พลพัฒน์ อัศวะประภา หรือ หมู อาซาว่า เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสตรีเรียบโก้ นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังชุดประกวดให้สาวงามตัวแทนประเทศ กูรูแฟชั่นผู้ทรงอิทธิพลในหน้าหนังสือ เมนเทอร์ผู้เข้มงวดในรายการประกวดสุดยอดนายแบบ เป็นเจ้าของร้านอาหาร เป็น Personal Stylist คนแรกของห้างสรรพสินค้า

พลพัฒน์เริ่มตัดเย็บชุดครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปี

บินไปเมืองจีนเพื่อเลือกซื้อเสื้อผ้ามาดัดแปลงทำชุดขายเมื่ออายุ 17 ปี 

มีชีวิตอยู่ในกรอบสังคมที่ดีจนกระทั่งวันที่อ่านหนังสือเรื่อง พันธุ์หมาบ้า ของ ชาติ กอบจิตติ และดูซีรีส์เรื่อง Fame (1982) จนเฝ้าฝันชีวิตที่จะได้เรียนศิลปะและทำทุกอย่างตามใจ 

หลังเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลพัฒน์เริ่มต้นทำงานในสายโฆษณา ก่อนไปเรียนต่อเรื่องธุรกิจในสถาบันที่ติดอันดับ 1 ใน 20 มหาวิทยาลัยด้านการบริหารที่ดีที่สุดในโลกยุคนั้น เพื่อกลับไปช่วยงานที่บ้าน 

พลพัฒน์ในวัย 25 ปี ขอทำตามความฝันเล็กๆ ด้วยการสอบเข้าเรียนโรงเรียนศิลปะในนิวยอร์กแม้ไม่มีพื้นฐานการวาดภาพ เพราะไม่ได้คิดว่าจะมาทำเล่นๆ งานของพลพัฒน์เข้าตา Marc Jacobs จนได้ฝึกงาน ก่อนจะได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังของอิตาลีอย่าง Max Mara

พลพัฒน์ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริการวมทั้งสิ้น 11 ปี จากแผนเดิมที่ตั้งใจไปเรียนเพียง 2 ปี

พลพัฒน์ ก่อตั้งแบรนด์ ASAVA ในวัย 37 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยหากเทียบกับธุรกิจแฟชั่นแบรนด์อื่น เขากลายเป็นปรากฏการณ์ มีคนพูดถึงงานของ ASAVA พอๆ กับชื่อของหมู อาซาว่า

หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ASAVA จากคนวาดรูปไม่เป็น ได้เรียนแฟชั่น กระทั่งแบรนด์ดังบินมาขอที่บ้านไปทำงานด้วย

บทสนทนาระหว่างเรา เกิดขึ้นในบ่ายวันหนึ่งที่ห้องทำงานของพลพัฒน์ บนชั้น 4 สำนักงานใหญ่ สุขุมวิท 45 ท่าทีสบายๆ ตัดสลับเรื่องราวสมัยปฐมบทก่อนเป็น ASAVA ในวันนี้ เต็มไปด้วยข้อคิดที่แม้ไม่ได้อยู่วงการแฟชั่น หรืออยากริเริ่มธุรกิจของตัวเอง ก็สนุกกับแผนการตามฝันอันเข้มงวด ตัวอย่างของการมีวินัยพร้อมๆ ความเพียรพยายาม และจิตใจที่อยากให้คนรอบข้างมีความสุข 

พลพัฒน์ เป็นคนรักงานที่พยายามรักษาสมดุลชีวิตด้วยใจที่เป็นสุข ปัจจุบัน ASAVA Group เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า 5 แบรนด์ ได้แก่ ASAVA, ASV, WHITE ASAVA, Uniform by ASAVA และ MOO และร้านอาหาร 2 ร้าน ได้แก่ SAVA Dining และ Co Limited 

เรื่องใหญ่ๆ ที่เราพบ และเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในชีวิตของพลพัฒน์ คือเขาเป็นคนไม่ชอบเหมือนใคร ยอมไม่ได้หรอกหากสิ่งที่ทำไม่โดดเด่นและแตกต่าง

และถ้าคุณคิดจะตามเขาล่ะก็ ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่า มันไม่หมู

หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ASAVA จากคนวาดรูปไม่เป็น ได้เรียนแฟชั่น กระทั่งแบรนด์ดังบินมาขอที่บ้านไปทำงานด้วย

จุดเริ่มต้นของความหลงใหลเสื้อผ้าของเด็กชายพลพัฒน์ตอนอายุ 13 เป็นยังไง

ตอนอายุสิบสามยังไม่รู้จักคำว่าหลงใหล แค่รู้สึกว่าชอบ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ ในยุคเรามีวิชาการฝีมือ โจทย์คือตัดเย็บชุดนอน จำได้เลยว่าเป็นผ้า Stripe ลายทางซึ่งเราก็ยังใช้ผ้าลายนี้ในคอลเลกชันปัจจุบัน ตอนนั้นไปเลือกซื้อผ้าที่ร้านเฮี้ยงหยูฮวด ตรงแยกอโศก มาตัดเย็บใส่รายละเอียดและทำมากกว่าที่ครูบอก คนอื่นส่งการบ้านเป็นเสื้อเย็บเสร็จ แต่เราเรียกเพื่อนมาใส่ให้ครูดู อยากให้ครูเห็นรายละเอียดเวลาที่เสื้อสวมอยู่บนร่างกายแล้วสวยกว่ายังไง ถือเป็นแฟชั่นโชว์ครั้งแรกในชีวิต หลังจากนั้นก็ลองทำเสื้อผ้าเครื่องประดับขายที่ร้านของลูกพี่ลูกน้อง ไปซื้อโซ่จากตลาดเสือป่ามาทำกำไล พอประมาณมอหกก็เริ่มไปเมืองจีน ไปดูเสื้อผ้าซื้อเสื้อผ้ามาเปลี่ยนกระดุมเปลี่ยนแบบฝากขายร้านที่สยามสแควร์

ทำเพราะชอบออกแบบหรือเพราะมีหัวด้านการค้าขาย

อาจจะเป็นเพราะโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจซึ่งไม่ได้ทั้งสนับสนุนหรือปิดกั้น เราเองที่รู้สึกว่าน่าจะทำได้ เขาก็ปล่อยให้ลองเรียนรู้ พอยิ่งทำความรู้จักก็แน่ใจว่านี่คือสิ่งที่ชอบ

ชอบอะไร

เริ่มรู้สึกชอบแฟชั่น สี่สิบปีก่อนยังไม่มีคำว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือธุรกิจแฟชั่นเลย แต่มีคำว่าห้องเสื้อ ดีไซเนอร์ ช่างเสื้อ แฟชั่นเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ ไกลตัวผู้คนมาก เท่าที่พอจะมีก็คือกลุ่มนักเรียนออกแบบจากประเทศตะวันตกที่กลับมาเปิดร้านที่ชาญอิสระ 1 มี Greyhound, ธีระพันธ์, ดวงใจบิส, องอาจ นิรมล, เธียเตอร์ เป็นตึกที่เก๋ที่สุดในเวลานั้น เรายังเรียนอยู่มัธยม ขอพ่อแม่ซื้อเสื้อแบรนด์ธีระพันธ์ ของพี่ป้อม (ธีระพันธ์ วรรณรัตน์) ตัวละสามพันบาท ซึ่งเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนถือว่าแพงมาก (เน้นเสียง) 

ไปหาเงินจากที่ไหนมาซื้อเสื้อผ้าตัวละ 3,000 บาท

ที่บ้านทำธุรกิจขายรถโตโยต้าและรถเลกซัส ทุกคนในบ้านทำงานสายธุรกิจ พี่ชายและพี่สาวเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ขณะที่เราเริ่มรู้ตัวว่าชอบแฟชั่น เรานิยามแฟชั่นเป็นความตื่นเต้น หวือหวา โดดเด่นเก๋ไก๋ไม่เหมือนใครในคนรุ่นเดียวกัน และเราก็เริ่มอ่านหนังสือ ลลนา อ่าน Vogue ซึ่งหาซื้อยากมาก ต้องไปซื้อที่ราชดำริเล่มละร้อยกว่าบาท ถ้าอยากซื้อเล่มเก่าต้องไปซื้อที่จตุจักร 

สำหรับเรา แฟชั่นเหมือนโลกอีกใบ ทำให้เราเริ่มรู้จักดนตรี เพลงแจ๊ส รู้จักศิลปิน รู้จักชาติ กอบจิตติ โลกของเราเปลี่ยนไปหลังจากอ่านหนังสือเรื่อง พันธุ์หมาบ้า เราได้เห็นชีวิตในรั้วศิลปากร พูดถึงความไม่อยู่ในร่องในรอย ชีวิตที่ขบถอย่างศิลปิน จากที่เคยคิดว่าทุกอย่างในชีวิตเป็นไปตามแบบแผนที่ใครวางไว้ เรียนหนังสือแล้วโตขึ้นมาเป็นนักธุรกิจ ซึ่งคนในครอบครัวทุกคนคนรอบตัวเป็นแบบนี้ทั้งนั้น ทุกคนมีธุรกิจของตัวเอง ทุกคนเรียนบัญชี จุฬาฯ แล้วต่อ MBA กลับมาบริหารที่บ้าน ซึ่งช่วงนั้นเราแอบฝันว่าอยากเรียนศิลปากรมาก เริ่มคิดถึงการเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็รู้ว่าสุดท้ายคงเป็นไปไม่ได้

ทำไมถึงคิดว่าเป็นไปไม่ได้

ตั้งแต่เกิดมา ทุกคนรอบตัวเรามีชีวิตรูปแบบเดียวกันหมดเลย การเลือกเรียนต่อก็เช่นกัน ถ้าไม่ใช่คณะเศรษฐศาสตร์ บัญชี ก็ต้องรัฐศาสตร์ หรือสาขาวิชาที่บริหารต่อได้ ความคิดที่อยากเป็นลูกที่ดีทำให้ลึกๆ แล้ว เรายอมรับว่าความฝันที่อยากเรียนออกแบบหรืองานสายศิลปะ ไม่ใช่สิ่งที่ครอบครัวจะยินยอม ช่วงนั้นเราดูซีรีส์เรื่อง Fame เป็นชีวิตในโรงเรียนศิลปะที่นิวยอร์ก ก็ตั้งธงในใจว่า ชีวิตหนึ่งอยากจะไปนิวยอร์กให้ได้

แต่สุดท้ายคุณก็เข้าไปเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณมีวิธีบอกที่บ้านยังไง

ตอนนั้นนิเทศศาสตร์เป็นคณะที่ดังมาก ทั้งมีคะแนนสอบเข้าสูงที่สุดในประเทศ เด็กหัวกะทิทุกคนถ้าไม่เรียนหมอหรือวิศวะ ก็จะมาเรียนนิเทศฯ เป็นยุคที่งานโฆษณาเฟื่องฟู ไม่ว่าจะภาพยนตร์ ผู้กำกับ กราฟิก เราไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่เมื่อสิ่งนี้ใกล้เคียงความฝัน เราจึงไปคุยกับพ่อแม่ว่า พี่ชายพี่สาวเรียนบัญชีและเศรษฐศาสตร์ไปแล้ว น่าจะมีคนรู้เรื่องการตลาด โฆษณาและประชาสัมพันธ์ จะได้ช่วยงานที่บ้านได้ครบ ครอบครัวก็สนใจ เราเป็นคนทำอะไรทำจริง ก่อนสอบก็เรียนพิเศษและทำข้อสอบย้อนหลังเป็นสิบๆ ปี เห็นโจทย์แล้วเฉลยคำตอบได้หมด แต่วิชาเลขไม่ทำเลยนะ เข้าไปกา ค ควายอย่างเดียว แต่วิชาอื่นทำได้หมด ออกมาจากห้องสอบรู้เลยว่าสอบติดแน่

เราเลือกภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงเพราะไม่มีใครเลือกเรียนเลย ตั้งแต่เปิดภาคนี้จนถึงรุ่นเรามีคนเรียนสามถึงสี่คน รุ่นก่อนหน้าเราคือครูลิลลี่ (กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์) คนส่วนใหญ่ในคณะเลือกเรียนโฆษณาประชาสัมพันธ์ หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์บ้าง แต่วาทวิทยาฯ คือศูนย์ ตอนแรกเรียนคนเดียว หลังๆ มีเพื่อนตามมาเรียนด้วย เรียนเกี่ยวกับโครงสร้างการพูด การเขียนสุนทรพจน์ให้นายกหรือผู้ไกล่เกลี่ยในศาล เลยไม่ค่อยมีใครอยากเรียน

อุตส่าห์ขอพ่อแม่จนเข้าไปเรียนได้ ทำไมเลือกเรียนภาคที่คนไม่ค่อยเลือก

เราเป็นคนไม่ชอบเหมือนใคร รู้สึกว่าเรียนคนเดียวก็ดี อยากทำอะไรก็ทำได้ จัดตารางเรียนวันอังคารถึงวันพฤหัสบดี เวลาที่เหลือไปลงเรียนการละครที่คณะอักษรศาสตร์ จนเด็กอักษรฯ ทุกคนถือว่าเราเรียนอักษรฯ เรียนกับครูสดใส พันธุมโกมล, ครูแอ๋ว-อรชุมา ยุทธวงศ์, ครูช่าง-ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง, ครูบรูซ แกสตัน, ครูนพมาส ศิริกายะ ได้เล่นละครอักษรฯ แทบทุกเรื่อง เล่นกับพี่ต๊งเหน่ง (รัดเกล้า อามระดิษ) พี่หอย (เสนาหอย-เกียรติศักดิ์ อุดมนาค) พี่แอ๊ด (ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย) 

คนทั่วไปยื่นเรียนจบด้วยหน่วยกิตร้อยสี่สิบกว่าเครดิต ของเรามีร้อยหกสิบกว่าเครดิต เท่ากับจบเกินคนอื่นไปหนึ่งเทอม 

เรียนรู้อะไรจากการเรียนละครบ้าง

เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ทำให้เราค้นพบตัวเอง สื่อสารการแสดงของนิเทศศาสตร์เป็นการแสดงเพื่อวิทยุและโทรทัศน์ แต่ศิลปะการแสดงของอักษรศาสตร์เป็นเรื่องจิตวิทยา การรู้จักตัวตน การเข้าไปค้นพบตัวเอง รู้อารมณ์ของตัวเอง ตอนนั้นเรายังเป็นเด็ก ยังไม่ค้นพบตัวเอง เหมือนเราหลุดเข้าไปในโลกที่มันน่าค้นหา เข้าไปในซอกของจิตใจ รู้ความซับซ้อนของอารมณ์ตัวเอง

หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ASAVA จากคนวาดรูปไม่เป็น ได้เรียนแฟชั่น กระทั่งแบรนด์ดังบินมาขอที่บ้านไปทำงานด้วย
หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ASAVA จากคนวาดรูปไม่เป็น ได้เรียนแฟชั่น กระทั่งแบรนด์ดังบินมาขอที่บ้านไปทำงานด้วย

หลังเรียนจบ ได้กลับไปช่วยทำประชาสัมพันธ์ให้ที่บ้านตามที่บอกหรือเปล่า

เปล่า เราได้งานในบริษัทโฆษณา Lintas ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในไทยตอนนั้น ได้เงินเดือนเยอะที่สุดในรุ่น สอบวิชาสุดท้ายวันพฤหัสบดี วันจันทร์ก็ไปเริ่มงานเป็น AE ซึ่งโดยปกติ Lintas รับเฉพาะเด็กปริญญาโทจากต่างประเทศเพราะใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานเป็นหลัก แต่ตั้งแต่วันแรกที่ฝึกงาน เราก็สื่อสารประชุมงานกับพวกเขาได้อย่างไม่เขิน 

ทำงานได้เก้าเดือน ที่บ้านก็ส่งไปเรียน Strategic Management ที่ Peter F. Drucker Graduate School of Management ของ Claremont Graduate University ที่ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจรถยนต์โดยตรง ซึ่ง Peter F. Drucker เจ้าของหลักสูตรเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการนี้ เขาพยากรณ์หรืออ่านเกมอุตสาหกรรมนี้ได้ขาดที่สุด

จากคนโฆษณา คุณปรับตัวให้เข้ากับวิชาบริหารและการจัดการยังไง เพราะได้ยินว่าเรียนจนได้เกียรตินิยม

พวกเราเด็กเอเชียพื้นฐานค่อนข้างแน่น อีกอย่างเราไม่ต้องเหนื่อยเท่าเด็กฝรั่งที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย วันๆ เราอยู่แต่ในห้องสมุด

สมัยอยู่ประเทศไทย เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มีต้นแบบของความคิดเป็อย่างอิสระ และคำจำกัดความของคำว่าความสำเร็จ ความเป็นลูกที่ดี การเป็นคนดี ดูเหมือนจะใกล้เคียงกันไปหมด ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะออกจากกรอบเหล่านั้น ชีวิตที่ลอสแอนเจลิสเหมือนนกที่เริ่มออกจากรัง ได้สัมผัสอิสระ รู้จักตัวตนมากขึ้น แต่กับเรื่องเรียนต้องพยายามอย่างมาก ต้องรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับรถยนต์ ทำทีสิสเรื่องตลาดรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่บ้านมีข้อมูลพร้อมทุกอย่างเพราะเป็นดีลเลอร์ของโตโยต้า เราเริ่มคิดอย่างจริงจังว่าจะกลับไปทำงานขายรถที่บ้าน หรือลองทำอย่างอื่น

ความฝันที่อยากมีชีวิตเหมือนในหนังเรื่อง Fame ล่ะ หายไปไหนแล้ว

ช่วงที่กลับไทยมาทำทีสิสเรื่องตลาดรถยนต์ เรากลับไปที่คณะนิเทศฯ ตั้งใจปรึกษาผู้ใหญ่เรื่องหาที่เรียนวาดภาพจริงจัง พี่โต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) ซึ่งนั่งอยู่กับรองคณบดีพอดีก็เอ่ยปากว่าจะสอนให้เพราะถูกชะตา วันรุ่งขึ้นเราก็ไปเรียนวาดภาพที่วังบ้านหม้อ เรียนทุกวันเป็นเวลาหกสัปดาห์ จากคนที่วาดรูปไม่เป็น เส้นตรงก็ยังเขียนไม่ได้ พับกระดาษให้เป็นจุดๆ แล้วลากเส้นยังทำไม่ได้เพราะเป็นคนใจร้อนมาก จิตแตกซ่านไม่มีสมาธิ ฝึกจนทำพอร์ตโฟลิโอ เสร็จแล้วบินไปยื่นสมัครเรียนแฟชั่นที่ Parsons School of Design ในนิวยอร์ก เราขายบ้าน ขายรถที่ลอสแอนเจลิส แล้วแบกกระเป๋าสองใบไปนิวยอร์กเลย เป็นครั้งแรกที่หายจากบ้านไม่ติดต่อนานถึงหนึ่งเดือน แต่พ่อแม่ก็รู้ว่ายังไม่ตายแน่ เพราะบัตรเครดิตส่งแจ้งรายการใช้จ่ายไปที่บ้าน

ตอนนั้นเอาความมั่นใจมาจากไหน

ไม่ได้เอามาจากไหนเลย เรียนวาดรูปแค่หกสัปดาห์ มีแค่พอร์ตงานที่หน้าตาไม่เหมือนใคร อายุยี่สิบห้าแล้ว เลยไม่ได้คิดหน้าคิดหลัง นอกจากคิดว่าอยากพาตัวเองไปอยู่ใกล้ตรงไหน ก็พยายามเดินเข้าไปให้ใกล้มากที่สุด ตอนแรกคิดจะไปเรียนเพื่อเป็นของขวัญให้ตัวเองหลังจากทำหน้าที่ของลูกเสร็จ

ชีวิตปีครึ่งที่โรงเรียนศิลปะในนิวยอร์กเป็นยังไงบ้าง

สนุกมาก ทุกอย่างที่นั่นเหมือนในซีรีส์ที่ดู เพื่อนทุกคนก็สุด เป็นช่วงที่ใช้ชีวิตคุ้มค่ามาก เราต้องยอมรับว่านิวยอร์กเหมือนศิลปากร x 1,000 เราสัมผัสได้ว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความฝัน กว่าที่ทุกคนจะมาถึงจุดนี้ได้ทุกคนเข้มงวดกับความฝันของตัวเอง เราซึ่งอยู่ท่ามกลางพลังเหล่านั้นก็ยิ่งฮึกเหิม เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี เรารู้สึกอยู่ในที่ที่ควรอยู่ ทุกอย่างถูกต้องไปหมด มีละครให้ดู มีแกลเลอรี่ให้ไป มีพิพิธภัณฑ์ให้เรียนรู้ ทุกสิ่งที่ชอบอยู่ที่นี่หมดเลย เหมือนเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้

แต่งตัวเต็มที่มาก ทำผมสีน้ำเงิน บางวันแต่งตัวเป็นนักสืบ บางวันเป็นมนุษย์กบ บางวันแต่งเป็นหมอ เหมือนคนบ้าทุกวัน สนุกมาก มีแฟนคลับที่รถไฟใต้ดินรอดูเราทุกวันว่าจะแต่งตัวยังไง วันหนึ่งเขาก็มาทักว่าเราทำงานอะไร เพราะเห็นเราเป็นปีๆ แล้วเราเป็นใครเหรอ เราก็บอกว่าเป็นนักเรียนแฟชั่น บางวันขึ้นแท็กซี่เขายังไม่กล้ารับเลย

เทียบกับตอนอายุ 13 ที่จัดแฟชั่นโชว์ชุดนอนส่งครู พอได้อยู่ในบรรยากาศโรงเรียนแฟชั่นจริงๆ งานส่งครูของคุณไปไกลที่สุดแค่ไหน

งานเราจะบ้าคลั่งประมาณหนึ่ง ไม่เคยส่งงานเป็นกระดาษเลย ทุกอย่างมีคอนเซปต์ มีเรื่อง เพราะเราคิดเยอะแถมอายุมากกว่าเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน เคยทำชุดเกราะส่งเป็นกล่องให้ค่อยๆ เปิดทีละชิ้น เคยทำชุดจากตุ๊กตาเด็กวินเทจและเสื้อผ้ายุควิกตอเรียแล้วจัดเป็นเมืองตุ๊กตา ซึ่งครูค่อนข้างงงกับงานของเรา

วิธีคิดเหล่านี้มาจากไหน ในเมื่อไม่ได้เรียนมาด้านนี้มาตั้งแต่แรก

อาจเป็นเพราะชอบอ่านหนังสือ แล้วก็ชอบปะติดปะต่อเรื่องราว เราดู เราเห็น เราสะสม เราฝันมาตั้งแต่เด็กเลยทำให้มีของเยอะ เวลาทำอะไรเราจะเป็นตัวของตัวเอง เราให้ความสำคัญกับความแตกต่าง

แต่ละวันสำหรับเราไม่ใช่แค่ไปเรียน มันคือความฝัน ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาทำเล่นๆ ในเมื่อเราเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรารักและจะนำมาประกอบอาชีพ ถ้าเราทำแล้วมันไม่โดดเด่น เราก็จะอยู่ในระดับเดียวกับคนอื่นๆ ในห้องเรียน เราทนไม่ได้ถ้าส่งงานไปส่งแล้วเกาะกลุ่มอยู่ตรงกลาง งานมันต้องเด้ง ครูเห็นแล้วต้องอยากรู้ที่มา

หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ASAVA จากคนวาดรูปไม่เป็น ได้เรียนแฟชั่น กระทั่งแบรนด์ดังบินมาขอที่บ้านไปทำงานด้วย

มีครั้งไหนบ้างมั้ยที่คิดว่าจะเด่นเด้ง แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น

มี เราทำคอลเลกชันตุ๊กตาวินเทจแล้วครูไม่เข้าใจ บอกว่าเหมือนเอาเสื้อเด็กอ่อนมาทำ ใครจะไปใส่เสื้อผ้าแบบนี้ ผ่านไปหนึ่งปี Miu Miu ทำออกมาขายแล้วก็ดังมาก เราเรียนจบแล้วแต่ยังกลับไปที่โรงเรียนตั้งใจเอาทีสิสที่เคยส่งให้ครูคนเดิมดู เพื่อบอกว่าอย่ามาตัดสินนะ เมื่อก่อนเป็นคนแรงมากเพราะว่าเราก็ตั้งใจทำการบ้านมาส่งเขาสุดๆ เหมือนกัน

ทำขนาดนี้ คงต้องเข้าตาแมวมองที่ไหนบ้าง

งานชิ้นสุดท้ายที่ทำ อาจารย์ส่งไปให้ Marc Jacobs ดู ก็เลยได้ฝึกงานที่ Marc Jacobs ตอนนั้น Marc Jacobs ยังเป็นบริษัทเล็กๆ ขนาดยี่สิบคน แต่ละวันมีดาราดังๆ แวะเวียนมา ซึ่งเราไม่คิดว่าชีวิตจะก้าวมาถึงตรงนั้นเลย ทุกอย่างสนุกไปหมด นี่คือชีวิตของเรา ยังไงก็ไม่กลับไปไทย ทำงานได้เจ็ดถึงแปดเดือนพ่อแม่ก็บินมาตามให้กลับ ถ้ายังอยากอยู่ต่อจะไม่ส่งเงินให้ ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กฝึกงานได้ค่าแรงชั่วโมงละสี่เหรียญห้าสิบ ใช้ชีวิตด้วยเงินเท่านี้ไม่พอแน่ 

จากที่เคยอยู่อพาร์ตเมนต์เก๋กลางเมืองย่านโซโห มีบ้านติดกับร้าน DEAN & DELUCA

จะแวะซื้อผักและขนมปังแต่ครั้งก็ติดหรูต้องซื้อ DEAN & DELUCA ในที่สุดต้องย้ายบ้านไปย่านที่ถูกลงแต่สวยงามไม่แพ้กัน 

จากนั้นตัดสินใจขอทำงานที่ Marc Jacobs เพียงครึ่งวัน เพื่อมีเวลารับงานพิเศษอื่นๆ ซึ่งเราไม่เคยต้องเสิร์ฟอาหารเลยเพราะเป็นคนเพื่อนเยอะ รู้จักคนเยอะ พีอาร์ ดีไซเนอร์ คนไหนอยากให้ไปช่วยงานอะไรก็ไป บางวันทำงานวันละสามถึงสี่งาน พอเริ่มมีเงินเดือนถึงจะไม่สูงมากแต่ก็พอประคองตัวเองได้ เราก็กลับมาเที่ยวเตร่ใช้ชีวิตเฮฮา

เรื่องนี้เล่ากี่ทีก็สนุก บ้านที่อยู่ชอบโดนตัดน้ำตัดไฟถึงขั้นต้องจุดเทียนเพราะรู้สึกว่าจ่ายค่าไฟเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เสื้อสเวตเตอร์ของ Prada ซีซั่นนี้ถ้าหมดแล้วหมดเลย เราก็เลยเลือก Prada ไว้ก่อน ตอนทำงานแต่งตัวสวยแต่แอบไปกินข้าวในซอกตึกที่กรรมกรชอบกินเพราะไม่มีเงิน ยอมรับว่าติดสวย ติดเที่ยว ติดซื้อของ

ตอนไหนที่เริ่มเข้าใกล้วงการแฟชั่นมากขึ้น

ช่วงทำงานเป็นฟรีแลนซ์ให้ Max Mara ได้จัดของที่ตู้โชว์หน้าร้าน ซึ่งเล่นใหญ่มากเพราะอยากให้ออกมาสวยที่สุด ผลงานจึงไปเตะตาผู้จัดการร้าน เขาก็ไปบอกผู้บังคับบัญชาให้รับเราเป็นพนักงานประจำ ทำหน้าที่ดูแล Window ของร้านทั่วอเมริกา จากนั้นผู้ใหญ่ก็ให้โอกาสแนะนำเรากับดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Max Mara ที่มิลานบินมาเจอเรา บอกให้รับเราไปฝึกงานที่มิลานเพราะทำอะไรให้แบรนด์ได้อีกเยอะ

ชีวิตช่วงนั้นสนุกมาก ได้เรียนรู้ทุกวัน อยู่นิวยอร์กสี่สัปดาห์ อยู่มิลานสองสัปดาห์ พอไปอยู่มิลานก็ยิ่งเป็นคนแฟชั่นเต็มขั้น ตอนนั้นชีวิตเริ่มดีขึ้นมาก มีเลขาฯ มีออฟฟิศส่วนตัวที่นิวยอร์ก บริษัทจะยื่นขอสัญชาติอเมริกันให้โดยเจ้านายบินมาที่ไทยเพื่อคุยกับพ่อแม่ด้วยตัวเอง เขาบอกพวกท่านว่า เราเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของนิวยอร์ก เป็นพลเมืองแฟชั่น อยากให้เราย้ายมาอยู่นิวยอร์ก

คิดว่าเป็นเพราะคุณสมบัติข้อไหนที่ทำให้เจอกับโอกาสและจังหวะชีวิตแบบนี้

ทุกอย่างที่เราได้มา มาจากสิ่งที่เราทำแล้วมีคนมองเห็นคุณค่าและเสนอสิ่งต่างๆ ให้โดยที่เราไม่เคยร้องของานใคร ณ เวลานั้นเราไม่ได้คิดอะไร ไม่เคยคิดอะไร เราแค่สนุก แล้วก็อยากทำอะไรให้ดีที่สุด เราโชคดีกว่าคนอื่นตรงที่ต่อให้เราไม่เหลือเงินเลยสักบาท ซึ่งก็เป็นบ่อย หากเราโทรหาพ่อ เขาจะโอนให้เราทันที รู้ตัวเองลึกๆ ว่าไม่มีวันอดตายหรอก แต่เราก็มีทิฐิ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่โทรไปรบกวนที่บ้านเลย และที่ไม่มีเงินไม่ใช่เพราะอะไร คือเราใช้เงินเก่ง เป็นช่วงชีวิตที่เราอยากเห็นทุกอย่าง ถ้าใครหรือหนังสือเล่มไหนเขียนว่าคนเก๋ๆ ต้องไปที่ใดในนิวยอร์ก เราก็จะไปทันที

ที่ใช้ชีวิตสนุกเต็มที่เพราะรู้ดีว่านี่เป็นเวลาเดียวที่จะทำได้หรือเปล่า

เป็นไปได้ เรารู้สึกว่าความฝันนี้มีวันหมดอายุจึงตักตวงเต็มที่ ไม่รู้ว่านี่คือการต้องยอมจำนนหรือเปล่า ใจมันมีความดื้อแพ่งอยู่ข้างใน คิดว่าถึงจะกลับเมืองไทย ฉันก็คงไม่ขายรถ ก็เลยมีความรู้สึกว่า ณ เวลาที่ตักตวงได้เราก็ต้องทำให้เต็มที่ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าในสังคมการทำงานเราโดดเด่นแพ้ใคร

หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ASAVA จากคนวาดรูปไม่เป็น ได้เรียนแฟชั่น กระทั่งแบรนด์ดังบินมาขอที่บ้านไปทำงานด้วย

ไปๆ มาๆ คุณอยู่อเมริกา 11 ปี และสุดท้ายก็ต้องกลับไทย

ที่บ้านขอร้องเพราะคุณพ่อป่วย ธุรกิจต้องการคนเสริมทัพ ก็เลยกลับมาเป็น CEO อยู่สองปี

อะไรคือความยากของการกลับมารับช่วงต่อธุรกิจซึ่งคุณหนีมาตลอด

ตอนนั้นไม่เด็กแล้วด้วย อายุสามสิบกว่าปีแล้ว เราคิดว่าสิ่งสำคัญของการบริหารคือหัวใจที่สร้างมวลพลังให้ทุกคน คนทำงานด้วยกันเขาดูออกว่าผู้บริหารมีใจหรือไม่มี อย่างแบรนด์ ASAVA กว่าจะเป็นปึกแผ่นอย่างวันนี้ เราใช้เวลาและพลังพิสูจน์ความมุ่งมั่นให้ทีมทุกคนเห็น เราอยากทำให้องค์กรนี้มั่นคง ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อทุกคนที่ทำงานกับเราจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ความจริงจังจริงใจนี้แกล้งทำกันไม่ได้

คุณผ่านช่วงเวลา 2 ปีนั้นมาได้ยังไง

ณ เวลานั้นครอบครัวต้องการเรา ที่ผ่านมาเราได้รับมาเยอะมากพอแล้ว คงต้องลองทำดูก่อน ได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง ระหว่างนั้นเป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตกำลังมา เราเองก็โตขึ้นและคิดว่าภูมิศาสตร์ไม่ได้มีผลต่อการสร้างงาน ถ้ามีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก คุณจะทำมันได้ ไม่สำคัญว่าจะต้องอยู่นิวยอร์ก จิตมุ่งที่มุ่งมั่นกับใจที่อยากไปจะทำให้ทุกสิ่งมีหนทาง เหมือนที่ฝรั่งเขาชอบบอกว่า Where there’s a will, there’s a way! 

ช่วงกลับมาทำงานที่บ้าน เรารับเป็น Personal Stylist ให้กับสยามพารากอนที่เพิ่งเปิดด้วย งานของเราคือแนะนำการแต่งตัว การเลือกซื้อเพชร ซื้อนาฬิกา ซึ่งเคยทำมาก่อนสมัยอยู่อเมริกา

ทำงานผู้บริหารธุรกิจรถยนต์ ไปพร้อมๆ กับเป็นที่ปรึกษาเรื่องสไตล์?

ใช่ ระหว่างนั้นเริ่มหาข้อมูลตั้งต้นแบรนด์ของตัวเองไปด้วย เรามีเพื่อนพ้องในวงการแฟชั่นเพราะตอนอยู่นิวยอร์ก ทำงานพิเศษเป็นผู้ประสานงานแฟชั่น สมัยที่นิตยสารยังเฟื่องฟู หนังสือทุกเล่มต้องมาถ่ายที่นิวยอร์ก ใครจะไปจะมาที่ไหนต้องขอให้เราติดต่อ จึงมีโอกาสรู้จักกับนิตยสารแฟชั่นทุกสำนักและเขียนคอลัมน์บ้าง พอทำแบรนด์ก็มีโอกาสทำแฟชั่นโชว์กับ ELLE จนเป็นที่รู้จัก

ใช้เวลา 1 ปีเตรียมความพร้อม และเปิดตัวครั้งแรกในปี 2008 ตอนนั้นมีโจทย์ว่าอยากเป็นแบรนด์แบบไหน

ตอนที่ตั้งแบรนด์เราเริ่มกันสี่คนในห้องเก็บของ ซึ่งตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา เรามี Max Mara เป็นโรงเรียนสอนให้คิดทำทุกอย่างเป็นระบบ จัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยว ตั้งแต่การเลือกผ้า การวาง Serial Number เพื่อรู้ว่าชุดนั้นผลิตปีไหน คอลเลกชันอะไร สีและลักษณะเนื้อผ้าเป็นแบบไหน การวางโครงสร้างของคอลเลกชัน คิดว่าจะต้องมีเสื้อกระโปรงอย่างละกี่ตัว ใช้ผ้ากี่ชนิด จากนั้นวางแผนการขายเป็นกลุ่ม เราสร้างงานกันแบบนี้ตั้งแต่วันแรกที่ทำแบรนด์ เพราะเราไม่ใช่ห้องเสื้อ

ASAVA เป็นแบรนด์ที่พูดถึง Urban Sophisticated และ Realistic เราชอบความเรียบโก้อย่างผู้หญิงนิวยอร์ก คนที่จะแต่งตัวด้วยเสื้อสีขาวกับกระโปรงพลีทสีดำ เช้าเป็นผู้บริหารไปประชุมงาน เย็นวิ่งเข้าไปดูงานในแกลเลอรี่ เป็นผู้หญิงฉลาด ไม่หวือหวา เป็นตัวของตัวเอง เราชอบเสื้อผ้าสไตล์นี้ แต่กลับมาเมืองไทยแล้วไม่มีเลย

อะไรทำให้เสื้อผ้าขายหมดเกลี้ยงตั้งแต่คอลเลกชันแรก

ขายหมดอยู่แล้วเพราะเดือนหนึ่งทำเสื้อผ้าได้ยี่สิบตัว มีช่างอยู่เพียงสองคนทำงานในห้องเก็บของใต้หลังคา มีคนมาเข้าแถวรอซื้อตั้งแต่ห้องทำงานยังก่อสร้างอยู่ ซึ่งคงเป็นเพราะจังหวะเวลาและความไม่เหมือนใคร เรารู้สึกฮึกเหิมเพราะหลายสื่อพูดถึง ยกให้เราเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการแฟชั่น ขณะที่เราแค่อยากทำเสื้อผ้าให้สวย

ผู้ทรงอิทธิผลวงการแฟชั่นไทย หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ปฐมบท ASAVA กับชีวิตที่เจ้านายจาก Max Mara เคยบอกว่า เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของนิวยอร์ก

ไม่ได้คิดอยากจะรวยจากการขายเสื้อผ้า?

ไม่เลย คิดแค่ว่าอยากทำเสื้อผ้าให้สวยที่สุด นี่คือความฝัน คือตัวตนที่แท้จริงของเรา พอย้อนกลับไปมอง ตลอดสิบปีที่ผ่านมา เราก็อาจจะเปลี่ยนวิธีการตัดเย็บเสื้อที่ดีขึ้น ใช้เทคนิคที่ดีขึ้น แต่ความชอบยังเหมือนเดิม ซึ่งก็มีช่วงที่เปลี่ยนไปอยู่พักหนึ่ง ช่วงนั้นสมการในหัวมันเปลี่ยน เราเริ่มเอายอดขายเป็นตัวตั้ง ทำให้เสื้อผ้าเป๋ไปอยู่พักหนึ่ง

เกิดอะไรขึ้น

จากเสื้อเดือนละยี่สิบตัว ก็มาเป็นเดือนละร้อยตัว พันตัว ย้ายจากห้องเก็บของมาเช่าบ้านอยู่ จากบ้านมาเป็นทาวน์เฮาส์ จากทาวน์เฮาส์หนึ่งหลัง มาเป็นทาวน์เฮาส์สองหลัง ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก จากหนึ่งร้านก็เพิ่มขึ้น เต็มกรุงเทพฯ ไปหมด ขนาดเปิดแบรนด์ตอนที่ไม่ใช่เด็กแล้ว แต่เพราะความลำพองว่าทุกคนอยากได้ของของเรา ชื่อเสียงก็มาเร็ว ทำอะไรคนก็ชื่นชม จนกระทั้งมันเจ๊ง อยู่ดีๆ ตัวแดงมหาศาล มีผ้าค้างสต็อกสี่สิบถึงห้าสิบล้าน มีเสื้ออยู่ในโกดังสองหมื่นตัว พ่อแม่ยื่นคำขาดว่าให้ปิดแบรนด์แต่เราไม่ยอม

ตอนนั้นเจอไหมว่าเราพลาดอะไร ตรงไหน

พลาดไปหมด เราลำพองคิดว่าทุกคนอยากได้เสื้อของเรา เลยผลิตเยอะขึ้น เพิ่มแบบ เพิ่มสี สะสมสต็อกกลายมาเป็นดินพอกหางหมู บวกกับเจอวิกฤตการณ์ทางการเมือง กระแสหลายๆ อย่างเปลี่ยน มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามา เสื้อเรียบๆ ของเรากลายเป็นชุดครูไหวใจร้าย เราก็เลยเปลี่ยนแบบเสื้อบ้าง ทำให้มันโป๊ขึ้น สนุกขึ้น ซึ่งไม่ใช่ตัวเราเลย ลูกค้าเดิมก็งง จากที่เคยเป็นคุณนายฉลาดกลายเป็นอย่างอื่น ยิ่งทำให้ยอดขายลดลงเรื่อยๆ เราที่ไม่ได้สติก็เมามายสารพัด จนสุดท้ายกลับมานั่งทบทวนว่า เรามีความสุขกับเสื้อผ้าที่ทำแค่ไหน ก็เลยรื้อแบรนด์ใหม่ และปิดร้านสาขาแรกที่พารากอนเพราะเป็นรูรั่วที่ใช้เงินเยอะที่สุด

ใช้เวลานานแค่ไหนกว่ากลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง

ไม่นาน ช่วงที่ธุรกิจมีตัวแดงเยอะๆ เราก็เริ่มค้นหาตัวเองใหม่ หลังจากเริ่มศึกษาพุทธศาสนาสักพักสติก็กลับมา เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ชีวิตใหม่ เลิกเที่ยว หยุดดื่ม ไม่เจอใคร ไม่ออกไปสังสรรค์ คิดว่าจะออกจากทางตันตรงนี้ยังไง 

ถามว่าเสียใจมั้ย ณ เวลานั้นก็เสียใจ แต่เมื่อมองย้อนกลับไป บริษัทเรามีความเชื่อว่า Less is more ซึ่งก็คือ การปล่อยวาง การตัดสินใจปิดร้านครั้งนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง ทำให้เราเรียนรู้การลดอัตตาลง สอนให้เรารู้จักว่าเมื่ออะไรที่เรายึดไว้แล้วเป็นทุกข์ก็ต้องปล่อย เพราะเมื่อเราปล่อยมือ เราก็จะไปทำอย่างอื่นได้ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับสิ่งที่ควรจะเป็น ทั้งลื่นไหล งอกงามและเจริญเติบโต จริงๆ คือการมีสติ คือการมองชีวิตด้วยตรรกะ ตรรกะที่อธิบายเชิงเหตุผล และเมื่อเชื่อว่าปลายทางมีคำตอบ มีทางออก ก็ค่อยๆ แก้ ค่อยๆ สางทีละปม

ปมไหนคือปมแรก และปมไหนยากที่สุด

ตัวเอง น่าจะเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ธุรกิจก็ด้วย งานบริหารที่เคยปิดตาจนเรื้อรังก็ค่อยๆ สะสาง ขณะที่กลับมาคิดว่าความงามแบบไหนที่เราเชื่อ ผู้หญิงแบบไหนที่เราอยากแต่งตัวให้ ผู้หญิงแบบไหนเป็นผู้หญิงในอุดมคติของเรา จึงเกิดเป็นคำว่า Intelligence ที่แปลว่ามีปัญญา และคำว่า Authentic ที่แปลว่าแท้จริง ขึ้นมา เป็นแก่นของแบรนด์และการสร้างงานต่อๆ ไป 

ผู้ทรงอิทธิผลวงการแฟชั่นไทย หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ปฐมบท ASAVA กับชีวิตที่เจ้านายจาก Max Mara เคยบอกว่า เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของนิวยอร์ก

ทุกวันนี้คุณตื่นเช้ามาทำงานด้วยพลังหรือความคิดแบบไหน

คนชอบถามถึงแพสชัน แต่เราไม่เชื่อเรื่องนั้นเพราะคิดว่ามันเป็นกับดักที่ใหญ่มาก เราเชื่อในวินัย เชื่อในความเพียร เพราะทำให้ล้มแล้วลุกได้เร็วกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความเราจะไม่เจ็บ มันเจ็บเหมือนเดิม เจ็บเท่ากัน แต่เราจะรู้สึกว่าเดี๋ยวฉันก็ดีขึ้น วิ่งใหม่ได้ วิ่งต่อไปได้อีก ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เขาไม่ได้มีแพสชัน เขามีความเพียรเป็นสิ่งสำคัญ

วินัยเรื่องไหนที่คุณยังคงทำอยู่เป็นกิจวัตรประจำวัน

เราก็ยังเป็นคนเดิม ยังสนุกกับสิ่งที่ทำ เพราะไม่ได้รู้สึกว่านี่คือแบรนด์ แต่นี่มันคือชีวิต 

และเมื่อเรารู้ว่านี่คือชีวิต ทุกอย่างที่ทำก็จะมีความสำคัญไปหมดทุกอย่าง การจะเลือกสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นสบู่ล้างมือ ผ้าเช็ดเท้า กระดาษชำระ ทุกอย่างมีความหมายกับเรา เพราะเราตั้งใจแล้วว่าจะอยู่กับมันไปจนตาย เพราะฉะนั้นการจะเลือกดอกไม้สักดอก ต้นไม้สักต้น สำหรับเรานั้นล้วนสำคัญ

อะไรคือนิยามชีวิตที่ประสบความสำเร็จของคุณ

คนเราให้ความสำคัญกับความสำเร็จที่อยู่ไกลตัวเกินไป สำหรับเราความสำเร็จในอนาคต คือผลลัพธ์ของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แค่เราอาบน้ำ แปรงฟัน ตื่นมาทำงาน ตรงต่อเวลา ทำงานในวันนี้ให้ดีที่สุด มันก็คือหนึ่งจุด พอเราทำอีกหนึ่งจุด จุดต่างๆ เหล่านี้มันก็ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเอง ถ้าเรามองความสำเร็จว่ามันคืออนุสาวรีย์ที่อยู่ไกลตัว เราก็ไปถึงยาก มันทั้งเหนื่อยและกระเสือกกระสน ทำให้ชีวิตเราไม่มีความสุข วันนี้เราเชื่ออย่างแท้จริงว่าความสำเร็จนั้นอยู่ใกล้ตัว ถ้าเรารู้วิธีบริหารจัดการมัน ไม่มีใครที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพียงแต่วันนี้คุณให้ค่าคำว่าความประสบความสำเร็จในชีวิตอยู่ตรงไหน

เราไม่อยากให้คนบูชาความสำเร็จขนาดนั้น คนชอบ Hollywood ความสำเร็จกัน แต่มันไม่มีหรอก ในทุกความสำเร็จก็ยังมีความทุกข์ ยังมีสิ่งที่ต้องปรับตัว แก้ไข 

หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ASAVA จากคนวาดรูปไม่เป็น ได้เรียนแฟชั่น กระทั่งแบรนด์ดังบินมาขอที่บ้านไปทำงานด้วย

คุณมีคำแนะนำยังไง เวลาที่เด็กรุ่นใหม่มองความสำเร็จเป็นชื่อเสียงการยอมรับหรือผลตอบรับทางธุรกิจ

เราเชื่อในความออร์แกนิก ความเป็นธรรมชาติค่อยเป็นค่อยไป ทุกอย่างมีกระบวนการของมัน มีกระบวนการเรียนรู้ กระบวนลองผิด-ถูก พอลองถูกแล้ว ณ เวลานี้ แต่อาจจะผิดในอนาคต ไม่มีอะไรถาวร ทุกอย่างมันเป็นชั่วคราวไปหมด อย่าไปยึดติดกับคำว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายมันไม่ได้มีความหมายกับชีวิตเรามากมาย

คำชมและคำวิจารณ์ ในวันนี้ส่งผลต่อชีวิตคุณแค่ไหน

ห้าถึงหกปีหลังมานี้รับกับคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย อายุเราก็มากแล้ว คำชมที่ดีก็เก็บไว้เป็นกำลังใจแต่ไม่ได้เอามาสร้างอัตตาให้ตัวเอง ทำให้เราอยากสร้างงานดีๆ ต่อไป โดยไม่ได้คิดว่าเราเลิศกว่าคนอื่น ขณะที่คำติก็มีประโยชน์ เรารู้สึกว่าถ้าเราอยากเป็นมนุษย์ที่ร่วมสมัย เราก็ต้องฟังคนอื่น ต้องรู้ว่าคนที่เขาอยู่ร่วมสมัยเดียวกับเรา เขาคิดถึงเรายังไง แต่ก็ต้องรู้จักประเมินเพราะไม่ใช่ทุกคนจะหวังดีกับเราหมด และไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายในชีวิตเรา บางอย่างเราอาจจะคิดเร็วไปก่อนคนอื่น ซึ่งเขาอาจจะมองหรือตัดสินว่าอันนี้ใช่ไม่ใช่ ตัวเราที่มีสติและรู้เหตุและผลในสิ่งที่ทำเท่านั้นเป็นคนตัดสิน

เคยได้ยินว่าตัวตนของคนอยู่เหนือแฟชั่น

สำหรับเรา คำว่าแฟชั่นคือสิ่งสมมติที่หมุนเวียนไปตามยุคสมัย ขณะที่ตัวตนหรือคาแรกเตอร์คือสัจจะของความเป็นคนหนึ่งคน ที่ชอบหรือไม่ชอบอะไร ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปสิ่งนี้จะยังคงอยู่ว่าคนๆ นี้เป็นแบบนี้ เป็นที่จดจำได้มากกว่า น่าสนใจกว่า เวลาที่มีคนพูดถึง เขาไม่ได้นึกถึงแฟชั่นของเรา แต่เขาพูดถึงตัวตน ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง

สำคัญคือการยอมรับและซื่อสัตย์ต่อตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ว่าใครก็อยากจะอยู่กับคนที่สัมผัสได้ รู้สึกเป็นหมู่มวลเดียวกัน เราอาจจะไม่ใช่เป็นคนมวลหมู่เดียวกับคนทุกคน แต่คนเราจะดึงดูดคนที่มีความคิดเหมือนกัน มีความเชื่อมุมมองเหมือนกัน มีค่านิยมการใช้ชีวิตเหมือนกัน คนที่ซื้อเสื้อผ้าเราก็จะมีค่านิยมแบบนี้ ชอบเสื้อผ้าแบบนี้ ซึ่งก็จะเกาะกลุ่มกัน สุดท้ายแล้ว เชื้อชาติ ศาสนา ก็อาจจะไม่มีความสำคัญเท่ารสนิยมหรือเอกลักษณ์ของแต่ละคนก็ได้

การพบเจอคนหมู่มวลเดียวกันสำคัญแค่ไหน

สำคัญมาก

จะได้ไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยว 

ถูกต้อง สุดท้ายแล้วคนใส่เสื้อเราจะเป็นคนอิหร่าน คนอเมริกา ไม่สำคัญเลย แต่ว่าเขาพูดจาภาษาเดียวกับเรา นอกจากเขาจะใส่เสื้อผ้าเรา เขาอาจจะชอบดูหนังเรื่องเดียวกับเรา ฟังเพลงแนวเดียวกับเรา เป็นเราอีกคนในอีกร่างหนึ่ง สุดท้ายแล้วมนุษย์เราถูกแบ่งกลุ่มก้อนกันด้วยวิธีคิดมากกว่า 

มาถึงตอนนี้ที่ชีวิตไม่มีแค่ตัวเราเหมือนแต่ก่อน คุณสร้างสมดุลระหว่างงาน ครอบครัว และชีวิตอื่นๆ อย่างไร

ไม่ว่ายังไงครอบครัวก็ยังสำคัญที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นคนบ้างาน สำคัญคือพยายามจะสร้างสมดุล ซึ่งถ้าเราเริ่มจากจิตที่เป็นสุข อยู่กับใครก็พยายามทำให้เขามีความสุข อยู่กับพ่อแม่ อยู่กับลูกก็ให้เขามีความสุข อยู่ในองค์กรก็ทำให้เขามีความสุข เราว่ามันเริ่มจากสิ่งที่เป็นสุข ถามว่าแบ่งเวลาอย่างไร มันแบ่งยาก เพราะงานมันเยอะตลอดเวลา แต่ก็พยายามจะใช้ทุกเวลาให้มันมีความหมายที่สุด ถามว่ามันได้ดั่งใจหรือเปล่า มันไม่ได้หรอก ไม่มีหรอกที่จะทำทุกอย่างในโลกให้ได้ดั่งใจ

ผู้ทรงอิทธิผลวงการแฟชั่นไทย หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ปฐมบท ASAVA กับชีวิตที่เจ้านายจาก Max Mara เคยบอกว่า เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของนิวยอร์ก

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan