จริงๆ ชื่อสำนักพิมพ์คือศรีสารา ตามชื่อบริษัท แต่คนมักจะเรียก ‘สำนักพิมพ์พลอยแกมเพชร’ ตามชื่อนิตยสารมากกว่า (ฉบับแรกวางแผงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535) เพราะพ็อกเก็ตบุ๊ค หรือที่ชาวพลอยแกมเพชรเรียกกันเองว่า หนังสือเล่มเล็ก 99.99 เปอร์เซ็นต์ คือเรื่องที่เคยลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร เมื่อจบเรื่อง หรือมีจำนวนตอนมากพอก็จะถูกนำมารวมเป็นหนังสือเล่ม โดยมักใช้ชื่อหนังสือตามชื่อเรื่อง หรือคอลัมน์ที่ลงในนิตยสาร 

นี่น่าจะเป็นสำนักพิมพ์และนิตยสารเดียวที่นำเรื่องที่เคยตีเผยแพร่แล้วมารวมเล่มอย่างต่อเนื่อง ตลอด 25 ปีที่มอบความสุขให้กับนักอ่าน แฟนนิตยสารส่วนใหญ่เปรียบพลอยแกมเพชรว่าเป็นเหมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ ที่อยากอ่านเรื่องแนวไหนก็มีให้อ่าน และพาทุกคนท่องโลกไปกับตัวหนังสืออย่างสนุกสนาน

จุดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของหนังสือเล่มเล็กของพลอยแกมเพชร คือทุกเรื่องทุกเล่มมีภาพประกอบเหมือนในนิตยสาร เป็นจำลองคอลัมน์ทั้งหมดมารวมไว้ในเล่มเดียว แถมภาพประกอบถ้าเป็นภาพวาด ก็เป็นฝีมือระดับศิลปินแห่งชาติอย่าง อาจารย์จักรพันธ์ุ โปษยกฤต ศิลปินที่มีชื่อเสียง หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ, สุรเดช แก้วท่าไม้, ปารเมศ ญารณรพ, สมนึก คลังนอก, ภัทรีดา ประสานทอง, นวลตอง ประสานทอง เป็นต้น

นิตยสารพลอยแกมเพชรทุกฉบับมีคอลัมน์ที่หลากหลาย โดยมีนักเขียนชื่อดังหลายท่านเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักอ่านให้ติดตาม เริ่มตั้งแต่ กฤษณา อโศกสิน ศศิวิมล (นามปากกา อาจารย์จักรพันธ์ุ โปษยกฤต) ว.วินิจฉัยกุล, แก้วเก้า, หมอไพศาล-หมอดูชื่อดัง มนันยา วราวุธ นักแปลมือหนึ่ง อีกทั้งยังให้พื้นที่คอลัมน์ประจำกับนักเขียนหน้าใหม่ได้แจ้งเกิดในวงการหนังสือ หลายท่านประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียน

วันนี้มีหนังสือเล่มเล็กของพลอยแกมเพชรเพียงเสี้ยวหนึ่งของหนังสือ 250 กว่าเล่มมาแนะนำ ทั้งแบบเดี่ยวๆ และเป็นชุด

รวมพ็อกเก็ตบุ๊กขึ้นหิ้งที่ผู้อ่านหลงรักใน ‘พลอยแกมเพชร’ จนฉบับรวมเล่มกลายเป็นตำนาน
01

ชีวิตในวัง

ผู้เขียน : หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2537

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 2

รวมพ็อกเก็ตบุ๊กขึ้นหิ้งที่ผู้อ่านหลงรักใน ‘พลอยแกมเพชร’ จนฉบับรวมเล่มกลายเป็นตำนาน

‘ชีวิตในวัง’ ของ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ นักเขียนผู้เริ่มต้นการเขียนหนังสือเมื่ออายุ 72 ปี แต่สำบัดสำนวนลีลาการเขียนและเรื่องที่เล่านั้น ทำให้ท่านกลายเป็นขวัญใจคนอ่านแทบจะทันทีที่ลงเรื่องเพียงไม่กี่ตอน

ชีวิตในวัง เป็นชื่อคอลัมน์และชื่อหนังสือรวมเล่มที่พิมพ์มากที่สุดของสำนักพิมพ์ คือ 14 ครั้ง เป็นหนังสือชุด 2 เล่ม แต่ครั้งสุดท้ายได้พิมพ์รวมเป็นเล่มใหญ่เล่มเดียว

และเมื่อจบ ชีวิตในวัง หม่อมหลวงเนื่องก็ขอเริ่มคอลัมน์ใหม่ ‘ชีวิตนอกวัง’ ต่อทันที และลงต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ท่านไม่สามารถเขียนหนังสือได้อีก ชีวิตนอกวัง รวมเล่มได้ 17 เล่ม เป็นหนังสือที่แฟนๆ ต้องติดตามเก็บให้ครบ ใครมีครบ เหมือนมีหม่อมหลวงเนื่องอยู่ด้วย หยิบมาอ่านเมื่อไหร่ก็เหมือนได้ฟังคุณยายเล่าเรื่องสนุกๆ ทุกครั้งไป

02

สำรับ

ผู้เขียน : หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล 

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2554

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 226

รวมพ็อกเก็ตบุ๊กขึ้นหิ้งที่ผู้อ่านหลงรักใน ‘พลอยแกมเพชร’ จนฉบับรวมเล่มกลายเป็นตำนาน

‘สำรับ’ โดย หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล ที่เคยแต่จับอาหารและเครื่องครัว ไม่เคยคิดเขียนหนังสือ ก็เริ่มต้นที่นี่กับคอลัมน์ ‘สำรับ’ รวมเล่มสำรับออกมาได้ถึง 5 เล่ม ปัจจุบันเป็นที่ต้องการในหมู่คนทำอาหารมาก เพราะมีสูตรอาหารที่ละเอียดและเรื่องเล่าเบื้องหลังแต่ละสูตร ที่อ่านเพลิน ตัวหนังสือตอนนี้ในตลาดหนังสือมือสอง ราคา สำรับ เล่มแรกแรกสูงถึงเกือบ 5,000 บาทแล้ว

03 

ลายน้ำทอง

ผู้เขียน : วุฒิเฉลิม

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2543

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 55

รวมพ็อกเก็ตบุ๊กขึ้นหิ้งที่ผู้อ่านหลงรักใน ‘พลอยแกมเพชร’ จนฉบับรวมเล่มกลายเป็นตำนาน

‘ลายน้ำทอง’ โดย วุฒิเฉลิม หนังสือได้รับรางวัลจากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำ พ.ศ. 2544 ลายน้ำทอง เขียนในรูปนวนิยายจากความทรงจำของท่านหญิงปีนัง หรือ หม่อมเจ้าหญิงวุฒิเฉลิม วุฒิชัย พระธิดาใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร กับ หม่อมประพันธ์ วุฒิชัย ณ อยุธยา เป็นเรื่องของชีวิตตอนปลายของพ่อ และเหตุการณ์ที่ประทับใจของลูก ตั้งแต่จำความได้จนวันที่พ่อสิ้นไป

ผู้อ่านได้รับรู้ความเป็นอยู่ในสมัยก่อน พ.ศ. 2475 ของท่านหญิงและครอบครัว พร้อมเกร็ดความรู้แบบไทยๆ อีกมากมาย ด้วยภาษาที่สละสลวย มองเห็นภาพตามคำบอกเล่าของผู้เขียน

ภาพปกและภาพประกอบส่วนหนึ่งเป็นผลงานของ อาจารย์จักรพันธ์ุ โปษยกฤต ลายน้ำทอง จึงเป็นการรวมความงามทั้งวรรณศิลป์และจิตรกรรม เล่มนี้พิมพ์ใหม่หลายครั้ง ราคาขายในตลาดมือสองเพิ่มขึ้นเท่าตัว

04

กายนาง

ผู้เขียน : กฤษณา อโศกสิน

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2558

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 248

มาลัยสามชาย

ผู้เขียน : ว.วินิจฉัยกุล

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2550

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 175

กำไลมาศ

ผู้เขียน : พงศกร

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2557

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 247

รวมพ็อกเก็ตบุ๊กขึ้นหิ้งที่ผู้อ่านหลงรักใน ‘พลอยแกมเพชร’ จนฉบับรวมเล่มกลายเป็นตำนาน

‘นวนิยาย’ คอลัมน์ที่สมาชิกผู้อ่านเฝ้าติดตามมากที่สุด ทุกฉบับจะมีนวนิยาย 2 เรื่อง ของนักเขียนดัง 2 คน แต่ที่ลงต่อเนื่องประจำ คือผลงานของ กฤษณา อโศกสิน, แก้วเก้า, ว.วินิจฉัยกุล และ พงศกร แต่ละเรื่องลงติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปีจึงจะรวมเล่มได้ 

นวนิยายทุกเรื่องที่รวมเล่มพิมพ์มากกว่า 1 ครั้ง และถูกติดต่อขอนำไปสร้างเป็นละครตั้งแต่ผู้เขียนยังเขียนไม่จบ จำได้ว่าเรื่องแรกคือ เรือนมยุรา แล้วยังมี ดอกแก้วการะบุหนิง มาลัยสามชาย กำไลมาศ นักอ่านส่วนใหญ่ชอบนวนิยายรวมเล่มของพลอยแกมเพชร เพราะมีรูปประกอบสวยให้พักสายตาด้วย

05

ดาวประดับฟ้า

ผู้เขียน : วราวุธ

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2542 

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 39

เสียงจากใจเศร้า

ผู้เขียน : วราวุธ

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2542 

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 44

มากชายหลายรัก

ผู้เขียน : วราวุธ

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2541

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 35

แสบแสบ–คันคัน–มันหยด

ผู้เขียน : วราวุธ

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2542

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 43

ชีวิตในวัง สำรับ และสารพันนิยายกับเรื่องเล่าชวนติดตามในพลอยแกมเพชรที่ฉบับรวมเล่มยังผูกใจผู้อ่านถึงทุกวันนี้

เรื่องแปลชุดนักร้องนักแสดง ของ วราวุธ เป็นชุดหนังสือเล่มเล็กจริงๆ เพราะเรื่องไม่ยาวมาก รวมออกมาเป็นเล่มบางๆ เช่น

ดาวประดับฟ้า ประวัติ ออเดรย์ เฮปเบิร์น พิมพ์ 2 ครั้ง 2 ปก

เสียงจากใจเศร้า ประวัติของนักร้องคนดัง บิลลี่ ฮอลิเดย์

มากชายหลายรัก ชีวิตของซาซ่า การ์บอ

ลิเบราชี่ แสบแสบ คันคัน มันหยด ชีวิตแสบซ่าของนักเปียโน

06

ฟอว์ซีย่า วีนัสแห่งลุ่มน้ำไนล์

ผู้เขียน : วราวุธ

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2552

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 203

สามจักรพรรดิแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย

ผู้เขียน : Stephen S. Large

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2544

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 140

มหารานี 

ผู้เขียน : Lucy Moore
ผู้แปล : วราวุธ

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2551

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 182

ชีวิตในวัง สำรับ และสารพันนิยายกับเรื่องเล่าชวนติดตามในพลอยแกมเพชรที่ฉบับรวมเล่มยังผูกใจผู้อ่านถึงทุกวันนี้

เรื่องประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับราชวงศ์ต่างประเทศ ก็เป็นคอลัมน์ยอดนิยมเช่นกัน

ฟอว์ซีย่า วีนัสแห่งลุ่มน้ำไนล์ ความสัมพันธ์ของราชวงค์อิหร่านและอียิปต์

สามจักรพรรดิแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย ประวัติศาศตร์ในการสร้างชาติของราชวงศ์ญี่ปุ่น

มหารานี บทบาท ความสำคัญ และอำนาจของสตรีอินเดีย

07

รูปเก่าเล่าเรื่อง

ผู้เขียน : พิษณุ จันทร์วิทัน

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2545

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 56

ชีวิตในวัง สำรับ และสารพันนิยายกับเรื่องเล่าชวนติดตามในพลอยแกมเพชรที่ฉบับรวมเล่มยังผูกใจผู้อ่านถึงทุกวันนี้

‘รูปเก่าเล่าเรื่อง’ รวมเล่มประวัติศาสตร์ไทยที่ขายดีที่สุด คือมีรวมออกมา 2 เล่ม ผลงานของ พิษณุ จันทร์วิทัน นักการทูตที่นำรูปเก่าที่เก็บสะสมมาค้นคว้าแล้วเล่าเรื่องให้เราฟัง

08

เจ้าเด็ดของยายมา 

ผู้เขียน : ยายมา

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2545

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 87

ชีวิตในวัง สำรับ และสารพันนิยายกับเรื่องเล่าชวนติดตามในพลอยแกมเพชรที่ฉบับรวมเล่มยังผูกใจผู้อ่านถึงทุกวันนี้

  เรื่องอาหารการกิน เป็นเนื้อหาอีกหนึ่งส่วนที่มีในนิตยสารตลอดในหลากหลายคอลัมน์ แต่คอลัมน์ที่ลงตั้งแต่นิตยสารเล่มแรกจนเล่มสุดท้ายคือ ‘ยายมา’ เป็นชื่อคอลัมน์และนามปากกา พี่ชาลี (ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล) บรรณาธิการ ที่จะพาผู้อ่านไปชิมร้านอาหารอร่อยทุก 15 วัน จนคนเฝ้ารอตามรอย และเป็นคอลัมน์แรกที่เปิดอ่านจนเรียกร้องให้รวมเล่ม เพื่อไว้เป็นคู่มือเลือกร้านอาหาร ในสมัยที่ไม่มีโซเชียลมีเดียแบบทุกวันนี้ รวมเล่มได้ 6 เล่ม อ่านอร่อยทุกเล่มด้วยสำนวนการเขียนไม่เหมือนใคร ร้านหรือเมนูไหนยายมาให้ดาวทั้งฟ้า เป็นต้องเกิด (เล่มในภาพคือ เจ้าเด็ดของยายมา 5)

09

สามมุกงามตระกูลซ่ง

ผู้เขียน : สุภาณี ปิยพสุนทรา

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2548

หนังสือเล่มเล็กลำดับที่ 136

ชีวิตในวัง สำรับ และสารพันนิยายกับเรื่องเล่าชวนติดตามในพลอยแกมเพชรที่ฉบับรวมเล่มยังผูกใจผู้อ่านถึงทุกวันนี้

เรื่องแปลจีน ทั้งนวนิยาย ประวัติบุคคลสำคัญ ประวัติศาสตร์ ที่แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีนโดยนักแปลที่มีความรู้ ทุกเรื่องรวมเล่มออกมาแล้วขายหมดอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น องค์หญิงไท่ผิง ฮองเฮาอัปลักษณ์ สามมุกงามตระกูลซ่ง

10

รวมเรียงความของ ศศิวิมล

ผู้เขียน : ศศิวิมล

พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2537

ชีวิตในวัง สำรับ และสารพันนิยายกับเรื่องเล่าชวนติดตามในพลอยแกมเพชรที่ฉบับรวมเล่มยังผูกใจผู้อ่านถึงทุกวันนี้

หนังสือชุดศศิวิมล เริ่มต้นด้วย ศศิวิมล ปฐมบรรพ หรือ ศศิวิมล เล่ม 1 ไปจนถึงเล่มที่ 14 ถ้ารวมเล่มที่แยกออกไปเป็น หุ่นจักรพันธ์ุ กับ คิดถึงครู ของศศิวิมลอีก 2 เล่ม ก็รวมทั้งหมด 16 เล่มจากคอลัมน์ที่อยู่กับนิตยสารมาตั้งแต่ฉบับแรก (เล่มในภาพคือ รวมเรียงความของ ศศิวิมล ฉัฐมบรรพ ลำดับหก)

เสน่ห์ของศศิวิมลคือการใช้ภาษา สำนวน วิธีการเล่าเรื่อง ที่แม้จะหยิบเรื่องเล็กๆ รอบตัว เรื่องผู้คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้าน นอกบ้าน มาเล่าได้อย่างสนุกสนานชวนอ่านแล้ว ภาพประกอบฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้แฟนๆ อยากเก็บหนังสือของศศิวิมลไว้ บางคนยอมซื้อ 2 เล่ม เพื่อตัดภาพที่พิมพ์ 4 สีด้วยกระดาษอาร์ตอย่างดี เพื่อไปใส่แฟ้มเก็บเป็นงานศิลปะ 

น่าจะพูดได้ว่า หนังสือเล่มเล็กของพลอยแกมเพชรทำขึ้นเพื่อคืนกำไรให้นักเขียน และเติมความสุขให้กับนักอ่านอย่างแท้จริง

Writer

Avatar

อรุณี ชูบุญราษฎร์

อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารพลอยแกมเพชร มีประสบการณ์การทำงานนิตยสารมา 30 ปีปัจจุบันยังทำงานเขียน เป็นฟรีแลนซ์ เขียนคอนเทนต์ บทสัมภาษณ์ และเรื่องท่องเที่ยวให้กับเว็บไซต์และนิตยสาร และมีเพจท่องเที่ยวของตัวเองชื่อ ‘บันทึกของสองตา’ นำเสนอเรื่องการท่องเที่ยว กิจกรรมที่น่าสนใจ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ