The Cloud X PONY

เคยได้ยินมาบ้าง ว่านิวยอร์กเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน มีตั้งแต่หัวเราะเขินแบบหนังรอมคอม ไปจนถึงอารมณ์ขันที่ตลกไม่ออก มหานครที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศที่มีภารกิจและความฝันใส่กระเป๋ามาเต็มใบ ก่อนจะตกตะกอนเป็นวัตถุดิบชั้นดีบางอย่างของชีวิต

และเพราะว่าเป็นนิวยอร์ก ดังนั้นต่อให้หยิบมาเล่าซ้ำเท่าไหร่ก็ไม่เคยเบื่อที่จะฟังสักครั้ง

บ่ายวันหนึ่ง ที่สภาพอากาศและฟ้าฝนเปลี่ยนสีท้องฟ้าให้เข้มขึ้น 2 – 3 เฉด เรามีนัดกับ เบ๊น-ธนชาติ ศิริภัทราชัย ผู้กำกับไฟแรงจาก Salmon House พูดคุยเรื่องราวอีกมุมของนิวยอร์กที่มีส่วนช่วยสร้างเสริมสายตาล้ำๆ และอารมณ์ขันประหลาดๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา

ที่ผ่านมา เราและใครหลายคนคงเคยติดตามนิวยอร์กของธนชาติผ่านหนังสือ New York 1st Time ก่อนที่จะตามมาผลงานเขียน งานภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนเสมอมา คืองานที่มีอารมณ์ขันบางอย่างที่จริงใจ เพราะธนชาติรู้วิธีรับมือกับความรู้สึกของผู้คนที่หลากหลาย

ธนชาติอาจจะเล่าเรื่องนิวยอร์กจนเบื่อแล้วก็ได้ เราคิดในใจ

ก่อนจะเข้าสู่บทสนทนา เราถามธนชาติว่า ถ้าให้นิยามว่าเขาเป็น…จากนิวยอร์ก คำตอบในช่องว่างนั้นคืออะไร

“คนกวน*** จากนิวยอร์ก” โอเค เข้าใจทุกอย่าง

CHAPTER 01

หลังจากดำรงตำแหน่งอยู่ในทีมผู้ช่วยผู้กำกับในภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ ของพี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ธนชาติก็ตอบตัวเองได้ว่าเขาอยากทำงานเขียนบทและกำกับงานรูปแบบแปลกๆ มากกว่า พี่เจ้ยจึงแนะนำให้เรียนต่อปริญญาโทในต่างประเทศ และหมุดหมายปลายทางก็ไม่ใช่ที่ไหน มหานครนิวยอร์กนั่นเอง เอาชนะผู้ท้าชิงอย่างลอนดอน ด้วยเหตุผลข้อหนึ่ง ลุงของธนชาติอยู่ที่นี่ และข้อสอง นิวยอร์กมีอะไรน่าสนใจมากมายเต็มไปหมด

“เรารู้สึกว่าไปเรียนทั้งทีมันไม่ใช่แค่เรียนมหาวิทยาลัยอย่างเดียว เพราะสัปดาห์หนึ่งเรียนแค่ 15 ชั่วโมง ดังนั้นเวลาที่เหลือเราก็ควรออกไปพบเจอสิ่งที่เราไม่คุ้น นิวยอร์กมีมิวเซียม มีงานศิลปะ มีร้านหนังสือทำมือ” ธนชาติเล่าเหตุผลที่ทำให้นิวยอร์กชนะขาดลอยอย่างไม่ต้องสงสัย

หลักสูตรของธนชาติที่ School of Visual Arts (SVA) ไม่ใช่การเรียนเพื่อเป็น Filmmaker แต่เน้นความเป็น Lens-Based Art หรือแนวภาพเคลื่อนไหวในวงการศิลปะ ทำหนังทดลอง วิดีโออาร์ตทำ art installation ทำ performance เพราะรู้ตัวว่าสุดท้ายเขาก็คงต้องกลับมาทำงาน commercial อยู่แล้ว กับเรื่องโปรดักชั่น พวกใช้ไฟอะไร ถ่ายเลนส์เท่าไหร่ และจุดยืนบล็อกกิ้งนักแสดงต่างๆ เขาจึงเก็บไว้เรียนรู้ตอนกลับมาทำงานที่กรุงเทพ

“ตอนนี้ขอออกไปเจอเรื่องที่ไม่คุ้น อาร์ตจัดไปเลย เราจะได้หาอะไรใหม่ๆ” เมื่อธนชาติขอมา นิวยอร์กก็จัดให้

ธนชาติบอกเราว่า นิวยอร์กที่ทุกคนคิดว่าไฮโซและรวยนั้น แท้จริงแล้วค่าครองชีพไม่แพงไปกว่าการใช้ชีวิตอยู่ใจกลางเมืองหลวงที่ชื่อยาวที่สุดในโลกได้ ค่าใช้จ่ายส่วนมากจะอยู่กับค่าที่อยู่อาศัย ซึ่งหากไม่ฟุ้งเฟ้อ Gossip Girls เป็นหนุ่มสาว The Upper East Side คุณก็อยู่อาศัยที่นี่ได้อย่างสบาย

“คนชอบคิดว่า นิวยอร์กมีแต่ตึกสูงๆ จริงๆ ก็เหมือนกับที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มีแค่สีลมและสยาม และส่วนมากเราก็อยู่ย่านบางกะปิ บางแค หนองแขม ของนิวยอร์ก ความฟู่ฟ่าแบบในหนังและเอ็มวีมันแค่กระจุกหนึ่งในแมนฮัตตัน ซึ่งในขณะเดียวกันมันมีย่านอื่นที่เหมือนนิมมานเหมินท์ เหมือนข้าวสาร มีย่านบรู๊กลิน” ธนชาติชี้ช่องรวยให้เราเหล่านักล่าฝันจดชื่อย่านทดไว้ในกระดาษก่อนวางแผนถอนเงินในบัญชีฝากประจำ

ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกที่แข็งแกร่งของธนชาติ ทำให้เราเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เมื่อเขาบอกว่าต้นฉบับของหนังสือสร้างชื่อ New York 1st Time นั้นมีจุดเริ่มต้นจากการโหยหาประเทศไทย

“ด้วยความที่เราไม่ได้อยู่เกาะกลุ่มกับเพื่อนคนไทยที่นั่นมากนัก แต่จะอยู่กับเพื่อนคนตุรกี เกาหลี เยอรมัน มากกว่า พอนานวันเข้าก็เหงา คิดถึงบ้าน ขาดคนคุยเรื่องคล้ายๆ กัน แต่ก็เขียนไดอารี่เก็บไว้เรื่อยๆ จนวันหนึ่ง Skype กับที่บ้าน แล้วขอให้อาโกพาหมามาที่หน้าจอเพราะคิดถึงมันหลังจากที่ไม่เจอมา 2 – 3 ปี วันนั้นเราเลยตัดสินใจทำต้นฉบับจริงจังเพราะคิดถึงบ้านเกินไปแล้ว”

เรื่องราวความสนุกและวายป่วงเกี่ยวประสบการณ์ครั้งแรกต่างๆ ของธนชาติในนิวยอร์ก คุณสามารถหาอ่านได้ในหนังสือ New York 1st Time ของเขา แต่เรื่องราวที่มาของอารมณ์ขันประหลาดๆ ที่ธนชาติมักใส่ลงไปในงานเขาทุกชิ้นนั้น โปรดอ่านที่นี่ อย่าเพิ่งย้ายเปลี่ยนหน้าจอไปไหน

CHAPTER 02

“เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกว่า คุณคิดถูกแล้วที่มานิวยอร์ก” เราตั้งใจเลือกคำถามที่ทำให้ผู้ตอบคิดหาคำพูดอยู่นาน แต่เราประเมินธนชาติต่ำเกินไป เพราะเขาตอบแทบจะทันทีที่เราออกเสียงตัวสะกดพยางค์สุดท้ายในคำถามก่อนหน้า

“เราชอบเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์มาก มีย่านชื่อเซลซีที่มี Highline มีแกลเลอรี่ให้เข้าฟรีเยอะเลย เรารู้สึกว่างานศิลปะหลายๆ งานมันต้องมาดูที่นี่จริงๆ นะ ยกให้เป็นเหมือนเมืองหลวงของศิลปะยังได้เลย ไม่ว่าจะเจออะไร ก็จะรู้สึก ‘อย่างนี้ก็มีด้วย’ ‘อย่างนี้ก็ได้ด้วยหรอ’ เคยเข้าไปดูงานของ Doug Wheeler เป็นสถาปนิกที่มาทำงานศิลปะ งานของเขาคือห้องสีขาวขนาดใหญ่ๆ เขาใช้วิธีจัดไฟไม่ให้เห็นเส้นขอบผนังหรือประตูใดๆ ให้ความรู้สึกเหมือนว่าห้องนี้ไม่มีที่สิ้นสุด คนยอมเข้าแถวเป็นชั่วโมงๆ เพื่อดูสิ่งนี้” คำตอบธนชาติทำให้ระดับความอิจฉาของเราเพิ่มขึ้น 2 ขีด

เหตุผลที่ธนชาติยกนิวยอร์กให้เป็นเมืองหลวงของวงการศิลปะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนายหน้างานศิลปะและแกลเลอรี่เจ้าใหญ่อยู่ที่นี่เยอะ ทั้งยังเป็นเมืองที่คนให้ความสนใจกับงานศิลปะมากกว่าเมืองอื่นๆ

“Art Fair ที่นิวยอร์กก็เยอะโคตร ศิลปินใหม่ก็ตบเท้ามุ่งหน้ามาแจ้งเกิดที่นี่ เพราะมี community เยอะ”

ด้วยความที่วงการศิลปะของที่นี่มีความเป็นธุรกิจ แตกต่างจากของเราที่เวลาบอกว่าเป็นศิลปิน คนเข้าใจว่าต้องเป็นอาจารย์รุ่นใหญ่ ต้องเข้าใจและเข้าถึงยาก ทั้งๆ ที่ศิลปินก็เหมือนคนทั่วไป ใส่เสื้อเชิ้ต ทำงาน 9 AM – 5 PM เพียงแค่ออฟฟิศเขาคือสตูดิโอ นอกจากนี้ยังมีวันที่ไปสังสรรค์ มีการเมืองภายใน มีงานที่เปิดตัวเพื่อนสร้างคอนเนกชัน

“จริงๆ ศิลปินที่นู่นพลิ้วมากเถอะ ไม่ได้ติสท์จนคุยกับใครไม่รู้เรื่อง ต้องอยู่เป็น รู้จักเข้าหาคอนเนกชัน”

ในแง่ของการทำงาน ธนชาติเล่าว่า นิวยอร์กทำให้เขากล้าสร้างสรรค์งานในทางที่ชอบมากขึ้น

“พอเห็นงานเยอะๆ เข้า เราก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรก็ได้นี่ ไม่ว่าจะทำอะไรมันมีตลาดของมันอยู่ เราไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง เปิดหน้าแรกเจอสีดำจัดทั้งหน้า เปิดหน้าต่อมาเทาขึ้นมาหน่อย แล้วค่อยเทาอ่อนลงๆ ไปจนถึงหน้าสุดท้ายเป็นสีขาว แค่นี้ขายได้แล้ว ชื่อหนังสือว่า Fade เฮ้ย แบบนี้ก็ขายได้”

ธนชาติย้ำว่า ไม่ว่างานจะออกมาเป็นอย่างไร ที่นี่ก็จะมีคนกลุ่มที่เปิดรับฟังสารนั้นเสมอ ขอเพียงคุณชอบและรู้สึกกับงานที่ทำจริงๆ

เหมือนที่ใครเคยบอกว่า แม้ว่าคุณจะเป็น 1 ในล้าน แต่ก็จะมีคนแบบคุณอย่างน้อย 8 คนในนิวยอร์ก

นอกจากความกล้าในการสร้างสรรค์ผลงาน นิวยอร์กยังสอนธนชาติเรื่องความกล้าที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นและแสดงความเห็นในงาน

“เวลาคนที่นี่ไม่ชอบงานไหน เขาจะให้เหตุผลประกอบ 1 2 3 4 จำได้ว่างานชิ้นแรกของเรามีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งบอกว่าเขาไม่ชอบ เพราะว่ามันดูไม่ใช่งานระดับปริญญาโท จริงๆ ก็แอบช็อก ว่าเกลียดอะไรเราหรือเปล่า แต่เขาคอมเมนต์ตรงๆ แบบนี้กับทุกคน และเมื่อออกจากห้องเรียนทุกคนก็เพื่อนกันกอดคอไปกินข้าว มันต่างจากห้องเรียนและโลกการทำงานในบ้านเมืองเรา เพราะผสมปนกันหมด ไม่แยกแยะเป็นเรื่องๆ” ธนชาติในวันที่แข็งแกร่งย้อนเล่าบทเรียนสำคัญนั้นให้ฟัง

กับเมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ หลั่งไหลผ่านเข้าและออกท่ามกลางกลุ่มคนเจ๋งๆ อยู่ตลอดเวลา วิธีการรับมือที่ดีที่สุดคือ เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจมากที่สุด ธนชาติเล่าความตั้งใจเดิมของงาน thesis ที่อยากทำงานเท่ๆ อย่างการจัดนิทรรศการ ทำเรื่อง space ทำเรื่อง installation แต่พบว่าสิ่งที่สนใจที่สุดคือเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง งาน thesis ในชื่อ The Meaningful Strangers สารคดีที่เขาเที่ยวถามศัพท์ภาษาอังกฤษยากๆ กับคนแปลกหน้าในรถไฟฟ้าใต้ดิน จนได้รับรางวัล thesis ดีเด่นประจำคณะในที่สุด

อีกโปรเจกต์เกิดขึ้นระหว่างคุยเล่นกับเพื่อนว่า ประเทศของแต่ละคนได้ยินเสียงหมาเห่าว่าอะไร ขณะที่ไทยของเราได้ยินว่า โฮ่งโฮ่ง คนรัสเซียบอก กัฟกัฟ คนเกาหลีบอก ม่องม่อง ธนชาติจึงเกิดความคิดว่าในเมื่อหมาเห่าคนละเสียง เขาจึงเดินถ่ายภาพคนและเก็บสะสมเสียงหมาของแต่ละประเทศไปเรื่อยๆ ในนิวยอร์ก

ด้วยเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เราสงสัยว่าอารมณ์ขันของคนในเมืองหรือประเทศในฝั่งฟากตรงข้ามกับเรา เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

สาบานได้เลยว่าเราแอบเห็นประกายวิบวับในตาของธนชาติ ก่อนจะเปรียบเทียบความแตกต่างให้ฟังว่า

“คนไทยจะมีภาพการขำที่ชัดกว่า เช่น สมมติคนเดินตกท่อ ถ้าเป็นคนไทยจะขำกับภาพที่คนตกท่อให้เห็น ขณะที่คนอเมริกันจะขำกับคนตกท่อเหมือนกัน ภาพที่ออกมาไม่ใช่กับภาพคนตกลงไปในท่อตรงๆ แต่เป็นภาพน้ำจากท่อกระเด็นขึ้นมาเลอะกำแพง นั่นคือมีช่องว่างให้คิดมากกว่า” ธนชาติวาดภาพประกอบคำบรรยายจนหายสงสัย

อีกกิจกรรมโปรดของธนชาติในนิวยอร์กคือ การดู Stand up comedy ช่วยฝึกภาษาและสังเกตอารมณ์ขันของคนที่นี่

“เวที stand up เป็นเวทีศักดิ์สิทธิ์ คนขึ้นไปพูดอะไรก็ได้และจะได้รับการให้อภัยเพียงแต่คุณต้องคมให้พอ ขำให้พอนะ จะมืดหม่น จะเถื่อน แค่ไหนก็ได้ เป็นเรื่องศาสนาหรือศีลธรรมก็ได้” ธนชาติเล่าพร้อมยกตัวอย่างมุกที่ประทับใจให้ฟังว่า

“เรื่องราวประมาณว่า ‘ผมเป็นคนที่ไม่เคร่งศาสนามาก่อนในชีวิต จนกระทั้งเครื่องบินที่ผมขึ้นกำลังตกหลุมอากาศ จังหวะนั้นเองผมก็เริ่มริดรอนสิทธิของเกย์’ จบ ขำไหม”

“ไม่เข้าใจเลย” เราตอบ

ธนชาติจึงแนะนำให้เราดูและฟังเป็นภาษาอังกฤษ อย่างที่เขาบอก มันจะมีช่องว่างที่ให้คิดตาม

CHAPTER 03

ในฐานะที่นิวยอร์กเป็นเมืองแห่งโอกาส นิวยอร์กให้โอกาสอะไรธนชาติบ้าง เราถาม

“ให้โอกาสให้เราได้ดูแลตัวเอง ให้เราเรียนรู้ความไม่สนไม่แคร์กับบางเรื่องมากขึ้น ก่อนหน้านี้ เราค่อนข้างคิดมากเวลาเจออะไรเฟลๆ แล้วจะจิตตกไปทั้งวัน แรกๆ ที่มานิวยอร์ก มีวันที่เช้าสดใสวันหนึ่ง เราเดินของเราอยู่ดีๆ ก็มีคนสูบบุหรี่ใส่หน้า เราก็เลยหันหน้าไปทางอื่นเพราะไม่อยากดมควัน เขาก็พูดว่า F*** Bitch ประมาณว่า ‘ดีออก อ่อนแอนักนะมึง’ เราก็จิตตกว่าทำไมต้องมาใจร้ายใส่เรา”

จากคำบอกเล่าของธนชาติอาจจะฟังดูแล้วรู้สึกว่านิวยอร์กเกอร์มีอารมณ์รุนแรงหน่อยๆ ไม่ใจดีเหมือนคนโตเกียว ถ้าทำอะไรไม่ถูกใจก็ทำนิสัยไม่ดีใส่กัน แต่โปรดเข้าใจว่านิวยอร์กนั้นเป็นมหานครแห่งคนแปลกหน้า และทุกคนที่คุณเจอจะเป็นคนที่คุณมีสิทธิ์เจอเขาครั้งเดียวในชีวิตแล้วจะไม่เจออีกเลย

และเมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมา มาแล้วก็ไปอย่างเร็ว ดังนั้นถ้าจะถือทุกอย่างไว้กับตัวก็อาจจะประสาทเสีย ปล่อยผ่านไปง่ายขึ้น

“วิธีการรับมือง่ายมาก เดินมิวเซียมจบ เดินสวนสาธารณะ จบเลย เหมือนถูกดึงไปอีกโลก” ธนชาติกล่าว

นอกจากความแข็งแกร่งที่หล่อหลอมจากนิวยอร์กเกอร์เข้าใจยาก ชีวิตกว่า 3 ปีที่นี่ของธนชาติยังสอนเขาให้รู้จักฟังความต้องการของตัวเอง กล้าที่จะบอกว่าชอบไม่ชอบ รู้จักปฏิเสธ ไม่มัวแต่กลัวว่าใครจะคิดหรือรู้สึกอะไร

“เรารู้สึกว่าคนไทยประนีประนอมมากเกินไป ถ้ามันต้องชน ในจังหวะสุดท้าย เรามักจะหักหลบไม่กล้าชน เพราะเรากลัวความขัดแย้ง กลัวที่จะต้องปะทะกัน แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างบนโลกมันพัฒนามากได้เพราะคนมันทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน ลุยแล้วคุยกันหาทางออก การไม่กล้าบอกสิ่งที่ตัวเองคิดจริงๆ แม้จะหักหนีต่อกันแต่ความขัดแย้งในใจยังอยู่ กลายเป็นวัฒนธรรมพูดลับหลัง นินทา ตั้งเป็นพรรคเป็นพวก เพียงเพราะเราหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าแค่นั้น

“เราเคยอ่านเจอประโยคหนึ่งว่า ‘Thailand is the land of smiles but they smile for many reasons’ เราไม่ได้เพราะเป็นมิตรอย่างเดียว แต่เรายิ้มเพราะไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร ยิ้มเพราะยิ้มไว้ก่อน โคตรจริงเลย แต่เดี๋ยวก่อน นี่มันนอกเรื่องนิวยอร์กแล้วนะ” ธนชาติ ณ กรุงเทพฯ ยิ้มอ่อนให้เรา

ธนชาติยอมรับว่านิวยอร์กทำให้เขาเป็นคนกวนๆ ขึ้นจากแต่ก่อน

“ที่นี่ เราเห็นอารมณ์ขันจากทุกอย่างรอบตัว เป็นช่วงเวลาที่เราได้ input อารมณ์ขันประหลาดๆ เยอะมาก อยู่ไทยเราจะชินกับอารมณ์ขันแบบเดิมๆ อารมณ์คอเมดี้ ตลกแบบหัวเราะ 555 ซึ่งเป็นเพียงซับเซ็ตหนึ่งของอารมณ์ขันแบบ humor มีเสียดสี มีหม่นหมอง เช่น ตัวอย่างรายการ Between Two Ferns with Zach Galifianakis รายการสัมภาษณ์คนดังที่ตลกร้าย (มากๆ) เพราะในชุดคำถามของพิธีกรนั้นมีเส้นบางๆ กั้นระหว่างตลก หยาบคาย และดิบเถื่อนอยู่”

ธนชาติเจออารมณ์ขันที่ ‘อะไรก็ไม่รู้’ มากขึ้น เขาบอกว่า ตอนที่ทำลุงเนลสันครั้งแรก (BKK 1st Time : ตอนโดนคนไทยด่าครั้งแรก) ธนชาติไม่รู้หรอกว่าคนจะขำกับเขาด้วยหรือเปล่า แต่เขาขำ ก็เลยทำออกมา ซึ่งพิสูจน์แล้วว่านอกจากจะเข้าใจยังเกิดเป็นกระแสที่เปลี่ยนชีวิตเขาไม่น้อย

“คนไทยต้องการอารมณ์ขันหลากหลายประเทศกว่านี้ ทุกวันนี้ลูกค้าถามว่า ‘คุณเบ๊น หนังมันจะตลกไหม’ เราก็ตอบว่า ‘มันคงตลกแหละ’ จริงๆ ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นวิวัฒนาการของอารมณ์ขันบ้างแล้ว ไม่ต้องตึ่งโป๊ะแบบเดิมๆ ก็ได้”

“นี่แหละสิ่งที่เราได้จากนิวยอร์ก” ธนชาติทิ้งท้าย

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan