ครั้งหนึ่งเคยมีคำกล่าวว่า ‘โลกดนตรี’ คือเวทีที่ใช้วัดความดังของศิลปิน หากใครได้ขึ้นเวทีโลกดนตรีแสดงว่า โด่งดัง มีชื่อเสียง หรือมีเพลงฮิตเป็นที่นิยมของคนฟังเรียบร้อยแล้ว
ศิลปินมากมาย หลากยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น Royal Sprites, Grand Ex’, ชาตรี, สาว สาว สาว, คีรีบูน, อัญชลี จงคดีกิจ, คาราบาว, พุ่มพวง ดวงจันทร์, สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ มาจนถึง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์, NUVO, ไมโคร, Raptor, Moderndog และ Loso ต่างเคยมีส่วนร่วมสร้างตำนานบนเวทีแห่งนี้มาแล้วทั้งสิ้น
เพราะทุกเที่ยงวันอาทิตย์ ผู้คนหลายพันชีวิตที่เบียดเสียดกัน ยอมทนอากาศร้อน ฝ่ารถติดจากสะพานควายมายังสนามเป้า บางคนเข้าไปด้านในไม่ได้ถึงกับยอมเกาะรั้ว ปีนต้นก้ามปู เพื่อร่วมชมคอนเสิร์ตกลางแจ้ง นี่ยังไม่รวมไปถึงผู้คนอีกนับล้านที่ต่างติดขอบจอ ททบ.5 หวังเต็มอิ่มกับการแสดงของศิลปินในดวงใจอย่างใกล้ชิด
ไม่แปลกเลยว่า เหตุใด โลกดนตรี POP ON STAGE รายการเล็ก ๆ ที่ออกอากาศเพียงสัปดาห์ละชั่วโมงจึงผูกขาดครองเรตติงเป็นอันดับต้น ๆ มายาวนาน และต่อให้เลิกรายการไปร่วม 2 ทศวรรษ แต่ยังมีผู้ชมที่เปิดคลิปรับชมย้อนหลังรวมหลายร้อยล้านครั้ง
ความสำเร็จของ โลกดนตรี ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาจากมันสมองคนเบื้องหลังที่เข้าใจความต้องการของผู้ชมชาวไทยเป็นอย่างดี ตั้งแต่การคัดเลือกศิลปิน เทคนิคการเคลื่อนกล้อง การลำดับภาพ หรือการสื่อสารกับผู้ชมทางบ้านที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวน แก้ว-บุญชาย ศิริโภคทรัพย์ แห่ง 72 โปรโมชั่น ผู้บุกเบิก โลกดนตรี มาพูดคุยถึงเรื่องราวที่ไม่ธรรมดาของต้นตำรับรายการทีวีคอนเสิร์ตกลางแจ้งในเมืองไทยที่เป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมศิลปินและผู้ชมให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นมาตลอดเกือบ 30 ปี
เปิดโลกดนตรีสู่หน้าจอ
หากพูดถึงภาพจำของผู้คนที่มีต่อโลกดนตรี บุคคลแรกที่ผุดขึ้นมาในสมอง คงหนีไม่พ้น เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ โฆษกที่หยัดยืนอยู่คู่รายการมาถึง 25 ปี จนหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าเขาเป็นเจ้าของ
แต่ความจริง บทบาทของเสกสรรค์เป็นเพียงผู้ดำเนินรายการเท่านั้น เพราะผู้ที่ทำหน้าที่คิด สร้างสรรค์ทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบคือ แก้ว บุญชาย
ชีวิตของแก้วจะเรียกว่าจับพลัดจับผลูมาสู่วงการจอแก้วก็คงไม่ผิด
เดิมทีเขาต้องรับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว จำหน่ายหนังเทียม แถวถนนเสือป่า โดยหลังเรียนจบชั้นมัธยมจากเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย พ่อจึงส่งไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจที่สหรัฐอเมริกา แต่ระหว่างเรียน แก้วป่วยเป็นภูมิแพ้ ต้องหยุดเรียนกลางคันนานหลายเดือน
กระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบ ชัช ชัยบัญชา เพื่อนซึ่งเรียนที่ปีนังมาด้วยกัน ชัชจึงชวนแก้วให้มาเรียนด้านโทรทัศน์ที่ The Don Martin School of Radio and Television Arts and Sciences ด้วยกัน โดยบอกว่า พอเรียนจบจะให้ไปช่วย มิตร ชัยบัญชา พี่ชายซึ่งเป็นผู้กำกับและพระเอกหนังเบอร์ 1 ของประเทศ
“เขารู้ว่าผมชอบถ่ายรูปจึงมาชวน แต่ผมบอกไม่เอา เรียนแล้วจะไปทำงานอะไร ผมไม่ใช่คนในวงการนี้ เขาจึงบอกว่าเดี๋ยวไปอยู่กับพี่ชายกู เพราะตอนนั้นพี่เขาดังมาก ผมจึงตอบตกลง”
หากแต่การเบนเข็มครั้งนั้น แก้วไม่ได้บอกครอบครัว แถมพอกลับมาถึงเมืองไทย ได้เกิดเหตุไม่คาดคิด มิตรเสียชีวิตกะทันหันระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ อินทรีทอง ทำให้แผนชีวิตของเด็กหนุ่มพลิกผัน
“พ่อผมไม่ยุ่งเลย เพราะไม่รู้ว่าเรียนวิชาอะไร เรียนทางโทรทัศน์นึกว่าเรียนซ่อม ตอนนั้นผมไปสมัครทุกช่อง ปรากฏว่าไม่มีใครรับ เพราะเราไม่รู้จักใคร ยุคนั้นทีวีเป็นเหมือนแดนสนธยา พอดีชัชกลับมา เขาถามว่าได้งานหรือยัง ผมตอบไปว่า ให้กูไปเรียนอะไร หางานไม่ได้เลย เขาบอกว่าเดี๋ยวจัดการให้”
ครั้งนั้นชัชจึงแนะนำแก้วให้รู้จักกับผู้ใหญ่ของกองทัพบกหลายคน จนสุดท้ายได้พูดคุยกับ พล.ต.ประสิทธิ์ ชื่นบุญ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบก หรือช่อง 7 ขาวดำ (ต่อมาคือ ททบ.5)
“ท่านบอกว่าดีมาก วิชานี้คนเรียนมาน้อย แต่ไม่มีเงินจ้างนะ ไม่มีตำแหน่ง ผมก็โอเคทำให้ฟรี ไม่เอาเงินเดือน เพราะต้องการพิสูจน์กับพ่อว่า สิ่งที่เรียนมา ทำเป็นงานได้ ท่านจึงให้คนพิมพ์จดหมายระบุว่า ‘นายบุญชาย ศิริโภคทรัพย์ ขอทำงานโดยไม่รับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง’ เป็นหลักฐาน ให้ถือไปที่ฝ่ายรายการ พอไปถึง พล.ต.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายอ่านเสร็จบอกว่า ลื้อบ้าหรือเปล่า แต่ก็รับไว้”
แก้วเริ่มต้นอาชีพ เมื่อ พ.ศ. 2514 ได้ทำรายการหลากหลาย ทั้งละคร เกมโชว์ วาไรตี กระทั่งเข้าเดือนที่ 5 เวลานั้นมีชาวอเมริกันมาเช่าเวลาทำรายการ Variety Showcase เพื่อนำนักร้องฝรั่งมาร้องเพลงหวังกล่อมขวัญทหารที่ไปสู้ศึกสงครามเวียดนาม พอดีทั้งสถานีมีคนพูดภาษาอังกฤษได้จำกัด แก้วจึงได้รับโอกาสให้เป็นผู้กำกับเวที ซึ่งเขาแสดงฝีมือจนผู้ใหญ่เห็นแววมากขึ้น และบรรจุให้มาเป็นพนักงานประจำในเดือนถัดมา
“เขาลือกันทั้งสถานีว่าคนนี้มีความสามารถ เพราะเราด่าฝรั่งจนร้องไห้ บอกว่าไอ้นี่เก่ง พูดได้หลายภาษา จะบรรจุให้อยู่ฝ่ายขาย ผมบอกว่าถ้าให้ไปขายเวลา ผมขอออก เนื่องจากไม่ใช่อาชีพผม สุดท้ายเขาจึงให้อยู่ฝ่ายรายการต่อ คือตอนสมัยเรียน ผมเคยคุยกับพรรคพวกแถวริมถนน Hollywood Boulevard ว่าถ้ากลับไปผมจะต้องเป็นผู้กำกับที่ดีที่สุดในประเทศให้ได้ ดังนั้นเวลาเรียน ผมจริงจัง ถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจแหลก เพราะอาจารย์พวกนี้มาจากสถานีโทรทัศน์ดัง ๆ ในสหรัฐอเมริกากันหมด”
พอถึงช่วงปลายปี แก้วได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้กำกับรายการ ต้องควบคุมรายการตั้งแต่การแสดง มุมกล้อง ไปจนถึงเนื้อหารายการ ทำให้ได้เห็นช่องว่างบางอย่างที่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ขาดแคลนอยู่ นั่นคือ รายการดนตรีที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
เพราะเท่าที่มีอยู่มักเน้นไปยังเพลงไทยเดิมหรือเพลงลูกกรุง ศิลปินส่วนใหญ่มักวนเวียนอยู่ที่ สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร หรือ สวลี ผกาพันธ์ุ สวนทางกับยุคสมัยที่กระแสเพลงโฟล์กซอง เพลงสตริงคอมโบค่อย ๆ เริ่มเติบโต แก้วจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกเพื่อไปพบเจ้านายขอเช่าเวลาเพื่อทำรายการดนตรีที่ทันสมัยขึ้น ในชื่อ Studio7
เหตุผลที่ใช้ชื่อ Studio7 เพราะรายการจัดในห้องส่งและฉายผ่านช่อง 7 ขาวดำ เป็นรายการสดที่นำวงดนตรีสากลมืออาชีพมาแสดง ออกอากาศทุกเสาร์เว้นเสาร์ เวลาบ่าย 3 โมง สลับกับรายการ ดร.อุทิศ แนะนำดนตรีไทย แต่แก้วใช้ชื่อนี้อยู่ไม่นานจึงหันมาชื่อ Pop on Stage เหตุเพราะสถานีกำลังเปลี่ยนมาออกอากาศในระบบภาพสี และปรับหมายเลขเป็นช่อง 5
ส่วนโฆษกรายการ ครั้งแรกได้ น้อย-จินตนา ดีประวัติ สาวสวยวัย 22 ปี ซึ่งเวลานั้นเป็นโฆษกรายการเพลงอยู่หลายรายการ อาทิ Pravitra Chamber Orchestra และ Cocktail Music มารับหน้าที่ แต่ทำได้เพียงไม่กี่ครั้ง ก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องถอนตัว จนวันหนึ่งแก้วได้ฟังวิทยุรายการ Current Hit Be Love Song ทางสถานีวิทยุพล.1 FM 94 แล้วรู้สึกว่าเสียงของ เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ ผู้จัดรายการมีเสน่ห์ น่าฟัง และน่าจะมีความรู้เรื่องเพลงสากลเป็นอย่างดี จึงให้คนไปตามตัว พร้อมกับทาบทามให้มาเป็นโฆษก ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมาก เพราะเสกสรรค์ทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม จนเป็นที่จดจำของทุกคน
ความท้าทายในช่วงตั้งต้น คือการหาผู้ชมที่จะมาร่วมรายการ โดยก่อนหน้านั้นแก้วต้องใช้วิธีจ้างหน้าม้า ให้ผู้ใหญ่เพื่อนฝูงไปชักชวนลูกหลานมาร่วมสร้างความครื้นเครง จนรายการเริ่มติดตลาด จึงมีการแจกบัตร โดยให้ไปรับที่ห้างสรรพสินค้าพาต้า มีคนหนุ่มสาววัยรุ่นมาชมบรรยากาศสด ๆ กันล้นหลาม
ส่วนศิลปินที่เชิญมาร่วมแสดงนั้น หลัก ๆ แก้วใช้วิธีตระเวนราตรี ไปตามคอฟฟีช็อป ไนต์คลับ โรงแรมต่าง ๆ หรือแม้แต่ลานสเกตที่มีนักดนตรีเล่นอยู่ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นนักดนตรีจากฟิลิปปินส์ ไม่ว่าจะเป็น อาดิง ดีล่า หรือ โทนี อากีล่าร์ บิดาของนักร้องสาว คริสติน่า อากีล่าร์ และอีกคนที่ผู้กำกับจำไม่ลืมคือ เฮนรี มิเชล นักร้องอเมริกัน ซึ่งร้องเพลงร็อกได้อย่างถึงอารมณ์ พอร้องเสร็จถอดเสื้อเขวี้ยงลงมายังผู้ชม เรียกเสียงเฮดังสนั่นไปทั่วห้องส่ง
ขณะที่ศิลปินไทยนั้นมีหลายคน อาทิ สุทธิพงษ์ วัฒนจัง หรือ ชมพู ฟรุตตี้ รวมถึงวง Royal Sprites โดยศิลปินไม่ว่าทั้งไทยหรือเทศ ทางรายการไม่ได้จ้าง แต่ใช้วิธีขึ้นป้ายโปรโมตร้านให้แทน
“เวลาเราหาวงไม่ได้ คืนวันศุกร์ผมจะไปรอ Royal Sprites เล่นที่ Topper Club พอเลิกตอนตี 3 เราจะไปบอกว่า พรุ่งนี้มาออกรายการนะ ไม่มีการรู้ล่วงหน้า วันเสาร์เขาจะขนเครื่องมือต่าง ๆ มาแสดงเอง เลิก 5 โมงครึ่ง คือตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่เคยคิดว่าต้องเติบโต แค่อยากมีรายการที่จัดการเองได้ทั้งหมด Produce and Direct ในคนเดียวกัน อยากได้มุมไหน ลีลายังไงก็ไปบอกเขา
“บางทีวงที่เลือกมาอาจจะไม่ได้เล่นดีมาก แต่ถ้าลีลาดีเราโอเค เพราะต้องไม่ลืมว่าเรากำลังขายภาพ ไม่ได้ขายเสียงอย่างเดียว คนไหนที่ลีลาดี ดูแปลก พอดูเสร็จ คนจะตามไปเที่ยว ถือเป็นผลพลอยได้ของเขา เราไม่ได้อะไร ได้แต่วัตถุดิบมาออกรายการ แล้วไปหาโฆษณา ถ้าหาไม่ได้ถึงยอมเข้าเนื้อ ซึ่งถามว่าเราทำไปทำไม เพราะชอบไง”
ว่ากันว่าช่วงทศวรรษแรก แก้วแทบหาโฆษณาไม่ได้ เพราะสิ่งที่ทำนั้นขัดกับความเชื่อของบรรดาเอเจนซี่ที่มักแนะนำให้หาองค์ประกอบอื่นมาเสริม เช่น หานักแสดงตลกมาเล่นคั่นกลาง เพื่อให้รายการหลากหลายกว่านี้ แต่แก้วปฏิเสธทั้งหมด เพราะมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับดนตรี
“บางอาทิตย์ขาดทุน 400 – 500 บาท แต่ถ้าได้มักจะอยู่ราว 1,000 บาท แต่ไม่ว่ากำไรหรือขาดทุน ตกเย็นเราต้องกินข้าวที่พงหลีภัตตาคาร ซึ่งวันที่ขาดทุน พวกศิลปินจะมานั่งกันเยอะ แต่ถ้าสัปดาห์ไหนได้กำไรไม่มากัน คือเขาอยากมาให้กำลังใจเรา เป็นยุคที่เรากับสนิทศิลปินกันเยอะ เพราะไม่มีค่ายมาคั่นกลาง เวลาไปติดต่อวง วันนี้ว่างหรือเปล่า ถ้าว่างก็มาเล่น ไม่ต้องผ่านอะไรเลย วงมากันง่าย ๆ”
ถึงอย่างนั้นกระแสของ Pop on Stage ก็ค่อย ๆ ไต่ความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ยืนยันได้จากผู้ชมที่มากันเต็มห้องส่งตลอด จนบางครั้งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่นเมื่อคณะ Green Apples และ อรวรรณ วิเศษพงษ์ เจ้าของเพลง หนี้รัก มาเปิดการแสดง พอรายการจบ ปรากฏว่ามีกลุ่มวัยรุ่นออกมาตีกันหน้าสถานี แถมปาระเบิดขวด จนผู้ใหญ่ต้องสั่งยุติรายการชั่วคราว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ กระทั่งทุกอย่างเรียบร้อย จึงกลับมาออกอากาศอีกครั้ง
ไม่เพียงแค่นั้น สถานีช่องอื่น ๆ ยังเริ่มมีรายการคอนเสิร์ตรูปแบบเดียวกันตามมา อาทิ ช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ มีรายการชื่อ เสาร์สวิง ออกอากาศช่วง 6 โมงเย็นวันเสาร์ โดยมี จ้อย-กฤษฎา นาคะเสถียร เพื่อนสนิทของแก้วสมัยเรียนที่สหรัฐอเมริกา เป็นผู้กำกับรายการ ส่วนไทยทีวีสีช่อง 9 มีรายการ เสาร์สนุก สร้างสรรค์โดย วิเชียร อัศว์ศิวะกุล ซึ่งภายหลังได้ก่อตั้งค่ายเพลง นิธิทัศน์ โปรโมชั่น
ต่อมาเมื่อปลาย พ.ศ. 2519 พล.ต.ประทีป ชัยปาณี หัวหน้าฝ่ายรายการของช่อง 5 มีนโยบายให้ทุกรายการในสถานีต้องใช้ชื่อเป็นภาษาไทย ส่งผลให้ Pop on Stage ต้องเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง ดุลยวิทย์ ราชวงศ์ ฝ่ายศิลป์ของช่อง 5 จึงเสนอชื่อ โลกดนตรี แทน ซึ่งทุกคนเห็นด้วย แต่เพื่อให้ผู้คนทราบว่า โลกดนตรี กับ Pop on Stage เป็นรายการเดียวกัน แก้วจึงยังคงชื่อภาษาอังกฤษไว้ด้วยกัน
นับตั้งแต่นั้น โลกดนตรี ก็กลายเป็นชื่อรายการที่ติดหูผู้ชมชาวไทยจนถึงปัจจุบัน
โปรแกรมของซูเปอร์สตาร์
“เราไม่เคยสร้างวง สร้างศิลปิน เราแค่เสริมให้เขามีโอกาสดังขึ้น โลกดนตรีเราทำตามผู้ชม คุณอยากดูวงอะไรเราหามา วงไหนดัง กำลังดัง หรือมีเค้าว่าจะดัง เราไปเชิญมาหมด”
ในช่วง พ.ศ. 2520 กระแสเพลงไทยเริ่มเข้ามาแทนเพลงสากล ศิลปินรุ่นใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อคนฟังเพลง ค่ายเพลงต่าง ๆ เริ่มปรากฏมากขึ้น ทั้ง EMI, Azona, รถไฟดนตรี และบูมสุดขีดในยุคที่มี นิธิทัศน์ โปรโมชั่น, RS Sound, Grammy Entertainment และ KITA เพราะฉะนั้น แทนที่จะตระเวนตามหาศิลปินตามสถานบันเทิงต่าง ๆ แก้วจึงหันมาติดต่อกับค่ายเพลงแทน
หลักการคัดเลือกศิลปินที่มาแสดงในโลกดนตรีนั้นต้องไม่ใช่ศิลปินที่เพิ่งวางแผง แต่ต้องมีเพลงดังพอที่จะดึงดูดผู้ชมได้ ไม่อย่างนั้นหากประกาศออกไปแล้ว คนไม่รู้จัก ไม่ติดตาม สุดท้ายคนก็ไม่มารับชม ซึ่งเท่ากับเป็นการฆ่าศิลปินไปในตัว และมากกว่านั้น คือพอผู้ชมน้อย เรตติงของรายการย่อมลดลงตามไปด้วย ถือว่าเสียหายกันทุกภาคส่วน
“วิธีคิดของผมคือไม่ต้องมีอัลบัมใหม่ก็ออกได้ เพราะคนฟังไม่ได้สนใจอัลบัมใหม่หรือเก่า เขาสนใจเพลงสนใจศิลปิน เขาถูกใจเขาก็มา แต่ค่ายจะมองอีกแบบว่า ยังไม่มีเพลงใหม่ ยังไม่มาแล้วกัน ซึ่งไม่จำเป็น สิ่งที่ควรจะทำคืออย่าให้เขาลืม 6 – 8 เดือนออกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ออกอัลบัมหนึ่งแล้วหายไปเป็นปี คุณต้องทำให้เขาเห็นตัวว่ายังอยู่นะ วันนี้ยังไม่มีอัลบัม แต่อยากมาเจอแฟนเพลงหรือมาบอกว่ากำลังทำอยู่นะ แต่สิ้นปีได้ฟังแน่ ถือเป็นการสื่อสารกับผู้ฟัง โดยใช้สื่อเราให้เป็นประโยชน์
“และเวลาออกอัลบัมใหม่ อย่าเริ่มร้องจากเพลงใหม่ คนไม่รู้จัก เปิดด้วยเพลงที่เคยดัง จากนั้นถึงเอาเพลงใหม่มาแทรกตรงกลาง บางทีเรื่องแบบนี้ต้องสอนค่ายด้วย เพราะคิดแต่การค้า แต่ต้องเรื่องคิดเรื่องเอนเตอร์เทนด้วย ทำยังไงให้ผู้ชมไม่เบื่อ อย่างคนหนึ่งที่เราขอแล้ว มาทุกครั้งคือ จั๊ว (เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ผู้ก่อตั้ง RS) เขาพูดกับผมว่า ถ้าไม่มีคนบอกได้เลยนะ นี่คือวิธีคิดที่ถูกต้อง”
เพราะเหตุนี้ เวที โลกดนตรี จึงมีศิลปินชื่อดังมากมายแวะเวียนมาไม่ขาดสาย หลายคนที่ดังในระดับหนึ่ง แต่พอมาออกยิ่งดังระเบิด เทปเพลงเกลี้ยงแผงภายในวันเดียว จนต้องสั่งปั๊มเพิ่มแทบไม่ทัน หรือศิลปินบางวงเดิมทีไม่เคยคิดว่าตัวเองมีแฟนคลับมาก่อน จนมาขึ้นเวทีโลกดนตรี แล้วได้เห็นคลื่นมหาชนมารอรับเต็มไปหมด ถึงขั้นเกือบเข้าห้องส่งไม่ได้
ปัญหาคือพอศิลปินยิ่งดัง ผู้ชมยิ่งมากตามไปด้วย แต่ห้องส่งรับรองคนได้เพียง 500 – 600 คนเท่านั้น เหตุการณ์แรกที่เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2524 เมื่อคณะ Grand Ex’ ซึ่งกำลังโด่งดังสุดขีดจากอัลบัม Grand XO มาเปิดการแสดง ซึ่งวันนั้นมีผู้ชมเดินทางเข้ามาชมที่วิกสนามเป้าจนล้นทะลัก ควบคุมไม่ได้จนต้องเปิดประตูห้องส่ง
จากนั้นพอวันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 ถึงคิวของวงฟรีเบิร์ดส แห่งค่ายรถไฟดนตรี เจ้าของเพลง คอย ผลปรากฏว่าแฟนเพลงวัยรุ่นต่างเดินทางมาให้กำลังใจศิลปินในดวงใจอย่างเนืองแน่น จนที่นั่งไม่เพียงพอ คนทะลักขึ้นเวที กระทั่งวงเล่นต่อไม่ได้ ต้องหยุดออกอากาศในนาทีที่ 39
ในเวลานั้นแก้วยังไม่มีแผนสำรองว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร กระทั่งเมื่อวงชาตรี มาเปิดคอนเสิร์ตในวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2526 ซึ่งข้อมูลจากค่ายระบุว่าวงนี้เป็นที่นิยมในหมู่แฟนเพลงต่างจังหวัดมาก แก้วจึงตัดสินใจย้ายเวทีจากห้องส่งมาตั้งเวทีกลางแจ้งครั้งแรก บริเวณลานจอดรถหน้าสถานี ซึ่งจุคนได้เรือนหมื่นชีวิต
“ทาง EMI ขอมาออก เราไม่รู้จักหรอก เพราะแต่ก่อนวงต้องชื่อฝรั่ง แต่อันนี้ชื่อไทย แถมโลโก้ยังเป็นยันต์ เป็นอักขระอีก แต่เขาบอกว่าพวกนี้มันป่าล้อมเมือง ดังมาก คือเป็นเด็กเทคนิคกรุงเทพ แต่ไปเดินสายตามต่างจังหวัด ไม่เคยเข้ามาเล่นในเมือง ผมจึงบอกว่า ถ้าดังขนาดนั้น ห้องส่งคงไม่ไหว ให้ไปเล่นที่สนามหญ้าแล้วกัน ผลปรากฏว่า พอวันจริง ผมขึ้นไปอยู่ที่ชั้น 4 มองลงมาที่สนามหญ้า แทบไม่เห็นหญ้า เห็นแต่หัวดำเต็มไปหมด”
หลังเสร็จสิ้นคอนเสิร์ตชาตรี โลกดนตรี ก็กลับมาจัดในห้องส่งอีกครั้ง และคราวนี้มีเหตุที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์เพลงไทย เมื่อ สาว สาว สาว นำเพลงฮิตอย่าง ประตูใจ และ รักคืนฝันไป มาขับกล่อมทุกคนในวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2526 มีแฟนเพลงจำนวนมหาศาลเบียดเสียด พยายามเข้ามาในห้องส่งให้ได้ จนประตูด้านหน้าพัง ทรัพย์สินทางราชการ ทั้งกระจก กล้อง และเปียโนต่างเสียหาย สมาชิกในวงต่างยืนตัวสั่น จน สุดา ชื่นบาน แม่ของ แหม่ม-พัชริดา วัฒนา ต้องถือโทรโข่งบอกให้ผู้ชมบางส่วนกลับไปรับชมที่บ้าน และส่งผลให้สัปดาห์ถัดมาแก้วต้องยอมสร้างเวทีชั่วคราวบริเวณโรงอาหารแทน
แม้ระหว่างทางจะมีอุปสรรคให้ต้องจัดการ แต่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนถึงความนิยมที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ของโลกดนตรีได้เป็นอย่างดี จนหยุดภาวะขาดทุนสะสมตลอด 13 ปีได้สำเร็จ
ช่วงนั้นเองที่แก้วและทีมงาน 72 โปรโมชั่น ตัดสินใจเนรมิตเวทีใหม่บริเวณหลังอาคารห้องส่งของ ททบ.5 ด้วยงบประมาณกว่า 500,000 บาท เรียกสถานที่นี้ว่า ‘ลานโลกดนตรี’ จุคนได้มากกว่า 3,000 คน โดยเริ่มต้นประเดิมเทปแรก ในวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2527 โดยมีวง Pink Panther, วง Cache, วง Hot to Trot และ นันทิดา แก้วบัวสาย มาประเดิมเวที พร้อมกันนั้นดุลยวิทย์ ฝ่ายศิลป์คู่บุญของแก้วยังทำโลโก้รายการให้ใหม่ เป็นรูปโลกและมีผีเสื้ออยู่บนคำว่าโลกดนตรี ให้ความหมายว่า เสียงเพลงเป็นสิ่งที่หอมหวนเหมือนกับดอกไม้ ซึ่งกลายเป็นภาพจำเรื่อยมาจนวันนี้
“วันเปิดเวที เราดูฤกษ์ดูยามโดยถาม อาจารย์สมจินต์ ธรรมทัต ว่าเล่นกี่โมงดี คืออาจารย์แกจะตามดูฤกษ์ให้ตลอด เราจึงไม่เคยกลัวคู่แข่ง อย่างตอนมีรายการ คอนเสิร์ตติดแอร์ คอนเสิร์ตแดดเดียว เราก็ถามอาจารย์ แกบอกว่าอยู่ไม่นาน เพราะฤกษ์ไม่ดี ซึ่งเขาก็อยู่ได้ไม่กี่ปีจริง ๆ ส่วนตอนที่เปิดลาน แกให้ฤกษ์ตอน 12.19 น. แต่อีก 2 วันโทรมาบอกว่า 12.09 น. ให้ตีกลองดัง ๆ แล้วให้วงเล่นทันที ซึ่งวันนั้นฝนตก แต่ตกแค่วันเดียว จากนั้นไม่เคยตกอีกเลย”
ผลพวงจากความโด่งดังของโลกดนตรี ส่งผลให้บรรดาค่ายน้อยใหญ่ต่างวิ่งเข้าหาเพื่อฝากฝังศิลปินในสังกัด บางครั้งถึงขั้นยอมเสนอเงินทอง พาไปเลี้ยงดูปูเสื่อ แต่แก้วเลือกที่จะปฏิเสธ โดยยึดหลักการเดิมว่า ถ้าอยากขึ้นก็ไปหาวิธีทำให้ศิลปินมีกระแสเสียก่อน เช่นอาจพาไปขึ้นเวทีของรายการอื่น หรือโปรโมตผ่านรายการวิทยุต่าง ๆ
แม้แต่ ไมโคร วงเด็กปั้นของเสกสรรค์ โฆษกรายการ ยังไม่มีโอกาสขึ้นเวที กระทั่งผลงานชุดแรก ร็อค เล็ก เล็ก ประสบความสำเร็จในวงกว้าง แต่ก็มีบางคนที่ตามตื๊อหนัก จนแก้วต้องยอมตามใจเพราะอยากให้เพื่อนร่วมวงการได้เรียนรู้ ซึ่งบางรายประสบความสำเร็จ แต่มีไม่น้อยที่ล้มเหลว เช่น วงหนึ่งที่วางคอนเซปต์ให้ศิลปินสวมถุงคลุมหน้าขึ้นเวที ครั้งนั้นแก้วพยายามทักท้วงว่าเหมือนขายของแต่ไม่ยอมให้เห็นสินค้า โอกาสโด่งดังค่อนข้างลำบาก ซึ่งผลลัพธ์นั้นเป็นไปตามคาด คือไม่มีกระแส ยอดขายเทปไม่เดิน วงจึงปิดฉากไปอย่างรวดเร็ว
“วงที่มีศักยภาพ เราไม่ปล่อยให้หลุดมือหรอก แต่มีบางวงที่ขอมาออก ผมไม่ยอมให้ออก เพราะไม่มีกระแส เช่น NUVO ชุดแรก ตอนนั้นเทปเริ่มคืน เขาจึงมาขออีก พร้อมกับบอกว่าเดี๋ยวจะทำให้เกิดเอง ผมไม่รู้หรอกว่าจะทำอะไร แต่ก็ตอบตกลง พอถึงวันจริง เขาไปเอานางแบบมานั่งเต็มลาน กลายเป็นกระแสว่าแม้แต่นางแบบยังมานั่ง แล้วเวลาถ่ายเราก็เจาะเข้าไป จากนั้น NUVO เกิดเลย”
แต่ในทางกลับกัน หากวงไหนที่ต่อให้ไม่ดังมาก แต่แก้วเห็นแววจะประสบความสำเร็จ เขาก็พร้อมผลักดันเต็มที่ เช่น ในช่วงที่ โลกดนตรี เดินสายมาเชียงใหม่เพื่อเปิดสถานีส่งสัญญาณของช่อง 5 อาจารย์สมเกียรติ สุยะราช ครูโรงเรียนพุทธิโสภณก็มาขอร้องให้วงดนตรีเด็กชาวเขาชื่อว่า นกแล มีโอกาสได้ขึ้นเวทีด้วย แก้วก็ยอมให้แสดงในช่วงก่อนออกอากาศ เป็นวงเปิดให้ Pink Panther
แต่พอได้ฟังเนื้อร้อง นกแลก็คือนกแก้ว เสียงแจ้วแจ้วบินมาเร็วไว แก้วรู้สึกประทับใจ ยิ่งมาบวกกับการแต่งกายที่แปลกตา ทำให้เกิดไอเดียว่าหากส่งเสริมดี ๆ มีสิทธิดังได้เหมือนกัน แถมวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ยังมาทำข่าวเรื่องนี้อีกต่างหาก ดังนั้น ในงานวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2529 แก้วจึงชวนวงนกแลมาขึ้นเวทีชั่วคราวสวนลุมพินี ซึ่งทันทีที่จากแสดงเสร็จเรียบร้อย ทางค่าย GMM Grammy ก็ส่งรถมารอรับและพาเหล่าสมาชิกไปเซ็นสัญญา จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ ไอ้หนุ่มดอยเต่า ที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนมาเกือบ 40 ปี
ปณิธานหนึ่งของแก้ว คืออยากให้ โลกดนตรี เป็นเวทีที่เปิดกว้าง โดยไม่จำกัดว่าจะค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ หรือเพลงแนวไหน อย่างตำนานศิลปินเพื่อชีวิต คาราบาว ถือเป็นขาประจำที่เวลาออกผลงานใหม่ก็ต้องมาโปรโมตที่นี่เป็นแห่งแรก หรืออย่างสุดยอดนักร้องเพลงลูกกรุง สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธุ์, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ต่างเคยมาขึ้นลานโลกดนตรีเหมือนกัน
“เรานำศิลปินเหล่านี้มาถึงเวทีในวันที่โลกดนตรีฮอตที่สุด แน่นอนว่าคนที่ลานมาน้อยมาก แต่ผมต้องการให้เด็กรู้ว่านี่คือต้นแบบของเพลง เพราะศิลปินใหม่ก็เอาเพลงของท่านเหล่านี้มาร้อง แต่ไม่รู้ว่าต้นฉบับเป็นใคร อีกอย่างคือผมได้แฟนเพลงรุ่นใหญ่ที่เป็นรุ่นพ่อแม่มากขึ้น เพราะเขานั่งรับชมอยู่ที่บ้าน”
แต่ที่ถือเป็นมิติใหม่ของวงการ คือการนำศิลปินลูกทุ่งมาขึ้นฟรีคอนเสิร์ตได้สำเร็จ โดยคู่แรกคือ ศรชัย เมฆวิเชียร กับ ศิรินทรา นิยากร จากนั้นตามด้วย พุ่มพวง ดวงจันทร์
“ก่อนหน้านั้นเราตามทุกวง แต่ไม่มีใครยอมออก ทุกคนกลัวเสียภาพลักษณ์ กลัวว่ามาแล้วจะไม่มีใครไปดูที่วิก แต่เผอิญว่าศรชัยกับศิรินทราเป็นวงใหม่ จึงยอมมาออก ตอนนั้นลือกันว่าผมหมดปัญญา หาวงสตริงไม่ได้ ซึ่งผมไม่สนใจ เพราะนี่คือความต้องการที่จะหักมุม ให้รู้ว่านี่คือโลกดนตรี จากนั้นผมก็เอาหมอลำมาออก พรศักดิ์ ส่องแสง ถือเป็นคนที่ร้องเพลงในรายการมากสุด 14 เพลง เพราะยุคนั้นยังพูดไม่เป็น ก่อนหน้านี้เขาขอมาออกเหมือนกันแต่ผมไม่ให้ ทางค่ายจึงบอกว่าคนนี้ดังมาก จึงยอมเสี่ยง วันที่มาออกหลังลอยกระทงวันหนึ่ง คนเต็มลานไปหมด ผมลงไปเดิน เชื่อไหมเสียงในฟิล์มทั้งนั้น พูดอีสานกันหมด
“ความจริงผมยังมีอะไรที่ตั้งใจจะทำอีกเยอะ เช่นอยากนำเพลงแจ๊ส อยากนำวงออร์เคสตราวงใหญ่ขึ้นเวที แต่ไม่ใช่ออร์เคสตราอย่างเดียวนะ ต้องผสมผสาน เช่นเอาเบิร์ดมาร้องด้วย ซึ่งจะได้ทั้ง 2 ฝ่าย คือศิลปินได้แสดงความสามารถ ส่วนออร์เคสตราเองก็ได้เกิด คนรู้จักมากขึ้น ได้รู้ว่าเขาเล่นเพลงพวกนี้ได้เหมือนกัน เพราะคนเพิ่งมาทราบไม่กี่ปีนี้เองว่าพวกไวโอลินเล่นเพลงป๊อปได้สนุก”
แน่นอนว่าทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากแก้วไม่ได้ยึดหลักการที่ว่า ‘ผู้ชมสำคัญที่สุด’
ดังนั้น ต่อให้ช่วงหลายปีที่ทำรายการจะมีข้อครหามากมายเกิดขึ้น ทั้งเรื่องรับเงินรับทอง เอนเอียงเข้าข้างค่ายเพลงบางค่าย หรือแม้แต่วางแผนจะทำค่ายเพลงของตัวเอง แต่แก้วเลือกที่จะปล่อยผ่าน ไม่เคยนำมาใส่ใจ เพราะสำหรับเขาแล้ว ความจริงคือความจริง
“เรากลัวอนาคต เพราะถ้าคุณรับเงินวันนี้ อนาคตคุณจะสั้น คุณจะถูกประเมินจากทุกคน เดินไปไหนมาไหน ต้องคอยหลบ หรือวันดีคืนดี ลูกผมไปสมัครงานตามค่ายเหล่านี้ เขารู้ว่านี่คือลูกไอ้แก้ว อย่าไปรับมัน เมื่อก่อนเคยไถเรา บาปไปลงที่เด็ก แต่วันนี้เจอผู้บริหารค่ายต่าง ๆ ก็ทักทายได้ว่าเป็นไงบ้าง
“ที่ผ่านมาเราทำให้ค่ายรวยเยอะแยะ แต่ไม่เคยทวงบุญคุณใคร หรือเวลาจัดคิว 4 สัปดาห์ เราพยายามเฉลี่ยให้แต่ละค่าย แต่ผมจะบอกก่อนว่า ถ้ามีวงที่กระแสแรงกว่า ขอเปลี่ยนนะ เนื่องจากผมไม่ได้อะไรจากคุณนี่ คุณก็ไม่ได้อะไรจากผม คือ โลกดนตรี มีความขลังของมัน ค่ายเชื่อถือ วงเชื่อถือ ดังนั้น ต่อให้คนจะใส่ไฟว่าอะไร เราไม่สนใจ เพราะอนาคตจะบอกทุกอย่างเอง”
จิตวิญญาณของรายการดนตรีสด
แม้จะเป็นผู้ผลิตรายการแสดงดนตรีสด แต่ในชีวิตจริง แก้วกลับไม่เคยชอบไปชมคอนเสิร์ตใด ๆ เนื่องจากเขาอยากเห็นสีหน้าของนักร้องนักดนตรีชัดเจน สำหรับเขา การรับชมการแสดงสด ๆ หน้าเวทีนั้น ให้อารมณ์สู้การเปิดผ่านหน้าจอโทรทัศน์ไม่ได้
แก้วจึงเข้าใจความต้องการของผู้ชมทางบ้าน และอยากให้ทุกคนได้รับอรรถรสที่เต็มอิ่มเหมือนกัน ดังนั้น ต่อให้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลง แต่ โลกดนตรี ก็ยังคงคอนเซปต์เดิม คือเป็นรายการสด ไม่บันทึกเทปไว้ก่อน ไม่มีการลิปซิงก์เด็ดขาด รวมทั้งเน้นเล่าภาพด้วยมุมกล้องที่แปลกใหม่ เช่น การให้วงดนตรีฟิลิปปินส์ปะทะกับวงไทยดวลกันเพลงต่อเพลง พอวงหนึ่งเล่นจบ กล้องก็หันไปจับอีกวงทันที หรือการให้ศิลปินพูดคุยกับผู้ชมผ่านกล้อง โดยนัดแนะไว้ก่อนว่า ต้องหันไปมองทางกล้องไหน
“ความสดมันมีอารมณ์ มันชัดเจน เริ่มและจบ ทุกอย่างต้องออกมาจากคนเล่น พอเป็นเทปจะติดนู่นติดนี่ ถ้าสดคุณกลั่นกรองจากสมอง จิตวิญญาณของรายการสดมันจริงใจ มันเดินไปด้วยกันทุกอย่าง มันมีชีวิต อะไรที่ Real Time มันน่าดูแน่นอน”
ด้วยเหตุนี้ โลกดนตรี จึงใช้กล้องมากกว่ารายการอื่น ถึงขั้นที่แก้วบอกว่า “ผมเป็นคนแรกที่ใช้กล้องเปลืองมากที่สุดในประเทศไทย” เนื่องจากสมัยที่รายการยังอยู่ในห้องส่ง ช่อง 5 จะให้โควตากล้อง 2 ตัว แต่ โลกดนตรี ขอใช้ 3 – 4 ตัว และพอย้ายออกมาด้านนอกก็เพิ่มกล้องขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงสุดถึง 12 กล้อง เพื่อจะได้รับรองครบถ้วนทุกมุม เนื่องจากศิลปินบางคน เช่น อัญชลี จงคดีกิจ มีพลังเหลือเฟือวิ่งได้ทั่วเวที จึงต้องมีกล้องที่พร้อมรองรับตลอดเวลา เช่นเดียวกับเวลาร้องเพลงช้า กล้องต้องคอยจับสีหน้าท่าทาง เพราะราชินีเพลงร็อกผู้นี้สื่อสารความเศร้าผ่านทางสายตาได้ ทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์คล้อยตามไปด้วย
เพราะฉะนั้น ก่อนวันแสดงจริง โลกดนตรี จะนัดซ้อมล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้แต่ละค่ายเพลงมาเซตฉากหลังเพิ่มเติมตามไอเดียที่วางไว้ รวมถึงให้ศิลปินมาทดลองแสดง เพื่อจะหามุมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการถ่ายทำ
“ใครจะมาซ้อมหรือไม่ก็ได้ ไม่มาผมไม่ว่าอะไร แต่ถ้ามาซ้อมคุณก็ได้เปรียบ เพราะผมจะรู้ว่าเล่นยังไง บางครั้งเราใช้วิธีถามพวกค่ายเพลงหรือโปรดิวเซอร์ว่าศิลปินคุณมีอะไรเด่น วันนี้อยากโชว์อะไร บอกมาเราจะได้รู้ แต่ก็มีบางคนที่นั่งประกบเราแล้วคอยบอกว่า พี่ตัดตรงนี้สิ จนผมต้องบอกว่าไม่ได้ทำมิวสิกวิดีโอ ผมทำคอนเสิร์ต ไม่ต้องซอยเยอะ คือบางครั้งเราก็ต้องสอนเขาเหมือนกันว่าจังหวะนี้ต้องเจาะกีตาร์โซโล จากนั้นรอสักพักก่อน แล้วโยกไปถ่ายกลอง ความจริงผมนับห้องดนตรีไม่เป็นหรอก อ่านโน้ตก็ไม่เป็น แต่ผมใช้อารมณ์”
อีกเทคนิคที่โลกดนตรีบุกเบิก คือการถ่ายกล้องเอียง 45 องศา หรือการควงกล้อง ออกแบบโดย วินัย ปฐมบูรณ์ ตากล้องเบอร์หนึ่งของ 72 โปรโมชั่น ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นช่างภาพและผู้กำกับมือรางวัลทั้ง สุพรรณหงส์ โทรทัศน์ทองคำ และนาฏราช
“วินัยชอบมีมุมภาพแปลก ๆ มานำเสนอ เพราะเขาประจำอยู่บนเครน โดยภาพที่เขาส่งมาเอง ผมไม่เคยได้บอก แต่มันแปลกใหม่ น่าสนใจ และจับอารณ์ได้ เช่นการเอียงกล้อง ซึ่งหลักการคุณจะเอียงได้ไม่เกิน 45 องศา ถึงค่อยกลับมา ไม่ใช่หมุนแหลก แบบนั้นผู้ชมเวียนหัวตาย หรือเวลาถ่ายนักดนตรีลีดกีตาร์ ก็ต้องถ่ายให้เห็นภาพกีตาร์แน่น ๆ เต็มจอ จากนั้นซูมออกให้เห็นหน้าคนเล่นทั้งเฟรม”
นอกจากเรื่องภาพที่โดดเด่น อีกองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ คือโฆษกที่ช่วยทำให้รายการไหลลื่นเป็นธรรมชาติ ซึ่งเสกสรรค์ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งน้ำเสียง คำพูด และลูกล่อลูกชน
ตลอดเวลาที่ โลกดนตรี ออกอากาศทางช่อง 5 เสกสรรค์แทบไม่เคยขาดงาน เว้นแต่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เนื่องจากเขากลัวการนั่งเครื่องบิน ซึ่งแก้วแก้ปัญหาด้วยการให้นักดนตรีแนะนำตัวเองหรือไม่ก็อัดเสียงเสกสรรค์ไว้ก่อน เฉพาะช่วงแนะนำศิลปิน บัดนี้ขอเชิญพบกับวง… เพื่อไปปล่อยช่วงออกอากาศ รวมถึงเตรียมโฆษกสำรอง อย่างเมื่อคราวที่ โลกดนตรี ถ่ายทอดการแสดงของวงคาราบาวจากสหรัฐอเมริกา ก็ได้ หมู-ประภัทร์ ศรลัมพ์ มาทำหน้าที่แทน จนคนมักเข้าใจผิดว่าหมูเป็นเสกสรรค์ เพราะหน้าตาคล้ายกันเหลือเกิน
“ผมไม่เคยรู้จักเสกสรรค์มาก่อน แต่พอมาทำงานด้วยกัน ทุกอย่างง่ายมาก เพราะไม่ต้องบอกอะไรเขาล่วงหน้า พอถึงเวลา เขามาเอง 15 – 30 นาทีก่อนเริ่มรายการ ผมแค่บอกว่า วันนี้ต้องพูดเรื่องนี้นะ จากนั้นเขาจัดการเอง เพราะวงดนตรีต่าง ๆ เขารู้จักอยู่แล้ว และทุกวงให้ความเคารพเขา พอถ่ายเสร็จ เขาก็กลับ ผมไม่เคยนั่งกินข้าวกับเขาสักครั้ง ชวนก็ไม่มาเพราะความชอบต่างกัน แต่เรารับกันได้ ไม่มีอีโก้ว่าคุณไม่เคารพผม เรียกแล้วไม่ยอมมา ถึงทำให้เราอยู่ด้วยกันได้นาน”
จากปัจจัยต่าง ๆ ทั้ง ศิลปินที่กำลังโด่งดัง โปรดักชัน และเทคนิคการถ่ายทำที่เข้าใจความต้องการของผู้ชม ตลอดจนผู้ดำเนินรายการที่มากฝีมือ ส่งผลให้มีแฟนคลับที่ติดตามเหนียวแน่น ต่อให้โยกเวลาจากบ่าย 3 โมงวันเสาร์ มาเป็น 10 โมงครึ่ง เที่ยงครึ่ง หรือเที่ยงตรงวันอาทิตย์ก็ตาม
แต่มากกว่านั้นคือหลายคนถึงขั้นยอมออกจากบ้านเพื่อรับชมถึงสถานที่จริง ซึ่งทางรายการเตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัยเต็มที่ ไม่มีการยกพวกตีกันอย่างแน่นอน
“เวลาคาราบาวมาเล่น ผู้ชมบางคนพกปืน พกมีดมาด้วย เราให้เข้านะ แต่จะยึดอาวุธไว้ก่อน ให้บัตรไว้ พอเลิกค่อยกลับมาเอา คือเราต้องให้ความสำคัญกับผู้ชม ไม่อย่างนั้นเขามาครั้งเดียวแล้วไม่มาอีก หรืออย่างผู้หญิงเราดูแลเป็นพิเศษ มี รปภ. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างกรมทหาร คอยสอดส่อง มองลงมาใครล้วงกระเป๋า เราจับเลย หรือใครที่ดุ ๆ เป็นหัวโจกหน่อย เราก็เชิญไปสัมมนาหลังเวที 10 นาทีถึงค่อยปล่อยมา กำชับว่าไปบอกเพื่อนด้วยว่าอย่ามีปัญหา นั่งดูไป ถ้าจะตีกันไปตีข้างนอก ตอนหลัง รปภ. กับพวกที่จะตีกันก็กลายเป็นเพื่อนกันหมด
“อย่างห้องน้ำก็เหมือนกัน เราลงไปตรวจสอบว่าไม่มีกลิ่น ไม่สกปรก สมัยนั้นเคยมีนิสิตนักศึกษามาสำรวจทำวิทยานิพนธ์ พบว่าเกือบทุกคนมาเวทีเราแล้วถูกใจ โดยเฉพาะผู้หญิงชอบมาก ที่สำคัญคือไม่มีใครเคยบอกว่าเราเป็นแหล่งมั่วสุม มีแต่บอกว่าเราสร้างอาชีพ เพราะแต่ละสัปดาห์จะมีร้านค้ามาขายของเต็มไปหมด สร้างงานสร้างรายได้เป็นประจำทุกอาทิตย์”
ไม่เพียงแค่นั้น แก้วยังพยายามสร้างความมีส่วนร่วมกับผู้ชม ด้วยการตั้งตู้รับบริจาค เพื่อนำเงินไปซื้อตู้ยาแจกจ่ายให้โรงเรียนตามชนบท เนื่องจากสมัยก่อนระบบสาธารณสุขในเมืองไทยยังไม่ดี ยาสามัญประจำบ้านค่อนข้างหายาก ซึ่งผลปรากฏว่าแฟนๆ ต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ได้รับเงินมากถึงครั้งละ 2,000 – 3,000 บาททีเดียว แจกตู้ยาได้มากกว่า 1,000 โรงเรียน
อีกภาพจำหนึ่งที่อยู่คู่รายการมานานคือ นิตยสารโลกดนตรี ซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือหรือสูจิบัตรสำหรับรับชมรายการ โดยแจกจ่ายให้กับแฟน ๆ ทุกคนที่มายังลานโลกดนตรี
เดิมทีนิตยสารนี้ชื่อ โดเรมี ตั้งขึ้นเนื่องจากวงชาตรีอยากทำนิตยสารของตัวเอง แก้วจึงแนะนำผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ EMI ให้รู้จักกับ อาจารย์มานพ แย้มอุทัย ลูกน้องเก่าซึ่งไปเป็นอาจารย์ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังพูดคุยกันสักพัก อาจารย์มานพจึงตอบตกลงมาเป็นผู้ดูแลการผลิต แต่มีข้อแม้ว่า เนื้อหาจะไม่ได้พูดถึงแค่วงชาตรีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงข่าวสารต่าง ๆ ในแวดวงเพลง ซึ่งทางวงไม่ขัดข้อง โดยหลังวางแผงปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถึงขั้นเคยจัดสำรวจนักร้องและวงดนตรียอดนิยม เมื่อ พ.ศ. 2526 แล้วมีผู้ส่งบัตรลงคะแนนกลับมามากถึง 38,105 ฉบับ แต่เสียดายที่สุดท้าย โดเรมี อยู่แค่ปีเศษ วงชาตรีก็ประกาศเลิกวง และแสดงคอนเสิร์ตปิดท้าย ณ ลานโลกดนตรี ในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2528
เมื่อนายทุนเลิก บรรณาธิการจึงปรึกษากับแก้ว และตัดสินใจแปลงร่าง โดเรมี มาเป็น นิตยสารโลกดนตรี โดยยังคงคอนเซปต์เดิม แต่เพิ่มโปรแกรมของรายการในเดือนนั้นว่าจะมีศิลปินคนใดมาออกรายการ แต่พอไปสักระยะ รายได้ไม่เข้าเป้า ทีมงานจึงเปลี่ยนแผน แทนที่จะขายก็หันมาแจก โดยให้บรรดาค่ายเพลงและบริษัทเทปต่าง ๆ ร่วมลงขัน ซึ่งนิตยสารฉบับนี้นอกจากเป็นของชำร่วยที่อยู่ในความทรงจำของแฟนเพลง ยังถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวงการดนตรีไทยอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้ โลกดนตรี กลายเป็นรายการในตำนานที่ไม่ว่าจะเปิดรับชมใน พ.ศ. ใดก็ยังเต็มอิ่มเสมอ เพราะทุกอย่างถูกกลั่นกรองและรังสรรค์อย่างพิถีพิถันมาตั้งแต่ต้นแล้ว
ตำนานฟรีคอนเสิร์ตที่ไม่เคยตาย
งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา โลกดนตรี ที่ปักหลักอยู่ที่ ททบ.5 มานานกว่า 25 ปี ก็ต้องมาถึงวันสิ้นสุดเช่นกัน
เรื่องเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2536 เมื่อแก้วเบื่อหน่ายชีวิตพนักงานประจำของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกแห่งนี้ หลังมีการปรับโครงสร้างผู้บริหารสถานีจากกรมสื่อสารทหารบกมาเป็นกรมกิจการพลเรือนทหารบก เขาจึงขอลาออก แต่ยังคงผลิตรายการต่อไป
กระทั่ง พ.ศ. 2539 แก้วได้รับเชิญจากหุ้นส่วนยุคเริ่มต้นคนหนึ่งของ ITV อยากให้ไปช่วยตั้งไข่สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ครั้งแรกแก้วปฏิเสธเพราะไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร แต่อีกฝ่ายไม่ลดละความพยายาม ขอให้ไปช่วยสัก 3 ปี เขาจึงใจอ่อน ตอบรับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการผลิต
เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นข้ออ้างให้ผู้บริหารวิกสนามเป้า ปลด โลกดนตรี จากผังรายการ ด้วยเหตุผลว่าผลประโยชน์ขัดกัน โดยให้ออกอากาศเทปสุดท้ายในวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2539 จากนั้นช่อง 5 จึงเริ่มผลิตรายการของตัวเอง ชื่อว่าคอนเสิร์ตทีวี 5 ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลาบ่ายโมง
ขณะที่ โลกดนตรี นั้นขยับไปออกอากาศช่วงบ่ายโมงวันอาทิตย์ ทาง ITV โดยใช้ลานอเนกประสงค์ อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว เป็นสถานที่จัดแสดง พร้อมได้ สัจจะ ไวทยะมงคล มารับหน้าที่โฆษกแทนเสกสรรค์ที่ขอวางมือ ก่อนที่ปีถัดมาจะได้ ดีเจท็อป-ศราวุธ พลอยประดับ มารับช่วงต่อ และย้ายไปแสดง ณ ลานพลาซ่า เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ รวมทั้งปรับเปลี่ยนเวลาออกอากาศเป็นทุกวันเสาร์ตอน 5 โมงเย็น
โลกดนตรี ในยุคทีวีเสรีเปิดกว้างสำหรับศิลปินมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอัลเทอร์เนทีฟ ซึ่งกำลังเฟื่องฟูแต่ไม่ได้โด่งดังในระดับขวัญใจมหาชน หรือแม้แต่วงมัธยมที่ผ่านเข้ารอบจากโครงการ Hotwave Music Awards อย่าง Lucifer ก็เคยได้รับโอกาสจากเวทีแห่งนี้ ก่อนที่ต่อมาจะกลายร่างเป็นวง Clash
แต่ความท้าทายที่มากกว่าคือจำนวนผู้ชมที่น้อยลงกว่าครึ่ง เพราะโยกคนจากช่องหนึ่งมายังอีกช่องทันทีไม่ได้ เนื่องจาก ITV ออกอากาศในระบบ UHF ไม่เหมือนฟรีทีวีอีก 5 ช่องที่ใช้คลื่น VHF ต้องติดตั้งเสาอากาศเพิ่มเข้าไป แถมบางบ้านต่อให้ติดเสา แต่ถ้าใช้โทรทัศน์รุ่นเก่าเกินไปก็อาจรับสัญญาณไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้น ผู้บริหารของ ITV จึงเกิดไอเดียให้ โลกดนตรี ไปสัญจรตามต่างจังหวัด หวังใช้คอนเสิร์ตโปรโมตสถานี รวมทั้งถือโอกาสแจกเสาอากาศให้พี่น้องประชาชน
วิธีนี้สอดคล้องกับความต้องการของแก้วที่อยากพา โลกดนตรี เดินสายไปทั่วประเทศ เพราะคิดมาตลอดว่าทำไมถึงมีแต่คนกรุงเทพฯ ที่ได้รับชมคอนเสิร์ตดี ๆ คนต่างจังหวัดควรได้รับโอกาสเช่นกัน โลกดนตรี จึงแวะเวียนไปตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ทั้งเชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เพื่อนำศิลปินยอดนิยมไปส่งความสุขให้กับผู้คนที่อยู่ห่างไกล
หากแต่เส้นทางในสถานีใหม่นั้นแสนสั้น เพราะหลังออกอากาศได้เพียง 2 ปีกว่าก็มีเหตุให้ต้องยุติรายการ ในวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ปิดตำนานฟรีคอนเสิร์ตกลางแจ้งรายการแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมกับจำนวนตอนที่มากกว่า 1,200 เทป
“เราไม่ได้เลิกเอง เขาให้เลิกเพราะสถานีจะปรับผังใหม่ เราไม่อยากขัดเพราะผมถือเป็นผู้บริหารที่นั่นด้วย ถ้าเราพูดมากจะกลายเป็นเข้าข้างตัวเอง ซึ่งถามว่าเสียดายไหม ผมเฉย ๆ นะ มีเกิดก็มีดับ ที่สำคัญคือเราทำทุกอย่างดีที่สุดแล้ว”
หลังจาก โลกดนตรี ปิดตัวลง มีผู้ผลิตหลายรายพยายามติดต่อขอซื้อหัวรายการไปทำต่อ แต่แก้วเลือกปฏิเสธทุกครั้ง เพราะอยากรักษาชื่อ โลกดนตรี Pop on Stage และความตั้งใจเดิมที่ปราศจากผลประโยชน์แอบแฝง เพื่อเป็นเวทีของศิลปินทุกคนให้คงอยู่
แต่หากเป็นกรณีดังเช่นเมื่อ พ.ศ. 2550 ที่สถานีโทรทัศน์ Majung The Original TV ติดต่อขอนำเทปรายการเก่าไปออกอากาศซ้ำในรายการชื่อ โลกดนตรี The Original แก้วยินดีเต็มที่
นี่ยังไม่รวมถึงบรรดาช่องออนไลน์อีกมหาศาล ซึ่งนำบางส่วนของรายการไปตัดต่อเป็นคลิปสั้น ๆ จนมียอดชมรวมกันหลายร้อยล้านครั้ง แต่ผู้กำกับรุ่นเก๋าไม่เคยติดใจหรืออยากฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะอย่างน้อยก็ถือเป็นการช่วยเผยแพร่ ให้ผู้คนได้หวนนึกถึงบรรยากาศเดิม ๆ ที่หาไม่ได้อีกแล้ว และที่มากกว่านั้นคือทำให้คนรุ่นหลังทราบว่าครั้งหนึ่งเมืองไทยเคยมีรายการโทรทัศน์อย่าง โลกดนตรี
“โลกดนตรี เป็นรายการที่สร้างเราขึ้นมา เป็นสนามที่ทำให้ได้ฝึก ได้ลอง ให้โอกาสจนเราเป็นเราถึงทุกวันนี้ ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ อย่างต่อมาที่ผมได้เป็นผู้บริหาร เพราะคนได้เห็นเราแสดงฝีมือ ถึงมาตามไปร่วมงานด้วย ถ้าเขาไม่รู้จัก ไม่เห็นผลงาน ผมคงไม่ได้ทำ หรือแม้แต่ช่อง 5 เอง เราก็ต้องขอบคุณ เพราะเราคงไม่มีทางเกิดได้ หากไม่มีสถาบันแห่งนี้รองรับมาหลายสิบปี”
แต่ใช่ว่าแก้วจะหมดฝันในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ แก่ผู้ชม เพราะเขายังคิดอยู่เสมอว่าหากวันหนึ่งมีโอกาสกลับไปทำรายการที่รักอีกครั้ง ก็อยากให้เวทีนี้เป็นพื้นที่ของคนรักดนตรีอย่างแท้จริง โดยไม่จำกัดช่วงวัยหรือแนวเพลง ทั้งเชิญศิลปินรุ่นเก่ารุ่นใหม่มาแสดง โดยเฉพาะศิลปินที่เคยมาโลกดนตรีแล้ว อาจจะนำภาพการแสดงในวันวานมาเปิดเทียบกับปัจจุบัน หรือการนำศิลปินรุ่นใหม่ที่ชนะตามเวทีต่าง ๆ มาออกรายการ เพื่อเป็นสนามให้เขาได้แสดงฝีมือต่อยอดและไม่จางหายไปพร้อมกาลเวลา
แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ฝันเหล่านั้นจะกลายเป็นจริง ยิ่งในยุคที่วงการโทรทัศน์เมืองไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่นั่นคงไม่สำคัญ เมื่อเทียบกับคุณค่าที่แท้จริงของโลกดนตรี ซึ่งเป็นรายการคอนเสิร์ตที่สร้างความสุขสำหรับแฟน ๆ และยังเป็นพื้นที่ที่ส่งมอบโอกาสและความทรงจำให้ทุกคนจากรุ่นสู่รุ่นด้วยเสียงเพลงตลอดไป
ขอขอบคุณ อ.มานพ แย้มอุทัย สำหรับการประสานงาน พร้อมเอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบต่าง ๆ ของรายการ โลกดนตรี