ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพักผ่อนที่ดีนั้นมากมายด้วยหลายองค์ประกอบ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นบรรยากาศดี ๆ เป็นอาหารเรียกน้ำย่อยที่เสิร์ฟโดยธรรมชาติ กาแฟอุ่น ๆ เป็นเครื่องดื่มเคล้าด้วยอากาศเย็นค่อนไปทางหนาว อาจไม่ต้องเสิร์ฟคู่ด้วยวิวพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าเป็นจานหลัก หากมีไร่กาแฟของที่พักบนเชิงเขาชนิดที่มองออกไปปะทะกับวิวภูเขามาทดแทนกันได้ และหากโชคดีหน่อย จะมีฤดูดอกเสี้ยวบานช่วยตกแต่งประดับจานให้สวยงามยิ่งขึ้นไปอีก 

ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นเป็นคอร์สอาหารที่มีชื่อว่า ‘การพักผ่อน’ เสิร์ฟอย่างอิ่มหนำสำราญทางสายตา โดยไม่หวงวัตถุดิบแม้ขึ้นราคาที่ ‘POK Mountain’ บ้านพักตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟบนเชิงเขา ณ บ้านป๊อก อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

เอาเข้าจริงการจั่วหัวขึ้นต้นบทความแบบนี้ ดูเป็นการ Hard Sale ทำตัวเป็น Influencer โฆษณาสายที่พักจนเกินหน้าเกินตาไปสักหน่อย เพราะฉะนั้น ขอเริ่มต้นใหม่อีกสักทีแล้วกันนะครับ 

ผมจะให้ เมศร์ ฉัฐเมศร์ เจ้าของ POK Mountain มาสาธยายถึงความดีงามไร้สารปรุงแต่ง จนตัวเขาต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยจากกรุงเทพฯ มาพักชีวิตและคลายความเครียดอยู่ที่นี่ เพื่อให้ธรรมชาติบำบัด พร้อมกับความต้องการที่อยากแบ่งปันพื้นที่เล็ก ๆ ให้ผู้คนมาพักผ่อนจริง ๆ แบบบริสุทธิ์ใจ

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

บ้าน (พัก) ของเรา ที่ของใคร

เอาเป็นว่า เราค่อย ๆ อ่านความเป็นไปของเรื่องราวจากคำบอกเล่าของเมศร์ เกี่ยวกับที่มาที่ไปและการแรกพบสบตากับสถานที่แห่งนี้ ซึ่งเคยเป็นโรงตากกาแฟเก่าของพ่อหลวง พร้อมกับร้านกาแฟ ‘ตำนานบ้านป๊อก’ ประดับอยู่ด้านบน และไร่กาแฟสายพันธุ์อราบิก้าประดับอยู่ด้านล่าง

“ผมขับรถมาเที่ยวแม่กำปอง แล้วก็เจอเจ้าของรีสอร์ต ผมถามเขาว่า แถวนี้มีที่ขายมั้ย เขาแนะนำให้ไปหาเจ้าของที่ นั่นคือพ่อหลวง เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นอาคารเก่า เป็นโรงตากกาแฟ แล้วก็เป็นที่พักของพ่อหลวงกับแม่หลวง แต่ร้านกาแฟไม่ได้ทำแล้ว เพราะแกอายุเยอะ ผมก็เลยขอรีโนเวตพื้นที่ตรงนี้”

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

เรื่องราวคร่าว ๆ ประมาณนี้ ถ้าให้เจาะละเอียดกว่านี้ต้องลงลึกไปถึงบทสนทนาระหว่างเมศร์และพ่อหลวง ถึงการขอซื้อที่ดินผืนนี้สำหรับการนำโรงตากกาแฟขนาด 3 ชั้น รีโนเวตให้ชั้น 1 เป็นห้องสำหรับอยู่อาศัยของเมศร์ ชั้น 2 เป็นห้องพักจำนวน 3 ห้อง และคาเฟ่พร้อมสถานที่ประกอบอาหารที่ชั้น 3

อันที่จริงแล้ว เขาไปดูที่ดินข้าง ๆ เสียด้วยซ้ำ แต่บทสนทนาระหว่างเมศร์กับพ่อหลวง คุยไปคุยมาก็เกิดความรู้สึกที่ว่า ‘ผมอยากได้ที่ตรงนี้’ ขึ้นมา ควบคู่กับความรู้สึกดั่งเพลงรักแรกพบที่ทำให้ใจบอกว่า 

“ผมอยากทำ ก็ขอพ่อหลวงเลยว่า ผมอยากทำที่ตรงนี้” 

การพูดคุยถูกคอของเมศร์และพ่อหลวงจึงไม่ได้ดำเนินเดินไปในเชิงของชายหนุ่มที่มาขอลูกสาวจากพ่อตา แต่เป็นไปในเชิงธุรกิจ พร้อมบอกถึงเป้าประสงค์อย่างชัดเจนแจ้มแจ้งว่า เขาจะทำอะไรกับโรงตากกาแฟอันทรุดโทรมหลังนี้บ้าง

“แกมองหน้ากันสองคน แล้วก็บอกว่า ได้!” สิ้นเสียงอนุมัติด้วยความยินดีของพ่อหลวง เมศร์ไม่รอช้า เขาวางแผน ออกแบบ และพาทีมสารพัดช่างเข้ามาปรับโฉมสถานที่แห่งนี้ทันที

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ออกแบบ ก่อสร้าง และนอกเรื่อง

เข้าสู่กระบวนการออกแบบและก่อสร้าง ตามปกติ คงไม่ต้องพูดถึงช่วงเวลานี้ให้มากความ เพราะมันคือช่วงเวลาทำมาหากินของสถาปนิกและผู้รับเหมา ทั้งยังเป็นงานเบื้องหลังที่น้อยคนนักจะให้ความสนใจเวลาเข้าพัก เพราะคงไม่มีแขกคนไหนมาถามว่า เสาต้นนี้ขึ้นก่อนเสาต้นนู้นหรือเสาต้นนั้น

อย่างมากสุดก็คงถามว่าเฟอร์นิเจอร์พวกนี้ซื้อที่ไหน แต่สิ่งที่ทำให้ POK Mountain ต่างจากที่พักอื่นคือ เมศร์เป็นเจ้าของบริษัทรับเหมาออกแบบบ้านและรีสอร์ต ถ้ามีคนมาถามว่า เสาต้นนี้ขึ้นก่อนเสาต้นนู้นหรือเสาต้นนั้น เขาก็คงตอบไม่ได้อยู่ดี แต่ถ้าเรื่องเฟอร์นิเจอร์ เขาตอบได้ทุกชิ้น รวมถึงหลายสิ่งหลายอย่างภายในบ้านพัก เพราะเขาเป็นคนออกแบบและลงมือทำเองแทบทั้งหมดทุกอย่าง

แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลักของส่วนนี้ ผมคงต้องพาคนอ่านย้อนเวลากลับไปว่า ทำไมเจ้าของบริษัทรับเหมาจากจังหวัดกรุงเทพฯ ถึงกลายมาเป็นเจ้าของบ้านตากอากาสในเชียงใหม่ได้

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่เรียกว่า ความทรงจำวัยเด็ก เมศร์เคยมาเที่ยวดอยสุเทพพร้อมแบกความรู้สึกชื่นชอบกลับไปเป็นของฝากประจำจังหวัด และอยากมาอยู่อาศัยที่นี่สักวันหนึ่ง แต่ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เขาต้องรบราฆ่าฟันกับความเครียดจากการทำงานในเมืองใหญ่ชนิดเส้นเลือดในสมองแทบแตก (เขาบอกแบบนี้จริง ๆ) จำนวนคนงานที่เยอะ ความเบื่อหน่ายจากการบริหารผู้คน ทำให้โยกย้ายตัวเองมาอยู่ในที่สงบ ให้ธรรมชาติบำบัดสักเล็กน้อยถึงมากโข และสนุกไปกับการออกแบบบ้านพักตามใจฉัน

“สนุก ผมออกแบบเอง ครีเอตอย่างเต็มที่ ต่างจากการทำบ้านลูกค้า บางทีผมเสนอไปไม่ตรงกับใจเขา เพราะเขาอยากได้ในสิ่งที่เขาอยากได้ แต่ที่นี่ผมทำตามใจตัวเอง อยากได้อะไรก็ใส่เลย”

เมศร์เพิ่มเติมอีกว่า การที่เขาออกแบบเองทั้งหมดทำให้เขารู้สึกว่า สิ่งของเหล่านั้นมีคุณค่า มีที่มาที่ไป มีเหตุและผลในการเกิดขึ้นและคงอยู่ เป็นนัยว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีเรื่องราวในตัวเอง ไม่ใช่แค่เฟอร์นิเจอร์ราคาแพงที่ซื้อมาจับวางแล้วจบไป กระทั่งรูปวาดงานเขียนที่แขวนบนผนัง บางรูปเขาก็วาดเองกับมือ และทำเลบนดอยก็หาช่างไม่ได้ง่าย ๆ การทำเองทุกอย่างเห็นจะเป็นทางออกที่ง่ายต่อเขาที่สุด

ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความสนุก ไม่ได้ปวดหัวเสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตกอย่างเมื่อก่อน แต่การสร้างเรื่องราวผ่านสถานที่และบ้านพักซึ่งออกแบบเองทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการทำบ้านพักบนที่สูงนั้นย่อมยากเย็นกว่าที่ราบเป็นไหน ๆ ทั้งการขนส่งข้าวของสำหรับก่อสร้างขึ้นมาบนหมู่บ้าน หรือเรื่องไฟฟ้า ที่หากช่วงไหนฝนตกหนัก คุณอาจจะเจอกับสถานการณ์ไฟดับกลางดอย เครื่องสำรองไฟจึงกลายเป็นของใช้จำเป็นประจำบ้านในทันที แม้แต่น้ำที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติจากภูเขาก็มีช่วงเวลาน้ำขาด ทำให้ไม่มีน้ำใช้เลยสักหยดเดียว ถือเป็นประสบการณ์ท่ามกลางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการลืมจ่ายค่าน้ำค่าไฟ แต่สำหรับเมศร์แล้ว สิ่งที่เป็นปัญหาหนักสุดสำหรับเขา คือ ความชื้นและฝน

“ความชื้นกับฝน เป็นสองสิ่งที่ทำให้ทำงานก่อสร้างไม่ได้ครับ อย่างชั้นล่างผมใช้ไม้ทั้งหมด ถ้ามีฝนกับความชื้น ตรงวงกบจะปิดไม่ได้เพราะไม้พองตัว ทุกอย่างผมเลยต้องแก้ปัญหาทั้งหมด”

เหมือนโดนธรรมชาติรับน้องโหดก่อนอาศัยเพื่อบำบัดเสียอย่างนั้น กว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง จนเปิดให้เข้าพัก ต้องแก้ปัญหาสารพัดที่เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ เมศร์ถึงกับเอ่ยปากบอกว่า 

การทำบ้านพักบนดอยทำให้เขาได้เรียนรู้การอดทนและการแก้ปัญหาตลอดเวลา

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ถึงแม้ว่าตัวบ้านพักอยู่ห่างออกมานอกตัวหมู่บ้าน พ่อหลวงแม่หลวงที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเองก็ให้อิสระกับเมศร์ในการทำบ้านพักบนผืนที่ดินนั้นอย่างเต็มที่ แต่สำหรับเขาแล้ว บ้านพักหลังนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน การคิดจะให้ธรรมชาติบำบัดในทีแรก โดยการโยกย้ายตัวเองมาตั้งหลักปักฐานอยู่ ณ ที่แห่งนี้ พร้อมกับใช้ชีวิตขึ้นลงดอยในทุก ๆ วัน จนความคิดว่า ลำบากในทีแรกกลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน

แต่แท้จริงแล้วหนึ่งในผู้ที่เข้ามามีส่วนช่วยบำบัดชีวิตเขา คือชุมชนที่มอบวิถีความสงบมาให้

จากเดิมที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่ไม่เคยหลับใหล แสงสว่างที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติยังคงสาดส่องตลอด 24 ชั่วโมง ต่างกับพื้นที่บนเวิ้งอันเดียวดายนี้ ความเงียบสงบของพื้นที่และหมู่บ้าน ส่งผลถึงการนอนที่เป็นปกติมากขึ้น สมองที่โลดแล่นด้วยความคิดที่มีประสิทธิภาพ จนเขาเองยังยอมรับว่า เขาได้ซึมซับวิถีชีวิตเหล่านั้นมาแล้ว โดยที่ไม่คิดถึงหรือโหยหาปาร์ตี้ยันฟ้าสางเฉกเช่นเมื่อก่อนอีกเลย

งานไม้ ฉันอยากทำ

ตามจริงแล้ว POK Mountain มีกำหนดการจะเปิดให้คนเริ่มจองเข้าพักในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ แต่หารู้ไม่ว่า เมศร์เคยเปิดบ้านพักหลังนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ถือว่ามีการตอบรับที่ดีจากลูกค้ากลุ่มแรก ทั้งความประทับใจในบรรยากาศอันเงียบสงบ ความสวยของวิวธรรมชาติที่เข้าปะทะสายตาอย่างชะงัดนัก อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ดอกเสี้ยวเบ่งบานชูช่อสวย ๆ ต้อนรับแขกผู้มาเยือน

ซึ่งใจความสำคัญอยู่ตรงที่บ้านพักของเขาถูกเรียกว่าเป็น บ้านพักแบบ Natural Loft

เมศร์ขอใช้บทความนี้ในการแก้ต่างอย่างกลาย ๆ ว่า “คอนเซ็ปต์จริง ๆ เป็น Wabi-Sabi และ Rustic ผสมกัน ตอนนี้ดูเหมือนอเมริกันนิดหนึ่งแหละ เพราะเฟอร์นิเจอร์และโครงสร้างเป็นไม้เก่าทั้งหมด”

ตรงนี้ผมต้องขอย้อนท้าวความกลับไปยังตอนที่เมศร์เป็นเด็กกันอีกสักรอบ ถึงความชอบด้านงานไม้ในอดีตที่กลายมาเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการสร้างบ้านพักตากอากาศ POK Mountain 

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากคุณพ่อซึ่งประกอบอาชีพช่างไม้ การเห็นคุณพ่อสร้างบ้านด้วยตัวเองเปรียบเสมือนการถูกปลูกฝังความชอบในเสน่ห์ของชิ้นงานไม้ตั้งแต่ยังเด็ก แล้วค่อย ๆ สั่งสมมาทีละเล็กละน้อย ทว่าด้วยวิถีชีวิตในกรุงเทพฯ การจะเลื่อย กลึง ตอกลิ่มไม้แต่ละที อาจทำให้ข้างบ้านเขวี้ยงงานหินอย่างครกและสากข้ามมา แทนคำชื่นชมในความสวยงามและเสน่ห์ของงานไม้ที่ทำสำเร็จ การขึ้นมายังเชียงใหม่จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับเขาที่จะเริ่มศึกษาและลงมือทำเฟอร์นิเจอร์งานไม้ตามแบบที่เขาชื่นชอบ ผสมผสานด้วยรูปแบบ Wabi-Sabi และ Rustic เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ในชิ้นงานนั้น ๆ มากขึ้น

“ความงามแบบ Wabi-Sabi คือความงามตามกาลเวลา ไม้ผุพังก็เอามาทำเฟอร์นิเจอร์ได้ ให้มันสวยงามตามกาลเวลาของมัน ไม่ต้องตกแต่งมาก ไม่ต้องเนี้ยบมาก ไม่สมมาตร บูด ๆ เบี้ยว ๆ บ้างก็ได้ แล้วมันก็เอนมาทางอเมริกันด้วย มีกลิ่นอายคันทรี ให้อารมณ์เคบินหน่อย ๆ คล้ายบ้านเก่า ๆ”

ความไม่สมมาตรคือความสวยงามอย่างหนึ่ง นั่นคือแนวคิดของ Wabi-Sabi ที่เขานำมาใช้ในการออกแบบงานไม้ ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา เฟอร์นิเจอร์แทบทั้งหมดทุกชิ้นในบ้านพักออกแบบโดยเขาเพียงคนเดียว ตั้งแต่เก้าอี้นั่งยันหัวเตียงนอน แม้ว่าความคิดการออกแบบเองทั้งหมดจะโผล่ขึ้นมาในสถานการณ์ที่เขาบอกผมว่า “ตอนที่ไม่มีงบ” เพราะด้วยราคาของเฟอร์นิเจอร์ชุดหนึ่งแทบจะแตะหลักหมื่นการประกอบร่างสร้างเอง นอกจากจะเติมเต็มความชอบส่วนตัวได้แล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายได้มาก

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

จอร์จ นากาชิม่า (George Nakashima) คือชื่อของศิลปินที่เมศร์เอ่ยขึ้นมาขณะที่กำลังเล่าถึงความชื่นชอบงานไม้ ไม่ซับซ้อน เรียบง่าย แต่น่าดึงดูด เห็นจะเป็นคำจำกัดความต่อเสน่ห์ของงานไม้ที่ทำให้เขาหลงใหลในชิ้นส่วนจากธรรมชาติที่ไม่อ่อนนุ่มหรือแข็งกร้าวจนเกินไปเหล่านี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขา และเขาหวังว่าคนที่มาพักจะได้รับแรงบันดาลใจจากงานไม้ของเขากลับไปเช่นกัน

และชายหนุ่มคนนี้ก็มีความคิดอยากจะสร้างช็อปงานไม้ไว้ด้านบนบ้านพัก สำหรับเป็นเวิร์กชอปของเขาเอง และเป็นกิจกรรมสนุก ๆ ให้แก่แขกผู้มาเยือนได้มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานด้วยกัน

สภากาแฟชุมชน

“ผมชอบกาแฟและชอบวิถีการดื่มกาแฟ ถ้าลูกค้ามาผมก็จะดริปให้กินด้วย” 

ความชอบกาแฟ (ชนิดไม่ลึกจนเชี่ยวชาญ) ส่งผลให้ไร่กาแฟสายพันธุ์อราบิก้าแท้ซึ่งตั้งอยู่ด้านล่างเชิงเขา ถือเป็นหนึ่งจุดขายสำคัญของบ้านพักหลังนี้ เพราะปลูกมาตั้งแต่สมัยที่พ่อหลวงยังเป็นเจ้าของ และยังคงเก็บเกี่ยวนำเข้าสู่กระบวนการกะเทาะเพื่อเอาไปคั่ว ผู้รับผิดชอบตรงนี้คือแม่หลวงและพี่น้องจากจากหมู่บ้านป๊อก ซึ่งเมศร์หยิบยกเอาชื่อหมู่บ้านแห่งนี้มาตั้งเป็นชื่อของบ้านพักตากอากาศ

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

เมื่อเดินลงไปยังพื้นที่ด้านล่าง ยังมีกาแฟอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ปลูกเอาไว้ นั่นคือ สายพันธุ์คาติมอร์ (Catimor) ในอนาคต ไร่กาแฟจะยึดโยงเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมสำหรับผู้เข้าพัก เมศร์จะสร้างทางเดินลงไปเพื่อให้ผู้คนสัมผัสบรรยากาศของไร่กาแฟแบบใกล้ชิด และหากถูกฤดูกาล เขาวางแผนไว้ว่าอยากให้แขกผู้มาเยือนลองเก็บกาแฟกับชาวบ้านท่ามกลางอโรม่าของกาแฟที่ตลบอบอวลในอากาศ

ไม่เพียงเท่านั้น ในตอนนี้เมศร์ยังทำแบรนด์กาแฟ POK Mountain ผ่านการรับซื้อจากชุมชน ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เขาช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนอันน่ารักที่ใจดีกับเขามาโดยตลอด 

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

วิถีชุมชนบ้านป๊อกจึงอาจเรียกว่าเป็น ‘หมู่บ้านกาแฟ’ อย่างแท้จริง เพราะจากการบอกเล่าของเมศร์ เขาบอกว่าแต่ละบ้านปลูกกาแฟ รวมถึงเป็นที่ตั้งของโรงกาแฟสำหรับนำกาแฟเข้าสู่กระบวนการกะเทาะเปลือก เขาจึงเกิดความคิดว่า ถ้าหากลูกค้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ การพาขึ้นไปดูโรงกาแฟเห็นจะเป็นการทั้งต่อตัวแขกและดีต่อตัวชาวบ้าน ด้วยสภาพแวดล้อมของพื้นที่เป็นเวิ้งขนาดใหญ่ มีที่พักของเขาตั้งตระหง่านอยู่หลังเดียว การเดินป่าจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เอาเข้าจริงก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เหมือนกัน ขอแค่มีชาวบ้านผู้เก่งกาจและชำนาญเป็นผู้นำทาง ก็เดินป่าได้ตลอดรอดฝั่งไม่หลงทางแน่นอน

“แต่ต้องบอกล่วงหน้านะ ผมจะวางแผนให้” บรรทัดนี้สำหรับผู้ที่กำลังสนใจโดยเฉพาะ

เราอยากให้คุณพักผ่อน

หลายครั้งหลายคราวมักจะเจอที่พักที่ถึงแม้จะเงียบสงบ แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยความโหวกเหวกโวยวาย ฟูมฟาย และเขย่าแขนแขกพร้อมตะโกนกรอกหูว่า ต้องทำยังไงถึงจะพักให้คุ้มตังค์ ซึ่งไม่ใช่แค่การทิ้งตัวเอนหลังนอนจมฟูกเตียงอยู่เฉย ๆ แน่นอน ในทางกลับกัน เมศร์บอกกับผมอย่างบริสุทธิ์ใจว่า สถานที่แห่งนี้คือที่ที่เขาอยากแบ่งปันให้คนมาพักผ่อน ทั้งกลุ่มครอบครัวที่อยากผ่อนคลายสบายใจท่ามกลางธรรมชาติ หรือกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังหาพื้นที่เงียบสงัดสำหรับปาร์ตี้เสียงดังแบบไม่รบกวนใคร

เอาเป็นว่า เขายินดีต้อนรับทุกคนอย่างเต็มใจและบริการด้วยความรู้สึกที่เท่ากัน

POK Mountain : บ้านตากอากาศ 1 หลังกลางไร่กาแฟในหุบเขา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

จำนวน 3 ห้องนอนนั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรมาก ทั้งหมดทุกห้องมีหน้าตาเหมือนกัน เป็นเพียงห้องธรรมดาทั่วไป ถูกออกแบบด้วยแนวคิดของความเรียบง่ายเพื่อให้เกิดการพักผ่อนที่ดีที่สุด และสำหรับเขา บ้านพักหลังกะทัดรัดแห่งนี้ยังคงต้องต่อเติมอะไรต่าง ๆ อีกมากมายให้เต็มอิ่มด้วยความตั้งใจที่ว่า

“ผมจะอยู่กับมันตลอดไป ไม่ได้คิดจะย้ายไปอยู่ที่อื่น” เมศร์พูดด้วยรอยยิ้ม

ในอนาคตอาจจะมีบ้านพักงอกงามขึ้นอีก 2 – 3 หลัง ไหนจะการโปรโมตและการทำการตลาด เขาไม่เคยแตะต้องมันมาก่อน ถ้าต้องตีตัวเลขความสำเร็จของ POK Mountain เป็นเปอร์เซ็นต์ ก็เพิ่งจะ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ใครก็ตามที่เข้าพักในช่วงนี้จะมีสถานะเป็นลูกค้ารุ่นบุกเบิกไปโดยปริยาย

ตามที่บอกไปข้างต้นว่า POK Mountain คือสถานที่ที่ผู้ออกแบบตั้งใจให้แขกได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม เพราะสำหรับเขาแล้ว การแบ่งปันที่พักของเขาให้แก่ผู้มาเยือน ถือเป็นความสุขและความสนุก เมื่อมีคนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วยกันโดยไม่มีสถานะเจ้าของและลูกค้ามากีดกัน

ถ้าหากต้องการพักผ่อนอย่างจริง ๆ จัง ๆ เขาพร้อมปล่อยให้แขกหย่อนตัวปล่อยใจกับธรรมชาติ และแขวนป้าย Do not disturb ให้คุณประทับใจในความเรียบง่ายอันสวยงามท่ามกลางป่าเขา

บ้านพักตากอากาศกลางป่า ณ บ้านป๊อก จังหวัดเชียงใหม่ ออกแบบโดยคนคนเดียวเพื่อการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน

POK Mountain

ที่ตั้ง : 10/5 หมู่ 1 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)

โทรศัพท์ : 08 8639 9199

Facebook : POK Mountain และติดตามงานไม้ของเมศร์ได้ที่ : Touch Studio

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย