จมูกของเราไวต่อกลิ่นดิน กลิ่นฝน รองเท้าของเราเหยียบลงบนพื้นดินชุ่มฉ่ำ สายตาของเรามองตรงไปเห็นต้นไม้หน้าตาละม้ายคล้ายกันเป็นพุ่มสวยเขียวชอุ่มสุดสายตา เราขโมยอากาศบริสุทธิ์ของสวนมังคุดอินทรีย์เก็บไว้เต็มปอด ก่อน ปอ-ธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์ เจ้าของ ‘สวนบ้านแม่’ จะทักทายด้วยการยื่นมังคุดเนื้อขาวเนียนหุ้มด้วยเปลือกหนาสีแดงอมม่วงให้เราชิม บอกเลยว่ามังคุดของ ‘สวนบ้านแม่’ หวานอมเปรี้ยวจากธรรมชาติ ปลอดภัยไร้สารเคมี หรอยสมคำร่ำลือ

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

ปอเป็นนักออกแบบ แต่ขอแอบบอกว่าเขาผันตัวมาเป็นเกษตรประจำสวนมังคุดของครอบครัวด้วยความตั้งใจ เขาอาสาเสริมความแกร่งของธุรกิจด้วยวิชาชีพที่เขาถนัด สร้างความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตกับการเกษตรผ่านการออกแบบ เรียนรู้การเกษตรด้วยธรรมชาติ และภูมิปัญญาฉบับชาวพังงาขนานแท้ โดยเขาหวังจะสร้างสังคมระหว่างคนปลูกหน้ามนกับคนกินแสนน่ารักให้เหนียวแน่น และเกษตรกรดำรงชีพอยู่ได้อย่างยั่งยืน

บทสนทนารสหวานอมเปรี้ยวกำลังจะเริ่มต้น หลังจากปอยื่นมังคุดเนื้อเนียนมาให้ชิมเป็นลูกที่ 4 5 และ 6

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

01

พาตัวและใจกลับไปหาสวน บ้าน และแม่

ก่อนจะเป็นหนุ่มสวนมังคุด ปอเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ไทยที่ดังระดับโลกแบรนด์หนึ่ง ซึ่งการกลับมาทำสวนมังคุดเกิดขึ้นจากความบังเอิญ บังเอิญว่าเขาอยากกลับบ้าน เป็นการตอบสนองด้านจิตใจและความรู้สึกของตัวเขาเอง จึงกลับมาสร้างสิ่งที่รักกับสิ่งที่ชอบในที่ที่เดียวกัน หลังจากที่โบกมือลาพังงาไปเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ นานกว่า 10 ปี

เมื่อปอแน่วแน่ว่าจะกลับบ้านอย่างแน่นอน เขาสร้างเพจเฟซบุ๊กเช็กความชัวร์ โดยรวม 3 สิ่งที่เขารักและอยากกลับมาเติมเต็ม ‘สวนมังคุด’ อายุ 50 ปีของครอบครัว รวมกับ ‘บ้านไม้’ ชั้นเดียวสมัยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งปอชอบบ้านหลังนี้มาตั้งแต่เด็ก และ ‘แม่’ ผู้หญิงที่เขารักแต่ไม่แสดงออก ทั้งหมดผสมเข้าด้วยกันกลายเป็น ‘สวนบ้านแม่’

ช่วงที่ปอตัดสินใจกลับบ้านพอดีกับมังคุดออกผล เขาไม่รอช้าเก็บมังคุดไปขายหน้าสวน บางทีก็ขับรถเวสป้าคู่ใจไปขายในตลาด พ่อค้าคนกลางมารับไปขายต่อก็มี

จากนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ดาวรุ่ง ผันตัวมาเป็นเกษตรกรหน้าใส

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

เขาเริ่มสังเกตเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเกษตรกรกับพ่อค้าคนกลาง จนเกษตรกรได้รับค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผล ส่งผลให้คุณภาพมังคุดด้อยลง 

“เราเคยลองไปติดต่อแผงขายผลไม้ในตลาด เขาบอกว่าราคาดี เอามาได้เลย เราก็ดีใจ กลับบ้านรีบเก็บมังคุดไปส่งตอนเช้า พอไปส่งเขาบอกว่าไม่ได้ราคาเมื่อวานแล้วนะ เราเห็นว่าป้ายราคายังเขียนเท่าเดิม แต่ไม่ได้ราคาเดิมที่คุยกันไว้ เราคิดว่ามันแย่นะ ก็เลยยกเข่งพวกนั้นกลับบ้าน สุดท้ายมานั่งคิดว่าปัญหาไม่ได้เกิดเฉพาะเจ้าของสวน ปลายทางก็จะได้ของที่ไม่มีคุณภาพไปด้วย ถ้ามีคนทำราคาเอาเปรียบกัน ก็เป็นการสร้างสังคมที่เอาเปรียบกันต่อไปไม่สิ้นสุด” ปอเล่าปัญหาพร้อมบอกติดตลกว่า “ตอนนั้นคิดว่าเราจะรอดมั้ย”

แต่ปอยังเชื่อมั่นในผลผลิตของต้นมังคุดทั้ง 365 ต้น เขาเห็นใจคนร่วมอาชีพ และเห็นปัญหาของผลไม้หลากชนิดจากความตั้งใจจริงของเกษตรกรที่ไปไม่ถึงมือผู้รับ

02

พ่อค้ามังคุดออนไลน์ทำธุรกิจด้วยความเชื่อใจ

ปอรู้จักตัวเองชัดเจนก่อนกลับมาบ้าน เป็นผลให้เขารู้ว่าควรทำอะไรเป็นลำดับต่อไป

หลังจากเจอปัญหาช่องว่างระหว่างราคาของมังคุดกับพ่อค้าคนกลาง เขาหาช่องทางขายมังคุดของตัวเอง ด้วยการเริ่มจากส่งไปรษณีย์ให้คนรู้จักลองลิ้มชิมรสมังคุดอินทรีย์ส่งตรงจากสวน ก่อนจะเกิดการบอกต่อความอร่อยแบบลังต่อลัง จนต้องเปิดสั่งจองออนไลน์ตามรอบผลผลิตของต้นมังคุด พร้อมยังส่งสารผ่านเพจ ‘สวนบ้านแม่’ ให้คนรักมังคุดเข้าใจวิถีการเกษตรและการดูแลเกษตรมากขึ้น เมื่อผู้รับสารเข้าใจ ก็ทำให้มังคุดของ ‘สวนบ้านแม่’ ขายได้ราคากิโลกรัมละ 70 บาท ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดขายราคากิโลกรัมละ 5 – 10 บาท

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

แผนธุรกิจของปอ ผู้เป็นทั้งนักออกแบบ เกษตรกร และพ่อค้ามังคุดออนไลน์คนนี้แสนเรียบง่าย

เขาใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า ‘ความเชื่อใจ’ ความเชื่อใจระหว่างคนปลูกและคนกิน ปอเสริมว่า “ธุรกิจบางธุรกิจ เราอาจจะไม่ต้องคิดว่ามันจะเกิดอะไร เหมือนกับเราไกด์ไว้แล้วว่ามันขาดอะไร แต่ในระหว่างการทำธุรกิจ ลูกค้าจะเป็นคนบอกเราเองว่าเขาต้องการอะไร เราเอาความต้องการของเขามาต่อยอดในธุรกิจของเรา”

อย่างกรณีของมังคุด 1 กล่อง บรรจุ 10 กิโลกรัม ลูกค้าจะแอบกระซิบว่าทำขนาดเล็กลงสำหรับทานคนเดียวได้หรือเปล่า หรือทำมังคุดกวนห่อใหญ่ได้ไหม เพราะต้องการซื้อไปเป็นของฝาก คำแนะนำทั้งหมดปอบอกว่าเขา ‘ฟังหูไว้หู’ ถ้าทำแล้วเหมาะกับธุรกิจหรือตอบโจทย์ลูกค้าเขาถึงจะทำ

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

03

ความรู้จากธรรมชาติและภูมิปัญญา สร้างธุรกิจให้แข็งขัน

ตอนทำงานออกแบบในเมือง เดดไลน์คือสิ่งสำคัญ แต่เมื่อลงหลักปักฐานเป็นเกษตรกร เดดไลน์จึงหมดความสำคัญ เพราะเขาต้องรอ รอ และรอ

จากนักออกแบบ หันมาเดินทางสายเกษตร จะต้องเรียนวิชาอะไรเพิ่มเติมบ้าง เราถาม

“เราเชื่อว่าถ้าอยู่กับสิ่งนั้นเยอะๆ เดี๋ยวมันจะสอนเราเอง สิ่งสำคัญคือเราต้องลงมือทำ แล้วความรู้ก็จะเกิด บางทีอาศัยทางลัดไปศึกษาจากคนที่ปลูกเหมือนกับเรา ไปดูว่าของเขาดีเพราะอะไร ไม่ดีเพราะอะไร แล้วเลือกปรับใช้กับสวนของเรา สิ่งสำคัญเราต้องคล้อยตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะต้องรอถึง 3 ปี เราไม่มีสูตรสำเร็จว่าใส่ปุ๋ยชนิดนั้นแล้วออกลูกเลย วิถีเกษตรกรเราจะไม่พูดว่า อาทิตย์หน้า สองอาทิตย์ แต่จะต้องพูดว่าปีหน้านะ ฤดูกาลหน้านะ แน่นอนระยะเวลาเพิ่มขึ้นมากกว่าสมัยที่ทำงานออกแบบ” ปออธิบายความต่างของสองอาชีพ

นอกจากปอจะอาศัยทางตรงจากธรรมชาติและทางลัดจากสวนบ้านเพื่อน เขายังหยิบยกภูมิปัญญาดั้งเดิมของคุณพ่อคุณแม่มาปรับใช้กับธุรกิจ อย่างคุณแม่เป็นกูรูด้านมังคุด ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกมังคุดลงกล่อง การคำนวณความสุกของมังคุด ตลอดจนการแปรรูปเป็นมังคุดกวน คุณแม่เลือกใช้วิธีการดั้งเดิม โดยบรรจุมังคุดกวนในก้นถุงพลาสติกขนาดเล็ก จากนั้นพับพับ ม้วนม้วน สะดวกต่อการแกะและรับประทาน ส่วนปอช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ภายนอกให้ทันสมัยมากขึ้น

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

ภูมิปัญญาของคุณพ่อก็ไม่น้อยหน้า ดูแลสวนมังคุดให้ปลอดสารเคมี เน้นการเกษตรอินทรีย์ พ่อของปอไม่ได้สอนวิธีการว่าต้องทำอย่างไร แต่ฝากคำสอนไว้แทนว่า “เมื่อต้นไม้ให้เราได้มีกินแล้ว เราก็ต้องคืนกลับไปให้เขาด้วย” นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมปอจึงดูแลรักษาต้นมังคุดสามร้อยกว่าต้นให้อยู่กับสวนได้นานๆ

“เราว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นข้อดีของคนกลับบ้าน แต่การกลับบ้านมีข้อดีรอเราอยู่ เหมือนเป็นชอร์ตคัตของชีวิต ถ้าคนสองรุ่นคิดพัฒนาในสิ่งเดียวกัน ก็จะทำให้ธุรกิจไปอีกขั้นหนึ่งได้ ตอนแรกเรานึกว่าจะกลับมาลุยคนเดียว แต่ภูมิปัญญาเหล่านี้ทำให้ธุรกิจแข็งแรง บางคนจะบอกว่ามีของเก่าอยู่แล้ว กลับมาก็ทำได้เลย ในความจริงไม่ใช่แบบนั้น การรักษาของเก่าและทำต่อยอดให้อยู่ได้ ไม่ง่ายเลย”

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

04

ต่อยอดผลผลิต เป็นเกราะกันภัย

การพึ่งพาอาศัยกันเป็นภูมิคุ้มกัน การเกื้อกูลกันทำให้สวนบ้านแม่แข็งแกร่ง ถ้าจะให้แข็งแกร่งมากกว่าเดิมก็ต้องเพิ่มเกราะป้องกันเสริมความมั่นใจ ปอยกตัวอย่างฤดูกาลฝน 8 เดือน แดด 4 เดือน เป็นผลให้เขาต้องสร้างที่เก็บน้ำ หรือบางครั้งมังคุดออกลูกดก ผลผลิตเหลือ ก็แปรรูปเป็นมังคุดกวนด้วยมือคุณแม่ ถ้าขายดิบขายดีคุณแม่กวนคนเดียวไม่ไหว ก็ต้องขยับขยายเป็นเครื่องจักรกวน

“เราต้องต่อยอดไปเรื่อยๆ แต่การต่อยอดต้องจบในสวนให้ได้ก่อน ถ้าจ้างคนก็จะเกิดเป็นต้นทุน เราจะไม่ซื้ออุปกรณ์มาก่อนเพื่อจะรอทำอะไรบางอย่าง แต่เราจะทำก่อน ถ้าเติบโตได้ เราก็ค่อยขยับขยาย เราไปช้า แต่ชัวร์”

ในอนาคตปอจะเลี้ยงผึ้ง เพื่อต่อยอดธุรกิจ สร้างเกราะกันภัยให้สวนบ้านแม่

“เราคิดว่ามังคุดเป็นเพียงโบนัส เราอย่าไปคิดว่ามังคุดเป็นทุกอย่างของปี ถ้าอย่างนั้นก็จะไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นมา แต่ความจริงเงินก็สำคัญนะ เป็นภูมิคุ้มกันให้เราอุ่นใจยามฉุกเฉิน” ปอพูดจบ แต่มือยังคงปอกมังคุดและหยิบยื่นให้เราอย่างไม่หยุดมือ

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

05

มังคุดจากใจจริงและจริงใจ

ปอบอกกับเราว่า ลูกค้าสวนบ้านแม่ต้องการความจริง เขามอบทั้งความจริงใจ และความจริงจากธรรมชาติ ความจริงใจในการส่งต่อมังคุดคุณภาพดี สดใหม่จากต้น ปอจะไม่บอกว่ามังคุดของเขาเกรดเอ เกรดส่งออก แต่มังคุดที่ถูกบรรจุลงกล่องจะเป็นมังคุดที่ดีที่สุด อาจจะมีลูกเล็กบ้าง ลูกใหญ่บ้าง หรือมีมังคุดเสียเท่าไรจากผลผลิตทั้งหมด ล้วนเป็นความจริงจากธรรมชาติที่ปอบอกลูกค้า

“ผลไม้มีเปลือก แน่นอนว่าไม่มีใครเห็นข้างใน เราต้องซื่อสัตย์ ถึงมังคุดจะร่วงหล่นใต้ต้นมากขนาดไหน เรายอมทิ้ง แต่ลูกที่เก็บมาใส่กล่องต้องเป็นลูกที่เด็ดจากบนต้นเท่านั้น”

หรือการจะบอกว่ามังคุดขายดีมาก คนมารอจองคิวจนเก็บผลผลิตมือเป็นระวิง เพิ่มราคาดีกว่า ปอไม่เลือกทำแบบนั้น เขาคิดว่าความตั้งใจของเขาเป็นผลให้คนได้กินมังคุดสดอร่อยจากสวน เป็นการเพิ่มความมั่นใจระหว่างคนต้นทางกับคนปลายทาง “เป็นหน้าที่ของเรา ต้องตั้งใจและพยายามทำให้ความสัมพันธ์เข้มแข็งเพราะคนเชื่อเรามีเยอะแล้ว”

เราถามปอว่ามังคุดของสวนบ้านแม่แตกต่างจากมังคุดตามท้องตลาดอย่างไร

“มังคุดของเราไม่ต่างจากที่อื่น แต่เราซื่อสัตย์” เขาตอบทันที

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

06

ออกแบบวิถีชีวิตใส่กล่องมังคุด

หลังจากปอกลับมาอยู่บ้านได้ 3 ปี เขายังคงทำงานออกแบบควบคู่ไปกับการดูแลสวน เพราะปรับตัวและเข้าใจวิถีชีวิตมากกว่าเดิม โดยไม่ลืมนำวิชาออกแบบจากกรุงเทพฯ ติดตัวกลับบ้านมาด้วย  ปอออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อพัฒนาให้แบรนด์แข็งแรงขึ้น ด้วยการลดทอนลายจักสานของชะลอมมาไว้บนกล่องลังกระดาษ ตราสินค้าเป็นมังคุด เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และน่าจดจำ

“ชีวิตก่อนหน้านี้ การออกแบบเป็นทุกอย่างของเรา แม้จะเลือกมาทำสวนเราก็อยากสื่อสารสิ่งที่เรารู้สึก” นอกจากการปรับโฉมบรรจุภัณฑ์ ปอออกแบบวิธีการสื่อสารด้วยการถ่ายทอดชีวิตของเกษตรกร และชีวิตของมังคุด ตั้งแต่เป็นผลน้อยอยู่บนต้นจนกระทั่งเป็นผลใหญ่ใส่กล่องเตรียมจัดส่ง ผ่านการรายงานผล อัพโหลดภาพแบบเรียลไทม์ผ่านหน้าเพจสวนบ้านแม่ ทำให้คนรักมังคุดสัมผัสถึงคุณค่าและมีประสบการณ์ร่วมกัน

มากไปกว่านั้น การออกแบบของปอยังช่วยคลายความสงสัยให้นักทานมังคุด ผ่านการทำภาพโฆษณาอธิบายความสุกของมังคุด โดยการจำแนกตามสีและรสชาติ ข้อดีของมังคุดลูกจิ๋วแต่แจ๋ว หรือการเก็บรักษามังคุดหลังจากส่งตรงถึงประตูหน้าบ้าน

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

07

สวนบ้านแม่ สุขที่สวนบ้านแม่

“เราไม่ได้ต้องการธุรกิจใหญ่โต เรามีสวน เรามีวิถีชีวิตเรียบง่าย เรามีแม่ ธุรกิจของเรามีความตรงไปตรงมา ง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้ดีแล้วขายอย่างซื่อสัตย์” ปอสรุปตัวตนของ ‘สวนบ้านแม่’ จบในประโยคเดียว

“ธุรกิจของเราแค่แม่มีความสุขก็เพียงพอแล้ว อย่างน้อยเราก็พิสูจน์ให้แม่เห็นว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำค่อยๆ เติบโต เพิ่มความเชื่อมั่นให้แม่ว่าเราทำได้ ด้วยรายได้ที่เกิดขึ้น ด้วยภูมิคุ้มกันที่เรามีมากขึ้นกับทุกเรื่อง แต่เรายังต้องก้าวต่อไป” ปอเป็นตัวอย่างของความพอที่ไม่ได้แปลว่าหยุด แต่พอแล้วพัฒนาต่อ

“เราพอแล้วดีหลายอย่างนะ สุขภาพจิตดี คิดงานก็ดี การเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ทำให้เราเจอเพื่อนพี่น้องที่ดี เราไม่ได้คบกันด้วยธุรกิจ แต่พอแล้วดีพาเรามาเจอกัน ตอนเรียนเรามักจำความรู้สึก ทัศนคติของเพื่อนมากกว่าทฤษฎีแล้วนำมาพัฒนาต่อ

“ตอนนี้ภาพในหัวเราไม่ใช่แค่การกลับบ้าน แต่เราคิดต่อว่าเราจะส่งต่อสวนให้กับครอบครัว ให้กับชุมชน และสร้างประโยชน์กับเกษตรกรได้อย่างไร เราไม่ได้แข็งข้อ แต่เกษตรกรต้องได้รับเกียรติ เราจะต้องเปลี่ยนทัศนคติให้คนเข้าใจและเห็นคุณค่าของเกษตรกรมากกว่าเดิม” ปอตั้งเป้าหมายหลังจากเขาทุ่มเทและเห็นปัญหาของการเป็นเกษตรกรยุคใหม่

สวนมังคุด, สวนบ้านแม่ พังงา

สวนบ้านแม่

ประเภท: ผลผลิตทางการเกษตร
ที่ตั้ง: 13/1 ม.1 ถนนเพชรเกษม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ผู้ก่อตั้ง: ธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์
Facebook : สวนบ้านแม่

 

พอแล้วดี The Creator

Facebook | พอแล้วดี The Creator
porlaewdeethecreator.com

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล