“เคยมีคนให้ 2 แสนบอกขอซื้อทั้งหมด แต่เราไม่ขาย”

“2 แสนไม่ขาย แล้วถ้า 2 ล้านขายไหม” เราถามติดตลก

“ไม่ขายครับ!!”

เพื่อนซี้ทำจากพลาสติกขนาดเล็กกว่าเหรียญ 10 บาทไทยที่ ป๊อกกี้-เกรียงไกร แซ่โล้ว ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีวันขาย คือของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 – 90 ที่ถูกเรียกขานว่า ‘ของเล่นกูลิโกะ’ 

‘ของเล่นกูลิโกะ’ ยุค 80 ของป๊อกกี้ เกรียงไกร ไทม์แมชชีน 200 ชิ้นจิ๋วๆ ที่พาสู่วัยเด็ก
‘ของเล่นกูลิโกะ’ ยุค 80 ของป๊อกกี้ เกรียงไกร ไทม์แมชชีน 200 ชิ้นจิ๋วๆ ที่พาสู่วัยเด็ก

ย้อนไปใน พ.ศ. 2531 กูลิโกะไทยผลิตลูกอมออกมา 2 รส ภายใต้กล่องสีเย้ายวนอย่างสีชมพู รสคาราเมล และสีน้ำตาล รสช็อกโกแลต ซึ่งภายในไม่ได้มีเพียงขนมรสชาติอร่อย แต่ยังมีของเล่นสุดน่ารักที่แถมมาด้วย 

ป๊อกกี้เล่าว่า ตอนเขายังเด็ก รสช็อกโกแลตเป็นรสโปรดของเด็กทั้งซอย ทุกคนต่างแห่ไปซื้อจนเกลี้ยงชั้น ทำเอาคุณป้าเจ้าของร้านต้องอ้อนให้เด็ก ๆ ช่วยซื้ออีกรสถึงจะเติมสต็อกได้

ของเล่นกูลิโกะที่แถมมากับขนม ผลิตออกมาต่อเนื่องด้วยกัน 3 รุ่น 3 สมัยในราคาต่างกัน รุ่นแรกเริ่มเพียง 5 บาท ก่อนรุ่นที่ 2 จะขยับมาเป็น 8 บาท และปิดท้ายด้วยรุ่นรถแข่งโดยเฉพาะในราคา 10 บาท 

จนถึงวันนี้ เขาสะสมไว้ทั้ง 3 รุ่นรวมกันกว่า 200 ชิ้น โดยเฉพาะรุ่นหนึ่งที่เก็บสะสมไว้มากที่สุดและนานที่สุด แต่ถึงแม้จะซื้อหนังสือคู่มือของญี่ปุ่นมาเทียบ สังเกตจากหน้ากล่อง หรือจดจำจากนักสะสมด้วยกัน ปริศนาที่รักษาความลับมานานหลายสิบปีกลับยังไม่ถูกไขเสียทีว่า แท้จริงแล้วของเล่นกูลิโกะมีจำนวนกี่ชิ้นกันแน่

“เมื่อก่อนเวลาเห็นคนซื้อกูลิโกะ ก็จะชะเง้อคอมองว่าเขาได้ลายอะไร ซ้ำกับเราไหม ถ้าไม่ซ้ำก็จะจำว่าชิ้นนี้เรายังไม่มี ตอนนี้ก็ไม่รู้ขาดชิ้นไหนบ้าง พยายามเก็บตามหน้ากล่องที่มันโชว์อยู่”

แต่ถึงจะไม่รู้ว่าตนเองสะสมเอาไว้เป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด นักสะสมในวงการด้วยกันก็เรียกเขาว่า เป็นนักสะสมของเล่นกูลิโกะตัวจริงที่ตอนนี้ยังไม่มีใครมาเทียบได้

‘ของเล่นกูลิโกะ’ ยุค 80 ของป๊อกกี้ เกรียงไกร ไทม์แมชชีน 200 ชิ้นจิ๋วๆ ที่พาสู่วัยเด็ก
‘ของเล่นกูลิโกะ’ ยุค 80 ของป๊อกกี้ เกรียงไกร ไทม์แมชชีน 200 ชิ้นจิ๋วๆ ที่พาสู่วัยเด็ก

จากความทรงจำในร้านป้าน้อย สู่กรุ๊ปออนไลน์

ป๊อกกี้เล่าต่อว่า เมื่อ 30 ปีก่อน แหล่งตามล่าของเล่นกูลิโกะคือ ‘ร้านป้าน้อย’ ร้านขายของย่านเยาวราช ขวัญใจเด็กในซอย

จุดเด่นของร้านป้าน้อยคือ ป้ามักจะนำของเล่นใหม่มาขายไวกว่าร้านอื่น ทำให้เด็กมาร้านไม่ขาด จนสองข้างผนังร้านล้วนมีแต่ของล่อตาล่อใจห้อยโชว์เรียกลูกค้าตัวจิ๋ว

ก่อนเข้าสู่ยุคที่เว็บเพจรุ่งเรือง คนยุค 80 – 90 จะรวมตัวกันเปิดห้องค้าขาย เป็นทั้งแหล่งพูดคุย ตามหา และส่งต่อของสำหรับผู้คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อเว็บเพจเหล่านั้นปิดตัวลง ก็ได้เวลาแห่งการเข้ามาของเฟซบุ๊กที่กลุ่มต่าง ๆ กลายเป็นพื้นที่สำหรับนักตามหาความทรงจำ

ของเล่นกูลิโกะที่ผลิตในไทยรับต้นแบบมาจากญี่ปุ่นทั้งหมด จึงไม่มีคอลเลกชันที่ผลิตในไทยโดยเฉพาะ 

ความแตกต่างระหว่างของไทยกับญี่ปุ่นอยู่ที่เนื้อพลาสติก โดยของไทยจะแตกหักง่าย ต่างจากของญี่ปุ่นที่ใช้นิ้วดันแล้วเด้งกลับมาได้ นอกเหนือไปจากนั้นก็เป็นเรื่องความละเอียดของของเล่น

ระหว่างพูดคุยกันเรื่องนี้ ป๊อกกี้โชว์ให้ดูถึง ‘แก๊งน่าหงุดหงิด’ หรือกลุ่มเจ้าตัวจิ๋วที่ไทยนำมาทำแล้วขาดรายละเอียดบางอย่างไป

‘ของเล่นกูลิโกะ’ ยุค 80 ของป๊อกกี้ เกรียงไกร ไทม์แมชชีน 200 ชิ้นจิ๋วๆ ที่พาสู่วัยเด็ก
ปูขาดก้ามและยานอวกาศขาดคนบังคับ ซึ่งเวอร์ชันญี่ปุ่นจะมีคนนั่งอยู่ด้านบน 2 คน

ถึงจะหงุดหงิดเช่นไร เขายืนยันว่า ของเล่นกูลิโกะที่ผลิตในไทยนั้นหายาก และปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่าของนอกหลายเท่า ถึงขนาดว่าถ้าลองไปเดินตามแหล่ง เช่น ย่านคลองถมหรือเมกาพลาซ่า ก็ยังมีโอกาสเจอของญี่ปุ่นบ้าง แต่ของไทยนั้นแทบไม่มีเลย  

แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ของไทยราคาสูงกว่าและหายากกว่า

ป๊อกกี้สันนิษฐานว่าเกิดจากที่ญี่ปุ่นผลิตของเล่นออกมาในล็อตใหญ่กว่า นอกจากนั้นก็หนีไม่พ้นเรื่องความผูกพัน ซึ่งเมื่อเราได้สัมผัส ได้ลองเล่น มูลค่าก็เพิ่มขึ้นตามราคาของความผูกพันและความทรงจำ 

ด้วยใจที่อยากสะสม

บุคคลแรกที่นำของเล่นกูลิโกะเข้ามาทำความรู้จักกับบ้านแซ่โล้วคือ พี่สาวของป๊อกกี้ ต่อมาตัวเขาเอง พี่ชาย และเพื่อนจึงพากันไปซื้อตาม พร้อมเปิดเวทีอวดของกันอยู่เสมอ จนสิ่งของดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้ 3 พี่น้องได้ใช้เวลาร่วมกัน

“ของเล่นกูลิโกะเป็นชิ้นเดียวที่ได้เล่นกันทั้งครอบครัว คือ 3 พี่น้อง อย่างตุ๊กตากระดาษเล่นกับพี่สาว พี่ชายไม่เล่น อย่างอื่นก็เล่นกับพี่ชายแทน แต่มีอันนี้ที่เล่นกันทั้ง 3 คนจริง ๆ เป็นจุดรวมของคนในบ้านมากที่สุด” ป๊อกกี้พูดถึงความทรงจำด้วยรอยยิ้ม

‘ของเล่นกูลิโกะ’ ยุค 80 ของป๊อกกี้ เกรียงไกร ไทม์แมชชีน 200 ชิ้นจิ๋วๆ ที่พาสู่วัยเด็ก

นิสัยนักสะสมของเขาก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่อายุ 6 – 7 ขวบ เด็กชายเริ่มเก็บของเล่นต่าง ๆ ไว้ในบ้าน ด้วยความยินดีของพ่อแม่ที่ไม่เคยต่อต้านต่อความรักความชอบนี้ 

เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 3 – 4 ปี วัฏจักรของของเล่นก็แปรไปตามยุคสมัย ป๊อกกี้เริ่มเก็บของเล่นชนิดอื่นเพิ่มเติมโดยยังสะสมชิ้นเก่า ๆ ไว้ทั้งหมด แม้เวลาจะผ่านไปไม่นาน พอได้มาเจอเพื่อนที่สะสมเหมือนกัน ได้พูดคุยถึงของที่เก็บไว้ จึงพบว่ามันเป็นความทรงจำที่ดี น่าเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ 

แม้เวลาผ่านไป บทสนทนาเหล่านี้คงได้วนกลับมาคุยกันอีก จวบจนปัจจุบันของเล่นกูลิโกะก็ยังเป็นบทสนทนาในวงเพื่อนทุกครั้งที่กลับมาเจอกัน

“คนมีอดีตเยอะมั้ง รุ่นราวคราวเดียวกันก็จะรู้จักหมด วันนั้นไปเล่นบอร์ดเกมกับเพื่อน โชว์รูปให้ดูก็ เห้ย! ยังเก็บอยู่เหรอ!” 

‘ของเล่นกูลิโกะ’ ยุค 80 ของป๊อกกี้ เกรียงไกร ไทม์แมชชีน 200 ชิ้นจิ๋วๆ ที่พาสู่วัยเด็ก

ปลดปล่อยความทรงจำ

กว่าจะมาสู่จุดที่มีของสะสมมากมายให้เราได้ชมกัน พวกมันเคยถูกเก็บไว้ในกล่องนมที่ซ่อนไว้อีกทีในซอกหลืบของบ้านจนไม่มีใครจำได้

ครั้นมาวันหนึ่ง พี่ชายไปเจอของเล่นกูลิโกะในกลุ่มขายของเล่น แล้วจำได้ว่าชิ้นนี้เหมือนทุกคนในบ้านจะยังไม่เคยมี เขาจึงซื้อเพื่อเอามาเทียบ แต่กลับหากล่องนมนั้นไม่เจอ ทุกคนในบ้านร่วมแรงร่วมใจหาในเทศกาลล้างบ้านของชาวจีน จนกลายเป็นภารกิจ 3 ปีที่สุดท้ายได้กลับมาเจอกัน

ไหน ๆ ตัวจิ๋วเหล่านี้ก็กลับมาสู่อ้อมอกอย่างปลอดภัยแล้ว เราจึงขอให้ป๊อกกี้ช่วยเลือกชิ้นที่โดดเด่นในความทรงจำมาเล่าให้ฟังหน่อย

01 ชามมีดเขียง 

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

น้อยคนนักจะรู้ว่าส่วนประกอบกระจุกกระจิก 3 ชิ้นนี้มาจากชิ้นเดียวกัน ชาม มีด เขียง

ถูกใช้เป็นเครื่องครัวในร้านอาหารที่เปิดกิจการอย่างสนุกสนานกับพี่สาวกันหลายปี

“สมัยเด็กใช้มีดสับเล่น ๆ เปิดร้านอาหาร ทำครัวกับพี่สาว”

02 กล่องตัดเย็บ

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

กล่องสีเขียวใบน้อยเปิดปิดได้ ล็อกได้ ด้านในมีช่องสามช่องพอดีกับกรรไกรและหลอดด้ายที่ไว้ตัดเย็บ 

“ชิ้นนี้มันน่ารัก มีลูกเล่น เปิดฝากล่องออกมาแล้วเจอเข็มกับด้าย ใส่ได้พอดีกัน”

03 รถสามล้อส่งไปรษณีย์ของญี่ปุ่น

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

พาชมระบบการสื่อสารในยุคหลายสิบปีก่อนด้วยรถเวสป้าที่ใช้ส่งไปรษณีย์ตามบ้านของญี่ปุ่น

04 แมวจับหนู

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

หนูวิ่งไป แมวไล่ตาม ชิ้นนี้มีกลไกตรงล้อ เราจับมันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าให้แมวไล่จับหนูได้ตลอดเวลา

05 ไฟจราจร

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

ในสนามของการประลองรถแข่งระหว่างป๊อกกี้กับพี่ชาย ชิ้นนี้นับเป็นตัวขัดขวางตัวฉกาจ ด้วยฟังก์ชันที่หมุนได้ ไฟเขียว ไฟแดง จึงแทนสัญญาณไฟจราจรในการแข่งขัน

“ชิ้นนี้นี่สนุกมากเลยตอนเด็ก เป็นตัวขัดขวางระหว่างแข่งรถกับพี่ชาย หยุดอยู่นะ อย่าเพิ่งวิ่ง!”

06 รถพระเอก

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

ตอนได้ยินชื่อครั้งแรกก็แอบสงสัยว่า รถพระเอกควรจะหน้าตาเป็นอย่างไร 

เจ้ารถขาวฟ้าที่ตรงกลางเคยใสจนเห็นเป็นสีรุ้งนี้ คือรถที่พี่ชายของเขาชอบมาก ทุกการแข่งขันรถคันนี้จึงได้เป็นรถฝ่ายดีที่มาแข่งกับรถตัวร้ายเสมอ แน่นอนว่าป๊อกกี้ต้องรับบทหลังสุดเกือบทุกครั้ง

07 รถแท็กซี่ญี่ปุ่น

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

มีพระเอกแล้วก็ต้องมีผู้ร้าย รถคันนี้เป็นรถที่ป๊อกกี้รักมาก เพราะมันกุ๊กกิ๊กและมีตรากูลิโกะอยู่บนป้ายแท็กซี่ 

“พอพี่ชายรู้ว่าชอบก็จะให้เป็นผู้ร้ายตลอด เป็นรถที่รับพวกวายร้ายขึ้นไป”

08 กล้องถ่ายรูป

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

ถึงแม้ว่ากล้องนี้จะถ่ายภาพไม่ได้ แต่ก็ลั่นชัตเตอร์ได้ด้วยกลไกที่เมื่อกดแล้วมันจะเด้งกลับมา

09 สตรอว์เบอร์รีพรหมลิขิต

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

ชิ้นที่ดูเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่กลับมีเรื่องราวซ่อนเอาไว้ 

“ตอนเด็กไม่เคยมีชิ้นนี้ แต่ไปได้จากกองของเล่น มีแต่พลาสติกตัวสตรอว์เบอร์รี ไม่มีตรากูลิโกะ พอไม่มีหัว (ส่วนใบ) ก็เลยไม่รู้ว่าใช่ไหม ผ่านไป 3 – 4 ปี ไปเดินเล่นที่คลองถม แล้วไปเจอส่วนหัวมา ไม่รู้ว่าหัวคืออะไร แต่มีตรากูลิโกะก็เลยซื้อไว้ก่อน แล้วพอมาคุ้ยในถุงเดียวกัน เห้ย! มันประกอบกันได้พอดี!”

แต่เราก็หากันจนเจอจริง ๆ

10 เรือสำเภา

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

ยานพาหนะสุดท้ายที่มีใบพัดใสสวยสง่า เรือสำเภานี้กางใบ หุบใบได้ แถมยังลอยน้ำได้ฉิว เมื่อใช้ปากเป่าก็เสมือนว่าแล่นในน้ำได้จริง ๆ

ชิ้นนี้ในดวงใจ

แม้ว่า 10 ชิ้นที่เลือกมาจะเลือกจากความโดดเด่นและรูปแบบที่แตกต่าง แต่สำหรับชิ้นนี้ ป๊อกกี้ยืนยันว่าเป็นอันดับหนึ่งในดวงใจ

‘รถเจาะดิน’ คือของเล่นกูลิโกะชิ้นแรกที่เก็บเงินซื้อด้วยตัวเองในวัยเด็กด้วยราคา 5 บาท 

เขาเล่าให้ฟังว่าตอนแรกรู้สึกหงุดหงิดมากที่ได้ชิ้นนี้มา เนื่องจากมันไม่น่ารักหรือมีอะไรโดดเด่นเหมือนที่คนอื่นเปิดได้ 

“อะไรเนี่ย! รถเจาะดิน! สีก็เชย พลาสติกก็ทำเกินมาอีก เข็นแล้วมันก็เจาะดินไป แต่พอพี่เห็นเราซื้อได้ เวลาเล่นรถแข่งกันก็เลยให้มันเป็นหัวหน้าตัวร้าย ถึงเวลาถ้ายกให้คนอื่นหมด ยังไงก็จะขอเก็บชิ้นนี้ไว้”

ของเล่นมากมายมีความทรงจำถูกสะกดไว้จนเกือบล้นทะลัก เรื่องราวที่อัดแน่นกลับกลายเป็นเสน่ห์อันน่าค้นหาของการสะสมที่ทำให้เราได้ย้อนวันวานพูดถึงเรื่องเก่า ๆ 

แม้เจ้าตัวจิ๋วจะมีขนาดเล็กเพียงใด แต่มันแฝงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์สอนคนรุ่นหลัง

“ของเล่นพวกนี้มันบอกเล่ายุคสมัย อย่างรถเจาะดิน คนสมัยนี้คงไม่รู้แล้วว่ามันหน้าตาแบบนี้ หรือเมื่อก่อนเขาใช้รถเวสป้าส่งไปรษณีย์ คนแก่จะเก็บเข็มกับด้ายไว้ในกล่อง สิ่งเหล่านี้เหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ในของเล่น”

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว
เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว
เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ของเล่นที่เคยโด่งดังในยุคหนึ่ง กลับถูกผู้คนลืมเลือนไป เราลองถามจากผู้ที่มีใจรักในพวกมันว่า ความเปลี่ยนแปลงของวงการของเล่นที่เขาเห็นคืออะไร 

“มีทั้งเปลี่ยนแปลงและไม่เปลี่ยน เพราะมันไม่เปลี่ยนไปทั้งหมด ยังมีคนที่คิดเหมือนเราอยู่ว่า ของเล่นคือของสะสมที่มีความทรงจำ เวลาเจอกันก็มารื้อฟื้นเรื่องเก่ากัน แต่บางคนก็ตีไปว่ามันเป็นสิ่งของที่มีมูลค่า กลายเป็นสินค้า ไม่ได้มองว่าเป็นของเล่นสมัยเด็กแล้ว เป็นของที่งอกเงยแทน แต่ก็ไม่โทษเขา เพราะมันก็เป็นทางที่เติบโตได้”

เพราะเหตุนี้ ปัจจุบันของเล่นกูลิโกะจึงยังไม่มีกลุ่มสังคมที่รวมตัวกันอย่างชัดเจน เพราะในนัยหนึ่งมันคือการแข่งขันเพื่อสะสมให้ได้มากที่สุด แต่ถือเป็นความหวังของป๊อกกี้ที่เขาเองก็อยากสร้างกลุ่มสังคมที่มีคนสนใจร่วมกัน จะได้พูดคุยกันแบบเพื่อน แลกเปลี่ยนเรื่องราวและความทรงจำเหมือนคนในครอบครัว

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

Toy Story

นอกจากวงการที่เปลี่ยนไป มุมมองของตัวเขาต่อของเล่นเองก็เปลี่ยน จากครั้งหนึ่งเคยตั้งภาวนาให้เปิดกล่องออกมาเจอหุ่นยนต์ ถึงขั้นว่าถ้าเปิดออกมาได้รถเต่าก็จะยอมเอาไปแลกกับหุ่นยนต์ที่เพื่อนเปิดได้ แต่เมื่อโตขึ้น เขาไม่ได้เห็นมันเป็นเพียง ‘ของที่ใช้เล่น’ อีกต่อไป เขามองมันเป็น ‘เครื่องเก็บความทรงจำ’ ที่จะรักษาไว้ใกล้ตัว

“แต่ก่อนเราชอบหุ่นยนต์ ตอนนี้เราชอบของฟรุ้งฟริ้ง เมื่อก่อนเรามองมันฉาบฉวย พอเลิกฮิตก็เก็บขึ้น อันใหม่มาก็เล่น ของเล่นทุกอย่างมันก็ไหลไปตามกาลเวลา และมันก็อยู่กับเราตลอดไป เปรียบเทียบกับเราเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่ง พอวันหนึ่งมันเสียชีวิตไป มันก็ยังอยู่กับเราในความรู้สึกอยู่ดี” 

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว
เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

Toy Family

เราพูดคุยกับป๊อกกี้อยู่นาน และพบว่าเมื่อพูดถึงเรื่องราวความผูกพันระหว่างของเล่นกับสามพี่น้อง แววตาของเขาจะเคล้าน้ำตาเสมอ 

เมื่อช่วงวัยเปลี่ยนไป พี่น้องต่างมีภาระหน้าที่ มีครอบครัวที่ขยายใหญ่ นานครั้งถึงจะได้กลับมาพบเจอกัน ของเล่นกูลิโกะจึงเป็นสายใยที่สานต่อบทสนทนา 

ป๊อกกี้ถ่ายรูปของเล่นแต่ละชิ้นเก็บไว้ให้พี่ ๆ หวนนึกถึงอดีตที่เคยเล่นหั่นผัก แข่งรถ หรือเป่าเรือด้วยกัน บางครั้งเขาก็พกใส่ถุงไปให้พี่ชายพี่สาวได้ลองจับ

“ถึงจะไม่ได้เล่นเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่สำหรับเรามันมีค่ามากขึ้น แต่ก่อนเราอาจจะเล่นแล้วก็ลืมมันไป แต่ตอนนี้พอพูดถึงอีกครั้งแล้วมันอบอุ่น พูดแล้วน้ำตาจะไหล” 

เขาเว้นวรรคอยู่นาน 

“มันเป็นความผูกพันของครอบครัว พูดแล้วยังซึ้งเลย เป็นความผูกพันที่ไม่เลือนหายไปง่าย ๆ เป็นโมเมนต์ที่พูดถึงได้ตลอด”

ปิดบานประตูตู้สะสมของเล่นกูลิโกะ ภาพเจ้าตัวจิ๋วกว่า 200 ชิ้นที่เรียงรายทำเอาเราอยากลองกลับไปค้นตู้เก่า กล่องลังเล็ก ๆ ในซอกหลืบของบ้าน เผื่อจะได้เจอของเล่นในความทรงจำที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึกบ้าง

เปิดกรุ 'ของเล่นกูลิโกะ' กับ 'ป๊อกกี้ เกรียงไกร' นักสะสมของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 เพื่อนซี้พลาสติกที่จิ๋วแต่แจ๋ว

Writer

Avatar

ปณิตา พิชิตหฤทัย

นักเรียนสื่อผู้ชอบเล่าเรื่องแถวบ้าน ความฝันสูงสุดคือการเป็นเพื่อนกับแมวสามสีทุกตัวบนโลก

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน