Once a year, go someplace you’ve never been before.”

Dalai Lama

เราชอบและเชื่อคำกล่าวของท่านดาไล ลามะ นะ ที่ว่า ปีละครั้ง จงไปในที่ที่คุณไม่เคยไป ปีนี้เราก็ไปในที่ที่ไม่เคยไป-เมืองชื่อยาวมาก เรียกย่อได้ว่าเวทรี่ฯ ชื่อนี้หลอนตามาหลายครั้งหลายครา เมื่อพลิกด้านหลังจานกระเบื้องที่ชอบทีไร เป็นต้องเห็นรูปไก่อ้วน รอบไก่มีอักษรเขียนว่า SOLIMENE Vietri S/M Made in Italy

บ่อยครั้งที่จุดหมายปลายทางใหม่ๆ มาจาก Passion หรือความรักความสนใจถึงขั้นหมกมุ่นที่มนุษย์เรามีต่อสิ่งใด บางคนชอบแฟชั่น บางคนรักธรรมชาติ เดินป่าเดินเขา ส่วนผู้รักกาแฟไปเที่ยวไหนก็คาเฟ่ฮันติ้งกันไป น้องชายเราสายวิ่ง มาราธอนไปแล้วห้าหกเมืองทั่วโลก

สำหรับเรา กระดาษและกระเบื้องคือเรื่องที่หลงใหล นอกจากกระเบื้องในรูปแบบภาชนะใส่อาหารจัดสำรับ กิจกรรมโปรดในชีวิตประจำวัน เรายังมีอาชีพวาดรูปและออกแบบลวดลายลงบนกระเบื้องด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติใช่ไหมที่เราจะพลิกจานชามกระเบื้องดูด้านหลังบ่อยๆ จนชื่อ Vietri S/M กลายมาเป็นจุดหมายปลายทาง S/M ไม่ใช่ขนาดเล็กกลาง แต่มันย่อมาจาก Sul Mare ในภาษาอิตาเลียนที่แปลว่า On the Sea การจะไปถึงเวทรี่ฯ ได้จึงต้องข้ามน้ำข้ามทะเลกันหน่อย

Vietri sul Mare Vietri sul Mare

อิตาลีเป็นประเทศที่เปรียบเสมือนบ้านเพื่อนสนิท เพื่อนคนนี้มีหลากหลายแง่มุมสุดๆ

18 ปีที่ผ่านมา เรากลับไปหาเพื่อนทรงเกือกบู๊ตทุกปี แต่ก็ยังรู้สึกว่าไปมาไม่ทั่ว อย่างแถบทะเลทางใต้ชายฝั่งอมาลฟี (Amalfi) ที่เคยนึกว่าเก็บครบแล้ว แต่เวทรี่ฯ ก็ยังหลุดรอดสายตาไปได้ ถ้าไม่พลิกหลังจานก็ไม่รู้จักหรอก ปีนี้จึงได้ฤกษ์กลับไปอมาลฟีอีกครั้งเพื่อนั่งเรือไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อยาว เวทรี่ ซูล มาเร่ อยู่ในเขตจังหวัดซาเลอร์โน (Salerno)

Vietri sul Mare

เวทรี่ฯ จัดเป็นเมืองรองเงียบๆ บนชายฝั่งอมาลฟี ไม่โดดเด่นฟู่ฟ่าเท่าเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างโพสิตาโน (Positano) ราเวลโล (Ravello) คาปรี (Capri) ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักท่องเที่ยวมากกว่า

พูดถึงโพสิตาโน ถ้าไปกินอาหารร้านดังๆ ในเมืองนี้แล้วลองพลิกจานดู จะพบตราไก่เวทรี่ฯ เช่นเดียวกับร้านรวมแบรนด์กระเบื้องที่เลือกของเจ๋งสุดในคาปรี ชื่อร้าน Sea Gull ที่มีเซรามิกของดีเวทรี่ฯ วางขาย

Sea Gull หอยนางรม

นี่ยังไม่นับโรงแรม The Fleming ที่เพิ่งเปิดใหม่หมาดๆ ในย่านหว่านไจ๋ ฮ่องกง มีร้านอาหารอิตาเลียนชั้นล่างโรงแรม ไม่ต้องเดาเลยว่าเชฟมาจากแถบไหนของอิตาลี จานเวทรี่ฯ มาเต็มๆ

The Fleming

แต่ที่เต็มแน่นสุดต้องโรงแรมแสนรักของเราที่ซอร์เรนโต (Sorrento) ชายฝั่งเนเปิลส์ ชื่อโรงแรม Maison La Minervetta มื้ออาหารเช้าโรงแรมนี้ละลานตาขั้นสุดกับสีสันจานชามที่เรียกว่าแทบจะขนมาแทบทุกคอลเลกชันจากโรงงานแบรนด์ไก่ Solimene ณ เวทรี่ฯ

กาแฟ อาหารเช้า

หลอนตากันมาขนาดนี้ เช้าวันอากาศดี ฟ้าสวยจัดเจิด มีเมฆงามประดับฟ้าหน้าตาแปลกเหมือนเมฆไซอิ๋ว เรานั่งเรือล่องสบายๆ จากเมืองอมาลฟีไปซาเลอร์โน

ขาไปเจอเรือแบบหวานเย็น คือจอดหลายป้ายหน่อยแต่ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวก็ถึงซาเลอร์โน เทียบท่าซาเลอร์โนแล้วซื้อตั๋วรถเมล์ 1.20 ยูโร รถบัส No.1 จะพาเราซิ่งออกนอกตัวเมืองซาเลอร์โนไปทางตะวันตก ราวสิบห้านาทีก็ถึงเมืองเล็กๆ แสนน่ารักที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงเซรามิกแห่งแคว้นกัมปาเนีย (Campania)

Solimene

พอรถเมล์จอดตรงปากทางเข้าเมือง เราแอบร้อง แม่เจ้า! ดังลั่นใจ Solimene โรงงานเซรามิกเจ้าของตราไก่ ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าบนเนิน บอกตรงๆ ว่าแว้บแรกนึกถึงสัตว์ประหลาดพิงภูผาอยู่ โรงงานนี้เหมือนปราสาทเซรามิกอันลึกลับ ที่ทำให้เรานึกถึงทั้งสถาปัตยกรรมเกาดี (Gaudi) และกุกเกนไฮม์ (Guggenheim) มิวเซียม ผสมกัน มันมีความเพี้ยนนิดๆ ที่ดูเป็นมิตร

Solimene Solimene

คงเพราะความพลิ้วโค้ง ทรวดทรงออร์แกนิกของอาคาร ปะประดับกระเบื้องสลับกับช่องกระจกให้แสงเข้า คือด้านนอกก็อู้หูแล้ว ด้านในยิ่งตื่นใจกว่า มีการเล่นระดับพื้นที่ไปตามโครงนอก โค้งเว้าเหมือนเดินอยู่ในถ้ำ ผลงานออกแบบของสถาปนิกชื่อดังชาวตูรินที่ย้ายไปปักหลักสร้างชื่อในอเมริกา โรงงานโซลิมีเน่ คือผลงานชิ้นเอกของเขา-เปาโล โซลีรี (Paolo Soleri) ที่บินจากแอริโซนากลับมาอมาลฟีเพื่อออกแบบอาคารนี้ในยุค 1950 โรงงานนี้ชื่อเต็มก็ยาวไม่แพ้เมือง Ceramica Artistica Solimene

กิจการครอบครัวโซลีมีเน่นี้ ลูกหลานสืบสานงานเซรามิกกันมาหลายร้อยปีตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 มีการส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1947 วินเซนโซ (Vincenzo Solimene) ตัดสินใจสร้างโรงงานสุดอลังขึ้นโดยมอบหมายให้เปาโล โซลีรีเป็นผู้ออกแบบ

ด้วยขนาด โครงสร้างด้านนอกด้านในเปี่ยมเอกลักษณ์ ไม่น่าแปลกใจที่โรงงานนี้ใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี และเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1954 กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองเล็กๆ สงบเงียบ แต่เพียบไปด้วยเวิร์กช็อปของศิลปินนักปั้นและนักเขียนลายเซรามิก ที่ถ้าเราเดินเข้าตัวเมืองไปจะละลานตา หันซ้ายขวาส่องร้านค้าและสตูดิโอของศิลปินที่พรึ่บอยู่ทั้งเมือง

Solimene จาน

กว่าเราจะหลุดออกจากโรงงานสุดเก๋าโซลีมีเน่ก็ใช้เวลานานโขอยู่

ถ้ำอะลาดินในฝันของคนรักเครื่องกระเบื้อง บรรยากาศประหนึ่งพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่มีชีวิต งานรอเข้าเตาเผาเรียงรายอยู่โซนส่วนกลาง งานเซรามิกตามสั่งชิ้นใหญ่ยักษ์ ไม่ว่าจะป้ายชื่อหน้าอาคารทั้งโรงแรม ร้านอาหาร โต๊ะเซรามิกกลมเขียนลายตามออร์เดอร์ ประติมากรรม เครื่องใช้

เซรามิก โรงงานเซรามิก

ของตกแต่งที่สามารถแบ่งหมวดหมู่ได้ คือพวกลายคลาสสิกที่เป็นสัญลักษณ์ของโซลีมีเน่ที่เห็นที่ไหนก็จำได้ ออกแนวคันทรี สีสันสดใส ช่างเขียนลายตวัดพู่กันอย่างเป็นอิสระ วาดรูปลายสัตว์ต่างๆ ปลา หมู ปลาหมึก ไก่ หมุนวนอยู่รอบจานกลม และให้สีแบบไม่แคร์โลกคือตัดกันอย่างร่าเริง เห็นฝีแปรงน้ำหนักพู่กันชัด อารมณ์ดิบๆ ไร้กฎเกณฑ์ ได้อารมณ์สบายๆ สไตล์เวทรี่ฯ

จานอิตาลี เครื่องเคลือบ

กลุ่มลายร่วมสมัยก็มีความเปรี้ยวแปลก ชอบลายปลาหมึกสีน้ำเงินบนจานขาวที่สุด ไวท์แอนด์บลูในแบบเวทรี่ฯ ที่เราว่าเท่เก๋ กระถางต้นไม้ทรงหัวคนหลากขนาดเราก็เลิฟ กระถางดอกไม้หัวคนแบบนี้ที่เกาะซิซิลีก็เป็นที่นิยม ของซิซิลีหน้าตาคนจะคมกว่า ชัดกว่า ดุกว่า ขณะที่ของเวทรี่ฯ กลมมนอ่อนโยน ดูสนุกเฟรนด์ลี่ มีอารมณ์ขันทะเล้นๆ ตรงที่แลบลิ้นออกมาด้วย

โรงงานจาน จานอิตาลี

หนึ่งในความเร้าใจของการมาช้อปปิ้งเซรามิกถึงที่โรงงานคือคุณต้องคุ้ยค้นหาเซรามิกสภาพดีให้ได้ ของที่ไม่ได้คุณภาพการผลิตตามสั่งลูกค้ามีกองให้เลือกในราคาไม่แพง คุณป้าพนักงานที่นี่บีซี่ ยุ่งขิง วุ่นวือตลอดเวฯ เพราะโรงงานรับออร์เดอร์จากลูกค้าที่ทั้งวอล์กอินมาติดต่อ และสั่งกันเป็นประจำมานานหลายปี ป้าๆ จึงดูหัวปั่น คัดของ จัดของที่ผลิตเสร็จแล้วส่งลูกค้าทั่วทุกมุมโลก

โซลีมีเน่มีบริการรับออกแบบตกแต่งภายใน และมีโปรเจกต์ที่ทำให้โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหารทั่วอิตาลี การช้อปปิ้งเซรามิกในบรรยากาศโรงงานเก๋ายุคฟิฟตี้นี้จึงเปี่ยมชีวิตชีวา คึกคัก ไม่ต่างจากในตัวเมืองที่ละลานตาไม่แพ้กัน

Vietri sul Mare Vietri sul Mare

ถนนในเมืองเวทรี่ แม้จะแคบเล็กและไม่ใช่เส้นยาวอะไร มีถนนเส้นหลักเพียงสองสามเส้น แต่เต็มไปด้วยร้านรวงที่ล้วนมีความถ้ำมหาสมบัติ อัดแน่นไปด้วยงานกระเบื้องในแบบเฉพาะตัว อีกทั้งด้านหน้าร้าน บริเวณถนนก็มีรายละเอียดยุ่บ เขาใช้กระเบื้องเขียนลายตกแต่งปะประดับงามงด เหมือนเดินพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่จัดแสดงว่ากระเบื้องใช้ประดับตกแต่งอาคารได้ยังไงบ้าง

Vietri sul Mare Vietri sul Mare

อย่างขอบโค้งบนกรอบประตูที่เมืองอื่นเป็นเหล็กฉลุลาย แต่เมืองนี้ใช้เซรามิก สวยปังมาก

ลวดลายที่ปรากฏบนกระเบื้องเมืองเวทรี่ฯ บอกเล่าวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน สะท้อนวัฒนธรรมไลฟ์สไตล์เมดิเตอร์เรเนียน งานประมง การเดินเรือ สวนมะนาว ไปจนถึงลายสัตว์สำคัญอย่าง ลา พาหนะหลักของผู้คนย่านนี้ในอดีต สัตว์สัญลักษณ์ของเมืองเวทรี่ฯ

Vietri sul Mare Vietri sul Mare

เวทรี่ฯ เป็นศูนย์กลางงานเซรามิกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เทคนิคการปั้น การเคลือบแบบโบราณขึ้นชื่อในเรื่องความคงทนในการใช้งาน และมีเอกลักษณ์ของความเป็นงานทำมือ

ต่อมาในยุค 1920 เทคโนโลยีการผลิตแบบอุตสาหกรรมเฟื่องฟู มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านงานเซรามิกการปั้นจากเยอรมันย้ายมาปักหลักอยู่ในเวทรี่ฯ และยังมีนักปั้นช่างเซรามิกจากโปรตุเกสอีก ส่งผลให้เซรามิกในเวทรี่ฯ มีวิวัฒน์ไปอย่างหลากหลายและน่าสนใจ ทั้งทางด้านเทคนิคและดีไซน์ นำมาซึ่งอัตลักษณ์ใหม่ๆ ทำให้การเดินชมเมืองชมกระเบื้องนั้นสุดเพลิดเพลินใจ

Vietri sul Mare กระเบื้องอิตาลี

รู้ตัวอีกที เป้สะพายหลังชักเริ่มหนักไปด้วยจานชาม ถ้วยกาแฟ ตัวปลาหมึก ประติมากรรมขนาดเล็กน่ารักที่เราเพิ่งสังเกตว่าชาวอิตาเลียนเขาใช้จัดวางบนโต๊ะอาหาร เพิ่มสีสันความสนุกได้โดยไม่ต้องพึ่งดอกไม้สด

ส่วนของอร่อยบนจาน เราแวะร้านอาหารน่ารักใจกลางเมืองแบบมั่วๆ และสั่งพาสต้าเด่นประจำแถบอมาลฟีนี้ คือ Paccheri Pasta ประจำแคว้นกัมปาเนีย ทรงเหมือนท่อขนาดใหญ่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ ราดซอสต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นซอสทะเล กุ้ง ปู ปลาหมึก บางเจ้าก็ทำซอสปลาอร่อย อ่อนๆ เบาๆ เหมือนซุปข้น ไม่ได้กระหน่ำชีสหรือซอสครีมเจ้มจ้นเท่าแถบทัสคานีหรือทางเหนือ แต่ร้านอาหารสมัยใหม่บางร้านในคาปรี เชฟก็พลิกแพลงใส่ชีส Burrata เข้าไปในท่อ Paccheri อร่อยดีมาก

Paccheri Pasta

แน่นอนว่าหนึ่งในความสนุกในการทำความรู้จักกับบ้านเพื่อนอย่างอิตาลีอยู่ที่อาหารการกิน เราไปทุกปี เปลี่ยนแคว้น เปลี่ยนเมือง ก็พบพาสต้าแปลกๆ ใหม่ๆ ตลอด พร้อมซอสที่ไม่ซ้ำ แต่ละเมืองก็ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นพลิกแพลงกันไป

อย่างแถบปูลยา (Puglia) ค่อนข้างแห้งแล้งกันดาร พาสต้ามีความแปลกแตกต่าง ทั้งพาสต้ารูปทรงเหมือนหู (Orecchiette) เคี้ยวหนึบๆ อิ่มตึ้บๆ และยังมีการเอาพาสต้ามาทอดกรอบ ได้อารมณ์แนวอีหมี่ร้านสีฟ้าบ้านเรา ชาวปูลยาเล่าให้ฟังว่า เพราะบ้านเมืองเขายากจนข้นแค้น ไม่มีเนื้อสัตว์ใส่ในพาสต้า ทำให้ต้องพลิกแพลงสร้างเท็กซ์เจอร์ใหม่ๆ ให้มีอะไรเคี้ยวกรอบๆ บ้าง เนื้อสัตว์ ไข่ สมัยก่อนจัดเป็นของราคาแพง พาสต้าแถบปูลยาจึงไม่ค่อยเหลืองนวลสวยด้วยไข่

ส่วนแถบตอนบนของรองเท้าบู๊ตอย่างโบโลนญา (Bologna) เมืองที่มีตลาดอาหารโบราณและร้านอาหารอร่อยเต็มเมือง เราได้รู้จักกับเส้นใหญ่ Pappardelle ออกสีเหลืองนวลใส่ไข่ครั้งแรกที่เมืองนี้

และเมื่ออยู่ตอนกลางหรือตอนเหนือของอิตาลี เราก็ไม่ได้พบเห็นจานลายทะเลสีสนุกแซ่บแบบเวทรี่ฯ จานกระเบื้องทัสคานี จานกระเบื้องแนวนิยมที่ใช้ในมิลาน ในซิซิลี ก็จะมีลีลาเฉพาะตัว สะท้อนแนวทางการใช้ชีวิตและรสนิยมของผู้คนในแต่ละท้องถิ่นให้ตามสืบกันต่อไป ตามเหตุผลในการดำเนินชีวิตของผู้คนในดินแดนนั้นๆ ที่มีภาชนะอย่างกระเบื้องบรรจุอาหาร ช่วยทำหน้าที่บอกเล่า ชวนให้เราสัมผัสและมองเห็นภาพ นำไปสู่การรู้จักและเข้าใจผ่านความอบอุ่นของเนื้อดิน รูปทรง ลวดลาย และสีสัน

กระเบื้อง Vietri sul Mare

กระเบื้องดีแถบชายฝั่งอมาลฟี (Amalfi Coast)

Vietri Sul Mare : Ceramica Artistica Solimene www.ceramicasolimene.it/eng/default.asp

Capri : Sea Gull Ceramiche www.seagullcapri.com

Positano : L’Arte della Ceramica www.arteceramicapositano.com/it/index.php

Writer & Photographer

Avatar

พลอย จริยะเวช

เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์และ Concept Designer มากความสามารถชื่อดัง ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน Artist Writer นักแปล คอลัมนิสต์ และนักวาดมืออาชีพ ผู้มีผลงานออกแบบวางจำหน่ายในงานแฟร์ของตกแต่งที่ดีที่สุดในโลก