่ เทควันโดจะยืนให้ขายาว ๆ แต่ในหนังเขาก็ไม่ยืนแบบนั้น เราก็ต้องมาปรับซึ่งมันยากมาก เพราะเราติดเทควันโดมาเป็นสิบปี ตอนนั้นเข้าไปก็เป็นทีมใจกล้า สตันต์ของ พี่เกชา คำภักดี พี่เขาก็ช่วยสอนช่วยปรับ วิธีเดิน วิธีต่อยเตะแบบสตันต์อย่างไร ซ้อมทุกวันเหมือนเดิม ตั้งแต่พื้นฐานฟุตเวิร์ก ตอนนั้นก็อยู่ปี 3 ยังเรียนไม่จบ แต่มันก็รู้สึกแปลกใหม่ ท้าทายดี 

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลงผู้อุทิศให้วงการสตันต์แมนหมดหัวใจ

จริง ๆ คุณเป็นสตันต์ที่เชี่ยวชาญด้านไหน เห็นในข้อมูลที่ได้มาเหมือนจะทำได้แทบทุกอย่าง ทั้งขี่ม้า ขับรถ สลิง ฯลฯ

ฟ้าเป็นพวกต่อสู้ แต่ถ้าเรื่องแรกเลยคือวิ่งหลบระเบิด (หัวเราะ) คัตแรกวิ่งอย่างเดียว เป็นหนังอินเดีย แล้วก็มีประมาณว่ามีโจรมาบุกหมู่บ้าน เราเป็นชาวบ้าน เขาก็เข้ามาโดยขี่ม้ามาพร้อมอาวุธ พอมาปุ๊บ เราเป็นชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไร ม้าก็วิ่งเข้ามาเราก็ต้องหลบม้าที่เหยียบลงมา แต่เราก็โดนม้าเหยียบจริงด้วย แล้วโชคดีมากที่ขาไม่หัก พอดีม้าพยศ คนที่เขาบังคับม้าเอาไม่อยู่แล้วมันเซมาหาเรา แต่เราล้มติดผนังบ้านไปแล้ว โชคดีที่ม้าไม่ลงตรงที่จะทำให้ขาเราหักได้ แต่เนื้อเราเขียวมากเลย มันเหมือนโดนม้ากระทืบ 

ครั้งแรกก็โดนขนาดนั้น ทำไมไม่กลัวหรือคิดว่าไม่คุ้มเลย ไม่เอาแล้วดีกว่า  

รู้สึกสนุก มันได้เห็นเซตอลังการมาก มีม้ามีอะไร แต่ไม่ได้คิดว่าหนังจะออกมาอย่างไร หรือจะเห็นเรามั้ย ไม่ได้คิด แต่เราตื่นตาตื่นใจกับการได้ถ่ายซีนที่มันใหญ่มากแบบนั้น

เวลามีกองถ่ายติดต่อเข้ามา เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าใครจะเหมาะหรือไม่กับความต้องการ เพราะเขาก็ต้องระบุว่าจะให้ทำอะไร

เขาก็มีระบุเข้ามาค่ะ อย่างถ้าขี่รถมอเตอร์ไซค์ เราก็ขี่ได้แบบฉวัดเฉวียน แต่ไม่ถึงขนาดเหินได้ เราไม่ถึงขนาดนั้น เขาก็จะดูว่าอันนี้ขี่ธรรมดา คุณก็ทำได้ คือเราต้องมีคอนแทกต์ว่าเขารู้จักเรามั้ย เขาจะรู้ลิมิตของเรา ทำอะไรได้บ้าง เรามีหน้าที่เรียนรู้เพิ่มเติมในทุกด้านที่มันจะไปต่อยอดงานของเรา 

เพราะการจะเป็นสตันต์ที่ระบุว่าเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จะรู้ว่าเชี่ยวชาญอะไรก็คือเคยผ่านมาแล้วเท่านั้น?

ใช่ค่ะ เวลาและการสะสมประสบการณ์

ในกองถ่ายหนังไทยกับต่างประเทศ ความใส่ใจในเรื่องเซฟตี้สำหรับสตันต์แตกต่างหรือมากน้อยกว่ากันอย่างไร

คิดว่าแต่ละเรื่องขึ้นอยู่กับงบประมาณในการถ่ายทำมากกว่า ถ้ามีเยอะก็เซฟตี้ได้เยอะ ถ้าน้อยก็ได้แค่นิดเดียว 

ไม่ว่าจะเป็นกองจากประเทศอะไร?

คิดว่าเป็นแบบนั้น (หัวเราะ) แต่ส่วนมากถ้าเป็นหนังนอก เราก็จะได้ทำแต่โปรเจกต์ที่มีเงินทุนมากหน่อย เรายังไม่เคยทำหนัง Low Budget ของบ้านเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง 

แล้วสำหรับหนังไทย?

ได้ทำมาทุกระดับ (หัวเราะ) มาตรฐานก็ต่างกันค่ะ 

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลงผู้อุทิศให้วงการสตันต์แมนหมดหัวใจ

มีซีน-คัตแบบไหนบ้าง ที่ถ้าเลี่ยงได้ก็ไม่อยากเจอ

ไม่มีค่ะ เพราะก็อยากลองทำหมด แต่อันไหนที่ดูเสี่ยงและเกินความสามารถของเราดีกว่า เท่าที่เคยเจอมาคือกระโดดลงมาจากตึก แล้วข้างล่างไม่มีอะไรรองรับเลย มีแค่สลิงเส้นเดียว แล้วต้องกระโดดลงมาจนถึงพื้นเลยจากตึก 8 ชั้น งบน้อยเพราะเป็นละคร คนที่ดึงสลิงอยู่ข้างบนก็มองไม่เห็นเราด้วยแล้วปล่อยลงมา พอมาถึงพื้นก็โพสต์ท่าเท่ ๆ เหมือนเวลาซูเปอร์ฮีโร่ลงมา ที่จริงถ้าอยากได้ มันมีวิธีการถ่ายที่เซฟตี้กว่านี้ แบ่งออกเป็น 2 คัตก็ได้ ถ่ายตอนกระโดดลงมามีเบาะรับแล้วก็ตัด มันมีวิธีถ่าย 

เฉินหลงมีประกันแต่ละส่วนของร่างกาย สตันต์แบบคุณมีประกันอะไรบ้างมั้ย

ถ้าในกองของไทยไม่ค่อยมีประกันชีวิตให้กับสตันต์ ถ้าเกิดอุบัติเหตุส่วนมากบางกองเขาก็จะช่วยค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น หนักสุดคือพวกสตันต์ก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเอง 

ฉากสตันต์แบบไหนที่อยากเจอแล้วยังไม่ได้เจอ

เผาตัว คือเราเคยไปฝึกมามันก็แค่พื้นฐาน เผาแต่ข้างหลัง เราอยากลองเผาทั้งตัว ไฟลุกเหมือนโกสต์ไรเดอร์ อยากลอง 

ซีจีไม่ง่ายกว่ามั้ย

เผาเลยดีกว่า เรียล (หัวเราะ)

ฉากสตันต์แบบไหนที่คุณถูกให้เล่นซ้ำ ๆ มากที่สุด

เป็นคิวบู๊ท่ากระโดดเกี่ยวคอคู่ต้อสู้แล้วหมุนคอลงมาเท่ ๆ ทุกกองละคร บางครั้งอาจจะใหม่สำหรับทีมงานนี้ แต่ไม่ได้ใหม่สำหรับเรา เราไปทุกเรื่องได้ทำเหมือนเดิมหมด พอมันออกอากาศมา มันก็ชนเหมือนกันหมด เป็นท่าที่ฮิตมากในละครบ้านเรา   

ในประสบการณ์ที่เป็นสตันต์ มีกรณีไหนบ้างที่คิดว่าเลวร้ายที่สุดในชีวิตการเป็นสตันต์ที่ได้พบมาแล้วอยากเล่าให้ฟัง

ถ้าในไทยที่ฟ้าเคยได้ข่าวมา น่าจะเป็นเหตุการณ์ตกม้า แล้วสตันต์คนที่ตกลงมาต้องเป็นอัมพาตไปครึ่งตัว มันไม่คุ้มกับเงินที่ได้เลยกับการเป็นอัมพาต แล้วฟ้ารู้สึกว่ามันคือที่สุดสำหรับเรา คนเราเป็นอัมพาตครึ่งตัว ทำอะไรไม่ได้ ฟ้าก็กลัวนะ แต่เราจะมีกฎของตัวเอง อันไหนที่มันเกินความสามารถเรา ฟ้าจะไม่ทำเลย อันไหนเราไม่เก่งพอ เราก็จะไม่รับทำเลย 

แล้วสำหรับตัวเอง เคยเจอเหตุการณ์ไหนที่เล่นแล้วคิดว่าเป็นครั้งเลวร้ายที่สุด

น่าจะเป็นหัวกระแทกกับบล็อกเหล็กขนาดใหญ่ ต้องเข้าโรงพยาบาล ซีทีสแกนสมอง มันแรงมาก มันไม่แตก แต่มันม่วงบวมปูดออกมาเลย เป็นโปรดักชันจากฮอลลีวูด เป็นคัตที่เราต้องโดนคนตัวใหญ่ ๆ โยนไปกระแทกผนังอยู่ 2 ครั้ง แล้วก็โดนโยนทะลุประตูออกไปอีกที เขาถ่ายแบบลองเทค ก็โดนเทคแรกเลย แค่โดนครั้งแรกสติสตังเราก็ไปหมดแล้ว แต่ร่างกายมันคงสั่งให้ลุกขึ้นมาเล่นต่อ เขาก็เหวี่ยงเราไปกระแทกทะลุประตูไปอีกที พอทะลุออกไป นั่นคือนอนแล้ว คืองงไปเลยว่าเราเป็นอะไร ถ้าไปดูในหนังจะเห็นเลยว่าหัวเราไปกระแทกดังปั้ง คือแรงมาก แล้วโดนคนตัวใหญ่ ๆ โยนออกมาทั้งตัว แล้วเขาก็ส่งเราไปโรงพยาบาล ต้องทำการสแกนสมอง แต่หมอบอกไม่เห็นเลือดคั่งในสมองหรืออะไร แต่เขาก็บอกว่าถ้าเกิดอาการ อยากอาเจียน เวียนหัว ให้รีบกลับมาหาหมอ ซีนนั้นที่โดนมันก็เกือบเช้าแล้ว โดนตอนตี 5 แล้วไปส่งโรงพยาบาล พอไม่เป็นไรก็กลับบ้าน แต่พออาบน้ำเสร็จจะเข้านอน มันนอนไม่ได้ อยากอาเจียน เวียนหัว เราก็กลัวว่าจะเป็นอะไร เลยรีบกลับไปโรงพยาบาล ก็ทำซีทีสแกนเหมือนเดิม แต่หมอบอกอีกว่าไม่มีอะไร สุดท้ายเขาก็มาหาจนพบว่าเราแพ้ยาที่หมอฉีดให้ มันแรงเกินไป ทำให้เราเกิดผลข้างเคียง เราเลยโล่งอก แล้วก็กลับไปทำงานต่อ ทรหดอดทนมาก

แล้วคุ้มมั้ย หากเทียบสิ่งที่ต้องทำกับรายได้ตอบแทนที่ได้รับ

ถ้าด้านรายได้ ไม่มีงานไหนคุ้มกับเราเลย ถึงเราจะได้เป็นล้าน แต่ขาของเราหายไปข้างหนึ่ง อย่างไรมันก็ไม่คุ้ม แต่ฟ้ามีความสุขที่ได้ทำงานแบบนี้ เวลาได้ไปทำงานทุกครั้งเราจะมีความสุข ถึงจะกดดัน ตอนทำงานเราต้องจำคิว จำบท ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แล้วเราก็ต้องคอยเซฟตัวเองให้ได้เยอะที่สุด แต่เราก็มีความสุขที่ได้ทำ

หลังจาก องค์บาก กับ จา พนม เหมือนหนังแอ็กชันไทยจะไปได้ดีในต่างประเทศ แต่ก็หยุดอยู่แค่นั้น คิดว่าหนังแอ็กชันหรือดาราแอ็กชันหนังไทยยังขาดอะไร

น่าจะขาดเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบท การดำเนินเนื้อเรื่อง เสื้อผ้า สถานที่การถ่ายทำ เทคนิคการถ่าย มุมกล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ฟ้าว่าเรายังขาดเรื่องพวกนี้ ถ้ามี คิดว่าเราจะบูมได้อีกครั้ง 

เคยร่วมงานกับ จา พนม ใน Triple Threat บอกได้มั้ยทำไมเขาถึงเป็นคนเดียวที่ไปได้ไกลถึงระดับฮอลลีวูด ในขณะที่คนอื่นอย่าง เดี่ยว ชูพงษ์ ที่ พันนา ฤทธิไกร ปั้นมาเหมือนกัน หรือใครอื่นก็ไม่ได้ขนาดนั้นอีกเลย

จากที่ได้คลุกคลีกับพี่จามา ได้ฟังเขาคุยถึงประวัติว่าเขามาทำตรงนี้ได้อย่างไร ฟ้าคิดว่าอย่างแรกเลย คือเขารักในการทำหนังแอ็กชัน แล้วเขาอุทิศตัวเองที่จะมาในทางแอ็กชัน มีการเพิ่มพูนความสามารถตัวเอง ฝึกจนเป็นปรมาจารย์ทุกอย่างจากในหนังที่เราเคยเห็น และเห็นได้เลยว่าเขาซึมซับมันเข้าไป เขาฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา และหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อมาพัฒนาตัวเอง ให้ตัวเองทำออกมาได้เป็นแบบนี้ เขามีแพสชันแรง (หัวเราะ)

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลงผู้อุทิศให้วงการสตันต์แมนหมดหัวใจ

แล้วแพสชันของคุณขนาดนั้นมั้ย

ฟ้าก็รักในอาชีพนี้ แล้วมันก็ทำเงินให้เราได้เยอะพอสมควร มันเหมือนเป็นเงินก้อนมากกว่าเวลาทำงาน อย่างหนังใหญ่เข้ามา 1 เรื่องแล้วเราได้ทำ ถ้าเราทำงานประจำเราจะได้เงินเป็นเดือน แต่เราทำ 1 เรื่องเหมือนได้โบนัสทีเดียวเลย 

เรื่องสวัสดิการของสตันต์ในบ้านเรา ถ้าเรียกร้องได้ อยากให้รัฐมีการดูแลอย่างไรบ้าง อย่างเมืองนอกเขาก็มีสหภาพอะไรคอยดูแล

ใช่ ของเมืองนอกเขาจะมีกฎหมายรองรับ อย่างสหรัฐฯ เขาก็จะมีเหมือนเป็นกฎหมายที่คุ้มครองคนทำงาน เขาจะมีกฎเลยว่าทำงาน 8 ชั่วโมง ราคาเท่าไร โรงแรมที่สตันต์จะพักต้องเป็นอย่างไร การเดินทาง การกินข้าว การใช้ชีวิตตอนทำงานต้องทำอย่างไร เขามีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว แต่บ้านเรา มันอาจจะยังไม่แพร่หลาย สำหรับอาชีพสตันต์ มันเลยไม่มีอะไรที่รองรับเลย ถ้าเป็นไปได้ในอนาคต ก็อยากให้วงการของเรามีสมาคมหรือสมาพันธ์อะไรก็ได้ หรือถ้าจะให้ดีเลยก็อยากให้รัฐบาลออกมาสนับสนุน ออกกฎหมายคุ้มครองคนทำงานในวงการอาชีพนี้ คือทีมงานเบื้องหลังกองถ่ายทั้งหมด อยากให้มีกฎหมายมารองรับ คุ้มครองคนทำงานเบื้องหลังของกองถ่าย 

ซึ่งคนเหล่านี้ก็คือซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลชอบอ้างกันว่าอยากสนับสนุน สมมติถ้าได้เจอกับนายกฯ อยากบอกอะไร

ซอฟต์พาวเวอร์ที่เขาเรียกกันก็คือดาราที่มีชื่อเสียงดัง ๆ มีอิทธิพลกับคนทั่วโลก มีอิทธิพลกับคนจำนวนมาก แต่ก็อยากให้มองย้อนกลับมาดูเราด้วยว่าก่อนที่จะมีซอฟต์พาวเวอร์ของเรา คนทำงานเบื้องหลังหรือเปล่าคือคนที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมา เพราะฉะนั้น ถ้าอยากพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ให้ดังไกลระดับโลก เราต้องมองกลับมาว่าเราต้องพัฒนาคนเบื้องหลังก่อน ถึงจะพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของเราให้ไปไกลระดับโลกแบบนั้นได้

เคยน้อยใจมั้ยที่เหมือนไม่ค่อยมีใครห่วงความปลอดภัยของสตันต์

แถมไม่มีใครได้เห็นหน้าด้วย (หัวเราะ) มันก็เคยคิดขึ้นมาเหมือนกันนะว่าอยากออกมาแสดงบ้าง แต่พอได้แสดงขึ้นมา ฟ้ารู้สึกว่ามันไม่เข้ากับตัวเองเลย เราแสดงหนัง มันไม่ใช่ว่าเราจะบู๊อย่างเดียว มันต้องมีอย่างอื่นด้วย ต้องแสดงสีหน้าแสดงอะไร แต่เราจะแสดงหน้าโกรธเป็นอย่างเดียว คอยจะบู๊อย่างเดียว (หัวเราะ) อยู่เบื้องหลังสนุกกว่า แล้วฟ้าคิดว่าเรามีพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าอยากจะเปิดเผยกับสาธารณะอะไรแบบนั้น 

Snafu เป็นเรื่องแรกที่ได้แสดงหนังของเฉินหลง

ฟ้าเป็นสตันต์ดับเบิลในเรื่องนี้ เล่นแทนหลายตัวละครมาก 3 – 4 ตัวได้ในเรื่อง เป็นครั้งแรกเลยค่ะ ไปถ่ายที่ปักกิ่ง ไปถ่ายอินชอน แล้วก็ข้ามไปถ่ายที่มองโกเลีย เราจะอยู่ในส่วนที่เรียกว่าคอร์ทีม การจ้างสตันต์มันจะมีหลายรูปแบบ อย่างบ้านเราส่วนมากจะจ้างเป็นรายวัน หรือเป็นคิว คิวของฟ้า 1 คิวจะทำงาน 12 ชั่วโมง แต่ของเฉินหลง เขาจ้างฟ้าเป็นเดือน ให้เราเป็นเดือน แต่การทำงาน ฟ้าไม่ได้ทำงานทุกวัน ที่ไปทำเรื่องนี้ 4 เดือน ฟ้าทำงานประมาณ 6 วัน ต้องอยู่กับเขาตลอดเวลา ทำงานกับเขาทุกอย่าง ถ้าวันนี้ไม่มีถ่าย เราก็ไปช่วยคนอื่น ไปดูเรื่องเซฟตี้ ไปช่วยดึงสลิง ไปช่วยแผนกอื่นในส่วนของสตันต์ด้วย 

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงหนึ่งเดียวของไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลง กับชีวิตนี้ที่เลือกอุทิศให้วงการสตันต์แมนไปหมดแล้ว

เรื่องนี้สร้างความท้าทายอะไรใหม่ ๆ ให้อาชีพของเราบ้าง

เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ได้เปิดหูเปิดตาฟ้า เป็นครั้งแรกที่ฟ้าได้ไปทำงานเต็มตัวกับโปรดักชันเมืองนอก โดยไปคนเดียว ไม่มีผ่านบ้านสตันต์ไหนเลย ไปเอง เขาติดต่อเรามาเอง เซ็นคอนแทรกต์เอง ไม่มีใครมากลั่นกรองให้เราเลย ฟ้าต้องตัดสินใจเอง ต้องรับความเสี่ยงนั้นเอง เพราะตอนเราส่งพอร์ตไปก็ไม่รู้ว่าเป็นเฉินหลงจริงหรือเปล่า เขาจะดูแลเราจริงหรือเปล่า คือมันเริ่มจากมีกองหนังจีนมาถ่ายบ้านเรา แล้วฟ้าได้ไปเป็นสตันต์ในเรื่องนั้น แล้วผู้กำกับเขาก็ชอบการทำงานของเรา เขาเลยเชิญเราไปทำที่จีน แล้วเรื่องนี้มีทีมของเฉินหลงมาถ่าย เข้ามาทำคิวบู๊ เลยมีโอกาสได้รู้จักคนจากทีมของเขา หลังจากนั้นอีก 6 – 7 เดือนเขาก็ติดต่อมาว่าพอดีต้องการสตันต์เอเชียไปทำงานเรื่องนี้ ให้เราช่วยส่งพอร์ต ส่งโปรไฟล์ตัวเองไปให้ เราก็ส่งไป แล้วเราก็ได้รับเลือกให้เป็นตัวนั้น เขาก็ส่งจดหมายเชิญมาให้เรา แต่ครั้งแรกที่เขาติดต่อมา ฟ้าก็ไม่เชื่อว่าจริง มีความคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะได้ไปทำงานกับเฉินหลง เราก็ต้องไปสืบหาข้อมูลว่าใช่ทีมเฉินหลงจริงมั้ย หรือแค่เอาชื่อเฉินหลงมาหลอก เราก็เช็กดู สรุปว่าจริง เราก็เลยโอเค เขาก็ทำวีซ่าให้เรียบร้อย 7 วันก็บินไปทำงานกับเขา 

เฉินหลงจะมีทีมสตันต์เป็นของตัวเอง มักใช้ทีมเดิมตลอด?

ใช่ค่ะ แต่ในทีมของเฉินหลงจะมีคนเยอะมาก เป็นร้อย ๆ คนเลย มันแล้วแต่ว่าเรื่องนี้คนนี้ถนัด เขาก็จะเอาคนนี้มาทำ เรื่องนี้อีกคนถนัดก็เอามาทำ ก็จะวนอยูในทีมของเขา เฉินหลงปั้นมาเองทุกคน

สิ่งที่ทำให้เฉินหลงโด่งดังที่สุดก็ในสมัยที่เล่นจริง เจ็บจริง โชว์ฉากสตันต์จนดังไปทั่วโลก คุณคิดว่าสตันต์แมนจำเป็นต้องสร้างชื่อด้วยวิธีแบบนั้นมั้ย

มันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของหนังนะที่ทำจริงได้โดยไม่มีสลิง ไม่มีอะไร มันก็เป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนอยากดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างไรบ้าง แต่สำหรับฟ้าคิดว่าควรจะมีความปลอดภัย อะไรที่เซฟตี้ได้เราก็ควรเซฟตี้ เหมือนมีเรื่องหนึ่งที่เฉินหลงต้องสไลด์ตัวลงมาจากที่สูง แต่ฟ้าคิดว่ามันน่าจะเซฟตี้ตัวเองได้ เอาสลิงเกี่ยวไว้ ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ที่พลาดขึ้นมา อย่างน้อยร่วงลงมา มันก็ยังมีอะไรคอยดึง มันควรเป็นแบบนั้น แล้วอย่างการตกบันได ก็ตกสด พวกเหลี่ยมบันได เราควรทำวัสดุให้มันเหมือนเปี๊ยบเลย อย่าง John Wick เขาก็ทำ แต่เราดูไม่ออก ถ่ายออกมามันก็คือบันได แต่มันก็คือการเซฟ ฟ้าคิดว่าควรจะมีเซฟตี้ มีความปลอดภัยให้ได้เยอะที่สุด แต่ก็ทำให้มันออกมาได้เรียลที่สุดด้วย มันน่าจะดีกว่า แต่มันก็ต้องเพิ่มงบประมาณเข้าไปตรงนั้น 

ทำไมใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า ‘ซีซาร์ คาสโนวี’

คือมันมาจากสมัยวัยรุ่น (หัวเราะ) คือช่วงนั้นมันต้องมีสร้อย มันต้องมีแบบ พอลลี ฟาสซ่า อะไรที่มันมีสร้อย แล้วอันนี้ของเรา เราก็คิดว่ามันคูลมากเลย คาสโนวี ส่วน ‘ซีซาร์’ เป็นชื่อเล่นที่พ่อแม่ตั้งให้ แต่ฟ้าเป็นชื่อที่เพื่อนเรียก เพื่อนสมัยเด็ก ๆ ก็จะเรียก ซีซาร์ แล้วในวงการที่เป็นหนังนอกก็จะเรียกซีซาร์เหมือนกัน เป็นชื่อที่พ่อตั้งให้ เพราะฟ้าไม่ได้คลอดตามธรรมชาติ ต้องผ่าคลอด เพราะแม่บอกว่าเจ็บท้องมาก แล้วแม่เป็นผู้ช่วยพยาบาล พ่อก็ทำงานที่โรงพยาบาล ก็ต้องคลอดแล้ว แต่เราไม่ยอมกลับหัว แต่เอาเท้าแหย่ออกมา (หัวเราะ) หมอก็ต้องผ่าออก แล้วคำว่า ซีซาร์ ที่พ่อตั้งให้ก็เพราะเป็นชื่อที่เอามาจากศัพท์ทางการแพทย์ที่หมายถึงการทำคลอดด้วยวิธีการผ่า เพื่อนที่บ้านก็เรียกซีซาร์ แต่พอเข้ามาเรียนในเมือง เพื่อนบอกว่ามันทำไมฝรั่งจัง ทำไมมันนู่นนี่นั่น ฉันเรียกไม่ได้หรอก ซีซาร์ มันไม่โอเค เราก็คิดว่าถ้าคุณอยากเปลี่ยน อยากเรียกอะไรก็เรียก เขาก็บอกว่า ‘ฟ้า’ แล้วกัน แล้วก็เรียก ฟ้า ๆๆ มาตลอด เราก็โอเค ยอมรับในสิ่งนั้น (หัวเราะ)

แต่ชื่อซีซาร์สำหรับในการทำงานสตันต์กับต่างประเทศฟังดูก็เหมาะอยู่

สงสัยพ่อจะรู้ว่าเราจะได้ไปทำงานเมืองนอก ก็เลยตั้งชื่อนี้เตรียมไว้ให้ (หัวเราะ) 

ทำไมคิดไปเรียนสตันต์จริงจังที่สหรัฐฯ

ฟ้าคิดว่าสหรัฐฯ มีเทคโนโลยีอะไรที่ล้ำหน้ากว่าบ้านเราเยอะ เราก็อยากไปเห็น ไปลองที่บ้านเขาว่าทำอย่างไรกันบ้าง มีเทคนิคอะไรบ้างที่ใช้ในการถ่ายทำหนัง เอาง่าย ๆ แค่เรื่องการเตะต่อย บ้านเรากับบ้านเขาก็ไม่เหมือนกัน มีเทคนิคไม่เหมือนกัน อย่างการต่อย ทุกทีเวลาเราต่อย บ้านเราชอบให้ใหญ่ ๆ กวาดแขนวงกว้างเลย จะได้เห็นชัด ๆ แต่เขาไม่ได้ต่อยขนาดนั้น แค่วงแคบ ๆ (ทำท่าประกอบ) ตั้งการ์ดห้ามเอาแขนลงด้วย ยกไว้ตลอด เขาบอกมันดูจริงกว่า 

แล้วผู้กำกับคิวบู๊บ้านเราไม่รู้เรื่องพวกนี้?

มันจะเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ สไตล์ของแต่ละประเทศมากกว่า เราก็เลยอยากไปลองเรียนอะไรที่มันใหม่ ๆ

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงหนึ่งเดียวของไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลง กับชีวิตนี้ที่เลือกอุทิศให้วงการสตันต์แมนไปหมดแล้ว

ไปเรียนที่นั่นได้อย่างไร และนอกจากการต่อยที่ว่านี้แล้วได้เรียนอะไรกลับมาอีก

คือฟ้ามีเพื่อนเป็นสตันต์ที่สหรัฐฯ แล้วพอเราไป เพื่อนก็แนะนำให้เราไปลองเรียนอันนั้นอันนี้ตามที่เพื่อนจุดมาร์กไว้ให้ เราก็ไปเรียนขี่ม้า เพราะเพื่อนบอกว่าถ้าเราอยากเอามาใช้ในงานก็ให้ไปลองขี่ม้าโปโล เพราะมันต้องขี่ไปด้วยแล้วก็ต้องคอยถือไม้ตี เพื่อนบอกอันนี้จะช่วยเราได้เยอะ เราก็ไปเรียนชั่วโมงละหมื่นห้า ซึ่งแพงมากเลยสำหรับเรา แต่ไหน ๆ สักครั้งในชีวิตก็ไปเรียน เขาก็สอนว่าการขี่ม้าโปโลห้ามนั่ง ต้องกึ่งลุกกึ่งนั่ง ให้ทำแค่นี้แล้วก็ขี่ม้าไปด้วย ตอนแรกก็ให้ทำอันนี้ ปวดขามาก ต่อไปก็จับมือเดียว แต่ถือไม้ด้วย มันก็หนักพอสมควร แล้วก็ให้เริ่มตีบอลไปด้วย จากนั้นก็ให้มอง เขาสอนทุกอย่างเลย เราก็คิดว่าถ้าเราเอาไปใช้ในหนังมันคงดี มันทำให้เราเคลื่อนไหวได้ดีมาก เพราะในหนังมันต้องมีอาวุธที่เราต้องถือในการต่อสู้ หลบซ้ายหลบขวา ก็คิดว่าคุ้มที่เสียตังค์มาเรียน (หัวเราะ) 

แล้วก็มีไปเรียนเผาตัว เขาก็จะบอกเทคนิคทุกอย่าง ก่อนจะทำการทุกอย่าง เขาจะให้ทุกคนมานั่งรวมกัน แล้วอธิบายว่าเจลคืออะไร วิธีการเผาตัวเราต้องทำอย่างไร ตอนเผาตัวห้ามหายใจ ต้องหลับตาหรี่ตา แต่ถ้าต้องเผาตัวนาน เราต้องหายใจก็ให้หายใจไปทางด้านที่ไม่มีไฟแล้วให้หายใจเบา ๆ ถ้าหายใจแรง ไฟมันจะเข้ามาที่หน้าเรา เขาก็สอนเทคนิคนี้ด้วย แล้วก็ไปเรียนยิงปืน วิธีโหลดปืน วิธีอะไรทุกอย่าง ฟ้าไปเรียนทั้งหมดอยู่ 4 เดือน

สำหรับคุณ ที่สุดของความเป็นสตันต์แมนอยู่ตรงไหน

สำหรับฟ้าคือการทำงานปลอดภัยแล้วได้กลับไปเจอครอบครัว นั่นคือที่สุดของฟ้าแล้ว

ฟังเหมือนไปรบเลย

(หัวเราะ) มันก็เหมือนอยู่ วันนี้เราไปกระโดดตึกมา แล้วเรารอดกลับไปบ้านได้ ลองคิดดูว่ามันอะเมซิ่งมั้ย (หัวเราะ) 

สตันต์แมนก็เหมือนนักกีฬา มีเวลาจำกัดในการทำงานเหมือนกันเมื่อถึงวัย เคยคิดมั้ยว่าถ้าถึงวันนั้น คุณจะไปทำอะไร

ถ้าถึงวันที่เราเตะต่อยไม่ได้ หรือเล่นคิวที่มันเสี่ยงไม่ได้แล้ว ก็อยากต่อยอดการเป็นสตันต์ต่อไป แต่การต่อยอดสตันต์มันมีหลายอย่าง ไฟต์โคโรกราฟ ออกแบบคิวบู๊ หรือหน้าที่ถ่ายทดลองซ้อมก่อนจะถ่ายทำจริง สำหรับฟ้าอยากเป็นสตันต์โคออร์ดิเนเตอร์ เรียกบ้าน ๆ ก็คือหัวหน้าแผนกสตันต์ ทำหน้าที่ประสานงานกับแผนกต่าง ๆ ในกองถ่าย ดูแลความปลอดภัยในการถ่ายทำ จัดหาสตันต์ เพราะฟ้าคิดว่าจะอุทิศชีวิตให้กับงานสตันต์ไปตลอดชีวิตเลยค่ะ 

มีอะไรที่คิดว่าผู้คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาชีพสตันต์ หรืออะไรที่อยากให้ใครเข้าใจสตันต์แมนมากกว่านี้

ฟ้าคิดว่าทุกคนมองว่าเป็นสตันต์ก็ต้องเจ็บตัวแน่ ๆ แล้วสตันต์ที่เก่งคือสตันต์ที่ต้องเจ็บมาเยอะ ถึงจะเป็นคนที่เก่งมาก แต่ฟ้าคิดว่าสตันต์ที่เก่งคือคนที่ทำให้ตัวเองปลอดภัยมากที่สุด เจ็บน้อยที่สุด หรือไม่เจ็บเลย สำหรับฟ้า แบบนี้คือเก่งมาก

ฟ้า-ภรณ์ทิพย์ วิริยะ สตันต์หญิงหนึ่งเดียวของไทยแห่งทีมบู๊เฉินหลง กับชีวิตนี้ที่เลือกอุทิศให้วงการสตันต์แมนไปหมดแล้ว

Writer

สืบสกุล แสงสุวรรณ

สืบสกุล แสงสุวรรณ

นักเขียนอิสระที่ใช้ชีวิตตามใจแต่ไม่ไกลจากบ้านเป็นดีที่สุด เคยมีผลงานมา 2-3 เล่ม ปัจจุบันรับเขียนงานทุกประเภททั้งในแบบตัวอักษรและรูปภาพ เมื่อปีกลายแมวอันเป็นที่รักเพิ่งหนีกลับดาวไป หลังจากใช้ชีวิตมาด้วยกัน 13 ปี บอกทำไมไม่ทราบ แต่เผื่ออยากรู้ พี่เขาชื่อ “สโมกกี้”

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)