The Cloud X PONY

แม้ ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ บรรณาธิการนิตยสาร The Jam Factory ผู้จัดการแกลเลอรี่ ช่างภาพ และอดีตพิธีกรรายการ Strawberry Cheesecake จะยืนกรานว่าเรื่องราวนิวยอร์กของเธอนั้นสั้นเกินกว่าจะพูดคุย เราก็ยังยืนยันว่าสนใจช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติตัวเองจากคนเบื้องหน้าสู่การทำงานเบื้องหลังของเธออยู่ดี

นิวยอร์กของผ้าป่านเริ่มต้นขึ้นด้วยคำถามง่ายๆ โจทย์ใหญ่แห่งยุคสมัยอย่างการค้นหาตัวเองจุดประกายให้ใครต่อใครยอมแลกบางสิ่งเพื่อบางอย่าง

นอกจากเรื่องที่เรารู้อย่างการออกเดินทางเพื่อถ่ายรูปบ้านเมืองและผู้คนในอีกฟากฝั่งมหาสมุทร วิธีการคิดและการตกตะกอนในตัวเองของผ้าป่าน เปลี่ยนภาพจำอันฉูดฉาดของนิวยอร์กที่เคยมีอย่างสิ้นเชิง

จริงอยู่ เรื่องราว 30 วันนิวยอร์กอาจจะสั้นเกินกว่าที่ชีวิตใครจะตกผลึก

แล้วคนเราต้องการเวลาเท่าไหร่สำหรับการทำความเข้าใจตัวเอง

CHAPTER 01

“เราทำงานเบื้องหน้ามาตั้งแต่อายุ 15 และทำมาโดยตลอด มีช่วงหนึ่งที่เราถ่ายงานทั้งเดือน มาถึงจุดที่ถามตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องการจริงๆ เหรอ”

เมื่องานเบื้องหน้าที่ใครๆ ก็ฝันไม่ใช่คำตอบของผ้าป่าน แล้วอะไรล่ะที่ใช่ เราถามผ้าป่านพร้อมกับที่เธอถามตัวเอง

ผ้าป่านก็เหมือนกับเราทุกคน ในวันที่เรียนจบ ยังไม่ทันที่จะได้รับใบประกาศจากทางการที่ยืนยันทั้งศักดิ์และสิทธิ์ถึงองค์ความรู้ของแหล่งเรียนมา พวกเราก็ออกข้อสอบคำถามอัตนัยให้ชีวิต ว่าด้วยเรื่อง ‘กระบวนการค้นหาตัวตนภาคปฏิบัติ’ พร้อมด้วยกระดาษคำตอบที่มากพอให้คุณยกมือขอได้ตลอดเวลา

นิวยอร์ก เข้ามาเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ จากคำเชิญชวนของเพื่อนสาว (แพร-รัมภาพร วรสีหะ) ช่างภาพที่มาเรียนต่อที่ International Center of Photography (ICP) ในแมนฮัตตัน

“ช่วงก่อนไปนิวยอร์ก เราดูข่าวเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในข่าวเป็นเรื่องของทหารที่ถูกรถกระบะขับเทียบแล้วประกบยิงขณะที่ขี่มอเตอร์ไซค์อยู่ จากนั้นข่าวก็ตัดเข้าสู่ข่าวต่อไป เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมทุกคนเคยชินได้ขนาดนั้น เหตุการณ์นั้นกระทบจิตใจเรามาก หลังจากวันนั้นเราก็ตั้งใจว่าเราคงต้องทำอะไรสักอย่าง จริงๆ เราแอบคิดจะนำภาพในอินสตาแกรมที่เป็นชุดต้นไม้แห้งตายมาทำโปสการ์ดระดมเงินทุนช่วยองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง และตอนที่จะไปนิวยอร์กเราก็คิดว่า เราน่าจะได้ชุดภาพต้นไม้กลับมาอีก” นี่จึงเป็นที่มาของทริปเดินนิวยอร์กตลอด 30 วัน

ผ้าป่านบอกเราตลอดบทสนทนาว่า ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องราวสวยหรูชวนฝัน ก่อนออกเดินทางเธอต้องนำแผนการชีวิตล่วงหน้าทั้งหมดเสนอขอใบอนุญาตจากครอบครัว ประกอบด้วย เงินเก็บจากการทำงานตั้งแต่อายุ 15 แผนการใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง และการใช้ชีวิตในแต่ละเดือนช่วงที่กลับมากรุงเทพฯ เมื่อครบเวลากำหนด พร้อมแจ้งช่วงเวลาสิ้นสุดการพักร้อนยาวๆ นี้เพื่อมองหางานใหม่หลังลาออกจากเส้นทางเบื้องหน้าแสนสบาย

นอกจากภาพจำในหนังแล้ว ผ้าป่านมีข้อมูลเกี่ยวกับนิวยอร์กไม่มากมาย ไม่มีที่ไหนอยากไป ห้ามพลาด หรือเป็นพิเศษกว่าที่ไหน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกเดินทางในยุคนั้นไม่ได้เป็นกิจกรรมที่นิยมแบบทุกวันนี้ ไม่ได้มีรีวิวเกี่ยวกับนิวยอร์กมากมายนัก อีกส่วนเป็นเพราะ แม้กระทั่งเธอก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังตามหาจากนิวยอร์กนั้นคืออะไร

“เราไปด้วยความว่างเปล่ามากๆ โอเค หยุดงาน แล้วไปเลย ไปถึงเพื่อนก็จะอธิบายให้ฟัง ถนนเป็นแบบนี้นะ โหลดแอพพลิเคชันนี้นะ เพื่อดูว่าจะนั่งรถไฟฟ้าไปลงตรงไหนและเดินอย่างไร แค่นั้นเลย”

CHAPTER 02

สำหรับใครหลายคน นิวยอร์กเป็นเมืองแห่งความฝัน เมืองที่มีผู้คนหลากหลาย เมืองแห่งโอกาส เมืองแห่งเสรีภาพ แต่สำหรับผ้าป่าน คำนิยามเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผลกับเธอ

ผ้าป่านเล่าว่า เธอชอบฟังเรื่องราวของที่คนออกเดินทางแล้วได้พบสถานที่ใหม่ๆ เจอผู้คนใหม่ๆ แต่สำหรับตัวเธอเมื่อกลับมาจากนิวยอร์กนั้น เธอรู้จักเพื่อนใหม่เพียงนิ้วมือนับ

หากสังเกตจากบุคลิกและไลฟสไตล์ของเธอ คุณคงจะสงสัยเหมือนกันกับเราว่า เมืองที่มีพลังงานใหม่ๆ ใหลเวียนอยู่ตลอดเวลาอย่างนิวยอร์ก มีอิทธิพลต่อสาวพลังเหลือล้นคนนี้อย่างไร

“แต่ละวัน เราจะนั่งรถไฟขึ้นไปตามถนนเส้นบน แล้วเดินไล่ลงมาจนกลับที่พักของเพื่อนในย่าน Time Square เป็นการเดินสำรวจและถ่ายภาพอย่างเดียว เราจำไม่ได้ว่าเราเจออะไรบ้าง ไม่รู้ว่าสถานที่นั้นๆ คือที่ไหน สำคัญอย่างไร จำได้เพียงว่า ขณะที่เดินๆ อยู่ ถ้าเงยหน้ามาเราจะเจอตึก Empire State เราก็ขึ้นไปดูวิว แค่นี้เลย มีบางช่วงที่เราดูพระอาทิตย์ตกติดๆ กัน 3 วันใน 3 สถานที่ เป็นช่วงเวลาที่ชอบมาก วันแรกไปตึก Empire State วันต่อมาไปดูที่สะพาน Brooklyn อีกวันไป Williamsburg จริงๆ มันคงไม่ได้อยู่ที่สถานที่หรอก มันอยู่ที่เวลา

“เราเป็นคนพลังเยอะ ทำนู่นทำนี่แบบนี้ตลอดเวลา เราไม่เคยหยุดคุยกับตัวเองเลย พอได้ไปอยู่ในพื้นที่ที่ติดต่อใครไม่ได้มาก เราก็ได้อยู่กับตัวเอง ปล่อยเวลาผ่านไปโดยไม่ต้องรู้สึกแบกรับอะไรอย่างที่เคย เพราะตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เราติดต่อสื่อสารกับคนอยู่ตลอด” ผ้าป่านบอกว่า นี่เป็นช่วงแรกในชีวิตที่เธอได้ใช้เวลากับตัวเองจริงๆ

เมื่อได้อยู่กับตัวเอง เราจึงได้สังเกตหัวใจตัวเอง

“ปกติเราไม่ใช้คนเขียนไดอารี่ จะมีบ้างที่เขียนสรุปความรู้สึก แต่ตอนไปนิวยอร์กเราเขียนไดอารี่ทุกวัน เราไปที่ไหนมาบ้าง แต่ละวันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เชื่อไหมว่าในนั้นเต็มไปด้วยความกดดันมากด้วยคำถามจากตัวเรา เรามาทำอะไรที่นี่ เราจะทำยังไงกับเงินที่ใช้จ่ายไปมากมายขนาดนี้ หลังลาออกจากงานแล้วชีวิตจะเป็นยังไงต่อ” ผ้าป่านเล่าให้เราฟังถึงชุดความคิดที่วนเวียนอยู่รอบตัวเธอตลอด 15 วันแรกที่นิวยอร์ก

บทสนทนาระหว่างผ้าป่านและผ้าป่านตัดสลับกันไปมาผ่านหน้ากระดาษและระหว่างนั่งเฉย มีทั้งการตั้งคำถาม ให้คำตอบ ปลอบและอภัยแก่ตัวเอง ด้วยสาระสำคัญเดิมๆ ที่บอกไม่ให้กังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่ดึงสติให้เตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่อาจจะรออยู่

หลังจากที่เวลาล่วงเลยผ่านไป 15 วัน ช่วงเวลาที่ผ้าป่านรอคอยก็มาถึง

“วันนั้นเราไปที่เซ็นทรัลพาร์ก เราจดจำรายละเอียดทั้งหมดได้ไม่แน่ชัด แต่ยังจะความรู้สึกของวันนั้นได้อยู่ ระหว่างที่เรานั่งอยู่ในสวนที่เซ็นทรัลพาร์ก กำลังมองดูเด็กเล็กๆ วิ่งเล่นอยู่กับคุณตา จะว่าไปภาพตรงหน้านั้นไม่ต่างจากฉากในหนังรักที่คุ้นเคยกันสักเรื่อง ภาพทุกอย่างค่อยๆ เกิดขึ้นช้าๆ ทุกอย่างสงบมาก และมีความสุขมาก

“ขณะที่เรานั่งอยู่คนเดียว ในหัวก็คิดว่า ถ้าเราหายไปตอนนั้นไม่มีใครรู้เลยนะ จริงๆ ตัวเราเองเป็นศูนย์ เราไม่ได้สำคัญไปกว่าใครเลย เราวิ่งวุ่นกับบางสิ่งนั้นๆ เพราะอะไร ก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองสำคัญมากนะ แต่หมายความถึงการไม่ยึดติดกับกระบวนการข้างใน เหมือนเรายอมให้อภัยตัวเองจริงๆ อยู่ดีๆ เราก็ร้องไห้ออกมา” ผ้าป่านเล่าความรู้สึกที่เข้าใจแล้วอิสระที่เกิดจากการปล่อยวางนั้นคืออะไร

นอกจากสลายความคิดวนเวียนที่มีในช่วง 15 วันแรกได้อย่างปลิดทิ้ง ยังทำให้การเดินเที่ยวนิวยอร์กครึ่งเดือนหลังสนุกขึ้นทันตา

“นิวยอร์กของเราจบลงแบบนั้น จบลงด้วย… จำชื่อสถานที่อะไรก็ไม่ได้” ผ้าป่านเล่าด้วยเสียหัวเราะ

แต่ถึงอย่างนั้น วิธีปลดล็อกตัวเองที่ผ้าป่านค้นพบในเซ็นทรัลพาร์กก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกการเดินทางของเธอหลังจากกลับจากนิวยอร์ก เช่น เนปาลและเบอร์ลินในปีถัดมามีความหมาย เพราะเธอพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่การรับพลังจากข้างนอก หากแต่เป็นพลังที่เราได้จากการตกผลึกสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเองเมื่ออยู่กับตัวเอง

CHAPTER 03

หลังกลับจากนิวยอร์ก ผ้าป่านสารภาพว่าเธอใช้เวลาทั้งปีนั้นเข้าถ้ำฝึกฝนวิทยายุทธ์ทำภาพในแบบที่เธอชอบ อาศัยการดูให้เยอะและลงมือทำให้มากๆ แล้วถามตัวเองว่าเห็นต่างกับสิ่งนี้อย่างไรเพื่อที่จะได้รู้สไตล์ของตัวเอง

“เราชอบภาพขาวดำยุคเก่า ดูงานยุค 60 และ 70 มากๆ จะเห็นว่างานยุคนี้จะเล่นกับแสง รูปทรง ทิศทาง เรื่องมุมและเหลี่ยม เรื่องจังหวะเป็นหลัก ซึ่งเราชอบงานของ Henri Cartier-Bresson (อ็องรี การ์ติเยร์-เบรสซง) มาก งานเราก็เลยเป็นสไตล์นั้น จะแก่ๆ หน่อย ไม่ค่อยเชื่อมต่อกับคนยุคนี้เท่าไหร่” ผ้าป่านอธิบายลักษณ์งานสไตล์โปรดของเธอให้ฟัง

ก่อนจะถามถึงช่วงเวลาและจังหวะของนิวยอร์กที่สะกดให้เธอยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพ

“ช่างภาพสายสตรีทมักจะถูกดึงดูดด้วยจังหวะและบุคลิกน่าสนใจของคน แต่สำหรับเรา แสงและผิวสัมผัสจะทำงานกับเราเป็นพิเศษ สมมติถ้าเจอแสงสวย เราจะตัดสินใจยืนรอตรงนี้แหละ อีก 20 นาทีเดี๋ยวต้องมีอะไรเกิดขึ้น วิธีการของเราคือแบบนั้น เมื่อเจอมุมที่สวย แสงที่ใช่ ผิวสัมผัสให้ความรู้สึกที่ดี มีเงาพาดลงมา มีเส้นนำสายตา เราก็จะวางกรอบนั้น ยืนรอไปเรื่อยๆ ภาวนาในใจขอให้มีคนที่แต่งตัวคล้ายภาพในหัวของเราปรากฏตัวขึ้นในกรอบที่คิดไว้” ผ้าป่านเล่าความเป็นมาของชุดภาพขาวดำจากนิวยอร์กที่เป็นเสมือนประตูโอกาสเปลี่ยนชีวิตของเธออย่างสิ้นเชิง

หลังจากที่ผ้าป่านนำชุดภาพถ่ายจากนิวยอร์กนี้ไปปรึกษาเรื่องผลิตโปสการ์ดพี่ติ้ว (วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์) ตามความตั้งใจเดิม นอกจากจะเข้าตาพี่ติ้วอย่างจังแล้ว เขาตัดสินใจชวนเธอจัดนิทรรศการ โดยสร้างความมั่นใจให้เธอผ่านคำแนะนำและชื่นชมจากอาจารย์และช่างภาพอาวุโสของสมาคมช่างภาพขาวดำแห่งประเทศไทย จนเกิดเป็นนิทรรศการ No[w]here Man จัดแสดงที่ Maya’s Secret Gallery ถนนสีลม แล้วนำรายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้มูลนิธิเพื่อนหญิง ที่ทำงานช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่สูญเสียหัวหน้าครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผ้าป่านบอกว่าทั้งหมดเกิดขึ้นเป็นเพราะความโชคดี แต่ใครก็รู้ว่า การรักษาโอกาสนั้นไว้ให้ได้และให้ดี ไม่ใช่เรื่องของโชคเลยสักนิด

“เรารู้ว่าตัวเองไม่ได้เก่งกาจไปกว่าใคร แต่มันเป็นโอกาสที่เข้ามาหาเรา และเราก็พร้อมที่จะทำโอกาสนั้นให้ดีที่สุด ที่บ้านเราสอนเสมอว่า ให้เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเพราะไม่มีใครรู้ว่าโอกาสจะมาเมื่อไหร่ ในวันที่โอกาสเข้ามาแล้วเราไม่พร้อม คงโทษใครไม่ได้นอกจากตัวของเรา

“เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้คาดคิด เราแค่ได้รับอิสรภาพ และยอมอนุญาตให้ตัวเองได้ลองทำสิ่งนั้น เรียนรู้และใช้เวลากับมันจริงๆ ซึ่งเราเชื่อว่าในที่สุดมันจะมีทางของมันที่เป็นคำตอบของเรื่อง เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งนั้นมีระยะเวลาช้าเร็วเท่าไหร่”

นิวยอร์กมีส่วนทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้นหรือเปล่า เราถาม

“จริงๆ เป็นเพราะในทุกกระบวนล้วนมีความไม่สวยงามอยู่ในนั้น เพราะว่ารู้สึกทุกข์ เราจึงหาคำตอบ และแก้ไขมัน ดังนั้นโปรดอดทนในกระบวนการสร้างความแข็งแกร่ง อย่าฉาบฉวย อย่าอยากได้แค่ผลลัพธ์ปลายทาง ทุกคนที่เราเห็นว่าเส้นทางปลายทางสวยงามของเขา ล้วนผ่านเรื่องเหล่านี้มาทั้งนั้น” คำตอบของผ้าป่านทำให้เราคิดถึงตัวละคร Andrea Sachs (แอนเดรีย แซคส์) ของ Anne Hathaway ใน The Devil Wears Prada อย่างไรอย่างนั้น

ช่วงเวลาสั้นๆ ในนิวยอร์กสอนบทเรียนสั้นๆ ให้ผ้าป่าน เรียนรู้ที่จะให้อิสระกับตัวเอง

การมองเห็นและยอมรับกับตัวเองว่า ใช่ เราจับมันแน่นไป และมันก็มีหนทางหรือวิธีอื่นๆ ที่จะไปถึงตรงนั้น แค่ยอมให้พื้นที่ว่างกับมัน

และหากคุณติดตามเธออยู่เหมือนกันกับเรา คุณก็จะพบว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้สาวน้อยคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงตัวเอง และชัดเจนกับสิ่งที่เธอเลือกแล้ว มีนิวยอร์กเป็นส่วนประกอบอยู่ไม่มากก็น้อย

ถ้าวันนั้นไม่ได้ตัดสินใจไปนิวยอร์กคิดว่าชีวิตตอนนี้จะเป็นอย่างไร เราถามทิ้งท้าย

“ถ้าวันนั้นไม่ได้ไปนิวยอร์ก เราอาจจะยังทำงานเบื้องหน้าอยู่และคงรู้สึกไม่ดีกับการที่ตัวเองไม่สวย ไม่รู้จักการให้คุณค่าแก่ตัวเองในแง่มุมอื่น ซึ่งเราอยากบอกกับทุกคนเสมอมาว่า โลกเรามันกว้างมาก ไม่ได้บอกว่าให้ไปเที่ยว แต่ความหลากหลายของคนในโลกทำให้รู้ว่าคุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ความสวย มันอยู่ที่อย่างอื่น และเราเจอมันหรือเปล่า”

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ