ระหว่างเลื่อนดูฟีดเฟซบุ๊ก ตาของฉันหยุดที่ประกาศรับสมัครเวิร์กช็อปย้อมสีธรรมชาติจากเพจ Craft Colour ที่ไม่รู้เป็นพรหมลิขิต หรือทีมงานคุณมาร์คผู้คอยเอาใจใส่พฤติกรรมออนไลน์ของฉันลิขิต แต่ไม่ว่าเหตุผลไหน คุณอ่านใจฉันได้อีกแล้ว

นั่งไล่ดูข้อมูลในเพจ ไม่ได้มีแค่ย้อมผ้าสีธรรมชาติ แต่ยังมีเวิร์กช็อปทำสีน้ำที่ทำให้ใจฉันเต้นเพิ่มไปอีก และเมื่อรู้ว่าปลายทางคือสกลนคร ระยะทางกรุงเทพฯ-สกล ไปกลับ 1 วันไม่ใช่ปัญหา แต่ไหนๆ จะไปทั้งที ฉันเลยทักไปถามเขาว่า “ขอเรียนสีน้ำเพิ่มด้วยได้ไหมคะ” 

“ได้ค่ะ” เจ้าของเพจตอบกลับมาพร้อมอีโมจิหน้ายิ้ม 

โดยที่ฉันไม่คิดเลยว่า “ได้ค่ะ” ในวันนั้นจะไม่ได้หมายถึงแค่การได้เรียนทำสีน้ำ แต่คือการได้เจอ หมิว-พรพิมล มิ่งมิตรมี ผู้ศึกษาเรื่องสีธรรมชาติในท้องถิ่น เธอรู้จักวิธีการอนุรักษ์และซ่อมจิตรกรรมไทยจากอาจารย์ที่เชิญไปสอนช่างเขียนโบสถ์แบบโบราณ เก็บเกี่ยวความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ จิตรกรรม และโบราณคดีเพื่องานอนุรักษ์ จากนักอนุรักษ์และพัฒนา มารวมกับภูมิปัญญาเรื่องการย้อมผ้า แล้วพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหนองส่าน อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ที่ทั้งอนุรักษ์วิถีชีวิตและพัฒนางานศิลปะท้องถิ่นอีสานไปพร้อมๆ กัน แถมได้รู้จักโทนสีอีสานที่น่ารักทั้งสีทั้งเสียง

พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน เจ้าของเพจ Craft Colour

ศาสตร์สี

อุปกรณ์ต่างๆ ถูกหยิบมาวางเรียงรายบนโต๊ะ หมิวเริ่มอธิบายถึงขั้นตอนการทำสีจากธรรมชาติว่ามี 2 ส่วนหลักคือ สารสี (Pigment) กับกาว

หัวใจสำคัญของการทำสี คือการทำพิกเมนต์ ซึ่งได้มาจากพืช แร่ หินสีต่างๆ หรือสัตว์ เช่น น้ำลายครั่ง

พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน เจ้าของเพจ Craft Colour

หากสังเกตจิตรกรรมฝั่งยุโรปกับฝั่งเอเชียจะเห็นว่าโทนสีแตกต่างกันมาก ฝั่งยุโรปสีเข้มและสดกว่า ซึ่งได้มาจากแร่ที่ให้สี เช่น เทอร์ควอยซ์ งานจึงออกโทนสีฟ้า มีความคมชัดมากกว่า ในขณะที่ฝั่งเอเชียไม่มีแร่แบบนั้น งานจิตรกรรมในฝั่งนี้จึงเป็นสีเอิร์ธโทน เพราะสีได้มาจากดินจากพืชที่ให้โทนอ่อนละมุนกว่า 

หมิวอธิบายขั้นตอนการทำสีพร้อมเกร็ดความรู้เรื่องงานจิตรกรรมอย่างเชี่ยวชาญ เพราะจุดเริ่มต้นในการศึกษาเรื่องการทำสีธรรมชาติของเธอเกิดจากการทำงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง และการปรุงสีเป็นเทคนิคที่ใช้ในการซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง 

“ตอนแรกเราเรียนวิทยาศาสตร์เคมี เราชอบนะ แต่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางของเรา พอดีมหา’ลัยเราเรียนข้ามคณะและย้ายคณะได้ เราเลยไปลองเรียนวิชาอื่นๆ ที่สนใจ ก็ไปลงดรออิ้ง เรียนทัศนศิลป์ เรียนภาพพิมพ์ ทำให้เจอว่าเราชอบความเป็นศิลปะที่มีวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้นด้วย

“จุดเริ่มต้นเลยคือวิชาสัมมนา เราเลือกหัวข้องานอนุรักษ์ทางโบราณคดี คืออนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังของอาณาจักรนูเบีย โดยเขาเอาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์หาองค์ประกอบสีและรองพื้น พอรู้องค์ประกอบเราก็จะรู้เทคนิคการเขียนภาพและวัสดุที่ใช้ พอเรารู้ว่าเขาใช้สีอะไร มันก็จะกลายเป็นหลักฐานหนึ่งทางโบราณคดีที่บ่งบอกที่มาของอาณาจักรนี้ ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร เอาหลักฐานมาประกอบกัน เห็นเขาใช้วิทยาศาสตร์มาอธิบายงานศิลปะ แล้วเราเลยรู้สึกว่า เออ ทำไมในไทยไม่ค่อยมีคนทำเรื่องนี้เลยเนอะ”

หมิวเล่าย้อนความไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเข้ามาสนใจงานอนุรักษ์และงานจิตรกรรม จนทำให้เธอได้เรียนแบบพหุศาสตร์

“ตอนนั้นที่มหา’ลัยมีโปรเจกต์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างหลายคณะ เพื่ออนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังที่อยุธยาหลังน้ำท่วมปีห้าสี่ เราเลยได้เข้ามาศึกษาเรื่องเทคนิคการทำสีจิตรกรรมฝาผนังของไทยมากขึ้น งานที่เราไปซ่อมส่วนใหญ่คืองานช่วงอยุธยาตอนปลาย ถ้าเราเอาสีปัจจุบันหรือสีอะคริลิก ซึ่งมันเป็นคนละองค์ประกอบ ให้สีคนละเฉดไปซ่อม จะทำให้งานซ่อมออกมาคุณภาพไม่ดี

“เราเลยต้องย้อนกลับมาดูว่าสีสมัยก่อนเขาใช้อะไรบ้าง เพื่อมาปรุงสีสำหรับไปซ่อม ซึ่งส่วนใหญ่สีที่ใช้ไม่ได้มาจากต่างชาติ แต่มาจากวัตถุดิบในพื้นถิ่นไทยนี่แหละ เราวิเคราะห์งานจากโทนสีที่เขาใช้เป็นหลัก ซึ่งมันสะท้อนถึงความนิยม วิถีชีวิตในช่วงนั้นๆ ได้ พอเริ่มศึกษาเรื่องการบูรณะสี เลยเจอว่ามันมีรายละเอียดเยอะมาก”

งานอนุรักษ์จิตรกรรมเปรียบเหมือนนักสืบประวัติศาสตร์ จาก 3 องค์ประกอบหลักในงานจิตรกรรมฝาผนัง ได้แก่ สี ลายเส้น และกาว 

‘สี’ บางตัวเล่าถึงวิถีชีวิตได้ เช่น ชาด แร่นำเข้าให้สีแดงสด หรือที่เราอาจจะคุ้นหูว่า แดงดั่งชาดแต้ม ซึ่งสัมพันธ์กับความนิยมในการนำมาทำเป็นเครื่องสำอาง ส่วน ‘ลายเส้น’ มีรูปแบบเฉพาะตัวในแต่ละยุค ล้านนา ล้านช้าง กรุงศรีอยุธยา หรือการได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ เป็นต้น 

พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน เจ้าของเพจ Craft Colour

องค์ประกอบสุดท้ายคือ ‘กาว’ ซึ่งเป็นตัวยึดระหว่างสีและผนัง ไม่ใช่ผนังกำแพงทุกที่จะวาดแล้วติดเลย จึงจำเป็นต้องมีรองพื้นคล้ายการแต่งหน้า ในยุคโบราณ จิตรกรรมไทยแท้จะใช้กาวมะขามผสมดินสองพอง วิธีการคือเอาเม็ดมะขามมาคั่ว กะเทาะเอาเปลือกออก เอาแต่เม็ดข้างในมาตำ แล้วเอาไปต้ม ผสมเหล้าขาว ของเหลวที่ได้จะแยกชั้น จากนั้นจึงกรองเอาเฉพาะเนื้อกาวมาผสมกับดินสอพอง ทาเป็นรองพื้น

“งานจิตรกรรม ถ้ารองพื้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ถ้ารองพื้นไม่ดีสีจะหลุดลอก พอเอากาวมะขามทาบนกำแพงแล้ว ก่อนวาดต้องทดสอบว่าผนังยังมีฤทธิ์เป็นกรดอยู่ไหม โดยใช้ขมิ้นขีด อย่างที่โบราณว่าขมิ้นกับปูนไม่ถูกกัน ถ้าขมิ้นเปลี่ยนสี แสดงว่ามันยังมีความเป็นกรดอยู่ ให้ใช้น้ำใบขี้เหล็กล้างปูน กระบวนการนี้ใช้เวลานานมาก ซึ่งมันก็คือวิทย์เคมีนะ” 

สีอีสาน

พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน

ตัดกลับมาที่ห้องเรียนสีน้ำ ผงสารพัดสีที่มีชื่อแปลกตาติดอยู่ข้างขวดวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะ มะพูด รงค์ทอง ดินมันปู ใบมะม่วง คราม ดินแดง ฝาง ดินมันปู ดินนาเกลือ ดินก้นบ่อ ไปจนถึงเหล็ก 

“ดินมันปู อันนี้เราตั้งชื่อเอง เป็นดินแถวบ้านที่สีออกมาเหมือนมันปู ดินก้นบ่อ เป็นดินจากบ่อในนาของเราที่พ่อเก็บมาให้ สีจากพืชต่างๆ พวกใบมะม่วง ฝาง มะพูด ก็มาจากต้นไม้รอบๆ บ้าน เป็นสีเดียวกับที่แม่เราใช้ย้อมผ้าธรรมชาติ เอาน้ำสีที่ได้มาผสมปูนขาวให้จับตัวเป็นพิกเมนต์ อย่างเหล็กก็เอามาฝนจนเป็นผง” 

พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน

หมิวเป็นคนแรกๆ ที่สนใจศึกษาเรื่องสีไทยโทน โดยนำวิธีการปรุงสีเพื่อซ่อมจิตรกรรมมาต่อยอด บวกกับที่บ้านเกิดของเธอทำผ้าทอสีธรรมชาติ เธอจึงเลือกทำทีสิสเรื่องภาพพิมพ์บนผ้าฝ้ายและผ้าไหม เป็นช่วงที่ทำให้เธอได้หันมาศึกษาภูมิปัญญาหัตถกรรมทัองถิ่นและศิลปะอีสาน ไปพร้อมๆ กับการหาโทนสีใหม่ๆ จากวัตถุดิบรอบบ้าน

“พอเรากลับบ้าน มาทำเรื่องผ้า เรื่องสีกับป้าๆ แม่ๆ ในหมู่บ้าน เราเลยเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีเฉดสีโทนอีสานบ้าง เราเลยเริ่มศึกษาจากจิตรกรรมอีสาน ที่เขาเรียกว่า ฮูปแต้ม (แต้ม แปลว่า เขียน ฮูป แปลว่า รูป)

สีที่ใช้ในจิตรกรรมอีสานมีหลักๆ อยู่แค่สามสี คือ เหลือง แดง น้ำเงิน แล้วมีดำบ้างไว้ตัดเส้น ซึ่งโทนน้ำเงินจะเยอะมาก แสดงว่ามันเป็นพืชที่หาง่าย หรือบางทีจะเจอสี Yellow Ochre หรือ Red Ochre ซึ่งเป็นสีที่มาจากดิน ดินแดง นี่แหละสีตั้งต้นของโทนอีสาน เราจึงอยากได้พิกเมนต์โทนอีสาน โทนสีของบ้านตัวเอง แล้วทั้งการปรุงสีเพื่อจิตรกรรม การย้อมผ้า โดยหลักการมันคือการหาสารให้สีจากธรรมชาติ การหาวิธีทำให้สีติดทนบนพื้นผิวเหมือนกัน เราเห็นว่าสีมีเบสเป็นน้ำเหมือนกัน น่าจะเอามาทำสีน้ำได้ด้วย เลยทดลองทำมาเรื่อยๆ”

ไม่ใช่แค่ได้สนุกกับการหาสีโทนอีสาน หมิวยังแนะนำโทนสีเสียงอีสาน เช่น เขียวอื๋อ ภาษาอีสานเรียกว่า เขียวอึ๋มลึ่ม หรือแดงจ่ายหว่าย คือแดงแปร๊ด ให้อีกด้วย เป็นตาฮักหลายอีหลี

พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน

ส่งสี

สีในงานจิตรกรรมของแต่ละภาคสะท้อนถึงวัตถุดิบในพื้นที่นั้น หากพูดถึงโทนอีสาน สีที่ขาดไม่ได้เลย คือสีน้ำเงินจากคราม หรือผ้าย้อมครามของดีแห่งเมืองอีสาน ครามคือพืชชนิดหนึ่ง ให้สีเมื่อนำใบมาหมักทิ้งไว้ 1 คืน นำน้ำหมักที่ได้ไปผสมปูนขาว แล้วกรองเอาเฉพาะเนื้อครามมาผสมกับน้ำด่างและมะขามเปียกหมักทิ้งไว้ หรือเรียกว่าก่อหม้อ

การเลี้ยงหม้อคราม คือการเลี้ยงจุลินทรีย์เพื่อให้ย้อมผ้าได้ออกมาเป็นสีน้ำเงินสวย องค์ความรู้นี้ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น แต่มีน้อยคนนักที่รู้วิธีเปลี่ยนเนื้อครามก้อนเหนียวให้กลายมาเป็นผงสีฝุ่นเพื่อใช้ในงานจิตรกรรม องค์ความรู้เรื่องการทำพิกเมนต์สีธรรมชาติที่หมิวร่ำเรียนมาจึงเป็นดั่งเวทมนตร์ที่ช่วยเสกให้งานจิตรกรรมไทยโบราณโทนสีอีสานกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง

ก่อนมาสอนฉัน หมิวก็เพิ่งกลับมาจากการส่งต่อเวทมนตร์นี้ให้กับช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่จังหวัดชัยภูมิ
“วัดภูเขาทอง ที่จังหวัดชัยภูมิ มีโปรเจกต์เขียนโบสถ์ แล้วเขาอยากเขียนด้วยเทคนิคแบบช่างโบราณ ใช้สีธรรมชาติ โทนสีอีสาน ช่างจิตรกรรมไทยเขามีองค์ความรู้เรื่องการวาด การทำรองพื้น แต่สิ่งที่เขาไม่มีคือวิธีการทำสีฝุ่น หรือบางคนอาจจะเคยเรียนตามตำราแต่ไม่เคยทำ เราเลยไปสอนวิธีการทำผงสีจากวัตถุดิบท้องถิ่น ใช้ดิน ใช้พืช ยางไม้”

พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน เจ้าของเพจ Craft Colour

เล่นแร่ แปรสี

เมื่อได้พิกเมนต์หรือผงสีแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการเตรียมกาว หมิวยื่นก้อนของแข็งสีเหลืองหน้าตาเหมือนแร่ให้เรา พร้อมอธิบายว่า นี่คือกาวกระถิน (Gum Arabic หรือ Gum Acacia) นำเข้ามาจากอินเดีย เป็นยางไม้ โซนเอเชียเอามาทำสี ส่วนโซนยุโรปเป็นที่รู้จักกันดีในอุตสหากรรมอาหาร ใช้ทำหมากฝรั่ง ใส่ในไอศกรีม ในครีมเค้ก เพื่อให้คงตัว 

“สิ่งที่เราเรียนคือการเอาวิทยาศาสตร์มาอธิบายงานอนุรักษ์ ตัวเราเริ่มจากเรียนวิทยาศาสตร์เคมี แล้วขยับมาศึกษาศิลปะและประวัติศาสตร์ เราเห็นว่ามันไม่ได้ใช้แค่องค์ความรู้เดียว งานอนุรักษ์จิตรกรรมหรือแม้แต่การทำสีน้ำ ถ้าเราจะอธิบายผนังหนึ่งอันว่าทำไมเป็นแบบนี้ ขั้นแรกเริ่มด้วยการเดาจากสี แล้วมาหาว่าพืชหรือแร่ไหนที่ให้สีแบบนี้ได้บ้าง มันตอบได้ด้วยธรณีวิทยา

“ต่อมาเรามาดูที่ลายเส้น ใช้องค์ความรู้ทางด้านศิลปะ ลายเส้นแบบนี้เป็นที่นิยมในยุคไหน บางทีม ดูจากวิธีการรองพื้นเพื่อสืบว่าเป็นเทคนิคที่ใช้ในยุคไหน หรือแกะเอาเศษปูนมายิงเข้าเครื่อง แล้วมันจะขึ้นเป็นกราฟว่าประกอบไปด้วยธาตุอะไรบ้าง ค่อยๆ สืบ ค่อยๆ วิเคราะห์ต่อ ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์หมดเลย”

หากกาว 1 ก้อนเอาไปประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง คงไม่ต่างจากหญิงสาวตรงหน้าฉันที่แปรประยุกต์องค์ความรู้ในงานอนุรักษ์ นำทั้งศาสตร์และศิลป์มาผสมเข้ากับภูมิปัญญาชุมชน เธอตัดสินใจกลับบ้านเพื่อมาอนุรักษ์วิถีชีวิตและศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น

“ตอนนั้นเราเหนื่อยกับการทำงานในเมืองแล้ว เราทำหลายอย่างมาก แต่สุดท้ายสิ่งที่อยู่ในใจคืออยากกลับบ้าน แต่ที่บ้านไม่มีงาน ไม่รู้จะทำอะไรที่บ้าน เรารู้สึกว่าทำไมต้องรอให้โอกาสมาหา เลยคิดใหม่ว่าเราจะสร้างโอกาสขึ้นมาเอง

“เริ่มจากการสำรวจบ้านก่อนว่ามีอะไรบ้าง บ้านเราทำงานหัตถกรรม เรามีความรู้สมัยเรียนที่น่าจะต่อยอดได้ รอบบ้านเรามีคนที่ทำเกษตร ตอนนั้นเราไปฟังงานทอล์กที่ BACC เขาพูดถึงโมเดลการทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน เลยเห็นว่า นี่แหละ การท่องเที่ยวคือการประยุกต์ทุกศาสตร์ถึงจะเกิดงาน

“เราเลยเริ่มสร้างงานให้ตัวเองที่บ้าน ทำแพ็กเกจทัวร์ โดยใช้ความรู้สายประวัติศาสตร์มาช่วยศึกษาเรื่องศิลปะและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เพื่อมาเล่าแล้วพาไปเที่ยวในที่ที่ต่างจากที่อื่น พัฒนาเรื่องงานหัตถกรรมท้องถิ่น ช่วยกันคิดเฉดสีใหม่ๆ ของผ้าทอ ทำพิกเมนต์สีจากพืช จากดิน ในชุมชน และจนมาถึงการทำสีน้ำ กลายเป็นกิจกรรมใหม่ที่ช่วยเรื่องการท่องเที่ยว”

พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน เจ้าของเพจ Craft Colour
พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน เจ้าของเพจ Craft Colour

หมิวหยิบกาวกระถินใส่โกร่งบดยายื่นให้เรา พร้อมบอกให้ลองตำจนกว่าจะเป็นผงสีขาวละเอียด ก้อนยางแข็งตรงหน้านั้นไม่ใกล้กับภาพผงสีขาวเลยสักนิด แม้จะรู้สึกว่ายากและแอบบ่นอุบอยู่ในใจ ฉันก็ก้มหน้าก้มตาบด พร้อมยื่นคำถามกลับไปว่า อะไรคือส่วนที่ยากที่สุดเมื่อกลับมาทำงานพัฒนาชุมชนบ้านเกิด 

“ทุกคนอยากพัฒนา อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากมีไฟฟ้า มีอินเทอร์เน็ต มีไอโฟน เราไปบอกให้เขาอยู่แบบวิธีดั้งเดิมเพื่ออนุรักษ์ไม่ได้ คนชอบพูดว่าลงมาดูงานชุมชน มาดูอะไรเหรอ นี่คือวิถีชีวิตปกติของชาวบ้าน ที่นี่ไม่ใช่สวนสัตว์ เราต้องเข้าใจก่อนว่านี่คือวิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง เราต้องให้เขาเติบโต หน้าที่เราคือช่วยให้เขาเติบโตแบบรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขามีอยู่

“ส่วนที่ยากที่สุดคือการปรับมายด์เซ็ตคนนะ เราไม่ได้มาเพราะสงสาร แต่มันคือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เราไม่อยากปรับสภาพแวดล้อม แต่เราอยากให้เขามีภาพว่าเขาอยากให้หมู่บ้านเขาเป็นยังไงก่อน แล้วเดี๋ยวมันจะไปได้เอง” 

ก้อนกาวกระถินตรงหน้าฉันกลายเป็นผงสีขาวแล้ว ถ้าภาพที่ต้องการในหัวชัด แล้วลงมือทำไปเรื่อยๆ มันก็จะสำเร็จเอง ฉันยิ้มให้กับผงสีขาวในโกร่งตรงหน้า ก่อนที่หมิวจะเฉลยว่าแบบเป็นผงสำเร็จรูปก็หาซื้อได้นะ แต่มันไม่ดีเท่าบดเอง

Steal like an artist, Learn like a scientist 

ขั้นตอนสุดท้าย คือการผสมผงสีกับกาว คนให้เข้ากันก็จะได้เนื้อสีเนียน ตักใส่ตลับรอให้แห้ง พร้อมนำไปวาดได้เลย แต่ขึ้นชื่อว่าธรรมชาติ สีที่ได้จึงแตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนเดิมเลยสักครั้ง จึงใช้เรียกเป็นช่วงสีแทน อย่างเช่นแดงฝาง บางครั้งก็ได้สีแดง บางครั้งชมพู บางครั้งส้ม แตกต่างกันด้วยหลายปัจจัย ทั้งอายุของเนื้อไม้ เวลาในการต้ม ดินที่ปลูก ปูนที่ใช้จับเนื้อสี ไปจนถึงน้ำที่ใช้ ฝางบางหมู่บ้านย้อมยังไงก็ได้สีส้มเพราะน้ำในหมู่บ้าน แร่ในน้ำแต่ละที่ไม่เหมือนกัน การทำปฏิกิริยากับพืชแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน ทุกอย่างจึงเป็นการทดลอง ไม่มีสูตรตายตัว

“พอเรามาเรียนรู้กับคนในหมู่บ้าน มาศึกษาภูมิปัญญาที่เขาสืบทอดกันมา บางเรื่องเขาอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้แต่เขาทำได้ ส่วนเราเริ่มเห็นว่ามันอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้ยังไง เช่น เป็นธรรมเนียมที่รู้กันว่าถ้าเอาผ้าที่ย้อมแล้วไปแช่ในน้ำบ่อนี้จะได้ผ้าที่มีสีสวยสีเข้ม ดีกว่าล้างน้ำประปา ชาวบ้านเขาก็จะจำต่อกันว่าต้องไปที่บ่อนี้

พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน พรพิมล มิ่งมิตรมี สาวสกลผู้ใช้ฟื้นสีจิตรกรรมโบราณและศึกษาของท้องถิ่นเพื่อสร้างสีโทนอีสาน เจ้าของเพจ Craft Colour

“เราก็จะเข้าใจว่ามันคือ มอร์แดนต์ (Mordant) เป็นสารที่เข้ามาช่วยให้สีติดกับสิ่งที่ย้อม พอย้อมผ้าสีธรรมชาติ (Dye) มอร์แดนต์จะเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างของพันธะเคมี ทำให้สีไม่หลุดไม่ตก ซึ่งพืชแต่ละชนิดก็มีโครงสร้างเคมีต่างกัน ต้องใช้มอร์แดนต์ต่างกัน แม่ๆ ก็จะใช้ เช่น สารส้ม น้ำสนิม น้ำด่าง ทั้งหมดคือการทดลอง หน้าที่ของเราคือมาหาคำตอบว่ามันเวิร์กเพราะอะไร เพื่อส่งต่อภูมิปัญญานี้ต่อไป” 

เล่ามาถึงตรงนี้ แม้เธอจะพูดอย่างทีเล่นทีจริงถึงความอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ด้วยวิธีอธิบายขั้นตอนการทำสีของเธอ เราเรียกเธอว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้แบบไม่ขัดเขิน

สีต่างๆ ค่อยถูกผสม ฉันทำวนไปเรื่อยๆ ทีละสี ผสมผงสี กาว น้ำ ความรู้ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ งานอนุรักษ์ ถูกคนรวมกันในโกร่ง

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งไหนควรอนุรักษ์ สิ่งไหนควรพัฒนา เราโยนคำถามให้เธอระหว่างนั่งกวนสีจากใบมะม่วง

“งานอนุรักษ์ คือเราต้องเก็บแบบนี้ไว้ให้เป็นแบบที่มันเป็นอยู่ ไม่ใช่ไปทำใหม่ให้มันเหมือนเดิม ถ้าเหลือแค่ซากก็คือจะดูแลซากนี้ยังไง เราต้องไม่ไปเสียดาย แต่ถามว่าเสียดายไหมมันเสียดายในใจนะ แต่อาจารย์สอนเสมอ เราต้องเข้าใจว่ามันคือธรรมชาติ ธรรมชาติไม่มีอะไรอยู่ตลอดไป

“เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ชุบชีวิตหรือสตัฟฟ์มันไว้ จะเก็บหรือจะปล่อย มันจะถูกตอบด้วยการทำ Feasibility ประเมินคุณค่าในด้านต่างๆ ต่อสังคม ชีวิต สิ่งแวดล้อม ประเทศหรือต่อโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจปัจจุบัน เรียนรู้ข้อผิดพลาดจากอดีต เพื่อไปพัฒนาอนาคต” เนื้อสีเนียนถูกตักใส่ตลับ รอเอาไปวาดเรื่องราวใหม่ในอนาคต ฉันเชื่อว่าองค์ความรู้จากงานอนุรักษ์ก็เช่นกัน

บ้านหนองส่าน ตำบลโคกภู อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร เปิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีทั้งเวิร์กช็อปทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ แล้วจะได้ผ้ากลับไปเป็นของตัวเอง และเวิร์กช็อปอาหารท้องถิ่น ไปทำอาหารกลางวันร่วมกับคนในชุมชน สัมผัสประสบการณ์นอนกลางดินกินอาหารตามฤดูกาลกลางนา หากใครสนใจ ติดต่อสอบถามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Craft Colour

Writer & Photographer

Avatar

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาต่อสาขา design for social innovation ที่สถาบัน School of Visual Art ในนิวยอร์ก สนใจงานศิลปะ และการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม