The Cloud x พอแล้วดี The Creator

หลังจากพบกันล่าสุดเมื่อราวปีก่อน The Cloud กลับมายืนอยู่ ณ สถานที่เดิมอีกครั้ง พื้นที่เบื้องหน้าเราในวันนี้ยังคงเป็นรั้วโรงงานสีชมพูสดใส ภายในมีเครื่องจักรขับเคลื่อนและมีผู้คนที่ขยันขันแข็งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่จากเศษเหล็กเหมือนอย่างเช่นเคย ต่างก็ตรงที่เหตุผลของการพบกันในวันนี้เปลี่ยนไป

เรามีนัดกับ ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ศิลปินผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ PiN Metal Art ธุรกิจออกแบบและผลิตงานศิลปะประดับตกแต่ง ที่ทำจากเศษเหล็กเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

จากทายาทรุ่นสองผู้เปลี่ยนเศษเหล็กในโรงงานของที่บ้านให้กลายเป็นโคมไฟแบรนด์ดังระดับโลก ในวันนี้เธอเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ผ่านร้อนหนาวมาพอสมควร และประสบการณ์ก็ได้หล่อหลอมให้เธอค้นพบเส้นทางของตัวเอง

จากอยากจะไขว่คว้าและแข่งขันเพื่อเอาชนะ เป็นเติบโตอย่างพอประมาณและแบ่งปัน

จากการดำเนินเส้นทางบนโลกแห่งธุรกิจอย่างเหน็ดเหนื่อย เป็นการหวนกลับมานึกถึงแก่นกลางในใจของตนเอง

ในเวลาที่เราไม่เจอกัน ปิ่นเรียนรู้การจุดสมดุลของตัวเอง จากการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับธุรกิจ และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เรากลับมาที่นี่

“โห เราเปลี่ยนไปเยอะมากเลยนะ ทั้งมุมมอง ความคิด ชีวิต วิธีการทำงาน ทุกอย่างเปลี่ยนไปจากวันแรกหมดเลย”

ไม่บอกก็รู้ หลักฐานที่อยู่บนโต๊ะนี้มันพอจะบอกเราได้

โมเดลจำลองของสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์ที่ถูกย่อส่วนให้บรรจุอยู่ในกระดาษได้ถูกวางคลี่ออกมาให้เราได้ยลโฉม จากเดิมที่ PiN ผลิตเพียงโคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้านทั่วไป จากเศษเหล็ก ในวันนี้ PiN กล้าที่จะกระโดดออกไปรับผลิตงานโครงสร้างรูปแบบใหม่ที่ใหญ่ตระการตากว่าเดิมอยู่หลายเท่าตัว

แม้รูปแบบการทำงานจะมีการเปลี่ยนไปบ้างนั้น ทุกอย่างยังคงคิดและผลิตจากเศษเหล็กอย่างบรรจงเช่นเคย

วงสนทนาดำเนินไปอย่างไม่รีบร้อน พร้อมๆ กับเศษเหล็กที่กำลังได้รับการชุบชีวิตในทุกๆ วินาที  

ท่ามกลางเสียงกึกก้องเช่นเคย เรารับฟังอย่างตั้งใจและหวังว่าบทสนทนานี้อาจทำให้คุณได้ทบทวนและชุบชีวิตของตัวเองอีกครั้ง

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

01

ดีพอ

“ไหนบอกว่าจะทำแค่เล็กๆ ทำไมไปทำงานที่ดูยิ่งใหญ่จัง” เป็นหนึ่งในคำถามที่ปิ่นได้รับในวันที่ก้าวออกไปทำอะไรที่ใหญ่กว่าเดิม

“นับจากวันแรก งานของเราพัฒนาขึ้นในเรื่องระบบโครงสร้าง เราจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมที่มากขึ้น เช่น งานใหม่ที่กำลังทำนี้ ต้องขึ้นไปติดตั้งโครงสร้างบนตึกสูงซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อนเลย โชคดีที่มีหน่วยวิศวกรเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ช่วยเหลือ จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับตึกสูงๆ มาก่อน” ปิ่นเล่าพร้อมชี้ให้ดูภาพร่างและพัฒนาการของงานศิลปะชิ้นใหญ่ที่เธอรับผิดชอบอยู่

“เราไม่ได้คิดว่าเราจะพัฒนามาได้ถึงขนาดนี้ ตอนแรกพนักงานที่มีก็ทำไม่เป็นนะ แต่เราออกไปหาความรู้ ถามอาจารย์คณะสถาปัตย์ หาคนช่วยทำแบบจำลองสามมิติจนรู้วิธีการว่ามันควรจะทำยังไง”

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

ปิ่นพาแบรนด์ของเธอไปพบเจอกับบุคคลหลากหลายวงการ ทั้งวิศวกร ผู้บริหาร หน่วยงานต่างๆ ที่มาเสริมกำลังความรู้ แล้วต่อเติมความฝันในการแปรเปลี่ยนเศษเหล็กให้กลายเป็นงานศิลปะที่มีมูลค่าและคุณค่าทวีคูณ

อาจฟังดูขัดแย้งเล็กน้อย เมื่อบอกว่าธุรกิจของเธออยู่ในโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’

เพราะคนเรามักจะชินกับการตีความคำว่า ‘พอดี’ ว่า หมายถึงจุดที่เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้หมดทุกอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยใครใดๆ

แต่ปิ่นกลับมองต่างออกไป เธอเปิดรับการสนับสนุนมากมายจากคนรอบตัว และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ให้พวกเขากลับไปด้วย

“การพึ่งพาตัวเองเป็นสิ่งที่ดี ไม่ต้องไปรบกวนใคร แต่ในโลกความเป็นจริง เราต่างคนต่างพึ่งพากันทั้งนั้น บางทีคนก็ต้องพึ่งพาเรา บางทีเราก็ต้องพึ่งพาคนอื่น เรามีสังคมแล้วก็ช่วยพัฒนากันและกัน แลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปัน และสร้างสรรค์ อะไรไปด้วยกัน”

02

ไม่ได้หยุด แค่หาจุดพอดี

หากมองในแง่ของธุรกิจ คงไม่แปลกที่จะมีเป้าหมายเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่สำหรับปิ่นแล้ว ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความทะเยอทะยานอยากอย่างเร่งรัดแต่อย่างใด ปิ่นเพียงแต่ผ่านประสบการณ์และประเมินสถานการณ์จนได้คำตอบว่า นี่เป็นเวลาที่จะทำอะไรสักอย่างที่ต่างไปจากเดิม

“เราทำตามกำลังและศักยภาพที่เรามีอยู่เท่านั้นเอง ถ้าไหวก็ทำ ไม่ไหวก็หาคนเข้ามาช่วยเป็นพาร์ตเนอร์หรือไม่ทำ เราต้องรู้ตัวว่าเราทำได้ประมาณไหน ชอบทำงานแบบไหน”

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

“เมื่อก่อนเราขยันในการออกงานตามนิทรรศการต่างๆ มาก ไกลแค่ไหนฉันก็จะไป สุดท้ายมาทบทวนแล้วรู้สึกว่ามันเหนื่อยเกินไปสำหรับเรา เราได้เรียนรู้ว่าเราไม่ชอบทำงานชิ้นเล็กๆ แล้วขายไปเรื่อยๆ เยอะๆ ชอบทำงานใหญ่ๆ คุยเน้นๆ หนักๆ มากกว่า เลยมาทำตรงนี้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ออกงานเล็กๆ น้อยๆ เลยนะ เราก็ยังทำเพื่อให้คนเห็นว่า เรายังสร้างผลงานใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ทำแบบพอดีให้ไม่เหนื่อยจนเกินไป ซึ่งกว่าจะถึงจุดนี้ก็ทดลองแหละว่าเราทำอะไรได้บ้าง ไม่ลองไม่รู้หรอก ลองแล้วถึงได้กล้าไง” ปิ่นเล่าย้อนวันและเวลาที่ฟังแล้วเราอดชื่นใจตามไม่ได้

เมื่อเติบโตขึ้น เราอาจรู้จักตัวเองมากขึ้นและเข้าใจว่าที่ตรงไหนคือพื้นที่ที่พอดีของตัวเอง

เหมือนเราประมาณตนได้แล้วว่าเราพอประมาณแค่ไหน

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

“สิ่งที่เราเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นคือเรื่องของธุรกิจนะ เดิมทีเราเข้าใจว่าฉันต้องขาย ต้องได้เงินเยอะๆ ออกงานตลอดเวลา ดังแล้วคนจะเข้ามาหา แต่ตอนนี้เราคิดว่าไม่ต้องดิ้นรนขนาดนั้น ทำของเราให้ดีแล้วถ้าเจ๋งจริง คนจะวิ่งเข้ามาหาเราเอง พอเป็นแบบนี้ บางทีก็มีคนถามว่าทำแบบนี้แล้วรวยหรอ”

คำถามคือ เราจำเป็นต้องรวยหรือเปล่า?

“เราไม่ได้ตามหาความรวยเป็นอันดับแรก เรามาทำตรงนี้เพราะเราอยากสร้างงานศิลปะที่สวยงามจากสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่มีคุณค่า แต่แน่นอนแหละว่ามันต้องมีความจริงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราต้องรู้เรื่องธุรกิจและทำให้มันอยู่รอดเลี้ยงชีพตัวเองได้ จากขายไม่เป็นเลยก็ต้องหาทางขายให้เป็น เพียงแต่เงินไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับเรา”

สำหรับปิ่น เรื่องเงินๆ ทองๆ นั้น พอแล้ว…ดีกว่า

03

คุณธรรมที่คุณนั้นทำ

แล้วอะไรเป็นเป้าหมายที่มีความหมายมากเกินกว่าเงินสำหรับปิ่นกัน

“มันเป็นความตั้งใจของเราที่จะทำให้คนไม่รู้ พอเขารู้แล้วมันจะรู้สึกว้าวขึ้นมา เราอยากจะทำให้คนเห็นว่าเศษเหล็กก็มีความงามของมัน”

ปิ่นยังคงปณิธานในวันแรกไว้เสมอ เธอไม่ได้คิดว่าการลงมือทำธุรกิจนี้เป็นไปเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพื่อคนและสิ่งรอบข้างด้วย วันนี้พื้นที่ในใจของเธอขยับขยายไปกว้างกว่าเดิม และพร้อมจะแบ่งปันความตั้งใจนี้ต่อไปให้ผู้อื่น

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

“ตอนแรกเราเริ่มทำเพราะคิดว่าต้นทุนมันต่ำดี ทำใหม่ก็สวยด้วยในทางศิลปะ แต่พอทำไปทำมาเรารู้สึกว่ามันเป็นการช่วยโลกในการลดขยะด้วย โลกเราทุกวันนี้มีขยะจนล้นโลกไปแล้ว เราอยากทำสิ่งเหล่านี้ให้มันไปกระตุ้นและฉุกคิดให้คนได้รับรู้อะไรบางอย่าง ถ้ามีคนทำแบบเราเยอะๆ นี่ยิ่งดีเลย จะได้ช่วยกันลดขยะแล้วสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ”

แม้เราเป็นเพียงคนตัวเล็กบนโลกใบใหญ่ที่กำลังหมุนไป แต่หากรวมกันคนละไม้คนละมือแล้ว เราอาจออกแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงการหมุนของโลกใบนี้ไปด้วยกันได้

ไม่เพียงแต่สิ่งของไม่มีชีวิตที่บุบสลายจนเกินจะคิดเยียวยา แต่ปิ่นยังอุทิศความตั้งใจนี้ให้เป็นแรงบันดาลใจแก่สิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจอย่างมนุษย์เรา ๆ ด้วย

“เราอยากให้ PiN เป็นแบรนด์ที่ทำให้คนหันกลับมามองสิ่งที่ดูไม่มีคุณค่า อยากจะให้คนมองเห็นว่า เฮ้ย เศษเหล็กมันทำได้ถึงขนาดนี้เลยหรอ แล้วอยากให้คนได้กลับไปทบทวนกับตัวเอง วันที่เขาอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ลองคิดดูดีๆ ทำไมเราจะทำชีวิตของเราให้ดีขึ้นไม่ได้ล่ะ เศษเหล็กยังเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้เลย สิ่งสำคัญของการทำแบรนด์นี้คือนอกจากเราจะชุบชีวิตของเศษเหล็กแล้ว เราอยากชุบชีวิตคนที่อยู่รอบๆ ขึ้นมาด้วย”

PiN งานศิลป์จากเศษเหล็กที่ชุบชีวิตผู้คนและธุรกิจให้อยู่ดีอย่างพอแล้วดี PiN งานศิลป์จากเศษเหล็กที่ชุบชีวิตผู้คนและธุรกิจให้อยู่ดีอย่างพอแล้วดี

ธุรกิจที่ดีบางทีอาจไม่ได้มีจุดมุ่งหมายปลายทางเป็นกำไรสูงสุด แต่เป็นชีวิตผู้คนรอบข้างที่ได้เปลี่ยนไปเมื่อมาอยู่ตรงนี้และสร้างฝันไปด้วยกัน

“ช่างเขาทำไปเขาก็เห็นความงาม เขาเชื่อมเหมือนเดิมแต่ผลลัพธ์ที่ได้มันต่างกัน มันสวยและมีความหมาย เขาก็ภูมิใจในงานของตัวเอง เวลาเราเอางานไปแสดงที่ไหนเราก็จะบอกตลอดว่า นี่เป็นผลงานของใคร ช่างก็จะมีความสุขมาก เขาตอบได้เต็มปากเลยว่าเขาเป็นช่างติดตั้งงานศิลปะ

“สำหรับเราสำคัญที่สุดคือเรื่องคุณธรรมความดี ทำธุรกิจแล้วต้องไม่ทำร้ายผู้คนรอบข้าง เราคิดเสมอว่า ช่างของเรามีความสุขหรือเปล่า เขาได้รับเงินที่เพียงพอและลูกเมียเขามีความสุขหรือเปล่า เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำไปเพื่อรวยเพียงตัวคนเดียว ถ้าไม่มีเขา ก็ไม่มีเรา”

04

เงื่อนไขที่ขานไข

คนเราล้วนมีชีวิตที่แตกต่างกันตามเงื่อนไขและความต้องการ ความรู้และความสามารถของตัวเอง อย่างปิ่นและพี่น้องเกิดและโตในที่เดียวกัน ยังคิดเห็นและเลือกทางเดินในชีวิตแตกต่างกันเลย พี่ชายทำโรงงาน พี่สาวจบวิศวกรรมศาสตร์แต่มาทำบัญชีให้ที่บ้าน ขณะที่เราเรียนศิลปะ ซึ่งถ้าเราเลือกที่จะเป็นศิลปินก่อน เราอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์การทำงานแบบนี้ จะไม่มีแนวทางการทำงานและทัศนคติในการทำงานกับคนอื่นแบบนี้ เราอาจจะเป็นศิลปินที่อยู่คนเดียว มีความเป็นตัวเองสูง

“เมื่อก่อนเราถามตัวเองว่าทำไมจะต้องมานั่งขายของแบบนี้ด้วย แต่เมื่อเห็นความเป็นจริงของชีวิตว่าเราเลิกทำโรงงานนี้ไม่ได้ พ่อแม่ทำเหล็กมาตั้งแต่เกิด จะให้ทิ้งทุกอย่างไปได้ยังไง พนักงานที่เขาอยู่กับเรามาตลอดจะทำยังไง เราเอาตัวเองรอดคนเดียวไม่ได้ เมล็ดที่พ่อแม่ปลูกมามันโตขนาดนี้แล้ว เราก็อยากทำให้มันงอกเงยต่อไป” ปิ่นเล่า

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

“ตอนนี้ เราพยายามจะพาตัวเองกลับไปเป็นศิลปิน” ปิ่นตอบทันทีถึงเส้นทางอนาคต หลังจากที่เราถามเกี่ยวกับความฝันขั้นต่อไป

“ที่ผ่านมา เราหนีความเป็นศิลปินมาตลอด ด้วยความคิดที่ว่าเราอยู่ไม่รอดแน่ๆ ในประเทศนี้ โลกของความเป็นจริงและการทำแบรนด์ PiN จนถึงจุดที่ธุรกิจเติบโตและมีตัวตนชัดเจนจากความรู้และประสบการณ์ที่มีมากขึ้นทุกวัน เราก็เริ่มค้นหาความต้องการในใจของตัวเอง อยากทำออกมาในรูปแบบงานนิทรรศการศิลปะ” ปิ่นเล่า ก่อนจะเสริมว่าในช่วงเวลาที่ไม่แน่ใจ พี่หนุ่ย (ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้ก่อตั้งโครงการพอแล้วดี The Creator) ยืนยันกับปิ่นเสมอว่า เธอทำได้ ให้ความเชื่อมั่นในตัวเองด้วยการบอกว่า งานของเธอจะไม่ได้แสดงแค่ตามงานแฟร์เท่านั้น แต่มันจะเข้าไปอยู่ในแกลเลอรี่

กับความฝันที่มีคุณค่า ระหว่างที่รอจังหวะเวลา การเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์อาจจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

05

แบ่งปันปัญญา

“พอเพียงไม่ได้จำเป็นที่จะต้องอยู่แค่ในไร่ในนาหรือมีแค่เกษตรกรเท่านั้นที่จะเข้าใจ” ปิ่นเล่าจากประสบการณ์ที่ได้ผ่านมาด้วยตัวเอง และเชื่อว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เป็นทฤษฎีที่จับต้องยากหรือต้องวางไว้อยู่บนหิ้ง แต่เป็นเข็มทิศนำทางที่เราสามารถเอามาปรับใช้ได้กับตัวเองทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามแต่

“อย่างตอนแรกเราไม่ชอบโรงงานนี้เลย แต่คำถามคือเราจะอยู่ที่นี่อย่างมีความสุขได้อย่างไร ทุกคนพยายามจะหลีกหนีในสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการทั้งนั้น ไม่ชอบจะอยู่ไปทำไม ใช่ไหมล่ะ แต่เรามองเห็นความจริง เราอยู่กับสิ่งที่เรามีด้วยเหตุผล เรารู้เลยว่าเราต้องทำอะไร”

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

หากลองมองดูให้ดี อาจไม่มีปัญหาอะไรใหญ่เกินตัว เพียงเรารู้จักพอ

ไม่ไขว่คว้าดิ้นรนจนเกินตน แต่ตื่นและตระหนักในความเป็นจริงของชีวิตคนอย่างไม่ตื่นตระหนก

“ตอนที่เราไปเรียนกับโครงการพอแล้วดีแรกๆ ก็งงนะว่ามันคืออะไร จนได้ลงมือทำจริงๆ ถึงจะเข้าใจ สำคัญสุดคือ การเข้าใจเงื่อนไขของชีวิตที่ไม่เหมือนกันนั่นแหละ หาจุดสมดุลของตัวเอง ทำเท่าที่ทำไหว เหนื่อยเกินไปก็ไม่ดี เปรียบเทียบเหมือนกับการกินข้าว กินเยอะไปก็อาเจียน กินน้อยไปก็หิว ต้องกินให้พอดี เราอยากจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนเห็นและเข้าใจว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่สิ่งไกลตัวเลย ไม่ยากเกินไปหากเราตระหนักและหาความพอดีของตัวเองให้เจอ” ปิ่นทิ้งท้าย ด้วยว่าไม่อยากให้เรื่องราวเหล่านี้หยุดอยู่กับแค่ตัวเธอเอง แต่อยากจะส่งต่อออกไปเพื่อคนอื่นๆ ด้วย เพราะบางทีมันอาจจะชุบชีวิตใครสักคนหนึ่งขึ้นมา เหมือนกับสิ่งที่ PiN ได้สร้างสรรค์ให้กับสังคมไปแล้ว

PiN, เศษเหล็ก, ปิ่น ศรุตา, ธุรกิจ, พอแล้วดี

PiN Metal Art

ประเภท : ธุรกิจออกแบบและผลิตงานศิลปะประดับตกแต่งที่ทำจากโลหะ
ที่ตั้ง : หจก. โชติอนันต์โลหะกิจ 13 ซอยสุขสวัสดิ์ 22 บางประกอก ราชบูรณะ กรุงเทพฯ 10140
เจ้าของกิจการ : ศรุตา เกียรติภาคภูมิ
Website : www.pinmetalart.com
Facebook : Pin Metal Art

 

พอแล้วดี The Creator

Facebook | พอแล้วดี The Creator
porlaewdeethecreator.com

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographers

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล

Avatar

นัทธมน แก้วแป้นผา

เด็กภาพยนตร์ที่ชอบการถ่ายภาพมากกว่าดูหนัง