บ่ายวันหนึ่งย่านรามคำแหง ความสงบของหมู่บ้านจัดสรรชานกรุงเทพมหานครเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับระยะทางที่ลดลง เพราะเข้าใกล้จุดหมายเต็มที พาเราลืมความจอแจกลางเมืองที่เพิ่งเจอเมื่อครู่อย่างหมดจด
เราพึ่งจีพีเอสในโทรศัพท์นำทางเข้ามาตามถนนหลักของหมู่บ้าน เรื่อยมาถึงถนนย่อย ซอยเล็กซอยน้อย รู้ตัวอีกทีก็จอดอยู่หน้าบ้านเดี่ยวสีขาว แต้มสีเขียวของแปลงผักที่แวดล้อมรอบบ้าน ป้ายผ้าทำมือด้านหน้า ‘ปูเป้ ทำเอง’
หมุดสีแดงเด่นชัดในแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการยืนยันสิ้นสุดจุดหมาย
เหลียวดูนาฬิกา เรามาก่อนเวลานัดหมายนิดหน่อย ปูเป้-สุพัตรา อุสาหะ เธอนิยามตัวเองว่าเป็น ‘สาวน้อยร้อยอาชีพ’ รอต้อนรับเราอยู่แล้วด้วยรอยยิ้มสดใส แทบทุกวันเธอเป็นเกษตรกรสาวอยู่กับบ้าน เป็นนักแปรรูปมือทองที่หยิบจับผลผลิตริมรั้วมาแปลงโฉมได้หลากหลาย รับหน้าที่เป็นวิทยากรตามวิทยาลัยการอาชีพบ้างในบางโอกาส
และที่สำคัญเธอเป็นเจ้าของเพจ ‘ปูเป้ทำเอง’ เพจที่รวบรวมเรื่องราวสารพัดสารพันสิ่งที่เธอทำ เพื่อแบ่งปันวิธีการและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้ติดตามในการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองด้วยสภาพแวดล้อมอย่างคนเมือง
แนวคิดการใช้ชีวิตของเธอน่าสนใจ ร้อยอาชีพที่ว่าเธอทำอะไรบ้าง ด้านล่างนี้คือสิ่งที่เราเพิ่งรู้ก่อนคุณไม่นาน
ปูเป้ปลูกเอง
“เริ่มจากความชอบด้วยแหละ”
เธอตอบทันควันเมื่อถามถึงที่มาของเหล่าต้นไม้ใบเขียวที่สั่นไหวตามลมคล้ายกำลังโบกใบทักทายผ่านหน้าต่างอยู่ด้านนอก ก่อนเจ้าของบ้านสาวจะขยายความต่อถึงความชอบที่ว่า
“มันเกิดจากความชอบส่วนตัวของเราที่อยากปลูกต้นไม้ เวลาเรามองเห็นต้นไม้หรือดอกไม้ที่เราเพาะจากเมล็ดก็จะมีความว้าว ต้นนี้มีดอกแล้วนะ”
การปลูกพืชของปูเป้สั่งสมจากความผูกพันกับธรรมชาติตามประสาเด็กต่างจังหวัด แม้บางขณะของชีวิตในเมืองหลวงอาจไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกเช่นที่บ้านเกิด แต่เมื่อมีโอกาสเธอก็รีบกลับมารดน้ำความรักที่มีต่อต้นไม้เหล่านี้ จนออกดอกผลเป็นพื้นที่สีเขียวไซส์กะทัดรัดเท่าพื้นที่ดินรอบบ้านหลังปัจจุบัน
ไม่เพียงแต่วิถีเกษตรกรที่หล่อเลี้ยงหัวใจ เธอยังชอบทำอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวัตถุดิบอินทรีย์ที่ปลูกเอง ผักสวนครัวหลากชนิดจึงยืนเป็นแกนหลัก มีไม้ดอกไม้ประดับบ้างพอให้เห็นชุ่มชื่นใจ และเก็บไว้ใช้ตกแต่งจานอาหารหรือแก้วน้ำดื่มเพื่อต้อนรับแขกเหรื่อเพื่อนฝูงที่แวะมาเยือน
“พอเราปลูกเสร็จก็ตัดมาทำกับข้าวง่ายๆ กะเพรา พริก มันดูง่าย พอเพื่อนมาเที่ยวหา อยากทำแก้วสวยๆ ให้เพื่อนกินน้ำ ก็เดินเข้าสวน เด็ดอันนั้นใบ อันนี้ใบมาแซมๆ ผักบางชนิดอย่างพวกมินต์ สะระแหน่ ก็ให้กลิ่นสดชื่น แล้วก็ได้ประโยชน์ไปด้วย”
หลายครั้งที่ผลผลิตมากจนเกินกินเองภายในบ้าน เธอจึงคิดต่อยอดด้วยการแปรรูป โดยอาศัยความรู้ที่เคยทำมาแต่เด็ก ดัดแปลงสูตรที่ได้จากในอินเทอร์เน็ต ปรุงแต่งรสชาติตามความชอบส่วนตัว เพื่อให้การปลูกพืชผักหนึ่งครั้งได้ประโยชน์มากที่สุด เมื่อทำบ่อยเข้าจึงเริ่มปันวิธีทำหรือเคล็ดลับที่ประสบพบระหว่างการแปรรูปต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อแบ่งปันให้เพื่อนที่ติดตามได้ลองนำวิธีการไปทำเองที่บ้าน
“การปลูกผัก เราก็ใช้วิธีการง่ายๆ สั้นๆ คือไม่จำเป็นต้องเดินไปซูเปอร์มาเก็ต แต่เราเลือกที่จะปลูกกะเพรา หนึ่งต้น แล้วก็ตัดกินไปเรื่อยๆ หากเขาตาย ก็ซื้อต้นใหม่มา หรือว่าเพาะเมล็ดใหม่เพิ่ม ก็เหมือนเราไปซื้อผักมาเพิ่ม อันนี้อายุยาวกว่า แถมไม่เต็มตู้เย็นด้วย” แนวคิดนี้เธอน่าสนใจ-เราพยักหน้าเออออ
ถึงตรงนี้บางคนอาจค้าน เพราะปลูกต้นอะไรก็ตายไปเสียสิ้น จนคิดว่าซื้อกินน่าจะง่ายกว่า สาวเจ้าตรงหน้ามองว่าผักสวนครัวเป็นเรื่องที่ควรให้ความรู้ แม้เป็นพืชผักที่ปลูกง่าย ดูใกล้ตัว แต่หลายคนยังขาดขาดความเข้าใจ
“เราอยากให้ความรู้เรื่องพืชผักสวนครัว ให้คนได้มีแรงบันดาลใจที่จะปลูกมัน เพราะว่าพืชผักสวนครัวเป็นพืชล้มลุก เราปลูกเดี๋ยวก็ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้าปลูกมะม่วงหนึ่งต้นสามเดือนตาย อันนี้ผิดธรรมชาติ เราก็ให้ความรู้เกี่ยวกับไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก ว่ามันต้องปลูกใหม่เรื่อยๆ ทดแทนกัน หากตายจากการกิน แสดงว่ามันคุ้มค่า”
นอกจากปลูกผักบนดิน เธอยังปลูกแรงบันดาลใจในการปลูกพืชกินเองในบ้านให้เพื่อนๆ บนเฟซบุ๊กด้วย
เพจนี้ปูเป้ทำเอง
หลังจากมีผู้อยากติดตามเพิ่มมากขึ้นจนเฟซบุ๊กส่วนตัวแทบรับไม่ไหว จากทั้งชื่อเสียงปากต่อปากและลูกศิษย์ลูกหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยามไปเป็นวิทยากรให้กับวิทยาลัยการอาชีพ รวมถึงการได้รับเชิญไปออกรายการต่างๆ ปูเป้จึงมีความคิดที่จะเปิดเพจสาธารณะ เพื่อให้ใครก็ตามที่สนใจ ได้รับรู้เรื่องราวที่เธอต้องการถ่ายทอดแบบทั่วถึง
เบื้องหลังของคนทำเพจหลายคนอาจประสบปัญหากับการคิดคอนเทนต์ในเพจ แต่สำหรับเธอ สิ่งที่ค้างเติ่งจนทำให้เพจไม่เกิดขึ้นสักที คือชื่อเพจ
“ผลิตภัณฑ์ที่เราเริ่มทำไม่มีป้ายเลย เต็มที่ก็ทำเป็นแถบห้อยว่าซอสมะเขือเทศ แค่นั้นเอง พอช่วงหลัง เราเริ่มคิดว่าทำยังไงดีนะให้เขารู้ว่าเราทำเอง ขี้เกียจอธิบายเยอะ จนวันหนึ่งเราทำซีอิ๊วขวดจิ๋วนี่แหละ เราก็คิดว่าจะเขียนยังไงให้มันน้อยแล้วคนเข้าใจ เราก็เลยใช้ซีอิ๊วปูเป้ทำเอง งั้นเพจเราก็เอาชื่อนี้เลยละกัน ปูเป้ทำเอง” เธอเล่าถึงที่มาของชื่อเพจและชื่อแบรนด์สินค้าแสนเรียบง่ายด้วยน้ำเสียงติดตลก พลางชี้ไปที่ขวดซีอิ๊วต้นเหตุบนชั้นวางด้านหลัง
เนื้อหาในเพจคือชื่อของเพจ นี่คือคอนเซปต์ที่เราแอบคิดให้โดยที่เจ้าของเพจไม่รู้ เพราะทุกอย่างที่เธอโพสต์ลงล้วนแต่เป็นสิ่งที่เธอทำเองในทุกๆ วัน ตั้งแต่แบ่งปันวิธีทำผงโรยข้าวจากผักต่างๆ ในสวนข้างบ้าน กวนสบู่โฮมเมดด้วยสีธรรมชาติ จนถึงแชร์สูตรอาหารการกินประจำวันที่ปรุงขึ้นจากสารพันสิ่งแปรรูปในบ้าน
นอกจากนี้ยังมีงานฝีมือเย็บปักถักร้อย จนถึงงานใบตอง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ผ่านฝีมือของปูเป้ทั้งสิ้น
“เราแชร์วิธีทำง่ายๆ สมมติว่าเรามีกะเพราเยอะมาก ก็จับมาทำซอสกะเพรา ซึ่งไม่ต้องมาเยอะอย่างแบบสูตรของชาวต่างชาติ อย่างเรากินผัดกะเพรา ก็ทำซอสกะเพราแบบบ้านเรานี่แหละ มีพริกขี้หนู มีกระเทียม มีกะเพราปั่นไว้ แล้วเข้าตู้เย็น หรือไม่ก็สอนวิธีการพาสเจอร์ไรซ์ขวด ทำยังไงให้ยืดอายุ วิธีการพวกนี้ก็จะเขียนลงในเฟซบุ๊กอย่างละเอียด ให้คนได้อ่าน และใส่สูตรให้ด้วย เพราะว่าเราไม่ได้เริ่มจากการทำเพื่อขาย เราก็เลยรู้สึกว่าอยากให้คนลองทำตาม”
ปูเป้พึ่งพาตนเอง
ชีวิตง่ายๆ ของปูเป้เกิดจากความเชื่อในการพึ่งพาตนเอง
แต่เธอไม่เชื่อว่าแปลงผักหลังบ้านจะเป็นจุดสตาร์ทที่เหมาะกับการพึ่งพาตนเองของทุกคน เพราะข้อจำกัดของวิถีชีวิตคนเมืองยังคงมีสูง ทั้งพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย และปัญหาเรื่องเวลาว่างในการดูแล ทำให้เธอมองว่าเพียงแค่พยายามทำเองให้มาก และลดการพึ่งพาคนอื่นให้น้อย ก็เป็นการพึ่งพาตนเองที่ง่ายที่สุดและทุกคนทำได้ เธอจึงพยายามลองทำนู่นทำนี่เอง แล้วส่งต่อความรู้สู่ลูกเพจ เพื่อชวนให้ผู้ติดตามได้ลองใช้วิถีชีวิตแบบปูเป้ทำเอง
เธอยกตัวอย่างชีวิตประจำวันของตัวเองที่ใช้วิถีพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่การใช้สบู่และแชมพูสระผมที่ผสมเองจากวัตถุดิบที่หาได้ในธรรมชาติ ไปจนถึงน้ำยาเอนกประสงค์ที่ใช้ได้ครอบคลุมทุกการซักล้างในบ้าน
“เรามองว่าของพวกนี้มันเป็นของที่ทำครั้งเดียวแล้วใช้ได้นานมาก ไม่ต้องทำทุกวัน ยาสระผมทำครั้งหนึ่งก็ใช้ไปสองสามเดือน อายุอยู่ได้ถึงหกเดือนด้วยซ้ำ เสียสละเวลาทำสักสองชั่วโมง สบู่ทำได้ครั้งละสิบก้อน ให้ใช้เดือนละก้อนเลย เวลาทำใช้แค่ชั่วโมงเดียว ถ้าเรามีความรู้ ก็ใช้เวลาแป๊บเดียว ไม่ยาก มันเป็นหลักการพึ่งพาตนเองที่ง่ายมาก
“น้ำยาซักผ้าเราก็ทำเอง ทำเป็นแกลลอนสิบลิตร ใช้ล้างจาน ล้างรถ ถูบ้าน เพราะมันคือน้ำยาอเนกประสงค์ ไม่ได้ใช้เวลาเยอะมากในการทำ เรามองอย่างนั้น ตื่นมากลายเป็นว่ามีอย่างเดียวที่ยังต้องซื้ออยู่ก็คือยาสีฟัน
“จริงๆ ทำเองได้ แต่ว่าเพื่อนเราทำ เลยซื้อบ้างก็ได้ ช่วยอุดหนุนเพื่อน แต่ก็ยังเป็นของโฮมเมดอยู่”
นอกจากของใช้ประจำวัน การเลือกอาหารการกินด้วยความพิถีพิถัน ก็เป็นอีกหัวใจสำคัญ
เธอมองว่าการสรรหาอาหารที่ปลอดภัยเป็นมิตรกับร่างกาย คือการพึ่งพาตนเองโดยอ้อม
“สมมติว่าไม่ต้องปลูกผัก แล้วจะทำยังไง เราก็ต้องเลือกให้เป็น มันคือการพึ่งพาตนเองในระยะยาว หมายความว่าเลือกอาหารให้เป็นเพื่อสุขภาพที่ดีของเราจริงๆ หากเดินเข้าซูเปอร์มาเก็ต วิธีการเลือกคืออ่านฉลาก เลือกให้เป็นว่าอันนี้มีสารปรุงแต่งอะไรบ้าง เราอ่านแล้วเรายังทำใจจะกินเขาอยู่ไหม หากเขามีสารมากมาย ทั้งแต่งสีและแต่งกลิ่น
“ทุกวันนี้สิ่งที่เรายังซื้ออยู่ก็มีน้ำมัน น้ำตาล เกลือ น้ำปลา เพราะทำเองไม่ไหว ก็เลือกแต่ของที่ดีกับตัวเอง พึ่งพาตนเองโดยการเลือกให้เป็น กินให้มันถูกต้อง กินให้มันปลอดภัย แล้วเราก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ยันแก่”
ปูเป้และผองเพื่อน
แม้ความมุ่งหมายเดิมของปูเป้ทำเองจะเป็นเพียงการแชร์ไลฟ์สไตล์ที่แทรกความรู้และประสบการณ์ส่วนตัว ในการทำแทบทุกสรรพสิ่งด้วยตัวเองตามวิถีคนเมือง เพื่อให้คนลองทำเองในบ้านและผลพลอยได้คือการสร้างอาชีพ
แต่ความฝันของเธอยังคงไม่หมดเพียงเท่านั้น
อนาคตวันหน้า ปูเป้มองถึงการทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อนพ้องที่อยู่ในวงการสินค้าเกษตรออร์แกนิก ภายใต้ชื่อ ‘ปูเป้และผองเพื่อน’ เพื่อสร้างสังคมอาหารปลอดภัยให้กับคนอื่นๆ ในวงกว้าง ส่วนบ้านหลังที่เรากำลังนั่งอยู่นี้ ด้านหน้าเธอเริ่มเปิดร้านเล็กๆ วางผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติและต้นผักสวนครัวกระถางจิ๋ว เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวหมู่บ้านสัมมากรและลูกเพจที่ติดตามอยู่ ได้สัมผัสวิถีชีวิตคนเมืองตามแบบฉบับปูเป้ทำเอง
“เราสร้างความสุขให้คนในหมู่บ้านได้ระดับหนึ่ง เขามากันตลอด พอซื้อต้นไม้ไปเด็ดกินเองได้ เขาก็มีความสุขกับการเสียเงินแล้วได้ต้นไม้ แถมกินได้ด้วย ตายแล้วก็ไม่เป็นไรนะ มาซื้อของเราใหม่ วันนี้ก็เพาะต้นไม้มากขึ้น ให้คนเรียนรู้ว่าเราสไตล์ประมาณนี้นะ แต่ก็ไม่ทิ้งตัวตนความเป็นปูเป้ทำเอง” ปูเป้จบบทสนทนาด้วยรอยยิ้มเริงร่าฉบับเธอเอง