14 สิงหาคม 2024
1 K

ขณะที่ความยั่งยืนกำลังเป็นประเด็นมาแรงระดับโลก สิ่งที่ฮอตฮิตไม่แพ้กันคืองานซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

แน่นอนว่าตำแหน่ง Sustainability Manager บนนามบัตรของ พรธิชา วงศ์ยานนาวา คือหนึ่งในอาชีพเหล่านั้น

ทั้งนี้ พรธิชาไม่ได้จบจากคณะที่เรียนด้านความยั่งยืนโดยตรง เธอเรียนปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแก่นลึกที่สุดคือการจัดการทรัพยากรและผู้คน พ้นรั้วมหาวิทยาลัย เธอเริ่มต้นทำงานในสาย HR ต่อด้วยการไปทำงานฝั่ง CSR ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมียาวนาน เพราะสนใจการทำงานกับสังคมชุมชน ก่อนจะหันมาทำงานด้าน Sustainability

 ในปีที่ผ่านมาพรธิชาตัดสินใจข้ามสายงานมาสู่อุตสาหกรรมโรงแรม ก้าวขึ้นตำแหน่งผู้จัดการด้านความยั่งยืนของ Bangkok Marriott Marquis Queen’s Park ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงแรมเครือ Marriott ที่ใหญ่ที่สุดใน APEC (Asia Pacific except China)

เราเลือกมานั่งคุยกับพรธิชา เพราะเธอคือคนที่ทำงานด้านความยั่งยืนที่กำลังฮอตฮิตมายาวนาน กำลังบริหารความยั่งยืนขององค์กรสเกลใหญ่มาก ในอุตสาหกรรมสำคัญมากของไทย อีกทั้งการเปลี่ยนสายงานยังทำให้สายตาของเธอมองธุรกิจโรงแรมในรูปแบบไม่เหมือนใคร

มากไปกว่านั้น เมื่อบทสนทนาลึกลง เรายังได้เห็นมุมมองต่อ ‘ชีวิตที่ยั่งยืน’ จากผู้จัดการด้านความยั่งยืนที่ผ่านช่วงทุ่มเทชีวิตให้แก่งาน 

พรธิชาจะมาร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ ‘วิธีทำโรงแรมให้ยั่งยืนอย่างยั่งยืน’ ให้เวที The Hotelier 2024 งานสัมมนายกระดับโรงแรมไทยด้วยความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Amazing Green Fest 2024 ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมจัดกับ The Cloud ในวันที่ 15 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน 

ลองทำความรู้จักชีวิตและความคิดของเธอ ก่อนไปพบตัวจริงได้ที่งานเสวนาสุดยั่งยืนงานนี้

วิธีทำให้โรงแรม 5 ดาวสาขาใหญ่ที่สุดใน APEC ยั่งยืน

โจทย์ของเราคือ Bangkok Marriott Marquis Queen’s Park เป็นโรงแรมเครือ Marriott ที่เป็นสาขาใหญ่ที่สุดใน APEC เรามีห้องพัก 1,388 ห้อง นอกจากนี้ เรายังมีสิ่งที่เรียกว่า Outlet หมายถึงบริเวณที่มีทั้งร้านอาหารและพื้นที่ทำกิจกรรมอีก 7 โซน รวมถึงมีการบริการอาหารสำหรับแขกห้องพักที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ที่สำคัญ เราเป็นโรงแรมที่แขกที่มาพักมีเป้าหมายหลักคือการประชุม เราจึงมีห้องประชุมถึง 30 ห้อง และห้องบอลรูมใหญ่สำหรับจัดงานอีก 3 ห้อง

นอกจากต้องรองรับคนเยอะมาก เรายังเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว แขกที่มาพักจึงคาดหวังความสะดวกสบาย ความหรูหรา และการบริการดีที่สุด อีกทั้งพนักงานของเราก็เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งใจทำให้การบริการออกมาสมบูรณ์แบบ

ในฐานะ Sustainability Manager ของโรงแรมนี้ เราจึงต้องดูแลเรื่องการใช้ทรัพยากรของโรงแรม พร้อมกับบริหารความคาดหวังของทั้งแขกและคนทำงานไปพร้อมกัน โดยเริ่มต้นจากการเข้าไปบริหารจัดการ Waste ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทย์หลักของธุรกิจโรงแรม Waste ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ Food Waste แต่ยังรวมถึงสิ่งอื่นที่สิ้นเปลืองได้ ตั้งแต่พลังงาน เวลา จนถึงเรี่ยวแรงคน

เรามาจากสาย Data-driven ก็เริ่มต้นด้วยการเอาข้อมูลทั้งหมดมาดู มาเรียงต่อกัน จากนั้นก็ต่อด้วยการปูพรมทำเทรนนิ่ง จัดเวิร์กช็อป เพื่อให้คนในโรงแรมนี้ตั้งแต่ผู้บริหารถึงพนักงานซึ่งจะกลายเป็น Change Agent ที่สำคัญ ให้ทุกคนเข้าใจความหมายของความยั่งยืน เราบอกเขาว่าความยั่งยืนในที่นี้คือการคิดให้รอบด้าน คิดให้กว้างกว่าเดิม เปลี่ยนจากปกติที่เน้นคิดลงลึกในงานของตัวเอง 

หลังจากเวิร์กช็อป เราเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายนำความรู้ไปปรับใช้กับฝ่ายของตัวเอง โดยเราคอยเป็นที่ปรึกษา ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดี เช่น เชฟใหญ่ประจำห้องอาหารบุฟเฟต์มาเล่าให้ฟังว่า น้องเชฟของผมตอนนี้เวลาจะทำเมนูใหม่ เขาจะคิดแล้วว่าวัตถุดิบที่เหลือจะเอาไปใช้อะไรได้ 

ขณะเดียวกัน เราก็ริเริ่มโปรเจกต์ขึ้นเองด้วย เช่น การลดขยะอาหารในห้องอาหารของพนักงาน ซึ่งแต่เดิมเราต้องทิ้งขยะอาหารส่วนนี้หลายตันต่อเดือน เวลาเราบอกพนักงานก็จะเปรียบเทียบให้เห็นเป็นภาพว่า ความสูญเปล่าจากอาหารที่รับประทานไม่หมดของพนักงานเฉลี่ยในทุกเดือนมีน้ำหนักเท่ารถ Toyota รุ่น Yaris 4.5 คัน เลยนะ โดยเราให้พนักงานเอาอาหารที่กินเหลือมาชั่งน้ำหนักทีละคนเลย จากที่ช่วงเริ่มต้นมีการนัดวันกับพนักงานชัดเจน ซึ่งพนักงานจะตั้งใจทานอาหารให้หมดในวันนั้น ก็ขยับไปเป็นไม่บอกแล้วว่าจะเป็นวันไหนบ้าง เพื่อสร้างนิสัยให้ต้องทานอาหารให้หมดในทุก ๆ วัน หลังทำมาแค่ไม่กี่เดือน เราลดขยะอาหารที่เหลือทิ้งจากจานลงได้ถึง 50% สาเหตุที่ต้องเริ่มจากพนักงาน เพราะพวกเขาจะได้เข้าใจและส่งต่อความรู้ให้แก่แขกได้ 

และอีกโปรเจกต์ที่เราภูมิใจ คือสบู่ที่ทำจากเปลือกหอยนางรม ซึ่งมาจากหอยนางรมที่มีบริการในห้องอาหารบุฟเฟต์ทุกวันอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้เปลือกหอยเหล่านี้จะเป็นขยะอาหารที่ส่งตรงไปที่หลุมฝังกลบ เราชอบเรื่องนวัตกรรม เลยร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ นำเปลือกหอยนางรมมาผสมทำสบู่ โดยเปลือกหอยบดจะทำหน้าที่เหมือน Microbead ช่วยขัดเซลล์ผิว แต่ย่อยสลายในธรรมชาติได้ ซึ่งสบู่จากเปลือกหอยนี้ก็ได้นำมาใช้เป็นของที่ระลึกให้แก่ลูกค้าในช่วงเทศกาลต่าง ๆ

ทั้งหมดนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในฝั่งพนักงาน ขณะที่ในฝั่งของแขก เรากำลังค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน เช่น การตั้งป้ายในห้องอาหารบุฟเฟต์ เชิญชวนให้กินอาหารแบบ Zero Waste และตักแต่พอดีทาน

เจ้านายเราเคยพูดไว้ดีมากว่า การทำเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่การวิ่งระยะสั้นหรือ Sprint แต่มันคือการวิ่งระยะยาวหรือ Marathon ให้เราโฟกัสไปทีละอย่าง และค่อย ๆ ทำ ไม่ใช่คาดหวังว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนภายใน 3 เดือน

ทิศทางความยั่งยืนที่โรงแรมไทยควรมุ่งไป

เรารู้กันดีว่าธุรกิจ Hospitality เป็นเครื่องยนต์สำคัญของประเทศไทย แต่ถ้าเราไม่รักษาทรัพยากร อีก 20 ปี ทะเลจะยังเป็นสีนี้มั้ย ปะการังจะยังไม่ฟอกขาวหรือเปล่า นี่คือหัวใจหลักของเรื่องความยั่งยืนสำหรับโรงแรม เรากำลังทำธุรกิจที่หัวใจคือการสร้างความพึงพอใจ แต่จะทำยังไงให้ทรัพยากรสำคัญที่ต้องใช้ในทุกวันยังมีเหลือเพียงพอให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้

บนเวที The Hotelier 2024 เราตั้งใจจะบอกผู้ประกอบการโรงแรมที่มาฟังว่า เราไม่รู้สึกว่าตัวเลขแสดงอิมแพกต์ด้านความยั่งยืนต่าง ๆ เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจไปกว่าความเข้าใจคนอื่น 

ในการทำโรงแรมให้ยั่งยืน เราควรเข้าใจว่าคนที่เกี่ยวข้องแต่ละส่วนมีอุปสรรคอะไร ผู้บริหารต้องการอะไร พนักงานต้องการอะไร สังคมต้องการอะไร และตอนนี้กระแสเรื่องความยั่งยืนไปถึงไหนแล้ว เราต้องมีความเข้าใจทั้งหมดนี้อยู่ ถึงจะบอกได้ว่าโรงแรมของเราควรอยู่ตรงไหน ซึ่งนั่นหมายถึงการบาลานซ์ความต้องการของทุกฝ่ายให้ดี เรื่องนี้เป็นศิลปะที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าใจคนอื่น

นอกจากนี้ ในฐานะคนที่ไม่ได้ทำงานในอุตสาหกรรมนี้มาแต่ต้น เรามองว่าความพิเศษของธุรกิจโรงแรม คือมันเป็น Day-to-Day Operation ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การทำเรื่องความยั่งยืนจะต้องคอยปรับแผนไปตามความท้าทายในแต่ละวันด้วย

สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าควรทำเรื่องความยั่งยืนดีไหม หรือเริ่มที่ตรงไหนก่อนดี เราว่าให้คิดถึงเรื่องนี้ในฐานะสิ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายก่อนก็ได้ เพราะการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดคือการลดค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องเทรนด์ความยั่งยืนสำหรับโรงแรม อยากให้มองว่า คำว่าความยั่งยืนไม่ได้มีแค่มิติสิ่งแวดล้อมที่ตอนนี้ทุกคนเน้นให้ความสำคัญ แต่ยังรวมถึงเรื่องสังคมอย่างการใส่ใจทำงานกับชุมชนรอบข้าง และเรื่องของธรรมาภิบาลด้วย ในอนาคตจะมีคนรุ่นใหม่อยากมาทำงานโรงแรมมากขึ้นมั้ย ทำยังไงถึงจะรักษาบุคลากร และทำให้มีคนทำงานนี้ต่อในอีก 20 ปีข้างหน้า

ความหมายของชีวิตยั่งยืน

ชีวิตเรามีช่วงที่บ้างาน มีช่วงที่ Burn Out จนในที่สุด เรามาคิดได้ว่าชีวิตไม่ได้จบลงแค่ในที่ทำงานหรือในโรงแรม

ในโลกปัจจุบันที่เป็นระบบเสรีนิยมใหม่ คนเราต้องทำงานมากกว่า 40 ปีของชีวิต แต่เราคิดว่าชีวิตไม่ได้จบแค่ที่การทำงาน ซึ่งพอคิดได้แบบนี้ เราก็จะรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเหยียบหัวคนอื่นเพื่อก้าวขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องทำร้ายคนอื่นเพื่อผลสัมฤทธิ์ของแผนกหรือของตัวเอง

สิ่งสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตมากว่า 40 ปี คือความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราตระหนักถึงเรื่องนี้ตอนที่คุณแม่เกิดเส้นเลือดในสมองแตก แม่เราเป็นคนแอคทีฟ พอเกษียณก็มาช่วยเลี้ยงหลาน วันนั้นเราไปทำงานปกติ โทรกลับมาบ้านปรากฏว่าแม่ไม่รับ สุดท้ายกลับมาเจอว่าแม่นอนนิ่งขยับไม่ได้ มีลูกของเราที่ตอนนั้นอายุ 8 เดือนกว่าคลานอยู่รอบตัว อยู่กันอย่างนั้นกว่า 8 ชั่วโมง โดยเหตุการณ์น่าจะเกิดขึ้นหลังจากเราออกจากบ้านไปไม่นาน เรื่องนี้ทำให้ได้คิดว่าชีวิตมนุษย์ก็แค่นี้ ถ้าไม่รักษาความสัมพันธ์ ไม่ทำดีต่อกันไว้ ก็อาจเสียใจภายหลังจริง ๆ

ชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับเราในตอนนี้เลยหมายถึงการรักษาสมดุลให้ทุกมิติโอเค ทั้งงาน สุขภาพ และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ เวลาคนคนหนึ่งหายไป น่าประหลาดที่เราไม่ได้จำว่าเขาทำงานอะไรบ้าง ผลงานคืออะไร แต่เราจำความรู้สึกที่มีต่อกัน จำช่วงเวลาที่เราได้อยู่ร่วมกัน เราไม่ได้จำว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้เก่ง แต่จำว่าวันที่ฉันโดนเจ้านายด่าจนร้องไห้ เพื่อนคนนี้เข้ามาปลอบ

เราอยากได้ความทรงจำเหล่านี้ และอยากเป็นคนสร้างความทรงจำที่ดีให้คนอื่น เราอยากไปอยู่ที่ทำงานแล้วรู้สึกว่าดีจังที่ได้เจอคนเหล่านี้ พอกลับบ้านก็มีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์