The Cloud x Designer of the Year

ระยะเวลา 34 ปี ถ้าเทียบเป็นคนๆ หนึ่งก็น่าจะเป็นคนที่อยู่ในวัยทำงานมาได้สักระยะ ผ่านเจอเรื่องร้อนหนาวมาบ้าง แต่ก็คงจะยังไม่เจนจัดในชีวิตมากนัก

แต่ระยะเวลา 34 ปี ของบริษัทออกแบบอย่าง August Design Consultant ที่ก่อตั้งโดย เด้ง-พงษ์เทพ สกุลคู นักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2019 : Honor Awards นั้นต่างออกไป ด้วยระยะเวลาขนาดนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพของการออกแบบได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะนอกจากการออกแบบงานตามโจทย์ของลูกค้าแล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่ที่เขาได้ขับเคลื่อนวิชาชีพสถาปนิกภายในให้ปรากฏชัดเจนมากขึ้นในยุคที่หลายคนยังมองว่างานตกแต่งภายในเป็นเรื่องของการประดับตกแต่งภายในอาคาร แต่ด้วยกรอบความคิดและทัศนคติ ทำให้เกิดการออกแบบพื้นที่ภายในอาคารร่วมกันไปกับพื้นที่ภายนอกและภูมิสถาปนิก

พงษ์เทพ สกุลคู นักออกแบบภายในที่สนใจในการออกแบบพื้นที่ที่อยู่สบายแบบพอดี

จากบัณฑิตสถาปัตยกรรมภายในรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย สู่การทำงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในที่ประเทศสิงคโปร์ เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ออกแบบจนหล่อหลอมเป็นแรงบันดาลใจหอบกลับมาประเทศบ้านเกิด เพื่อสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมภายในอย่างที่ตัวเองเชื่อ และยังส่งต่อถึงบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสร้างทรัพยากรสถาปนิกภายในที่มีคุณภาพให้กับประเทศ

พงษ์เทพ สกุลคู นักออกแบบภายในที่สนใจในการออกแบบพื้นที่ที่อยู่สบายแบบพอดี

และนี่คือหลักการทำงานในฐานะผู้บุกเบิกวงการสถาปัตยกรรมภายใน และสร้างความตระหนักให้ผู้คนเห็นความสำคัญของพื้นที่ที่พอดีกับมนุษย์ของเด้ง-พงษ์เทพ สกุลคู

God Is In The Details

เด้งก็เหมือนสถาปนิกหลายคนที่เมื่อเรียนจบก็ได้เลือกไปทำงานบริษัทสถาปนิกที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเมือง และต้องการแรงงานออกแบบเป็นจำนวนมาก เขาทำงานอยู่หลายปี ในระหว่างนั้นแม้จะสอบติดได้เรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบที่อเมริกา แต่เขาก็เลือกที่จะเรียนรู้ผ่านการทำงานต่อ จนถึงวันหนึ่งที่รู้สึกอิ่มตัว

“ตอนลาออก ผมบอกกับเจ้านายว่าขออนุญาตไปผจญภัยหน่อย แกก็เตือนผมว่าทำออฟฟิศออกแบบมันไม่ง่ายหรอก แต่ด้วยความที่เรายังเด็ก ยังอยากค้นหาแนวทางในการออกแบบของตัวเอง สมัยนั้นโปรเจกต์ที่เราทำจะเป็นโรงแรม Chain ใหญ่ๆ ซึ่งมีแพตเทิร์นค่อนข้างตายตัว เราก็รู้สึกว่างานออกแบบภายในมันน่าจะมีความหลากหลายมากกว่านั้น คือไม่ได้เป็นงานประดับตกแต่งอย่างเดียว

พงษ์เทพ สกุลคู นักออกแบบภายในที่สนใจในการออกแบบพื้นที่ที่อยู่สบายแบบพอดี

“ในตอนนั้นมีคนชอบแซวกันว่าสถาปนิกทำเสามา พวกอินทีเรียก็ไปตัดเสาออก หรือสถาปนิกไม่ได้ทำเสามา อินทีเรียก็ไปใส่เสาเพิ่มให้ เราอยากจะสร้างให้เกิด Interior Architecture Space หรือสร้างพื้นที่ว่างภายในอาคารโดยมีความเข้าใจในวิธีคิดแบบสถาปัตยกรรม ด้วยการร่วมออกแบบไปพร้อมกันกับสถาปนิกเลย ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเรื่องใหม่มาก เพราะปกติงานสองส่วนนี้มันแยกขาดออกจากกัน” เด้งเล่าถึงวันที่ลาออก

นอกจากกรอบงานออกแบบภายในที่กว้างขึ้นแล้ว เด้งก็อธิบายให้เราฟังถึงความชอบและสไตล์งานออกแบบของตัวเอง ที่หากมองเร็วๆ ในพื้นที่ก็เหมือนจะไม่มีอะไรหวือหวา ค่อนไปทางเรียบง่าย แต่เป็นเพราะเขาให้ความสำคัญกับตอนที่มีคนมาใช้เวลาอยู่ภายในพื้นที่มากกว่า

“ผมเป็นคนชอบอะไรที่มันอยู่นานๆ ผมชอบงานที่มันไม่ได้เรียกร้องความสนใจมากในวูบแรก แต่เมื่อมองไปแล้วมันมีรายละเอียดบางอย่างให้ค้นหา มีสุนทรียภาพในการจับจังหวะของพื้นที่ ของเฟอร์นิเจอร์ มีเรื่องสัจจะของวัสดุ ซึ่งทำให้คนที่เข้ามาในพื้นที่ค้นหาต่อไปได้เรื่อยๆ ” เด้งเล่าถึงไอเดียที่แฝงอยู่ในการออกแบบ

สิ่งที่เขาต้องการให้ผู้คนค้นหาบนพื้นที่เกิดขึ้นผ่านความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกของผู้คนกับพื้นที่ ณ ขณะนั้น และอีกส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างความหมายให้กับพื้นที่แบบนั้น คือการเปิดให้เห็นสัจจะของวัสดุ

พงษ์เทพ สกุลคู นักออกแบบภายในที่สนใจในการออกแบบพื้นที่ที่อยู่สบายแบบพอดี
พงษ์เทพ สกุลคู นักออกแบบภายในที่สนใจในการออกแบบพื้นที่ที่อยู่สบายแบบพอดี

“อินทีเรียคืออาชีพที่ดีลกับวัสดุ สมัยก่อนเรามีวัสดุไม่เกินสิบอย่าง วัสดุที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นคือแผ่นลามิเนต แต่การมีวัสดุไม่กี่อย่างมันทำให้เราคิดงานอย่างพิถีพิถัน และต้องใช้วิจารณญาณในการทำงานอย่างละเอียดอ่อน ซึ่งผมว่ามันเป็นการฝึกที่ดี ในขณะที่ปัจจุบันเรามี Material เยอะมาก ทำให้วิธีการ Practice เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน คือการคัดสรรวัสดุเพื่อที่จะมาใช้อย่างระมัดระวัง ปัจจุบันมีวัสดุเยอะมากหลายร้อยอย่าง กลายเป็นว่าคุณต้องคัดออกแทน มันก็ทำให้เราต้องระมัดระวังและต้องนำมาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง” สัมผัสจากความรู้สึกและสัมผัสจากวัสดุ จึงเป็นแก่นแท้ในงานดีไซน์พื้นที่ที่ทำให้งานของ August Design ยังคงตราตรึงในความทรงจำของผู้ใช้งานพื้นที่แม้จะผ่านมาหลายปี

พอดี พอดี

เราถามถึงแรงผลักดันที่ทำให้เด้งยังคงสนุกกับการทำงานอยู่ในปัจจุบันนี้

“ผมคิดว่าที่ยังทำงานอยู่ทุกวันนี้ สี่สิบกว่าปีในวิชาชีพก็เพราะความสนุกแบบนี้ ได้เจอผู้คนหลากหลายความคิด ได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์” เด้งเกริ่น

“เราทำงานบนกระดาษ ทำงานบนอากาศให้มันเป็นของจริง แต่สุดท้ายแล้วคนที่ใช้งานก็คือมนุษย์ เพราะฉะนั้น การสื่อสารกับใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานเป็นเรื่องสำคัญมาก บางทีการที่จะทำงานออกมาได้มันต้องเข้าใจคนก่อน ทั้งลูกค้า ทั้งผู้ใช้งาน แล้วจึงประมวลผลออกมาว่าเราควรจะทำงานออกมาแบบไหน ซึ่งมันก็ไม่มีโจทย์ตายตัวเหมือนกัน และแต่ละงานมันก็ไม่เหมือนเดิม ถึงแม้จะเป็นประเภทงานเดียวกัน แต่ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหามันไม่เหมือนเดิม ก็ออกมาเป็นดีไซน์หรือผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน”

สถาปัตยกรรมภายใน
สถาปัตยกรรมภายใน

เนื่องจากอาชีพออกแบบภายในต้องทำงานร่วมกับนักออกแบบหลากหลายที่อยู่ในไซต์เดียวกัน ทั้งสถาปนิกและภูมิสถาปนิก เด้งก็ได้ทั้งเรียนรู้ ดูแล ไปจนถึงปรับรูปแบบของตัวเองให้พอเหมาะพอดีกับภาพรวมอีกด้วย

“เวลาที่ผมทำงานกับสถาปนิกแต่ละท่าน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มันก็เป็นการเรียนรู้มนุษย์อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน นอกจากลูกค้าเราก็เรียนรู้วิธีคิดจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ และคอยตามหาความพอดีในการทำงานของเราด้วย คือถ้างานสถาปัตยกรรมมันโดดเด่นมาก ภูมิทัศน์ก็มีคาแรกเตอร์ ผมจะเลือกปรับงานออกแบบภายในส่วนของผมให้มันเบาลง พยายามหา และปรับเพื่อให้ภาพรวมมันดูพอดี ถ้าทุกอย่างมันแข่งกันไปหมด อาจจะทำให้คนเข้ามาในพื้นที่แล้วรู้สึกไม่ค่อยดีก็ได้

สถาปัตยกรรมภายใน

“ซึ่งความพอดีในงานออกแบบของนักออกแบบแต่ละคน เป็นสิ่งที่แต่ละคนจะต้องสร้างขึ้นมาเองจากประสบการณ์ การเรียนรู้ การตีความ ความชอบ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ความพอดีในงานของผมก็เป็นแบบฉบับเฉพาะตัวจากการตีความของผมเอง แล้วการทำแบบนี้อาจจะทำให้งานของเราไม่มีซิกเนเจอร์ก็ได้ ซึ่งผมก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ผมมองภาพใหญ่มากกว่า

“ผมมองว่ามันเหมือนเพลงหนึ่งแล้วเราเป็นโน้ตตัวหนึ่ง ถ้ามันไม่กลมกลืน เพลงมันคงจะประหลาดพิลึก แล้วถ้าเรามองในภาพที่มันใหญ่ขึ้นเป็นประเทศหรือว่าเมือง ถ้าเราลดอีโก้ลงไป ไม่มองแค่ตึกของเราแต่มองในภาพรวม เมืองก็อาจจะกลมกลืนกัน มันก็คงจะดีนะ หรือถ้าอยากจะปรับให้เมืองมีอัตลักษณ์อะไรบางอย่าง ถ้าเราตั้งหลักการร่วมกันอันหนึ่ง มันก็อาจจะทำให้เมืองเปลี่ยนรูปแบบไปก็ได้” เด้งอธิบายถึงการออกแบบโดยคำนึงถึงภาพรวม

สถาปัตยกรรมภายใน

การเรียนรู้นี่ไม่มีวันสิ้นสุด

สัญชาตญาณที่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติจากการทำงานสถาปนิกภายในมาตลอดทั้งชีวิต คือสายตาที่มองสิ่งรอบตัวอย่างละเอียด และมือที่พร้อมจะบันทึกทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าด้วยกระดาษหรือปากกา ซึ่งด้วยการประกอบอาชีพนี้ทำให้เขามีโอกาสได้เดินทางและพักในโรงแรมที่มีการออกแบบที่ดีในหลากหลายประเทศ และทุกๆ ครั้งที่ได้ไปโรงแรมใหม่ๆ เด้งก็จะสเกตช์แปลนห้อง เฟอร์นิเจอร์ หรือรายละเอียดการตกแต่งต่างๆ จนกลายมาเป็นหนังสือ A Room With a View : A Journey Through the World of Hotel Rooms หนังสือบันทึกลายเส้นสเกตช์ห้องพักจากการเข้าพักในโรงแรมดังทั่วโลก และเขาก็ยังคงทำงานสเกตช์เช่นนี้จนเป็นกิจวัตรของชีวิต ไม่ว่าจะออกเดินทางไปที่ใดก็ตาม

พงษ์เทพ สกุลคู นักออกแบบภายในที่สนใจในการออกแบบพื้นที่ที่อยู่สบายแบบพอดี

“การเขียนมันทำให้คุณจำได้ ซึ่งมันไม่เหมือนการถ่ายรูป การเขียนทำให้คุณเข้าไปถึงรายละเอียด วิธีคิดของคนทำ คุณจะได้เรียนรู้มันเองโดยตรงเลย ซึ่งผมชอบความสดในสิ่งที่เราบันทึกเอาไว้ ผมก็ไม่ได้ใช้เวลากับมันเยอะหรอกครับ การไปพักสำหรับอาชีพเรามันคือการไปรีเสิร์ช การไปเก็บข้อมูล การสเกตช์แบบนี้ก็เป็นการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง แล้วเราก็หยิบเอาวิธีคิดของสิ่งที่เราไปเจอมาประยุกต์กับงานของเรา ในอาชีพออกแบบภายในเนี่ย ห้องในโรงแรมมีหน้าที่การใช้งานอยู่ไม่กี่อย่างหรอก ชีวิตประจำวันของมนุษย์ก็มีอยู่แค่นี้ แต่คุณจะใช้สเปซพวกนี้อย่างไร ในวิธีการแบบไหน ซึ่งการได้เห็นกรณีศึกษามามากๆ มันก็ทำให้เราปรับใช้พื้นที่ได้หลากหลายมากขึ้น” เด้งเล่าถึงงานอดิเรกที่ทำเป็นประจำ

นอกจากหนังสือเล่มนี้จะเป็นผลจากการสังเกตการณ์แล้ว ยังเป็นคู่มือเล่มสำคัญให้กับนักศึกษาสถาปัตยกรรมภายใน สำหรับใช้ศึกษางานออกแบบโรงแรมจากหลากหลายสถานที่ ซึ่งแปรผันตามบริบทต่างๆ กันไปได้เป็นอย่างดี

ออกแบบ-ชีวิต-พอดี

จากการทำงานมากว่า 40 ปีในวิชาชีพการออกแบบ เราถามเด้งถึงพื้นที่พอดีของเขา และคุณค่าในงานออกแบบ

“พื้นที่พอดีสำหรับผมก็คงเป็นพื้นที่ที่เข้าไปแล้วรู้สึกสบาย เป็นพื้นที่ที่คุณอยากกลับไปอีกด้วยความที่มันเหมาะกับการใช้งาน แต่ไม่ใช่ไปเพื่อถ่ายรูป (หัวเราะ) ถ้าเป็นร้านกาแฟก็คือเป็นร้านที่อยากไปนั่งกินกาแฟอีกและมีบรรยากาศที่รื่นรมย์ การทำให้คนที่มาใช้งานพื้นที่แล้วมีความสุข มันก็คือการบรรลุวัตถุประสงค์ของวิชาชีพแล้ว

“ส่วนคุณค่าในงานออกแบบ ผมว่ามันคือการยกระดับการใช้ชีวิตของมนุษย์ มันยกระดับคุณค่าทางจิตใจ การออกแบบที่ดีมันช่วยให้คนได้มีสุนทรียภาพมากขึ้น มีความคิดที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น เหมือนเป็นการยกระดับจิตใจของคน อย่างเช่นเรามองเห็นความงามของวัสดุ ความงามของความไม่สมบูรณ์พร้อม มันเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากในการอธิบายให้คนเข้าใจในเรื่องพวกนี้ นี่คือคุณค่าอย่างหนึ่งของการออกแบบ” เด้งทิ้งท้าย

พงษ์เทพ สกุลคู นักออกแบบภายในที่สนใจในการออกแบบพื้นที่ที่อยู่สบายแบบพอดี

Writer

Avatar

ณัฐนิช ชัยดี

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้ หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง BNK48 ไปญี่ปุ่น และทำสีผม

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan