“เคยมีคนให้ 2 แสนบอกขอซื้อทั้งหมด แต่เราไม่ขาย”
“2 แสนไม่ขาย แล้วถ้า 2 ล้านขายไหม” เราถามติดตลก
“ไม่ขายครับ!!”
เพื่อนซี้ทำจากพลาสติกขนาดเล็กกว่าเหรียญ 10 บาทไทยที่ ป๊อกกี้-เกรียงไกร แซ่โล้ว ปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีวันขาย คือของเล่นขวัญใจเด็กยุค 80 – 90 ที่ถูกเรียกขานว่า ‘ของเล่นกูลิโกะ’


ย้อนไปใน พ.ศ. 2531 กูลิโกะไทยผลิตลูกอมออกมา 2 รส ภายใต้กล่องสีเย้ายวนอย่างสีชมพู รสคาราเมล และสีน้ำตาล รสช็อกโกแลต ซึ่งภายในไม่ได้มีเพียงขนมรสชาติอร่อย แต่ยังมีของเล่นสุดน่ารักที่แถมมาด้วย
ป๊อกกี้เล่าว่า ตอนเขายังเด็ก รสช็อกโกแลตเป็นรสโปรดของเด็กทั้งซอย ทุกคนต่างแห่ไปซื้อจนเกลี้ยงชั้น ทำเอาคุณป้าเจ้าของร้านต้องอ้อนให้เด็ก ๆ ช่วยซื้ออีกรสถึงจะเติมสต็อกได้
ของเล่นกูลิโกะที่แถมมากับขนม ผลิตออกมาต่อเนื่องด้วยกัน 3 รุ่น 3 สมัยในราคาต่างกัน รุ่นแรกเริ่มเพียง 5 บาท ก่อนรุ่นที่ 2 จะขยับมาเป็น 8 บาท และปิดท้ายด้วยรุ่นรถแข่งโดยเฉพาะในราคา 10 บาท
จนถึงวันนี้ เขาสะสมไว้ทั้ง 3 รุ่นรวมกันกว่า 200 ชิ้น โดยเฉพาะรุ่นหนึ่งที่เก็บสะสมไว้มากที่สุดและนานที่สุด แต่ถึงแม้จะซื้อหนังสือคู่มือของญี่ปุ่นมาเทียบ สังเกตจากหน้ากล่อง หรือจดจำจากนักสะสมด้วยกัน ปริศนาที่รักษาความลับมานานหลายสิบปีกลับยังไม่ถูกไขเสียทีว่า แท้จริงแล้วของเล่นกูลิโกะมีจำนวนกี่ชิ้นกันแน่
“เมื่อก่อนเวลาเห็นคนซื้อกูลิโกะ ก็จะชะเง้อคอมองว่าเขาได้ลายอะไร ซ้ำกับเราไหม ถ้าไม่ซ้ำก็จะจำว่าชิ้นนี้เรายังไม่มี ตอนนี้ก็ไม่รู้ขาดชิ้นไหนบ้าง พยายามเก็บตามหน้ากล่องที่มันโชว์อยู่”
แต่ถึงจะไม่รู้ว่าตนเองสะสมเอาไว้เป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด นักสะสมในวงการด้วยกันก็เรียกเขาว่า เป็นนักสะสมของเล่นกูลิโกะตัวจริงที่ตอนนี้ยังไม่มีใครมาเทียบได้


จากความทรงจำในร้านป้าน้อย สู่กรุ๊ปออนไลน์
ป๊อกกี้เล่าต่อว่า เมื่อ 30 ปีก่อน แหล่งตามล่าของเล่นกูลิโกะคือ ‘ร้านป้าน้อย’ ร้านขายของย่านเยาวราช ขวัญใจเด็กในซอย
จุดเด่นของร้านป้าน้อยคือ ป้ามักจะนำของเล่นใหม่มาขายไวกว่าร้านอื่น ทำให้เด็กมาร้านไม่ขาด จนสองข้างผนังร้านล้วนมีแต่ของล่อตาล่อใจห้อยโชว์เรียกลูกค้าตัวจิ๋ว
ก่อนเข้าสู่ยุคที่เว็บเพจรุ่งเรือง คนยุค 80 – 90 จะรวมตัวกันเปิดห้องค้าขาย เป็นทั้งแหล่งพูดคุย ตามหา และส่งต่อของสำหรับผู้คนที่สนใจเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อเว็บเพจเหล่านั้นปิดตัวลง ก็ได้เวลาแห่งการเข้ามาของเฟซบุ๊กที่กลุ่มต่าง ๆ กลายเป็นพื้นที่สำหรับนักตามหาความทรงจำ
ของเล่นกูลิโกะที่ผลิตในไทยรับต้นแบบมาจากญี่ปุ่นทั้งหมด จึงไม่มีคอลเลกชันที่ผลิตในไทยโดยเฉพาะ
ความแตกต่างระหว่างของไทยกับญี่ปุ่นอยู่ที่เนื้อพลาสติก โดยของไทยจะแตกหักง่าย ต่างจากของญี่ปุ่นที่ใช้นิ้วดันแล้วเด้งกลับมาได้ นอกเหนือไปจากนั้นก็เป็นเรื่องความละเอียดของของเล่น
ระหว่างพูดคุยกันเรื่องนี้ ป๊อกกี้โชว์ให้ดูถึง ‘แก๊งน่าหงุดหงิด’ หรือกลุ่มเจ้าตัวจิ๋วที่ไทยนำมาทำแล้วขาดรายละเอียดบางอย่างไป

ถึงจะหงุดหงิดเช่นไร เขายืนยันว่า ของเล่นกูลิโกะที่ผลิตในไทยนั้นหายาก และปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่าของนอกหลายเท่า ถึงขนาดว่าถ้าลองไปเดินตามแหล่ง เช่น ย่านคลองถมหรือเมกาพลาซ่า ก็ยังมีโอกาสเจอของญี่ปุ่นบ้าง แต่ของไทยนั้นแทบไม่มีเลย
แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ของไทยราคาสูงกว่าและหายากกว่า
ป๊อกกี้สันนิษฐานว่าเกิดจากที่ญี่ปุ่นผลิตของเล่นออกมาในล็อตใหญ่กว่า นอกจากนั้นก็หนีไม่พ้นเรื่องความผูกพัน ซึ่งเมื่อเราได้สัมผัส ได้ลองเล่น มูลค่าก็เพิ่มขึ้นตามราคาของความผูกพันและความทรงจำ
ด้วยใจที่อยากสะสม
บุคคลแรกที่นำของเล่นกูลิโกะเข้ามาทำความรู้จักกับบ้านแซ่โล้วคือ พี่สาวของป๊อกกี้ ต่อมาตัวเขาเอง พี่ชาย และเพื่อนจึงพากันไปซื้อตาม พร้อมเปิดเวทีอวดของกันอยู่เสมอ จนสิ่งของดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้ 3 พี่น้องได้ใช้เวลาร่วมกัน
“ของเล่นกูลิโกะเป็นชิ้นเดียวที่ได้เล่นกันทั้งครอบครัว คือ 3 พี่น้อง อย่างตุ๊กตากระดาษเล่นกับพี่สาว พี่ชายไม่เล่น อย่างอื่นก็เล่นกับพี่ชายแทน แต่มีอันนี้ที่เล่นกันทั้ง 3 คนจริง ๆ เป็นจุดรวมของคนในบ้านมากที่สุด” ป๊อกกี้พูดถึงความทรงจำด้วยรอยยิ้ม

นิสัยนักสะสมของเขาก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่อายุ 6 – 7 ขวบ เด็กชายเริ่มเก็บของเล่นต่าง ๆ ไว้ในบ้าน ด้วยความยินดีของพ่อแม่ที่ไม่เคยต่อต้านต่อความรักความชอบนี้
เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 3 – 4 ปี วัฏจักรของของเล่นก็แปรไปตามยุคสมัย ป๊อกกี้เริ่มเก็บของเล่นชนิดอื่นเพิ่มเติมโดยยังสะสมชิ้นเก่า ๆ ไว้ทั้งหมด แม้เวลาจะผ่านไปไม่นาน พอได้มาเจอเพื่อนที่สะสมเหมือนกัน ได้พูดคุยถึงของที่เก็บไว้ จึงพบว่ามันเป็นความทรงจำที่ดี น่าเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ
แม้เวลาผ่านไป บทสนทนาเหล่านี้คงได้วนกลับมาคุยกันอีก จวบจนปัจจุบันของเล่นกูลิโกะก็ยังเป็นบทสนทนาในวงเพื่อนทุกครั้งที่กลับมาเจอกัน
“คนมีอดีตเยอะมั้ง รุ่นราวคราวเดียวกันก็จะรู้จักหมด วันนั้นไปเล่นบอร์ดเกมกับเพื่อน โชว์รูปให้ดูก็ เห้ย! ยังเก็บอยู่เหรอ!”

ปลดปล่อยความทรงจำ
กว่าจะมาสู่จุดที่มีของสะสมมากมายให้เราได้ชมกัน พวกมันเคยถูกเก็บไว้ในกล่องนมที่ซ่อนไว้อีกทีในซอกหลืบของบ้านจนไม่มีใครจำได้
ครั้นมาวันหนึ่ง พี่ชายไปเจอของเล่นกูลิโกะในกลุ่มขายของเล่น แล้วจำได้ว่าชิ้นนี้เหมือนทุกคนในบ้านจะยังไม่เคยมี เขาจึงซื้อเพื่อเอามาเทียบ แต่กลับหากล่องนมนั้นไม่เจอ ทุกคนในบ้านร่วมแรงร่วมใจหาในเทศกาลล้างบ้านของชาวจีน จนกลายเป็นภารกิจ 3 ปีที่สุดท้ายได้กลับมาเจอกัน
ไหน ๆ ตัวจิ๋วเหล่านี้ก็กลับมาสู่อ้อมอกอย่างปลอดภัยแล้ว เราจึงขอให้ป๊อกกี้ช่วยเลือกชิ้นที่โดดเด่นในความทรงจำมาเล่าให้ฟังหน่อย
01 ชามมีดเขียง

น้อยคนนักจะรู้ว่าส่วนประกอบกระจุกกระจิก 3 ชิ้นนี้มาจากชิ้นเดียวกัน ชาม มีด เขียง
ถูกใช้เป็นเครื่องครัวในร้านอาหารที่เปิดกิจการอย่างสนุกสนานกับพี่สาวกันหลายปี
“สมัยเด็กใช้มีดสับเล่น ๆ เปิดร้านอาหาร ทำครัวกับพี่สาว”
02 กล่องตัดเย็บ

กล่องสีเขียวใบน้อยเปิดปิดได้ ล็อกได้ ด้านในมีช่องสามช่องพอดีกับกรรไกรและหลอดด้ายที่ไว้ตัดเย็บ
“ชิ้นนี้มันน่ารัก มีลูกเล่น เปิดฝากล่องออกมาแล้วเจอเข็มกับด้าย ใส่ได้พอดีกัน”
03 รถสามล้อส่งไปรษณีย์ของญี่ปุ่น

พาชมระบบการสื่อสารในยุคหลายสิบปีก่อนด้วยรถเวสป้าที่ใช้ส่งไปรษณีย์ตามบ้านของญี่ปุ่น
04 แมวจับหนู

หนูวิ่งไป แมวไล่ตาม ชิ้นนี้มีกลไกตรงล้อ เราจับมันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าให้แมวไล่จับหนูได้ตลอดเวลา
05 ไฟจราจร

ในสนามของการประลองรถแข่งระหว่างป๊อกกี้กับพี่ชาย ชิ้นนี้นับเป็นตัวขัดขวางตัวฉกาจ ด้วยฟังก์ชันที่หมุนได้ ไฟเขียว ไฟแดง จึงแทนสัญญาณไฟจราจรในการแข่งขัน
“ชิ้นนี้นี่สนุกมากเลยตอนเด็ก เป็นตัวขัดขวางระหว่างแข่งรถกับพี่ชาย หยุดอยู่นะ อย่าเพิ่งวิ่ง!”
06 รถพระเอก

ตอนได้ยินชื่อครั้งแรกก็แอบสงสัยว่า รถพระเอกควรจะหน้าตาเป็นอย่างไร
เจ้ารถขาวฟ้าที่ตรงกลางเคยใสจนเห็นเป็นสีรุ้งนี้ คือรถที่พี่ชายของเขาชอบมาก ทุกการแข่งขันรถคันนี้จึงได้เป็นรถฝ่ายดีที่มาแข่งกับรถตัวร้ายเสมอ แน่นอนว่าป๊อกกี้ต้องรับบทหลังสุดเกือบทุกครั้ง
07 รถแท็กซี่ญี่ปุ่น

มีพระเอกแล้วก็ต้องมีผู้ร้าย รถคันนี้เป็นรถที่ป๊อกกี้รักมาก เพราะมันกุ๊กกิ๊กและมีตรากูลิโกะอยู่บนป้ายแท็กซี่
“พอพี่ชายรู้ว่าชอบก็จะให้เป็นผู้ร้ายตลอด เป็นรถที่รับพวกวายร้ายขึ้นไป”
08 กล้องถ่ายรูป

ถึงแม้ว่ากล้องนี้จะถ่ายภาพไม่ได้ แต่ก็ลั่นชัตเตอร์ได้ด้วยกลไกที่เมื่อกดแล้วมันจะเด้งกลับมา
09 สตรอว์เบอร์รีพรหมลิขิต

ชิ้นที่ดูเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่กลับมีเรื่องราวซ่อนเอาไว้
“ตอนเด็กไม่เคยมีชิ้นนี้ แต่ไปได้จากกองของเล่น มีแต่พลาสติกตัวสตรอว์เบอร์รี ไม่มีตรากูลิโกะ พอไม่มีหัว (ส่วนใบ) ก็เลยไม่รู้ว่าใช่ไหม ผ่านไป 3 – 4 ปี ไปเดินเล่นที่คลองถม แล้วไปเจอส่วนหัวมา ไม่รู้ว่าหัวคืออะไร แต่มีตรากูลิโกะก็เลยซื้อไว้ก่อน แล้วพอมาคุ้ยในถุงเดียวกัน เห้ย! มันประกอบกันได้พอดี!”
แต่เราก็หากันจนเจอจริง ๆ
10 เรือสำเภา

ยานพาหนะสุดท้ายที่มีใบพัดใสสวยสง่า เรือสำเภานี้กางใบ หุบใบได้ แถมยังลอยน้ำได้ฉิว เมื่อใช้ปากเป่าก็เสมือนว่าแล่นในน้ำได้จริง ๆ
ชิ้นนี้ในดวงใจ
แม้ว่า 10 ชิ้นที่เลือกมาจะเลือกจากความโดดเด่นและรูปแบบที่แตกต่าง แต่สำหรับชิ้นนี้ ป๊อกกี้ยืนยันว่าเป็นอันดับหนึ่งในดวงใจ
‘รถเจาะดิน’ คือของเล่นกูลิโกะชิ้นแรกที่เก็บเงินซื้อด้วยตัวเองในวัยเด็กด้วยราคา 5 บาท
เขาเล่าให้ฟังว่าตอนแรกรู้สึกหงุดหงิดมากที่ได้ชิ้นนี้มา เนื่องจากมันไม่น่ารักหรือมีอะไรโดดเด่นเหมือนที่คนอื่นเปิดได้
“อะไรเนี่ย! รถเจาะดิน! สีก็เชย พลาสติกก็ทำเกินมาอีก เข็นแล้วมันก็เจาะดินไป แต่พอพี่เห็นเราซื้อได้ เวลาเล่นรถแข่งกันก็เลยให้มันเป็นหัวหน้าตัวร้าย ถึงเวลาถ้ายกให้คนอื่นหมด ยังไงก็จะขอเก็บชิ้นนี้ไว้”
ของเล่นมากมายมีความทรงจำถูกสะกดไว้จนเกือบล้นทะลัก เรื่องราวที่อัดแน่นกลับกลายเป็นเสน่ห์อันน่าค้นหาของการสะสมที่ทำให้เราได้ย้อนวันวานพูดถึงเรื่องเก่า ๆ
แม้เจ้าตัวจิ๋วจะมีขนาดเล็กเพียงใด แต่มันแฝงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์สอนคนรุ่นหลัง
“ของเล่นพวกนี้มันบอกเล่ายุคสมัย อย่างรถเจาะดิน คนสมัยนี้คงไม่รู้แล้วว่ามันหน้าตาแบบนี้ หรือเมื่อก่อนเขาใช้รถเวสป้าส่งไปรษณีย์ คนแก่จะเก็บเข็มกับด้ายไว้ในกล่อง สิ่งเหล่านี้เหมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ในของเล่น”



ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ของเล่นที่เคยโด่งดังในยุคหนึ่ง กลับถูกผู้คนลืมเลือนไป เราลองถามจากผู้ที่มีใจรักในพวกมันว่า ความเปลี่ยนแปลงของวงการของเล่นที่เขาเห็นคืออะไร
“มีทั้งเปลี่ยนแปลงและไม่เปลี่ยน เพราะมันไม่เปลี่ยนไปทั้งหมด ยังมีคนที่คิดเหมือนเราอยู่ว่า ของเล่นคือของสะสมที่มีความทรงจำ เวลาเจอกันก็มารื้อฟื้นเรื่องเก่ากัน แต่บางคนก็ตีไปว่ามันเป็นสิ่งของที่มีมูลค่า กลายเป็นสินค้า ไม่ได้มองว่าเป็นของเล่นสมัยเด็กแล้ว เป็นของที่งอกเงยแทน แต่ก็ไม่โทษเขา เพราะมันก็เป็นทางที่เติบโตได้”
เพราะเหตุนี้ ปัจจุบันของเล่นกูลิโกะจึงยังไม่มีกลุ่มสังคมที่รวมตัวกันอย่างชัดเจน เพราะในนัยหนึ่งมันคือการแข่งขันเพื่อสะสมให้ได้มากที่สุด แต่ถือเป็นความหวังของป๊อกกี้ที่เขาเองก็อยากสร้างกลุ่มสังคมที่มีคนสนใจร่วมกัน จะได้พูดคุยกันแบบเพื่อน แลกเปลี่ยนเรื่องราวและความทรงจำเหมือนคนในครอบครัว

Toy Story
นอกจากวงการที่เปลี่ยนไป มุมมองของตัวเขาต่อของเล่นเองก็เปลี่ยน จากครั้งหนึ่งเคยตั้งภาวนาให้เปิดกล่องออกมาเจอหุ่นยนต์ ถึงขั้นว่าถ้าเปิดออกมาได้รถเต่าก็จะยอมเอาไปแลกกับหุ่นยนต์ที่เพื่อนเปิดได้ แต่เมื่อโตขึ้น เขาไม่ได้เห็นมันเป็นเพียง ‘ของที่ใช้เล่น’ อีกต่อไป เขามองมันเป็น ‘เครื่องเก็บความทรงจำ’ ที่จะรักษาไว้ใกล้ตัว
“แต่ก่อนเราชอบหุ่นยนต์ ตอนนี้เราชอบของฟรุ้งฟริ้ง เมื่อก่อนเรามองมันฉาบฉวย พอเลิกฮิตก็เก็บขึ้น อันใหม่มาก็เล่น ของเล่นทุกอย่างมันก็ไหลไปตามกาลเวลา และมันก็อยู่กับเราตลอดไป เปรียบเทียบกับเราเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่ง พอวันหนึ่งมันเสียชีวิตไป มันก็ยังอยู่กับเราในความรู้สึกอยู่ดี”


Toy Family
เราพูดคุยกับป๊อกกี้อยู่นาน และพบว่าเมื่อพูดถึงเรื่องราวความผูกพันระหว่างของเล่นกับสามพี่น้อง แววตาของเขาจะเคล้าน้ำตาเสมอ
เมื่อช่วงวัยเปลี่ยนไป พี่น้องต่างมีภาระหน้าที่ มีครอบครัวที่ขยายใหญ่ นานครั้งถึงจะได้กลับมาพบเจอกัน ของเล่นกูลิโกะจึงเป็นสายใยที่สานต่อบทสนทนา
ป๊อกกี้ถ่ายรูปของเล่นแต่ละชิ้นเก็บไว้ให้พี่ ๆ หวนนึกถึงอดีตที่เคยเล่นหั่นผัก แข่งรถ หรือเป่าเรือด้วยกัน บางครั้งเขาก็พกใส่ถุงไปให้พี่ชายพี่สาวได้ลองจับ
“ถึงจะไม่ได้เล่นเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่สำหรับเรามันมีค่ามากขึ้น แต่ก่อนเราอาจจะเล่นแล้วก็ลืมมันไป แต่ตอนนี้พอพูดถึงอีกครั้งแล้วมันอบอุ่น พูดแล้วน้ำตาจะไหล”
เขาเว้นวรรคอยู่นาน
“มันเป็นความผูกพันของครอบครัว พูดแล้วยังซึ้งเลย เป็นความผูกพันที่ไม่เลือนหายไปง่าย ๆ เป็นโมเมนต์ที่พูดถึงได้ตลอด”
ปิดบานประตูตู้สะสมของเล่นกูลิโกะ ภาพเจ้าตัวจิ๋วกว่า 200 ชิ้นที่เรียงรายทำเอาเราอยากลองกลับไปค้นตู้เก่า กล่องลังเล็ก ๆ ในซอกหลืบของบ้าน เผื่อจะได้เจอของเล่นในความทรงจำที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึกบ้าง
