ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน วิว-ชนัญญา เตชจักรเสมา ยังทำงานประจำในตำแหน่ง Social Media Editor ที่ The Cloud

หลังจากร่วมงานกันได้สักระยะ เธอตัดสินใจลาออกเพื่อไปทำสิ่งที่เธอสนใจเต็มตัว

นอกจากบทบาทนักเขียนเจ้าของผลงาน วรรณคดีไทยไดเจสต์ ที่เอาเรื่องวรรณคดีมาเขียนเล่าอย่างสนุกสนานลืมเบื่อ มาวันนี้ เราสามารถพูดได้เต็มปากว่าเธอคือหนึ่งใน YouTuber คนสำคัญของประเทศไทย

ยุคนี้ในโลกออนไลน์เขาวัดกันที่ตัวเลขใช่ไหม ช่อง Point of View ซึ่งเริ่มต้นราว 7 ปีก่อนมียอดคน Subscribe ทะลุครึ่งล้านมาแล้วเรียบร้อย ยอดวิวแต่ละคลิปของเธอก็มิใช่น้อยๆ หลายคลิปแตะหลักแสน บางคลิปแตะหลักล้าน

หรือใครบางคนอาจเถียงว่า ดูตัวเลขอย่างเดียวไม่ได้หรอก ของแบบนี้ต้องวัดกันที่คุณภาพ หากใครติดตามวิดีโอแต่ละคลิปที่เธอผลิตด้วยตัวคนเดียว ย่อมสัมผัสได้ถึงความหนักแน่นของข้อมูลที่ค้นคว้ามาเป็นอย่างดี ก่อนจะเอามาย่อยแล้วเล่าจนเรื่องราวที่หลายคนเข็ดขยาดกลับกลายเป็นน่าสนุกชวนติดตาม

ช่องเล็กๆ ที่ตั้งใจจะสร้างขึ้นมาเล่าเกี่ยวกับวรรณกรรม วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมนานาชาติ แต่อาจจะลำเอียงไปเน้นไทยเป็นหลัก-เธอเขียนกำกับสิ่งที่ทำเอาไว้ว่าอย่างนั้น

ล่าสุดเธอเพิ่งคว้ารางวัล Popular Vote ใน งาน Thailand Best Blog Awards 2018 ซึ่งสำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจคืออะไรทำให้ช่องที่เน้นให้สาระความรู้ หาใช่คลิปตลกโปกฮาหรือข่าวบันเทิง มีผู้สนใจติดตามมากมายขนาดนี้

เรานัดพบกันก่อนวันที่เธอจะขึ้นรับรางวัล 1 วันเพื่อพูดคุยถึงวิธีคิดและชีวิตของ YouTuber ซึ่งยังถือเป็นอาชีพที่ข้อมูลค่อนข้างน้อย คนนอกหลายคนยังไม่เข้าใจ นึกภาพไม่ออก

“คำถามมันเยอะเวลาเราไปไหนก็ตาม” หญิงสาวว่าอย่างนั้นเมื่อผมชวนคุยถึงสิ่งที่เธอทำ

ส่วนคำตอบของคำถามเป็นอย่างไร เชิญอ่านบรรทัดถัดไปโดยไม่ต้องรอกดข้ามโฆษณาหลัง 5 วินาทีแต่อย่างใด

Point of View

ทุกวันนี้เวลากรอกข้อมูลในเอกสาร คุณกรอกช่องอาชีพว่าอะไร

Writer เพราะเรามีพาร์ตที่เป็นนักเขียนด้วย

ความจริงเรานิยามตัวเองว่าเป็น Content Creator ไม่ใช่แค่ YouTuber เพราะว่าเราไม่ได้สื่อสารอยู่ในช่องทางเดียว เราก็มีเพจ มีทวิตเตอร์ มีหนังสือ แต่ที่เรากรอกว่า Writer เพราะเราเลือกอาชีพที่คนเข้าใจที่สุดก่อน

แสดงว่าคุณก็รู้ว่าคนยังไม่ค่อยเข้าใจอาชีพที่คุณทำ

คนอาจจะเข้าใจ แต่คำถามมันเยอะ เวลาเราไปไหนก็ตาม สมมติเราพูดว่าเราเป็น YouTuber ไม่ว่าจะเป็นในไทยและต่างประเทศ ทุกคนจะถามคำแรกว่า มันได้เงินเหรอ ได้เงินจากอะไร ได้ข่าวว่ารวย รวยจริงมั้ย

ล่าสุดเราเพิ่งไปเรียนที่อังกฤษมาเกือบเดือน ไปถึงวันแรกเขาให้แนะนำตัวว่าคุณเป็นใครมาจากไหน ทำอาชีพอะไร พอเราหลุดคำว่า YouTuber ออกไป ครูบอกว่าหยุดก่อน ขอถามอีนี่ก่อน แล้วเขาก็ถามว่า คุณทำยังไง ได้เงินจริงเหรอ ได้เงินจากอะไร ซึ่งทุกคนถามแบบนี้ คนที่เป็น YouTuber ทุกคนจะชินกับคำถามนี้ แต่ถ้าเป็นอาชีพอื่น ลองนึกภาพว่าเดินไปแล้วคุณโดนถามว่าทำอาชีพอะไร ได้เงินจากอะไร รายได้คุณเท่าไหร่ มันไม่สุภาพหรือเปล่า แต่พอเป็น YouTuber ทุกคนถามเป็นเรื่องปกติ ไปบรรยายตามโรงเรียน คนยกมือถาม พี่ได้เงินเดือนเท่าไหร่

เพราะมันเป็นงานที่ใหม่ คนไม่ค่อยรู้ข้อมูลหรือเปล่า

เราว่ามันมี 2 อย่าง อย่างแรกคือ คนมองว่างานนี้ไม่น่าจะได้เงิน คนมองว่าเล่นอินเทอร์เน็ตอยู่บ้าน ไม่น่าจะมีรายได้ กับอีกแบบคือ ภาพที่สื่อออกไปบางคนเขาเห็น YouTuber ที่ใช้เงินเยอะๆ แล้วเขาคิดว่ามันต้องรวยแน่ๆ เลย อาชีพนี้ฉันอยากทำบ้าง คงนั่งอยู่บ้านคลิกๆ แล้วก็ได้เงิน เหมือนการขุดทอง ซึ่งคนไม่เข้าใจว่าเบื้องหลังก่อนที่จะได้เงินมันไม่ใช่แค่คุณเซลฟี่ไปลงแล้วคุณก็ได้เงิน

แล้วอันที่จริง YouTuber แค่นั่งอยู่บ้านคลิกๆ แล้วก็ได้เงินจริงไหม

ย้อนกลับไปที่อังกฤษ เพื่อนร่วมคลาสเราเป็นเด็กหมดเลย อายุประมาณ 17 – 18 กำลังเป็นช่วงที่อยากเป็นอะไรบางอย่าง ทุกคนตอนเห็นเราเป็น YouTuber ทุกคนบอกว่า ยูคูล ยูเจ๋งมาก ยูได้มาเที่ยวอังกฤษฟรีเดือนหนึ่ง คือทริปนั้นมีสปอนเซอร์จ้างเราไป ทุกคนก็จะบอกว่า นี่ฉันต้องจ่ายเงินมาตั้งแพง แต่เธอได้มานั่งอยู่ที่เดียวกับฉันฟรีๆ อยากเป็น YouTuber บ้าง แต่หลังจบ 1 เดือนนั้นที่อยู่ด้วยกัน ทุกคนบอกว่าไม่มีใครอยากเป็นแล้ว

พอจบ 1 เดือนไม่มีใครอยากเป็นแบบเราเลย เพราะสิ่งที่ทุกคนเห็นคือ ในขณะที่กลางวันทุกคนไปเรียน เลิกเรียนทุกคนไปเที่ยว แล้วก็กลับบ้าน ทำการบ้าน นอน ตื่นเช้ามาเรียนอย่างสดชื่น ส่วนเราเลิกเรียนก็ได้ไปเที่ยว แต่ระหว่างไปเที่ยวเราต้องถ่ายตลอดเวลา ต้องพูดกับกล้อง ต้องคิด ต้องหาข้อมูล แล้วก็เอามาพูด เวลาที่ทุกคนกลับบ้าน พักจากการไปเที่ยว เราต้องมานั่งตัดวิดีโอ

แสดงว่าความจริง YouTuber เป็นงานที่หนัก

เราไม่เคยเจอ YouTuber ที่เป็น Full-time คนไหนที่บอกว่า ชีวิตฉันว่าง สบาย เราไม่เคยเจอ

เราเคยไปงานซัมมิตของ YouTube ต่อให้เป็น YouTuber เมืองนอก ทุกคนที่นั่งร่วมโต๊ะกันก็ล้วนแล้วแต่ขอบตาคล้ำ แล้วตอนก่อนเที่ยงทุกคนจะเอ๋อๆ เพราะกลางวันทุกคนต้องทำกิจกรรมร่วมกัน พอกลางคืนทุกคนก็ต้องกลับไปตัดคลิปของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคลิปเก่าหรือคลิปใหม่ แล้วเช้าก็จะตื่นมาในสภาพที่ไม่ไหวแล้ว

ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่ YouTuber มีต่างจากการทำงานบริษัทคือบริษัทมันมีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่โลกอินเทอร์เน็ตไม่มีวันหยุด โลกอินเทอร์เน็ตเคลื่อนไปทุกวัน 1 นาทีนี้เกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกออนไลน์ มีคนมาคอมเมนต์เราทุกวินาที ตลอด 24 ชั่วโมง เราหยุดไม่ได้

เราก็ไม่ต้องตามติดสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาไม่ได้เหรอ

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าคอมเมนต์ไหนมันจะกระทบกับชีวิตเรา มันอาจจะเกิดดราม่าขึ้นมาตอนกลางคืนแต่เราเพิ่งมาเห็นตอน 10 โมงเช้า ซึ่งตอนนั้นมันก็แก้ไขอะไรไม่ทัน แล้วคุณจะทำยังไง หรือว่ามีประเด็นที่เกี่ยวกับเราเกิดขึ้น เราก็ต้องคิดว่าเราจะทำคอนเทนต์มั้ย

ถ้าเป็นบริษัทเราอาจจะลาพักร้อน 1 เดือนได้ แต่โลกอินเทอร์เน็ตถ้าคุณลาพักร้อน 1 เดือนคุณจะโดนทุกอย่างกดให้คุณหายไปจากโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่คนดูลืม หรือแม้กระทั่งพวกอัลกอริทึม การที่คุณไม่ลงคลิปวิดีโอหรือไม่ลงโพสต์ในเฟซบุ๊ก อัลกอริทึมก็จะรู้สึกว่าเพจของคุณไม่แอ็กทีฟแล้ว เขาก็ไม่ดึงคอนเทนต์ของคุณขึ้นมาให้คนดู

Point of View Point of View

การถูกลืมเป็นเรื่องที่น่ากลัวไหมสำหรับคนที่อยู่ในโลกออนไลน์

น่ากลัวถ้ายังอยากทำอาชีพนี้อยู่ แต่ถ้าคุณคิดว่า โอเค พอ เลิก การถูกลืมอาจจะเป็นความดีใจด้วยซ้ำว่า ลืมๆ ไปเถอะว่าฉันทำอะไรเอาไว้ แต่ถ้าสมมติยังอยากทำอาชีพนี้อยู่ ยังต้องหากินกับสิ่งนี้ การถูกลืมแปลว่าอะไร

การถูกลืมแปลว่าคนไม่ดู คนไม่ดูคืออะไร รายได้ไม่เข้า แล้วคุณจะทำอาชีพนี้ยังไง สุดท้ายมันอยู่ที่เรามองว่าสิ่งที่เราทำเป็นอาชีพหรือเราแค่กำลังทำเพื่อความสนุก

แล้วคุณมองมันยังไง

ถ้านับจริงๆ ทุกวันนี้มันคืออาชีพ ซึ่งพอเป็นอาชีพมันก็มีอะไรที่แลกมา

คุณแลกมาด้วยอะไร

หลักๆ ก็คือรู้สึกว่าเสียเวลาไปเยอะ เสียโอกาสที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างไปเยอะ แต่สิ่งที่ได้กลับมามันก็เยอะกว่าเยอะ

มันก็มีคนที่ไม่ได้ชอบจริงๆ ที่รู้สึกว่าฉันเสียนั่นเสียนี่ เสียโอกาสนั้นโอกาสนี้ไป แต่ด้วยตัวเราเป็นคนขี้เบื่อ เราไม่ชอบทำอะไรอย่างเดียวนานๆ ซึ่งอาชีพนี้มันก็เป็นอาชีพที่ทำให้เราได้ลองอะไรหลายๆ อย่าง มันจะมีอาชีพไหนที่อยู่ดีๆ คุณก็โดนส่งไปอยู่ต่างประเทศเดือนหนึ่ง หรืออยู่ดีๆ ก็โดนส่งไปประเทศแปลกๆ ที่ชีวิตนี้ไม่เคยคิดจะเหยียบไป

แล้วพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เข้าใจงานที่คุณทำไหม งานที่ไม่ต้องไปออฟฟิศ นั่งเล่นอินเทอร์เน็ตทั้งวัน

พ่อแม่เราเข้าใจ เพราะจริงๆ เราทำงานเป็นฟรีแลนซ์มาตั้งแต่เรียนปี 1 เริ่มจากทำงานเป็นพิสูจน์อักษร รับเขียน รับนั่นรับนี่ เขาก็เห็นอยู่แล้วว่าการที่เรานั่งเคาะๆ อะไรบางอย่างหน้าคอมพิวเตอร์อยู่บ้านเราได้เงินนะ เขาก็แค่เป็นห่วงว่าเราจะหาอะไรที่มั่นคงทำมั้ย บางทีมีบริษัทเปิดรับเขาก็จะมาถามว่าสนใจไหม แต่ความโชคดีคือที่บ้านเราไม่ได้เดือดร้อนเรื่องการเงิน เขาก็เลยบอกว่า ถ้าชอบก็ลุยไปให้สุด ลองไปให้พอ ส่วนผู้ใหญ่รอบๆ ตัวก็จะมีคนตั้งคำถามก่อนที่เราจะมาถึงจุดนี้ว่า ลูกทำอะไร แต่พอเรามีหนังสือออกมาเป็นเล่มเขาก็ไม่ค่อยถามอะไรเยอะ

ทั้งที่ชีวิตก็มีงานอื่นที่มั่นคงเป็นตัวเลือก ทำไมคุณกลับเลือกทำงานที่คนรอบตัวก็ยังไม่เข้าใจ

จริงๆ เราไม่เคยคิดว่าจะมาเป็น YouTuber หรือว่ามาเป็น Content Creator เราคิดแค่ว่าเราจะเป็นนักเขียน

อย่างที่บอก เราเป็นคนขี้เบื่อ ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานประจำประมาณ 3 งาน เป็นงานที่ดีทั้งหมด เป็น Dream Job ว่าอย่างนั้น เพื่อนอิจฉาบอกว่าฉันอยากเข้าไปอยู่จุดนั้นบ้าง งานมันเจ๋งมาก สนุกมาก แต่ทุกครั้งที่เราเข้าไปนั่งทำเราจะรู้สึกว่าฉันมานั่งทำอะไรที่นี่ คือมันก็มีความสนุกของมัน แต่พอทำซ้ำๆ กันเราจะรู้สึกว่าไม่เอาแล้ว ไม่ชอบ เบื่อ ไม่ชอบนั่งออฟฟิศ ไม่ชอบนั่งโต๊ะ ไม่เข้าได้มั้ย

แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่เราเป็นประจำเลยก็คือ เราเป็นคนทำงานไม่เป็นเวลา บางทีไอเดียเรามาตอนตี 3 เราก็ลุกขึ้นมาทำมันตอนตี 3 แล้วเราก็จะรู้สึกว่าฉันทำงานตอนนี้ไปแล้วตั้ง 3 – 4 ชั่วโมง แล้วทำไมฉันต้องตื่นเช้ามาโชว์ตัวที่บริษัทตอน 10 โมงอีก ในเมื่อทำไปแล้ว แล้วตลอดวันก็ไม่มีอะไรให้ทำ เพราะงานเสร็จแล้ว เรารู้สึกว่าการที่เอาตัวเองมานั่งในโต๊ะตรงนี้มันเสียเวลา รู้สึกว่าตัวเองมี Potential ที่จะใช้เวลาตอนนี้ทำอย่างอื่น หรือเอาไปนอนก็ยังดี

Point of View

ปัญหานี้เป็นปัญหาร่วมของคนรุ่นคุณหรือเปล่า

เรารู้สึกว่าเพื่อนเราหลายคนรู้สึกเหมือนกัน แต่เรารู้สึกเยอะเป็นพิเศษ เพราะเราเป็นคนทำงานเร็วมาก เป็นคนคิดออกแล้วทำเลย คิดออกตอนตี 3 แล้วจะไปรอ 10 โมงเช้าทำไม ก็ลุกขึ้นมาเขียนเลย ซึ่งการที่เอาเราไปนั่งไว้เฉยๆ ในออฟฟิศหลายๆ ชั่วโมง เรารู้สึกว่าฉันเอาเวลานั้นไปทำอะไรอย่างอื่นได้ตั้ง 4 – 5 อย่าง

ด้วยความคิดแบบนี้ทำให้คุณต้องปะทะกับคนรุ่นก่อนมั้ย

ไม่เคยปะทะโดยตรง แค่จะรู้สึกหงุดหงิดใจตัวเองว่าฉันมานั่งทำอะไรอยู่ที่นี่ แต่สุดท้ายก็ต้องหาอะไรนั่งทำไปให้มันครบเวลา

รู้สึกยังไงที่คนมักบอกว่าเด็กรุ่นคุณเปลี่ยนงานบ่อย ไม่อดทน

เรารู้สึกว่าโลกสมัยนี้มันไว มันเร็วกว่าโลกสมัยก่อนเยอะ สมัยก่อนถ้าเข้าไปลองแล้วไม่ใช่ ทนอยู่สักปีหนึ่ง โลกวันที่คุณก้าวเข้าไปกับวันที่ก้าวออกมามันก็ยังเป็นโลกเดิม ก็ไปลองใหม่ได้ แต่ว่าโลกสมัยนี้ที่เราอยู่ โดยเฉพาะโลกดิจิทัล โลกอินเทอร์เน็ต มันเร็วถึงขนาดที่ว่าถ้าเราไม่เริ่มทำ YouTube ณ วันที่เราเริ่ม แล้วมาเริ่มทำวันนี้ เราว่าเราได้ผลลัพธ์คนละแบบเลย

คนที่เริ่มทำ YouTube ในปี 2016 ปี 2017 ปี 2018 ก็เป็นคนละเจนกันเลย แล้วความคิด แนวคิด ในการทำมันต่างกันคนละโลกเลย ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าอันไหนดีกว่ากันนะ แค่จะบอกว่าแต่ละเจนคนมันจะมีจุดมุ่งหมายที่ต่างกันชัดเลย เช่น ตอนที่เราเริ่มทำเราไม่รู้เลยว่ามันจะมีรายได้จากสิ่งนี้ เราเริ่มทำด้วยความรู้สึกว่าฉันชอบทำ ถ้ามีรายได้ก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร ผ่านไปอีกประมาณ 2 ปี คนจะรู้สึกว่าก็ฉันชอบแล้วมันมีรายได้ด้วย ก็ทำ รายได้อาจจะไม่ได้ดีมาก อาจจะน้อยกว่าบริษัทนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ต้องทนทำงานในบริษัทนะ ผ่านไปอีกปีหนึ่ง YouTuber กลายเป็นอาชีพที่รายได้สูงที่สุดในประเทศไทย แล้วทำไมฉันจะไม่ทำล่ะ นี่มันขุมเงินขุมทอง พอแนวคิดมันเปลี่ยน คนที่ทำมันก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าคุณอยากเป็น YouTuber แต่จะต้องทนอยู่กับบริษัทอีก 2 ปี แล้วค่อยมาทำ อีก 2 ปีข้างหน้า YouTube อาจจะไม่มีแล้วก็ได้

แล้วบางอย่างมันไม่ใช่หลักปี แต่แค่เดือนเดียวก็เปลี่ยนไปแล้ว หรือหลักวันก็มี เช่น สมมติเราเห็นวันนี้ว่ามีโอกาสเข้ามา แต่ไม่รับเพราะว่าติดงานประจำ เท่ากับเราเสียโอกาสนั้นไปแล้วตลอดกาล

แล้วในมุมมองของคุณ เด็กยุคนี้รักสบายหรือทำงานหนักน้อยกว่าคนยุคก่อนจริงไหม

เรามองว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มนุษย์เราทุกคนรักสบาย แค่เทคโนโลยีมันทำให้คุณสบายได้หรือเปล่า ความอดทนเป็นสิ่งที่ดี แต่ความอดทนในทางที่ผิดมันไม่ดี คนที่กำลังบ่นว่าเด็กไม่อดทน ถ้าลองเทียบกับสมัยพ่อแม่ของคุณ คุณก็อดทนน้อยกว่าเขาเหมือนกัน สุดท้ายคุณแค่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะทำให้คุณสบายในยุคของคุณแค่นั้นแหละ อย่างทุกวันนี้คนก็คอลไลน์เอา ไม่โทรศัพท์แล้ว ไม่ต้องเขียนจดหมายแล้ว ซึ่งทุกคนก็ใช้เหมือนกัน แค่คุณเข้าถึงมันแค่ไหน

เรามองว่าสุดท้ายมันอยู่ที่ผลลัพธ์มากกว่าหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องมาพิสูจน์ว่า แล้วสิ่งที่เด็กสมัยนี้ทำมันได้ผลลัพธ์เท่ากับสมัยก่อนมั้ย เผลอๆ ถ้าไปคิดดูดีๆ เขาอาจจะทำงานน้อยกว่าแต่ได้ผลเยอะกว่าด้วยซ้ำ ลองมาวัดกันที่ผลลัพธ์ไหม เมื่อพลิกเป็นตัวเงิน หรือพลิกเป็นความสุข หรือพลิกเป็นอะไรสักอย่าง มันเท่ากันหรือเปล่า

คุณค่าชีวิตของคนรุ่นก่อนหลายๆ คนคือการทำงาน แล้วคุณค่าชีวิตของคนรุ่นคุณยังเป็นเรื่องงานอยู่หรือเปล่า

กรณีของเราเองยังเป็นงานอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าการที่ฉันได้ทำงานแปลว่าฉันมีคุณค่า แต่มันคือการที่งานของฉันพูดอะไรบางอย่างออกไป การที่งานของฉันส่งผลอะไรบางอย่างกับโลก อันนั้นแหละคือคุณค่าที่เรารู้สึก

ที่ผ่านมาเราเป็นคนชอบเรื่องอะไรที่คนเข้าใจค่อนข้างยาก อย่างเช่นเราอ่านวรรณคดีตั้งแต่ 5 ขวบ หรืออ่านประวัติศาสตร์ไทยเป็นหนังสืออ่านเล่น ซึ่งถามว่าสมัยเด็กๆ มีคนชมมั้ย มี แต่คนจะมองว่ามันแปลก เป็นเด็กอ่านอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ จะสนุกได้ยังไง ซึ่งพอมา ณ วันนี้ การที่โยนความคิดอันนี้ลงไปในสังคม แล้วมีเด็กหรือผู้ใหญ่เดินเข้ามาบอกว่า เฮ้ย เพิ่งเห็นว่ามันสนุกจริงๆ มันเกิดคนที่คิดเหมือนกันขึ้นมา เราก็รู้สึกว่านี่แหละ คุณค่าของสิ่งที่เราทำทั้งหมด

Point of View Point of View

ย้อนกลับไปคุณคิดว่าอะไรทำให้คุณไม่เข็ดขยาดวรรณคดีเหมือนคนอื่นๆ จนสามารถเอามาเอามาเล่าอย่างสนุกสนานได้

เราอาจจะโชคดีที่เราโดนหลอกตั้งแต่เด็กๆ เราไม่รู้ว่าคนเขาไม่อ่านกัน (หัวเราะ) เพราะว่าสมัยเด็กๆ คุณแม่ก็ซื้อนิทานเรื่องอื่นมาให้อ่านด้วย ซึ่งมันปนกันหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นหนูน้อยหมวกแดง แก้วหน้าม้า หรือวรรณคดีเรื่องอื่นๆ เราไม่เคยแยกประเภทว่านี่คือวรรณคดีไทย เป็นสิ่งมีคุณค่าที่ฉันจะนั่งอ่าน เรามองว่ามันเท่ากัน เราก็รู้แค่ว่า อ๋อ เรื่องนี้เป็นเรื่องของหนูน้อยหมวกแดง เรื่องนี้เป็นเรื่องของสินสมทุร เรื่องนี้เป็นเรื่องของสุดสาคร อ้าว ก็เป็นเรื่องเด็กผจญภัยเหมือนกัน ไม่เห็นต่างกันเลย เราก็อ่านมาโดยไม่เคยรับรู้ว่ามันมีความเข็ดขยาด มารู้ตอนโตว่าชาวบ้านเขากลัวกันเหรอ

คิดว่าปัญหาคืออะไร ทำไมคนจึงกลัว

เราไปกลัวมันก่อนที่เราจะเจอมันจริงๆ สมมติว่าเด็กคนหนึ่งยังไม่ทันที่เขาจะรู้จักวรรณคดี อยู่ดีๆ ก็มีคนบอกว่าวรรณคดีภาษาสวย ภาษาสูงส่ง ภาษายาก เขายังไม่ทันรู้จักวรรณคดีเขาก็กลัวแล้ว แล้วคนสอนก็มีส่วน บางทีคนสอนก็ดันไปบิลด์เองว่าวรรณคดีอยู่บนหิ้ง

เราอาจจะมองวรรณคดีไม่เหมือนชาวบ้าน อย่างที่บอก เรามองว่ามันเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เรามองว่ามันเป็นเหมือนนิยาย เหมือนละครหลังข่าว คือมันเป็นสตอรี่ซึ่งโดนหุ้มด้วยภาษาแค่นั้นเอง ไม่ว่าภาษาจะยากจะง่ายมันก็คือตัวสตอรี่เหมือนกัน

การมองว่ามันเหมือนละคร มองว่ามันธรรมดามากๆ เป็นการลดทอนคุณค่าของวรรณคดีไหม

คุณค่าของวรรณคดีคืออะไรล่ะ เรามองว่าพวกเราไปให้คุณค่าของมันเวอร์เกินไป บางคนบอกว่ามันเป็นสมบัติของชาติ มองว่าวรรณคดีเป็น Genre หนึ่งที่ต่างจากหนังสือเล่มอื่น แต่ว่าจริงๆ แล้วตอนที่คนเขียนวรรณคดีขึ้นมา เขาก็เหมือนนักเขียนทุกวันนี้ เขาก็แค่เขียนมันขึ้นมา ซึ่งโอเค แต่ละเล่มมันก็มีจุดมุ่งหมายต่างกัน แต่คุณดันเอามามัดรวมกัน

เราเหมารวมแล้วก็บอกว่าทุกเล่มอยู่บนหิ้ง ดูซิพระลอทำอะไร ไปเป็นชู้กับผู้หญิงแล้วโดนยิงตาย คือเขาไม่ได้เขียนให้คุณไหว้พระลอ เขาเขียนไว้อ่านเล่น หรือว่าขุนช้าง ขุนแผน ที่เจ้าชู้มีเมียห้าหกคน เขาไม่ได้เขียนให้อ่านจบแล้วคุณต้องเป็นแบบขุนแผน เขาเขียนให้อ่านเล่น

การศึกษามีส่วนไหมที่ทำให้วรรณคดีไทยยิ่งห่างเหินจากยุคสมัย

มี ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติเราเอาหนังสือ Harry Potter มาให้เด็กที่ไม่รู้จัก Harry Potter อ่าน 1 เล่ม แล้วถามเขาว่า สนุกมั้ย สนุก เขาชอบมาก ทุกคนชอบ แต่ถ้าสมมติเราเปิดเล่ม 4 บทที่ 2 แล้วบอกเขาว่า บทนี้ดีมาก สนุกที่สุดใน 7 เล่มเลย ให้อ่านแค่บทนี้บทเดียว ทุกคนก็จะคิดว่าไอ้เด็กแว่นนี่เป็นใคร ทำไมฉันต้องอยากรู้เรื่องมันด้วย ซึ่งนี่คือสิ่งที่เรากำลังทำกับวรรณคดี

อยู่ดีๆ เราก็ยกเอา รามเกียรติ์ มา 1 บท แล้วบอกว่ามาดูสุครีพหักฉัตรกันเถอะ อ้าว ทำไมฉันต้องอยากรู้เรื่องลิงตัวนี้ที่ไปหักฉัตร ซึ่งโอเค กรณี รามเกียรติ์ เราอาจจะพอรู้เรื่องมาตั้งแต่ต้น แต่ว่าเราทำแบบนี้กับวรรณคดีทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องที่เราไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เราก็ไปหยิบบทตรงกลางมาแล้วบอกว่าอันนี้ดีมากเลย แล้วไง แล้วทำไมฉันต้องอยากรู้เรื่องตัวละครตัวนี้ด้วย

กลับกัน เวลาเราเรียนในคณะอักษรศาสตร์ เราพบว่าเขาสอนให้วรรณคดีมันสนุกได้ สิ่งที่เขาทำคือ เขาแจกวรรณคดีให้อ่านเลย 1 เล่ม ไม่มีการมาอ่านพร้อมกันในห้อง คุณไปอ่านมา อ่านเสร็จมีประเด็นอะไรมาถกกันในห้อง มันสนุกกว่าเยอะเลย ซึ่งคนอาจจะเถียงว่าสมัยเด็กมันทำไม่ได้ เด็กอ่านไม่เข้าใจ แต่จริงๆ แล้ววรรณคดีมันไม่ได้มีแต่เรื่องอ่านยากนี่ มันก็มีภาษาที่ไต่ระดับ ทำไมเราไม่เอาเล่มง่ายๆ ให้เด็กอ่านก่อน

Point of View Point of View

คุณรู้สึกยังไงกับการที่เราต้องพยายามทำทุกเรื่องให้สนุก คนจึงจะสนใจ

เรามองว่าคนเราถ้าไม่เข้าใจเราจะปิดใจ เขาจะไม่เข้าไปถึงมันตั้งแต่แรก แต่ถ้ามีใครสักคนทำให้เขาเปิดใจก่อน เดี๋ยวมันจะมีการคัดกรองเองว่ามีคนสนใจจริงจังหรือแค่ผิวเผินกี่คน

สมมติเด็กมี 100 คน ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่มีคนพูดอะไรเลย อาจจะมีคนสนใจวรรณคดีสัก 1 คน ซึ่ง 1 คนนั้น ต่อให้มันยาก ต่อให้มันน่าเบื่อ ยังไงเขาก็สนใจ แต่ถ้ามีใครสักคนมาทำให้ง่าย แล้วมีเด็กสนใจเพิ่มขึ้นมา 50 คน อย่างน้อยก็มีคนสนใจเพิ่มมา 50 คน ส่วนอีก 49 คนยังไงก็ไม่สนใจ ก็ปล่อยไป แล้วใน 50 คนที่หันมาสนใจ เดี๋ยวมันมีเอง คนที่จะเปลี่ยนไปเป็นแบบ 1 คนแรก แต่ถ้าคุณไม่เอามาทำให้ง่ายตั้งแต่แรกแล้วบอกว่า ทุกคนต้องก้าวข้ามกำแพงภาษาให้ได้ ทุกคนต้องหันมาสนใจด้วยตัวเองตั้งแต่แรก สุดท้ายใน 100 คนมันก็มีคนสนใจแค่คนเดียว

คุณเคยคิดไหมว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของคนที่เป็น YouTuber

จรรยาบรรณ เรารู้สึกว่าคุณต้องรู้สึกว่าคุณเป็นสื่อ

คุณมองว่าตัวเองเป็นสื่อ

เรามองตัวเองเป็นสื่อ แต่หลายคนอาจจะมองว่านี่พื้นที่ส่วนตัว ฉันจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวแล้วตั้งแต่คุณเอาลงอินเทอร์เน็ต เพราะมันก็มีคนตาม แค่ 1 คนมันก็คือคุณกำลังสื่อสารอะไรบางอย่างแล้ว แล้วบางคนคุณมีคนตามเป็นแสนเป็นล้าน คุณจะบอกว่าคุณไม่ใช่สื่อไม่ได้ คุณใหญ่กว่าสื่อบางช่องอีก สื่อบางช่องโพสต์อะไรบางอย่างออกไปคนเห็นพันคน คุณโพสต์คนเห็นล้านหนึ่ง คุณควรจะมีจรรยาบรรณมากกว่าเขาอีก

จรรยาบรรณในความหมายของคุณประกอบด้วยอะไร

เราว่ามันเป็นคอมมอนเซนส์ ก็แค่อย่าทำร้ายคนดู อย่าทำร้ายตัวเอง อย่าทำร้ายคนที่ทำงานด้วยกัน ซึ่งการไม่ทำร้ายกันมันก็ครอบคลุมทุกอย่างหมดแล้ว สมมติมีโฆษณาชิ้นหนึ่งเข้ามา คุณต้องคิดว่าถ้าพูดออกไปแล้วมันทำร้ายคนดูมั้ย ถ้ามันทำร้ายก็อย่ารับ เราว่ามันเป็นคอมมอนเซนส์มากๆ แต่บางครั้งคอมมอนเซนส์ก็โดนกลบด้วยอะไรหลายๆ อย่างในบางกรณี เช่น โดนกลบด้วยรายได้ที่มันมาก

สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าสำคัญก็คือคุณต้องรู้ว่าทำอะไรเพราะอะไร คุณทำทั้งหมดนี้เพราะคุณชอบหรือคุณทำเพราะเงิน ถ้าทำเพราะอยากได้เงิน คุณก็ต้องอย่าลืมว่าคุณได้เงินเพราะว่าคนดูเขาดูคุณนะ คุณจะไปทำร้ายคนที่ทำให้คุณได้เงินเหรอ

มีฟีดแบ็กไหนจากคนดูบ้างไหมที่ทำให้คุณรู้สึกว่าสิ่งที่คุณทำส่งผลต่อคนดูจริงๆ ไม่ได้คิดไปเอง

เราชอบมากเวลาเด็กเดินเข้ามาคุยด้วย หรือว่าผู้ใหญ่ก็ตาม มันอาจจะไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง แต่มันจะมีหลายคนที่เดินเข้ามาบอกว่า หนูเคยเกลียดวิชานี้มากเลย ตอนนี้หนูได้เกรด 4 แล้วนะ หนูชอบมาก หนูมีความสุข หรือเป็นผู้ใหญ่เดินเข้ามาบอกว่า ตอนเรียนเขาเกลียดวิชานี้มากเลย ตอนนี้หันมาสนใจแล้ว ตอนนี้หันไปหามาอ่านเพิ่มแล้วนะ สำหรับเรามันมีคุณค่ามาก

ที่ผ่านมาคนอาจจะมองว่าเราทำเกี่ยวกับวรรณคดีอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วเราทำทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ภาษา เทคโนโลยี และอีกหลายๆ เรื่อง แก่นทั้งหมดของสิ่งที่เราทำคือ เราชอบเล่าเรื่อง และเราเชื่อว่ามันมีความสนุกอยู่ในสาระ หลายคนมองว่าสาระมันน่าเบื่อ แต่เรามองว่ามันมีความสนุกซ่อนอยู่ข้างใน คุณแค่ต้องหามันให้เจอ ซึ่งถ้าคุณยังหามันไม่เจอ เดี๋ยววิวดึงออกมาให้เอง แล้วมันอาจจะทำให้คุณหันไปเปิดใจให้อย่างอื่นที่เหลือบ้าง

มีคนเยอะนะที่เคยเกลียดแล้วหันมาชอบแบบเรา จากที่เคยชอบอยู่คนเดียว วันนี้ดีใจจังเลย มีคนสนใจด้วยแล้ว

Point of View

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan