ท่ามกลางการจราจรติดขัดจากรถคันเล็ก คันใหญ่สองฟากฝั่งถนน ชายหญิงหลากเชื้อชาติเดินขวักไขว่ใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท-นานา หากไม่กระซิบบอกคงไม่ทราบว่ามีโฮสเทลขนาดกำลังพอดีซ่อนอยู่บนชั้นสูงสุดของศูนย์การค้านานาสแควร์

ตามเวลานัดหมาย ฉันเดินลัดเลาะไปยังบริเวณลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า กดลิฟต์ตรงดิ่งขึ้นไปชั้น 4 เพื่อสนทนากับ ตูน-ภาวลิน ลิมธงชัย มาสะกี เจ้าของ ‘หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ’ เธอนั่งยิ้มหวานอยู่กลางสเตชันครัวขนาดใหญ่มาก พร้อมอุปกรณ์ทำครัวครบมือ หากมองออกไปจะเห็นดาดฟ้าของอาคาร สามารถเดินไปรับลมชมสีเขียวจากแปลงพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท

จากอดีตวิศวกรแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ตะลุยน่านน้ำมาหลายประเทศทั่วโลก เธอค้นพบความสุขของตนเองจากการเข้าครัวทำอาหารขณะทำงานกลางท้องทะเล จนเวลาล่วงเลยร่วม 10 ปี เธอตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาเปิดกิจการขนาดย่อม โดยมีสารตั้งต้นเป็นความชอบ-ชอบพบเจอคนและชอบทำอาหาร

เธอเนรมิตความชอบให้จับต้องได้ด้วยการเปิด หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ โฮสเทลที่เชื่อมโยงผู้คนรอบโลกผ่านเรื่องราวของการทำอาหาร จนสำนักข่าว The Telegraph ยกให้เป็น 1 ใน 10 ที่พักที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ และได้รับผลโหวตยอดเยี่ยมด้วยคะแนนสูงถึง 9.6 คะแนน จาก HotelsCombined เว็บไซต์ที่รวบรวมราคาโรงแรมชั้นนำของโลก ทว่าเธอยังน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างหอมหวนและชวนสงสัยว่าเธอหยิบจับเครื่องปรุงอะไรใส่ลงไปในธุรกิจนี้บ้าง

รสชาติของอาหารจานนี้จะเป็นอย่างไร ไปชิมรสมือของเธอพร้อมๆ กัน

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท, Hom Hostel & Cooking Club

01

อาหารเชื่อมโยงผู้คน และทำให้รู้จักตน

วินาทีไหนทำให้เชื่อว่าการทำอาหารสามารถคอนเนกต์กับคนได้ ฉันถาม

“มันเกิดตอนอยู่บนแท่น เราอยากกินช็อกโกแลตมากเลย ก็เดินไปถามพ่อครัวว่ามีช็อกโกแลตไหม เขาบอกว่ามี งั้นเราขอทำบราวนี่ได้ไหม” เธอเข้าครัวไปสอนพ่อครัวประจำแท่นทำบราวนี่และคุกกี้นิ่ม

“หลังจากทำครัวเขาพูดกับเราประโยคหนึ่งว่า ไม่เคยมีใครเข้ามาหาเขาในครัวเลย เพราะเหมือนโดนดูถูกว่าเป็นคนชั้นล่าง พอเราเข้าไปเขามีความสุขมาก ซึ่งอยู่ดีๆ เราก็ไปคอนเนกต์กับเขาได้”

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท

 คำถามเพียงหนึ่งคำถาม ทำให้เธอพรั่งพรูคำตอบออกมามากมาย ด้วยการย้อนกลับไปคิดว่าเธอเชื่อมโยงผู้คนด้วยอาหารอย่างไม่รู้ตัวมาตั้งนานแล้ว

“ตอนเราเรียนปริญญาโทแล้วจะต้องสอบธีสิส เขาแจ้งว่าให้เตรียมอาหารมาให้กรรมการด้วย นั่นทำให้เราไม่สนใจธีสิสเลย นั่งทำข้าวเหนียวหมูปิ้งและชาเย็นกับเพื่อน หลังจากนำเสนอจบ อาจารย์ไม่ถามคำถามเลยสักข้อ แต่ถามเราว่า ‘ทำข้าวเหนียวหมูปิ้งอย่างไร’ แล้วทิ้งท้ายว่า ‘ฉันคิดว่าเธอคงไม่ได้เป็นนักปิโตรเลียมที่ดีนะ แต่เธอคงเปิดร้านอาหารเข้าสักวันหนึ่ง’”

หอมเชื่อมอาหารกับผู้คนเข้าด้วยกันผ่านคุกกิ้งเดโม หรือการสาธิตการทำอาหารทุกวันในเวลา 6 โมงเย็นโดยเชฟมากประสบการณ์ หลังจบการสาธิต แขกที่เข้าร่วมกิจกรรมจะลองชิม ลงมือทำ หรือร่วมแบ่งปันสูตรประจำครัวของประเทศตนเองก็ย่อมได้ จนตูนนึกสนุกชวนทุกคนบันทึกสูตรลับร่วมกัน ทำเป็นหนังสือรวมสูตรอาหารและขนมจากแขกทั่วโลก ก่อนจะนำเรื่องราวน่าสนใจจากแขกที่มาพักบันทึกลงใน People of Hom บนเว็บไซต์ของหอมด้วย

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท, Hom Hostel & Cooking Club หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท , Hom Hostel & Cooking Club

“มีแขกเป็นคนอินเดียมาเรียนมวยที่ไทยแล้วคิดถึงบ้านมาก เขาทำอาหารไม่เป็น จึงไปซื้ออาหารและวัตถุดิบในร้านที่เป็นแหล่งอินเดีย แล้วลองผิดลองถูกพร้อมกับนั่งไลฟ์กับแม่เพื่อให้แม่สอน มันก็น่ารักดี จริงๆ มีตัวอย่างหลายแนวมาก และทุกอย่างเป็นเรื่องของอาหาร บางทีเราทำเมนูแกงไตปลา ทำส้มตำแบบไล่ระดับเลเวล ส้มตำไทย ส้มตำปูปลาร้า ส้มตำซั่ว เราอยากให้แขกรู้จักอาหารไทยมากขึ้นและกลับไปทำที่ประเทศเขาได้” เรายิ้ม เพราะจินตนาการภาพบรรยากาศตามสิ่งที่ตูนเล่า

หลังจากเธอค้นพบความสุขและรู้จักตนเองจากความชอบ-ชอบพบปะผู้คน ชอบการทำอาหาร

ตูนศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการลงเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ ก่อนต่อยอดเป็นธุรกิจโฮสเทลอย่างจริงจัง เพราะพบว่าโฮสเทลตอบโจทย์ความชอบของเธอได้ลงตัวพอดี

02

เพราะความไม่รู้ ก่อเกิดความรู้

เพราะรู้จักตนเองเป็นอย่างดีจึงลงเอยเป็น หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ แต่ก็ยังมีบางคนเข้าใจหอมผิด เดินเข้ามายังโฮสเทลเพื่อถามเธอว่า มีอาหารขายหรือเปล่า ซึ่งทำให้เธอรู้ว่าแบรนด์ของเธอยังไม่ชัดเจนพอ จนเริ่มเข้าโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ พี่หนุ่ย-ดร.ศิริกุล เลากัยกุล แนะนำให้เธอเปลี่ยนจาก ‘อาหาร’ เป็น ‘การทำอาหาร’ จาก Connecting People Through Taste เป็น Connecting Lives by Cooking ฉันคิดว่าพี่หนุ่ย เธอ และฉัน คงมองเห็นความมีชีวิตชีวาในคำนิยามขนาดสั้นของหอม

“เมื่อก่อนเราไปเน้นว่าเราเป็นโฮลเทลเดียวที่มีครัวขนาดใหญ่ แต่ความจริงมันคือการทำอาหารมากกว่า ไม่เราทำให้เขา เขาก็ทำให้เรา จนเราต้องมีสมุดเก็บสูตรอาหารของเพื่อนแต่ละชาติ”

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท

“เมนูอาหารขึ้นชื่อของแขกที่มาพักคงเป็นไข่เจียวสเปน ทำกันได้แทบทุกคน หรือมีแขกที่มาพักทำฟอกัชช่ามะเขือเทศ (Focaccia with Tomatoes) เขาใช้มะเขือเทศ มะกรูด และใบมินต์ จากแปลงผักสวนครัวของหอม และใช้น้ำมันมะกอก เกลือปรุงรส ของแขกต่างชาติที่มาพัก

“อาหารทำให้ต่างคนต่างคอนเนกต์กัน เชื่อไหมว่าตั้งแต่เปิดมามีแขกที่มาพักสมหวังไปหลายคู่ นี่คือการพิสูจน์ว่าอาหารได้เชื่อมคนสองคนเข้าด้วยกัน การที่เรานั่งกินอาหารแล้วคุยกันในเรื่องลึกๆ ถือเป็นอีกความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่าการเดินเข้าร้านกาแฟ แล้วไปนั่งทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า” เธอขยายความนิยามใหม่ของ ‘หอม’

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท

03

มีเหตุมีผล ลดความเสี่ยง เปลี่ยนการให้

จากนักวิศวกรประจำแท่นขุดเจาะผู้ผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการ

เมื่อรู้ว่าตนเองไม่ได้เก่งกาจด้านธุรกิจ เธอศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจโฮสเทลในยุคนี้ ทั้งพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากลาออกจากงานประจำเงินเดือนดี และด้วยเหตุผลเรื่องครอบครัวและลูกจึงไม่คิดลงทุนเกินตัว โดยเลือกทำจากโฮสเทลขนาดเล็กก่อน ถ้าผลตอบรับดีค่อยขยับขยายต่อไป โดยเงินลงทุนทั้งหมดมาจากการเก็บเล็กผสมน้อยจากงานประจำ

“เรารู้สึกดีใจที่เลือกทำขนาดเล็ก จึงไม่เหนื่อยมาก และทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวและตัวเองมากขึ้น” ฉันเห็นด้วยกับตูนทุกอย่าง

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท, Hom Hostel & Cooking Club หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท, Hom Hostel & Cooking Club

“ตอนเข้าโครงการพอแล้วดี พี่หนุ่ยถามว่า ธุรกิจเราเหมือนจะดีหมด แต่ทำไมถึงยังอยากมาที่นี่ เราตอบว่า เพราะที่ผ่านมาเรา ‘ให้’ คนไม่เป็น ให้แล้วเจ็บกลับมาตลอด เราอยากเรียนรู้และอยู่ในสังคมที่เขารู้จักการให้”

คำแนะนำจากเหล่าเทรนเนอร์เรื่อง ‘การให้’ ทำให้ตูนเริ่ม ‘ให้เป็น’ ควบคู่ไปกับการสร้างฐานความรัก ลูกน้องรักหอม คนในตึกรักหอม และลูกค้ารักหอม

“หอมมีโมเดลอาสา ใน 1 เดือนจะมีอาสาสมัคร 2 – 3 คน ช่วยทำความสะอาด 2 ชั่วโมงต่อวันเพื่อแลกกับที่พักฟรี เคยมีเหตุการณ์ไฟไหม้ตอนตี 3 ซึ่งอาสาเข้าไปช่วยดับไฟ ช่วยทุกอย่างเลย บางคนติดใจอยู่กับเราเป็นปี จนตอนนี้เราหางานในเมืองไทยให้เลย เพราะว่าเขาเองผูกพันกับเรา และเราก็ผูกพันกับเขา

“ส่วนการให้แล้วเราไม่เจ็บเอง เราต้องดูว่าคนที่เราให้เขาเป็นคนที่สมควรจะได้รับหรือเปล่า ต้องให้อย่างมีเหตุและผล เมื่อก่อนกำไรเรายังไม่มีเลย แต่เราให้เขาแบบเกินตัว” ตูนเล่า

04

(ค)รอบ + ครัว คือ ภูมิคุ้มกัน

“ทำอะไรเราต้องนึกถึงคนอื่นเสมอ” ตูนบอกกับฉัน

เธอไม่มองว่าพนักงานเป็นเพียงแค่พนักงาน แต่มองว่าพวกเขาเป็นเสมือนคนในครอบครัว

“เรามีหุ้นส่วนถือหุ้นอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ และเราถือหุ้น 80 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็อยากให้น้องพนักงานมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของกิจการมากว่าเป็นพนักงาน ปีที่ผ่านมาเราเลยยื่นข้อเสนอให้พนักงานเลือกระหว่างโบนัสประจำปีกับหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนไหนเลือกหุ้นเราก็แบ่งให้ตามกำไร” พอแล้ว…เธอจึงแบ่งปัน

นอกจากพนักงานและผู้ด้อยโอกาส เธอยังคิดถึงธุรกิจเพื่อนบ้านเรือนเคียงจากโครงการพอแล้วดี

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท

“เรานำผลิตภัณฑ์ครีมทามือออร์แกนิกจาก Hug มาตั้งบริเวณส่วนกลางเพื่อให้แขกทดลองใช้ และถ้าติดใจเราก็มีจำหน่าย นอกจากนี้เราร่วมทำแผนที่ชุมชนกับ พี่โทน (กิตติพจน์ อรรถวิชเชียร) จาก CreativeTone คุยกับฟาร์มลุงรีย์ชวนให้มาสอนวิธีการนำไส้เดือนมาย่อยขยะจากเศษอาหาร คุยกับ น้องเฟรม (รัตมา เกล้านพรัตน์) และ น้องบอส (ชัยพร เวชไพรัตน์) จากแบรนด์ miNATURE_c ว่าดินปลูกผักสวนครัวลอยฟ้าของหอมน่าจะนำมาเวิร์กช็อปได้

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท, Hom Hostel & Cooking Club

“ช่วงสาธิตการทำอาหาร เราลองนำมังคุดจากสวนบ้านแม่มาให้แขกชิม เพื่อบอกว่ามังคุดที่ดีเป็นแบบนี้นะ หรือแม้แต่กิน-ได้-ดี ที่ทำอาหารเกี่ยวกับคนแพ้ เราก็ชวนเขามาทำขนมกับแขกญี่ปุ่นที่กำลังสนใจเรื่องขนมปังไร้กลูเตน อย่างเก้าอี้ตรงดาดฟ้าเป็นของ ปิ่น (ศรุตา เกียรติภาคภูมิ) จาก PiN Metal Art ที่ทำไว้สำหรับงานแต่งงาน แต่ลูกค้าไม่ได้ใช้ต่อก็เลยยกให้เรา เราว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นการส่งต่อแบรนด์ซึ่งกันและกัน จากน้องสู่พี่ จากพี่สู่น้อง และจากเพื่อนสู่เพื่อน” ตูนเล่าพลางชี้ชวนให้ดูความร่วมมือร่วมใจของธุรกิจจากครอบครัว ‘พอแล้วดี The Creator’

05

หอม ทำโฮสเทสน้อยแต่พอตัว

สำหรับตูนและหอม ความพอของเธอเปรียบเสมือนนกตัวน้อยที่เลือกจะทำรังแต่พอตัว

เธอเลือกจะไม่ขายแฟรนไชส์ เพราะหากต้องเปิดสาขาในต่างประเทศ แน่นอนว่า เธอไม่มีเวลาดูแลกิจการได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญ ตูนไม่อยากให้หอมเป็นเพียงธุรกิจ แต่ขาดความเป็นตัวตนของหอม ขาดความชอบและความรักในการทำอาหาร ซึ่งถ้าหัวใจของหอมต้องหล่นหายไป เธอเลือกที่จะไม่ทำดีกว่า

แต่หากใครรักจริงหวังหอมไปครอบครอง เธอไม่หวงแนวคิดธุรกิจของตนเองเลย ขอเพียงเข้าใจและมีใจรักในสิ่งเดียวกันกับหอมและนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจ เธอจะยินดีเป็นอย่างมาก

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท

06

จากชอบ เป็นพอ จากพอ เป็นดี

ความพอของเธอมีต้นทางมาจากความชอบ แล้วทำความชอบให้กลายเป็นความจริงด้วยการทำอย่างไม่เกินตัว

ตูนทำโฮลเทลขนาดกำลังดี พอให้ตัวเองมีความสุข คนรอบข้างมีความสุข

ตูนทำโดยคิดถึงคนอื่น ไม่ได้ต้องการกำไร หรือสิ่งอื่นใดมากมาย เกินไปกว่าต้องการให้ทุกคนที่อยู่กับหอมเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานของการคิดทำธุรกิจ เริ่มจากการรู้จักตนเอง เมื่อเรารู้ว่าเราชอบอะไร ต่อให้เจอปัญหาเราก็พร้อมจะสู้เพื่อมัน ในส่วนที่ต้องตัดสินใจ เราก็เพียงทบทวนว่าสิ่งที่คิดจะทำนั้นเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ สถานการณ์ทางการเงินและชีวิตเราเหมาะสมกับเงินลงทุนนับสิบ นับร้อยล้าน หรือเปล่า

“ขณะที่เงื่อนไขความรู้ เราจำเป็นต้องศึกษาตลาดหรือทำวิจัยอย่างจริงจังเสมอ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปิดโฮสเทลแล้วหวังให้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น สำหรับเรา สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือความรู้ทางการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย แต่ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำ และเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและสังคม ต่อให้ถึงวันที่หมดลมหายใจเราก็รู้สึกภูมิใจ โดยไม่ต้องบอกว่าชีวิตนี้เราทำอะไรมาแล้วบ้าง และเมื่อทั้งหมดนี้ประกอบรวมกับความสัมพันธ์อันดีที่คนรอบข้างมอบให้เรา มันกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี จนทำให้เราค้นพบจุดที่พอ…แล้วดี” ตูนทิ้งท้าย

หอม โฮสเทล แอนด์ คุกกิ้ง คลับ, โฮลเทล สุขุมวิท

Hom Hostel & Cooking Club
ประเภท: โฮลเทล และบริการเช่าห้องครัว
ที่ตั้ง: 49 นานา สแควร์ ชั้น 4 สุขุมวิท 3 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ
ผู้ก่อตั้ง: ภาวลิน ลิมธงชัย มาสะกี และ ชเนษฐ์ ตันกุล
Website : www.homcookinghostel.com
Facebook : Hom Hostel & Cooking Club


พอแล้วดี The Creator
Facebook | พอแล้วดี The Creator
porlaewdeethecreator.com

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ