กลิ่นที่จะช่วยให้คุณผ่อนคลาย กลิ่นที่จะช่วยบรรเทาปัญหาที่คุณเผชิญ กลิ่นง่ายๆ ที่คุณอาจมีอยู่แล้วในสวนหลังบ้าน จะดีไหมหากมีน้ำมันหอมจากกลิ่นเหล่านี้ที่ตั้งใจผสมมาเพื่อคุณโดยเฉพาะ

นี่คือความตั้งใจของ ‘คุณยายปลั่ง’ ที่ไม่ใช่ชื่อคน แต่เป็นชื่อแบรนด์

นุช-วรนุช ภาคานาม เจ้าของธุรกิจคุณยายปลั่ง เริ่มต้นจากการเป็นนักบัญชี งานที่เธอถือเป็นความรับผิดชอบเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว และสั่งสมความมั่นคงให้เธอเตรียมตัวก้าวไปสู่สิ่งใหม่ๆ จนกระทั่งวันที่เธอคิดว่าตัวเองพร้อมจะออกตามหาความสุข นุชจึงหันมาศึกษาด้านธุรกิจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม แล้วทดลองค้นหาไปเรื่อยๆ จนวันที่ได้กลับมาอยู่บ้านดูแลพ่อแม่ที่อยุธยา จึงพบความสุขว่าอยู่ในชนบท บ้านที่เธอเติบโตมา และนำมาสู่การทำธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพรที่หาได้ในบ้าน สบู่ แชมพู ครีมหมักผม ยาสีฟัน ครีมบำรุงผิว ครบถ้วนทุกอย่าง น่าใช้ทุกกลิ่น

คุณยายปลั่ง

ผ่านไป 9 ปี แบรนด์คุณยายปลั่งเติบโตงอกเงยเข้มแข็งขึ้น กลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ประจำอำเภอบางปะอิน แต่นุชยังอยากไปต่อจากนี้ ทำให้เธอเลือกเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ รุ่นที่ 2 เพื่อศึกษาหาทิศทางของธุรกิจเล็กๆ ของเธอ ว่าจะงอกเงยไปได้อย่างไรบ้าง

มาถึงวันนี้ที่นุชได้นำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ทั้งกับธุรกิจและกับชีวิต เธอมีความฝันใหม่ ว่าด้วยการทำกลิ่นที่เหมาะกับธาตุเจ้าเรือนของลูกค้าแต่ละคน ทั้งยังหวังต่อไปอีกว่าจะทำให้สมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยคุ้นชินกันดีอย่างขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด กลายเป็นสมุนไพรด้านกลิ่นที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกตามมาตรฐานสากล

ใช่ว่าการพอเพียงคือต้องหยุดฝัน นุชเรียนรู้และค้นพบจุดนั้นได้อย่างไร เธอจะเล่าให้ฟัง

คุณยายปลั่ง

01

กลิ่น : สร้างตัวตนด้วยความรู้

เชื่อว่าคำถามแรกของหลายคนเมื่อเห็นชื่อแบรนด์คือ คุณยายปลั่งเป็นใคร? สำหรับนุช คุณยายปลั่งเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตชาวบ้าน โดยชื่อนี้มาจากคุณยายของแม่ของเธอ ที่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งซึ่งใช้พืชผักสมุนไพรธรรมดาๆ ในการดูแลคนในครอบครัวและชุมชน ความธรรมดาเหล่านี้มีเสน่ห์ในสายตาเธอ และทำให้เธอมีความสุข

เมื่อได้เข้าโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ นุชก็ได้ค้นลงไปอีกขั้นหนึ่งและพบว่าความสุขของเธอที่ผูกพันอยู่กับสมุนไพรในบ้านนั้นมาจากกลิ่นที่เธอคุ้นเคยเมื่อตอนดูแม่ทำกับข้าวอยู่ในครัว ความรู้สึกแบบบ้านๆ ที่เกิดจากความอบอุ่นเป็นกันเองของครอบครัว สิ่งนั้นคือแกนกลางของตัวเธอ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นตัวตนของแบรนด์คุณยายปลั่งด้วยเช่นกัน

คุณยายปลั่ง

“ที่จริงแล้วแบรนด์มันก็คือชีวิตเราเลยนั่นแหละ เรารู้สึกนึกคิดอย่างไร คนก็จะสัมผัสได้จากของที่เราทำไป” นุชบอกพร้อมรอยยิ้ม

หลังจากเห็นตัวตนอย่างแจ่มชัดขึ้นแล้ว พี่หนุ่ย-ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้ก่อตั้งโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ ให้คำแนะนำต่อไปว่า หากอยากคงไว้ซึ่งตัวตนนี้ นุชจะต้องออกไปขวนขวายหาความรู้อย่างหนัก เพื่อให้กลิ่นสมุนไพรที่เธอรักพัฒนาไปให้มากกว่าแค่ความดีงามตามมาตรฐาน

“เราเริ่มจากการนำองค์ความรู้มาพัฒนาสมุนไพรรอบตัวให้เป็นสบู่ แชมพู ยาสระผม ไม่ได้ต่างอะไรจากแบรนด์อื่นๆ เราแค่คัดเลือกวัตถุดิบที่สดใหม่และเน้นคุณภาพที่ดี แต่พอทำไปแล้ว ความต้องการของลูกค้าเริ่มมากขึ้น และความสุขของเราเริ่มจางหาย เราจึงคิดว่าจะต้องออกจากวังวนนี้ด้วยหาความรู้เพิ่ม เพราะความรู้จะทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น” นุชทบทวนที่มาที่ไปให้เราฟัง

02

กลมกลืน :  สร้างผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติ

เนื่องจากเรื่องกลิ่นของคุณยายปลั่งนั้นเกี่ยวกับธรรมชาติ การผสมน้ำมันหอมของนุชจึงตั้งใจออกแบบตาม ‘ธาตุเจ้าเรือน’ ของผู้ใช้ด้วย นั่นคือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่แตกต่างกันไปตามเดือนเกิด ธาตุเจ้าเรือนเป็นตัวกำหนดบุคลิกและลักษณะนิสัยของคนนั้นๆ เช่น ธาตุลมจะมีความคิดสร้างสรรค์สูง ธาตุไฟจะมีความเป็นผู้นำ ธาตุน้ำจะเจ้าอารมณ์ อ่อนไหวง่าย และธาตุดินจะเป็นคนจริงจัง เป็นต้น

นี่เป็นหนึ่งในศาสตร์ซับซ้อนที่นุชได้ซึมซับจากการเรียนแพทย์แผนไทย จึงอาจมองได้ว่าเป็นหนึ่งในความพยายามของเธอที่จะใช้ความรู้รวมความเป็นไทยเข้ามาไว้ในผลิตภัณฑ์

หากลูกค้าคนใดสนใจสั่งผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ของคุณยายปลั่ง จะต้องผ่านแบบสอบถามสุดละเอียดที่ถามตั้งแต่ระยะเวลาที่อยู่ในครรภ์มารดา ลักษณะนิสัย จนถึงรสชาติอาหารที่ทานประจำ เพื่อให้นุชเลือกประเภทกลิ่นเหมาะสมกับธาตุของคุณ และช่วยผ่อนคลายในปัญหาที่คุณเผชิญ (ลองเข้าไปทำได้ที่นี่)

“ร่างกายธรรมชาติของมนุษย์จะปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่ออกไป เช่นกลิ่นสังเคราะห์ และรับสิ่งที่ใช่เข้ามาโดยอัตโนมัติ เช่นกลิ่นจากธรรมชาติ ถ้าได้ดมกลิ่นที่แท้สมองจะสั่งการรับจนรู้สึกเข้าไปในจิตวิญญาณเลย และกลิ่นแท้นั้นจะต้องอยู่ในปริมาณที่พอดี จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้จริง” นุชอธิบายเรื่องการใช้กลิ่นที่เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้ใช้

คุณยายปลั่ง คุณยายปลั่ง

03

กลั่นกรอง : เลือกวัตถุดิบด้วยเหตุผล

นอกจากความรู้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้ในธุรกิจสมุนไพรคือ วัตถุดิบ

ในโลกที่มีวัตถุดิบสำหรับสร้างกลิ่นมากมาย แบรนด์เล็กๆ เช่นนี้จะเลือกวัตถุดิบอย่างไร หากมองจากหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงก็ไม่ยากเลย เพราะหากกลับไปมองถึงตัวตนว่าทำแบรนด์เพื่ออะไร แล้วต่อยอดจากจุดนั้นด้วยเหตุผล ก็จะรู้ได้เองว่าต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง

คุณยายปลั่ง

“มีคนถามว่า ทำไมไม่เลือกกลิ่นแพงๆ วัตถุดิบที่ขายได้ราคาเยอะๆ เรามองว่าถ้าคนไปสนใจแต่ตรงนั้นกันหมด ความยั่งยืนของวัตถุดิบจะอยู่ตรงไหน ทำไมเราไม่เลือกสิ่งที่อยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว มันธรรมดาๆ หาได้ไม่ยาก และมีคุณค่าที่หลายคนยังไม่รู้ เราเลยเลือกพวกนี้” นุชเล่าเหตุผลเบื้องหลังการคัดเลือกวัตถุดิบ

แล้ววัตถุดิบพวกนี้มาจากไหน

ง่ายนิดเดียว ก็มาจากแถวละแวกบ้านของนุชนั่นเอง “เราก็อยู่ตรงนี้ บรรพบุรุษเราก็อยู่ตรงนี้ ความสุขเราก็อยู่ตรงนี้ บ้านทุกหลังก็มีต้นพวกนี้กันคนละต้น เราก็รวบรวมเขาเข้ามาเป็นสมาชิกของเรา”

อีกสาเหตุหนึ่งที่เธอเลือกใช้วัตถุดิบจากละแวกบ้าน เพราะสถานที่ปลูกและดินที่ใช้ปลูกมีความสำคัญมากต่อการสร้างสารหอมของพืช เธอยกตัวอย่างนานาชาติให้ฟัง คือลาเวนเดอร์ “ถ้าปลูกบนภูเขา ลาเวนเดอร์จะต้องพยายามทำตัวเองให้งอกเงย และจะหลั่งสารที่เรียกว่า Ketone ออกมาเยอะ ถ้าเราเอาลาเวนเดอร์ตรงนั้นมาใช้กับคน มันจะไม่สร้างความสุข แต่ถ้าเป็นลาเวนเดอร์ที่อยู่ในบรรยากาศที่ดี เช่น ริมแม่น้ำ จะมีสาร Linalool เยอะ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้คนผ่อนคลาย จะเหมารวมว่าลาเวนเดอร์ทุกอันดีหมดไม่ได้”

ส่วนตัวอย่างแบบไทยๆ เธอยกเรื่องตะไคร้หอม “จะกลั่นตะไคร้หอมมาไล่ยุง ถ้าถามว่า ทำไมตะไคร้หอมของคุณไล่ไม่ได้ ก็ต้องถามกลับไปว่าตะไคร้หอมปลูกที่ไหน สกัดมาแล้วมันมีสาร Citronella ที่ช่วยไล่ยุงแค่ไหน รวมถึงเรื่องไพล ไพลที่ขึ้นในภาคเหนือกับไพลที่ขึ้นในภาคอีสานให้สารสำคัญที่ต่างกัน ต้นทางภาคเหนือมีสารลดปวดได้ดี แต่อีกต้นมีสารช่วยระบบหายใจได้ดี”

คุณยายปลั่ง

04

กลุ่มก้อน : ไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นภูมิคุ้มกัน

ในความต้องการจะโดดเด่น ธุรกิจซึ่งเปิดมาเกือบ 10 ปีอย่างคุณยายปลั่งก็ต้องไม่ลืมผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่านด้วย

ด้านหนึ่งหมายถึงลูกค้าประจำที่เข้ามาใช้แล้วติดใจในคุณภาพของสินค้าพื้นฐานต่างๆ คนเหล่านี้ช่วยเป็นภูมิคุ้มกันให้คุณยายปลั่งตลอดมา และหากเธอใส่ใจดูแลผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน พวกเขาก็จะคอยรองรับหนุนหลังแบรนด์ต่อไป “จู่ๆ จะทิ้งผลิตภัณฑ์พื้นฐานที่มีฐานลูกค้าเก่าไปเลยแล้วมาทำแต่เรื่องกลิ่น มันอาจจะสุดโต่งเกินไป เราเลยตั้งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับธาตุเจ้าเรือนเหล่านี้ไว้ตรงกลาง ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีฐานลูกค้าอยู่ก็เป็นตัวล้อมไว้” นุชอธิบายแผนการบริหารธุรกิจให้ฟัง

ในอีกด้านหนึ่ง คนอีกกลุ่มที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจนี้มาตลอดคือพนักงานและชาวบ้านแห่งบางปะอิน เช่น ป้าเตือนใจ ชาวบางปะอินผู้เป็นมือขวาของแบรนด์ ป้ารับผิดชอบงานด้านการขายแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ตกแต่งร้าน ห่อสินค้าเพื่อจัดส่ง และติดต่อลูกค้า แม้ทิศทางของแบรนด์จะเปลี่ยนไปจากเดิม นุชก็เชื่อว่าเธอยังต้องหาที่ทางเพื่อให้คนเหล่านี้ที่อยู่ด้วยกันกับแบรนด์มานาน ยังมีงานที่ดีทำ และใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข

คุณยายปลั่ง

“ตอนแรกเราว่าเราก็รู้จักตนประมาณหนึ่ง แต่เป็นระดับตัวเรา คือรู้ว่าเราชอบทำอะไร แต่พอเข้าโครงการ เขาให้เรารู้จักตัวเองในระดับที่ลึกขึ้น คอยเตือนสติเราว่าในจังหวะที่คุณมีความสุข ความสุขของคุณต้องสร้างคุณค่าให้ชีวิตคนอื่นด้วย มันถึงจะยั่งยืน” นุชเล่าถึงสิ่งใหม่ที่พบจากโครงการพอแล้วดีให้ฟัง

05

กล้าแกร่ง : ใช้คุณภาพที่ดีทำให้มีชื่อเสียง

เรื่องที่นุชให้ความสำคัญและพูดถึงอยู่ตลอดการสนทนาคือ เรื่องคุณภาพของสินค้า เธอมองว่านี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้คุณยายปลั่งดำรงอยู่ได้ ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นนุชทำเองผสมเองหมดที่บ้านของตัวเอง โดยจะไม่ทำเก็บไว้มาก แต่เน้นทำตามรอบการหมุนเวียนของสินค้า เมื่อไรที่หน้าร้านแจ้งมาว่าของเริ่มร่อยหรอ เธอก็จัดแจงผลิตเพิ่มส่งไปให้

“เรามองว่ามันเหมือนการทำอาหาร คือมันมีความสด สมุนไพรเขาก็มีชีวิตนะ กลิ่นที่ออกมาก็ควรเป็นกลิ่นที่สดใหม่ ไม่ใช่ทำแล้ววางทิ้งให้เขาแห้งอยู่บนชั้นเป็นปีๆ เหงาแย่” นุชพูดพร้อมเสียงหัวเราะ

การจะได้คุณภาพที่ดีมานั้น คงขาดความรู้ไปไม่ได้ เธออธิบายให้ฟังว่า แม้แต่สมุนไพรพันธุ์เดียวกัน หากปลูกคนละแบบในสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ที่แตกต่าง ก็อาจส่งผลให้มีสารซึ่งดีต่อสุขภาพในปริมาณที่แตกต่างกัน ดังนั้น ความรู้จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะต้องเข้าใจว่าหากต้องการสร้างกลิ่นที่ช่วยเยียวยาและผ่อนคลายในเรื่องเหล่านี้ จะต้องนำกลิ่นที่กลั่นจากพืชไปตรวจเพื่อให้พบเจอสารสำคัญอะไรบ้าง ตรงตามที่ต้องการใช้ประโยชน์หรือไม่

นุชมองว่า คุณภาพนี่แหละที่จะเป็นตัวสร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนกับการตลาดอะไรเลย “ภาพมันจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่ด้วยการบอกเล่า แต่ด้วยการสัมผัสสินค้าโดยตรงต่างหาก” นุชอธิบายวิธีการสร้างแบรนด์แบบจริงใจไม่ชวนเชื่อของเธอ

คุณยายปลั่ง คุณยายปลั่ง

06

กว้างไกล : พัฒนาอย่างมีสติ

เมื่อฉันถามถึงนิยามของการประสบความสำเร็จ นุชตอบว่า ในระดับแรกคือการทำธุรกิจที่ตนเองมีความสุข และได้สร้างคุณค่าให้ผู้อื่น ซึ่งทั้งสองจุดนี้ คุณยายปลั่งนับว่าประสบความสำเร็จแล้วในมุมมองของเธอ

แต่เธอยังไม่อยากหยุดแค่นี้ สำหรับเธอ แบรนด์จะประสบความสำเร็จไปได้อีกขั้น หากได้มีโอกาสช่วยทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น หนทางหนึ่งที่เธอเลือกมุ่งไป คือการทำสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“ไทยเรามี Aroma Therapy ในครัวกันตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ต้มยำที่ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เพื่อช่วยขับลม ลดท้องอืดท้องเฟ้อ หรือการให้ดมหอมแดงช่วยลดการอักเสบ ต้านเชื้อโรค ขับเสมหะ มันเป็นศาสตร์ทั้งหมด เราแค่ยังไม่เคยเอามาตีความให้สอดคล้องกับความรู้ระดับสากล หน้าที่ของคุณยายปลั่งคือการแปลกลิ่นเหล่านี้ที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ว่าจะเอามาใช้อย่างไรในเชิงวิทยาศาสตร์และสุขภาพ” นุชเล่าถึงจุดมุ่งหมายใหม่ของธุรกิจ

คุณยายปลั่ง

การจะทำให้ได้ตามฝันดังกล่าว หมายถึงนุชต้องศึกษาหาความรู้อย่างหนักหน่วงมากขึ้นไปอีก เธอเลือกลงเรียนทั้งคอร์สเกี่ยวกับกลิ่นบำบัดของต่างประเทศ เพื่อให้ได้ใบรับรองที่ยอมรับกันเป็นมาตรฐานสากล พร้อมกับเรียนแพทย์แผนไทยเพื่อให้มีความรู้แบบไทยๆ มาผสม โดยตั้งใจให้ความรู้ที่สั่งสมมาเหล่านี้รวมตัวกันกลั่นออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความหมาย

ใครบอกว่าความพอเพียงคือการฝันให้เล็ก สำหรับนุชแล้วตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เธอทำให้เรื่องราวเล็กๆ ในสวนหลังบ้านของเธอกลายเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ ทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะการรู้จักพอ

07

กลมกล่อม : เพียงพอเพราะชัดเจน

เมื่อนุชได้จุดแกนกลางอันชัดเจนของธุรกิจแล้ว เธอก็เข้าถึงจุดที่พอเพียงได้ง่ายขึ้น และได้เรียนรู้ว่า หากจะไปถึงเป้าหมายตามที่หวังไว้นั้น เธออาจจำเป็นต้องเลือกตัดบางสิ่งที่ ‘ไม่ใช่’ ออกไป เพราะหากทำทุกอย่าง สิ่งที่จะขาดหายคือเวลาระหว่างนุชกับครอบครัว และเวลาในการพัฒนาแบรนด์เพื่อให้โตไปข้างหน้า

ตัวอย่างการตัดแบบหนึ่ง คือการค่อยๆ ลดความโดดเด่นของสินค้าพื้นฐาน แล้วหันไปแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องกลิ่นแทน เพื่อให้เธอได้ใส่ใจกับสิ่งที่สำคัญต่อธุรกิจจริงๆ และก็ไม่ทิ้งกลุ่มลูกค้าเดิมไป

คุณยายปลั่ง

“น้ำมันหอมทุกขวดที่ปรุงเราต้องดมเองหมด ถ้าเราปรุงหลายขวดเกินไปต่อ 1 วัน สิ่งที่ดมไปมันจะเริ่มส่งผลต่อร่างกาย เราเลยต้องมีกรอบในการทำงานว่าทำแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอดี นั่นคือสาเหตุที่ต้องมีผลิตภัณฑ์พื้นฐานช่วยดูแลธุรกิจเคียงคู่ไปเรื่อยๆ แล้วถ้าถึงจุดหนึ่ง เราอาจทำให้น้ำมันหอมเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานด้วยก็ได้” นุชเล่าถึงวิธีคำนวณความพอดีของแบรนด์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

อีกการ ‘ตัด’ หนึ่งคือการตัดกลุ่มลูกค้า นุชได้เรียนรู้จากการออกร้านว่า แม้การทำเช่นนั้นจะช่วยให้ขายดีถล่มทลายในระยะเวลาสั้นๆ แต่ผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาในร้านกลับรู้จักแบรนด์เพียงแค่จากที่เห็นชั่วครู่ และไม่ใช่ว่าทุกคนที่ผ่านเข้ามาจะกลายเป็นลูกค้าที่ยั่งยืน ทำให้เธอต้องถอยกลับมาตั้งสติ พิจารณาแก่นของตัวเองให้ดี “พอเราชัดเจนกับตัวเองแล้ว ลูกค้าที่รอคอยสินค้าคุณภาพก็จะหาเราเจอได้ง่ายขึ้น”

เมื่อทำแต่พอประมาณ ส่งผลให้แบรนด์มีคุณค่า และสร้างความสุขให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คุณยายปลั่ง

ขอขอบคุณสถานที่ วัดนิเวศธรรมประวัติ

คุณยายปลั่ง

ประเภท : ธุรกิจผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร

ที่ตั้ง : ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) 59 หมู่ 4 ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13290

เจ้าของกิจการ : วรนุช  ภาคานาม

Facebook : https://www.facebook.com/kunyaiplang

 

พอแล้วดี The Creator

Facebook | พอแล้วดี The Creator

porlaewdeethecreator.com

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ