27 พฤศจิกายน 2020
21 K

บ้านไม้หลังงามสีขาวขลิบเหลืองที่ตั้งโดดเด่นอยู่ปลายซอยแจ้งวัฒนะ 14 เป็นเรือนโบราณที่มีสถาปัตยกรรมแปลกแยกแตกต่างจากบ้านหลังอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เมื่อร้อยปีก่อน บ้านไม้หลังนี้ได้ก่อร่างสร้างฐานขึ้นอยู่ริมหาดชะอำ มีสถานะเป็นตำหนักในเขตที่ประทับของพระบรมวงศ์พระองค์สำคัญ ก่อนผันมาสู่การครอบครองของครอบครัวสามัญชน และได้กลายเป็นบ้านตากอากาศที่สร้างความสุขกายสบายใจให้กับสมาชิกครอบครัวนี้ตลอดฤดูร้อนเป็นเวลานานหลายสิบปี 

เมื่อการท่องเที่ยวในระดับอุตสาหกรรมรุกคืบเข้ามาเปลี่ยนชะอำให้มีสภาพพลุกพล่านสับสนจนเกินแก้ไข ท้องทะเลสวยใสและชายหาดที่เคยสงบงามกลายเป็นเพียงอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับ แม้ว่าชะอำไม่สามารถเป็นหมุดหมายให้พักกายพักใจอีกต่อไป แต่ความรักและผูกพันต่อบ้านริมทะเลหลังนี้ไม่เคยจืดจางไปจากใจ การย้ายบ้านแห่งความสุขหลังนี้สู่กรุงเทพฯ จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจของเหล่าทายาท เพื่อเปลี่ยนมุมเล็กๆ กลางกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นชะอำน้อยๆ ขึ้นมาแทน

วันนี้ทายาทตระกูลสูตะบุตรและจุลสมัย อันประกอบด้วย ศ. ดร.ธีระ สูตะบุตร, ดร.สุนงนาท สูตะบุตร, รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์, รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร, คุณนัทยา มาศะวิสุทธิ์, ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน และ คุณวรายุ ประทีปะเสน จะพาเรากลับไปสู่ความทรงจำอันแสนสุขบนหาดชะอำกันอีกครั้ง ผ่านเรื่องเล่าของบ้านไม้หลังงามนามว่า ‘ปลุกปรีดี’

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

เกษมสม ผงมสุข ปลุกปรีดี

เส้นทางรถไฟสายใต้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อสร้างความสะดวกในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจนจรดปลายแหลมมลายู ใน พ.ศ. 2454 นายเฮนรี กิททินส์ (Henry Gittins) เจ้ากรมรถไฟหลวงสายใต้ ได้ค้นพบชายหาดขาวสะอาดและหมู่หินงามประหลาดที่ทอดตัวลงสู่น้ำทะเลใส เหมาะสมอย่างยิ่งจะเป็นสถานที่ตากอากาศ จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ปรึกษากรมรถไฟหลวงในขณะนั้นให้เสด็จมาทอดพระเนตร อากาศอันบริสุทธิ์และความงามของหาดแห่งนี้เป็นที่พอพระทัยอย่างมาก จึงได้ทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และคหบดีให้มาตากอากาศกันที่นี่ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ได้ทรงจับจองที่ดินและสร้างตำหนักขึ้นเป็นพระองค์แรก ต่อมาได้ทรงขนานนามสถานที่นี้ใหม่ว่า ‘หัวหิน’ แทน ‘บ้านสมอเรียง’ อันเป็นชื่อเดิม

นับจากนั้น หัวหินได้กลายเป็นถิ่นตากอากาศอันหรูหรา อุดมไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ คหบดีจากกรุงเทพฯ ต่างเข้ามาจับจองที่ดินจนจรดชายหาดเพื่อสร้างที่พำนัก มีโฮเต็ลรถไฟรองรับชาวต่างประเทศที่เดินทางมาจากมลายูและสิงคโปร์ มีสนามกอล์ฟอันอุดมไปด้วยนักเรียนนอกและผู้มีฐานะ ขณะนั้นได้มีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นชอบกับการถือครองที่ดินเพื่อจัดสรรเป็นหาดส่วนตัวอย่างที่เป็นอยู่ จึงได้ชวนกันสำรวจหาสถานที่ตากอากาศแห่งใหม่แทน

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นผู้ออกสำรวจพื้นที่ชะอำเป็นพระองค์แรก และไม่โปรดให้จัดการพัฒนาที่ดินในลักษณะเดียวกันกับหัวหิน สำหรับชะอำนั้น ไม่โปรดให้ถือครองหาดเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่โปรดให้เว้นพื้นที่หน้าบ้านเอาไว้เพื่อทำเป็นถนนสาธารณะ ชาวบ้านสัญจรผ่านไปมาและลงเล่นน้ำทะเลได้ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อคนท้องในถิ่นและผู้มาพักตากอากาศอย่างเท่าเทียมกัน ชาวบ้านจึงใกล้ชิดและผูกพันกับพระองค์ท่านมาก จนทรงดำรงตำแหน่งนายอำเภอชะอำเป็นรายแรก” ดร.ยุวรัตน์ เล่าถึงที่มาของหาดสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย 

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

ใน พ.ศ. 2464 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตัดสินพระทัยสร้างที่ประทับขึ้นที่ชะอำ ประทานนามว่า ‘วังหทัยหมื่น’ อันประกอบไปด้วยตำหนักหลายหลัง โดยมีอยู่ 3 หลังที่ปรากฏนามคล้องจองกันว่า เกษมสม ผงมสุข ปลุกปรีดี ซึ่งถือเป็นเรือนกลุ่มแรกๆ ที่สร้างขึ้นในพื้นที่ ก่อนจะมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการย้ายเข้ามาสร้างบ้านตากอากาศที่ชะอำตามมาอีกเป็นจำนวนมาก

“เนื่องจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการประพันธ์ ทรงเป็นผู้ก่อตั้งคณะละครปรีดาลัยที่โด่งดังมากในสมัยนั้น จึงประทานชื่อกลุ่มตำหนักให้คล้องจองกันหมด แม้แต่ชื่อห้องต่างๆ ของแต่ละตำหนักด้วย อย่างตำหนักปลูกปรีดีก็มีชื่อห้องที่คล้องจองกันว่า ฟกฟื้น ชื่นชีวัน ขวัญชีวี และศรีชีวาตม์ ที่ล้วนมีความหมายว่ามาอยู่แล้วหายเหนื่อย มีแต่ความสุข ความอิ่มเอมใจ” ดร.ยุวรัตน์ อธิบายเสริมถึงที่มาของนามอันคล้องจองไพเราะ 

ใน พ.ศ. 2470 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปพระพันธ์พงศ์ ประทานที่ดินและตำหนักปลุกปรีดีให้แก่หม่อมเจ้าหญิงวรรณีศรีสมร วรวรรณ พระธิดา

“หลังจากที่หม่อมเจ้าวรรณีศรีสมรสิ้นชีพิตักษัย คุณทวดเลื่อน จุลสมัย ภรรยาอำมาตย์โทพระประสารอักษรพรรณ (หมัย จุลสมัย) ปลัดกรมบัญชาการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ตัดสินใจซื้อเรือนไม้หลังนี้ผ่านทางหลวงจำนงค์นรินทรรักษ์ ปลัดกรมผู้เคยถวายงานให้กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ราคาซื้อขายใน พ.ศ. 2486 คือสองพันห้าร้อยบาท ซึ่งรวมทั้งตัวบ้านพร้อมที่ดินเจ็ดไร่ คนที่เล่าให้ฟังคือยายจิตต์ จันทรง ผู้เฝ้าดูแลบ้านปลุกปรีดีมาโดยตลอด” 

คุณนัทยาเปิดเผยเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้ตำหนักปลุกปรีดีกลายมาเป็นบ้านปลุกปรีดี บ้านพักตากอากาศที่สร้างความสุขทุกฤดูร้อนให้กับสมาชิกครอบครัวสูตะบุตรและจุลสมัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

บ้านตากอากาศ 

บ้านปลุกปรีดีเป็นเรือนไม้สองชั้น ยกใต้ถุนสูง ตกแต่งด้วยลายฉลุตามแบบแผนของบังกะโลตากอากาศในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกันกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งสร้างขึ้นในพื้นที่และเวลาใกล้เคียงกัน

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

ดร.ยุวรัตน์ อธิบายให้ฟังว่า การสร้างบ้านตากอากาศนั้นต้องคำนึงถึงทิศทางการรับลมเย็นเป็นสำคัญ ดังนั้นตัวบ้านจะหันอยู่ในแกนเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นทิศรับลมในบริเวณชายทะเลชะอำ ส่วนสำคัญที่สุดของบ้านคือชาน (Verandah) ขนาดกว้างใหญ่ เพราะเป็นพื้นที่ที่สมาชิกใช้เวลามากที่สุด ทั้งนั่งเล่นนอนเล่นสังสรรค์กันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ระเบียงไม้โปร่งโล่งช่วยเปิดทางรับลม ไม้ฉลุลายเรขาคณิตประดับไว้โดยรอบเพื่อช่วยกรองแสงแดด ใต้หลังคาปั้นหยามีพื้นที่ว่างเหนือฝ้าเพดาน คอยทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนไม่ให้แผ่ลงมาที่ตัวเรือน ประตูและหน้าต่างเกือบทั้งหมดตั้งเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน เพื่อให้ลมผ่านเข้าออกได้โดยไม่มีทางตัน (Through Ventilation)

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

ส่วนห้องนอนหลักคือ ห้องฟกฟื้น และ ชื่นชีวัน ซึ่งเป็นห้องนอนของเจ้าของบ้าน ถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญ ตั้งอยู่ถัดจากชานในแกนทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อรับลมเย็นในเวลากลางคืน ระเบียงหน้าห้องทั้งสองเป็นระเบียงฝาไหลที่เลื่อนเปิดปิดได้ตามความต้องการ ระเบียงฝาไหลจัดเป็นประดิษฐกรรมต่างถิ่นที่ไม่ค่อยพบตามบ้านชายทะเลแถบนี้ แต่กลับพบได้ทั่วไปทางแถบภาคเหนือและอีสาน สันนิษฐานว่าเป็นการก่อสร้างโดยแทรกประสบการณ์ส่วนตัวของช่างต่างถิ่นที่มาร่วมต่อเติมบ้านปลุกปรีดีในยุคต่อมา

ตรงระเบียงนี้มักเป็นที่นอนของสมาชิกรุ่นเยาว์ของครอบครัว เพราะรับลมเย็นสบายกว่าในห้อง แถมยังได้มองดูดาวเพลินๆ ไปด้วย สมัยก่อนชะอำไม่มียุง จึงไม่จำเป็นต้องนอนในมุ้งเสียด้วยซ้ำ ฝาไหลยังช่วยปรับอุณหภูมิให้ผู้นอนรู้สึกสบายขึ้น เพราะหากลมพัดแรงจัดจนหนาว หรือเมื่อฝนตกหนักและสาดเข้ามาก็เลื่อนปิดได้ทันที

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

ส่วนห้องนอนอีกสองห้องคือ ห้องขวัญชีวี กับ ศรีชีวาตม์ เป็นห้องนอนขนาดไม่ใหญ่ สร้างตามขนาดโครงสร้างของคนไทยสมัยก่อน มักใช้รับรองแขกและผู้ติดตามซึ่งนอนเรียงกันได้อย่างสบาย ประตูและหน้าต่างจะเปิดทิ้งไว้เสมอเพื่อให้ลมเย็นพัดผ่านตลอดเวลา

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ควรสังเกตคือ หลังคาปั้นหยาจะยื่นจั่วเฉพาะจุดที่เน้นเป็นสำคัญ เช่น บริเวณหน้าบ้านเหนือระเบียงห้องฟกฟื้นและชื่นชีวัน อันมีตัวอักษรจารึกชื่อบ้านปลุกปรีดี ข้อดีของหลังคาลักษณะนี้คือระบายน้ำได้เร็วทุกทิศทาง เพราะฝนทะเลใต้ค่อนข้างชุกและสาดแรง การยื่นชายคากว้างเช่นนี้ก็เพื่อช่วยป้องกันฝนสาดนั่นเอง 

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

สำหรับผนังด้านนอกตัวบ้านเป็นผนังตีซ้อนเกล็ดแนวทางนอน เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและระบายน้ำฝนให้มากที่สุด ส่วนผนังในตัวบ้านตีทับแนวทางตั้ง เพราะเส้นแนวตั้งช่วยนำสายตาให้ผู้อาศัยรู้สึกว่าพื้นที่ภายในนั้นโปร่งโล่งมากยิ่งขึ้น 

บันไดบ้านนั้นมีอยู่หลายบันไดและใช้งานแตกต่างกันไป ความที่หน้าบ้านหันเข้าหาดซึ่งมีถนนตัดผ่าน จึงถือว่าเป็นเส้นทางสัญจรหลักที่แขกไปใครมาก็จะผ่านมาทางหน้าบ้านก่อนเสมอ ดังนั้นบันไดหน้าที่ทอดจากตัวเรือนลงสู่ทะเล มักเป็นบันไดที่ออกแบบให้ ‘แกรนด์’ กว่าบันไดอื่นๆ โดยมักใช้แผ่นไม้ขนาดกว้าง เดินสบาย จัดวางเรียงเป็นขั้นอย่างได้จังหวะสวยงาม และทอดตรงลงไปยังลานทรายด้านล่างที่มีต้นลั่นทมคู่ปลูกประดับ พร้อมอ่างบรรจุน้ำสะอาดรอไว้ใช้ชะล้างฝุ่นและทรายก่อนขึ้นบ้าน บันไดหน้าจะตั้งอยู่กลางเรือน และสงวนไว้สำหรับแขกที่ไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนกันเท่านั้น เมื่อแขกขึ้นมาก็จะพบกับเจ้าบ้านที่นั่งรอต้อนรับอยู่ตรงชานเรือนพอดี 

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

นอกจากนี้บันไดหน้ายังทำหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งเป็นประจำทุกปี

“เราถ่ายภาพหมู่พร้อมกันทั้งครอบครัวกับบันไดนี้ทุกฤดูร้อน เป็นภาพบังคับที่ปฏิบัติกันมารุ่นสู่รุ่น เป็นเหมือนบันทึกที่ทำให้เราเห็นว่าบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พี่ๆ น้องๆ แต่ละคนเติบโตขึ้นแค่ไหน” คุณนัทยาเล่าพร้อมหยิบภาพถ่ายสำคัญให้ชม

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

ส่วนบันไดหลังอยู่หลังบ้านและเชื่อมกับเรือนครัวซึ่งปลูกแยกออกไปต่างหาก สำหรับให้คนครัวนำอาหารมาส่งเมื่อถึงเวลาหิว นอกจากนี้ยังมีบันไดข้างไว้สำหรับเด็กๆ ที่เพิ่งเล่นน้ำทะเลหรือเล่นทรายกันจนตัวเปียกตัวเลอะ จะได้ล้างเนื้อล้างตัวให้สะอาดหมดจด แล้วจึงกลับขึ้นบ้านโดยไม่ทำให้บริเวณชานบ้านด้านหน้าต้องเปียกเลอะไปด้วย

ส่วนเรือนครัวนั้นเป็นเรือนโล่งขนาดพอเหมาะ ปูพื้นไม้เว้นเป็นร่องห่างเพื่อให้เศษอาหารหรือน้ำไหลลงสู่พื้นทรายด้านล่าง ภายในมีตู้กับข้าวไม้กรุมุ้งลวด มีเตาถ่านทำด้วยหินขัดสูงประมาณเตาแก๊ส มีโอ่งใส่น้ำสำหรับใช้ทำกับข้าวหรือล้างภาชนะ และเมื่อถึงเวลาทำกับข้าวเมื่อใด จะมีผู้คนวนเวียนมาช่วยหั่นและช่วยชิมกันจนแก้มตุ่ย

บ้านปลุกปรีดีทาด้วยสีขาวและเหลือง ซึ่งพบว่าเป็นสีที่มักใช้กันโดยทั่วไปในชะอำและหัวหิน

“จากการเก็บข้อมูลก็จะพบว่า บ้านในแถบนั้นเป็นสีเหลือง ขาว เขียว หรือไม่ก็ฟ้าเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะสีเหล่านี้เป็นสีที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติแวดล้อมหรือพืชพรรณในท้องถิ่น เช่น ดอกคูณเป็นพืชที่ปลูกอยู่มากในแถบนั้น เวลาออกดอกก็จะเหลืองสะพรั่งไปทั้งหมด ท้องทะเลก็เป็นสีคราม น้ำเงิน ฟ้า ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ทำให้ช่างเลือกใช้สีที่ไม่โดดไปจากสภาพตามธรรมชาติ” ดร.ยุวรัตน์ อธิบายที่มาของการเลือกใช้สีขาวขลิบเหลือง และสีเหลืองที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเฉดสีที่เป็นภาพจำของผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ ที่เคยไปใช้ชีวิตตลอดช่วงฤดูร้อน ณ บ้านปลุกปรีดีครั้งละนานนับเดือน

การตากอากาศหมายถึงการมาพักฟื้นร่างกาย ดังนั้นบ้านตากอากาศจึงไม่ต่างอะไรกับการเป็นบ้านหลังที่สอง ซึ่งต้องออกแบบให้ผู้อยู่รู้สึกสบายตัวสบายใจมากที่สุด 

ชะอำในความทรงจำ

นิตยา มาศะวิสุทธิ์ เคยบันทึกถึงบรรยากาศของการเตรียมตัวไปตากอากาศที่ชะอำในช่วง พ.ศ. 2490 ไว้ในหนังสือ บ้านปลุกปรีดี ว่า

“เราตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นยายจ๋า (นางเลื่อน จุลสมัย) เริ่มเอาที่นอนหมอนมุ้งและถุงสีเขียวใบใหญ่ออกมาตากแดด เพราะนั่นหมายความว่าเวลาที่จะได้ไปชะอำใกล้เข้ามาแล้ว นอกจากจัดเตรียมหมอนมุ้งสำหรับไปชะอำแล้ว สิ่งที่ยายจ๋าทำไม่ให้ขาด คือไปสำเพ็ง พาหุรัด เพื่อจับจ่ายซื้อของไปฝากชาวชะอำ ซึ่งมักเป็นผ้าซิ่น ผ้าลาย เสื้อคอกระเช้า ยาสามัญประจำบ้าน และถ้ามีหมากสดก็จะซื้อติดมือไปด้วย”

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

ศ. ดร.ธีระ และ ดร.สุนงนาท ช่วยกันเล่าเสริมว่า สมัยเด็กๆ ชะอำเป็นที่ที่สงบมาก ไม่จอแจ เมื่อก่อนต้องไปทางรถไฟจากสถานีบางกอกน้อย พอไปถึงสถานีชะอำก็จะมีรถสามล้อถีบจอดรออยู่ 2 คัน คือรถของนายวันกับนายเตือน ซึ่งต้องโทรเลขไปแจ้งไว้ล่วงหน้าเพื่อนัดหมายให้มารอรับ และทั้งชะอำก็จะมีรถสามล้อถีบอยู่แค่ 2 คันนี้เท่านั้น ผู้ใหญ่นั่งคุมของไปบนรถ เด็กๆ ก็เดินเรียงแถวกันไปเป็นกิโลกว่าจะถึงบ้านปลุกปรีดี แต่เดินแค่ไหนก็ไม่เมื่อย ไม่เหนื่อย ไม่มีใครโยเย เพราะอยากไปถึงทะเลเร็วๆ แค่เห็นเส้นทะเลตัดขอบฟ้าก็ระโดดโลดเต้นดีใจแทบแย่

ดร.สุนงนาถ และ รศ.อรชุมา อาสาเป็นตัวแทนฝ่ายหญิงเผยถึงกิจกรรมสนุกๆ ประจำวัน

“พอมาถึงปั๊บก็จะวิ่งลงทะเลไปเลย หาดสงบแล้วก็กว้างมาก พวกเราจะเล่นน้ำทะเลกันทั้งวัน กลับมาทีตัวดำเป็นเหนี่ยง แต่ละวันมีอะไรให้ทำตลอดค่ะ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองวุ่นมากๆ ไม่มีเวลาว่างเลย (หัวเราะ) เริ่มตั้งแต่ไปคราดหอยตลับกับชาวบ้านที่ริมหาด ไม่ก็หาหอยเสียบเอามาดองน้ำปลาในขวดแก้ว ก่อปราสาททรายกับพี่ๆ น้องๆ ขุดหลุมลอดใต้ปราสาทของใครของมัน แล้วถ้าขุดไปเรื่อยๆ จนมือเราไปจับกับมือของอีกคนได้ก็จะดีใจมากๆ 

“บางที่ก็เก็บเม็ดมะกล่ำตาหนูจากต้นที่ปลูกอยู่หลังบ้านเอามาเล่นอีตักที่ต้องค่อยๆ ตักทีละเม็ด โดยไม่ให้โดนเม็ดอื่น ถ้าใครโดนก็ถือว่าแพ้ หรือไม่ก็เอาก้านใบสนมาต่อแล้วให้ทายว่าต่อที่ข้อไหน ในคืนเดือนมืดก็จะออกไปจับปูลมกัน ถือกระบอกไฟฉายส่องหาปู แต่ตัวเองไม่ค่อยถนัดเพราะเป็นคนขี้กลัว พอจับเสร็จก็เอาปูที่จับได้มาทอด ไม่มีใครอยากฆ่าปูเพราะสงสาร เลยเอาไม้พาดวางไว้เหนือกระทะให้ปูเดินไปตกเอง ยังจำเสียงน้ำมันฉ่าๆ ได้เลย บนชานบ้านก็เล่น A E I O U กัน คิดดูว่าชานบ้านกว้างจนเด็กๆ วิ่งเล่นกันได้”

คราวนี้ถึงตา ศ. ดร.ธีระ และ รศ.หริรักษ์ เป็นตัวแทนฝ่ายชายเล่ากิจกรรมซนๆ ให้ฟังบ้าง

“นอกจากเล่นทะเลแล้ว บนบกก็สนุกนะครับ ตื่นเช้ามานี่จะชวนกันเดินไปสวนตาลที่อยู่ห่างบ้านไปสักกิโลสองกิโล ไปดูชาวบ้านเก็บน้ำตาลสด เขาจะปีนขึ้นต้นตาลสูงๆ ไปเก็บกระบอกไม้ไผ่บรรจุน้ำตาลลงมา แล้วเราจะได้ดื่มน้ำตาลสดๆ กันตรงโคนต้นตาลเลย จากนั้นก็ตามไปดูเขาเคี่ยวน้ำตาลปึกที่เตา แล้วเราก็ไปอุดหนุนน้ำตาลสด ถือกลับมาบ้านอีกเป็นขวดๆ ตอนเดินจากสวนตาลกลับบ้านนี่ก็แวะตลอดทางนะครับ มีสวนฝรั่งสวนมะม่วงตรงไหนก็แวะไปเรื่อย ชาวบ้านใจดี และความที่ชะอำอยู่ใกล้สนามบินบ่อฝ้าย เราก็จะคอยวิ่งไล่ตามเครื่องบินเวลาลดระดับก่อนร่อนลง”

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

นอกจากทะเลและสวนตาลแล้ว บางครั้งผู้ใหญ่จะพาไปเดินป่าหลังบ้าน หรือไม่ก็พาไปปีนเขาเจ้าลายให้ได้ผจญภัยกันอย่างสนุกสนาน ส่วนมุมโปรดในบ้านปลุกปรีดีของเด็กๆ ก็คือใต้ถุนบ้านที่เป็นดั่งลานทรายใหญ่ให้ได้เล่นสนุกกันอีก 

“ใต้ถุนบ้านจะมีแมลงชนิดหนึ่งที่เรียกว่าแมลงช้างอยู่ใต้ทราย ด้านบนจะเป็นแอ่งรูปกรวย ผมก็จะเอามดแดงหยอดลงไปล่อให้แมงช้างมันตะกุยทรายขึ้นมา พอเราขึ้นมาเราก็รีบช้อนแมงช้างมาเก็บไว้ พอได้จำนวนหนึ่งก็จะเอามันมาสู้กัน” รศ.หริรักษ์ ระลึกความหลัง

กิจกรรมที่ทุกคนลงความเห็นว่าสนุกที่สุด คือการขุดหลุมพรางที่ต่างคนต่างขุดหลุมทรายเอาไว้แล้วพรางด้วยใบไม้บนปากหลุม เจ้าตัวรอลุ้นว่าจะมีใครตกลงไปหรือไม่ และถ้าทำได้สำเร็จก็จะเฮกันลั่นทีเดียว

ไม่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่มีความสุข ผู้ใหญ่เองก็สำราญไม่แพ้กัน เพราะว่าจะได้เดินไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงคนรู้จักที่พากันมาตากอากาศในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้มีแขกแวะเวียนมาเยี่ยมมาคุยกันไปทั้งวัน

เมื่อเหนื่อยมาแต่เช้าจรดเย็นแล้ว เวลาค่ำก็จะมานอนเรียงกันที่ระเบียงฝาไหลหน้าห้องฟกฟื้น รับลมเย็นสบาย ฟังเสียงคลื่นและดูดาวไปด้วยกัน อาจแถมด้วยกิจกรรมหลอกผีกันอีกเล็กน้อยพอให้ตื่นเต้น กิจกรรมที่ทำจะซ้ำไปซ้ำมาตลอดช่วงปิดเทอมฤดูร้อน แต่ยังคงสนุกเสมอเมื่อเริ่มต้นวันใหม่ และยังแจ่มชัดในความทรงจำของทุกคนจนถึงทุกวันนี้

เมื่อถึงเวลาต้องกลับกรุงเทพฯ ผู้ใหญ่จะชวนเด็กๆ ให้มาวัดส่วนสูงกับเสาไม้ต้นหนึ่งในบ้าน โดยใช้ปากกาขีดเส้นระนาบเดียวกับศีรษะของเด็กแต่ละคนลงบนเสาไม้ พร้อมลงชื่อและวันที่กำกับไว้ว่าใครสูงเท่าไหร่ พอมาอีกปีก็มาเทียบส่วนสูงเดิม แล้วก็ขีดส่วนสูงใหม่ซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ทับกันไปกันมา

“ประตูบ้านปลุกปรีดีแทบไม่เคยปิดเลย ตอนเด็กๆ จำได้ว่ามีคุณยายใจดีถีบจักรยานเข้ามาขายน้ำตาลสดหรือขายข้าวเกรียบว่าวถึงในบ้าน มีแม่ค้าหาบขนมเข้ามาอย่างขนมตาล ไม่ก็หอยเสียบดอง เวลาแวะมาทีก็มานั่งดื่มน้ำให้หายเหนื่อย พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบกันอยู่นานจนเป็นเหมือนญาติกันเลย หรือคุณยายคนหนึ่งที่ชื่อว่ายายหมา แกเป็นคนบ้าจี้ เด็กๆ จะชอบไปเล่นจี้เอวแกให้พูดทะลึ่งตึงตังแล้วเราก็หัวเราะกันสนุกสนาน ร้านอาหารของชาวบ้านจะมีอยู่ร้านเดียวมีชื่อว่าบาร์เย็นใจที่เราแวะไปอุดหนุนอยู่เสมอ และเป็นแบบนี้มาตั้งแต่รุ่นคุณทวด รุ่นคุณตาคุณยาย รุ่นพ่อแม่ จนมาถึงรุ่นเรา” คุณนัทยาเล่าอย่างมีความสุข 

ความทรงจำที่ชะอำไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสถานที่ แต่ยังมีผู้คนเป็นส่วนประกอบสำคัญไม่แพ้กัน ไม่แปลกเลยที่การมาที่ชะอำแต่ละครั้งจะต้อง “ไปสำเพ็ง พาหุรัด เพื่อจับจ่ายซื้อของไปฝากชาวชะอำ” อย่างที่บันทึกไว้ เพราะรักและผูกพันกันประดุจญาติพี่น้องไปเสียแล้ว

ความสุขที่ปลุกได้

ช่วงหลังๆ ชะอำเริ่มเผชิญความเปลี่ยนแปลงด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจนล้น และส่วนมากเลือกจะสังสรรค์เสียงดังกันริมหาดแบบไม่หลับไม่นอนไปจนรุ่งเช้า แผงสินค้าจำนวนมากตั้งระเกะระกะอยู่หน้าบ้านจนถึงขั้นปิดทางเข้าออก จากบ้านที่ทุกคนรอคอยที่จะกลับไปเยือนทุกฤดูร้อน กลายเป็นบ้านที่ไม่มีใครกลับไปอีกเป็นเวลาหลายปีจนเริ่มเสื่อมสภาพลง

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

“ประมาณ พ.ศ. 2553 ได้มีการตัดสินใจที่จะขายที่ที่ชะอำ เพราะสภาพแวดล้อมที่ชะอำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก คนที่มาซื้อที่ดินก็อยากได้เฉพาะที่ แต่ไม่อยากได้บ้านหลังนี้ พวกเราทุกคนรู้สึกเสียดายมากๆ โดยเฉพาะแม่ (สตรี ประทีปะเสน หลานคุณยายเลื่อน จุลสมัย) ที่ตัดสินใจว่าต้องรักษาบ้านปลุกปรีดีเอาไว้ให้ได้” คุณวรายุ เอ่ย ส่วนผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนต่างพยักหน้าอย่างแข็งขันและยืนยันว่าตอนนั้นรู้สึกใจหายมากๆ เมื่อคิดว่าจะไม่มีบ้านปลุกปรีดีอีกต่อไปแล้ว การหารือเรื่องการย้ายบ้านปลุกปรีดีมาที่กรุงเทพฯ จึงเป็นดั่งเสียงสวรรค์

และเมื่อตัดสินใจร่วมกันอย่างเด็ดขาดแล้ว สิ่งแรกที่ต้องสำรวจคือจะนำบ้านปลุกปรีดีไปตั้งไว้ที่ไหน 

“แม่มีที่ดินเปล่าอยู่ที่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 ก็เลยรีบวัดขนาดของบ้านปลูกปรีดีที่ชะอำ พร้อมกับวัดขนาดที่ดินเปล่าผืนนี้ ปรากฏว่าเข้ากันได้พอดีเป๊ะ แล้วยังเหลือพื้นที่ข้างๆ ให้ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างบรรยากาศแบบชะอำได้ด้วย ก็เลยปรึกษากับ ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน ผู้เป็นทั้งญาติและสถาปนิกอนุรักษ์เพื่อดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพราะเจ้าของที่ดินรายใหม่ต้องการที่ดินของเราที่ชะอำแล้ว” คุณวรายุเล่าต่อ

เมื่อเวลาน้อย จึงต้องวางแผนงานอย่างรัดกุม ประการแรกคือการเลือกกลุ่มช่างที่มีประสบการณ์กับงานไม้เก่า และช่างกลุ่มเดียวกันนี้ก็จะต้องรับผิดชอบทั้งการรื้อบ้านปลุกปรีดีที่ชะอำพร้อมกับนำมาประกอบคืนที่กรุงเทพฯ ด้วย เพราะจะจำรายละเอียดของไม้และบ้านได้มากที่สุด

เมื่อได้กลุ่มช่างที่ไว้ใจได้แล้ว ก่อนจะรื้อก็ต้องสำรวจขนาดและสัดส่วนของบ้านทั้งหมด รีบบันทึกตำแหน่งเสาบ้านให้ครบ เพื่อที่จะได้เตรียมพื้นที่ทางกรุงเทพฯ ไว้รอรับ รวมทั้งสำรวจแบบบ้านด้วยว่ามีประตู หน้าต่าง ลูกกรง ฯลฯ ตั้งอยู่ตำแหน่งไหนบ้าง พร้อมถ่ายภาพเก็บไว้ทั้งหมด

“พอถ่ายรูปเสร็จแล้วก็รื้อเลย แล้วก็ลำเลียงไม้จากชะอำมาที่กรุงเทพฯ สภาพไม้ขาดความสมบูรณ์ไปบ้างเพราะเป็นไม้เก่า จึงอาจเสียหายระหว่างรื้อถอนและขนย้าย พอดีว่า พ.ศ. 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ และทำให้เราได้ข้อมูลสำคัญว่า น้ำท่วมในซอยนี้ได้สูงถึงหนึ่งจุดสองเมตร ดังนั้นเราจึงตัดสินใจถมดินเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเมตร ดังนั้นจึงต้องนำไม้ที่รื้อมาเก็บรักษาเพื่อรอการปรับพื้นที่อีกพักใหญ่” ดร.ยุวรัตน์เล่าให้ฟัง

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

หลังจากนั้นก็ต้องใช้เวลาอีกกว่าปีเพื่อประกอบไม้ทุกชิ้นให้กลับไปเป็นเรือนปลุกปรีดีหลังเดิมจนสำเร็จ ซึ่งผลงานนี้สร้างความภูมิใจให้ทั้งสถาปนิกและทายาททุกคน เพราะบ้านปลุกปรีดีได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำ พ.ศ. 2558 จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ทั้งนี้วัสดุโครงสร้างที่เห็นในปัจจุบันเป็นวัสดุต้นฉบับเกือบทั้งหมด มีเฉพาะหลังคากระเบื้องว่าวและเชิงชายเท่านั้นที่เปลี่ยนไปใช้วัสดุปัจจุบันแทนเพราะของเดิมชำรุดเสียหายมาก

ส่วนผนัง พื้น ฝ้าเพดานนั้น ไม้เก่าที่เป็นวัสดุเดิมมีความเสียหายมากพอสมควร สถาปนิกจึงตัดสินใจเลือกใช้ไม้เก่าทั้งหมดเฉพาะบริเวณที่มือสัมผัสได้ เช่น ผนัง ส่วนไม้ที่ซื้อใหม่จะนำไปใช้กับส่วนที่ไกลจากการสัมผัส เช่น เพดาน เป็นต้น 

“บ้านปลุกปรีดีเป็นบ้านตากอากาศ เมื่อตั้งอยู่ชะอำ ด้านยาวของบ้านจะหันเข้าหาหาดเพื่อไปรับลมทางทิศตะวันออก พอย้ายมาที่กรุงเทพฯ ลมจะพัดเข้าทางทิศใต้ ก็ลุ้นอยู่มากว่าจะเป็นอย่างไร แต่นับว่าโชคดีมากๆ ที่ที่ดินเปล่าผืนนี้ด้านยาวหันไปทางทิศใต้พอดี ดังนั้นบ้านปลุกปรีดีที่กรุงเทพฯ ก็จะหันเข้ารับลมด้วยเช่นกัน การอนุรักษ์ครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าสถาปัตยกรรม แต่ยังอนุรักษ์หน้าที่และบรรยากาศของบ้านหลังนี้ไว้ได้ด้วย ทุกวันนี้เวลามานั่งที่บ้านปลุกปรีดีก็จะรู้สึกเหมือนมีลมทะเลพัดเข้ามาตลอด” ดร.ยุวรัตน์ กล่าวอย่างดีใจ

สิ่งสำคัญที่ต้องอนุรักษ์ไว้ด้วยคือบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงและเงา เพื่อเปลี่ยนมุมเล็กๆ แห่งนี้ให้เป็นชะอำในความทรงจำได้ใกล้เคียงที่สุด 

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง
บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

“ลักษณะเด่นของบ้านที่ชะอำคือต้องมีเงาของต้นไม้แผ่เข้ามาด้วย อย่างเงาของต้นสนหรือเงาของกิ่งลั่นทมหน้าบ้าน เวลาเรานอนที่ชานก็จะมองเห็นทิวสนลู่ไปตามแรงลมด้วย หรือแสงแดดที่ส่องผ่านมาตามลายฉลุใต้ฝ้าเพดานจนเกิดเป็นลายบนพื้นเรือน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้”

ต้นสนจำนวนหนึ่งจึงปลูกเรียงอยู่ริมรั้ว โดยได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นพันธุ์เดียวกันกับที่ชะอำ ส่วนต้นลั่นทมหน้าบ้านนั้นเป็นการตอนกิ่งต้นเดิมและนำมาปลูกไว้ที่นี่ เช่นเดียวกับต้นเชอรี่ไทยหน้าบันไดและหน้าต้นมะขามเทศหลังบ้าน แม้แต่ทรายที่โรยอยู่ด้านหน้าหรืออ่างปูนทรงเหลี่ยมสำหรับใส่น้ำจืดล้างเท้าก็เป็นของเดิม และนำมาจากสถานที่จริงเพื่อสร้างบรรยากาศที่คุ้นเคย

อย่างไรก็ตาม บางสิ่งบางอย่างก็ต้องปรับสภาพให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบันด้วย เช่น การยกฐานเสาให้สูงขึ้นเพื่อให้ใต้ถุนบ้านสูงขึ้นกว่าเดิม ก่อให้เกิดพื้นที่ใช้สอยอันเป็นประโยชน์มากมาย กลายเป็นบริเวณพบปะสังสรรค์ของสมาชิกในครอบครัวและแขกเหรื่อ การเสริมทางขึ้นบ้านตามแนวอารยสถาปัตย์เพื่อรองรับญาติผู้ใหญ่ที่ต้องอาศัยรถเข็น การเพิ่มและขยายห้องน้ำและห้องครัวเป็นต้น

บ้านปลุกปรีดี : อดีตตำหนักตากอากาศริมทะเลชะอำ ที่ย้ายมาปลุกความสุขในเมืองหลวง

ห้องบางห้องก็ปรับสภาพใหม่ เช่น รื้อฝากั้นออกเพื่อให้ห้องกว้างขึ้น แต่ยังรักษาเครื่องเรือนแท้ๆ ดั้งเดิมเอาไว้ หรือพยายามเสาะหาเฉพาะเครื่องเรือนร่วมสมัยเพื่อนำมาใช้ตกแต่งเสริมเข้าไปในบางจุด สิ่งสำคัญคือตัวอักษรไม้ที่จารึกชื่อบ้านว่าปลุกปรีดีซึ่งมองเห็นได้อย่างโดดเด่นในวันนี้ ยังเป็นของดั้งเดิมที่ประดับอยู่บนตำแหน่งเดียวกันนี้มาตลอดร้อยปี

“มีสิ่งหนึ่งที่เราพยายามอนุรักษ์ไว้แต่ไม่สำเร็จ นั่นคือเสาบันทึกความสูง ตอนที่ย้ายเสามา ช่างไม้ก็หวังดี พยายามขัดไม้จนรอยขีดหายไปหมด เลยไม่รู้เลยว่าเป็นเสาไหน” ดร. ยุวรัตน์ เล่าด้วยความเสียดาย แต่คุณวรายุได้เล่าเสริมว่าประเพณีนี้ได้เวียนกลับมาอีกครั้งเมื่อได้เริ่มมีการบันทึกความสูงของลูกๆ หลานๆ รุ่นปัจจุบันกันอีกครั้งบนเสาบ้านปลุกปรีดีที่กรุงเทพฯ

ทุกวันนี้บ้านปลุกปรีดีเป็นพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัวที่มักใช้สำหรับพบปะสังสรรค์ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ รวมทั้งเป็นที่จัดงานเลี้ยงในโอกาสสำคัญของครอบครัว

ทุกครั้งที่สมาชิกทุกคนกลับมาที่บ้านหลังนี้ ภาพความทรงจำของชะอำในอดีตก็พร้อมจะออกมาโลดแล่นอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสนุกๆ มิตรภาพอันทรงคุณค่ากับชาวชะอำหลายต่อหลายคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ณ ช่วงเวลานั้น

บ้านปลุกปรีดียังคงปลุกความสุขให้กับทุกคนในครอบครัวอยู่เสมอ ดังเช่นที่เป็นมาในอดีตไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ขอขอบพระคุณทายาทครอบครัวสูตะบุตรและจุลสมัยผู้ให้สัมภาษณ์ทุกท่าน

  • ศ. ดร. ธีระ สูตะบุตร 
  • ดร. สุนงนาท สูตะบุตร (ทายาทสกุลจุลสมัย)
  • รศ. อรชุมา ยุทธวงศ์ (ทายาทสกุลสูตะบุตร)
  • รศ. หริรักษ์ สูตะบุตร 
  • คุณนัทยา มาศะวิสุทธิ์ (ทายาทสกุลสูตะบุตร)
  • ดร. ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน (ทายาทสกุลสูตะบุตร)
  • คุณวรายุ ประทีปะเสน (ทายาทสกุลสูตะบุตร) 

ขอขอบพระคุณภาพถ่ายในอดีตจาก

  • หนังสือโคลงสุภาพเรื่อง นิราศชะอำ ฝีพระโอษฐ์ กรมพระนราธิปฯ
  • ทายาทครอบครัวสูตะบุตรและจุลสมัย
  • คุณชวชล เศรษฐอุดม

เอกสารอ้างอิง

  • บ้านปลุกปรีดี โดย นิตยา มาศะวิสุทธิ์
  • เม้าเม้า อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นิตยา มาศะวิสุทธิ์ 
  • ชะอำฟองคลื่นศักดินา โดย สรศัลย์ แพ่งสภา 
  • การศึกษาเพื่อเสนอแนวความคิดในการอนุรักษ์บ้านพักตากอากาศชายทะเลหัวหินในช่วงปี พ.ศ. 2454 – 2488 วิทยานิพนธ์หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ปีการศึกษา 2542 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ