เมื่อเดือนที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ในวงการกีฬาไทยนอกเหนือจากการคว้าแชมป์ฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพของทัพช้างศึก คงหนีไม่พ้นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของสองนักแบดมินตันอย่าง ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และ บาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์ ที่จับคู่ทะยานขึ้นมือวางอันดับ 1 ของโลกในประเภทคู่ผสม ทั้งยังกลายเป็นคู่ผสมคู่แรกของไทยที่ชนะเลิศการแข่งขันแบดมินตันชิงแชมป์โลกได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นแชมป์ที่ 8 ของทั้งคู่ในปีปฏิทินเดียว

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ปอป้อ ทรัพย์สิรี ในวัย 29 จะก้าวขึ้นมายืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกเคียงคู่กับบาส ชีวิตของเธอต้องผ่านทั้งแดด ลม และฝน ซึ่งใช้ความอดทนมหาศาลในการฝ่าฟัน

ย้อนกลับไป 2 ทศวรรษ สามีภรรยาตระกูลแต้รัตนชัย อดีตนักกีฬาแบดมินตันตัวแทนมหาวิทยาลัยส่งเด็กหญิงทรัพย์สิรีในวัย 9 ขวบประเดิมสนามเป็นครั้งแรก และนั่นอาจเป็นการแข่งขันที่สั้นที่สุดในชีวิตของเธอ 

ปอป้อแพ้รวด 2 เซ็ตด้วยคะแนน 11 – 0 และ 11 – 1 ปิดฉากการแข่งขันในเวลาเพียงไม่กี่นาที

แทนที่จะจมอยู่กับความผิดหวัง ว่าที่ยอดฝีมือลูกขนไก่เปลี่ยนความพ่ายแพ้เป็นพลังในการฝึกซ้อม 

6 ปีต่อมา เธอติดทีมชาติครั้งแรกในวัยเพียง 15 ปี ก่อนจะพัฒนาฝืมือจนคว้าแชมป์กีฬาโอลิมปิกเยาวชนมาครองได้สำเร็จ

ขณะมองเห็นสายรุ้งอยู่รำไร ก็เป็นอีกครั้งที่มรสุมใหญ่เข้ามาเยือน ปอป้อประสบอุบัติเหตุเอ็นไขว้หน้าขาดจนต้องพักรักษาตัวนานถึง 8 เดือน 

นักกีฬาบางคนคงถอดใจ แต่เธอไม่ นักแบดบางคนอาจไม่กลับมาเก่งเหมือนเก่า แต่สาวนักสู้กลับมาเก่งและแกร่งกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ทรัพย์สิรีกลายเป็นนักกีฬาคนแรกของโลกที่ชนะเลิศการแข่งขันแบดมินตันระดับกรังด์ปรีซ์ โกลด์ครบทุกประเภท ทั้งหญิงเดี่ยว หญิงคู่ และคู่ผสม 

ในประเภทหญิงเดี่ยว เธอเคยก้าวไปถึงมือ 14 ของโลก ขณะที่ประเภทหญิงคู่ก็บินสูงถึงอันดับ 9 และในวันที่เปลี่ยนมาเล่นคู่ผสมเต็มตัว เธอก็ประสบความสำเร็จถึงขั้นได้เป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก

นอกจากการเป็นนักกีฬา ปอป้อมีสถานะเป็นทายาทร้านทอง ห้างเพชรทองชัยเฉลิม ตราดาว ในจังหวัดอุดรธานี เมื่อใดที่มีเวลาว่าง เธอก็ยังหาโอกาสไปช่วยกิจการของครอบครัวอยู่เสมอ

มากไปกว่านั้น เธอยังเป็นยูทูบเบอร์ป้ายแดง ถ่ายทอดเรื่องราวน่ารัก ๆ ของนักกีฬาแบดมินตันช่วงที่ไม่ได้ฝ่าฟันอยู่ในคอร์ท ตั้งแต่การเลือกอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต แวะแซวนักแบดต่างชาติ ดื่มด่ำบรรยากาศในประเทศที่เธอเดินทางไปแข่งขัน ตลอดจนสารพันเรื่องราวที่ใครเห็นเป็นต้องอมยิ้ม

และคงจะด้วยความสามารถที่โดดเด่นไม่แพ้ใคร บวกกับบุคลิกที่สดใสเป็นกันเอง นักกีฬาคนเก่งจึงมีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมมากถึง 1.4 ล้านคน ดังนั้น หากจะเรียกเธอว่าอินฟลูเอนเซอร์ก็คงไม่เกินจริงแม้แต่น้อย

The Cloud คงไม่ปล่อยให้ทุกคนคอยนาน เรารีบต่อสายตรงเพื่อชวนปอป้อมาคุยกันที่ออฟฟิศ ก่อนแวะไปถามตอบอีกสักนิดในพื้นที่ที่เธอคุ้นเคยอย่างคอร์ทแบดมินตัน

นักกีฬาเดินเข้ามาด้วยท่าทางมั่นใจ และต่อจากนี้ไปคือการแข่งขัน 3 เซ็ตแห่งชีวิตของปอป้อ ทรัพย์สิรี ตั้งแต่วันที่แพ้เกมแรก ถึงวันที่ชนะจนได้แชมป์โลก

วอร์มอัป
“เรารักสิ่งนี้และเลือกสิ่งนี้เป็นอาชีพ”

คุณกับแบดมินตันรู้จักกันได้ยังไง

จริง ๆ ตอนเด็กเคยลองหลายกีฬานะ เคยว่ายน้ำด้วย แต่ก็ไม่ชอบ และคงเพราะพ่อกับแม่ชอบเล่นแบดพอดี เราก็เลยได้คลุกคลีกับแบดมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการไปแข่งก่อนเลย ตอนนั้นอายุแค่ 9 ขวบ จำได้เลยว่าแพ้เละ ได้ 0 แต้ม หลังจากนั้นเลยเริ่มเข้าคอร์สฝึกซ้อมแบบจริงจังตามที่เขาวางโปรแกรมมาให้

ปอป้อ ทรัพย์สิรี นักแบดคู่ผสมที่ยังอยากพัฒนา เพราะเชื่อว่าเป็นมือ 1 ของโลกก็แพ้ได้

การแพ้ตั้งแต่เด็กอาจทำให้หลายคนเสียกำลังใจ ทำไมคุณจึงไม่ใช่หนึ่งในนั้น

พอฝึกซ้อมมาเรื่อย ๆ จนอายุ 14 เราได้ข้ามไปตีรุ่นอายุ 15 แล้วดันได้แชมป์ พอเรา 15 ก็ข้ามไปได้แชมป์รุ่นอายุ 18 ในใจเลยคิดว่า เออ เราน่าจะเอาดีทางนี้ได้ ที่สำคัญ เราติดทีมชาติตั้งแต่อายุ 15 ด้วย ก็ยิ่งรู้สึกมีเป้าหมาย แต่ว่าตอนนั้นป้อยังเล่นเดี่ยวอยู่นะ 

การเป็นทายาทร้านทองในจังหวัดอุดรธานีน่าจะทำให้มีทางเลือกมากมายในชีวิต เพราะอะไรคุณจึงเลือกเป็นนักกีฬาที่ต้องซ้อมหนักสัปดาห์ละ 6 วัน

ร้านทองเป็นธุรกิจของครอบครัวก็จริง ทุกวันนี้ก็มีแวะไปช่วยบ้าง แต่ความชอบของเราอยู่ที่กีฬาแบดมินตัน ในเมื่อรักสิ่งนี้และเลือกสิ่งนี้เป็นอาชีพ เราก็ต้องทำตามเป้าหมาย อยากจะประสบความสำเร็จให้ได้อย่างที่ตั้งใจ

อาทิตย์ที่ผ่านมา คุณพ่อคุณแม่ของคุณเพิ่งคว้าแชมป์แบดมินตันจากการแข่งขันกีฬาอาวุโส รุ่นอายุ 60 ปีขึ้นไป คุณแอบไปซ้อมให้รึเปล่า

ไม่เลย ความจริงทั้งสองคนเล่นแบดกันทุกวันอยู่แล้ว หยุดพักเฉพาะวันอาทิตย์ ก็คือเปิดร้านปิดร้านเสร็จก็จะไปออกกำลังกายกันประจำ

แล้วตอนเด็ก ๆ พ่อกับแม่ได้ซ้อมให้คุณบ้างรึเปล่า

อันนี้ก็ไม่ค่ะ (หัวเราะ) ตอนเด็ก ๆ เขาก็ไม่ได้สอนเรา ส่วนมากเขาแค่อยากพาเราไปออกกำลังกาย วันไหนเราขี้เกียจเขาอาจจะต้องบังคับนิด ๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องแบดมินตัน คนแรกที่สอนเราจริง ๆ คือโค้ชที่อุดรฯ ค่ะ

ทุกครอบครัวอาจจะอยากให้ลูกออกกำลังกาย แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่สนับสนุนให้ลูกเป็นนักกีฬาอาชีพ พ่อแม่ของคุณมองเรื่องนี้ยังไง ให้กำลังใจกันยังไง

แม่เคยพูดว่า เขาเห็นเราเล่นกีฬาแล้วมีความสุข ก็เลยอยากสนับสนุนเต็มที่เลย แต่วิธีให้กำลังใจอาจจะแปลก ๆ หน่อย เวลาเราแพ้ ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะบอกว่า ไม่เป็นไร เกมหน้าเอาใหม่นะ แต่แม่จะให้เราหาสาเหตุว่าแพ้เพราะอะไร หรือบางทีเขาก็จะเล่าให้ฟังว่า ตอนเราตีมีข้อเสียอะไรบ้าง ควรแก้ยังไง คอยชี้ให้เห็นว่าจุดไหนที่เรายังดีไม่พอ

แล้วคุณเห็นด้วยกับสิ่งที่พ่อแม่บอกมั้ย

เห็นด้วยนะ เขาก็พูดตรงอยู่ค่ะ (ยิ้ม)

ปอป้อ ทรัพย์สิรี นักแบดคู่ผสมที่ยังอยากพัฒนา เพราะเชื่อว่าเป็นมือ 1 ของโลกก็แพ้ได้

เซ็ตที่ 1
จมอยู่กับอดีตไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อเท่านั้น”

ในหนึ่งวันนักกีฬาแบดมินตันอย่างคุณต้องทำอะไรบ้าง

เราซ้อมกันสัปดาห์ละ 6 วัน มีพักแค่บ่ายวันอาทิตย์กับวันจันทร์เต็มวัน เริ่มจากตื่นนอน 7 โมง ซ้อม 8 โมงครึ่งถึง 11 โมงครึ่ง บ่าย 2 ครึ่งถึง 4 โมง จะมีประชุมวันเว้นวันเพื่อให้ความรู้ แลกเปลี่ยนเทคนิคการซ้อมต่าง ๆ หลังจากนั้น 4 โมงถึง 6 โมงครึ่งก็ซ้อมอีกรอบ ทำแบบนี้เป็นกิจวัตร 

นักแบดมินตันต้องคุมอาหารด้วยรึเปล่า

ก็มีบ้าง เช่นช่วงแข่งก็ต้องกินคาร์โบไฮเดรตเยอะ ๆ จะมีคนคอยแนะนำอยู่แล้วว่าต้องกินยังไง แต่ก็ไม่ได้เคร่งขนาดนั้นนะ เพราะกีฬาแบดไม่ได้ใช้น้ำหนัก ไม่ต้องทำน้ำหนักให้เข้าเป้าเพื่อลงแข่ง เรียกว่ากินเพื่อดูแลตัวเองมากกว่า เพราะฉะนั้นก็ยังกินอย่างแฮปปี้อยู่ (หัวเราะ)

คุณต้องฝึกซ้อมเป็นปีเพื่อลงแข่งแค่ไม่กี่นาที เคยรู้สึกเหนื่อย เบื่อ ไม่อยากซ้อมแล้วบ้างรึเปล่า

ก็มีบ้าง เพราะชีวิตแต่ละวันต้องทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำ ๆ มีอยู่แล้วแหละ วันที่งอแงขี้เกียจซ้อม บางทีแพ้กลับมาก็ท้อเป็นธรรมดา แต่แบดเป็นกีฬาที่มีแข่งทั้งปี เราจะมาจมอยู่กับอดีตไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อเท่านั้น ที่สำคัญเวลาแพ้ เราไม่ได้แพ้คนเดียว แต่แพ้กันเป็นทีม ก็จะกลับมาช่วยกันดูว่าต้องแก้ตรงไหน ให้กำลังใจกัน คอยช่วยกัน

การซ้อมแบดมินตันทำให้คุณแทบไม่มีเวลาให้ตัวเองหรือคนอื่นเลย เสียดายชีวิตส่วนตัวบ้างมั้ย

เราไม่คิดว่าเสียนะ โอเค อาจจะต้องเสียสละเวลาไปบ้างก็จริง แต่ในอนาคต ที่เที่ยวก็ไม่ได้หายไปไหน มันก็ยังอยู่ที่เดิม เพื่อนก็ไม่เคยหายไปไหน วันหนึ่งที่เลิกเล่นค่อยไปเที่ยวกันก็ยังทันอยู่

แต่เที่ยวกับเพื่อนตอนเด็กกับตอนโตก็ไม่เหมือนกันนะ

ก็จริงค่ะ อย่างตอนที่เรียนที่นิเทศ จุฬาฯ เนี่ย พอเรียนเสร็จปุ๊บ เพื่อนจะโบกมือบ๊ายบายเราก่อนเลย แรก ๆ เราเป็นฝ่ายบอกลาเพื่อนนะ แต่หลัง ๆ คือเพื่อนชินแล้ว เพื่อนรู้แล้วว่าเราต้องไปซ้อม เราหยุดซ้อมไม่ได้จริง ๆ ถ้าไม่ไป เขาก็โทรตาม แต่เราโอเคนะ ก็ยังชอบเส้นทางนี้ แต่ถ้าวันไหนเราว่าง ก็จะบอกเพื่อนไว้ว่าวันนี้ไปได้ ก็หาเวลาไปเที่ยวกัน

ปอป้อ ทรัพย์สิรี นักแบดคู่ผสมที่ยังอยากพัฒนา เพราะเชื่อว่าเป็นมือ 1 ของโลกก็แพ้ได้

เซ็ตที่ 2
“ถ้าคู่ชอบตบ เราก็อาจะเน้นรับมากขึ้น”

คุณบอกว่าเริ่มต้นจากการเล่นเดี่ยว แล้วหันมาเล่นคู่ผสมได้ยังไง

ทีแรกก็เล่นเดี่ยวมาตลอด แต่หลังจากได้แชมป์โอลิมปิกเยาวชน (Youth Olympic Games) สักปีสองปีก็เริ่มหันมาเล่นเดี่ยวสลับกับคู่ แต่ตอนนั้นยังเป็นหญิงคู่นะ จนสุดท้ายก็เปลี่ยนมาเล่นหญิงคู่กับคู่ผสม แล้วเลิกเล่นเดี่ยวไป รู้สึกว่าตัวเองชอบเล่นคู่มากกว่า แล้วเราก็ทำผลงานตอนเล่นคู่ได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว โค้ชเองก็คงเห็นศักยภาพว่าเราน่าจะไปทางนี้ได้

การเล่นกีฬาประเภทคู่ผสมมีความท้าทายต่างจากกีฬาที่เล่นคนเดียวยังไงบ้าง

ยากคนละแบบ เล่นเดี่ยวลูกจะเคลื่อนที่ช้ากว่า บางทีเราก็เบื่อ รู้สึกไม่สนุกขนาดนั้น แต่เล่นคู่ ลูกจะเร็ว ได้บู๊มากกว่า พลิกแพลงได้มากกว่า ความท้าทายน่าจะเป็นการที่ทั้งสองคนต้องทำความเข้าใจกันในสนาม ต้องเรียนรู้ว่าคนนี้ถนัดอะไร คู่เราชอบแบบไหน ก็ต้องหาทางปรับให้แต่ละคนได้ทำในสิ่งที่ถนัด เช่น ถ้าบาสชอบตบ ตบได้ดี เราก็อาจจะเน้นรับมากขึ้น หาทางวางเกมให้เขาได้ตบเพื่อทำแต้ม 

คู่ผสมมือวางอันดับหนึ่งของโลกอย่าง ‘บาส-ปอป้อ’ มาตีคู่กันได้ยังไง

โค้ชโอม (เทศนา พันธ์วิศวาส) คงเห็นอะไรบางอย่างในตัวคู่เรา ก็เลยลองให้ลงแข่งคู่กันทันที ตอนนั้นเป็นรายการชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งก็แพ้ (หัวเราะ) แต่อาจจะเพราะคู่เราตีสนุก ดูพัฒนาได้ โค้ชก็เลยให้เรากับบาสมาซ้อมด้วยกัน คือก่อนหน้านั้นต่างคนต่างเล่น เราตีหญิงคู่ เขาตีชายคู่ ตอนแข่งด้วยกันครั้งแรกเลยไม่รู้ว่าต้องทำยังไง พอซ้อมไปสักพักก็ได้ไปแข่งต่างประเทศ คราวนี้ได้รองแชมป์เลย เอาล่ะ ดูเป็นสัญญาณที่ดีนะ แล้วผลงานก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ชนะรัว ๆ ก็เลยกลายเป็นคู่ผสมในที่สุด 

พูดได้มั้ยว่า ถ้าไม่มีโค้ชโอม คุณกับบาสอาจจะไม่ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้

ก็คงได้นะ ต้องบอกว่าโค้ช อาจารย์ และทีมงานทุกคนมีส่วนสำคัญกับป้อมาก ๆ รู้สึกขอบคุณทุกคน แต่ถ้าพูดถึงโค้ชที่อยู่ในวันที่เราประสบความสำเร็จ อยู่กับเราตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาเล่นทีมชาติก็ต้องเป็นโค้ชโอม เขาเป็นโค้ชที่มีวิธีการสอนไม่เหมือนคนอื่น เขาสอนให้เราได้คิดเอง ไม่ได้ให้ทำตามคำสั่งเหมือนเราเป็นหุ่นยนต์

ให้เราคิดเองหมายความว่ายังไง

เขาจะชอบถามหรือตั้งโจทย์อะไรบางอย่าง แต่ก่อนจะเฉลย เขาจะให้เราคิดเอง ลงมือแก้ไขเองก่อน สุดท้ายถ้าคิดไม่ออกจริง ๆ เขาถึงจะเฉลยออกมา แล้วเขาก็ชอบสอนวิธีคิดด้วย

เขาบอกว่าสิ่งที่นักกีฬาแสดงออกในสนามก็เหมือนกับสิ่งที่แสดงออกในชีวิตประจำวัน ในชีวิตเป็นคนยังไง ในสนามเราก็เป็นคนแบบนั้น สมมุติป้อเป็นคนเงียบ ๆ เจออะไรก็เก็บไว้ ถ้าไม่ถึงที่สุดจริง ๆ จะไม่ระเบิดออกมา ในสนามเราก็ทำแบบเดียวกัน เวลาเราเจอความกดดันหรือเครียด บางทีเราจะนิ่ง ๆ ชอบเก็บไว้กับตัวเอง โค้ชก็จะคอยบอกให้เราคุย ระบายออกมา ช่วงพักก็คุยกับโค้ชได้ หรือไม่ก็ลองคุยกับคู่ก็ได้

เวลาเล่นคู่แล้วตีพลาด คุณรู้สึกผิดต่อคู่รึเปล่า

เล่นมาถึงระดับนี้ มันเลยจุดนั้นมาแล้ว จะมาโทษกันว่าคนนี้ทำเสีย คนนั้นตีพลาดคงไม่มีแล้ว ส่วนมากเราให้กำลังใจกัน อันไหนที่เสียแล้ว ผ่านได้ผ่านไป เราทำปัจจุบันให้ดีมากกว่า

คุณแก่กว่าบาส 5 ปี พอได้มาเล่นคู่กัน คุณได้แนะนำอะไรเขาบ้างมั้ย

ก็มีแนะนำบ้างค่ะ ด้วยความที่เราเป็นรุ่นพี่ ผ่านประสบการณ์มามากกว่า อย่างเช่นตอนไปแข่งโอลิมปิก ก็จะมีแนะนำ เพราะเป็นการไปแข่งครั้งแรกของบาส ว่าบรรยากาศมันจะเป็นประมาณนี้นะ มีสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่อาจจะทำให้เราตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจจนเสียสมาธิได้ ก็พยายามเตือนสติกันค่ะ ทุกวันนี้พวกเราซ้อมด้วยกันแทบทุกวัน มีอะไรก็คุยกันตรง ๆ ตักเตือนกันได้ ซึ่งเขาก็รับฟัง

ปอป้อ ทรัพย์สิรี นักแบดคู่ผสมที่ยังอยากพัฒนา เพราะเชื่อว่าเป็นมือ 1 ของโลกก็แพ้ได้
ปอป้อ ทรัพย์สิรี นักแบดคู่ผสมที่ยังอยากพัฒนา เพราะเชื่อว่าเป็นมือ 1 ของโลกก็แพ้ได้

ขอเวลานอก
“เคี้ยวข้าว 50 ครั้งก่อนกลืน”

ช่วงที่รู้สึกท้อที่สุดในชีวิตนักกีฬาแบดมินตันของคุณคือตอนไหน

อย่างโอลิมปิกปีก่อน เราก็คาดหวังว่าอยากจะทำให้ได้ แต่สุดท้ายทำไม่ได้ อาจจะไม่ถึงขั้นท้อ แต่เราก็ผิดหวังมาก ๆ โค้ชพยายามปลอบว่า จริง ๆ มันก็เป็นแค่แมตช์เดียว เป็นการแข่งขันธรรมดา แต่เราดันเอาสิ่งอื่นมาใส่ตัว เราคาดหวังกับมันมากเกินไป ตอนนั้นก็ต้องหาทาง ทำยังไงให้เราเดินหน้าต่อได้โดยไม่จมอยู่กับสิ่งนี้

แต่เราไม่เคยผิดหวังถึงขั้นอยากจะเลิกเล่นแบดนะ ไม่มีความคิดนั้นเลย

แล้วครั้งที่บาดเจ็บหนักตอนแข่งขันกีฬาซีเกมส์ปี 2017 ล่ะ

อ๋อ จริงด้วย ตอนนั้นก็เครียด ไม่เคยเจ็บหนักขนาดนั้นมาก่อน เรียกว่าหนักที่สุดในชีวิตแล้ว เราล้มตอนกำลังแข่งแล้วรู้สึกเจ็บมาก หมอให้ลองยืดเข่าดู พอยืดปุ๊บก็ได้ยินเสียง ‘กร๊อบ’ เราก็คิดว่า โอ้ เข้าที่แล้ว แต่ไม่ใช่ เราลุกขึ้นมาฝืนตีได้แค่ลูกสองลูก แป๊บเดียวก็ยืนไม่ไหว พอหมอมาตรวจอีกที เขาก็บอกว่าน่าจะเอ็นไขว้หน้าขาด สุดท้ายก็ขาดจริง ๆ

ตอนแรกเราก็กังวลมากนะ ต้องพักยาว 8 เดือน ไม่รู้ว่าเราจะกลับมาเล่นได้แบบเดิมมั้ย แต่ก็ยังมีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าจะกลับมาได้ คิดกับตัวเองว่าจะต้องกลับมาให้ได้ ซึ่งก็โชคดีที่เรามีทีมงานที่ดี ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ที่ดูแลเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาหรือนักโภชนาการ ทุก ๆ ฝ่ายช่วยเราดีมากด้วย เขาให้เราบริหารตั้งแต่ก่อนผ่าตัดแล้ว เราก็มีระเบียบวินัย ทำตามทุกอย่าง สุดท้ายก็กลับมาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม

เวลาให้สัมภาษณ์ คุณพูดถึงความสำคัญของการทำสมาธิบ่อยมาก ทำไมสมาธิจึงสำคัญกับคุณขนาดนั้น

ตอนเด็ก แม่ชอบบังคับให้สวดมนต์ ตอนนั้นเราก็สวดไปอย่างนั้นแหละ อ่านตามที่แม่ให้ตำรามา ไม่ได้ตั้งใจอะไร แต่พอโตขึ้น มีอาจารย์ท่านหนึ่ง (อาจารย์เจริญ กระบวนรัตน์) สอนเราว่า จะทำอะไรต้องรู้สึกตัว มีสติอยู่ตลอด ตอนไปวิปัสสนา พระก็พูดว่าให้เราเคี้ยวข้าว 50 ครั้งก่อนกลืน เป็นการสอนให้มีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ เราก็จะทำอะไรไปตามความคุ้นชิน สุดท้ายก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

 เวลาอยู่ในสนามก็เหมือนกัน สมาธิช่วยให้รู้สึกตัวว่าต้องตีลูกแบบไหน ถ้าคู่ต่อสู้แก้มา เราจะตอบโต้ยังไง บางแต้มเราบังคับลูกให้ไปตกในจุดนั้น ๆ ได้ แต่ถ้าไม่มีสติอยู่กับตัวเอง เราก็อาจจะเหวี่ยงไม้ไปตามที่ร่างกายคุ้นชิน แทนที่จะได้แต้มก็อาจจะเสียแต้มได้

บทสนทนาหน้าคอร์ทกับ ‘ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย’ นักสู้ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และนักแบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ของโลก

เซ็ตตัดสิน
“ตอนแพ้ก็มีคนด่า ตอนชนะก็ยังมีคนว่า”

เป็นนักแบดทีมชาติตั้งแต่เด็ก ที่บ้านเปิดร้านทอง แล้วคุณมาลงเอยที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยังไง

ตอนแรกป้ออยากเรียนบัญชี เพราะเป็นคนชอบวิชาเลข แต่คิดไปคิดมา คิดว่าเราน่าจะไม่ไหว แล้วเวลาก็ไม่ค่อยมี สุดท้ายเลยเลือกเรียนนิเทศ อาจจะมีบางตัวที่ยากบ้าง แต่ก็คิดว่าเป็นคณะที่สนุก อาจจะไม่เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวเท่าไหร่ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราชอบ เรียนไปเล่นกีฬาไปได้ ไม่ได้คิดว่าต้องเรียนดีมาก อยากเรียนให้จบมากกว่า

วันนี้คุณได้เอาความรู้จากการเรียนนิเทศมาใช้บ้างรึเปล่า

ได้ใช้นะ โดยเฉพาะเรื่องการพูด แต่ก่อนป้อพูดน้อยมาก ก็พยายามฝึกพูดมาตลอด ทุกวันนี้ก็มีทำ YouTube ด้วย เพิ่งมาย้อนคิดว่า เออ ความรู้ตอนเรียนนิเทศก็เอามาใช้ได้เหมือนกัน

เป็นนักกีฬาก็น่าจะเหนื่อยมากแล้ว ทำไมคุณยังอยากทำ YouTube ด้วย

เราอยากใช้ชีวิตให้มีความสุข เรื่องแบดเราโฟกัสเต็มที่อยู่แล้ว แต่ถ้ามีแต่แบดอย่างเดียวก็อาจจะเครียดและกดดันเกินไป ตอนที่ว่างเลยอยากลองทำอะไรที่สบายใจ ผ่อนคลายบ้าง พอดีช่วงนั้นมีโควิด-19 คนไทยไปต่างประเทศกันยาก เราก็เลยอยากทำ YouTube เล่าชีวิตของตัวเองช่วงที่ไปทัวร์ต่างประเทศให้เหมือนได้พาคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศด้วย แล้วก็อยากให้เขาได้เห็นว่า ชีวิตนอกสนามของนักแบดเป็นยังไง เพราะปกติเขาจะเห็นเราแค่ในคอร์ทอย่างเดียว

คุณให้สัมภาษณ์กับสื่อมาหลายครั้ง พอต้องมาพูดหน้ากล้องคนเดียวเพื่อทำ YouTube รู้สึกยังไง 

ยากมาก เราเป็นคนพูดน้อย แต่พอทำคลิปต้องพูดเยอะมาก ก็ฝึกเยอะอยู่ ดีที่มี พี่แจง (ปรียกัญญ์ เตรียมโพธิ์) ผู้จัดการ คอยแนะนำและช่วยคิดเนื้อหา กว่าจะออกมาได้คลิปหนึ่งก็ใช้เวลานานอยู่ แต่ก็สนุกดี

หลังจากช่อง POPOR SAPSIREE เปิดมาได้ประมาณ 4 เดือน เสียงตอบรับเป็นยังไงบ้าง

เท่าที่รู้ก็ดีนะ คนส่วนใหญ่บอกว่าเป็นอีกมุมของนักกีฬาที่ไม่เคยรู้มาก่อน ก็ดีใจค่ะที่มีคนชอบคอนเทนต์ที่เราทำ ยังไงก็ฝากให้ทุกคนช่วยติดตามกันด้วยนะคะ

สื่อหลายเจ้าเรียกคุณว่า ‘นักแบดสาวหล่อ ปอป้อ ทรัพย์สิรี’ คุณรู้สึกยังไงที่ถูกเรียกแบบนี้ แล้วจริง ๆ คุณอยากให้คนเรียกคุณว่ายังไง

เรียกอะไรก็ได้เลย ป้อโอเคหมด จะสวย หล่อ เท่ น่ารัก ก็ปน ๆ กันไป สุดท้ายทั้งหมดที่เรียกมาถือเป็นคำชม เราก็รับด้วยความยินดี แล้วแต่คนอยากจะเรียก ได้หมดเลยค่ะ (หัวเราะ)

ทุกวันนี้นักกีฬาหลายคนถูกตำหนิในโซเชียลมีเดียโดยคนที่ตัวเองไม่รู้จักด้วยซ้ำ คุณเคยเจอเข้ากับตัวเองบ้างมั้ย แล้วมีวิธีรับมือยังไง

มีอยู่แล้วคนที่บอกว่าเราตีไม่ดี ตอนแพ้ก็มีคนด่า ตอนชนะก็ยังมีคนว่า เป็นเรื่องปกติไปแล้ว เราพยายามไม่เทค ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนเหล่านั้น อยากว่า ว่าไป แต่เรารู้ตัวเองดีว่าตีดีหรือพลาดตรงไหน ถ้าพลาดจริงๆ ก็ปรึกษากันในทีมอยู่แล้ว สรุปง่าย ๆ คือ เราเสพโซเชียลอย่างมีสตินั่นแหละ เลือกอ่านเฉพาะอันที่สร้างสรรค์ หลายคอมเมนต์ก็ชื่นชม ไม่ได้ด่าเราไปซะทุกอันหรอก 

บทสนทนาหน้าคอร์ทกับ ‘ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย’ นักสู้ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และนักแบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ของโลก
บทสนทนาหน้าคอร์ทกับ ‘ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย’ นักสู้ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และนักแบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ของโลก

แมตช์พอยต์
“เป็นมือหนึ่งก็แพ้ได้”

ถามจริง ๆ ตอนที่กำลังจะได้เป็นแชมป์โลกคุณรู้สึกยังไง

ด้วยความที่ปีก่อนเราได้รองแชมป์มา ก็เลยตั้งใจไว้อยู่แล้วว่าครั้งนี้อยากทำให้ได้ แต่ตอนอยู่ในสนามเราพยายามไม่คิดถึงอนาคตเลยนะ แม้จะนำอยู่ แต่ก็ไม่ได้คิดเลยว่าสุดท้ายจะได้แชมป์รึเปล่า อยู่กับตัวเอง อยู่กับปัจจุบัน

หลังจากชนะมานับครั้งไม่ถ้วน คุณเริ่มหมดความท้าทายในกีฬาแบดมินตันแล้วรึยัง

ไม่เลย (หัวเราะ) ถามจริง ใครจะไม่ชอบชนะล่ะ ถ้าตีแล้วชนะตลอดแฮปปี้จะตาย แต่ในความเป็นจริง ในเมื่อชนะได้ มันก็แพ้ได้เหมือนกัน ถึงวันนี้จะเป็นมือหนึ่ง เราก็แพ้ได้ เคยชนะคนนี้ในรายการนี้ พอเจอกันครั้งหน้า เขากับทีมก็ต้องพยายามแก้เกมมาชนะเราอยู่แล้ว เราก็ยังต้องเต็มที่ในทุกเกม มันยังมีความท้าทายอยู่ตลอด

ซึ่งตรงกับคติประจำใจของคุณที่ว่า ‘ทำทุกวันให้ดีที่สุด และไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง’

ใช่เลย ถึงจะได้แชมป์โลกแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังโฟกัสที่แบดมินตันตลอด ไม่มีวันไหนเลยที่เราคิดจะหยุดพัฒนาตัวเอง รายการที่ยังไม่เคยคว้าแชมป์ เราก็ยังต้องพยายามคว้าแชมป์มาให้ได้ บางรายการที่ได้แชมป์มาแล้ว เราก็ต้องพยายามรักษาแชมป์ให้ได้ อยู่ที่ว่าเราจะรักษามาตรฐานยังไงให้ดีที่สุด นานที่สุด เราเชื่อในคตินี้มากจริง ๆ

ตอนนี้ได้เป็นมือวางอันดับ 1 แล้ว มีอะไรที่คุณอยากประสบความสำเร็จในอาชีพอีกมั้ย

มี เป้าหมายตอนนี้คืออยากได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์กับโอลิมปิก ซีเกมส์เราได้แล้ว แชมป์โลกเราได้แล้ว มี 2 สิ่งนี้แหละที่เรายังทำไม่สำเร็จ 

ถ้าวันหนึ่งได้แชมป์ 2 รายการนี้ด้วย

ก็จะรู้สึกคอมพลีตมาก ด้วยอายุเท่านี้แล้ว ถ้าทำได้ก็คงภูมิใจมากจริงๆ 

ที่บอกว่า ‘ด้วยอายุเท่านี้แล้ว’ หมายความว่ายังไง

อย่างตอนนี้ป้อเองก็อายุ 29 แล้ว มันก็ไม่น้อย จริงอยู่ที่อายุอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญขนาดนั้น มันอยู่ที่ตัวเรามากกว่าว่าจะรักษาสภาพร่างกายได้ดีแค่ไหน อยากเล่นไปถึงอายุเท่าไหร่ เพราะแบดมินตันไม่ใช่กีฬาที่ต้องปะทะ บางคนที่ดูแลตัวเองดีเล่นไปถึงอายุ 40 ก็มี แต่เราก็ไม่ได้คิดไปถึงขนาดนั้นหรอก ขอแค่จบอาชีพนักกีฬาให้สวย ๆ ก็พอ และโอลิมปิกที่จะถึงในอีก 2 ปีก็อาจจะเป็นครั้งท้าย ๆ ของเราแล้ว ก็เลยอยากรีบทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเป็นนักกีฬาแบดมินตันคืออะไร

ความรับผิดชอบกับระเบียบวินัย 2 สิ่งนี้สำคัญจริง ๆ การเป็นนักกีฬาแบดมินตันอาจจะเทียบได้กับโควิด-19 คือพวกป้อจะเรียกโควิดว่าโรคความรับผิดชอบ เราต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและมีวินัยในตัวเองเพื่อจะได้ไม่ติดเชื้อ แบดมินตันก็เป็นแบบนั้น ต้องมีระเบียบวินัยในการซ้อม ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่และเป้าหมายของตัวเองถึงจะประสบความสำเร็จ 

ถ้าวันนี้ปอป้อ ทรัพย์สิรี ไม่ได้เป็นนักแบดมินตันทีมชาติ คุณว่าเธอน่าจะทำอะไรอยู่

(นิ่งไป 10 วินาที) อืม… ไม่รู้เหมือนกันนะว่าจะทำอะไร เพราะเราก็เล่นแต่แบดมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ 9 ขวบ โลกทั้งใบของเราก็เป็นแบดมินตันแล้ว แต่ถ้าต้องเลือกจริงๆ เหรอ โอ๊ย… คำถามยากจัง

โอเค ถ้าไม่เป็นนักแบดก็คงจะพักเพื่อตั้งสติสักช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็อาจจะหุ้นกับเพื่อน ทำธุรกิจอะไรสักอย่าง หรือถ้าถามว่าวันหนึ่งเลิกเล่นแบดแล้วจะทำอะไรต่อ เราคงทำธุรกิจส่วนตัว อาจจะเปิดคอร์ทแบด เพราะเป็นสิ่งที่เรารักและทำได้ดี หรือไม่อย่างนั้นก็คงช่วยธุรกิจที่บ้านล่ะมั้ง

บทสนทนาหน้าคอร์ทกับ ‘ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย’ นักสู้ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และนักแบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ของโลก

Writer

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

มนุษย์ภูเก็ต เด็กนิเทศที่ทำงานพิเศษเป็นนักเล่าเรื่อง โกโก้ หนัง และฟุตบอล ช่วยให้เข้านอนอย่างมีคุณภาพ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล