“หัวใจหลักของการปั้น คืออย่าทำผ่าน ๆ ลงให้ลึก อันไหนไม่ใช่ให้เปิดตำรา ปั้นผิดไม่ปล่อย ทุกอย่างต้องลงลึกจนมีความชำนาญ ถ้าเราชำนาญจนเป็น Specialist เราไม่ต้องไปพูด ให้ผลงานพูดแทน”
พูลทรัพย์ หัตถกิจโกศล หรือ หนุ่ม ศิลปากร ประติมากรอิสระผู้ยึดมั่นในอาชีพช่างปั้นตั้งแต่เรียนจบจวบจนปัจจุบันกล่าว
เขาเป็นที่เลื่องลือในฝีมือการปั้น ที่นอกจากเหมือนจนแทบแยกไม่ออกว่าคนหรือหุ่น ผลงานของเขายังถ่ายทอดอารมณ์บนใบหน้า ร่องรอยของกาลเวลา และแววตา ได้ราวกับประติมากรรมชิ้นนั้นมีชีวิต
ฤกษ์งามยามดี วันนี้เราจึงเดินทางไกลกว่า 2 ชั่วโมงไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน เพื่อพูดคุยกับชายผู้อุทิศชีวิตให้งานและขอตายในโรงปั้น

จากถนนใหญ่ เราลัดเลาะเข้าไปผ่านตรอกแคบ ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังไปยังสถานที่ลับสักแห่ง แต่เมื่ออ้อมไปอีกฝั่ง กลับไปพบกับสถานที่เปิดโล่ง ห่างออกไปไม่ไกลเป็นสนามฟุตบอล ให้บรรยากาศแบบชนบทไร้ซึ่งความวุ่นวาย
ที่แห่งนี้เรียกว่า ‘โรงปั้น’ หรือสตูดิโอซึ่งเป็นเหมือนสมุดบันทึกของพูลทรัพย์ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ล้วนเต็มไปด้วยร่องรอยการทำงาน ผลงาน หลักฐานการมีชีวิต และความหิวฉบับมนุษย์ เพราะมีทั้งเครื่องครัว เครื่องปรุง และอีกหลาย ๆ อย่างปะปนกัน

พูลทรัพย์แนะนำกับเราว่า ที่นี่ใช้เป็นที่ทำงานปั้น มีกิจกรรมหล่อบ้างในบางครั้ง เป็นสถานที่พักผ่อน และเป็นที่ตั้งของชมรมกอล์ฟ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร
ประติมากรตรงหน้าเรามีผู้ช่วย 2 คน เจ้าตัวบอกว่าพวกเขาเป็นกึ่ง ๆ ลูกศิษย์ที่มีเงินเดือนให้ด้วย การถ่ายทอดวิชาไม่ใช่การจดเลกเชอร์ แต่เป็นการจดจำและนำไปใช้ขณะลงมือทำ
“ที่นี่เข้างานแบบไม่กำหนดเวลา แต่เลิกงานตรงเวลานะ” เขาพูดติดตลก

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจของประติมากรรูปเหมือน
พูลทรัพย์ หัตถกิจโกศล เกิดและโตในเมืองมะขามหวาน จังหวัดเพชรบูรณ์ เขาจบ ป.7 ที่นั่น แล้วจึงเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ณ โรงเรียนเซนต์จอห์น
“ตั้งแต่เด็กแล้วที่เราได้เต็มวิชาศิลปะมาตลอด” เรียกได้ว่าความถนัดทางศิลปะของเขาฉายแววมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่แปลกที่ใคร ๆ ก็แนะนำให้เขาไปเรียนต่อในวิทยาลัยเพาะช่าง
แต่เข็มทิศชีวิตของเขากลับถูกเบน เมื่อพี่ชายแนะนำให้เรียนต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป เพราะเล็งเห็นว่าอยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร พูลทรัพย์ทำตามคำแนะนำของพี่ชาย พอเรียนจบก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร และเลือกเรียนเอกประติมากรรม
“เราเลือกเอกที่สนใจ เราไม่ถนัดเรื่องสี เพราะเขียนสีแล้วมันซีด ไม่เหมือนอย่างนักวาดคนอื่น ๆ แล้วสิ่งที่ชอบของงานปั้นคือมันจับต้องได้เลย” เขาพูดด้วยแววตาเป็นประกาย


หลังจบจาก ม.ศิลปากร สมชัย หัตถกิจโกศล ศิลปินไทยที่มีศักดิ์เป็นอาของพูลทรัพย์ เป็นต้นแบบพร้อมทั้งเป็นแรงผลักดันและแรงบันดาลใจให้เขา เอ่ยชวนให้ไปทำงานด้วยกันในโรงหล่อของตน “อาดึงตัวเราเข้าไปช่วยเป็นฝ่ายปั้นที่โรงหล่อ เขาจะมีออเดอร์มาให้เราปั้น รูปอะไรเราก็ปั้นไป” นี่เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้น

พูลทรัพย์บอกกับเราว่า ในโรงหล่อแห่งนั้น เขาได้ปั้นทุกอย่าง ทั้งสิงสาราสัตว์ เด็ก ผู้หญิง เขาอยู่ที่นั่นและฝึกปรือฝีมือนานกว่า 7 ปี ก่อนจะออกมาเป็นช่างปั้นอิสระ แบบที่เขายอมรับว่า “ตอนนั้นก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่”
เส้นทางช่างปั้นกับการเป็นประติมากรอิสระ
พูลทรัพย์เริ่มต้นชีวิตใหม่ในอีกหนึ่งเส้นทาง ในช่วงเริ่มต้น แม้เส้นทางของเขาจะโรยด้วยคราบน้ำตา แต่ก็เป็นน้ำตาและความยากลำบากที่เขาต้องเผชิญ
“ลำบากมาเยอะ ไม่มีจะกินเพราะมันเป็นอาชีพฟรีแลนซ์ เราไม่มีเงินเดือน นั่งทำงานบางทีคือน้ำตาไหลเลย เราผ่านมาหมดแล้วตั้งแต่สมัยยัง 30 กว่า 40 ทำเองหมด ทำพิมพ์ ทุบพิมพ์ หล่อ คนเดียวลุยหมด มันก็ต้องอดทนนะ”
ในช่วงที่งานของเขายังไม่เป็นที่รู้จัก เขามักจะโดนตีราคางานต่ำกว่าต้นทุนอยู่บ่อย ๆ “ต้นทุนผมไม่ได้อยู่แค่ค่าอุปกรณ์ตรงนี้หรอก ต้นทุนผม 20 – 30 ปี ศิลปินทุกคนมีต้นทุนตรงนี้ทั้งนั้น ‘เวลา’ มันคือต้นทุนที่มหาศาล”
และเพราะเวลาคือต้นทุนมหาศาล หากว่าความฝันของคนรุ่นใหม่คือการเป็นประติมากรตามอย่างพูลทรัพย์ และหากว่าพวกเขาไม่มีทุนมากเพียงพอกับระยะเวลาที่ต้องอดทน ความฝันของเขาจะเป็นยังไง ต้องสูญสลายไปตามเงินที่หมดลงหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอาชีพช่างปั้นของพูลทรัพย์เกิดขึ้นในงานศพของอา แม้จะเป็นเรื่องที่ชวนให้รู้สึกขม แต่รูปปั้นเหมือนของสมชัยที่พูลทรัพย์ตั้งใจให้เป็นของขวัญชิ้นสุดท้าย ทำให้เขาได้รับโอกาสในการปั้นรูปเหมือนของคนจากตระกูลดัง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ทำงานใหญ่ ๆ มากขึ้น
“จุดพีกคือได้ปั้นรูปของ คุณถาวร พรประภา จากตอนแรกที่เรารับงานไปทั่ว งานนั้นเป็นงานที่ยกระดับเราขึ้นมาเลย แต่ในตอนนั้นก็ยังไม่กล้าเท่าไหร่นะ เพราะงานมันเพิ่มระดับไปอีกเยอะ กลัวผิดพลาด” แม้นั่นจะเป็นงานในระดับที่ต้องพัฒนาความสามารถแบบก้าวกระโดด แต่โอกาสเช่นนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ หลังพูดคุยเจรจากัน พูลทรัพย์ก็ตัดสินใจรับงานมาทำในทันที
“คุณพรเทพ พรประภา เขาชอบรูปปั้นของ คุณถาวร พรประภา ตอนนั้นปั้นยังไม่ค่อยดีด้วยนะ ทักษะยังไม่เท่าไหร่ แต่คุณพรเทพเขาบอกว่าเหมือนเลย ตอนนี้ก็หล่อเพิ่มไปตั้ง” เขาพูดพร้อมกับชี้พิมพ์สีขาวซึ่งวางสุ่มอยู่ท่ามกลางพิมพ์มากมายให้เราดู

“พอเรามีงาน เราก็ค่อย ๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ ก่อนงานปั้นสมเด็จพระสังฆราชซึ่งทำให้เราเป็นที่รู้จัก ก็มีจังหวะหนึ่งได้ปั้นหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นงานปั้นหุ่นขี้ผึ้ง กรรมการวัดเขามาตรวจสอบก็ไม่มีติเลย เขายิ้ม ติอย่างเดียวคือจีวรยับไปหน่อย บางคนไปยืนข้างหลังยังรู้สึกว่าเป็นท่านอยู่เลย”
ประติมากรตรงหน้าบอกกับเราว่า กว่าจะถึงวันที่โอกาสเข้ามา เขาค่อย ๆ เรียนรู้และพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น โอกาสที่มาถึงก็อาจไม่ใช่โอกาส



“สิ่งที่เป็นแรกผลักดันได้ดีในการปั้น คือผลงานของเราพัฒนา มีผลตอบรับที่ดี และมีคนเห็นคุณค่าในงานของเราตลอดกระบวนการ”
ทักษะกับจิตวิญญาณของการเป็นนักปั้นเหมือน
ปั้นเหมือน น่าจะยากกว่าวาดรูปเหมือนไหม เพราะต้องเหมือนทุกด้านเลย – เราถาม
“ยากง่ายมันแล้วแต่ว่าเรามีทักษะทางไหน ถ้าทำจนมีความชำนาญ ความยากจะลดน้อยลง”
พูลทรัพย์เล่าให้เราฟังว่า เส้นทางอาชีพของเขาเริ่มต้นด้วยรูปเหมือน บวกกับทักษะมือแม่น ตาแม่น ที่ติดตัวมาตั้งแต่การเขียนแบบ เขาจึงกลายเป็นประติมากรผู้มีความชำนาญด้านนี้ได้ในที่สุด

“หัวใจหลักของการปั้นเหมือน คือข้อมูลใบหน้าของของผู้ที่ถูกปั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ รูปถ่าย หรือคนให้ข้อมูล” ประติมากรตรงหน้าบอกกับเราว่า เมื่อใดที่ผู้ให้ข้อมูลเดินทางมาเยือนสตูดิโอแห่งนี้ เขาจะเตรียมดินและอุปกรณ์ปั้นต่าง ๆ เอาไว้รอทันที เพราะนี่คือช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้อมูลและแก้ไขข้อผิดพลาด
“ให้เราเกลาออกหรือจะพอกขึ้นก็ได้หมดเลย เราต้องบอกเขาว่า ไม่ต้องกลัวว่าจะบอกผิด ถ้าผิดเดี๋ยวเราแก้ใหม่ได้” เขาพูด “เราไม่เคยใช้อีโก้ในการทำงาน เป้าหมายของเราคือการทำงานให้ออกมาดีที่สุด เหมือนที่สุด”

พูลทรัพย์ยังเผยต่อว่า ข้อมูลใบหน้าด้านข้างของผู้ที่ถูกปั้นสำคัญมาก เพราะหากส่งหน้าตรงมาเพียงด้านเดียว การประมาณความโด่งของจมูกหรือความยื่นของคางและใบหน้าจะทำได้ยากมาก ทว่างานส่วนใหญ่ที่ช่างปั้นรูปเหมือนอย่างเขาได้รับ ผู้ถูกปั้นมักเสียชีวิตไปแล้วมากกว่าการได้ปั้นคนเป็น ๆ

“มีความเชื่ออยู่ว่า ปั้นแล้วจะเป็นอะไรไป แต่เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะทุกสิ่งเกิดจากผลของกรรมที่ทำ จะไปเกิดจากการที่เราปั้นแล้วเขาเป็นอะไรไปได้ยังไง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เรากลายเป็นพระเจ้าของโลกไปแล้ว” เขาพูดติดตลกอีกรอบ
เล่าถึงการปั้น พูลทรัพย์บอกกับเราว่าขณะปั้น ความรู้สึกของเขาเหมือนการเข้าสมาธิที่มีแต่ความสงบนิ่ง เหมือนน้ำที่ยังไม่ถูกสิ่งรบกวนจนกระเพื่อม ส่วนความท้าทายก็คือ สิ่งที่เขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ เพราะผู้เชี่ยวชาญคนนี้เชื่อว่า ถ้าเป็นอะไรที่อยากทำ สิ่งนั้นคือความท้าทาย
คิดว่าคุณสมบัติที่ช่างปั้นต้องมีคืออะไรบ้าง – เราถาม
“ขยัน น้ำไม่เต็มแก้ว หมั่นสังเกต อยู่ที่ว่าเราทำอะไร ช่วงไหน เหมือนช่วงปั้นขา เดินไปไหนก็จะมองแต่ขาคน (หัวเราะ)”

ช่างปั้นในวัย 60 และความฝันสุดท้าย
“ในวัยนี้ไม่ค่อยมีสิ่งที่ท้าทายแล้ว เราทำให้มันเสถียรไป” เมื่อเดินทางมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต ทุกสิ่งอย่างก็กลายเป็นความสงบเงียบ มีเพียงคุณภาพชีวิตและคนรอบข้างเท่านั้นที่ทำให้ชีวิตของประติมากรคนนี้มีแรงกระเพื่อม ราวกับผืนน้ำที่มีคนโยนหินลงไป
กลับมาที่โรงปั้น เราสังเกตเห็นว่า ณ ที่แห่งนี้ รูปปั้นและงานหล่อส่วนมากเป็นพระ แต่ที่เด่นสะดุดตาเห็นจะเป็นพระพุทธรูปความสูงประมาณ 2 เมตร ทำท่าพนมมือในปางประทับยืน ส่วนอีกองค์ข้าง ๆ กันคือพระพุทธรูปปางห้ามญาติ


“ไม่รู้ทำไม ปั้นไปปั้นมางานเรามีแต่พระ ตอนนี้ก็มีพระอาจารย์ฝั้นที่ต้องเก็บรายละเอียดให้เสร็จ” พูลทรัพย์พูดพร้อมกับชี้ชวนให้ดูหลวงปู่ฝั้นที่อยู่ในขั้นตอนเก็บผิวและรอยย่น ก่อนจะนำไปถอดพิมพ์เพื่อหล่อเป็นเรซิ่น


ในขวบปีที่ 60 ประติมากรคนนี้ไม่เคยมีความคิดจะเปลี่ยนงานหรือหยุดปั้นเลยสักครั้ง เขาเปิดเผยความฝันกับเราว่า คือการได้ครอบครองที่ดินแล้วใช้เป็นที่ตั้งของโรงปั้น และอีกหนึ่งอย่างที่เขาจะพาไปด้วยจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตก็คือบอนไซ เพราะสำหรับเขา บอนไซเปรียบได้กับประติมากรรมอีกแบบ
“บอนไซมันเป็นประติมากรรมอันหนึ่ง แต่เราใช้วัสดุที่มีชีวิตมาสร้าง” แม้พูลทรัพย์จะกล่าวไว้อย่างนั้น แต่สิ่งที่เรามองเห็นและสัมผัสได้ คือความหลงใหลอันเปี่ยมล้นที่ชายคนนี้มีต่อบอนไซ โดยมีหลักฐานเป็นผิวที่โผล่พ้นแขนเสื้อของเขา ซึ่งมันเปลี่ยนเป็นอีกสี เพราะการดูแลเหล่าบอนไซกลางแดดในทุก ๆ วัน


จนเกือบจบบทสนทนา เราได้รู้จักพูลทรัพย์ในฐานะประติมากรผู้โดดเด่นด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และได้เรียนรู้ว่าพรสวรรค์ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ หากแต่เป็นการเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสอยู่เสมอ และไม่ยอมปล่อยให้โอกาสที่เข้ามาหลุดลอยไปต่างหาก ที่ทำให้เขาเป็นพูลทรัพย์อย่างทุกวันนี้ และนั่นทำให้เราเริ่มสงสัยว่า เป้าหมายในวันข้างหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร เมื่อทุกอย่างในชีวิตตอนนี้เริ่มสงบนิ่งลงแล้ว
“เป้าหมายต่อไปน่าจะตายแบบสงบในโรงปั้นของตัวเอง” เขาพูดด้วยแววตาสงบนิ่ง พูลทรัพย์ภูมิใจที่ได้เกิดมาทำงานปั้น แต่แอบเสียดายช่วงเวลาที่เขาใช้ไปกับการเล่นกอล์ฟ หากย้อนกลับไปได้ เขาอยากทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการปั้น เขาหลงใหลในงานปั้น และยังรู้สึกอยากทำมันอยู่ตลอด
“การปั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราอยู่กับมันมาตลอด แล้วเราก็มีความสุข ขี้เกียจบ้าง ขยันบ้าง ตามสภาพอากาศ สภาพร่างกาย สภาพวัย
“งานปั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะงานมันจะไม่เสร็จสักที (หัวเราะ)”
