‘ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ ในความทรงจำของฉันเมื่อครั้งยังสวมชุดเครื่องแบบนักเรียนความสั้นของผมเท่าติ่งหู กำลังวาดภาพ-ระบายสีหัวข้อ ‘พอเพียง’ มีเกษตรกรสาวสวมเครื่องแต่งกายสีน้ำเงินจากฮ่อม คาดเอวด้วยผ้าขาวม้า ยืนคู่กระท่อมสีน้ำตาลหลังน้อย รายล้อมด้วยแปลงผักสวนครัว ใกล้กันมีบ่อเลี้ยงปลา ด้านบนบ่อปลาต่อเติมยกสูงเป็นเล้าเลี้ยงแม่ไก่ แอบชะโงกดูของเพื่อนรอบข้างไม่ต่างจากฉัน เปลี่ยนจากเลี้ยงไก่เป็นเลี้ยงหมู เปลี่ยนจากแปลงผักเป็นไร่ผลไม้ตามชอบ บ้างก็วาดบ้านแวดล้อมด้วยป่าสีเขียวขจี ลำธารสายน้อย สงบและห่างความเป็นเมือง

เมื่อความพอเพียงทำให้เกิดความสงสัยเกินพอดี ฉันนั่งลงคุยกับ พี่หนุ่ย-ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้ก่อตั้งโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ และ พี่ลูกโป่ง-อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ผู้ที่พี่หนุ่ยบอกว่าเป็นทั้งแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนสำคัญของโครงการนี้ ที่ทำให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในความคิดตลอดสิบกว่าปีของฉันเริ่มสั่นคลอน ฉันขอชวนทุกคนมาเปลี่ยนความเข้าใจผิดเป็นความเข้าใจถูก และทำความรู้จักกับ ‘พอแล้วดี The Creator’ ไปพร้อมๆ กัน

(กฎข้อแรกขอให้ท่องไว้ในใจ ‘พอ’ ไม่ได้แปลว่า ให้หยุด)

เมื่อคำว่า ‘พอ’ ไม่ได้แปลว่า ‘หยุด’ ความรู้สึกใหม่ของการทำธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยตาและลงมือทำด้วยใจ

01

เข้าใจผิด

“เมื่อมีการพูดถึงรัชกาลที่ 9 กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาพแรกในใจของทุกคนคือการทำเกษตรผสมผสาน ต้องแบ่งที่ดินเป็น 3 ส่วน 4 ส่วน ต้องลุกขึ้นมาปลูกพืชหมุนเวียน มันกลายเป็นเรื่องการเกษตรไปเสียหมด สิ่งที่ทรงสอนคือ สอนให้เกษตรกรทำเกษตรได้อย่างยั่งยืน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่เราเป็นนักธุรกิจ ทำไม่ได้หรอก เราไม่ได้ปลูกข้าว เราไม่ได้ทำสวน นี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ”

พี่หนุ่ยอธิบายความเข้าใจผิดของธุรกิจขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการ ตลอดจนคนทั่วไป ต่อปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ฉันเข้าใจมาตลอดว่าเศรษฐกิจพอเพียงต้องใช้กับการเกษตรเท่านั้น อาจเป็นเพราะคุณครูสอนพวกเรามาแบบนี้ สื่อนำเสนอความพอเพียงด้วยภาพการเกษตร เราท่องจำกันได้แม่น 3 ห่วง 2 เงื่อนไข แต่กลับไม่ได้นำไปใช้ในการดำรงชีวิต จนบางทีก็สงสัยว่าฉันคงต้องเป็นการเกษตรกรก่อนหรือเปล่านะ ถึงจะใช้เจ้า 3 ห่วง 2 เงื่อนไขได้

เมื่อคำว่า ‘พอ’ ไม่ได้แปลว่า ‘หยุด’ ความรู้สึกใหม่ของการทำธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยตาและลงมือทำด้วยใจ

02

เข้าใจถูก

ถ้าใครเคยเข้าใจผิดเหมือนกันกับฉัน อนุญาตให้ยิ้มแก้เขินได้ คราวนี้เรามาทำความเข้าใจกันเสียใหม่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกปัญหา แม้กระทั่งเรื่องของธุรกิจ

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการคิดแบบเป็นระบบ เป็นกรอบที่จะช่วยให้ทุกชีวิตแก้ไขปัญหาได้อย่างสมดุล ก่อนจะแก้ปัญหา ถ้าเรารู้จักตนเอง เราก็จะรู้บริบทของปัญหา การรู้จักตนเอง ทำให้เราเข้าใจคำว่า ‘บริบท’ ว่าตัวเราประมาณไหน

“เวลาจะแก้ปัญหาต้องมีจุดยืนของการจะแก้ปัญหา เราเป็นใคร เรามีพื้นฐานชีวิต พื้นฐานทรัพยากร อย่างไร เวลาเราจะก้าวเข้าไปตัดสินปัญหา มันก็ต้องมีกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล มีการสร้างภูมิคุ้มกัน หมายถึงว่า เรามีความคิดที่จะบริหารความเสี่ยงหรือเปล่า

“เวลาจะทำอะไรก็ตามต้องมีเรื่องของความรู้ เพราะฉะนั้น ความรู้จะทำให้เราตัดสินทุกห่วงที่ผ่านมาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ส่วนจริยธรรม คือการมีจริยธรรมเป็นจริยวัติ เป็นธรรม เป็นความดีงามให้แก่คนอื่น นำเอามาใช้ได้ในทุกชีวิต นำมาใช้ได้ในทุกขั้นตอนของระบบความคิด” พี่หนุ่ยชวนเราทำความเข้าใจกับ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขอย่างเป็นกันเอง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะว่านักธุรกิจชาย-หญิงไฟแรงจาก โครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ พิสูจน์ให้เห็นกับตา ลงมือทำกันด้วยใจ พวกเขาสามารถนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับธุรกิจได้จริง แถมยังยั่งยืนและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อคำว่า ‘พอ’ ไม่ได้แปลว่า ‘หยุด’ ความรู้สึกใหม่ของการทำธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยตาและลงมือทำด้วยใจ

03

พอแล้วดี

โครงการพอแล้วดี The Creator มีความตั้งใจจะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผสานกับความคิดสร้างสรรค์ เติมเต็มความพอแล้วดีให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และก่อให้เกิดความสำนึกรักบ้านเกิดทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยก่อตั้งโครงการมาแล้วทั้งหมด 3 ปี ผลิต พอแล้วดี The Creator ไปแล้ว 45 คน (รุ่นละ 15 คน)

ในปีแรกของโครงการ พี่หนุ่ยเริ่มจากการออกแบบหลักสูตรโดยยึดหัวใจสำคัญของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ห่วงแรก-รู้จักประมาณตนเอง ห่วงที่สอง-สอนให้นักธุรกิจมีเหตุมีผล ห่วงที่สาม-มีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับมือกับความเสี่ยง แต่ทั้งสามห่วงมีเงื่อนไขว่าต้องใช้ความรู้และคุณธรรมประกอบเข้าด้วยกันจึงจะสมบูรณ์ โดยการเรียนการสอนมาจากกลุ่มคนใจดีรอบตัวที่อาสาสมัครด้วยใจมาแบ่งปันประสบการณ์ทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“ถ้าทุกคนตกตะกอนและปลดล็อกตัวเองได้ ตั้งแต่การรู้จักตน-ประมาณตน ที่เหลือมันก็โฟลว เป๊าะ! (ดีดนิ้ว) พอเทรนเนอร์ให้อะไรปุ๊บ เขาก็สามารถนำไปปรับใช้ในด้านจริตชีวิต จริตธุรกิจ มันจะมีแก่นที่ชัดเจนขึ้น แต่จริงๆ แล้วการรู้จักตน ประมาณตน ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มันมีส่วนประกอบให้เราได้ฉายไฟส่องตัวเองตลอดเวลาว่าเราสามารถที่จะลับคมธุรกิจของเราในมุมไหนได้บ้าง” พี่ลูกโป่งในฐานะ The Creator รุ่นแรก และทำหน้าที่เป็นพี่ใหญ่มาแล้วทุกรุ่น เสริมความให้ฉันเข้าใจ ฟังดูง่ายจนอยากกลับบ้านไปนั่งทำความรู้จักตนเองซะประเดี๋ยวนี้

เมื่อคำว่า ‘พอ’ ไม่ได้แปลว่า ‘หยุด’ ความรู้สึกใหม่ของการทำธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยตาและลงมือทำด้วยใจ

04

คนต้องตา ธุรกิจต้องใจ

เมื่อออกแบบเสร็จ พี่หนุ่ยก็เริ่มหาแนวร่วม นั่นคือบรรดาพี่ๆ น้องๆ ที่เก่งกล้าสามารถให้มาช่วยกันเป็นเทรนเนอร์สำคัญในการมอบความรู้ ก่อนจะเริ่มมองหาคนมาเรียนที่ทำธุรกิจประเภทไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร การท่องเที่ยว เกษตรแปรรูป ฯลฯ ที่เห็นแล้วต้องบอกว่า ใช่เลย! แต่ก็ค่อนข้างยากทีเดียว นอกจากจะต้องเป็นนักธุรกิจตัวจริงเสียงจริง (ทำธุรกิจอย่างน้อย 1 ปีถ้วน) ต้องมีพื้นฐานความเชื่อเรื่องการแบ่งปันเป็นทุนเดิม

ฉันเริ่มสงสัย ทำไมธุรกิจน้อย-ใหญ่ถึงต้องมีพื้นฐานความเชื่อเรื่องการแบ่งปัน

การแบ่งปันสำหรับพวกเขาเป็นเรื่องยากขนาดนั้นเลยหรือ ฉันถาม

“นักธุรกิจทั่วไปอย่างผู้ประกอบการก็จะอยู่ในกระแสของสตาร์ทอัพเพื่อการรวยเร็วอย่างเดียว แล้วรู้สึกว่าทุกอย่างทำเพื่อตอบโจทย์ระยะสั้น ตอบอะไรที่เป็นเรื่องของวัตถุมากกว่าเรื่องของคุณค่า” พี่หนุ่ยตอบ

“ทุกคนก็มุ่งไปแต่เงิน ทุกคนมุ่งไปแต่กำไร คุณค่ามีตั้งหลายมุม คุณค่าทางสังคม คุณค่าทางธุรกิจ ถ้าเขารู้จักมองคุณค่าในระบบนิเวศชีวิตของเขา เขาก็จะเห็นว่าเขาสามารถแบ่งปันอะไรให้กับสังคมได้บ้าง” พี่ลูกโป่งเสริมให้ฉันเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

คุณสมบัตินักธุรกิจพอแล้วดียังมีต่อ คือต้องพร้อมที่จะนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง และข้อสำคัญ (กาดอกจันไว้เลย) ต้องมีความสามารถในการเป็นต้นแบบ แล้วก็ถ่ายทอดบอกต่อแก่คนอื่นได้

“เราว่าคนสมัยใหม่ให้ความสนใจกับคำว่า ‘ไอดอล’ ถ้าเราสร้าง Opinion Leader สำหรับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้โครงการพอแล้วดี The Creator ก็น่าจะช่วยให้การส่งข่าวสาร การส่งต่อความคิด มันง่ายขึ้น เพราะแต่ละคนที่คัดลือกเข้ามา เรามั่นใจว่าพวกเขาต้องมีแฟนคลับอยู่แล้ว” พี่หนุ่ยขยายความ หลังจากออดิชันจนได้นักธุรกิจพร้อมที่จะพอแล้วดีจำนวน 15 คน จากนั้นแบ่งกลุ่ม ล้อมวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเทรนเนอร์แทบจะตัวต่อตัว ศึกษาเรียนรู้ตามบทเรียนวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 101  

บุคคลหรือธุรกิจที่ไม่ผ่านการคัดเลือกไม่ต้องแอบน้อยใจ ทางโครงการจัดถ่ายทอดสดการเรียนการสอนให้ดูกันแบบวินาทีต่อวินาที ดูสดพร้อมกันทั่วประเทศเหมือนนั่งเรียนท่ามกลางบรรยากาศจริง

เมื่อคำว่า ‘พอ’ ไม่ได้แปลว่า ‘หยุด’ ความรู้สึกใหม่ของการทำธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยตาและลงมือทำด้วยใจ

05

พ.พัฒนา

หลังจากปิดภาคการศึกษา ทางโครงการจะจัดกิจกรรมพอแล้วดีสัญจร ชวนนักธุรกิจพอแล้วดีทั้งสามรุ่นร่วมหมุนเวียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้กับธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่สนใจตามจังหวัดต่างๆ

นอกจากนั้น พวกเขายังเปลี่ยนความคิดจากธุรกิจคู่แข่ง เป็นเพื่อนคู่ค้า นักเรียนบางคนจับมือกันทำโปรเจกต์น่ารัก ต่อยอดสองธุรกิจร่วมกัน เช่น ฟาร์มลุงรีย์นำไส้เดือนไปกำจัดขยะให้กับโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ ทุกธุรกิจล้วนค้นพบจุดสมดุล ค้นพบความพอแล้วดี และอีกหนึ่งพอที่พวกเขาได้กลับไปอย่างแน่นอนคือ พ.พัฒนา ทั้งในแง่จิตใจของตนเอง และในแง่ธุรกิจ แต่แน่นอนว่า พี่หนุ่ยเอง พี่ลูกโป่งเอง หรือบรรดาเทรนเนอร์ใจดี ไม่สามารถวัดหน่วยของความสำเร็จเป็นตัวเลขพ่วงจุดทศนิยมได้

คนเราถ้ารู้สึกว่าเขาจะเติบโต บางคนเข้าใจอะไรแล้วเติบโตเร็วมากเลย แต่บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่าเขาค่อยๆ ทำ แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่พัฒนา แต่ว่าความเร็วในการพัฒนาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคน แต่เรามั่นใจว่าทุกคนที่ผ่านหลักสูตรนี้จะได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางด้านจิตใจ” ผู้เชี่ยวชาญการวางกลยุทธ์บอกกับฉันด้วยความเชื่อว่านักเรียนทั้งหมดจะได้รับการพัฒนาอย่างแน่นอน

เมื่อคำว่า ‘พอ’ ไม่ได้แปลว่า ‘หยุด’ ความรู้สึกใหม่ของการทำธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยตาและลงมือทำด้วยใจ

06

ขาดทุนคือกำไร

“เรามีเป้าหมายว่าต้องการจะทำให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่รู้จัก มันเป็นแก่นที่เหนี่ยวนำให้เราได้ทำงานโดยมองข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น การทำโครงการนี้ก็เหมือนกับเราเข้าคอร์สเหมือนกันนะ ได้เรียนรู้ตัวเอง ได้รู้จักประมาณตนเอง ควรนำอะไรออก หรือเอาอะไรเข้า เรามีความสุขใจทุกครั้ง” พี่ลูกโป่งบอกกับเราด้วยท่าทางสุขใจ และเราเชื่อโดยสัตย์จริงเลยว่าเป็นความสุขใจที่ระเบิดออกมาจากข้างใน

  “เรารู้สึกว่าเราดำรงอยู่อย่างคนที่มีค่ามากขึ้น รู้สึกว่าไม่เสียชาติเกิด สิ่งที่เราทำอยู่มันตอบศาสตร์พระราชา ตอบสิ่งที่รัชกาลที่ 9 ท่านทรงสอนไว้ข้อหนึ่งคือ ‘ขาดทุนคือกำไร’ เราได้กัลยาณมิตร ได้เรื่องของความสัมพันธ์ ความเชื่อใจ เรื่องของโอกาสที่เราเป็นสะพานให้เขาลุกขึ้นมาสร้างตัวเขาเอง มันเป็นคุณค่าที่มากกว่ามูลค่าเยอะ ความจริงแค่ได้ทำโครงการนี้ก็ถือเป็นบุญแล้วนะ” พี่หนุ่ยเล่าถึงกำไรที่เธอได้รับอย่างภูมิใจ

ในขณะที่หนุ่ม-สาวนักธุรกิจได้รับความรู้ ตลอดจนความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนได้อย่างยั่งยืน ในทางกลับกัน พี่หนุ่ย พี่ลูกโป่ง และพี่ๆ เทรนเนอร์ทุกคนก็ได้รับคุณค่าและความสุขเป็นค่าตอบแทน

เมื่อคำว่า ‘พอ’ ไม่ได้แปลว่า ‘หยุด’ ความรู้สึกใหม่ของการทำธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยตาและลงมือทำด้วยใจ

    หลังจากนี้เราจะกลับมาพบกับทุกคนอีกครั้งในเช้าวันจันทร์ เพื่อยกขบวนชวนธุรกิจในโครงการพอแล้วดี 15 กิจการ 3 รุ่น มาเล่าประสบการณ์จริง จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับธุรกิจได้อย่างยอดเยี่ยมและยั่งยืน

www.porlaewdeethecreator.com
ขอขอบคุณสถานที่
ร้าน Chubby Papaya (มะละกออวบ) 
97 ถนนนครสวรรค์ แขวงวัดโสมนัส
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100
Facebook | Chubby Papaya
IG | Chubbypapaya_bkk

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล