สงบและอบอุ่น

เป็นคำวิเศษณ์บรรยายถึงความรู้สึกพิเศษที่เกิดขึ้นเมื่อเราก้าวเท้าเข้ามาที่ ‘ละเลียด’ (Laliert)

เรามีนัดกับ ต้น-เอกกมล ธีปฏิกานนท์ และ ปุ๋ม-นวลวรรณ สุพฤฒิพานิชย์ เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟและอาหารที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง หนึ่งในกิจการของโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ที่เน้นให้เจ้าของธุรกิจโอบรับการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจด้วยความพอเพียง

ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

คล้ายกับชื่อร้าน ‘ละเลียด’ ตามความหมายในพจนานุกรมแปลว่า กินหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งทีละน้อย

ทันทีที่พนักงานสาวยกเมนูข้าวและสลัดเต้าหู้ย่างหน้าตาเป็นมิตรต่อสุขภาพภายในฝีมือปุ๋ม และกาแฟคั่วเองหอมกรุ่นของต้นวางเสิร์ฟลงบนโต๊ะ เราก็อดใจรอฟังเรื่องราวเบื้องหลังร้านแห่งนี้ไม่ไหว ทั้งห้ามใจอยู่นานไม่ให้เอื้อมมือไปหยิบช้อนจิ้มผักกิมจิที่วางอย่างเชื้อเชิญในจานอย่างเสียไม่ได้

“สิ่งที่เราเลือกสรรให้ลูกค้าเป็นสิ่งที่เรากินแล้วสบายใจ ไม่แต่งหรือประดิษฐ์อะไรเพิ่มเติม เป็นอาหารและเครื่องดื่มที่มาจากตัวตนของเราจริงๆ”

นี่เป็นประโยคแรกๆ ในบทสนทนาระหว่างเราที่บ่งบอกความตั้งใจของคนทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางร้านกาแฟที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกซอกทุกมุมของเมือง เหตุผลที่ทำให้เราเลือกหลบหลีกหนีความวุ่นวายมาที่ร้านแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันย้ายมาอยู่ร่วมกับ FabCafe Bangkok ในพหลโยธิน ซอย 5 ก็คือตัวตนของร้านที่หาไม่ได้จากที่ไหน โดยเฉพาะในประเทศที่ทุกอย่างมาไว ไปไว และทุกคนพร้อมจะเป็นใครคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง

บางครั้ง โลกอาจเสียงดังเกินไปจนเราฟังไม่ได้ยินเสียงข้างในใจตัวเอง

ขอชวนคุณมาพักกายและผ่อนคลายอย่างสบายใจ เลือกสั่งเครื่องดื่มและเมนูอาหารคาวหวานตามอัธยาศัย บทสนทนาว่าด้วยกาแฟ ธุรกิจ ชีวิตที่พอเพียง และตัวตนที่จริงแท้ กำลังจะเริ่ม ณ บัดนี้

ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

01

ละเมียดละไมอย่างมีเอกลักษณ์

“เราคิดว่าการใช้ชีวิตแบบพอแล้วดีคือการใช้ชีวิตแบบไม่เบียดเบียนตัวเอง เมื่อไหร่ที่เราไม่รู้จักพอ เมื่อนั้นเรากำลังเบียดเบียนตัวเองอย่างหนัก” ปุ๋มเริ่มต้นบทสนทนา

เราทุกคนล้วนเคยเบียดเบียนตัวเองมาแล้วทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“ความคิดแรก เราแค่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่ง ณ เวลานั้นการเป็นเจ้าของร้านกาแฟเป็นความฝันของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ต้นเองก็ชอบกาแฟมาก” ปุ๋มผู้ไม่ทานกาแฟ พาเราย้อนเวลากลับไปถึงช่วงเวลาที่กระแสของการเปิดร้านกาแฟเริ่มเข้ามาในประเทศไทย

จากการเดินในเส้นทางสายบรรณาธิการมาอย่างยาวนาน ต้นและปุ๋มตัดสินใจลาออกเพื่อมาเดิมพันกับเส้นทางธุรกิจ ซึ่งเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ ในวันนั้น ละเลียดยังไม่ได้มีแนวทางหรือแผนการข้างหน้าที่ชัดเจนนัก แต่มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างการขายเมล็ดกาแฟผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะเห็นช่องว่างในตลาดกาแฟดริป

“เมื่อก่อนคนไทยเรากินกาแฟแบบเข้มมากๆ เราจึงปรึกษาญาติซึ่งทำเมล็ดกาแฟขายที่เชียงใหม่มาหลายสิบปีแล้วว่าถ้าอยากได้รสชาติกาแฟจริงๆ เราจะขอลดระดับของการคั่วเมล็ด” ต้นเล่า ก่อนจะเรียนรู้ด้วยตัวเองจนสามารถควบคุมระดับการคั่วที่พอใจ แล้วออกเดินทางค้นหาเมล็ดกาแฟอื่นๆ ที่น่าสนใจเพื่อเพิ่มความรู้ของตัวเอง

ศึกษาการคัดเลือกสายพันธุ์และแหล่งพื้นที่ปลูกที่ดี เพราะส่งผลต่อรสชาติของกาแฟ จนไปเจอกาแฟที่ปลูกในป่าโดยชาวไทยภูเขา ซึ่งผลผลิตจากต้นกาแฟในระบบนิเวศของป่าอาจให้เมล็ดไม่เยอะเท่าการปลูกด้วยวิธีทั่วไป แต่เรื่องของคุณภาพไม่เป็นรองใคร

ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

 ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

เพราะใส่ใจในคุณภาพวัตถุดิบ ต้นและปุ๋มจึงหมั่นเดินทางไปเยี่ยมเยียนและรับซื้อเมล็ดกาแฟด้วยตัวเองอยู่เสมอ

“ยิ่งกาแฟของชาวบ้านมีคุณภาพดี ปราศจากสารเคมีและดีต่อสิ่งแวดล้อม เราก็ยิ่งอยากสนับสนุน อยากรู้จักและคุยกับเขาให้มากขึ้น คนมักจะสนใจแต่ปลายทาง ทั้งๆ ที่เรื่องระหว่างทางนั้นสำคัญเพราะทำให้ได้รู้จักกาแฟ รู้จักคนมากขึ้น เวลาเราชิมกาแฟที่ไร่ เราบอกเกษตรกรได้เลยว่ารู้สึกอย่างไร เขาก็จะทบทวนดูว่าจะปรับอะไร เป็นการทำงานที่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน” ต้นอธิบาย

จากความชอบเล็กๆ ในวันนั้น วันนี้ ‘ละเลียด’ สร้างตัวตนขึ้นมาเป็นร้านกาแฟ ในย่านอารีย์ แหล่งรวมร้านกาแฟชั้นดีของกรุงเทพฯ

ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ เพียงแค่เริ่มต้นจากความฝันเล็กๆ ของเราและทะนุถนอมมันให้ดี

รสชาติอันน่าประทับใจที่ปลายทาง เริ่มต้นได้จากเมล็ดที่ดี ณ ต้นทาง

02

ทางของละเลียด

“ก่อนหน้านี้เราไม่รู้ว่าเราจะทำธุรกิจที่พอดีกับตัวตนของพวกเราได้ยังไง” ปุ๋มตอบ เมื่อเราถามถึงเส้นทางธุรกิจร้านกาแฟเมื่อวันแรกเริ่ม

“ตอนแรกเราโฟกัสแค่ที่เมล็ดกาแฟ แต่พอสถานการณ์เริ่มเปลี่ยน เราก็ไม่ได้ละทิ้งจุดเดิม แต่ขยายไปทำเรื่องอย่างอื่นแทน เช่น การทำร้าน เราก็ลงมือทำเองด้วยส่วนหนึ่ง พอขยายมาทำไลน์อาหารก็เริ่มคิดถึงอาหารที่เราอยากให้ลูกค้ากิน ทั้งหมดเป็นแนวทางที่ค่อยๆ เรียนรู้ ลองผิดลองถูก” ต้นเสริม

“ก่อนหน้านี้ละเลียดไม่ได้มีเมนูอาหาร ช่วงที่เราทำ ‘ร้านลิลู’ (Lilou Cafe) เราอยากทำร้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีลูกค้าก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะตั้งใจใช้ร้านเป็นพื้นที่ห้องแล็บทดลองทำอาหารและเรียนรู้จากลูกค้า จนกระทั่งเริ่มมั่นใจในฝีมือตัวเอง จากที่ขายอาหารแค่ 2 วันก็เปลี่ยนเป็น 5 วัน

“ระหว่างที่ทำอาหารเราพบว่าเราชอบออกไปเรียนรู้มากกว่าจะอยู่เฝ้าร้าน จึงตัดสินใจปิดร้านลิลูและใช้ความสามารถเรื่องการคิดและสร้างสรรค์ช่วยทำร้านละเลียด ซึ่งปัจจุบันย้ายมาอยู่ที่ FabCafe” บรรณาธิการสาวผู้ทำอาหารไม่เป็นมาก่อนเล่าที่มาของอาหารของเธอ

 ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

อาหารของปุ๋มสำหรับร้านละเลียดเป็นอาหารไม่ปรุงรสด้วยน้ำตาลหรือเครื่องปรุงรสใดๆ ถ้าได้ลองลิ้มชิมรสสักคำ คุณจะคิดเหมือนกันกับเราว่าอาหารทุกจานอร่อยเพราะรสชาติที่แท้จริงของวัตถุดิบ เป็นเอกลักษณ์ของละเลียดที่ใครๆ ต่างหลงรัก

“เราเป็นมังสวิรัติมา 10 ปีแล้ว ตระเวนหาอาหารมังสวิรัติจากหลายๆ ชาติ เช่น พม่า เอธิโอเปีย เม็กซิโก อาหารพวกนี้จะไม่ค่อยมีน้ำตาลเท่าไหร่ แต่จะมีรสเป็นของตัวเอง รสชาติออกไปทางถั่วๆ ซึ่งเราชอบกินแบบนี้” ฟังปุ๋มเล่าเพียงนิดเดียว น้ำย่อยก็ต่างส่งเสียงเรียกร้อง

การทำธุรกิจไม่ได้สวยงามโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ผู้คนจำนวนมากวาดฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการ แต่ก็ไม่สามารถรักษาธุรกิจของตัวเองให้คงอยู่ได้นาน ต้นและปุ๋มเข้าใจตรงนี้ดีว่าความเสี่ยงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

“เรื่องสำคัญที่สุดคือระยะของการทำงานร่วมกันระหว่างเรากับพี่ต้น พอทำไปสักพักจะเริ่มรู้ว่าใครถนัดอะไร อย่างเราชอบเรื่องอาหาร ก็พยายามคิดเมนูอาหารที่ดีออกมา พี่ต้นดูแลเรื่องกาแฟเป็นหลัก น้องในร้านเพิ่งมารู้ตัวว่าชอบทำขนมจากการช่วยเราอบนู่นทำนี่ จนตอนนี้ขนมทุกอย่างในร้านมาจากน้องคนนี้” ปุ๋มเสริม

“เวลาจะทำอะไร เราจะทบทวนตัวเองว่าเราทำได้มั้ย ยากเกินไปหรือถนัดที่จะทำหรือเปล่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเราล้วนถ่ายทอดมาจากความคิดของเรา ก่อนหน้านี้เราเรียนทำงานในสายศิลปะมาตลอด พอเปิดร้านเราก็พยายามใส่ความหมายและถ่ายทอดออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ในร้าน เรามีความสุขกับการลงมือทำด้วยตัวเอง” ต้นชี้ให้เราดูโต๊ะและเก้าอี้ฝีมือของเขา หรือแม้แต่แท่นวางแก้วกาแฟดริปที่มาจากการลงมือประดิษฐ์ด้วยตนเอง

03

แข็งขันแม้โลกจะหมุนเปลี่ยนและแข่งขัน

กว่าจะมาเป็นร้านที่ลงตัวกับตัวตนของคนทั้งคู่อย่างวันนี้ ต้นและปุ๋มต้องผ่านการทดสอบจากกระแสและการเปลี่ยนแปลงของโลกมาไม่น้อย

“หากเราไม่รู้จักตัวตนของเรา เราก็อาจจะทำร้าน ทำเมนู เหมือนร้านอื่นๆ และเมื่อเริ่มทำร้านตามแบบคนอื่น ก็เท่ากับว่าเรากำลังเบียดเบียนธรรมชาติของตัวเอง ซึ่งเราเคยพยายามทำตามคนอื่น แต่เพราะรู้สึกอึดอัดจึงหยุดทำ จึงได้รู้ว่าเราและต้นเป็นคนที่ไม่ทำอะไรแฟนซี แม้การใส่มาร์ชเมลโลว์หรือสีเยอะๆ ลงไปจะให้กลายเป็นเมนูขายดีของร้าน” ปุ๋มเล่าถึงความพอดีของละเลียด คาเฟ่ ที่ทำขึ้นมาตามศักยภาพที่คนทั้งสองมี ไม่ทุกข์ร้อนเพราะมองทุกเรื่องที่เข้ามาเป็นบทเรียนพัฒนาตน ยิ่งสะท้อนภาพลักษณ์ของพื้นที่ที่เป็นแรงบันดาลใจแก่ทุกคนที่แวะเวียนมา

ในวันที่โลกหมุนเปลี่ยนไว เราจะคงตัวตนของเราได้อย่างไร เราสงสัย

ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

“โลกอาจจะหมุนไปเร็วบ้าง แต่ไม่จำเป็นว่าต้องหมุนตามเสียทั้งหมด เราเสนอทางเลือกที่ไม่หวือหวา แต่อยู่ได้อย่างพอประมาณแบบนี้ไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ว่าเราไม่อยากได้อะไรอีกแล้ว เรายังอยากได้หลายๆ อย่าง แต่มันมีจังหวะของชีวิตมากกว่า ตอนนี้เราพร้อมไหม เราสามารถทำได้โดยที่ไม่เดือดร้อนใครหรือตัวเองในอนาคตหรือเปล่า” ต้นตอบ

“เรามองว่าการทำร้านนี้เป็นการทำงานที่แข่งกับตัวเอง เราเลือกไปต่อในเส้นทางที่เราเลือก ไม่ได้แข่งกับคนอื่น เพราะว่าเป็นคนละเส้นกัน” ปุ๋มเสริม ร้านของพวกเขาไม่ได้มีไว้ให้เหมือนใคร แต่เป็นร้านกาแฟและอาหารที่มีอยู่เพียงหนึ่งเดียว

“อาจจะช้า แต่เราสบายใจนะ เราแค่อยากทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด” ต้นและปุ๋มทำให้เราหวนกลับมานึกถึงตัวเอง

ใช่ โลกช่างหมุนไวเหลือเกินในวันนี้ แม้จะเรียกร้องให้ต้องปรับตัวกันบ้าง แต่ถ้าเรารู้ว่าตัวเองเป็นใคร พอใจกับสิ่งใด ก็คงมีพื้นที่ที่ที่พอดีกับตัวตนของเราบนโลกใบนี้เสมอ พื้นที่ที่มีความสุขและสบายใจ

04

แหล่งพลังงานเชิงบวกชั้นดี

นอกจากจะเป็นร้านกาแฟและอาหารแล้ว พื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยระหว่างคนคุ้นหน้าและคนแปลกหน้า

“สำหรับเราการเปิดร้านไม่ใช่แค่ให้บริการและรอรับเงินจากลูกค้าอย่างเดียว แต่คือการสร้างสังคมเล็กๆ สังคมหนึ่งขึ้นมา เราเชื่อว่าทุกคนที่มาที่นี่จะได้รับพลังงานดีๆ กลับไป ซึ่งบางทีไม่ได้เกี่ยวกับอาหารเครื่องดื่มอย่างเดียวนะ มีคนที่มาเพราะอยากได้ที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเขาสามารถมาพูดคุยกับเราได้ทุกเมื่อด้วย” ปุ๋มตอบคำตอบของเรา ก่อนหันไปทักทายหนุ่มผมทองผู้มาใหม่

ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

ด้วยบรรยากาศที่สบายเกินกว่าจะเป็นร้านกาแฟที่ผู้แวะเวียนต่างนั่งทำงานในมุมของใครของมัน ปุ๋มเล่าว่า มีลูกค้าบางรายที่มาทุกวัน บางรายต่างคนต่างเจอหน้ากันบ่อยๆ จนสนิทและรวมกลุ่มกันไปเที่ยว

“ลูกค้าเป็นเหมือนกระจกของเรา เขาทำให้เราได้เรียนรู้ ทำให้เราคิดต่อว่าจะพัฒนาร้านและสิ่งที่ทำอยู่ยังไง ถ้าเราคิดแต่จะเอาเงินจากเขา ไม่สนใจเสียงของเขา เราก็ไม่มีทางสร้างสังคมที่ดีขึ้นมาได้” ต้นเสริม

นี่อาจเป็นข้อดีของความพอประมาณ

ความพอที่ทำให้เราไม่ดิ้นรนไขว่คว้าเพียงเพื่อตัวเอง แต่เพื่อมีชีวิตอยู่และเรียนรู้ที่จะให้คนอื่น

05

ยืนยันเพื่อยั่งยืน

เหมือนที่หลายๆ คนบอกไว้ ความหมายของคำว่าพอไม่ใช่การหยุด แต่คือความพอใจ พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ และพอใจที่จะทำให้ดีขึ้น

หากวันหนึ่งเราจะรู้สึกเหนื่อยและไม่พอใจอะไรเลย นั่นก็ไม่ได้ผิดอะไร ดีเสียอีกที่ความรู้สึกนั้นกำลังส่งสัญญาณเตือนถึงความรู้สึกเกินพอดีแก่เรา

“ถ้าเรารู้จักตัวเองดี ให้อภัย ไม่เบียดเบียนตัวเองได้ เราจะมีความสุขนะ นอกเหนือจากนั้นคือการได้ช่วยเหลือคนอื่นตามศักยภาพที่เรามี ไม่ได้ช่วยเพราะอยากให้ใครมารักเรา เมื่อก่อนเราอาจจะทำบางอย่างเพื่อให้คนมาชื่นชม ซึ่งเราก็รู้ว่าเมื่อมันเคลือบแฝงด้วยอะไรบางอย่างก็ไม่อาจเกิดความสุขที่แท้จริงได้” ปุ๋มยิ้มตอบเพื่อยืนยัน

ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

จนถึงวันนี้ ละเลียดรู้สึกพอแล้วดีแค่ไหน เราถาม

“เรารู้สึกพอ หากถามถึงในแง่ของตัวเลขรายได้ แต่ยังไม่พอสำหรับการเรียนรู้ เราคิดและเชื่อว่ายังมีโอกาสในการเรียนรู้จากสิ่งนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ” ปุ๋มยิ้มตอบ ก่อนหันไปถามต้น บางทีพอดีของเราก็อาจต่างกัน

“สำหรับเรา ละเลียดยังไปได้ดีกว่านี้อีก ไม่ได้รู้สึกว่าพอจนต้องหยุด เรารู้สึกยังอยากเก็บประสบการณ์การทำร้านไปเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้อยากรีบ อยากให้ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปแบบนี้ซึ่งเราพอใจแล้ว

“พอเราเข้าใจตัวเอง ชีวิตก็จะไม่ซับซ้อน คนใกล้ตัวที่อยู่กับเราเขาก็ได้ความรู้สึก ชีวิตไม่ควรจะต้องพยายามมากเกินไป อาจจะคล้ายๆ ที่ปุ๋มบอกว่า เราสามารถช่วยกันและกันได้ เช่น เรื่องกาแฟ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนปลูกกาแฟ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน พลังแบบนี้จะช่วยส่งเสริมทำให้เกิดความสุขทั้งเราและเขา ไม่ใช่แค่เกษตรกร แต่รวมไปถึงลูกค้า ครอบครัว คนที่อยู่ข้างๆ เรา” ต้นสรุปทิ้งท้าย

ละเลียด (Laliert), พอแล้วดี The Creator

Laliart Coffee

ประเภท : ร้านกาแฟและอาหาร
ที่ตั้ง : 77/1 พหลโยธิน 5 สามเสนใน พญาไท กทม. 10400
ผู้ก่อตั้ง : เอกกมล ธีปฏิกานนท์ และ นวลวรรณ สุพฤฒิพานิชย์
Facebook : Laliart coffee

พอแล้วดี The Creator

Facebook | พอแล้วดี The Creator
porlaewdeethecreator.com

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ