23 มิถุนายน 2021
8 K

‘ต้นไม้เลี้ยงง่าย และความเป็นไปได้ไม่จบสิ้น’ 

นี่คือสโลแกนของร้านต้นไม้ใหม่เอี่ยม อายุเดือนกว่าๆ อย่าง ‘พลูโต houseplant studio’

เป็นไปได้ อะไรเป็นไปได้ ความคิดแรกที่ผ่านเข้ามาในหัว เมื่อกวาดตาไปเจอประโยคนี้ในเฟซบุ๊กของร้าน ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตั้งใจจะสื่อสารอะไร แต่อย่างแรกเลยที่ทำให้รู้สึกแปลกใจมากๆ คงหนีไม่พ้นโลเคชันของร้าน

หลังจากเดินเข้าเดินออกซอยนราธิวาส 4 ย่านสาทรอยู่นาน แต่ไม่เจอร้านสักที เราตัดสินใจโทรถามเจ้าของร้าน จึงได้รู้ว่า บ้านไม้ราวรัชกาลที่ 8 ที่ด้านล่างเป็นร้านอาหารอีสาน เปิดเพลงโลโซกระหึ่ม ชื่อ ‘ตำตำ ส้มตำพัทยา’ เมื่อเดินขึ้นบันไดเล็กๆ หลังร้านจนถึงชั้น 3 ก็พบดินแดนที่ชอุ่มไปด้วยต้นไม้ คลอด้วยเพลง City Pop ช่างคอนทราสต์กับบรรยากาศเมื่อครู่อย่างชัดเจน พลูโต houseplant studio ที่เราตามหาตั้งอยู่ตรงนั้น โดยไม่มีป้ายใดใดบ่งบอก

พลูโต houseplant studio ร้านขายต้นไม้ที่มีคอนเซปต์ปลูกง่ายตายยาก ปิดดึก และมีซุ้มดูดวง

แค่เริ่มมาก็เหนือความคาดหมายแล้ว

ร้านต้นไม้สเปซเล็กๆ ที่มีทั้งต้นไม้ในบ้าน หนังสือ งานศิลปะ ของกระจุกกระจิกต่างๆ และโต๊ะดูดวงแห่งนี้ เป็นของสองเพื่อนสนิท กิม-นิรัช ตรัยรงคอุบล ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น Houseplant Philanthropist และ วริศ ลิขิตอนุสรณ์ ที่เรียกตัวเองง่ายๆ ว่า Shopkeeper ทั้งสองคนทำ Creative Agency + Creative Writing Studio ด้วยกัน ชื่อว่า Text and Title

พลูโต houseplant studio ร้านขายต้นไม้ที่มีคอนเซปต์ปลูกง่ายตายยาก ปิดดึก และมีซุ้มดูดวง

“ที่บ้านปลูกต้นไม้แบบระเกะระกะมาตลอด จากนั้นก็เริ่มปลูกจริงจังตั้งแต่ทำร้านส้มตำที่พัทยา กิมปลูกต้นไม้ที่ร้านเองทุกต้น เรียนรู้กับมัน มาถึงตอนนี้ก็ประมาณสามปีกว่าแล้ว” นิรัช หรือ กิม เริ่มเล่าถึงเส้นทางการปลูกต้นไม้ของตัวเอง “เป็นคนชอบทำสวนที่มือไม่เลอะดิน ฉันจะไม่ขุดดิน เพราะกลัวเล็บเปื้อน คือเป็นคนเมืองมาก”

“ของเราเป็นเรื่องดีไซน์ครับ” วริศเล่าบ้าง “ที่เริ่มเพราะตอนนั้นออฟฟิศมันแข็ง ก็เลยอยากจะถมออฟฟิศให้นิ่มขึ้น สมมติเรามีห้องเปล่าๆ ห้องหนึ่ง มีเก้าอี้หนึ่งตัว มีโต๊ะหนึ่งตัว เอาไฟส่องเข้าไป พอเป็นแบบนี้เรารู้สึกกดดัน แต่ถ้าเกิดมีต้นไม้หนึ่งต้นวางอยู่ตรงมุม ความกดดันมันลดลงไปตามธรรมชาติเลย เพราะต้นไม้ที่อยู่ตรงนั้น” 

ในด้านชีวิตการทำงาน นิรัชทำงานเป็นนักเขียนมาหลายปี จนกระทั่งออกมาเปิดร้านส้มตำที่พัทยา และวริศทำงานวิชาการในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ พร้อมกับเป็นบรรณาธิการฟรีแลนซ์ให้สำนักพิมพ์สมมติ

นอกจากนี้ ทั้งสองคนยังมีแบกกราวด์ที่น่าสนใจร่วมกันอีกอย่างก็คือ ‘ละครเวที’ นิรัชเป็นนักแสดงละครเวที ควบวิทยากรสอนละครเวทีเยาวชน ส่วนวริศ เป็น Dramaturge ซึ่งเป็นงานที่เขาอธิบายให้เราฟังง่ายๆ ว่า เป็นเพื่อนของนักการละคร ที่คอยนั่งดูตั้งแต่การซ้อมครั้งแรก และคอยเติมไอเดียให้ละครสมบูรณ์ขึ้น

นิรัชบอกว่า สำหรับละครโรงเล็กแล้ว ‘พื้นที่’ เป็นสิ่งสำคัญ เขาผู้ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ชั้น 3 ของร้านส้มตำ จึงคิดหาความเป็นไปได้ต่างๆ ให้กับพื้นที่เล็กๆ นี้ จนมาลงตัวที่ ‘ร้านต้นไม้’ ที่ร่วมกันพัฒนากับวริศ

พลูโต houseplant studio ร้านขายต้นไม้ที่มีคอนเซปต์ปลูกง่ายตายยาก ปิดดึก และมีซุ้มดูดวง
พลูโต houseplant studio ร้านขายต้นไม้ที่มีคอนเซปต์ปลูกง่ายตายยาก ปิดดึก และมีซุ้มดูดวง

จริงๆ จะเรียกว่าร้านต้นไม้อย่างเดียวก็คงไม่ถูก อย่างที่บอกไปตอนแรก ร้านนี้ไม่ได้ขายแค่ต้นไม้ ยังมีของอื่นๆ วางรวมอยู่เยอะแยะ ทั้งหนังสือ งานศิลปะ และของแต่งบ้าน ดูแล้วเหมือนบ้านใครสักคน ซึ่งลูกค้าบางคนก็ไม่ได้สนใจต้นไม้ แต่อยากมาเดินดูหนังสือ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือของสำนักพิมพ์สมมติ และสำนักพิมพ์ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างหนักอย่างเรื่องสังคม การเมือง ปรัชญา บางคนก็มาเดินดูเสื้อยืดดีไซน์สวยๆ ดูภาพวาดที่หาไม่ได้ที่ไหน 

แม้แต่เก้าอี้ ที่นี่ก็มีขาย! ถูกใจชิ้นไหนขึ้นมาก็รับกลับบ้านไปเลย ยิ่งไปกว่านั้น มีโต๊ะดูดวงตั้งอยู่ที่มุมลึกสุด ซึ่งหมอดูประจำร้านคือ ออม-มยุรี แหล่งสนาม ผู้ถนัดดูไพ่ทาโรต์และไพ่ออราเคิลเป็นอย่างมาก

พลูโต houseplant studio ร้านขายต้นไม้ที่มีคอนเซปต์ปลูกง่ายตายยาก ปิดดึก และมีซุ้มดูดวง

“จะเรียก houseplant studio บวก Selected Shop หรืออะไรก็ได้” วริศตอบเมื่อเราถามว่าจะเรียกสิ่งนี้ว่าอะไรดี

“จุดประสงค์ของพวกเราคือ อยากขายอะไรก็ได้ให้คนที่กำลัง Finishing บ้านหรือห้องอยู่ มายด์เซ็ตคนเราเวลาซื้อต้นไม้น่ะ ไม่มีเหตุผลจริงๆ ยกเว้นคนที่เชื่อว่ามันฟอกอากาศ ซึ่งไม่ได้ฟอก เขาก็แค่มีที่ว่างๆ ในห้องแล้วมาซื้อ เป็นมายด์เซ็ตเดียวกับคนซื้อหนังสือ คนซื้อเซรามิก ซื้องานศิลปะ คืออย่างเดียวกัน ยูไม่ซื้อก็ได้ มันคือของไร้สาระ”

พลูโต houseplant studio ร้านขายต้นไม้ที่มีคอนเซปต์ปลูกง่ายตายยาก ปิดดึก และมีซุ้มดูดวง

คิดว่าคนที่มาร้านนี้ต้องเป็นคนแนวไหนกัน-เราถามต่อ

“เรามีคำตอบในใจ คนเศร้า!” วริศตอบกลั้วหัวเราะ 

“คนอะไรซื้อหนังสือกับต้นไม้ล่ะ มันมีแต่คนเศร้าที่มีช่องว่างบางอย่างทั้งในห้องแล้วก็ในใจ ซื้อหนังสือไปก็กองๆๆ ฉันต้องการความรู้สึกว่าฉันมีหนังสือเป็นตั้ง อ่านมั้ย ไม่อ่าน ต้นไม้ก็ซื้อไปตั้งไว้ข้างๆ ชั้นดูดวงนี่ก็เศร้าเหมือนกัน”

เขาบอกว่า สำหรับประโยชน์ของต้นไม้ คนจะชอบคิดว่ามันฟอกอากาศได้ แต่แท้จริงแล้วต้นไม้มีคุณประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้นที่ทุกสำนักยืนยัน คือการช่วยเรื่อง Mental Health ซึ่งเหตุผลก็ไม่ใช่เพราะว่าเป็นต้นไม้ หากเป็นเพราะมันไร้สาระ มันคืออะไรก็ได้ที่เราเอาไปวางในที่ของเราแล้วเรารู้สึกสบายใจ

ต้นไม้ในร้านนี้ เรียกว่าเป็น houseplant ซึ่งหมายถึงต้นไม้ที่ปลูกในบ้าน นิรัชกับวริศบอกกับเราว่า ที่ พลูโต houseplant studio พวกเขาจะไม่ส่งต่อต้นไม้ไปให้ลูกค้าจนกว่าจะมั่นใจว่าแข็งแรงและฟอร์มสวยได้ที่

“ต้นไม้ทุกต้นที่เอามามันยังขายไม่ได้ ต้องผ่านกระบวนการ Fertilize และ Design เพื่อให้เขาไปอยู่บ้านคนอื่นได้อย่างแข็งแรง” นิรัชเล่าถึงแนวคิดของร้าน หากต้นไหนไม่แข็งแรง ลูกค้าจองไว้ได้ รอวันที่สมบูรณ์ค่อยรับน้องกลับบ้าน

ซึ่งเหล่าต้นไม้ทั้งที่พร้อมย้ายไปอยู่บ้านใหม่ และที่ยังอยู่ในช่วงเก็บตัว ก็จะวางรวมๆ กันอยู่ในร้าน ในตำแหน่งและพื้นที่ที่หลากหลาย บ้างก็ใส่กระถางอยู่มุมตู้ บ้างใส่น้ำอยู่ในโหลข้างเก้าอี้ วางอยู่ในลิ้นชัก ห้อยลงมาจากตะกร้า เลื้อยไปตามผนัง บ้างก็อยู่บนชั้นหนังสือ ทั้งคู่บอกว่า พวกเขาต้องการนำเสนอให้คนที่มาเลือกซื้อได้เห็นภาพว่าต้นไม้เลี้ยงด้วยวิธีไหนได้บ้าง และจัดวางอย่างไรได้บ้าง ซึ่งนอกจากนี้ยังมีโต๊ะสีขาว สำหรับยกต้นไม้ไปวางดูฟอร์มเดี่ยวๆ ด้วย

นี่เป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้การมาดูต้นไม้ที่พลูโต houseplant studio ต่างไปจากการเดินตลาดต้นไม้ ซึ่งต้นไม้หน้าตาคล้ายๆ กันจะถูกวางเรียงเป็นแถวๆ รอคนไปเดินเลือก

“คนส่วนใหญ่ที่มาที่นี่ไม่ใช่นักปลูกต้นไม้มือทอง แต่เป็นคนชอบแต่งบ้านและอยากปลูกต้นไม้บ้าง” นิรัชพูดถึงลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามา เขาอธิบายเสริมว่า ส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงานสายครีเอทีฟ ศิลปิน ไม่อย่างนั้นก็เป็นทางนักวิชาการ หรืออาจารย์ ลูกค้าเหล่านี้ กว่าครึ่งก็เคยทำต้นไม้ตายกันแบบไม่รู้สาเหตุด้วยความไม่คุ้นเคย

“เวลาลูกค้าถาม เราก็บอกว่า ต้องคุยกับมันก่อน ถ้ายังไม่อยากให้มันตายจริงๆ การที่มันโวยวาย ไม่ว่าจะใบเหี่ยว ใบไหม้ ลองถามมันดูว่าเป็นอะไร แล้วในหัวเราก็จะมีความเป็นไปได้หลายๆ อย่าง เช่น สังเกตแล้วลองเอานิ้วจุ่มดินดู ถ้าดินยังชื้นอยู่ แปลว่าอย่าเพิ่งรดน้ำ อาจจะเป็นเพราะขาดสารอาหาร แดดแรงเกินไป หรือในห้องไม่มีอากาศ 

“ค่อยๆ ลองหมุนเขาดู แล้วก็จะเจอสิ่งที่เขากำลังเรียกร้องอยู่ อันนี้กิมว่าทำให้เรามีประสบการณ์ในการปลูกต้นไม้ แล้วมันเอา Best Practice อันนี้ไปปรับใช้กับต้นอื่นๆ ได้” นิรัชเล่าถึงความเป็นไปได้ไม่จบสิ้น

“เราว่ามันคือการสังเกตและการใช้สัมผัสที่เยอะมากๆ สิ่งที่เราเรียนมา มันคือ Dramaturgy งานคือนั่งมองคนเล่นละคร เพื่อคุยกับผู้กำกับในตอนจบ ต้องตั้งคำถามและอยากรู้ตลอดเวลา” วริศเสริม

แน่นอนว่าการจะปลูกต้นไม้แต่ละชนิด ระดับยากง่ายก็ต่างกัน 

สำหรับร้านนี้ พวกเขามักใช้วิธีห้อยแท็กบอกระดับความท้าทาย ตั้งแต่ 0/10 ง่ายที่สุด ไปจนถึง 10/10 ยากที่สุด ซึ่งที่ได้ 0/10 ก็คือพลูด่าง ต้นไม้ที่เขาแนะนำให้มือใหม่อุ้มกลับบ้านไปลองปลูก

การจะแนะนำต้นไหนนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือการชวนลูกค้าคุย

“เราชวนลูกค้าคุย เพื่อให้เรารู้ว่าความต้องการของเขาคืออะไร แล้วเขามีข้อจำกัดอะไรบ้าง เราไม่อยากให้เขาเอากลับบ้านแล้วมันไม่รอด หนึ่งคือเราเศร้า เพราะว่าน้องไม่รอด สองคือเขาก็จะเศร้า ที่รู้สึกว่าตัวเองปลูกต้นไม้ไม่ได้” นิรัชเปิดใจถึงการขายต้นไม้ของเขา 

“กิมว่าการที่คนคนหนึ่งปลูกต้นไม้ขึ้น มันทำให้ Self-esteem เขาเติบโตขึ้นมากๆ ว่าเขาทำให้สิ่งมีชีวิตอันหนึ่งรอด แล้วก็เติบโตต่อไปได้ กิมกับวริศเปิดร้านนี้ด้วยคอนเซปต์ที่ว่า ปลูกง่ายตายยาก”

ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนเมือง ทั้งคู่จึงเข้าใจว่าลูกค้าที่เป็นคนเมืองเหมือนกัน มีข้อติดขัดอะไรในการปลูกต้นไม้บ้าง หนึ่งในนั้นคือทักษะและความเข้าใจ ซึ่งไม่มีวันเหมือนชาวสวนผู้ใช้ประสบการณ์เป็นหลักได้

สองเพื่อนสนิทจาก Creative Agency ชวนกันเปิดพลูโต houseplant studio ร้านต้นไม้เล็กๆ ในพื้นที่ส่วนตัว มีทั้งหนังสือ งานศิลปะ ของแต่งบ้าน และโต๊ะดูดวง
สองเพื่อนสนิทจาก Creative Agency ชวนกันเปิดพลูโต houseplant studio ร้านต้นไม้เล็กๆ ในพื้นที่ส่วนตัว มีทั้งหนังสือ งานศิลปะ ของแต่งบ้าน และโต๊ะดูดวง

“เวลาคุณพี่ที่ขายต้นไม้เขาบอกว่าน้ำเยอะ น้ำน้อย แดดรำไร จริงๆ แล้วเราไม่เข้าใจ เราต้องอาศัยคำบอกเล่าครึ่งหนึ่งจากเขา กับอีกครึ่งหนึ่งจากหนังสือ จากแหล่งข้อมูลออนไลน์ เพื่อจะทำให้เข้าใจมันได้ในแบบคนเมือง 

“เพราะเราโตมาแบบนั้น” วริศอธิบายว่าวิธีการเข้าใจของคนนั้นไม่เหมือนกัน

ส่วนชื่อร้าน ‘พลูโต’ มีหลายความหมาย อาจจะหมายถึงการเป็นดาวที่ดูโดดเดี่ยวห่างไกล เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออกระบบสุริยะ คล้ายกับร้านนี้ และคล้ายกับเขาทั้งคู่ หรืออาจจะหมายถึง ‘พลู’ ที่เป็นต้นไม้ธรรมดาๆ ดูไม่สลักสำคัญ 

วริศเล่าให้เราฟังว่า เมื่อแรกเริ่มปลูกพลู เขาซื้อพลูหลากชนิดมาปลูกร่วมกันที่บ้านด้วยวิธีเดียวกัน ผลคือเขาทำพลูอินเดียตาย มารู้ทีหลังว่า แต่ละต้นชื่อ ‘พลู’ เหมือนกันก็จริง แต่มาจากคนละวงศ์ เขาจึงเริ่มเรียนรู้เรื่องวงศ์ของต้นไม้ สำหรับใช้อธิบายวิธีการเติบโตและวิธีการให้อาหาร ซึ่งนี่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่เจ้าของร้านอย่างเขาต้องศึกษา เพื่อให้ลูกค้าซึ่งเป็นคนเมืองอ่อนประสบการณ์ทำสวนเหมือนกันได้นำข้อมูลไปใช้

สองเพื่อนสนิทจาก Creative Agency ชวนกันเปิดพลูโต houseplant studio ร้านต้นไม้เล็กๆ ในพื้นที่ส่วนตัว มีทั้งหนังสือ งานศิลปะ ของแต่งบ้าน และโต๊ะดูดวง
สองเพื่อนสนิทจาก Creative Agency ชวนกันเปิดพลูโต houseplant studio ร้านต้นไม้เล็กๆ ในพื้นที่ส่วนตัว มีทั้งหนังสือ งานศิลปะ ของแต่งบ้าน และโต๊ะดูดวง

“เราอยากเปิดเวิร์กช็อปปลูกต้นไม้สำหรับครอบครัว พ่อแม่ลูก” นิรัชเริ่มพูดถึงสิ่งที่อยากทำในอนาคต หลังจากที่ผ่านช่วงเปิดร้านมาได้สักพัก “อยากจะให้มาคุยกันเรื่องวัสดุปลูก ลองส่วนผสมของดินใหม่ๆ แล้วก็เอากลับไปแต่ละบ้าน ครั้งหน้ามาเล่าว่าที่บ้านเป็นยังไง บางทีเราก็ต้องการแชร์ประสบการณ์จากคนอื่นเหมือนกัน ว่าสิ่งที่ดีที่สุดของมันคืออะไร เพื่อที่เราจะได้บอกคนอื่นต่อไปว่า เฮ้ย พี่คนนี้ทำแบบนี้แล้วดีมากเลย เวิร์ก ไปทำต่อกันสิ”

“ปลูกต้นไม้แล้วได้อะไรหลายอย่าง สมมติว่าต้นไม้ราคาแพงของเราต้นหนึ่งมีปัญหา การจะตัดมันทีหนึ่ง เราต้องมีทั้งความรู้ ความกล้า และความสร้างสรรค์ กว่าจะไปถึงขั้น Decision Making ได้ มันผ่านอะไรเยอะมาก ในหลายๆ ครั้ง เรารู้สึกว่าการได้ดีลกับต้นไม้ ทำให้การตัดสินใจของเราในหลายเรื่องคมขึ้นด้วย”

การเปิดเวิร์กช็อปปลูกต้นไม้สำหรับครอบครัว เป็นเพียงหนึ่งในไอเดียที่นับไม่ถ้วนของสองเพื่อนสนิท ผู้เรียกตัวเองว่า ‘คนบ้า’ ระหว่างที่เราชวนคุย เขาสองคนก็ผุดความเป็นไปได้มามากมาย ในอนาคต พลูโต houseplant studio คงมีโปรเจกต์สนุกๆ ที่แม้แต่เจ้าตัวทั้งคู่ก็ยังนึกไม่ถึงในตอนนี้ให้เราได้เข้าร่วม

สองเพื่อนสนิทจาก Creative Agency ชวนกันเปิดพลูโต houseplant studio ร้านต้นไม้เล็กๆ ในพื้นที่ส่วนตัว มีทั้งหนังสือ งานศิลปะ ของแต่งบ้าน และโต๊ะดูดวง

อ่านมาถึงตรงนี้ หากสนใจลองเข้าไปดู Facebook : Plutohouseplant และ Instagram : @pluto.houseplant ของทางร้านได้ อยากไปเดินดูต้นไม้เมื่อไหร่ ส่งข้อความไปนัดเจ้าของร้านสักเล็กน้อย เนื่องจากทั้งสองทำงานประจำ อาจจะไม่ได้อยู่ที่ร้านตลอดเวลา แต่เบื้องต้นคือร้านเปิดวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 12.00 น. จนถึง 22.00 น. (หรืออาจจะเป็นเที่ยงคืนในอนาคต) ไม่ต้องกลัวว่าเลิกงานค่ำแล้วจะวิ่งไปตลาดต้นไม้ไม่ทัน 

ส่วนใครที่อยากเช็กดวง แม่หมอจะเข้าร้านวันจันทร์ถึงวันพุธนะ

“อยากให้รอดูไปเรื่อยๆ ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง” นิรัชพูดเชิญชวนเป็นการปิดท้ายก่อนจากกัน

สองเพื่อนสนิทจาก Creative Agency ชวนกันเปิดพลูโต houseplant studio ร้านต้นไม้เล็กๆ ในพื้นที่ส่วนตัว มีทั้งหนังสือ งานศิลปะ ของแต่งบ้าน และโต๊ะดูดวง

พลูโต houseplant studio

ที่ตั้ง : 55/18 ซอยนราธิวาศ 4 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตสาทร จังหวัดกรุงเทพมหานคร (แผนที่)

โทรศัพท์ : 09 5926 5394

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

ช่างภาพที่มีร้านล้างฟิล์มเป็นของตัวเอง แต่นานๆจะถ่ายฟิล์มที เพราะช่วงนี้ฟิล์มมันแพง