ในเพลาแดดร่มลมตกของวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2563 ที่เพิ่งผ่านมา หากใครได้ออกมาเดินที่ Via del Corso อันเป็นถนนสายหลักกลางกรุงโรม แล้วไม่ถูกตำรวจเป่านกหวีดปรี๊ดไล่ให้ขึ้นไปกักตัวอยู่ในบ้านเสียก่อน ก็จะมีโอกาสได้เห็นบุคคลสำคัญของโลกผู้หนึ่ง เดินช้าๆ เงียบๆ มีบอดี้การ์ดเดินตามอยู่มิห่าง แต่ก็มิรบกวน

ท่านคือ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (จะขออนุญาตไม่ออกพระนามไปมากกว่านี้ เพราะเดี๋ยวจะดราม่าเรื่องชื่อเรื่องเสียงกันไปจนผิดประเด็น)

เสด็จเสด็จออกมาทำไม เสด็จเสด็จมาจากไหน แล้วเสด็จกำลังจะเสด็จไปที่ใด 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จไป San Marcello al Corso ที่มีไม้กางเขนสำคัญของอิตาลีที่เป็น 'พระรอด' ซึ่งชาวโรมเชื่อว่าช่วยให้รอดจากภัยโรคระบาด
วันเสด็จจาริกไปยังโบสถ์ซันมาร์แชลโล ภาพ : www.ilfattoquotidiano.it

คำตอบคือ ท่านเพิ่งเสด็จมาจากมหาวิหารซานตา มาเรีย มัจโจเร (Basilica Santa Maria Maggiore) บ่ายหน้าไปทางโบสถ์เล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากตรงนั้นร่วม 2 กิโลเมตร เป็นโบสถ์ที่ถึงแม้จะตั้งอยู่ใจกลางกรุงโรมเหลือเกินก็ตาม แต่แทบไม่มีนักท่องเที่ยวคนใดรู้จัก เดินโฉบไปเฉี่ยวมา ค่าที่ทำเลที่ตั้งของโบสถ์อยู่เกือบตรงกลางระหว่างน้ำพุเทรวีกับปันเตออน (Pantheon) ระยะห่างไปถึงทั้งสองจุดราว 400 – 450 เมตรเท่านั้น

โบสถ์แห่งนี้ คือโบสถ์ ซัน มาร์แชลโล อัล คอร์โซ (San Marcello al Corso) สองคำหลังอาจแปลได้ว่า ณ คอร์โซ ซึ่งเป็นชื่อถนนสายนี้นั่นเอง

San Marcello al Corso ไม้กางเขนสำคัญของอิตาลีที่เป็น 'พระรอด' ซึ่งชาวโรมเชื่อว่าช่วยให้รอดจากภัยโรคระบาด
ด้านหน้าโบสถ์ San Marcello ภาพ : www.wikiwand.com

เหตุที่ท่านเสด็จมา เพราะที่นี่เป็นที่ประดิษฐานไม้กางเขนที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งของอิตาลี เป็นไม้กางเขนที่ชาวโรมเชื่อว่า ช่วยให้รอดจากภัยโรคระบาดได้

เหตุใดจึงเชื่อเช่นนั้น

ย้อนเวลาไปราว 500 ปีที่แล้ว โบสถ์แห่งนี้ก็เป็นโบสถ์โบสถ์หนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองโรม ณ มุมหนึ่งของโบสถ์ เป็นที่รูปสลักไม้พระเยซูถูกตรึงกางเขน ซึ่งมีอายุราว 100 ปี ณ ขณะนั้น (หากนับถึงวันนี้ก็ 600 ปี) สิ่งที่สะดุดตาสะดุดใจของคนโรมเชิงศิลปะก็คือ เป็นรูปสลักไม้พระเยซูถูกตรึงบนกางเขนที่เหมือนจริงที่สุดในเมือง

San Marcello al Corso ไม้กางเขนสำคัญของอิตาลีที่เป็น 'พระรอด' ซึ่งชาวโรมเชื่อว่าช่วยให้รอดจากภัยโรคระบาด
ภาพ : statics.cedscdn.it

ถึงตรงนี้ ก็ยังไม่เป็นเหตุของความเชื่อเรื่องการต้านภัยโรคระบาดใช่ไหม

จนกระทั่งใน ค.ศ. 1519 เกิดอัคคีภัย ไฟไหม้วอดวายโบสถ์ทั้งหลัง ผลของเพลิงพิโรธนั้น นอกจากกำแพงด้านนอกแล้ว สิ่งที่รอดมาอย่างเดียวคือไม้กางเขนนี้ 

เท่านั้นเอง กิตติศัพท์ในความเป็น ‘พระรอด’ ของกางเขนนี้ก็เริ่มขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ

แต่เรื่องยังไม่จบเท่านี้

3 ปีจากนั้น กล่าวคือ ใน ค.ศ. 1522 เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในกรุงโรม ประชาชนล้มตายสิ้นหวังอย่างที่เราคงจะนึกกันออก จนในที่สุด ประชาชนชาวโรมก็พร้อมใจพากันนำกางเขนไม้นี้ออกมาแห่แหน ด้วยคงจะเชื่อว่า กับฟืนกับไฟ ท่านยังฝ่ามาได้ ท่านก็น่าจะพาพวกเราผ่านโรคภัยไข้เจ็บคราวนี้ได้ด้วยเช่นกัน

San Marcello al Corso ไม้กางเขนสำคัญของอิตาลีที่เป็น 'พระรอด' ซึ่งชาวโรมเชื่อว่าช่วยให้รอดจากภัยโรคระบาด
การแห่ไม้กางเขนใน ค.ศ. 1931 ภาพ : www.wikiwand.com

ขบวนแห่มีจุดหมายปลายทางคือวาติกัน ซึ่งจริงๆ อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 3 กิโลเมตร แต่กลับเป็นการเดินทางซึ่งกินระยะทางอันประมาณมิได้ เนื่องประชาชนทั่วกรุงโรมก็ล้วนอยากให้กางเขนศักดิ์สิทธิ์นี้ผ่านไปยังย่านที่ตนอาศัยอยู่ ไม่ว่าทางการจะห้ามปรามเพียงใด ก็ไม่สามารถขัดพลังความเชื่อและศรัทธาของชาวโรมได้

นอกจากเส้นทางการเดินทางจะขยายออกไปแล้ว ระยะเวลาแห่งการแห่แหนนี้ก็หาได้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในวันเดียว หากแต่แห่กันถึง 16 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1522 กันเลยทีเดียว

ว่ากันว่า นับแต่เริ่มมีการแห่ โรคระบาดก็ค่อยๆ เริ่มทุเลาเบาบางลง แต่ละย่านจึงพยายามให้ขบวนแห่ไม้กางเขนนี้ผ่านย่านของตน และรื้อรั้งยั้งหยุดไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แล้วในที่สุด โรคระบาดก็หยุดจริงๆ จะด้วยอิทธิฤทธิ์ ด้วยถึงเวลา หรือการที่ประชาชนพากันออกมาตากแดดร้อนโลกันต์คิมหันต์ฤดูฆ่าเชื้อโรคกันจนหมดเมืองก็ไม่ทราบได้ 

จากนั้นมา ไม้กางเขนนี้ก็เป็นไม้กางเขนสำคัญของกรุงโรม ขึ้นชื่อเรื่องการปัดเป่าโรคภัย ฉะนี้

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดสันตะปาปาองค์ปัจจุบันจึงเสด็จมายังที่นี่ แล้วยังเลือกวิธีการเดินมาเพื่อเป็นประหนึ่งการจาริกแสวงบุญด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม สมเด็จสันตะปาปาฯ ได้มีรับสั่งให้เคลื่อนย้ายไม้กางเขนนี้เข้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์แล้ว เพื่อท่านจะได้สวดภาวนาอย่างสะดวกขึ้น

ไม้กางเขนสำคัญของอิตาลีที่เป็น 'พระรอด' ซึ่งชาวโรมเชื่อว่าช่วยให้รอดจากภัยโรคระบาด
ตอนเคลื่อนย้ายไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์เข้าไปยังวาติกัน ภาพนี้แสดงให้เห็นสัดส่วนของกางเขน และองค์กางเขนจริงๆ ที่มิได้ติดกับพื้นหลัง ภาพ : www.agensir.it
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จไป San Marcello al Corso ที่มีไม้กางเขนสำคัญของอิตาลีที่เป็น 'พระรอด' ซึ่งชาวโรมเชื่อว่าช่วยให้รอดจากภัยโรคระบาด
ขณะสวดภาวนาในวันนั้น ภาพ : www.vaticannews.va

คำถามถัดไป แล้วโบสถ์ซันตา มาเรีย มัจโจเร ที่ท่านเสด็จไปก่อนหน้านี้เล่า ท่านเสด็จไปทำไม ทำไมท่านจึงไม่ตรงไปยังโบสถ์ซันมาร์แชลโลเลย

หลายคนก็คงคิดว่า หรือเพราะวาติกันไกล

คงไม่ใช่ เพราะถ้าคิดว่าคนอย่างท่านกลัวความไกล โบสถ์ที่ใกล้ซัน มาร์แชลโล กว่านี้ก็มีตั้งมากในโรม 

นั่นสิ แล้วท่านเสด็จไปซันตา มาเรีย มัจโจเร ทำไม ทำไมถึงเริ่มเดินจากตรงนี้

จริงๆ อย่าเรียกว่าเริ่มเดินเลย เรียกว่าเป็นสถานที่แรกที่ท่านเสด็จในวันนั้นจะดีกว่า

ผู้ที่รู้จักท่านดี (ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ข้าพเจ้า) ย่อมทราบว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฯ เสด็จไปยังมหาวิหารนี้อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกครั้งก่อนจะเสด็จไปประกอบภารกิจสำคัญทางศาสนายังต่างแดน และเมื่อกลับมาก็เสด็จไปขอบพระคุณอีกครั้ง

เสด็จไปพบใคร ไปขอบพระคุณอะไร

มหาวิหารแห่งนี้ นอกจากเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโรม เก่าแก่ที่สุดในกรุงโรม และมีหอระฆังที่สูงที่สุดในกรุงโรมแล้ว ในโบสถ์นี้มีสิ่งที่เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวโรมอยู่สิ่งหนึ่งคือ La Salus Populi Romani

La Salus Populi Romani เป็นภาพพระแม่มาเรียและพระกุมารเยซู วาดลงบนแผ่นไม้ ตามตำนานเชื่อว่านักบุญลูกาวาดภาพนี้ลงบนแผ่นไม้ที่พระเยซูเป็นคนทำขึ้นมาเอง ส่วนสายวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไรนั้น ไม่บอก ไปหาอ่านเอาเอง วันนี้เราจะมาแนวนี้ ก็จะไม่ให้เสียเรื่องล่ะ

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เสด็จไป San Marcello al Corso ที่มีไม้กางเขนสำคัญของอิตาลีที่เป็น 'พระรอด' ซึ่งชาวโรมเชื่อว่าช่วยให้รอดจากภัยโรคระบาด
สันตะปาปากับ La Salus Populi Romani ภาพ : www.americamagazine.org

นอกจากเป็นภาพแทนพระแม่มาเรียที่สันตะปาปาทรงโปรดที่สุดแล้ว ภาพนี้ยังมีประวัติเกี่ยวข้องกับการระงับโรคร้ายอีกด้วย นั่นคือใน ค.ศ. 593 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 หรือที่ชาวคริสต์ออกพระนามท่านว่า ‘นักบุญเกรกอรีมหาสมณะ’ ได้แห่ภาพนี้เพื่อหยุดโรคระบาด (ตามตำนานบอกว่า เกิดปาฏิหาริย์ อัครเทวทูตไมเคิลได้ปรากฏร่างอยู่กลางหาว พร้อมด้วยดาบในมือ นับแต่นั้นโรคระบาดก็หยุด และนับแต่นั้นเป็นต้นมาเช่นกัน สุสานจักรพรรดิเฮเดรียนอันเป็นจุดที่ปรากฏร่างเทวทูตไมเคิลก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น Castel Sant’Angelo อันแปลได้ว่า ปราสาทนักบุญเทวทูต) และใน ค.ศ. 1837 สันตะปาปาเกรกอริโยที่ 16 ก็สวดภาวนากับพระรูปนี้ขอให้อหิวาตกโรคสิ้นสุดด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลที่น่าจะเพียงพอกับการที่ท่านเริ่มการ ‘จาริก’ ในวันนั้นที่โบสถ์ซันตา มาเรีย มัจโจเร ก่อน ทั้งด้วยเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของ Salus Populi Romani ทั้งด้วยเป็นสัญลักษณ์ของการออกเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจสำคัญยังโบสถ์ซัน มาร์แชลโล เพื่อสวดภาวนาขอให้โลกร้ายสิ้นสุดลงโดยเร็ว

การสวดมนต์ภาวนาอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งที่ตนเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นธรรมชาติของมนุษยชาติอยู่แล้ว ยามวิกฤตเช่นนี้ ไม่ได้มีแค่ร่างกายที่ต้องการการรักษา เยียวยา ดูแล จิตใจเองก็ต้องการการดูแลและประคับประคองไม่แพ้กัน

ทำอะไรได้ก็ทำกันเถิด 

แต่อย่าถึงกับอ่านจบแล้ววิ่งออกไปอัญเชิญหลวงพ่อวัดข้างบ้านออกมาแห่กันเลยนะ


ข้อมูลอ้างอิง 

www.lastampa.it

romanchurches.fandom.com/wiki/San_Marcello_al_Corso

th.wikipedia.org

www.romasegreta.it

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า