“โป๊ปจะเสด็จเมืองไทยแล้ว”

“โป๊ปคือใครอะ”

“พระสันตะปาปาฟรังซิส ประมุขศาสนจักรคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไง”

ในช่วงปลายปีนี้ มีข่าวดีสำหรับคริสตชนคาทอลิกไทยและผู้สนใจในแวดวงศาสนา ที่จะได้ร่วมกันต้อนรับ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ผู้นำพระศาสนจักรคาทอลิกและประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน ระหว่างวันที่ 20 – 23 พฤศจิกายน 2562 เป็นครั้งแรกในสมณสมัยของพระองค์

ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงพบปะบรรดาคริสตชน จากแผ่นป้ายที่ระลึกสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยี่ยมอาสนวิหารอัสสัมชัญ

 โป๊ปองค์ก่อนหน้าที่เคยเสด็จเมืองไทยเมื่อ 35 ปีก่อนในสมัยรัชกาลที่ 9 คือ พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 และหลังจากนั้นก็ไม่เคยเสด็จเยือนอีกเลย ซึ่งเป้าหมายหลักของโป๊ปฟรังซิสที่จะเสด็จมาในปลายปีนี้ ก็คือร่วมแสดงความยินดีต่อคริสตชนคาทอลิกไทย ในโอกาสเฉลิมฉลอง 350 ปี การแผยแผ่ธรรมในกรุงสยามที่เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

นอกจากนี้ พระสันตะปาปาฟรังซิสยังเสด็จมาฉลองครบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-วาติกัน และยังทรงร่วมยินดีในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกด้วย

การเสด็จครั้งนี้จึงนับว่าพิเศษมากๆ เพราะคริสตศาสนิกชนไทยมีจำนวนราวๆ ไม่ถึง 400,000 คนเท่านั้น เป็นประชากรกลุ่มน้อยของประเทศจริงๆ

ขณะนี้พระศาสนจักรคาทอลิกไทยกำลังตระเตรียมพิธีการรับเสด็จในสถานที่ต่างๆ เช่น อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก, วัดนักบุญเปโตร สามพราน, โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และสนามศุภชลาศัย ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดพิธีมิสซาใหญ่กลางแจ้ง มีการซักซ้อมขบวนแห่ การขับร้อง เพลงและสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของความชื่นชมยินดีของคริสตชนชาวไทย จึงขอพาท่านผู้อ่านย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2527 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ เป็นครั้งแรกที่ผู้นำทางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเสด็จเยือนประเทศไทยที่มีประชากรนับถือพุทธศาสนากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จนชาวไทยหลายๆ กลุ่มตั้งคำถามว่า “มาทำอะไร” เราจึงมาดูกันว่า 35 ปีที่แล้ว โป๊ปจอห์น ปอลที่ 2 ‘มาทำอะไร’ และมีพระดำรัสอะไรต่อประเทศไทย 

ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงจุมพิตแผ่นดินไทยหลังเสด็จลงจากเครื่องบินภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

เมืองไทยในอดีต

 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในงานสโมสรสันนิบาต ณ ตึกสันติไมตรีภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

บรรยากาศของประเทศไทยในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองเพิ่งผ่านพ้นยุคสงครามเย็นอันเกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของโลกเสรีประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ไปได้ไม่นานนัก ประเทศไทยยังเป็นที่พึ่งพิงของผู้อพยพที่บ้านแตกสาแหรกขาดมาจากสงครามในกลุ่มประเทศอินโดจีน ซึ่งสงครามจบลงด้วยการถอนทัพของของฝ่ายสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้อพยพจากเวียดนามใต้หลั่งไหลทะลักเข้ามาในไทยจำนวนมาก และองค์กรคาทอลิกอย่าง ‘โคเออร์’ (COERR) ก็มีส่วนในการดูแลผู้อพยพเหล่านี้กว่า 25 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ.2521)

ส่วนความขัดแย้งทางศาสนาพุทธ-คริสต์ในยุคที่ความเข้าใจด้านศาสนสัมพันธ์หรือแนวคิดการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนายังไม่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง ความขัดแย้งในอดีตตั้งแต่สมัยอยุธยา ถูกนำออกมาพูดกันใหม่ เพราะคริสตศาสนายังถูกมองว่าเป็น ‘ศาสนาของฝรั่ง’ คริสตชนไทยจึงถูกมองว่าเป็นคนแปลกหน้าในบ้านตัวเอง

ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
ปกหนังสือพิมพ์ มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 2269 (7 พฤษภาคม 2527)
ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
พาดหัวข่าวการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ภาพ : มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 2269 (7 พฤษภาคม 2527).

สื่อต่างๆ จับตามองการเสด็จครั้งนี้อย่างใกล้ชิด มีทั้งผู้ไม่เห็นด้วย ทั้งเคลือบแคลงใจกับการเสด็จเยือนไทยครั้งนี้ หนังสือพิมพ์บางฉบับก็ยังพาดหัวในเชิงตั้งคำถามว่า การเสด็จเยือนไทยครั้งนี้อาจจะเป็นแผนการพยายามแทรกซึมเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยและชาวไทยต่างก็ต้อนรับพระองค์เป็นอย่างดี ท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องการรักษาความปลอดภัยของผู้นำระดับนานาชาติ

  บุรุษแห่งสันติภาพ

ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงพบปะบรรดาคริสตชน จากแผ่นป้ายที่ระลึกสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยี่ยมอาสนวิหารอัสสัมชัญ

โป๊ปจอห์น ปอลที่ 2 (ครองสมณสมัย ค.ศ. 1978 – 2005 / พ.ศ. 2518 – 2548 หลังจากที่สิ้นพระชนม์ก็ถูกสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญ) ทรงได้ชื่อว่าเป็น ‘บุรุษแห่งสันติภาพ’ พระองค์ทรงเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกใน ‘ยุคสมัยใหม่’ ที่เริ่มภารกิจหลักโดยการออกไปเยี่ยมเยียนดินแดนต่างๆ ที่มีชาวคาทอลิกอาศัยอยู่ทั่วโลก 

โป๊ปจอห์น ปอลที่ 2 แต่เดิมชื่อ คอรอล โยเซฟ วอยติวา (Karol Józef Wojtyła) เป็นชาวโปแลนด์ เกิดใน พ.ศ. 2463 ขณะที่เป็นนักศึกษาทรงมีประสบการณ์เป็นกรรมกรเหมืองหินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พรรคนาซีเยอรมันยึดครองโปแลนด์ ประเทศบ้านเกิดของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงเข้าใจความทุกข์ยากของผู้ที่ถูกข่มเหงรังแก ผู้ตกระกำลำบากจากความรุนแรงของสงครามประเภทต่างๆ ความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนา และผู้ที่ได้รับความอยุติธรรม

ต่อมาพระองค์ทรงบวชเป็นบาทหลวง และได้รับตำแหน่งพระสันตะปาปาใน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นปีที่สงครามเวียดนามปะทุรุนแรงที่สุด จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายโลกเสรี พรรคคอมมิวนิสต์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในเอเชียทำให้สถานะของศาสนาต่างๆ สั่นคลอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาคริสต์ ด้วยความเลวร้ายทางการเมืองและความรุนแรงที่แพร่กระจายอยู่ทั่วโลกเช่นนี้ พระองค์จึงเสด็จไปเยี่ยมเยียนผู้ตกทุกข์ได้ยากในประเทศต่างๆ และทรงเยียวยาทางด้านจิตใจ เสริมสร้างความหวัง สันติภาพ สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือศาสนา โดยการเสด็จเยี่ยมประเทศไทยนั้นถือเป็นการเสด็จเยี่ยมต่างประเทศครั้งที่ 21 โดยมีเป้าหมายคือประเทศไทย ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน

เยือนวัดเยือนวัง

รัชการที่ 9
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
รัชกาลที่ 10
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 และสมเด็จพระบรมโอรสธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

พระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงมาทำอะไรในไทย

ภารกิจประการแรกของพระองค์ในไทย คือเสด็จเยี่ยมเยียนราชสำนัก เป็นการตอบแทนพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนนครรัฐวาติกัน และเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 2 ใน พ.ศ. 2503

ดังนั้น ในครั้งนี้สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 จึงได้เสด็จมาเข้าเฝ้าในฐานะพระราชอาคันตุกะ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงยกย่องการมีอิสรภาพของคนไทย และทรงขอบพระทัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรัฐบาลไทยที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย

หลังจากนั้น พระองค์เสด็จไปเยี่ยมเยียนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) ณ วัดราชบพิธฯ เพื่อเป็นการตอบแทนที่พระองค์เคยเดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ณ นครรัฐวาติกัน และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาทั้งสอง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการสนับสนุนสันติภาพและความสงบสุขในสังคม

พบลูกๆ ชาวไทย

ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
พิธีบูชามิสซาที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงเป็นประธาน ณ สนามศุภชลาศัย ภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
พิธีบูชามิสซาที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงเป็นประธาน ณ สนามศุภชลาศัย ภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
แผ่นป้ายที่ระลึกสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยี่ยมอาสนวิหารอัสสัมชัญ

ภารกิจประการถัดไปของพระองค์ คือการเสด็จเยี่ยมเยียนชาวคาทอลิกในไทย ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนราวๆ 3 แสนกว่าคน คิดเป็นไม่ถึง 0.1 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด แต่ก็เปี่ยมด้วยความเชื่อ ความศรัทธา และเป็นส่วนหนึ่งของประชากรศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักร 

‘พระสันตะปาปา’ โดยรูปศัพท์แล้วแปลว่า ‘บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์’ จึงถือเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของพระองค์ที่จะเยี่ยมเยียน ‘ลูกๆ’ ที่อาศัยอยู่ทั่วโลก ในวาระเสด็จเยือนประเทศไทยเพื่อเยี่ยมคริตศาสนิกชนชาวไทย พระองค์จึงประกอบพิธีบูชามิสซากลางแจ้ง ณ สนามศุภชลาศัย

ในครั้งนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาทรงชื่นชมและให้ความเคารพวัฒนธรรมไทยว่า มีพื้นฐานมาจากหลักธรรมอันปรีชาฉลาดใน ‘พุทธศาสนา’ ซึ่งการก้าวข้ามพรมแดนทางความเชื่อเช่นนี้ เป็นหัวใจหลักของการเสริมสร้างศาสนสัมพันธ์ที่จะช่วยพยุงความเข้าใจอันดีและประสานความขัดแย้ง ดังความตอนหนึ่งในบทเทศน์ของพระองค์ในสนามศุภชลาศัยว่า

“นอกจากนี้ (พี่น้องคริสตชนชาวไทย) ท่านอยู่ในสังคมที่เพื่อนร่วมชาติส่วนมากนับถือพุทธศาสนา ที่มีข้อคิดและระบบปรัชญามากมายฝังลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตใจของคนไทย มีบทบาทมากต่อเอกลักษณ์ของประเทศ เราจึงอาจกล่าวได้ว่าในฐานะที่ท่านเป็นพลเมืองไทย ท่านเป็นผู้ได้รับมรดก ความปรีชาฉลาดซึ่งมีมาแต่โบราณกาลและน่านับถืออย่างยิ่ง…”

โป๊ปยังทรงย้ำอีกว่า พระศาสนจักรคาทอลิกในปัจจุบันให้การยอมรับนับถือ ‘ความลึกซึ้งทางปัญญา’ และยอมรับสิ่งที่เป็น ‘ความจริงและความศักดิ์สิทธิ์’ ในศาสนาอื่น ซึ่งชาวคาทอลิกไทยเองก็ได้รับความอ่อนโยนและสุขุมทางปัญญามาจากมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ด้วย

บทเทศน์ของพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 นี้ให้เกียรติศาสนาพุทธอย่างมาก เป็นหนึ่งในความพยายามประสานรอยร้าวทางศาสนาพุทธ-คริสต์ที่มีอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สุนทรพจน์ของพระองค์นอกจากจะกล่าวต่อ ‘ลูกๆ’ ชาวคาทอลิกไทยแล้ว ยังต้องการสื่อไปถึงบรรดาศาสนิกชนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา

เยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยสงคราม

ภารกิจประการสุดท้ายของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ในการเสด็จเยี่ยมเยียนประเทศไทย ก็คือการเสด็จเยี่ยมค่ายผู้อพยพลี้ภัยจากสงครามเวียดนามในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

“สงครามเป็นสิ่งเหลวไหล และไม่ยุติธรรม” 

 โป๊ปจอห์น ปอลที่ 2 เคยตรัสต่อผู้นำอาร์เจนตินาเมื่อเขาขอให้พระองค์อวยพร ‘การทำสงครามที่ยุติธรรม’ ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทกับประเทศอังกฤษ พระองค์แสดงจุดยืนในการต่อต้านสงครามทุกรูปแบบมาตลอด โดยเสนอว่า “พวกเขาควรจะรักชาติในรูปแบบอื่นๆ”

ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ สงครามเย็น สงครามระหว่างโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ยืดเยื้อเนิ่นนานจนมาแตกหักใน พ.ศ. 2518 เมื่อกองทัพคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเหนือบุกเข้ากรุงไซ่ง่อนฝั่งเวียดนามใต้ของฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องถอนกองทัพออกอย่างเร่งด่วน บรรดาพลเมืองเวียดนามใต้ โดยเฉพาะชนชั้นกลางและผู้มีการศึกษา ต่างอพยพหนีออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากหลายต่อหลายระลอกและในหลายรูปแบบ เช่น การเล็ดลอดข้ามชายแดน หรือแบบ ‘มนุษย์เรือ’ 

ประเทศไทยในฐานะที่สนับสนุนโลกเสรีประชาธิปไตย ก็เปิดประตูต้อนรับและให้ที่พำนัก โดยจัดตั้งค่ายผู้อพยพต่างๆ เช่นที่อุดรธานีและที่อำเภอพนัสนิคม ซึ่งเป็นค่ายสำหรับคัดกรองและเตรียมตัวให้ผู้อพยพลี้ภัยต่อไปในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส องค์กรคาทอลิกมีบทบาทเป็นอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ โดยเฉพาะมูลนิธิสำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย หรือโคเออร์ (COERR) ซึ่งมีอาสาสมัครนักบวชและฆราวาสทำงานในพื้นที่กว่า 15 ปี จนเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นก็ปิดศูนย์ลง

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงเห็นใจผู้อพยพเหล่านี้ นอกจากจะมีชาวเวียดนามแล้ว ยังมีชาวลาวและกัมพูชาจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอินโดจีน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ของคนชาติเดียวกัน พระองค์จึงเสด็จไปเยี่ยมเยียนพวกเขาที่ค่าย เพื่อทรงกระตุ้นเตือนให้โลกรักษาสันติภาพ และขอร้องให้นานาชาติยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้มากยิ่งขึ้น

ในช่วงค่ำ ณ งานสโมสรสันนิบาตที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อถวายเกียรติ ณ ตึกสันติไมตรี สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงขอร้องรัฐบาลไทยและทูตานุทูตอีกครั้ง ให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการดูแลบรรดาผู้อพยพลี้ภัย 

หลายต่อหลายครั้งที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงออกมาประณามการทำสงคราม และความรุนแรงในพื้นที่ทวีปต่างๆ ทั่วโลก ทรงเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ ทั้งระหว่างนักการเมือง ผู้นำเผด็จการ หรือผู้นำศาสนาต่างๆ ทั้งชาวพุทธและมุสลิม ดังที่เคยตรัสประณามสงครามไว้หลายครั้งหลายคราว

“ความรุนแรงเป็นความชั่วร้าย เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่อาจยอมรับได้ ความรุนแรงไม่มีค่าสำหรับมนุษย์ มันเป็นการโกหกหลอกลวง เพราะมันต่อต้านสัจธรรมแห่งความเชื่อศรัทธาของพวกเรา”

“ไม่มีทางออกจากสงคราม ความหิวโหย ความทุกข์ยาก การแบ่งแยกสีผิว การปฏิเสธสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่การหลีกพ้นจากอำนาจของขีปนาวุธข้ามทวีป ไปได้เลย ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงจิตใจของเรา” 

การเปลี่ยนจิตใจของมนุษย์ให้มีความรักความเมตตา เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันจึงเป็นหนทางที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงพยายามสร้างขึ้นมาใหม่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง 

ย้อนไปครั้งแรกที่โป๊ปเสด็จเยือนไทย ดูว่าพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 มาทำอะไรในยุค พล.อ.เปรม
รูปปั้นสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ด้านหน้าอาสนวิหารอัสสัมชัญ

ปัจจุบัน เวลาผ่านไปเกือบ 40 ปีแล้ว ภาวะสงครามเย็นก็สิ้นสุดลงไปเนิ่นนาน แต่สงครามและความขัดแย้งรูปแบบใหม่ๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และความเชื่อทางศาสนา ก็เกิดขึ้นมาแทนที่ตลอดในลักษณะที่ซับซ้อนขึ้น และยังกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก การเสริมสร้างสันติภาพและลดความรุนแรงจึงยังคงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของผู้นำทางศาสนาทุกศาสนาที่ถูกท้าทายโดยโลกาภิวัตน์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า ศาสนาจะยังคงมีบทบาทในการผสานความร่วมมือ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นในโลกสีเทาๆ ที่สรุปได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ว่า อะไรคือความดี และอะไรคือความชั่ว

 ท้ายสุดนี้ เรามาร่วมจับตาดูว่าภารกิจของพระสันตะปาปาฟรังซิสในประเทศไทยครั้งนี้ ชาวไทยคงจะได้รับ ‘สาส์น’ อะไรบางอย่างจากพระองค์ที่จะเป็นประโยชน์ทางธรรมสำหรับเกื้อกูลกันและกัน ในแนวทางที่จะเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในประเทศ สมตามเจตนารมณ์ของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงรักและประสงค์จะให้มนุษย์ทุกคนในโลกรักกันและกัน

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช