ปกรณ์ รุจิระวิไล

สงขลาตอน 2 ต่อเนื่องจากตอนแรกที่เราพาไปชมการอนุรักษ์ปรับปรุงอาคารเก่าในแบบเฮียเอ๋ (ปกรณ์ รุจิระวิไล) หนุ่มมาดฮิปที่ใส่ใจอดีตบ้านเกิดซิงกอร่า (Singora)-ชื่อของสงขลาในอดีตสมัยประเทศไทยมีนามว่าสยาม

ก่อนอื่นเราต้องขอแสดงความยินดีกับเฮียด้วยที่อาคาร A.E.Y. Space ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารพาณิชย์ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2561

เฮียเอ๋ยังเดินหน้าอนุรักษ์อาคารต่อไปอีกหลายหลัง โดยใช้ความตั้งใจเดียวกันกับทุกอาคาร คือเป็นการอนุรักษ์ที่เร้าสำนึกบางอย่างให้เกิดขึ้นในชุมชนและเพื่อชุมชน คราวนี้เราเลยอยากพาไปเที่ยวอีกตึกที่น่าสนใจมากของเฮียเขา พร้อมปิดท้ายเดินเล่นสนุกศิลป์ในเมืองเก่าสงขลาอย่างอร่อยและเพลิดเพลิน

 

บ้านหมอยาผู้อารี (The Apothecary of Singora) ดิ อาโปเธคารี ออฟ ซิงกอร่า
บ้านอนุรักษ์ยู่เลี่ยง

The Apothecary of Singora

เฮียเอ๋เล่าว่าวันหนึ่งเดินอยู่แถบถนนนครใน เจอะเจอช่างกำลังบูรณะอาคารเก่าสวยมากอยู่ เฮียหวั่นใจว่าช่างจะรื้อกระเบื้องเก่าไปทิ้งและใช้กระเบื้องสมัยใหม่ปูแทน จึงโฉบไปพูดคุยจนทำให้ได้พบกับคุณไกรฤกษ์ เจ้าของเรือนหลังงาม ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลทุมโฆษิต เมื่อเฮียได้พูดคุยกับท่าน เข้าไปเยี่ยมชมและได้ทราบประวัติเรือนแล้วยิ่งตื่นเต้น เฮียเอ๋คุยไปคุยมากับคุณไกรฤกษ์บ่อยเข้า จนท่านมอบความไว้วางใจให้เฮียเช่าและช่วยดูแลปรับปรุงบ้านทรงคุณค่าหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ตามประสาเฮียเอ๋ที่รักการฟื้นชีวิตให้อาคารแบบที่ต้องใช้วิธีศึกษาสืบเสาะจิตวิญญาณของเจ้าของเรือนเป็นสำคัญ ทำให้เฮียทราบว่าเจ้าของบ้านท่านแรกมีนามว่าคุณทวดซินเท็ก แซ่ลิ้ม ชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ผู้มีวิชาความชำนาญทางด้านสมุนไพรไทย ลูกชายของท่าน ปู่ขวด ทุมโฆษิต สืบสานวิชานี้ต่อมา ท่านมีเมตตาช่วยเหลือผู้เจ็บไข้โดยเฉพาะรายที่ขัดสน เป็นที่กล่าวขานถึงหมอยาไทยใจกว้างที่ผู้คนสามารถมารับยาแบบไม่ต้องเสียสตางค์รู้จักดีในนาม ‘ยาขอ หมอวาน ร้านยู่เลี่ยง’

The Apothecary of Singora The Apothecary of Singora

เฮียเอ๋เล่าด้วยดวงตาระยิบระยับขั้นสุดว่าตอนที่เขาเข้าไปในบ้านยู่เลี่ยงครั้งแรก ประทับใจแท่นบูชาบรรพบุรุษผู้อารีนี้ที่สุด รองลงมาคือตู้ไม้เก็บสมุนไพรลิ้นชักพรึ่บ เฮียจึงปะทุไอเดียโปรเจกต์ ‘The Apothecary of Singora’ ขึ้นมา “อยากฟื้นความเป็นร้านปรุงยาแห่งเมืองสงขลาขึ้นมาใหม่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเล็กๆ ที่คงสภาพใกล้เคียงอดีต ทั้งรายละเอียดและกลิ่นอายแบบเก่า คนรุ่นหลังจะได้มาศึกษาเรียนรู้ความเป็นอยู่ วิถี และสถาปัตยกรรมแบบจีนสงขลาโบราณ”

The Apothecary of Singora

เรือนนี้แสดงให้เห็นถึงทักษะเชิงช่างของชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาในสงขลาสมัยรัชกาลที่ 4 บางส่วนตั้งโรงงานทำอิฐทำกระเบื้อง คุณภาพดินที่ใช้ทำกระเบื้องในสงขลายุคนั้นดังระบือมากด้านความคงทนแข็งแรง โครงสร้างหลังคาบ้านยู่เลี่ยงโดดเด่นตรงหลังคาใหญ่ มุงกระเบื้องดินเผา ลาดเอียงเทมากอย่างมีเอกลักษณ์ จั่วยอดโค้งทรงภูเขา ถอดแบบจากอาคารจีนดั้งเดิม

พื้นที่ใช้สอยในอาคารแบ่งเป็น 3 ส่วน ซึ่งเวิร์กสุดๆ ด้านหน้าเปิดโล่งเชื่อมกับถนน มีชั้นลอยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ พร้อมช่องแสงขนาดเล็กจากหลังคา แบ่งกั้นพื้นที่ว่างไว้ใช้พักผ่อน ส่วนกลางของบ้านที่เราชอบมากเป็นลานล้อมบ่อ (Skywells) ทำให้บ้านโปร่ง รับแดด ลม ฝนได้ และตามความเชื่อของจีน ลานกลางบ้านนี้ช่วยป้องกันไม่ให้เงินและโชคลาภไหลออกจากเรือน

The Apothecary of Singora The Apothecary of Singora

ส่วนหลังของบ้านมี 2 ชั้นสำหรับพักอาศัย มองลงมาเห็นลานล้อมบ่อ ซึ่งปัจจุบันเฮียเอ๋ใช้เป็นพื้นที่ทำยาดมสมุนไพรไทย ผู้จัดการอาโปฯ ชื่อน้องก้องรับผิดชอบดูแลพื้นที่และปรุงยาดมที่เคาน์เตอร์ไม้ปรุงยาเก๋าเก๋ เรียกว่าจำลองกิจกรรมเดียวกันกับวันก่อนเก่าที่บ้านยู่เลี่ยงมีกันเลยทีเดียว

The Apothecary of Singora The Apothecary of Singora

ยาดมที่ทีมเฮียเอ๋ปรุงเป็นหนึ่งในของที่ระลึกจำหน่ายในมิวเซียมช็อป น่ารักมากที่เฮียหวังใจอยากให้สร้างรายได้หล่อเลี้ยงเรือนโบราณล้ำค่านี้ นอกจากนี้ ในช็อปยังมีของคัดสรรของจากทั่วสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง เฮียเอ๋สนิทกับนักวาดภาพประกอบชื่อดังคือ ซันเต๋อ (Suntur) ที่นี่ก็เลยมีเสื้อยืดแจ่มๆ ฝีมือซันเต๋อที่เป็นลวดลายสัญลักษณ์ต่างๆ ของสงขลาคละเคล้ากับเสื้อผ้าลินินที่ช่างท้องถิ่นเย็บ รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาฝีมือศิลปินดังแห่งสงขลาที่เดี๋ยวจะพาไปชมสตูดิโอโรงงานกันต่อไป

The Apothecary of Singora The Apothecary of Singora The Apothecary of Singora

เราเดินเพลินแหงนคอชมบ้านยู่เลี่ยงอย่างทึ่งทุกจุด ชอบช่องลมกระเบื้องปรุลายเคลือบสี เสาลายปูนปั้นพลิ้วงาม สัญลักษณ์มงคลต่างๆ บันไดขึ้นห้องพักชั้นบนที่มีสัดส่วนแปลกดี โต๊ะ เก้าอี้ กับไม้กระถางที่เฮียหามาจัดวางที่ดูน่าสบายจนเราต้องขอนั่งเล่นวาดเขียนในบรรยากาศดี มีกลิ่นสมุนไพรไทยหอมโชยมา ลานโปร่งเห็นท้องฟ้านี้พลังหมุนเวียนดีมาก และเมื่อเปิดอ่านโบรชัวร์มิวเซียมที่เฮียทำไว้อย่างดีก็เจอกลอนของช่างที่บอกมู้ดแอนด์โทนในใจผู้มาเยือนอย่างเราได้เป๊ะจนน่าตกใจ

ธรรมชาติยังเห็นเป็นธรรมชาติ
กาลเวลามิอาจพรากไปจากฝัน
ทุกเครื่องเรือนย้ำปลูกความผูกพัน
ที่ครอบครัวรักมั่นฟั่นเยื่อใย
เป็นแถวย่านบ้านเก่าเร้าสำนึก
พาทุกความรู้สึกระลึกใฝ่
ความทรงจำย้ำตรึงซาบซึ้งใจ
เขียนตำนานบทใหม่กาลเวลา
แทนทุกทุกนิยามของความรัก
เสลาสลักความจริงสิ่งล้ำค่า
มนต์ขลังยังอวลคู่บ้านยา
เต็มแววตาผู้มาเยือนมิเลือนเลย

The Apothecary of Singora

ยาดม

Singora’s Artist Studios เยือนสตูดิโอศิลปินท้องถิ่น : อาจารย์เสนีย์ เกื้อหนุน
และอาจารย์ผดุงเกียรติ รัตนศรี

เสนีย์ เกื้อหนุน

พื้นที่ปฏิบัติ / สร้างงานศิลปะ สตูดิโอทำงานของศิลปินในสงขลามีอยู่มากมาย หากคุณไปทางเกาะยอก็จะเจอช่างทอผ้า ถ้าไปสทิงพระ สทิงหม้อ ก็เจอแหล่งปั้นดินเผาโบราณ แต่สงขลาเที่ยวล่า เฮียเอ๋พาเราไปเยือนสตูดิโอร่วมสมัยของสองอาจารย์ผู้ชำนาญการวาดและการปั้น

ท่านแรกคืออาจารย์เสนีย์ เกื้อหนุน วันหนึ่งเราเดินเล่นลัดเลาะย่านเมืองเก่าไปถึงถนนปัตตานี ผ่านหน้าบ้านหลังหนึ่งแล้วต้องหยุดกึกมองภาพวาด Portrait ที่เรียงรายอยู่เต็ม สไตล์ภาพเขียนมีเสน่ห์มาก เห็นแล้วนึกถึงภาพโปสการ์ดวินเทจ หรือแผ่นใบปิดโฆษณาหนังสวยเนี้ยบ อาจารย์เสนีย์ เกื้อหนุน ศิลปินชาวสงขลาโดยกำเนิด ผู้โด่งดังด้านวาดภาพพอร์เทรต มีลูกค้าต่อเนื่องยาวนานทั่วสงขลา หาดใหญ่ และจังหวัดใกล้เคียง ที่นิยมส่งภาพถ่ายบุคคลที่รักมาให้อาจารย์วาด ภาพวาดบุคคลของอาจารย์เสนีย์มีแววตาราวกับมีชีวิต ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายฟิล์มกระจกนำมาแต่งแต้มเติมสีแบบโบราณ

ภาพวาดบุคคล

อาจารย์เล่าว่าชอบวาดรูปตั้งแต่เป็นเด็กประถมชอบใช้สีถ่าน ต่อมาหมั่นฝึกมือวาดภาพจากการสังเกตแสตมป์ดวงเล็กๆ ลวดลายละเอียดวิลิศ อาจารย์บอกว่ายิ่งละเอียดเท่าไรยิ่งท้าทาย พอจบมัธยม 6 ที่สงขลาก็เข้ามาเรียนต่อเพาะช่าง หลังจากเรียนจบใหม่ๆ อาจารย์ได้ทำงานเขียนใบปิดภาพยนตร์ รวมๆ แล้วนับร้อยเรื่อง “ทำอยู่หลายปี เดือนหนึ่งผมเขียน 3 เรื่อง หนังแขก หนังจีน ไทย ญี่ปุ่นได้หมด” ต่อมาอาจารย์กลับบ้านที่สงขลาเพื่อดูแลครอบครัว และจึงเปิดชั้นล่างที่บ้านเป็นสตูดิโอรับงานวาดภาพ

การมาเยี่ยมชมสตูดิโอทำงานของอาจารย์เสนีย์ นอกจากได้ชมพอร์ตเทรตแสนงามแล้ว ยังทำให้ได้รู้จักเรื่องราวต่างๆ ในสงขลาผ่านบุคคลในภาพที่อาจารย์วาด กวีสาวอิสลามมากฝีมือ คนเก่าคนแก่ที่ทำร้านรวงต่างๆ อย่างคุณตาเจ้าของร้านกาแฟในสถานีรถไฟเก่าของสงขลาที่ปิดทำการไปแล้ว ภาพวาดของอาจารย์บอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นไว้มากมายทีเดียว

เสนีย์ เกื้อหนุน

เราเดินซุกซนชมทั้งอุปกรณ์วาดภาพต่างๆ ของอาจารย์ และมองส่องลึกเข้าไปถึงช่วงใต้บันไดทางขึ้นบ้าน พบภาพทิวทัศน์งามราวกับภาพวาดอิตาเลียนยุค 1930 อาจารย์เสนีย์หัวเราะและเล่าว่าจริงๆ ชอบวาดภาพทิวทัศน์ รูปที่เราชอบและชี้ชมเป็นวิวทางไปสทิงพระ อาจารย์นั่งเขียนอยู่ขอบถนนนานหลายชั่วโมง รถผ่านไปมาก็จอดดู เฮียเอ๋ที่ยืนยิ้มอยู่แอบเผยว่าคิดโปรเจกต์ชวนอาจารย์เสนีย์มาสร้างงานสนุกแหวกแต่งต่างจากงานวาดภาพบุคคลที่เป็น Signature ของอาจารย์อยู่เช่นกัน เราชอบฝีแปรงและการใช้สีสันของอาจารย์มาก ตั้งใจว่ามาสงขลาเที่ยวหน้าจะนำภาพถ่ายต้นแบบไปต่อคิวให้อาจารย์วาดแน่ นึกถึงภาพถ่ายทิวทัศน์เมืองซอเรนโต้สุดตรึงใจที่เพิ่งไปเที่ยวมา ภาพครอบครัวก็น่าจะออกมาเปรี้ยวย้อนอดีตดีไม่เบา

 

Pun Eatery and Pottery

สตูดิโออีกแห่งที่เป็น Hidden Gem ของสงขลาคือโรงเซรามิกของอาจารย์ผดุงเกียรติ รัตนศรี ที่ปัจจุบันลูกชายของอาจารย์ชื่อคุณปั้น-เชฟหล่อเท่เปิดร้านอาหารอยู่ด้านหน้าโรงปั้นของคุณพ่อ และใช้ชื่อว่า Pun Eatery and Pottery แน่นอนว่าจานชามภาชนะทุกอย่างล้วนมาจากโรงเซรามิกของคุณพ่อ ซึ่งเป็นการ Collaborate ที่เราว่าเจ๋ง แม้ลูกชายไม่ได้สืบทอดงานฝีมือโดยตรง แต่สิ่งที่เขารักและสนใจก็มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับงานของผู้เป็นพ่ออย่างเหมาะเจาะพอดี เพราะอาหารและภาชนะนั้นคือของคู่กัน

Pun Eatery and Pottery Pun Eatery and Pottery

อาจารย์ผดุงเกียรติเป็นศิลปินนักปั้นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอควนลัง-ที่ตั้งโรงเซรามิกมานานหลายสิบปี อาจารย์สร้างงานเครื่องปั้นดินเผาส่งออกทั่วโลกมาโดยตลอด มีลูกค้าทั้งรีสอร์ต โรงแรม ร้านอาหาร ท่านเล่าว่าสมัยก่อนมีพนักงานแยะกว่านี้ ปัจจุบันลดอัตราการผลิตและทำกันเองภายในครอบครัวไม่กี่คน แต่เตาเผาหลากขนาดที่กรำงานยังตระหง่านตั้งอยู่ครบ งานดินเผาของอาจารย์มีทั้งแบบดินเผาแดงด้าน เผาเคลือบ ประติมากรรมของตกแต่ง จานชามภาชนะเครื่องใช้ถ้วยกาแฟหลากสีสัน ลวดลาย และผิวสัมผัส อำเภอควนลังอยู่ใกล้สนามบินหาดใหญ่ ก่อนขึ้นเครื่องกลับบ้านจัดเวลาแวะรับประทานอาหารเชฟปั้นและเยี่ยมชมโรงเซรามิกของอาจารย์ผดุงเกียรติกันได้

 

Singora Walking เดินเล่นชมเมืองซิงกอร่า

ร้านค้า

การเดินวนเวียนทั่วตัวเมืองเก่าสงขลานั้นสนุกที่สุด อาคารต่างๆ จากหลากยุคสมัยงามน่าดู วิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นที่ประกอบกิจการน่าสนใจมีเอกลักษณ์ตามความชำนาญสืบทอดกันมาก็น่าทำความรู้จัก วันอาทิตย์ยังมีทีเด็ดตั้งแต่เช้าคือตลาดนัดของเก่าที่เฮียเอ๋พาเราเดินเล่นแต่ตรู่ จากที่พัก A.E.Y. space ถนนนางงาม เดินลัดเลาะเข้าตรอกซอกซอยผ่านสายส่งหนังสือเก่า ร้านรับซื้อของเก่าของเฮียมาดเก๋าเท่เจ้าของหมาน้อยชิวาว่าชื่อน้องกระจงตัวจิ๋วน่ารักจนเราขอเฮียถ่ายรูปมา จากตรอกบ้านน้องกระจงทะลุสู่ตลาดนัดถนนรามวิถี เป็นเวิ้งก่อนถึงสะพานลอยคนข้ามที่มีร้านเครื่องเขียนวินเทจชื่อนิรมล ติดกับโรงน้ำแข็งเก่า มีพ่อค้าแม่ขายมาปูผ้าขายเครื่องใช้ของตกแต่งโบราณ ทั้งเครื่องกระเบื้อง โคมไฟ แผ่นเสียง

สงขลา สงขลา

เดินตลาดของเก่ากันเรียบร้อย ก็ต่อด้วยตลาดสด (ตลาดทรัพย์สินฯ) ช้อปฯ ของอร่อยกลับบ้านอย่างไข่ครอบ ปลาหวาน ผักพื้นบ้าน ขนมไทยน้ำกะทิตลาดนี้ก็เลิศ ยังมีของกินพื้นถิ่นที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนอย่างแป้งแดง อยู่ในถุงสีชมพูสดคล้ายเต้าหู้ยี้ ที่เราต้องหยิบขึ้นมาพิศดูว่ามันคืออะไร จนเฮียเอ๋เห็นเข้าและมาเฉลยให้ “โอ้โห นี่เป็นอาหารที่มีเฉพาะสงขลาเลยนะครับ เป็นการถนอมอาหารแบบท้องถิ่น ในถุงมีเนื้อปลาหมักเกลือ คลุกแป้งข้าวหมากและมีส่วนผสมอื่นๆ อีกครับ รสชาติเปรี้ยวๆ ต้องเอาไปนึ่งก่อนแบบไข่ตุ๋น โรยพริกโรยผักหอมๆ” ฟังการบรรยายแป้งแดงทรงเครื่องแล้วกลืนน้ำลายเอื๊อกเลย

ตลาด

จ่ายตลาดครบทุกแนวแล้วเราก็หอบของไปเก็บที่ที่พักให้โล่งกายาค่อยมาเดินเล่นกันต่อ มาสงขลาคราวนี้เรานำงานออกแบบที่กำลังทำให้นอริตาเกะ (Noritake) แบรนด์เครื่องกระเบื้องเก่าแก่ของญี่ปุ่นมาทำด้วย และมีโจทย์ในใจอยากหาศิลปะบางอย่างชม บรรยายให้เฮียเอ๋ฟังว่าต้องการอยากดูอะไรยังไง เฮียนึกพักใหญ่แล้วพาไปวัดเก่าแก่งามตรึงใจที่เติมเต็มภาพร่างในหัวเราได้ตรงประเด็น จนทำให้ความคิดทำงานออกแบบคลี่คลายและงานดีไซน์สำเร็จส่งญี่ปุ่นเรียบร้อย

วัดกลางหรือวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร วัดเก่าแก่ของเมืองอายุ 400 ปี ที่เราว่าเป็นวัดงามสงบ ชื่นชมทางวัดมากที่ดูแลอย่างสง่าน่าทึ่ง สมศักดิ์พระอารามหลวงชั้นตรี อาณาบริเวณในวัดร่มเย็นด้วยไม้ใหญ่ หอไตร ศาลาการเปรียญ ศาลาฤาษีที่มีภาพเขียนฤาษีดัดตนท่วงท่าต่างๆ อาคารประวัติศาสตร์เหล่านี้เรียงตัวกันอยู่อย่างวันก่อนเก่า ได้รับการดูแลอย่างดี ไม่มีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ แปลกปลอมขึ้นมารกรุงรังสายตา เดินแล้วชื่นใจ สัมผัสได้ถึงความดั้งเดิมงามเนียน

วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร

วัดกลางเป็นวัดแห่งแรกๆ ในตัวเมืองเก่าสงขลา ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ศิลปะประยุกต์ไทยจีน ที่ชื่อว่าวัดกลางเพราะต่อมามีวัดต่างๆ มาสร้างรายรอบจนพิกัดวัดกลายเป็นอยู่ตรงกลาง ต่อมาในรัชกาลที่ 3 – 4 ทรงบูรณะวัดกลางสร้างพระอุโบสถย่อส่วนปรับปรุงจากแบบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่เราว่าเด็ดจนขนลุกคือจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถสวยสมบูรณ์เหลือเกิน แหงนคอชมกันแบบไม่เหน็ดไม่เหนื่อยไม่เมื่อย ภาพเขียนสีฝุ่นบนผนังปูนสีโทนน้ำเงิน แดงชาด น้ำตาล คุณน้าเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส เป็นคนพาเราชม คุณน้าบอกว่าเราโชคดีมาก เพราะอุโบสถไม่ได้เปิดไว้ให้เข้าตลอดเวลา กุญแจอยู่ที่ท่านเจ้าอาวาส แม้วันนี้ท่านไม่อยู่ แต่ก็แขวนกุญแจพระอุโบสถไว้ คุณน้าจึงไขประตูให้เราเข้าชมได้

ภาพเขียนสีฝุ่นฝีมือช่างหลวงจากกรมช่างสิบหมู่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ทางกรุงเทพฯ ส่งมาทำงานร่วมกับช่างฝีมือเมืองซิงกอร่านี้เลอเลิศจริงๆ คุณน้าเจ้าหน้าที่มิวเซียมเล่าว่าช่างสมัยนั้นใช้เตยทะเลเขียนแทนพู่กัน เรื่องราวภาพวาดแสดงทั้งพุทธประวัติ ทศชาดก เทพชุมนุม และยังมีภาพการใช้ชีวิตของชาวท้องถิ่นสงขลาในยุคที่การค้าขายทางเรือเฟื่องฟู

วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร วัดกลาง

ซุ้มประตูด้านนอกวัดศิลปะจีนปนยุโรปก็อลังการมาก เรียกว่าทุกสิ่งอย่างในวัดกลางดึงดูดให้เราพิศชมนานๆ พิพิธภัณฑ์ที่คุณน้าใจดีดูแลก็เต็มไปด้วยโบราณวัตถุ / ศิลปวัตถุเก่าแก่ที่มีผู้นำมาถวายวัดตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จากเขตอำเภอสทิงพระและอำเภอใกล้เคียง มีทั้งปฏิทินโบราณเป็นกล่องไม้เจาะช่อง มีแป้นผ้าอยู่ภายใน เขียนตัวหนังสือบอกวัน เดือน ปี แบบจันทรคติและสุริยคติ รวมถึงกาน้ำชาลายน้ำทองที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานแก่วัดมัชฌิมาวาส ฯลฯ เป็นวัดที่ถ้ามาสงขลาไม่น่าพลาด

ทิ้งท้ายด้วยอาหารอร่อยในร้านที่เฮียเอ๋เป็นลูกค้าประจำ นอกเหนือจากร้านอาหารเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองจนเป็นตำนานที่แนะนำไปในตอนแรกแล้ว เมืองเก่าสงขลายังมีร้านอาหารรสชาติโฮมคุ้กกิ้งอย่างร้านเย็นตาโฟน้ำใสของคุณป้าน่ารักปากซอยร้านขนมหวานจงดี และร้านนี้ที่เราเลตลันช์กัน ชื่อร้าน สุกียากี้ ถนนรามัญ บรรยากาศสบายๆ บริการอาหารจานเดียวอร่อยมากทุกอย่าง บางจานเราว่ามีกลิ่นอายร้านกุ๊กช็อป สลัดเนื้อสัน ข้าวกุ้งทอด มะระผัดไข่ ไข่ยัดไส้ มักกะโรนีผัด อร่อยแบบอาหารอุ่นใจที่แม่ทำ

สเต็ก ร้านสุกียากี้

เรานั่งละเลียดคอมฟอร์ตฟู้ดอร่อยละไมคุยกันถึงความสนุกสนานที่เดินเล่นกันมาแต่ตรู่ บอกเฮียว่าวัดกลางคือไฮไลต์ของทริปนี้ งามตะลึงขั้นสุด เรายังชอบโมเมนต์ที่ตลาดของเก่าตอนช้อปฯ แผ่นเสียง Gloria Estefan และ ABBA (แผ่นละ 200 บาท) แล้วเฮียขายแผ่นเสียงเปิดลองให้ฟังทุกแผ่น ช่วงเวลาที่เพลง Dancing Queen ดังกระหึ่มขึ้นมาทั่วตลาด มันช่างสร้างความรู้สึกเริงร่า เหนือจริง แบบที่นึกถึงทีไรแล้วรอยยิ้มท่วมใจอย่างไร้เหตุผล

แผ่นเสียง

The Apothecary of Singora (ดิ อาโปเธคารี ออฟ ซิงกอร่า) บ้านอนุรักษ์ยู่เลี่ยง 153 ถนนนครใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา โทร 0868321771 Facebook | The Apothecary of Singora

อาจารย์เสนีย์ เกื้อหนุน 15 ถนนปัตตานี อำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา โทร 0899764432

อาจารย์ผดุงเกียรติ รัตนศรี 71 ซอยสาสุธรรม ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทร 0828279154 Facebook | Pun Eatery and Pottery

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา โทร 074311728 เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ 09.00 – 16.00 น. หยุดวันจันทร์ อังคาร และวันนักขัตฤกษ์

ร้านสุกียากี้ 79 ถนนรามัญ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา โทร 074311114, 084 691 5281

Writer & Photographer

Avatar

พลอย จริยะเวช

เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์และ Concept Designer มากความสามารถชื่อดัง ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน Artist Writer นักแปล คอลัมนิสต์ และนักวาดมืออาชีพ ผู้มีผลงานออกแบบวางจำหน่ายในงานแฟร์ของตกแต่งที่ดีที่สุดในโลก