The Cloud x พอแล้วดี The Creator

สิ้นเสียงโปรแกรมนำทาง ที่บอกว่าเราถึงจุดหมาย  ณ ไร่รื่นรมย์ ตำบลงิ้ว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย

สายลมอ่อนๆ เรียกร้องให้เราหยุด เพื่อมองทอดผ่านตัวอาคารหลังใหญ่ที่เป็นทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ Food Lab ร้านค้า และพื้นที่จัดสัมมนาของไร่รื่นรมย์ แล้วพบกับพื้นที่สีเขียวสุดลูกหูลูกตา ที่เป็นทั้งป่า เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชพันธุ์ท้องถิ่น ห่างไปไม่ไกลคือเต็นท์ที่พักจัดสรรเรียงรายอยู่อย่างเงียบสงบเป็นสัดส่วนพร้อมรับรองผู้มาเยือน

The Cloud มีนัดกับ เปิ้ล-ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง ‘ไร่รื่นรมย์’ หรือศูนย์การเรียนรู้เกษตรเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน อดีตนักเรียนนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ ที่เลือกเส้นทางชีวิตไปเป็นเกษตรกรเต็มตัว เพื่อชวนคุยเรื่องแผนธุรกิจสร้างสรรค์หลังจากน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์
พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

ไม่ใช่เพราะเปิ้ลทำเกษตรอินทรีย์หรือช่วยชาวบ้านและชุมชนให้พึ่งพาตัวเอง แล้วจึงได้ครอบครองคำว่าธุรกิจที่พอเพียง แต่เธอใช้หลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิเคราะห์ธุรกิจ ตั้งโจทย์เพื่อประเมินตัวเองและค้นหาศักยภาพที่มี ใช้ความรู้หาเหตุและผลในแผนของธุรกิจ คิดถึงแผนสำรองที่จะช่วยให้ธุรกิจไปต่ออย่างยั่งยืน ดำเนินธุรกิจโดยไม่เบียดเบียนใคร จนแบรนด์ไร่รื่นรมย์บรรลุเป้าประสงค์ที่อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและชุมชนผ่านการทำเกษตรอินทรีย์

ประเมินจากสายตาแล้ว เราเห็นตามคำเปิ้ลที่บอกว่าที่นี่ไม่ใช่แค่ไร่เกษตรอินทรีย์ แต่เป็นพื้นที่ที่เปิดประสบการณ์ให้คนกลับเข้าหาสมดุลของธรรมชาติ ผ่านไร่เกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ที่พักฟาร์มสเตย์ ร้านอาหารสุขภาพสร้างสรรค์จากวัตถุดิบที่ดีจากการทำเกษตรที่ดี กิจกรรมและคอร์สเรียนวิถีชีวิตอินทรีย์ให้ใกล้ชิดธรรมชาติที่คนเมืองต่างแย่งกันจับจอง

เป็นต้นแบบของธุรกิจเกษตรสร้างสรรค์ที่เราชื่นชม เพราะเติบโตไปพร้อมกับชุมชน ผ่านการออกแบบพื้นที่ พัฒนาและต่อยอดสินค้าเกษตร

เปิ้ลทำได้อย่างไร

ไหนๆ ก็มาถึงที่แล้วให้เธอเล่าเองดีกว่า

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

‘พอ’ ในความหมายของไร่รื่นรมย์คือ การพบสมดุลของตัวเอง

“สมดุลที่เราดูแลบริหารไร่รื่นรมย์ได้ และมีกำไรบางส่วนเพื่อขยายผลเรื่องการพัฒนาชุมชน

“จริงๆ สมดุลของคนเราอาจจะไม่เหมือนกัน เหมือนกับคำว่าพอเพียง ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะตัดสินว่าใครพอเพียงหรือไม่พอเพียง เพียงเพราะเขาไม่ได้อยู่กระต๊อบ เคยมีคนบอกว่า สิ่งที่เราทำอยู่ไม่ใช่ความพอเพียง แล้วถามว่าทำไมเราถึงสร้างร้านอาหาร ทำไมไม่ปลูกผักกินเองอยู่ที่บ้าน สำหรับเปิ้ล เมื่อใดก็ตามที่คุณมีศักยภาพที่จะทำอะไรมากมาย ไปจนคิดและทำเพื่อช่วยคนอื่น แต่คุณกลับทิ้งไปไม่ใช้ศักยภาพที่มี นั่นอาจจะไม่ใช่เป็นความพอเพียง

“ความพอเพียงและหลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขไม่ใช่เรื่องของเกษตร หรือแม้แต่การพึ่งพาตัวเองจนลืมคิดถึงคนอื่น แต่คือเครื่องมือของการคิดและติดสินใจในเรื่องต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม” เช่นเดียวกับเปิ้ลที่เธอพยายามพาตัวออกจากความเป็นเกษตรกร เพื่อสื่อสารและเป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่คิดและทำสิ่งต่างๆ อย่างไม่คิดถึงแค่ตัวเอง แต่คิดถึงคนรอบข้าง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

ไม่ต่างจากวัยรุ่นทุกคน ในช่วงชีวิตที่ออกค้นหาตัวเอง งานอาสาทำให้เปิ้ลรู้ตัวว่าเธออยากทำงานพัฒนาชุมชน อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผ่านการทำเกษตรอินทรีย์

“ที่ผ่านมาเปิ้ลไม่เคยบอกให้ชาวบ้านหยุดหรือเลิกทำเกษตรวิถีเดิมแล้วให้มาเชื่อตามเปิ้ล แต่เปิ้ลจะลงมือทำให้ชาวบ้านดู ตอนแรกคนในพื้นที่เขาก็คงสงสัยในสิ่งที่เราทำ แต่เราใช้ความจริงจังเข้าสู้ แล้วก็ถึงวันหนึ่งที่ชาวบ้านเห็นผลสำเร็จจากผลผลิตที่ดี ความรู้สึกเขาก็เปลี่ยนไป” เปิ้ลเล่า

จากเดิมที่คิดทำไร่รื่นรมย์โดยไม่คำนึงถึงการทำธุรกิจ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เขาตั้งคำถามกับเปิ้ลว่า “แล้วจะให้เขานำผลผลิตนี้ไปขายที่ไหน” เปิ้ลจึงเริ่มทำการตลาดออนไลน์ ก่อนจะเรียนรู้ว่าผู้บริโภคยังมีความเข้าใจเรื่องสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่มากนัก เธอจึงใช้ความรู้เรื่องการสื่อสารที่มีเชื่อมโยงไร่รื่นรมย์เข้าหาผู้บริโภคผ่านเมนูอาหาร บรรจุภัณฑ์ของสินค้าเกษตร และกิจกรรมที่ชวนให้ผู้มาเยือนสัมผัสวัตถุดิบคุณภาพ

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

เดิมทีรายได้หลักของไร่รื่นรมย์มาจากการดำเนินการร้านอาหารออร์แกนิก และหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขที่เปิ้ลได้จากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ โครงการพอแล้วดี The Creator ช่วยให้แผนธุรกิจชัดเจน จนมั่นใจว่ารายได้ของไร่รื่นรมย์ควรจะมาจากสินค้าเกษตร ทั้งผลิตภัณฑ์จากข้าว พืชผักและผลไม้ท้องถิ่นหายาก สินค้าแปรรูป และกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในไร่ เพราะแม้จะตั้งใจทำร้านอาหารอย่างเต็มที่ เปิ้ลจะทำได้เพียงขยายร้านเพิ่มจำนวนสาขา ซึ่งใช้ทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย

“ห่วงแรกอย่างการประมาณตนเองทำให้พบว่าการทำร้านอาหารไม่ใช่จุดแข็งของเรา ร้านอาหารเป็นเพียง Food Lab เพื่อแปรรูปและต่อยอดวัตถุดิบทางการเกษตร จุดแข็งของเราคือการถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์เรียนรู้ซึ่งสำคัญต่อความตั้งใจทั้งหมดของไร่รื่นรมย์” เปิ้ลเล่าด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

เมื่อมองภาพกว้างของสิ่งที่ทำ เปิ้ลพบว่าจริงๆ มีคนทำเรื่องต้นน้ำหรือทำเกษตรอินทรีย์เยอะมากแล้ว เพียงแต่ตอนนี้เปิ้ลไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ไร่เกษตรอินทรีย์อีกต่อไป แต่เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ออร์แกนิกไลฟ์สไตล์ ที่อยากให้คนคืนดีกับธรรมชาติ คืนดีกับชุมชน นำเสนอผ่านคอนเซปต์กิน-อยู่-รู้-นอน

“เราพูดวิถีชีวิตอินทรีย์ที่ไร่รื่นรมย์ เพราะอยากให้คนคืนสู่สมดุลธรรมชาติ สัมผัสกับ Harmony with the Land สัมผัสธรรมชาติและทีมงานที่เป็นคนในชุมชน มีตัวตน ความคิด เป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจให้ทุกคนลำบาก เรามีระดับความลุยที่แตกต่างกันไป มีตั้งแต่กิจกรรมที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนได้เต็มที่ ไปจนถึงกิจกรรมสบายๆ เป็นการเข้าหาธรรมชาติความความเหมาะสมของเขา เราพยายามให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง สนับสนุนให้ลองคิดลองทำ

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

“มีน้องนักเรียนมัธยมจากอเมริกามาเที่ยวที่ไร่ เขาก็มาขออนุญาตเราเล่นน้ำในแปลงนา ทันทีที่อนุญาตเขาก็กระโดดลงไปเหมือนสระว่ายน้ำเอาโคลนมาคลุกตัวอยู่เป็นชั่วโมง ชาวบ้านและพนักงานที่เห็นก็สงสัยว่าเป็นใครมาจากไหน เพราะพวกเขาที่เติบโตมากับแปลงนา กับหญ้า กับโคลน ยังกลัวเปรอะจะแย่ หลังจากวันนั้นก็เปลี่ยนความคิดเด็กๆ ในชุมชน ทุกคนสนุกสนานกับการลงแปลงนาช่วยพ่อแม่โยนข้าว

“สำหรับเรามันคือการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน คนเมืองชื่นชมวิถีชีวิตของชุมชนที่สามารถดำรงชีวิตด้วยเงินที่จำกัด ขณะที่คนชุมชนพื้นที่ก็รู้สึกเห็นใจคนเมืองที่ต้องใช้เงินซื้อข้าวปลาอาหารที่เขาสามารถหากินได้รอบตัว ในที่สุดคนในชุมชนก็เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขามี”

ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนเดียวบริหารจัดการผู้คน พืช สวน ไร่ นา ที่พัก และศูนย์การเรียนรู้ทั้งหมดนี้ด้วยตัวคนเดียวอย่างไร เราถาม

ซึ่งระบบการจัดการที่ดีช่วยจะทบทวนและแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมีเหตุมีผล ตอบโจทย์ความตั้งใจของเราแค่ไหน

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

“ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดถึงระบบจัดการบริหารเลย เราเคยคิดว่าความตั้งใจดีอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว เราจึงย้อนกลับมาดูการจัดการย่อยๆ ภายในไร่ จากที่เคยคิดว่าไร่ต้องมีแพะเพื่อนำขี้แพะมาใช้ประโยชน์ ก็หันมาตั้งใจดูงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับแพะ คำนวณรายได้เพื่อให้ส่วนของการจัดการแพะเลี้ยงตัวเองได้รอด”

และเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เปิ้ลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทีมงาน เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม และสร้างบรรยากาศให้ทีมงานอยากพัฒนาตัวเอง หรือการระเบิดจากภายใน ทำให้เขารู้สึกอยากพัฒนาตัวเอง ให้เขารู้สึกว่าทำสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย จากการสร้างความเข้าใจและจุดมุ่งหมายว่าทำไปเพื่ออะไร

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

“เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจหรอกเรื่องเกษตรผสมผสาน เราทำเพราะในหลวงมีพระราชดำรัสว่ามันดี จนเมื่อลงมือทำเราถึงเข้าใจว่าเกษตรผสมผสานคือภูมิคุ้มกันของเรา ช่วงที่ทำนาเพียงอย่างเดียว น้ำเกิดท่วมที่นาทั้งหมดทำให้ไม่มีผลผลิตเลย แต่เมื่อเราปลูกผักอื่นๆ พืชระยะสั้น กลาง และยาว ทำให้เราไม่เดือดร้อนเรื่องไม่มีรายได้ เพราะยังมีตัวอื่นที่ช่วยกระจายความเสี่ยงในเชิงกายภาพ”

เปิ้ลเล่าว่า ห่วงที่ 3 อย่างการสร้างภูมิคุ้มกันของไร่รื่นรมย์ในวันนี้คือ การตามหาเครือข่าย

“เราไม่อาจทำทุกอย่างที่ตั้งใจได้ แต่ทำสิ่งที่เราถนัด แล้วเชื่อมโยงเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นที่แม้จะมีศาสตร์ความรู้ที่แตกต่างกันมีส่วนร่วม เช่น ความรู้เรื่องการออกแบบพื้นที่สำหรับคอร์สเตรียมกลับบ้านจาก ‘ใจบ้าน สตูดิโอ’ ที่เชียงใหม่ของ พี่อ้อ-แพรวพร สุขัษเฐียร ความรู้เรื่องการทำผ้ามัดย้อมจาก Mann Craft ที่สกลนครของ พี่แมน-ปราชญ์ นิยมค้า

“แม้พื้นที่เชียงรายจะไม่มีครามให้ย้อมผ้า แต่พี่แมนก็มาช่วยให้ความรู้ทำผ้ามัดย้อมสีจากเปลือกไม้ประดู่ที่หาง่าย จุดเริ่มต้นจากเราทำกันเองในหมู่พนักงานก็ค่อยๆ กระจายต่อไปยังชุมชน จากเดิมที่อยากเพิ่มมูลค่าในสิ่งที่ชาวบ้านอาจจะมองว่ากิ่งไม้ใบหญ้าเป็นของไร้ค่าไร้ราคา จริงๆ ไม่ต้องถึงกับขายก็ได้ แค่ทำใช้กันเองในชุมชนเราก็ดีใจมากๆ แล้ว”

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้แล้วไร่รื่นรมย์ยังทำงานร่วมกับธุรกิจของเพื่อนๆ จากโครงการพอแล้วดี The Creator รุ่นที่ 1 ทั้งที่เป็นธุรกิจเกษตรคล้ายกัน แต่แลกเปลี่ยนวิธีคิดและร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เจออย่างเข้าใจกัน เช่น ‘ไร่สุขพ่วง’ ที่ราชบุรีของ พ็อต-อภิวรรษ สุขพ่วง หรือ ‘สุธีร์ ออแกนิค ฟาร์ม’ ที่จันทบุรีของ สุธีร์ ปรีชาวุฒิ

รวมถึงยังทำงานร่วมกับศิลปินท้องถิ่น และเชฟผู้เชี่ยวชาญการสร้างสรรค์อาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติต่างๆ เช่น เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ เจ้าของร้าน Blackitch Artisan Kitchen จนออกมาเป็น ‘ข้าวยำไร่ทุ่ง’ หนึ่งในเมนูของทางร้านที่รวมความเป็นไร่รื่นรมย์ไว้ในจานเดียว เพราะมีทั้ง ผัก ผลไม้ ดอกไม้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างการใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสิ่งที่มี หยิบองค์ความรู้รอบตัวมาประกอบจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ พร้อมเล่าเรื่องราวของไร่รื่นรมย์ผ่านอาหาร

แทนที่จะมองว่าเป็นคู่แข่งกัน เปิ้ลใช้วิธีค้นหาความร่วมมือและใช้จุดแข็งที่ต่างมีร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เป็นภูมิคุ้มกันในการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์
พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์

ไม่ต่างจากการเลือกเส้นทางในชีวิต การทำธุรกิจก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ

เปิ้ลบอกว่า เธอไม่สามารถบอกให้ใครๆ ทำแบบเธอ เพราะทุกคนมีบริบทของชีวิตและเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน

“ความพอทำให้เรารู้จักตัวเอง ได้รู้ทิศทางของแบรนด์ที่แม้จะเล็กๆ แต่เราก็สามารถสร้างคุณค่ากับชุมชนได้ รู้วิธีการปรับใช้ศาสตร์ของพระราชาซึ่งใช้ได้จริงกับทุกเรื่อง ที่ผ่านมาทุกคนเคยเห็นแต่ไม่เคยเข้าใจ อาจจะฟังดูเป็นหลักการปรัชญาใช้ยาก แต่ความจริงแล้ว 3 ห่วง 2 เงื่อนไขไม่ใช่หลักการที่ตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด เพียงแต่เป็นมุมมองของแต่ละคนที่มีต่อการใช้ชีวิต” เปิ้ลตอบก่อนสรุปความพอแล้วดีทิ้งท้ายว่า

“ในวันที่เราพบจุดที่พอกับตัวเองเมื่อไร เราก็พร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่น แล้วเมื่อเราพร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นเราก็จะเข้าใจจุดมุ่งหมายของเราชัดยิ่งขึ้น แล้วเราก็จะเข้าใจความพอดีในชีวิตของเรา ซึ่งแท้จริงคำตอบไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย แค่เราเข้าใจตัวเองแค่ไหน เราหาตัวเองเจอหรือเปล่า เปิ้ลมองว่าตอนนี้เปิ้ลก็ยังไม่ได้เจอตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันเป็นกระบวนการค้นหาไปเรื่อยๆ แล้วทำให้เราชัดเจนขึ้นไม่มีวันสิ้นสุด”

พอแล้วดี, ไร่รื่นรมย์, ศิริวิมล กิตะพาณิชย์, เกษตรอินทรีย์
 

ไร่รื่นรมย์

ประเภท: ศูนย์การเรียนรู้เกษตรเชิงสร้างสรรค์ ร้านอาหาร ไร่เกษตรอินทรีย์
ที่ตั้ง: ตำบลงิ้ว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย
ผู้ก่อตั้ง: ศิริวิมล กิตะพาณิชย์
Website: rairuenrom.com
FB / IG / Youtube: ไร่รื่นรมย์ RAI RUEN ROM

พอแล้วดี The Creator

Facebook |   พอแล้วดี The Creator

porlaewdeethecreator.com

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล