The Cloud X PONY

หากมองเมืองเมืองหนึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มนุษย์ที่อาศัยในเมืองนั้นก็คงคล้ายเป็นผลผลิตของเมืองนั้น เราถูกประกอบสร้างจากวัตถุดิบต่างๆ ในบรรยากาศที่อาศัยอยู่

เพลงที่ได้ฟัง หนังที่ได้ดู หนังสือที่ได้อ่าน สถาปัตยกรรมที่พบผ่าน สถานการณ์ที่พบเจอ หล่อหลอมเราให้เป็นคนแบบนี้ คิดแบบนี้ มองโลกแบบนี้ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่

บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ คือคนหนึ่งที่บางชิ้นส่วนในตัวเขาก่อร่างสร้างขึ้นที่นิวยอร์ก

หลังเรียนจบและทำงานประจำเช่นมนุษย์ปกติทั่วไปอยู่ราว 3 ปี ชายหนุ่มตัดสินใจทิ้งชีวิตในพื้นที่ปลอดภัยไว้ข้างหลังเพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองในฝันของคนในวงการสร้างสรรค์อย่างนิวยอร์ก เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 4 ปีเต็มๆ ก่อนจะกลับมาทำงานในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ที่เรารู้จักอย่าง Countdown และ ฉลาดเกมส์โกง

หลายคนอาจไม่รู้ว่าภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตที่เขาเป็นผู้กำกับอย่าง Countdown นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากหนังสั้นที่เขาทำในช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ที่นั่น

ที่ผ่านมาผมฟังแนวคิดในการทำงานของเขามาแล้วมากมาย แต่กลับไม่ค่อยได้ฟังเขาเล่าถึงเมืองที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนแบบที่เราเห็น ผมจึงนัดพบเขาในเช้าวันธรรมดา เพื่อฟังเขาย้อนเล่าถึงมหานครที่หลายคนใฝ่ฝันว่าจะได้ไปใช้ชีวิตที่นั่น

นิวยอร์กทิ้งอะไรไว้ในตัวเขาบ้าง ถ้าพร้อมแล้ว ขอชวนย้อนกลับไปที่สนามบินวันที่ชายหนุ่มออกเดินทาง

CHAPTER 1

ณ สนามบินสุวรรณภูมิ

แม้จะเสี่ยงที่ตัดสินใจลาออกจากงานอันมั่นคงอย่างผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณา ขายทรัพย์สินที่มีอย่างรถยนต์ เพื่อเอาเงินที่มีทั้งหมดตอนนั้นเดินทางไปเรียนภาษาและกราฟิกดีไซน์ที่นิวยอร์ก โดยมีเงินติดตัวไป 1 แสน แต่เขากลับบอกว่า ไม่หวาดกลัวใดๆ

“ที่ไม่กลัวอาจเพราะตอนนั้นยังเด็กด้วยมั้ง คือถ้าไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน เราก็ไปด้วยความร่าเริงมาก

“จำได้ว่าตอนที่รู้สึกหวาดกลัวจริงๆ คือตอนเครื่องบินกำลังจะแลนดิ้ง กัปตันประกาศบนเครื่องบินว่า เรากำลังจะถึงสนามบิน JFK ในอีก 20 นาที เราไปถึงตอนกลางคืน มองไปข้างนอกเป็นความมืด โอ้โห มันเป็นเชิงสัญญะมาก ถึงแล้วยังไงต่อวะ คนที่นัดมารับก็ไม่รู้จัก แล้วจะมาจริงมั้ย แล้วถ้าหางานไม่ได้ล่ะ คือความกลัวทุกอย่างจริงๆ มันซ่อนอยู่ข้างใน แล้วออกมาพร้อมกันตอนล้อแตะพื้น”

“ตอนอยู่เมืองไทยชีวิตก็ปลอดภัยดีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปนิวยอร์ก” ผมสงสัย

“ปลอดภัยกับน่าเบื่อไม่เหมือนกันนะ” เขาตอบทันที “สำหรับเรา เราอยากทำงานในวงการนี้มาตลอด พอเรียนจบได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับชีวิตก็โอเคแหละ สนุกดี ทำไปเรื่อยๆ ก็คงจะเก่งขึ้น แต่เราแค่รู้สึกว่ามันพอหรือยังนะ เราได้ลองค้นหาทุกอย่างหรือยัง”

แต่นั่นแหละ ถ้ามันง่ายดาย คงไม่ใช่ชีวิต

หลังล้อเครื่องบินแตะพื้นแผ่นดินนิวยอร์ก ชีวิตช่วงแรกของเขาที่นั่นก็ต้องเผชิญความยากลำบากมากมายชนิดที่เขาจินตนาการไม่ออก

“ผมโตมากับการดูหนังฮอลลีวู้ด ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตอะไรยังไม่แรง พวกภาพจำทั้งหลายที่เรามีต่ออเมริกาคือผ่านหนัง เพราะฉะนั้น ภาพนิวยอร์กของเราคือกะว่าเหยียบพื้นปุ๊บจะเห็น ทอม แฮงก์ กับ เม็ก ไรอัน เดินในเมือง หิมะโปรยสวยๆ ซึ่งมันไม่ใช่เลย” บาสย้อนเล่า

“ต้องใช้คำว่ามันโหด เรามีเงินไป 3,000 พันเหรียญฯ ไปถึงเจอค่าเช่าเดือนละ 800 เหรียญฯ ไม่รวมค่ามัดจำอีกครึ่งหนึ่ง จ่ายค่าเรียนอีก ชีวิตเราจึงแขวนอยู่บนการหางานทำ เราทำงานที่ร้านอาหาร ตอนไปแรกๆ ตั้งงบว่าเราต้องใช้วันละประมาณ 3 เหรียญฯ เวลาไปเรียนภาษา มันก็จะมีตู้กดขนมในโรงเรียน ถ้าลงไปซื้อข้าวมันจะราคา 5 – 6 เหรียญฯ ใช่มั้ย เราเลยใช้วิธีกดพายแอปเปิ้ลราคา 1 เหรียญ มันขนาดนั้นเลยนะช่วงแรก”

“แล้วคุณถามตัวเองบ้างมั้ยว่ามาลำบากทำไมที่นี่ ผมสงสัย

“ถามตลอด โดยเฉพาะช่วงแรกๆ เราไปทำงานร้านอาหาร เราต้องเป็นตำแหน่งต่ำสุดของร้านอาหารคือ busboy เด็กเสิร์ฟคือ waiter แต่เราเป็นแรงงานที่เก็บจาน เคลียร์โต๊ะ เช็ดโต๊ะ ถูพื้นร้าน ขัดส้วม เกิดมาอยู่บ้านเรายังไม่เคยขัดห้องน้ำที่บ้านเลย พ่อแม่ทำให้ แต่นี่เราต้องมานั่งขัดห้องน้ำให้คนอื่น”

“แล้วตอบตัวเองว่ายังไง”

“ไม่รู้ว่ะ ตอบอย่างนี้แหละ ไม่รู้ แต่เรามาแล้ว ต้องทำไปจนกว่าจะได้คำตอบ คือไม่มีใครห้ามเรากลับเมืองไทยนะ แต่ว่าถ้ากลับนี่โคตรลูสเซอร์เลยนะสำหรับเรา สมมติไปอยู่เดือนเดียวสองเดือนแล้วกลับนี่คือมึงไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่นแล้ว ถ้าแค่นี้ทนไม่ได้

เรารู้สึกว่าก่อนเราจะไป เราคิดว่าเราโตแล้ว คิดว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว สำหรับเรา ณ จุดนั้นความเป็นผู้ใหญ่คือการเรียนจบมหาวิทยาลัย ทำงานได้เงินเดือน มีรถขับ นี่คือผู้ใหญ่แล้ว สุดท้ายมันไม่ใช่เลย มันเป็นแค่แพ็กเกจจิ้งของความเป็นผู้ใหญ่ แต่แกนหลักมันยังไม่ใช่ แล้วพอไปอยู่นิวยอร์กเราเจออะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้เราต้องดีลกับตัวเองเยอะ อย่างเช่นเรามีอาม่าที่เรารักมากๆ เขาเป็นคนเลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็กๆ ตอนไปอยู่นิวยอร์กแกอายุหกสิบกว่า แล้วสุดท้ายแกก็เสียโดยที่เราไม่ได้กลับไปงานศพ สุดท้ายเราต้องดีลกับตัวเอง ต้อง move on ก็มองเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราโตขึ้น

“ไม่รู้เรามองโลกในแง่ลบเกินไปหรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่าทุกความเจ็บปวดในชีวิตมันจะทำให้เราแข็งแรงขึ้น ทำให้เราเป็นเรา”

ชีวิตที่ทั้งเจ็บปวดและงดงามในนิวยอร์กของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

CHAPTER 2

แม้เขาจะพรั่งพรูเรื่องราวความยากลำบากต่างๆ ที่พบเจอในนิวยอร์กออกมามากมาย แต่เขาก็ย้ำชัดเจนว่าช่วงเวลาที่อยู่นั่นเขามีความสุขมากกว่าความทุกข์

มีช่วงเวลาที่งดงามไม่น้อยกว่าความเจ็บปวด

“แล้วโมเมนต์ไหนที่คุณรู้สึกว่าคิดถูกแล้วที่มานิวยอร์ก” ผมชวนชายตรงหน้าทบทวนเรื่องราวเมื่อวันวาน

“ช่วงแรกๆ ที่ทำงานในร้านอาหารเรามีคำถามใช่ไหมว่าเรามาทำไม มาเพื่ออะไร กลับบ้านก็ดึก เราเลิกงานออกจากร้านราวตี 1 ลงไปรอซับเวย์เพื่อกลับบ้าน ปกติเวลาเข้าไปในขบวนรถไฟก็จะเต็มไปด้วยคนใช้แรงงานแบบเรา เป็นคนเม็กซิกัน คนจีน ที่เพิ่งเลิกจากร้านอาหารมาเหมือนกัน ทุกคนเต็มไปด้วยความเหนื่อยและเศร้าหมอง

“แล้วมีอยู่วันหนึ่ง เราเข้าไปในขบวนรถไฟ มันเป็นบรรยากาศเหมือนทุกวัน แล้วอยู่ดีๆ เราก็ได้ยินเสียงเพลง What A Wonderful World ของ Louis Armstrong (หลุยส์ อาร์มสตรอง) หันไปเป็นคนดำคนหนึ่งร้องเพลงนี้อยู่ในโบกี้ แล้วเราก็เห็นว่าทุกคนดูซาบซึ้งกับเพลงที่เขาร้อง พอร้องถึงท่อนฮุกเราขนลุกเลยนะ มันมีความงามในความทราม

“เรารู้สึกว่าโมเมนต์แบบนี้อยู่เมืองไทยเราคงไม่ได้เห็น ไอ้ความเป็นพลเมืองโลกที่รู้สึกร่วมกันบางอย่างที่มันเจ็บปวด แต่เราเจ็บปวดเพื่ออะไร เพื่อความสวยงามบางอย่าง เพื่อความเชื่อบางอย่าง เพื่อแพสชันบางอย่าง ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนในขบวนนั้นยอมเหนื่อยอย่างนี้ก็เพื่อจุดประสงค์อะไรสักอย่างก็ไม่รู้ที่เป็นของเขา เราทำเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต คนเม็กซิกันที่นั่งตรงข้ามอาจจะทำเพื่อลูก คนจีนอาจจะทำเพื่อเมีย แต่ว่ามันเป็นโมเมนต์ที่เราแชร์ด้วยกันได้ แล้วเรารู้สึกว่าชีวิตมีความหมายเพื่อใช้เพื่อทำอะไรสักอย่าง”

และอย่างที่เขาเล่า หนึ่งในสิ่งสำคัญที่หล่อหลอมเขาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่อยู่นิวยอร์ก คือ ผู้คนต่างๆ ที่เขาได้พบเจอ ได้สนทนา

“สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนทัศนคติของเราในการทำงาน คือก่อนหน้านี้เราเป็นคนที่คิดถึงฟอร์มของภาพยนตร์ คิดถึงแพ็กเกจจิ้ง หมายถึงทำหนังรักก็คือหนังรัก ต้องใช้เพลงแบบนี้ เคลื่อนกล้องแบบนี้ จัดแสงแบบนี้ แต่พอเราอยู่นิวยอร์กมันทำให้เราเปลี่ยนไปเมื่อเราไปเจอกับความเข้มข้นของพลเมืองเขา ความที่ทุกคนในซับเวย์ดูมีเรื่องเล่าหมดเลย 

“ยกตัวอย่างเพื่อนของเราคนหนึ่งที่ทำร้านอาหารด้วยกัน เป็นคนอินโดหรือฟิลิปปินส์จำไม่ได้แล้ว ก็คุยกัน ปรากฏว่าเขามานิวยอร์กด้วยการนั่งเรือบรรทุกน้ำมันมา คือเขาไม่มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน เลยหนีลงเรือบรรทุกน้ำมัน โดนจับได้ก็ขอทำงานอยู่บนเรือนั้น 3 เดือน แล้วก็มาขึ้นฝั่งที่นี่ ฟังแล้วแบบไอ้ที่กูดราม่ากินพายแอปเปิ้ลนี่แบบกระจอกไปเลย

“หรืออย่างมีคนหนึ่งเป็นคนเม็กซิกัน นึกภาพคนเม็กซิกันในหนังตัวใหญ่ๆ เขาจะมีรอยสักโผล่ออกมานอกชุดยูนิฟอร์มของร้าน พอเราเริ่มสนิทกัน ก็บอกเขาว่าขอดูรอยสักได้มั้ย เขาก็ถกขึ้นมา เป็นตัวการ์ตูนในเรื่อง Monster, Inc. เราก็หัวเราะเขา แล้วถามว่า นี่คุณชอบการ์ตูนเรื่องนี้ขนาดนี้เลยเหรอ เขาก็บอกว่า เขาไม่ได้ชอบ ลูกเขาชอบ เขาสักให้ลูก คือเรื่องราวอะไรพวกนี้เราฟังแล้วรู้สึกว่ามันเต็มไปด้วยวัตถุดิบที่เราสามารถหยิบจับมาเล่าได้ หลังจากนั้นเราเลยกลายเป็นคนที่เวลาดูหนังเราจะสนใจมิติของตัวละคร จากที่ดูแค่ฟอร์มของมัน นี่คือสิ่งที่เราเปลี่ยนไป”

ชีวิตที่ทั้งเจ็บปวดและงดงามในนิวยอร์กของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

CHAPTER 3

บาสบอกว่า สิ่งสำคัญในการอาศัยอยู่ที่นิวยอร์กนอกจากเงินคือแพสชัน

“นิวยอร์กเป็นเมืองที่ถ้าไม่มีแพสชันอะไรเลยอยู่ไม่ได้นะ หรืออยู่ได้แหละแต่ค่อนข้างยาก ถ้าคุณไม่มีแพสชันในการที่จะทำอะไรกับชีวิต ในงานตัวเอง ในสายงานตัวเอง จะอยู่ยากมาก” ชายหนุ่มเล่าถึงสิ่งที่ได้สัมผัส

“ถ้าคุณไปอยู่เมืองเล็กๆ คุณจ่าย 500 เหรียญฯ อาจจะได้สิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่านิวยอร์กสองเท่าสามเท่า แต่เมืองเล็กๆ เหล่านั้นมันก็ไม่มีสิ่งที่นิวยอร์กมี มันไม่มีโอกาส ไม่มีคอนเสิร์ตที่เมื่อคุณหยุดสุดสัปดาห์แล้วสามารถซื้อตั๋วไปดูได้ ลงซับเวย์ก็เห็นนักดนตรีเอาเลื่อยตัดต้นไม้มาสีให้ฟัง มันไม่มีอะไรแปลกๆ เพี้ยนๆ ที่ไม่น่าเบื่อ แล้วสิ่งเหล่านั้นมันค่อยๆ เติมอะไรบางอย่างในตัวเราให้มันเต็มขึ้น”

ช่วงท้ายๆ ที่อยู่ที่นั่น โชคชะตาก็พัดพาให้เขาได้รวมตัวกับเพื่อนศิลปินจัดนิทรรศการของศิลปินไทยในนิวยอร์ก โดยแต่ละคนก็ทำงานศิลปะในแขนงที่ตัวเองถนัด มีแพสชันในอะไรก็แยกย้ายกันไปทำมาจัดแสดง

และภาพยนตร์สั้นที่เขาทำในช่วงเวลานั้นเองคือพิมพ์เขียวของภาพยนตร์เรื่อง Countdown

“เราไปทำหนังสั้นเรื่องหนึ่งความยาว 40 นาที ฉายที่นิวยอร์ก พอฉายที่นั่นเสร็จก็มีคนเอามาฉายที่ House RCA รอบหนึ่ง แล้วน้องหมู-ชยนพ บุญประกอบ ที่กำกับเรื่อง เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ กับ SuckSeed ห่วยขั้นเทพ เขาไปดูแล้วชอบ เลยไปขอดีวีดีเอาไปให้พี่เก้ง-จิระ มะลิกุล ดู แล้วโชคดีที่พี่เขาชอบเหมือนกัน ก็เลยโทรตามเราจากที่นั่นกลับมา

Countdown มันเป็นการกรองสิ่งที่เราคิดและเราเชื่อตลอด 4 – 5 ปี ในนิวยอร์กมาอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลเคชัน ผู้คน สไตล์หนัง มันคือสิ่งที่เราเห็นในช่วงที่เราอยู่นิวยอร์ก แม้กระทั่งตัวธีมของหนังเองก็ตาม มันมีหลายๆ โมเมนต์ในนิวยอร์กที่ทำให้เราตั้งคำถามว่า จริงๆ ชีวิตจะดีจะแย่ขึ้นอยู่กับเราเลยนะ โอกาสมันมารอบทิศทางเลย เพียงแต่เราจะเปิดประตูต้อนรับโอกาสเหล่านั้นหรือเปล่า เราจะยอมทำสิ่งแย่ๆ หรือเปล่า”

แล้วคล้ายใครบางคนเขียนบทไว้ ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ในชีวิตอย่าง ฉลาดเกมส์โกง ที่ทำให้เขาได้รับคำขยายเป็นผู้กำกับร้อยล้าน ก็ได้รับการคัดเลือกให้ไปฉายเป็นภาพยนตร์เปิดเทศกาล New York Asian Film Festival

“ตอนรู้ว่าหนังที่ทำจะได้กลับไปฉายที่นิวยอร์ก ภาพเก่าๆ ย้อนกลับมาบ้างไหม” ผมถามผู้กำกับหนุ่ม

“ยังไม่รู้สึกขนาดนั้น แค่รู้สึกดีใจที่มีคนเลือกหนังไปฉาย แต่มันค่อยๆ รู้สึกมากกว่า เรานึกถึงตอนที่เราอยู่ที่นั่นแล้วเราต้องไปเข้าคิวซื้อตั๋วดูหนังตามเทศกาล แล้ววันหนึ่งหนังที่เราทำมันได้ไปฉาย เออ มันเปลี่ยนตำแหน่งของเราไปนิดหนึ่ง เราก็ดีใจ

“เราว่าไม่ว่าจะเจออะไร พอเราผ่านมันมาได้แล้วถึงจุดหนึ่ง ความทุกข์ในชีวิตมันอาจจะกลายเป็นแค่ความทรงจำที่เรารู้สึกว่า ดีเหมือนกันว่ะที่ผ่านมาได้”

ชีวิตที่ทั้งเจ็บปวดและงดงามในนิวยอร์กของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ