ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ประติมากรชาวอิตาลีแห่งเมืองฟลอเรนซ์  มีผลงานการสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ปรากฏอยู่บนงาน Medallist ที่ทำขึ้นภายใต้ชื่อ C.FEROCI แห่ง FIRENZE, Prof. C. Feroci เดินทางมารับราชการตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากรเมื่ออายุ 31 ปี ท่านฝากฝีมือและผลงานมากมายไว้บนแผ่นดินสยาม

หนึ่งในภารกิจสำคัญของท่านที่บรรลุสัมฤทธิผลและนับเป็นคุณูปการอันใหญ่ยิ่งต่อประเทศไทย คือการปั้นคนไทยให้เป็นศิลปิน (ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมจนมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร) ท่านทุ่มเทอุทิศพลังเกือบทั้งหมดให้กับงานนี้ ทั้งพลังกาย พลังใจ และพลังทรัพย์ จวบจนกระทั่ง ค.ศ. 1949 เมื่อเสร็จสิ้นงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ตัดสินใจลาพักราชการเป็นเวลา 9 เดือน เดินทางกลับอิตาลี ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับภาวะค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อหลังสงคราม ท่านพยายามทำเรื่องเสนอปรับอัตราเงินเดือนมาแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1946 แต่ไม่เป็นผล

“ฉันจะไปทำงานปั้นเหรียญ เขาจ้างฉันที่เมืองนอกแล้ว คงต้องไปแล้วเพราะไม่พอใช้ที่เมืองไทย 

“ฉันหวังว่าทุกคนคงได้ใช้วิชาความรู้ที่ได้ให้ไว้แล้วอย่างเต็มที่ ช่วยประเทศชาติของเราได้”

หลังจากท่านเดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่อิตาลีบ้านเกิด ทางรัฐบาลไทยจึงได้ทำเรื่องปรับค่าจ้างให้เหมาะสมและติดต่อให้ท่านกลับมาทำงานต่อที่เมืองไทยอีกคำรบหนึ่ง, ต้น ค.ศ. 1950 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในวัย 57 ปี จึงเดินทางกลับเข้ามาทำงานเป็นผู้รับใช้งานศิลปะอันยิ่งใหญ่ และอาศัยอยู่ในประเทศไทยจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 (Pius Papa XII) พระประมุขสูงสุดของคริสตจักรโรมันคาทอลิกแห่งนครรัฐวาติกัน พระองค์ทรงประกาศให้ ค.ศ.​1950 เป็นวาระ ‘ปีศักดิ์สิทธิ์’ (Jubilee years) ตามประเพณีพระศาสนจักร เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ครั้งหนึ่งในชีวิตของชาวคริสต์จะมีโอกาสร่วมพิธีฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ และเป็นช่วงเวลาของการกลับตัวกลับใจ อุทิศตนเองให้พระผู้เป็นเจ้า เพื่อจะมีโอกาสรับพระหรรษทาน (Grace) ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานผ่านองค์พระเยซูคริสต์ ผู้จะทำการปลดปล่อยคริสตศาสนิกชนทั้งหลายให้เป็นอิสสระจากการเป็นทาสของบาปทั้งปวง 

ประตูศักดิ์สิทธิ์ (Holy door, Porta Sancta) เป็นสัญลักษณ์สำคัญของประเพณีฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ทรงกำหนดให้เปิดประตูศักดิ์สิทธิ์แห่งมหาวิหาร St. Peter’s Basilica ก่อนวันคริสต์มาส ค.ศ. 1949 และเสด็จมาทำพิธีปิดผนึกบานประตูในวันคริสต์มาส ค.ศ. 1950 ประตูศักดิ์สิทธิ์นี้จะถูกเปิดขึ้นอีกครั้งในปีศักดิ์สิทธิ์ครั้งถัดไปที่ทางศาสนจักรกำหนดขึ้น (ในทุกๆ 25 และ 50 ปี หรือในปีที่มีโอกาสสำคัญพิเศษทางคริสตศาสนา)

การผ่านประตูศักดิ์สิทธิ์หาใช่เพียงการผ่านเข้าไปสู่มหาวิหารอันงดงามเท่านั้น ยังหมายถึงการเปิดทางให้คริสตชนผ่านเข้าสู่การปรากฏตัวของพระผู้เป็นเจ้า สัญลักษณ์นี้ถูกดึงมาจากพระคัมภีร์ในพระวรสารของยอห์น เมื่อพระเยซูตรัสว่า “เราเป็นประตู ถ้าผู้ใดเข้ามาทางเรา ผู้นั้นก็จะรอด, เขาจะเข้ามาและออกไปพบกับความสมบูรณ์” (John 10 : 9) 

การผ่านเข้าสู่ประตูศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกเปิดเฉพาะช่วงเวลาของปีศักดิ์สิทธิ์นั้น จึงหมายถึงโอกาสที่ผู้จาริกแสวงบุญและคริสตชนจะได้รับพระหรรษทานจากพระเจ้า ด้วยการผ่านประตูศักดิ์สิทธิ์หรือผ่านทางองค์พระเยซูเจ้านั่นเอง

ผลงานเหรียญ Pope Pius XII วาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

กรอบเงินทรงกลมลวดลายไทยประยุกต์ออกแบบโดยใช้ลายบัวฟันยักษ์เป็นแม่ลาย ขนาบข้างด้วยลายก้านขดทำเป็นก้นหอยม้วนเข้า ซ้อนชั้นลดหลั่นด้วยลายก้นหอยขนาดเล็กม้วนออก ด้านบนเป็นชุดลายบัวฟันยักษ์หงาย ส่วนด้านล่างเป็นชุดบัวฟันยักษ์คว่ำ (ตัวแม่ลายมีขนาดย่อมกว่าตัวบนเล็กน้อย) ชุดลายด้านบนเสริมความงามด้วยลายลักษณะคล้ายใบกระจังรวนที่ทำปลายยอดสะบัดขึ้นเพื่อขยายชุดลายออก จบด้วยขมวดก้นหอยม้วนเข้าหยุดอยู่ใต้ปลายยอด (รับกันกับตัวก้นหอยของชุดลายด้านล่าง) ตรงกึ่งกลางด้านบนทำห่วงทรงโค้งเพิ่มขอบอยู่เหนือลายก้นหอยคู่ 

วงรอบเหรียญทำเป็นลายเรขาคณิตคล้ายลายฐานพระพุทธรูปวนรอบ จัดเป็นงานออกแบบเครื่องประดับที่นำเอาลวดลายต่างๆ มาประยุกต์ผสมผสานให้ผลงานแลดูอ่อนช้อย ทว่าเต็มไปด้วยความหนักแน่น สวยงาม อันแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถและชั้นเชิงที่ลึกซึ้งในกระบวนลายของศิลปินผู้ออกแบบ 

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

ภายในกรอบลายเป็นเหรียญเคลือบทอง ทรงกลมขนาด 25 มิลลิเมตร ทำเป็นรูปสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ผันพระพักตร์ทางด้านซ้าย ทรงฉลองพระองค์ในชุด Papal Choir Dress สวมหมวกเล็กเกาะแนบศีรษะ พระศอแลเห็นขอบคอเสื้อของชุดเสื้อหล่อ (Talare, Cassock) มีเสื้อคลุม Mozzetta สวมทับ และประดับด้วย Embroidered Stole ปักลวดลายบนพื้นที่ว่างด้านซ้ายช่วงล่างของเหรียญจารึกข้อความ PIVS P.P. XII (Papal Pius ๑๒) 

จัดเป็นงาน Bas-relief ที่มีลักษณะค่อนข้างนูน (โดยเฉพาะบริเวณขอบเหรียญด้านล่างช่วงพระวรกายตรงลายปักบน Stole) และแสดงมิติชัดเจน อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวอย่างหนึ่งในงาน Medallist ของศาสตราจารย์ศิลป์

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

ด้านหลังของเหรียญแสดงภาพกลุ่มบุคคลที่มีการจัดวางองค์ประกอบในลักษณะสมมาตร องค์ประธานหลักของเหรียญทำเป็นภาพพระเยซูคริสต์ ขณะทรงประทับยืนด้วยพระบาทเปลือยเปล่าบนพื้นยกระดับอยู่ตรงกึ่งกลาง แบ่งกลุ่มบุคคลในภาพที่กำลังน้อมรับพระหรรษทานออกเป็นสองข้างซ้ายขวา ศิลปินผู้ออกแบบยังแบ่งระดับความสำคัญของเบื้องบนและเบื้องล่าง ด้วยการออกแบบจัดวางรูปบุคคลด้านหน้าให้อยู่ในท่านั่งคุกเข่าขนาบข้างน้อมกายเข้าหาแกนกลางหลักของภาพ แสดงกิริยาภาวนาอ้อนวอนอยู่ภายใต้อ้อมแขนที่กางออกของรูปประธาน

ฉากหลังเป็นบานประตูศักดิ์สิทธิ์ประดับด้วยไม้กางเขน เห็นปรากฏโดดเด่นอยู่เหนือพระรัศมี เป็นการเน้นย้ำถึงแกนกลางหลักของภาพ และยืดระดับความแตกต่างระหว่างเบื้องบนเบื้องล่าง ทั้งยังเป็นการเพิ่มความหมายของทิศเบื้องหลัง และเสริมให้ที่มาของพระอานุภาพที่แท้จริงขยายไกลลับออกไปอีก ด้านข้างภายในวงขอบเหรียญมีตัวอักษรวางเรียงโค้งไปตามวงขอบเหรียญเป็นข้อความ PAX CHRISTI IN อยู่ทางฝั่งซ้าย และ REGNO CHRISTI อยู่ทางฝั่งขวา 

ใต้ภาพมีข้อความบ่งบอกถึงวาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 ‘ANNO JVBILAEI MCML’ โดยแบ่งพื้นที่ตรงมุมปีกทั้งสองข้างไว้ ลึกลงไปมีตัวอักษรขนาดเล็ก R.RICCI ที่ขอบเหรียญฝั่งซ้าย และ FIRENZE ตรงขอบเหรียญฝั่งขวา

PAX CHRISTI IN REGNO CHRISTI หรือ The Peace of Christ in the kingdom of Christ (สันติสุขของพระคริสต์ในอาณาจักรของพระคริสต์) อมตะพจน์ของ สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของท่านในการนำพาพระศาสนจักรโดยอาศัยสันติภาพของโลก ย้อนไป ค.ศ. 1929 สนธิสัญญา Lateran ระหว่างอิตาลีกับวาติกัน ที่ลงนามโดย มุสโสลินี (Benito Mussolini) ยอมรับอำนาจอธิปไตยของพระสันตะปาปาเหนือนครรัฐวาติกัน สมเด็จพระสัตะปาปาปิอุสที่ 11 ทรงประกาศความเป็นกลางถาวรในความขัดแย้งทางทหารและการทูตของโลก พระองค์ประกาศว่า การจะทรงแทรกแซงการต่างประเทศนั้นไม่ใช่ในฐานะประมุขของรัฐอธิปไตย แต่ในฐานะของสังฆราชาแห่งคริสตจักร 

ลักษณะและเนื้อหาของภาพที่ปรากฏอยู่บนเหรียญด้านหลัง รูปพระเยซูคริสต์ประทับยืนในท่ายกแขนกางออกเหนือกลุ่มบุคคลที่กำลังน้อมรับพระหรรษทานอยู่นั้น  สังเกตว่าศิลปินผู้ออกแบบเลือกคัดแยกให้สตรีเพศทั้ง 4 คนอยู่ในกลุ่มทางฝั่งซ้าย และเลือกให้บุรุษอีก 4 คนรวมกลุ่มกันอยู่ทางฝั่งขวา (Gender Segregation) อาจเป็นการสื่อหรือแสดงนัยยะบางประการแฝงซ่อนไว้ เนื่องจากการแบ่งแยกเพศหญิง-ชายนั้น (Segregation of Men and Women) เป็นหนึ่งในข้อกำหนดของ Opus Dei ที่ Josemaría Escrivá ระบุว่า แบ่งแยกแต่ว่าเท่าเทียมกัน (Separate but equals) 

จากปากสู่ปาก จากรุ่นสู่รุ่น จากเรื่องเล่าที่ว่า 

“ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านเคยทำเหรียญให้กับสมเด็จพระสันตะปาปา” ผ่านบรรดาเหล่าสานุศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์มาจนถึงหูของลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า จนกลายเป็น ‘ตำนานเหรียญโป๊ป’ เหรียญในตำนานที่เล่าขานกันมายาวนาน กว่าผู้เขียนจะคลี่คลายให้กระจ่างได้ เวลาก็ผ่านไปถึง 70 ปี ผลงานที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สร้างสรรค์ไว้จึงเป็นที่ประจักษ์

ที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามรวบรวมข้อมูลและทำการตรวจสอบเพื่อค้นหาเหรียญโป๊ปดังกล่าว ซึ่งหากพิจารณาดูจากไทม์ไลน์ จะพบว่าช่วงสมัยของโป๊ป Benedict XV (ค.ศ. 1914 – 1922) ถือเป็นช่วงเวลาที่ Prof. C.Feroci มีผลงานปรากฏอยู่เด่นชัดมากมาย จัดได้ว่าเป็นยุคคลาสสิกที่เฟื้องฟูสุดโดยเฉพาะงาน Medallist ของท่าน (มีผลงานภายใต้แบรนด์ส่วนตัวที่ทำขึ้นในชื่อ C.Feroci & C.! Firenze) แต่ในการตรวจตราเบื้องต้นก็ยังไม่ปรากฏพบเหรียญโป๊ป Benedict XV ที่น่าจะเป็นผลงานของท่าน 

ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากสภาพสังคมในอิตาลีขณะนั้นเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบกับไม่มีวาระสำคัญทางศาสนจักรที่พอจะเอื้ออำนวยให้สร้างผลงานมากนัก ทว่าลึกลงไปในรายละเอียดของห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันแล้ว Pope Pius XI ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาเมื่อมกราคม ค.ศ. 1922 (ในขณะที่ศาสตราจารย์ศิลป์ เริ่มเข้ามารับราชการในเมืองไทยเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1923) ‘เหรียญโป๊ปในตำนาน’ ที่ว่าอาจเป็นผลงานที่ท่านทำเพื่อมอบถวายให้แด่สมเด็จพระสันตะปาปาองค์นี้ ในวาระที่ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของศาสนจักรก็เป็นได้ 

ขณะที่ผู้เขียนกำลังทำการค้นหา ตรวจดูเหรียญโป๊ปชนิดต่างๆ เพื่อพิเคราะห์หารูปแบบที่เข้าข่ายหรือมีเกณฑ์ความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นฝีมือของศาสตราจารย์ศิลป์อยู่นั้น สายตาก็ต้องมาหยุดอยู่ที่เหรียญ Pope Pius XII เหรียญนี้  

ด้วยความที่เหรียญมีรูปทรงอันแปลกตากว่าเหรียญอื่นทั่วไป ทำให้สะดุดตาผู้เขียนตั้งแต่แรกเห็น ครั้นเมื่อสังเกตดูลวดลายบนกรอบของเหรียญที่มีลักษณะคล้ายลายแบบไทยร่วมอยู่ด้วยแล้ว ก็พลันให้สะดุดใจเพิ่มขึ้นอีก  

กอปรกับรูปลักษณ์ของโป๊ปที่ปรากฏบนเหรียญแลดูเรียบง่าย สง่างาม แฝงด้วยพลังทางศิลปะอันหนักแน่นแม่นยำ ทำให้ผู้เขียนเกิดความรู้สึกอิ่มเอมผสมปนเปกับความสงสัยใคร่รู้ จึงพยายามสืบค้นถึงความเป็นมาของเหรียญนี้ และพบว่าเหรียญดังกล่าวทำขึ้นเนื่องในวาระปีศักดิ์สิทธิ์ Jubilee years 1950 ผู้เขียนจึงเริ่มคิดว่าเหรียญนี้อาจเป็นผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ที่ทำขึ้นในช่วงที่ท่านลาพักราชการกลับไปใช้ชีวิตที่ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อ ค.ศ. 1949 ก็เป็นได้  

อีกทั้งการปรากฏชื่อของ R.RICCI ,FIRENZE บนเหรียญอีกด้านหนึ่งนั้น นับเป็นเครื่องช่วยยืนยันความเกี่ยวพันของศาสตราจารย์ศิลป์กับเหรียญโป๊ปเหรียญนี้ให้แจ่มชัดทันที เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มผู้สนใจงานศิลปะของ Prof. Feroci ว่า ผลงาน Medallist ในอดีตของท่านส่วนหนึ่งเป็นผลงานที่ทำร่วมกันกับ RICCI เจ้าของบริษัทผลิตเหรียญที่ระลึก เข็มกลัด รูปปั้น ประกาศนียบัตร และถ้วยรางวัล แห่งเมืองฟลอเรนซ์

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950
ตัวอย่างผลงาน Medallist ของศาสตราจารย์ศิลป์ ที่ทำในนาม C.Feroci และ Ricci
สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950
ตัวอย่างโฆษณาของ Stabilimento Ricci di Firenze (ขวา) จากหนังสือ Guide Di Firenze สิ่งพิมพ์อย่างเป็นทางการของคณะกรรมการจัดการแข่งขันยิมนาสติกสากลแห่งชาติครั้งที่ 12 ที่เมืองฟลอเรนซ์ (F.G.N.I. 1924) ปรากฏชื่อ Prof. C. FEROCI (ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) อยู่ด้วย

หลังจากทำการสืบค้นเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญ Pope Pius XII ของ Ricci เพิ่มเติมแล้วนั้น พบว่ายังมีเหรียญ Pope Pius XII ที่ทำขึ้นเป็นที่ระลึกในวาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 อีกหลายรูปแบบ โดยเหรียญทุกแบบจะทำเป็นรูปของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ไว้ด้านหน้า ส่วนอีกด้านของเหรียญจะทำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับปีศักดิ์สิทธิ์และคริสตศาสนา เช่น นักบุญองค์สำคัญต่าง พระแม่มารีย์ (ทั้ง Our Lady of Perpetual Help และ Our Lady of Good Counsel) 

สิ่งที่สร้างความระทึกใจให้ผู้เขียนเป็นที่สุด คือเหรียญทุกแบบที่ด้านหน้าเป็น Pope Pius XII ล้วนมีสัญลักษณ์ตัวอักษรย่อ CF ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ประทับอย่างชัดเจนตรงบริเวณริมเหรียญด้านขวา

ซึ่งสัญลักษณ์ CF นี้เคยพบอยู่บนผลงาน Medallist ของ Prof. C. Feroci มาแล้วก่อนหน้านี้

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950
ตัวอย่างสัญลักษณ์ CF (initial ของ C.Feroci ) บนผลงานในช่วงทศวรรษที่ 1930

จากรูปแบบของลวดลายแบบไทยที่ถูกเนรมิตขึ้นใหม่บนกรอบที่ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง และการให้ค่าสีบนวัสดุของเหรียญโป๊ปภายในที่ช่วยเพิ่มความสง่างาม และเสริมพระเกียรติให้แด่องค์สมเด็จพระสันตะปาปา ตลอดจนรูปแบบและเนื้อหาที่ปรากฏอยู่บนเหรียญด้านหลังนั้น มีความเหมาะสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว ทำให้เหรียญโป๊ปเหรียญนี้เป็นผลงานการสร้างสรรค์อันทรงคุณค่า และเปี่ยมไปด้วยความหมายเป็นอย่างยิ่ง 

จึงสรุปได้ว่า ‘ตำนานเหรียญโป๊ป’ ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยทำถวายแด่องค์สมเด็จพระสันตะปาปา และพระองค์ทรงชื่นชมมากนั้น จะต้องเป็นเหรียญโป๊ป Pius XII (เคลือบทองประดับกรอบเงิน) ที่ระลึกเนื่องในวาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 เหรียญนี้อย่างแน่นอน

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

ผลจากการค้นพบผลงานเหรียญที่ระลึก Pope Pius XII ในวาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นั้น ทำให้ทราบว่าผลงานของท่านที่ทำขึ้นเนื่องในศาสนาตามขนบประเพณีนั้น มีลักษณะและรูปแบบพิเศษบางอย่าง แตกต่างจากแนวการสร้างสรรค์ผลงานเหรียญแบบอื่นของท่าน ทั้งจากเหรียญที่ระลึกการแข่งขันกีฬาหรือเหรียญบุคคลสำคัญ

เหรียญชุดวาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 : Pope Pius XII

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

ด้านหน้าเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 อีกด้านทำเป็นภาพ St. Peter’s Basilica หรือ Vatican Basilica มหาวิหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ที่นครรัฐวาติกัน กรุงโรม จัดเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ (มีศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหลายคนร่วมงานออกแบบและก่อสร้าง อาทิ Michaleangelo, Raphael และ Gian Lorenzo) 

เหรียญที่ระลึกวาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 เป็นภาพองค์ประกอบประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมภายใน บริเวณตำแหน่งที่ตั้งของประตูศักดิ์สิทธิ์ในวิหาร St. Peter’s Basilica ที่ด้านข้างมีนางฟ้าหรือทูตสวรรค์นั่งคุกเข่าอยู่บนก้อนเมฆ และข้อความบ่งบอกวาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 ‘ANNO JVBILAEI MCML’ วางเรียงเป็นวงโค้งด้านบน

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

บานประตูศักดิ์สิทธิ์ที่มหาวิหาร St. Peter’s Basilica ปัจจุบันเป็นผลงานของ Vico Consorti ประติมากรชาวอิตาลี ออกแบบใหม่ใน ค.ศ. 1948 เนื่องจากสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ทรงเห็นว่าประตูไม้บานเก่าชำรุดทรุดโทรม จึงจัดให้มีการประกวดแข่งขันออกแบบประตูบานใหม่ขึ้นเพื่อใช้สำหรับเทศกาลปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

Door of the Great Pardon มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเมตาและการให้อภัย แสดงอยู่บนบานประตูที่แบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจำนวน 16 ช่อง แต่ละช่องประดับตกแต่งด้วยงานประติมากรรมนูนต่ำทำจากทองสัมฤทธิ์ หล่อโดย FAFM of Firenze (Ferdinando Marinelli Artistic Foundry) และนำมาติดตั้งเป็นครั้งแรกในพิธีปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ 1950

วาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 นี้ สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ยังทรงประกาศเรื่องการยกพระแม่มารีย์ขึ้นสู่สวรรค์ เป็นความเชื่อทางสมณสาสน์ใน Munificentissimus Deus เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1950 มีใจความว่า 

“พระแม่มารีย์ได้รับเกียรติให้ยกขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์บนสวรรค์ หลังจากจบวิถีชีวิตทางโลก ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ…” 

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

เนื้อหาดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดลงบนเหรียญที่ระลึก ทำเป็นพระแม่มารีย์ประทับยืนบนก้อนเมฆลอยอยู่เหนือโลกที่อาภรณ์มีสายผ้าคาดเอวและผ้าคลุม สัญลักษณ์สำคัญของพระแม่ ตรงศีรษะทำรัศมีทรงกลมล้อมรอบ แสดงถึงการเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นเรื่องราวของเนื้อหาการถูกยกขึ้นสู่สวรรค์ตามประกาศฯ มีข้อความ REGINA PACIS (Queen of Peace) หนึ่งในสมัญญาของพระแม่มารีย์ ปรากฏอยู่บนแกนเส้นแบ่งตรงกลางที่วางขวางเป็นกากบาท ตัดกับตัวพระแม่ในแกนตั้ง แบ่งพื้นที่เหรียญออกเป็น 4 ส่วน มีข้อความบ่งบอกวาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 อยู่รอบขอบเหรียญ 

วงในประกอบด้วยลวดลายจุดประที่ศิลปินบรรจงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้เกิดสัณฐานทรงกลม มีลายพรรณพฤกษาบรรจุไว้ภายใน และประทานไว้ในพระหัตถ์ของพระแม่ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างโลกมนุษย์กับพระแม่ที่ทรงถูกยกให้สถิตย์อยู่บนสวรรค์ รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แทนความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเมตตาของพระแม่ผู้เปี่ยมด้วยความรัก

รูปแบบของเมฆลักษณะเดียวกับที่พบบนเหรียญศาสตราจารย์ศิลป์ ได้นำมาใช้อีกครั้งในการสร้างสรรค์ผลงานชื่อ ‘จงตื่นเถิด’ ประติมากรรมนูนสูงที่เคยใช้ประดับภายในอาคารหอประชุมตึกสุวรรณสมโภช โรงเรียนอัสสัมชัญ 

น่าเสียดายที่ประติมากรรมก้อนเมฆนั้นชำรุดแตกหัก แยกออกเป็น 3 ส่วน อันเนื่องมาจากการทุบทำลายอาคารสุวรรณสมโภช เพื่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นแทนใน ค.ศ. 2000

St.Christopher : นักบุญองค์อุปถัมภ์แห่งการเดินทาง

เซนต์คริสโตเฟอร์ (St.Christopher) เป็นหนึ่งในนักบุญผู้ช่วยศักดิ์สิทธิ์ 14 องค์ เริ่มแพร่หลายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางราวต้นทศวรรษที่ 1950 โดยคริสตนชาวคาทอลิกนิยมสวมใส่สร้อยคอห้อยเหรียญบูชาที่มีชื่อและภาพของ St.Christopher ติดตัว หรือประดับตามยานพาหนะเพื่อช่วยให้การเดินทางปลอดภัยและปกป้องคุ้มครองนักเดินทางให้รอดพ้นจากอุบัติเหตุ  แต่แล้วเรื่องราวของ St.Christopher ก็เริ่มถูกลดความสำคัญลง หลังจากที่ศาสนจักรประกาศยกเลิกวันฉลองนักบุญคริสโตเฟอร์ในปฏิทินศาสนาอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1969

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950

ตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเซนต์คริสโตเฟอร์ ผู้ละทิ้งปีศาจหันมารับใช้พระคริสต์ ด้วยการใช้ร่างกายที่ใหญ่โตและแข็งแกร่งเกินมนุษย์ คอยช่วยผู้คนที่ไร้ซึ่งความพยายามให้ข้ามผ่านแม่น้ำที่อันตรายนั้น ปรากฏอยู่บนเหรียญซึ่งแสดงเหตุการณ์ตอนที่มีเด็กน้อยคนหนึ่งเข้าไปในกระท่อมหลังเล็กๆ ริมแม่น้ำที่เขาอาศัยอยู่ เพื่อขอให้พาข้ามแม่น้ำ เขาจึงได้อุ้มเด็กคนนั้นแบกขึ้นไว้บนบ่า ระหว่างทางนั้นเอง ระดับน้ำในแม่น้ำก็สูงขึ้น และเด็กน้อยคนนั้นก็หนักมากขึ้นเรื่อยๆ  จนเขาแทบจะแบกเอาไว้ไม่ไหว เขารู้สึกว่าตัวเขานั้นไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของเด็กน้อยคนนี้ได้  

แต่ในที่สุดเขาก็พาเด็กคนนั้นข้ามมาถึงอีกฝั่งหนึ่งจนได้ แล้วเขาก็บอกเด็กน้อยคนนั้นว่า “น้ำหนักของคุณทำให้ฉันรู้สึกเหมือนมีโลกทั้งใบอยู่บนบ่าของฉัน” 

เด็กน้อยคนนั้นตอบกลับไปว่า “ความจริงคุณก็แค่แบกเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งเอาไว้บนบ่าของคุณ เพียงแต่ฉันก็แค่มีโลกทั้งใบอยู่กับฉันด้วยเท่านั้น ฉันคือพระคริสต์ ราชาของคุณผู้ที่ซึ่งคุณกำลังทำงานรับใช้อยู่ จากนี้ไปคุณจะถูกเรียกว่า Christopher ; ผู้แบกพระคริสต์ (Christ-bearer)”

สืบร่องรอยฝีมือ ศิลป์ พีระศรี บนเหรียญที่ทำให้พระสันตะปาปา Pius Xll ปีศักดิ์สิทธิ์ 1950
เหรียญเซนต์คริสโตเฟอร์ลักษณะแบบเดียวกับที่ทำขึ้นในวาระปีศักดิ์สิทธิ์ 1950 : Pope Pius XII นี้ถูกนำกลับมาให้เห็นอีกครั้งในฐานะตัวแทนของเครื่องลางที่ระลึกอันโดดเด่นแห่งทศวรรษที่ 1950 
ภาพ : ซีรีส์ DARK ซีซั่น 3 ตอนที่ Hannah ได้รับเหรียญ St.Christopher จาก Egon ค.ศ. 1954

อิทธิพลของงานศิลปะในยุคเรอเนสซองส์ที่นครฟลอเรนซ์นั้นยังคงทิ้งร่องรอยให้เห็นอยู่บนเหรียญ St.Christopher (ค.ศ. 1950) เหมือนดั่งจะเป็นพยานแห่งที่มาของแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานให้ศิลปินผู้นี้อยู่เสมอ ประดุจจะท้าทายความเชื่อที่ว่า “จิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของศิลปินแห่งยุคเรอเนสซองส์นั้นเป็นอมตะ”

Writer & Photographer

Avatar

จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ

มหาบัณฑิตจากวังท่าพระฯ ปัจจุบันนิยมเป็นผู้เสาะแสวงหาผลงาน Medallist ของ Prof. FEROCI เพื่อการศึกษาและการอนุรักษ์