19 พฤศจิกายน 2018
19 K

เรามีนัดกับ พลอย จริยะเวช ที่สตูดิโอทำงานของเธอย่านชิดลม

คิดเองคนเดียวว่าคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับผู้เขียนต้องร้องกรี๊ดด้วยความอิจฉาเป็นแน่

สำหรับผู้อ่านที่อายุน้อยกว่านั้น ในฐานะของแฟนคลับวิทยาเขต The Cloud เราขอเล่าเกริ่นนำเพียงสั้นๆ ก่อนพาคุณไปพูดยาวๆ กับพี่พลอยในลำดับถัดไป

‘อะไรทำให้ พลอย จริยะเวช พนักงานในบริษัทหลักทรัพย์เงินเดือนหรู เลือกเส้นทางเดินชีวิตเป็นนักเขียน อาชีพที่คนในสังคมมองว่าไส้แห้ง’

ขอสปอยล์ได้ไหม ถ้าคุณรู้ความจริงว่าหนังสือแปลของเธอทำเงินให้เธอเป็นล้านๆ คุณอาจจะอยากมองงานนี้ใหม่ แต่บอกไว้ก่อนเลยว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ (โปรดอ่านอย่างใส่อารมณ์, ผู้เขียน)

ในยุคทองของนิตยสาร แทบทุกเล่มบนแผงหนังสือจะต้องมีชื่อของพลอย จริยะเวช ในฐานะนักเขียน นักแปล คอลัมนิสต์ นั่นทำให้เธอมีงานเขียนหลายสิบชิ้นต่อเดือน

แค่คิดก็ขนลุกแล้วค่ะ

พลอย จริยะเวช

ตลอดการสนทนา พี่พลอยเรียกตัวเองว่าเป็น Blogger รุ่นทวดอยู่เสมอ เราทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เห็นด้วย เพราะสายตาวิบวับที่มาก่อนกาลของเธอสร้างพลังและแรงบันดาลใจให้แฟนหนังสืออยู่เสมอตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ไม่เห็นด้วย เพราะทวดอะไรไม่แก่เลย ไม่เพียงออกหนังสืออย่างสม่ำเสมอ สองสามปีหลังมานี้เราตื่นเต้นกับบทบาทพี่พลอยจนเก็บอาการไม่อยู่ จากนักเขียน คอลัมนิสต์นักเดินทาง มาเป็นนักวาดภาพประกอบ ศิลปิน นักออกแบบ นักคิด และนักคัดสรรอะไรต่อมิอะไรมากมาย หยิบจับขยับวางอะไรก็ลงตัวไปหมด

เหตุผลที่ทำให้พี่พลอยสนุกคิดสนุกทำกับทุกสิ่ง ยังไม่น่าตื่นเต้นเท่าทุกสิ่งที่เธอทำเกิดจากตัวตนแก่นแท้ของเธอที่เชื่อและทำสิ่งนั้นๆ มายาวนานแล้ว

ไม่ใช่เพิ่งเกิด และไม่ใช่เรื่องโชคดี เธอว่าอย่างนั้น

นอกจากเรื่องราวจากข่าวสารในวงการหนังสือ เราก็ไม่ค่อยได้ยินเรื่องของพี่พลอย จริยะเวช จากที่ไหน นั่นทำให้การสนทนาของเราวันนี้ลากยาวจนพี่พลอยต้องพลาดคลาสโยคะ

ในพื้นที่ทำงานขนาด 50 ตารางเมตร ที่พี่พลอยดัดแปลงคอนโดเก่าเป็นห้องทำงานกึ่งโชว์รูป มีทุกอย่างที่เป็นเนื้อชีวิตของเธอ

พลอย จริยะเวช

พวกเราสนุกกับการถามถึงข้าวของกระจุกระจิกเล็กๆ น้อยๆ จากการเดินทาง ผนังห้อง หนังสือบนชั้น ภาพบนฝาผนังที่ย้ายมาจากห้องทำงานของพ่อ (ชัยอนันต์ สมุทวณิช) ซึ่งมีทั้งภาพท่านเปาบุ้นจิ้นฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่วาดให้ชัยอนันต์ เพื่อนนักเรียนที่สนิทกันมาตั้งแต่อนุบาล และงานของเหล่ากัลยาณมิตรทั้งที่เป็นศิลปินรุ่นใหญ่และมือสมัครเล่น ชิ้นงานออกแบบและวาดเส้นของจริงบนภาชนะน้อยใหญ่ ไปจนถึงภาพที่วาดค้างอยู่

เคยมีคนบอกว่าถ้าอยากรู้จักใครให้ดูจาก Playlist เขา มาวันนี้เราคงต้องบอกว่า ถ้าอยากรู้จักใครให้ไปเยี่ยมพื้นที่ทำงานของเขา

พลอย จริยะเวช
1

นักเขียน – ศิลปิน – นักออกแบบแนวคิด – นักออกแบบผลิตภัณฑ์ – กรรมการ – คอลัมนิสต์ – พนักงานเลือกสรรหนังสือ

แรกเริ่มเดิมทีเราตั้งใจค่อยเล่าเรื่องงานของพี่พลอยผ่านชีวิตแต่ละช่วง ซึ่งไม่ได้หอมหวานและมีลีลาหรูหราแบบที่หลายคนเข้าใจ แต่เพราะปีที่ผ่านมามีผลงานพี่พลอยให้เห็นผ่านตามากมายเต็มไปหมด เราจึงขอรวบรวมไว้ในช่วงต้นนี้

ทันที่เราทั้งหมดเริ่มดื่มชาแก้วแรก เราเปิดบทสนทนาด้วยคำถามที่ดูเหมือนจะเล่นๆ ไม่จริงจังอย่าง “พลอย จริยะเวช ทำงานอะไร”

เพราะเราไม่อยากให้คุณตัดสินเธอไปก่อนจากภายนอก

“พลอย จริยะเวช ทำงานหนักมากนะ” เธอตอบพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนจะเริ่มเล่างานสนุกๆ ที่ทำตลอดทั้งปีนี้ให้ฟัง แม้จะเพิ่งผ่านเรื่องราวที่เธอบอกว่าหนักหนาที่สุดในชีวิตซึ่งเราจะชวนเธอคุยในลำดับถัดไป

นอกจากผลงานหนังสือเล่มล่าสุด Italy Crafted ลีลาอิตาลี ที่ทั้งเขียนและวาดภาพประกอบ พี่พลอยยังออกแบบกระเป๋าที่ระลึกพิเศษสำหรับแฟนหนังสือด้วยตัวเองอีกด้วย จากคนที่เขียนหนังสือมาอย่างยาวนาน เป็นตัวแม่ เป็นผู้นำจิตวิญญาณของหนุ่มสาวผู้รักชอบการเลือกสรรชีวิตรื่นรมย์ เราตื่นเต้นกับบทบาทล่าสุดที่เธอได้รับการทาบทาม

Book Seller หรือคนเลือกสรรหนังสือ แห่งร้าน The Papersmith by Booksmith ทำหน้าที่เลือกหนังสือภาษาอังกฤษจากทั่วโลกมาราว 30 – 40 ปก โดยพี่พลอยจะคัด 10 เล่มที่เป็นไฮไลต์ พร้อมเขียนรีวิวด้วยลายมือลงการ์ดในแบบพนักงานร้านขายหนังสือที่เป็นนักอ่าน เพื่อบอกเล่าว่าหนังสือเล่มนี้ดีอย่างไร ทำไมเหมาะเลือกมาอ่าน มีไว้ติดบ้าน หรือเป็นของขวัญส่งมอบในช่วงเทศกาล

นี่คือผลงานของพี่พลอย จริยะเวช ตลอดปีนี้

วาดและออกแบบ Singora Swan Collection Ploy Chariyaves X Noritake เครื่องกระเบื้องชุดอาหารเช้า 8 ชิ้น ให้กับนอริตาเกะ แบรนด์เครื่องกระเบื้องเก่าแก่ที่สุดแบรนด์หนึ่งของญี่ปุ่น

ออกแบบแนวคิดและวาดฉลาก Devarana Journey Ploy Chariyaves X Devarana Spa น้ำหอมทั้ง 5 กลิ่นให้กับเทวารัณย์สปา

วาดและออกแบบ Ploy for Rama Foundation กระบอกน้ำเก็บความร้อนเย็น ของที่ระลึกมูลนิธิรามาธิบดี

ออกแบบแนวคิด ภาพรวม งานศิลปะจัดวาง “MERGE” Art Installation Ploy X KMITL Ceramic for ICON SIAM สร้างลวดลายงานประติมากรรม ‘หลอมรวม’ สำหรับโซน Icon Craft และออกแบบวาดลวดลาย กระดาษปูจานให้ร้านกับข้าวกับปลา

เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานออกแบบงานศิลป์ให้ อพท.  (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน))

เป็นคอลัมน์ประจำ มีให้ติดตาม 2 แห่งได้แก่ คอลัมน์ Curated by Ploy ใน Marketeer Online และคอลัมน์ บ้านเพื่อน ใน The Cloud

ล่าสุดกำลังมีงาน “When Writer Turned Book Seller & Gift Wrapper” Ploy X Papersmith POP UP Event Crafted by PLOY  ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ธันวาคมนี้ ที่ร้าน The Papersmith by Booksmith

“ปีนี้มีผลงาน Product Design แยะมาก และ 3 สิ่งหลักที่ได้สร้างสรรค์คือของที่เรารักหมด

กระดาษ กระเบื้อง เครื่องหอม และอยากเห็นของที่เรารักและสร้างขึ้นมาอย่างบรรจงรวมกันอยู่ในพื้นที่เดียว Papersmith เป็นร้านหนังสือประจำที่รักมาก และเป็นร้านที่มีงานกระเบื้องของเราวางจำหน่ายอยู่และไปได้ดีมาก มีลูกค้าเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ซื้องานเราจากที่นี่แยะมาก” พี่พลอยเล่าที่มาของงานสั้นๆ ก่อนจะเล่ากิมมิกในงานที่ทำให้หัวใจเราฟูตาม ทั้งการห่อหนังสือด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์และโบรชัวร์สีสวย ตกแต่งด้วยสติกเกอร์ Golden Girls ลายเส้นที่เรากรี๊ด หนังสือ Prada Mandala ปกแข็งหุ้มผ้าที่พี่พลอยออกแบบปกพิเศษมีเล่มเดียวในโลกให้คุณเลือกซื้อเป็นของขวัญ

พลอย จริยะเวช
พลอย จริยะเวช
พลอย จริยะเวช
2

พนักงานออฟฟิศ – นักเขียน – คอลัมนิสต์

จากพนักงานบริษัทหลักทรัพย์ คุณกลายมาเป็นนักเขียนได้ยังไง

เมื่อก่อนเราเป็นพนักงานออฟฟิศ เข้างาน 8 โมง อยู่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต งานของเราคือ วาณิชธนกิจ (Investment Banking) หรือที่ปรึกษาการลงทุน เราอยู่ฝ่ายงานวิจัยหาข้อมูลสนับสนุนกลุ่มบริษัทที่อยากเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ได้เรียนรู้ธุรกิจต่างๆ โดยปริยาย ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีมีการเลย์ออฟคนออก ไปจนถึงปิดบริษัท หัวหน้าเราไปทำนิตยสารธุรกิจ Corporate Thailand เขาก็ชวนเราไปเขียนบทความให้ผู้บริหารอ่านในวันหยุด เรื่องธุรกิจผู้หญิงๆ บางทีก็เป็นเรื่องไลฟ์สไตล์เบาๆ แต่ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ฟุ้งเฟ้อไร้สาระเพราะคนเหล่านี้ใช้เงินเป็น

คุณเลือกไปทางไหนหลังออกจากงาน

ตอนนั้นเราอายุไม่เยอะ ยังมีพลังล้น เราคิดง่ายๆ ว่า เราเคยมีเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งสมัยนั้นหรูแล้วนะ ทำยังไงให้เรามีรายได้เท่าเดิม ก็เริ่มทำขนมขายไม่ต่างจากคนสมัยนี้ แล้วก็รับจ้างแปลซับไตเติล ต้องไปรับม้วนเทปวิดีโอที่รัชดาฯ ดูไปก็กดหยุดแล้วแปล สมัครเป็นนักแปล นักเขียน ที่นิตยสาร Elle ด้วย

งานชิ้นที่ถือว่าแจ้งเกิดในวงการนิตยสารคือ

เราเข้าวงการเต็มตัวด้วยการเขียนคอลัมน์ ‘ผู้หญิงมองกระแส’ ของ ผู้จัดการรายวัน ใช้นามปากกา จารียา พลเวช โจทย์คือบทความไลฟ์สไตล์ที่เขียนให้คนที่สนใจเรื่องจริงจังอ่าน สมัยนั้นเวลาคนอ่านแล้วชอบ เขาจะโทรมาถามที่กองบรรณาธิการว่าใครเขียน แล้วฝากชื่นชม ผู้อ่านรุ่นแรกของเราส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เป็นคนรุ่นใหญ่มีความรู้ เขาคงจะเอ็นดูเรา ตอนที่เราเขียนเรื่องสวน เขาก็ส่งเทปวิดีโอที่บันทึกรายการต่างประเทศที่พาไปดูสวนทั่วโลก พร้อมหนังสือเกี่ยวกับสวนมาให้เรา คนมักจะคิดว่าเราเป็นผู้หญิงอายุ 50 – 60 ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอายุ 28

อะไรทำให้เขียนคอลัมน์แบบเต็มตัวครั้งแรกแล้วดังเลย

คงเป็นเพราะบริบทด้วย เราเข้าใจว่ายุคนั้นยังไม่มีเนื้อหาแบบนี้ แต่เราก็ไม่ได้ทำให้ต่างจากคอลัมน์ในยุคนั้นจนเกินไป จนหลายคนชอบบอกเราว่า เขียนหนังสือสนุกขนาดนี้ไปเขียนนิตยสารผู้หญิงได้แล้ว

แล้วทำยังไงถึงได้มาเขียนนิตยสารผู้หญิง

เราไม่รู้จักใครในวงการนี้เลย เราเลยเร่ิมจากการสมัครเป็นนักแปลของ Cosmopolitan ด้วยการส่งจดหมายชิงรางวัลกับคอลัมน์ที่ชวนให้ผู้อ่านทางบ้านส่งจดหมายมาแสดงความคิดเห็น เช่น คุณคิดอย่างไรกับเรื่องการออกเดต เราเขียนคำตอบส่งไปสั้นๆ พอได้รางวัลก็ใช้โอกาสนี้เสนอตัวขอทำงานทำงานแปล โดยมีพอร์ตฟอลิโอเป็นงานแปลซับไตเติล เราใช้วิธีแบบนี้สมัครเป็นนักเขียนกับนิตยสารทุกเล่ม เพื่อนเราก็ถามนะว่าไม่อายเหรอที่ต้องใช้วิธีส่งผลงานไปให้เขาพิจารณาแบบนี้ แทนที่จะให้คนรู้จักแนะนำให้ แต่เราอยากได้งานเพราะฝีมือเราจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรอาย

งานเขียนชิ้นที่ทำให้คนในวงการรู้จักชื่อพลอย จริยะเวช คือชิ้นไหน

คอลัมน์ Twenty First Century Women ในนิตยสาร Image บรรณาธิการอยากให้เราเขียนความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องต่างๆ ในโลก ในฐานะที่เป็นผู้หญิงในยุคนั้น เป็นโจทย์ที่ทั้งยากและเกร็ง กลับมาอ่านตอนนี้ก็รู้สึกอายๆ ว่าทำไมตอนนั้นเราพยายามจะจริงจังวิชาการจังเลย ส่วนหนึ่งเพราะชื่อคอลัมน์ค้ำคอเรา เราจะดูไม่ฉลาดไม่ได้ แต่ก็มีสำนวนเสริมให้บทความสนุกขึ้น

เรียนรู้วิธีการเขียนคอลัมน์แบบนี้มาจากไหน

เมื่อก่อนเรียนจากงานของ Suzy Menkes นักข่าวสาย content เข้มของหนังสือพิมพ์ International Herald Tribune ซึ่งตอนนี้มาคุม Vogue ยุคนั้นมีคอลัมนิสต์ผู้หญิงเพียงไม่กี่คน เราก็เรียนวิธีการเขียนด้วยตัวเองและจากการดูงานของป้าซูซี่

พลอย จริยะเวช
พลอย จริยะเวช
3

คอลัมนิสต์ – ฟรีแลนซ์ – นักแปล – หนังสือขายดี

คุณกลายมาเป็นเจ้าแม่ไลฟ์สไตล์ตอนไหน

น่าจะช่วงที่เขียน Image มาสักพัก เหมือนเราเป็นบล็อกเกอร์คนเดียวในตลาด มีคอลัมน์ชื่อ Five Passions แนะนำเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทุกเดือนต้องไปเยือนร้านอาหาร ร้านกาแฟ เปิดใหม่ ที่เที่ยวต่างจังหวัด ไม่ต่างจากสมัยนี้ และเราเคยมีคอลัมน์เท่มากทำคู่กับ จักกาย ศิริบุตร เราเชิญแขกที่ต่างกันคนละขั้วมาที่บ้าน ระหว่างชวนคุยเราก็เลี้ยงอาหาร จัดพร็อพและถ่ายภาพอาหารไปด้วย ได้ทั้งบทสนทนาคุณภาพ และเห็นไลฟ์สไตล์ที่รื่นรมย์ ต่อมาเราก็เขียนบทความไลฟ์สไตล์เรื่อยมา คนอ่านเลยติดภาพเราแบบนั้น

คุณเขียนให้นิตยสารผู้หญิงเยอะมาก ช่วงพีกสุดเขียนงานกี่ชิ้นต่อเดือน

หลายสิบชิ้นเลยนะ เป็นช่วงที่ตั้งใจสร้างชื่อ ดังนั้น เรารับงานหมด ทุกคนคงผ่านช่วงนั้นมาเหมือนกัน ซึ่งเราคิดถูกนะเพราะทำให้คนจดจำชื่อเราได้จนปัจจุบัน ความสนุกในการทำงานช่วงนั้นคือ เราไม่ได้ขึ้นตรงกับใคร เราเป็นฟรีแลนซ์คนเดียวที่มีงานในนิตยสารหัวใหญ่ทุกเล่ม เราจะแบ่งว่าทำคอลัมน์รีวิวหนังสือให้นิตยสารเล่มนี้ วันนี้เขียนเรื่องเที่ยวให้เล่มนั้น ไปเที่ยวครั้งหนึ่งเราเขียนงานส่งนิตยสาร 5 เล่มได้โดยเนื้อหาไม่ซ้ำกันเลย พอมีพื้นฐานที่แน่น เราก็เลือกรับงานได้ หรือค่อยๆ ลดปริมาณงานลง

ชื่อของคุณในช่วงนั้นยิ่งดังขึ้นไปอีกเมื่อแปลหนังสือเล่มแรก ไดอารี่ของบริดเจ็ท โจนส์ ก็ขายดีแบบถล่มทลาย

สำนักพิมพ์ติดต่อนักแปลมาหลายคนแล้ว แต่ไม่มีใครยอมแปล เพราะเนื้อหาค่อนข้างหมิ่นเหม่สำหรับสมัยนั้น ตอนนั้นมีคนด่าออกอากาศในวิทยุเลยนะ เขาบอกว่าเราทำให้วัฒนธรรมไทยเสื่อมเสีย ตอนแรกเราแปลให้ความหยาบคายเท่าต้นฉบับ แต่โชคดีที่เราเชื่อบรรณาธิการ เขาอยากให้หยาบคายน้อยที่สุด คนอ่านจะได้เอ็นดูบริดเจ็ท นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันดังขนาดพิมพ์ซ้ำ 27 ครั้ง ได้ค่าแปลเป็นล้านบาทเลย จำได้ว่าพ่อเรียกไปคุย บอกไม่ต้องแปลแล้วนะ ถ้าจะแปลต้องทำใจเพราะไม่มีทางจะดังแบบนี้อีกแน่ๆ

ทำไมต้องทำงานเยอะขนาดนั้น

อยากได้เงิน และอยากพิสูจน์ว่าเราประสบความสำเร็จ พ่อแม่เราหัวสมัยใหม่มาก แต่ก็ยังมองเราด้วยความเป็นห่วง เพราะลูกของเพื่อนหรือเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับเรา ไม่มีใครเป็นแบบเราเลย ทุกคนทำงานในองค์กร เราเห็นแววตากังวลจากพวกเขา รู้สึกว่าเราไม่เป็นที่ภูมิใจของเขา

พ่อไม่เคยบอกอะไรเราเลยนะ พ่อสนับสนุนความแปลกใหม่ แต่เราเองที่รู้สึกล้มเหลว อยากให้ตัวเองมั่นคงขึ้นให้ได้ คนอาจจะมองว่าเราทำงานอะไรเลอะๆ เทอะๆ เพราะมันยากจะอธิบายงานของเราให้คนนอกเข้าใจ จะบอกเขายังไงว่าเราได้เงินเดือนเท่ากับตอนทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์นะ แต่มาจากการขายขนม บวกค่าแปล ค่าคอลัมน์ ยุคนั้นมันยังไม่มีชื่ออาชีพนี้ เราก็คิดว่าถ้ามีคนยอมรับก็คงจะดี

ดูเหมือนจะต้องการการยอมรับเพื่อให้ครอบครัวสบายใจ

อยากให้พ่อภูมิใจ พ่อเลี้ยงเรามาดีมาก มากกว่าที่เราจะมาทำอะไรเลอะเทอะแบบนี้ ดังนั้น เวลาใครชื่นชมงานเรา ชื่นชมชีวิตและวิธีคิดของเรา เราจะบอกว่าเป็นเพราะพ่อแม่เลี้ยงมาแบบนี้

จุดไหนที่คุณรู้สึกว่าเริ่มได้รับการยอมรับ

ตอนอายุ 29 เราได้ค่าแปลจากบริดเจ็ท โจนส์ เป็นล้านเลยนะ แต่จุดที่รู้สึกว่าได้รับการยอมรับมากๆ คือช่วงที่ทำงานออกแบบคอนเซปต์

พลอย จริยะเวช
4

นักเขียน – นักคิด – นักออกแบบ

งานออกแบบคอนเซปต์คืออะไร

พ่อแปลเป็นภาษาไทยให้ว่า ‘งานออกแบบความคิดรวบยอด’ เป็นงานที่ใช้วิธีคิดแบบงานวิจัย ซึ่งเราซึมซับมาจากพ่อ ประกอบกับวิชากฎหมายและความรู้เรื่องธุรกิจจากการทำงานเขียน แทนที่จะเขียนแล้วพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ความคิดจากเราจะถูกสร้างเป็นอาคารหรือโครงการต่างๆ คล้ายกับการทำคอนเซปต์ของแบรนด์ให้สถาปนิกและนักออกแบบไปทำงานต่อ ไม่ว่าใครจะทำอะไรกับแบรนด์ก็ต้องมาคุยคอนเซปต์กับเราก่อน

เข้าไปทำงานแปลกประหลาดนี้ได้ยังไง

ช่วงที่สามีเรียนที่ศศินทร์ เขากับเพื่อนๆ มักจะมาทำรายงานที่บ้าน ตอนนั้นเราเขียนงานให้นิตยสารผู้หญิงหลายเล่มจึงมีความเข้าใจเรื่องธุรกิจเครื่องสำอางบ้าง เลยได้ช่วยเขาทำรายงาน มีเพื่อนในกลุ่มนั้นทำงานให้ คุณชนินทธ์ โทณวณิก เขาถามว่าเราสนใจทำคอนเซปต์ให้ทางดุสิตธานีไหม ก็เลยได้ทำเทวารัณย์สปา (Devarana Spa)

งานที่ต้องทำคืออะไร

เหมือนทำงานวิจัย เราต้องไปคุยกับทีมงานทุกแผนก ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของโรงแรมเป็นคนชาติไหน จำนวนเท่าไหร่ เขาส่งเราไปดูงานสปา 23 แห่ง ไปบาหลีและหลายๆ ที่ ซึ่งไม่ได้สบายอย่างที่คิดนะ ทุกครั้งที่ไปดูงานต้องเขียนรายงานกลับมา

งานนี้ให้อินทีเรียทำไม่ได้เหรอ

งานของเราจะช่วยให้แก่นขององค์กรชัดเจนขึ้น ถ้าโรงแรมคุยกับนักออกแบบโดยตรงอาจจะถูกเทรนด์โลกชักจูงได้ เราเคยเกือบจะวางมวยกับอินทีเรียเลยนะ เขาบอกว่าถ้าเป็นสปายังไงก็ต้องออกแบบให้เป็นถ้ำมืด เราก็ไม่ยอมและอธิบายเขาว่า เรานวดให้ทวดเรากลางบ้านสว่างๆ ถ้าทวดเคลิ้มทวดก็หลับ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการออกแบบสปาเลยนะ หลังจากนั้นสปาสีขาวก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ต่างจากเมื่อก่อนที่ทุกที่เหมือนๆ กันหมด เพราะทุกคนไปดูงานที่บาหลี

คุณเพิ่งทำงานนี้เป็นครั้งแรก ไปเอาความมั่นใจจากไหนมาเถียงกับอินทีเรีย

เราได้โจทย์จากลูกค้าว่า ต้องการสิ่งใหม่ แปลก แตกต่าง และไม่เคยมีในตลาดสปา การทำอะไรเหมือนคนอื่นมันง่ายนะ แต่เราไม่ยอม งานเราต้องไม่ลอกเลียนแบบใคร เรามารู้ตอนเขียนหนังสือ Italy Crafted 20 ปีต่อมา ว่าเป็นวิธีคิดที่อิตาลีมากๆ คนอิตาลีเขาจะแข่งกันไม่ทำตามใคร ไม่ว่าจะอยู่ในแว่นแคว้นไหนเขาจะไม่ยอมทำงานออกมาให้เหมือนกัน

สิ่งที่ทำให้มั่นใจขึ้นเรื่อยๆ คือการตอบคำถามของบอร์ดบริหารได้หมด เขามีมุมมองที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง เมื่อเราใช้วิชาตรรกศาสตร์คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เราก็ตอบได้หมด เป็นช่วงที่ความมั่นใจของเรากลับมา เพราะมีแต่คนถามว่ามาทำงานนี้ได้ยังไง ขนาดเอเจนซี่ใหญ่ๆ ยังไม่มีใครได้ทำงานคอนเซปต์ให้ที่นี่เลย หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ

อะไรคือเบื้องหลังการทำงานของคุณที่คนไม่ค่อยรู้

ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถ้าเริ่มที่จัดการกับตัวเองได้ ทุกอย่างก็จะไหลไปได้ตามครรลองของมัน งานอิสระเป็นงานที่ต้องอาศัยวินัย ซึ่งเรามีแยะทีเดียว เราจริงจังกับการทำงาน และให้ความสำคัญกับความสม่ำเสมอ ทุกคนที่ทำงานกับเราจะรู้ว่าเราอึดและฮึดสู้ เราเชื่อว่ากรรมคือผลของการกระทำ ทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ถ้าตั้งใจมาก คิดเยอะ งานก็ออกมาดี เป็นตรรกะง่ายๆ ไม่มีทางหรอกที่เราไม่ลงแรง ไม่อดทน ไม่เหนื่อยยาก แล้วจะได้ความสำเร็จมาแบบสบายๆ ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน

พลอย จริยะเวช
พลอย จริยะเวช
5

ศิลปิน – นักออกแบบ – นักคิด – นักออกแบบความคิดรวบยอด

อะไรคือจุดเปลี่ยนของชีวิตพลอย จริยะเวช

ตอนอายุ 38 เรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เหมือนเราวิ่งมาราธอนมา 100 รอบแล้วเครื่องพัง ป่วยเป็นไทรอยด์ต่ำ ความคิดตัน เพราะเราพยายามเยอะไป เครียดแบบที่เราไม่รู้ว่าเราเครียด นอนไม่หลับ และกินไม่หยุด ไม่อยากทำงานแล้ว อยากออกจากวงการนี้เพราะไม่รู้จะเขียนอะไรแล้ว

เป็นแบบนั้นอยู่นานเท่าไหร่

3 ปี ไม่อยากเจอใคร คิดอะไรก็ไม่ออก ทุกคนพยายามแนะนำ ทำอย่างนั้นสิ อย่างนี้สิ ทุกคนเริ่มคิดแทนเรา ต้องทำแบรนด์ตัวเองแบบนี้ ต้องออกผลิตภัณฑ์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราไม่อยากเป็นแบบนี้อีกต่อไปแล้วก็เลยตัดสินใจตั้งเครื่องใหม่

ด้วยการ

ตัดสินใจกลับมาเขียนหนังสือ เราเขียน Non-fiction ไม่ว่าจะเขียนหนังสือเล่มไหน เราจะทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นจริงหมด แม้บางเรื่องที่เขียนตอนเด็กจะทำให้รู้สึกว่าตัวเองแก่แดด ตอนนั้นเราเขียนเรื่อง Happy & Healthy เพราะเราอยากมีชีวิตที่สมดุล เราคิดว่าต้องทำเองให้ได้จริงๆ เราโตมากับสายงานค้นคว้า ทฤษฎีใดๆ เรารู้หมดแล้ว แต่การลดน้ำหนักบางวิธีมันทำไม่ได้หรอกเพราะรูปร่างเราไม่เหมือนกัน หลักการของเราคือ Personalize เราเชื่อในความแตกต่าง เราซ่อมร่างด้วยการรู้ปัญหาที่แท้ของเราก่อน และเราจะไม่ทำตามใครหรือสูตรไหนเด็ดขาด เราพบว่า หนึ่ง เราเครียดเราจึงกิน สอง สิ่งที่ทำให้อ้วนคือช็อกโกแลต และสาม เราไม่ได้ออกกำลังกายเลย เราจึงปรับการออกกำลังกายและการกินให้เท่ากัน เลือกกินสิ่งที่เหมาะกับร่างกายของตัวเอง

ชีวิตที่ดีในแบบของคุณคืออะไร

คือการที่เรารับมือกับความร้ายในชีวิตได้ ชีวิตมันก็ร้ายกับเราเยอะนะ อย่างตอนที่พ่อเสีย เราไม่คิดว่าจะอยู่ได้ แต่พอผ่านไปเราก็อยู่ได้ นั่นคือเราสงบขึ้น เพราะรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ต่างจากตอนอายุ 20 – 30 วัยนั้นเราเป็นคนที่แคร์คำพูดคนอื่นมาก เก็บเอามาคิด แต่พอยิ่งแก่ขึ้น เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ก็รู้ว่าไม่จำเป็นต้องรับกับสิ่งที่ทำไม่ได้

เช่น

เขามีสิทธิ์คิดว่าเราควรจะเป็นแบบไหน แต่ถ้าเราต้องทำตามสิ่งที่เขาคิด ชีวิตเราคงลำบากขึ้นไปอีก ด้วยอาชีพการงาน เราเจอคนที่คาดหวังกับเราเยอะมาก บอกเราว่าเราควรจะเป็นแบบนี้ ควรจะทำแบบนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งคนถามเราเยอะมากว่าเมื่อไหร่จะเป็นบรรณาธิการ

นั่นสิ เราก็อยากรู้

เราชอบเขียนคอลัมน์มากกว่า เราตั้งเป้าหมายว่าจะออกหนังสือปีละ 1 เล่ม และยังสนุกกับการทำงานที่ได้พบเจอหัวข้อที่หลากหลาย คนทั่วไปมักจะคิดว่าทุกต้องเติบโตแบบที่ค่อยๆ ก้าวขึ้นสู่ที่สูง แต่เราอยากเติบโตแบบขยายด้านข้าง มันอาจจะไม่สง่างามเท่าก้าวตามบันไดขึ้นที่สูง แต่เราเชื่อว่าถ้าสลับทิศบันไดมาวางตามแนวนอน ผลลัพธ์โดยรวมคงไม่ต่างกัน การที่เราเป็นอย่างนี้ ก็ประสบความสำเร็จได้ เป็นความสมดุลในแบบของเรา

การโตออกทางด้านข้างทำให้คุณต้องหัดทำให้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่รู้สึกลำบากใจที่ต้องไปหัดทำอะไรพร้อมเด็กๆ ใช่ไหม

เราภูมิใจนะ บางทีไปออกงานแล้วเจอIllustrator รุ่นน้องๆ ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา Juli Baker and Summer และ ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล ซึ่งเด็กกว่าเรามากๆ เราก็รู้สึกดีนะ เพราะเหมือนงานศิลปะมันไม่มีวัย คนเลือกใช้งานคุณเพราะลายเส้นคุณ แนวคุณ ไม่ใช่เพราะคุณวัยไหนหรือรุ่นใด ด้วยงานวาดที่เกิดจากการจับพลัดจับผลู พอสิ่งนี้ทำเงินได้เยอะเราก็ดีใจ โชคดีที่เราเข้ามาวาดในวัยที่เรารู้แล้วว่าเราต้องการวาดอะไร เราจะไม่ทำตัวเหมือนตอนเร่ิมเขียนหนังสือแล้ว เพราะมันเหนื่อยเกินไปที่จะเริ่มต้นด้วยวิธีสุดโต่งแบบนั้น

คุณวาดรูปเพื่ออะไร

วาดเพื่อบำบัด กับงานเขียนหนังสือที่เราตั้งใจหาข้อมูลให้มาก ก่อนจะย่อยเรื่องออกมาเป็นภาพวาด ซึ่งเป็นกระบวนการที่เราทำเพื่อจัดลำดับความคิด และการวาดรูปทำให้เราเขียนหนังสือดีขึ้นได้จริงๆ

ปีที่ผ่านมาลายเส้นของคุณไปอยู่กับสินค้าของแบรนด์ดังระดับโลกเยอะมาก คุณคิดงานยังไง

เราออกแบบภาพวาดบนเครื่องกระเบื้องชุดอาหารเช้า 8 ชิ้น ให้ Noritake ต้องเขียนคอนเซปต์ก่อนทำ Proposal แล้วจึงสเกตช์แบบเสนอทางญี่ปุ่น เราต้องรู้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รู้วัตถุประสงค์การใช้งาน เป็นการรวมความเป็น Concept Designer กับ Product Designer เราเป็นศิลปินวาดลวดลายและออกแบบจัดวางเองด้วยตัวเองทั้งหมด ออกมาเป็นคอลเลกชันเครื่องกระเบื้อง Singora Swan ตามชื่อโบราณของเมืองสงขลา

นอริตาเกะเป็นแบรนด์เครื่องกระเบื้องเก่าแก่ที่สุดแบรนด์หนึ่งของญี่ปุ่น นอริตาเกะเป็นคนประกอบร่างเพื่อผลิต และให้คำแนะนำเพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์ เราทำงานร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอยู่บนหลักการและเหตุผล งานก็จะวิวัฒน์ไปในทางที่ดีที่สุด นี่คือการ Collaboration ที่แท้จริง เขาไม่ได้มองเราเป็น Supplier ที่รับจ้างออกแบบ รับจ้างผลิต

เราจะรู้ได้ยังไงว่าอะไรคือ ‘งานที่ทำได้ดี’ ไม่ใช่แค่ ‘งานที่ทำได้’

เมื่อลองทำงานเยอะๆ หนักๆ หลากหลาย และตั้งใจทำจนสุดทาง จะรู้แจ้งเองว่างานไหนเราทำได้ และงานไหนเราทำได้ดี ช่วงอายุ 20 – 30 จึงเป็นช่วงที่สนุกที่สุดของเรา แต่พอเข้าช่วงอายุ 30 นี่เกลียดมาก เป็นช่วงที่รู้สึกหนักหนาไปหมด มีช่วงสับสน คิดไม่ออก หมดพลัง จนเมื่อเข้าอายุ 40 เป็นอีกช่วงของชีวิตที่รักมาก

คุณทำอะไรก็ดูจะสำเร็จไปหมด มันเป็นเรื่องของจังหวะหรือโชคด้วยไหม

สำหรับเรามันไม่ใช่เรื่องจังหวะดีหรือโชคดีอย่างเดียว มันต้องเกิดจากสติที่จะรู้ได้ด้วย หมายถึงมองออกว่าจังหวะนี้มันใช่ เวลานี้ควรทำหรือไม่ควรทำอะไร มันเกิดจากวิจารณญาณ ทักษะ ความสามารถ และฝีมือที่จะจับจังหวะและไหลไปได้ เหมือนคนเล่นกระดานโต้คลื่น คุณต้องเรียนรู้การประคองตัวบนบอร์ดอย่างชำนาญ รู้ทิศทางลม อ่านคลื่นออก แรงขาแรงแขนต้องแกร่ง ซึ่งต้องผ่านการฝึกอย่างหนัก นอกจากว่ายน้ำแข็งคุณอาจต้องจัดตารางยกเวตสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและอื่นๆ เพื่อจะล้มเผละสำลักน้ำไปไม่รู้กี่รอบถึงจะจับจังหวะคลื่นในทะเล ประสานร่างกายตัวเองให้บังคับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้โต้คลื่นได้ มันยากและมีรายละเอียดซับซ้อน การอยู่ถูกที่ถูกเวลามาทีหลังการฝึกตนอย่างหนัก

เวลาทำงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน กลัวว่าจะล้มเหลวบ้างไหม

ถ้าตัดสินใจว่าจะทำอะไรแล้ว เราไม่กลัวว่าจะทำไม่ได้หรือล้มเหลวเลย เราต้องมองให้ออกว่าขั้นตอนการทำงานตั้งแต่ 0 – 10 ต้องเจอกับอะไรบ้าง เราจะจัดการกับมันอย่างไร ต้องคิดทำความเข้าใจทุกโอกาสที่เข้ามาให้แตกก่อนคว้ามัน จะได้ไม่พลาด วันนี้พูดแบบนี้ได้เพราะช่วงอายุ 20 – 30 เราทำแบบนี้ไม่ได้ ยังเป็นนักโต้คลื่นฝึกหัด หล่นจากบอร์ดสำลักน้ำจนแสบจมูก แต่พอฝึกหนัก มีทักษะครบ มีสติ มองโอกาสต่างๆ ได้ขาด ย่างเข้าอายุ 40 ทุกอย่างก็ราบรื่นขึ้น

อายุที่มากขึ้นเป็นอันตรายกับการทำงานสร้างสรรค์ไหม

ไม่เลย เราไม่เคยคิดว่าเราแก่เลยนะ พ่อเคยบอกไว้เมื่อ 20 – 30 ปีก่อนว่า โลกยุคหน้า อายุจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ เขาจะไม่พูดถึงกันเรื่องวัย แต่จะพูดเรื่องความสนใจร่วม การเสพงานศิลปะของคนสมัยนี้เขาไม่สนใจหรอกว่าคนวาดอายุเท่าไหร่ รุ่นใหญ่หรือรุ่นเล็กแค่ไหน คนเกาหลีญี่ปุ่นที่มาซื้องานเราอาจจะคิดว่าเราอายุ 12 ก็ได้

ตอนนี้คุณยังตามเทรนด์โลกแบบเดียวกับตอนอายุ 28 ไหม

เมื่อก่อนเรามองหาสิ่งใหม่ๆ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราสนใจอะไร เราก็จะเลือกอ่านหรือเสพแต่สิ่งที่เราสนใจ ถ้าเป็นเรื่องเทรนด์ในกระแสหลักจะรู้โดยบังเอิญมากกว่า เช่น เราชอบงานของ Dries Van Noten ก็จะมีแต่คนบอกว่างานที่ Dries ทำร่วมกับนักวาดภาพประกอบชื่อ Gill Button มีลายเส้นคล้ายกับของเรา เราคิดว่าให้ความสนใจที่แท้แพสชันที่จริงนำเราไปเจอเทรนด์ น่าจะดีกว่ายั่งยืนกว่า

พลอย จริยะเวช
พลอย จริยะเวช
พลอย จริยะเวช
6

ผู้มีอิทธิพล

ภาพในอินสตาแกรมเกือบครึ่งของคุณคือภาพอาหารเช้า ทำไมการจัดจานอาหารเช้าถึงสำคัญกับคุณขนาดนั้น

เราจัดสำรับอาหารเช้าทุกวันติดต่อกันมา 9 ปีแล้ว ทึ่งตัวเองเหมือนกันนะ มันเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเริ่มต้นวัน 2 – 3 ปี มานี้ใช้เวลาจัดจาน 5 นาทีเสร็จ เพราะสามีเร่งทุกเช้า ยิ่งจัดยิ่งอยู่มือ เป็นวิธีเจริญสติในแบบของเรา ฝึกดูสัดส่วน สีสัน รูปทรง จานชามภาชนะ โดยจะคิดเมนูไว้ตั้งแต่กลางคืน นอกจากเก็บไว้เป็นบันทึกลีลาการขยับจัดวางแล้ว กิจกรรมจัดสำรับยังช่วยให้เราทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ดีขึ้นด้วย

เวลามีคนบอกว่าชีวิตคุณดีจัง คุณตอบเขาว่าอะไร

ขอบคุณค่ะ! เวลาชีวิตไม่ดีก็มีนะคะ เพียงแต่เราไม่ได้นำออกมาให้ใครเห็น ไม่ได้อายนะคะ แค่ไม่ชอบปล่อยพลังลบออกไปสู่โลกที่เต็มไปด้วยมลพิษ ทุกวันนี้มีมลภาวะหลายสิ่งอวลอยู่เต็มไปหมดแล้ว เราไม่ชอบบ่น ไม่ใช่คนฟูมฟาย อยากเอาเวลาไปแก้ไขให้ชีวิตดีขึ้นให้ปัญหาหมดไป หรือตั้งสติจัดการความทุกข์มากกว่า ก็เลยกลายเป็นว่าดูมีชีวิตที่ดี

สามีของคุณมีไลฟ์สไตล์เหมือนคุณไหม

เป็นความตั้งใจของเราตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่หาแฟนที่เหมือนพ่อเรา ไม่จำเป็นต้องเป็นนักคิดนักเขียน แต่แก่นความคิดถ้าเป็นไปได้ขอให้เหมือนพ่อเรา ซึ่งพี่อ๋อง (พันเอกธีระ จริยะเวช) เป็นคนแบบนั้น ความรู้ความสนใจแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่แก่นความคิดเหมือนพ่อ เกลียดการประจบสอพอ ไม่พูดมาก เป็นผู้ชายนิ่งๆ ส่วนรายละเอียดในชีวิตอื่นๆ ไม่เหมือนกับพ่อเลย ก็เร้าใจดี

มีปัญหาจากไลฟ์สไตล์ที่ไม่ตรงกันบ้างไหม

ก็มีนะ ปีแรกเกือบหย่าเลย เราคิดว่าเมื่อก่อนเขาก็คงไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่เราก็ไม่พยายามเปลี่ยนเขานะ รู้ตัวอีกทีเราก็รับความต่างของเขาได้หมด เพราะเขาเป็นคนดีมาก ชอบ พอใจทุกอย่าง

คนทั่วไปเดาว่าคนน่าจะชอบผู้ชายเก๋ๆ เท่ๆ เหมือนคุณ

เราก็คิดว่าเขาเท่หลบในนะ เราชอบความนิ่งของเขา เขาไม่ใช่ผู้ชายสติแตกหรือขี้โม้ เขาไม่เป็นคนแบบนั้นเลย และของนอกกายก็ไม่สำคัญกับเขาขนาดนั้น

คู่รักบางคู่อาจจะรู้จะจักกันประมาณหนึ่งก่อนแต่งงาน เรารู้จักเขาตั้งแต่อายุ 18 ปี คบกัน 4 – 5 เดือนก็แต่งงานกันแล้ว ตอนนี้ยังคิดอยู่ตลอดเลยว่าถ้าเราแต่งงานกันตอนนี้ต้องสนุกมากแน่ๆ เพราะตอนแต่งงานเราไม่รู้จักกันเลย ไม่รู้ว่าเขาชอบอะไร

แล้วทำไมตัดสินใจแต่งงานกันเร็ว ไม่กลัวว่าจะรู้จักกันไม่ดีพอ

พ่อบอกว่าถ้าแต่งแล้วไม่ดีก็เลิกเลย หย่าได้

อูย คุณพ่อเปรี้ยวมาก

ใช่ไหม แต่แม่ก็จะตีปากพ่อตลอดเวลา แม่เราคนขั้วกับพ่อเลย พ่อพูดเรื่องนี้ตลอด เรื่องที่น่ารักคือ วันที่เราแต่งงานพ่อร้องไห้หนักมาก ร้องไห้จนเราสงสารเลย

ตอนนี้เรื่องงานดูจะไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิตของคุณมากเท่าเมื่อก่อน

คงช่วงที่พ่อเริ่มป่วยด้วยมั้ง เราจึงปรับวิธีคิด วิธีทำงานของเรา เพราะอยากสร้างงานที่แตกต่างจากเดิม งานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกเปลี่ยนไป คนมีตัวเลือกเยอะขึ้น ถ้าอยากจะอยู่ให้ได้ เราต้องทำอะไรที่อยู่เหนือกาลเวลา สร้างงานที่มีคุณค่าเพื่อให้งานลึกขึ้น โดยไม่รับงานเยอะเหมือนแต่ก่อน และให้เวลากับสิ่งที่ต้องทำจริงๆ เป็นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิต มากกว่าออกไปโลดแล่นตามที่ต่างๆ เหมือนเดิม หลังๆ เราให้ความสำคัญกับพลังหรือ Vibe มาก

คุณทำอะไรก็สำเร็จไปหมด มีส่ิงที่คุณทำแล้วไม่สำเร็จบ้างไหม

มี หนึ่งในนั้นคือ การทำขนมขาย เราคิดอย่างหลงตัวเองว่าเราทำขนมอร่อยนะ ที่มั่นใจมากเพราะทั้งชีวิตเรากินขนมมาเยอะ เราก็ทำให้ดีได้นะ เพียงแต่เราไม่ได้รักมันมากพอ ก็เลยไม่ประสบความสำเร็จกับการทำขนมขาย อย่างงานคอลเลกชันกระเบื้องที่ทำให้แบรนด์ Asiatides ของปารีส ก่อนหน้านี้มีพี่ที่รู้จักจะช่วยเอางานไปให้ทางฝรั่งเศสดู แต่เราก็บอกว่าอย่าเลยเพราะมันยังไม่ดีพอ คือเราต้องรู้ตัวด้วยนะ ไม่ใช่แค่มีคนสนับสนุนแล้วเราจะไปนะ เราต้องรู้ขีดจำกัดของตัวเอง

พลอย จริยะเวช
พลอย จริยะเวช

อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้งานทุกอย่างของคุณดีงามไปทุกสิ่ง

คงเหมือนคำที่พ่อบอกว่า งานที่เราทำเป็นการออกแบบความคิดรวบยอด และการที่เราเป็นคนเด็ดขาด เรารู้ว่าถ้าทำสิ่งนี้แล้วจะพัง เราเลือกไม่ทำดีกว่า เราไม่ได้ทำได้ดีทุกเรื่องหรอก แต่เราเลือกแล้วว่าถ้าจะทำ ต้องทำให้ดี ถ้ามีสิ่งที่เราทำได้มาให้เลือก 20 สิ่ง เราก็เลือกทำแค่ 2 สิ่ง แล้วทำให้ออกมาดีมากๆ คนจะจดจำงานชิ้นนี้ได้ยาวนานกว่า เราถึงอยากทำงานที่อยู่เหนือกาลเวลา กลับไปอ่านหนังสือเล่มแรกของเราก็ยังอ่านได้อยู่

สิ่งที่เราไม่หวังเลยคือผลของงานว่าจะสำเร็จแค่ไหน ถ้าเราทำงานของเราอย่างดีที่สุดแล้ว มันจะออกมาดี แต่คนจะชอบหรือไม่ชอบอยู่เหนือการควบคุมของเรา ดังนั้น เราควบคุมอะไรได้ เราก็ใส่แรงกับตรงนั้น อย่าไปคิดถึงสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เพราะจะทำให้พลังในตัวเรากระฉอก

คุณมีความทุกข์บ้างไหม

ช่วงที่เขียนเรื่องโรงแรมที่ระยอง บอกเลยว่าเป็นช่วงที่จิตใจเราแย่ที่สุดในชีวิตแล้ว สารภาพเลยว่าเกิดมา 48 ปีเพิ่งมีความทุกข์ เราพบว่าที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องทุกข์เลย มันก็แค่อะไรที่มาสะกิดอารมณ์ เมื่อเทียบกับเรื่องที่พ่อเสีย

คุณจัดการกับความทุกข์นั้นยังไง

ก็เหมือนทุกคน เราพยายามทำใจ คิด และตั้งสติอยู่กับปัจจุบัน

แม้พ่อจะเสียไปแล้ว เขาก็เหมือนมีคำตอบอยู่ในต้นฉบับของเขาเสมอ ในห้องทำงานพ่อมีตู้ที่เราเรียกว่า ตู้วิเศษ ในนั้นประกอบด้วยชีวิตของเขาทุกอย่าง แล้วก็มีเราอยู่ในนั้น วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ป้ายชื่อที่ไปเป็น Visiting Professor ร่างรัฐธรรมนูญ จดหมายทุกฉบับจากเรา งานเขียนของพ่อ หรือใบประกาศต่างๆ ที่ภูมิใจ จดหมายจากลูกศิษย์ที่รัก เฟรนด์ชิพสมัยเรียนที่วชิราวุธ จดหมายรายงานผลการเรียนของเราที่ปู่เขียนไปหาพ่อที่อเมริกา หรือแม้แต่เศษกระดาษที่เราเขียนถึงเขาด้วยลายมือในเนื้อความที่เราเองก็จำไม่ได้ ก็ยังหนีบอยู่กับการ์ดแต่งงานของเรา

เราเห็นตู้นี้มาตลอดแต่ไม่เคยรู้เลยว่าในตู้นั้นมีอะไร เราเปิดตู้ออกมาตอนทำหนังสือ พุทธะในปราด้า และรู้สึกประหลาดใจมากเหมือนเขามาจากอนาคต เพราะเขาเรียงทุกอย่างที่เราต้องการไว้ในนั้นอย่างเป็นลำดับ

ความทุกข์ครั้งนี้สอนอะไรคุณบ้าง

คราวนี้เริ่มคิดว่าแก่แล้วไม่ดีตรงที่ต้องเจอกับความพลัดพราก เราเขียนในหนังสืองานศพพ่อว่า เราได้อะไรมาเยอะ ได้รับความรักมาเยอะ เราก็ต้องยอมที่จะทุกข์ให้เยอะ มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องความสมดุลของโลก ถ้าเราไม่ได้ผูกพันกับพ่อ ได้รับความรักน้อยเราก็คงไม่รู้สึกทุกข์ขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ก็ถูกต้องแล้วที่เราเป็นแบบนี้ เราพยายามคิดให้ได้แบบนั้น

พลอย จริยะเวช
พลอย จริยะเวช
7

นักเขียน – นักเดินทาง – นักสังเกตการณ์พฤติกรรมเจ้าถิ่นในจังหวะและระยะที่สบายใจ

หนังสือเล่มล่าสุด ลีลาอิตาลี คุณสนใจอะไรเกี่ยวกับอิตาลี

เราไปอิตาลีทุกปีติดต่อกันมา 18 ปี เราไม่กล้าพูดไม่กล้าบอกว่าเข้าใจจิตวิญญาณอิตาลี ไม่ได้อยากจะไปเป็นคนอิตาลีด้วย เพราะกับเมืองไทยเองเราก็ยังตื่นเต้นกับอุดรธานีและสงขลาเสมอ ยังมีนครพนมกับมุกดาหารอีกที่เรายังไม่รู้จัก ดังนั้น สำหรับอิตาลียังไงเราก็เป็นคนนอกอยู่ดี เราค่อยๆ มองหาว่าเราชอบอิตาลีเพราะอะไร เราชอบวิธีคิดของพวกเขาที่ไม่ต้องการทำอะไรตามกัน คิดทุกอย่างขึ้นมาใหม่ให้เหมาะเจาะกับวิถีชีวิตในพิกัดแวดล้อมที่ตั้งเมือง เราว่าคนอิตาลีเข้าใจว่าความรื่นรมย์ในชีวิต ไม่ได้มีรูปแบบเดียว ทุกคนมีชีวาแสนหวานได้ในทุกสภาวะ และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เราเองไม่ว่าจะใช้ชีวิตหรือคิดงาน เรามีความสุขกับการคิดอะไรที่ไม่ซ้ำใคร ซึ่งมาจากความเข้าใจและยอมรับตัวตนที่แท้

คุณเขียนไว้ในหนังสือว่า “เดินทางเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ สนใจวิถีชีวิต พฤติกรรมเจ้าถิ่น จังหวะและระยะสบายใจ” ตอนไหนที่เริ่มมีความเชื่อแบบนี้

เราไม่ใช่นักเดินทางประเภทที่จะต้องเข้าไปถึงชุมชนนั้นๆ จนลึกสุดใจ แต่จะมีความเกรงใจว่าเราเข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของเจ้าถิ่นหรือเปล่า อย่างที่เล่าไว้ในหนังสือ ลีลาอิตาลี ตอนไปเมืองเตรียสเต้ (Trieste) ทางตอนเหนือของอิตาลี ถามพนักงานที่ดูแลโรงแรมกึ่งอพาร์ตเมนต์ที่เราพักว่าคุณชอบไปกินอาหารร้านไหน ร้านโปรดที่คุณไปกินประจำ เราอยากไปร้านนั้น ก็คงเป็นแบบคนทั่วไปแหละคืออยากไปในที่ที่ ‘ไม่มีนักท่องเที่ยว’ ที่ตลกคือตัวเราเองก็เป็นนักท่องเที่ยวนะ ถ้าได้ไปที่แบบนั้นมันจะยกสถานะให้เรากลายเป็นนักเดินทางหรืออย่างไรไม่ทราบ พอเราไปถึงก็พบว่ามีแต่ชาวเมืองจริงๆ แต่เรากลับรู้สึกว่าตัวเองแปลกปลอมมาก ไปทำให้บรรยากาศความเป็นท้องถิ่นที่แท้แปร่งๆ ไป

ยังไง

แม้ลุงขี้เมาเจ้าถิ่นต้อนรับเราดีมาก สนุกสนาน ทำให้คิดถึงเพื่อนที่ชอบผจญภัย ขั้นคลุกวงในซึ่งอาจมีการตามลุงขี้เมาไปถึงบ้าน จนทำให้รู้จักเตรียสเต้แบบถึงกึ๋นอย่างไม่มีใครรู้จักมาก่อน ซึ่งไม่ใช่เรา จังหวะและระยะสบายใจของเราคือสนใจวิถีชีวิต พฤติกรรมเจ้าถิ่นแบบคนนอกที่เข้าไปด้อมๆ มองๆ ด้วยความเคารพเกรงใจ มีเพื่อนฮ่องกงชื่อคาเรน หว่าน คาเรนจะแนะนำร้านประจำของนางให้เรารู้จักแยะมาก แต่ถ้าร้านไหนเธอรักเป็นพิเศษจะบอกเราว่าร้านนี้ยูห้ามเขียนออกสื่อนะ ฉันรำคาญนักท่องเที่ยว มันเป็นร้านประจำของฉัน เราอาจจะเป็นคนที่บังเอิญเจอแต่เจ้าถิ่นอินโทรเวิร์ตก็ได้ เลยทำให้เรามีระยะตรงนี้

หากต้องเขียนหนังสือเล่มหน้าเป็นเล่มสุดท้าย หนังสือเล่มนั้นจะเกี่ยวกับอะไร

คงเป็นหนังสือที่เราได้เล่ามุมมองต่อหลายๆ สิ่งที่เราสนใจ เพื่อให้คนอ่านเข้าใจเรื่องนั้นๆ เยอะขึ้นไม่ได้จำกัดวงความสนใจเหมือนเคย ที่ผ่านมา งานเราจะมีแต่บทความแนะนำสถานที่ และเราก็รู้ว่าเราไม่ควรเขียนแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว ควรจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กว่านั้น ทั้งจากประสบการณ์ที่มี และจากสิ่งที่พบเจอ จะเห็นว่าในหนังสือสองเล่มล่าสุด พุทธะในปราด้า และ ลีลาอิตาลี เราพยายามขึ้นมาก และชีวิตรันทดขึ้นมากกับการคิด

ใน ลีลาอิตาลี เราอยากให้คนเห็นอิตาลีอีกแง่มุม ชีวิตดีๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก ซึ่งมีให้เห็นมากมายในอิตาลี ยกตัวอย่างเมืองๆ หนึ่งเป็นแคว้นที่ยากจนมาก เขามีธรรมเนียม ‘ลา พัสเซจจาตา’ (La Passeggiata) วิถีผ่อนคลายโดยไม่ใช้เงิน เพียงแต่งตัวสวยๆ และออกมาเดินเล่นบนถนนด้วยกันทั้งเมือง ทำให้เข้าใจว่าทำไมร้านรวงในยุโรปจึงมักปิดทำการช่วง 5 โมงเย็น หรือความเข้าใจที่มีต่องานคราฟต์เปลี่ยนไปหลังจากรู้จักกับอิตาลี คนที่นี่มีหัวใจของการเป็น Craftsman พอใจแล้วการเป็นผู้ผลิตที่ทำงานด้วยความรัก แม้ทั้งเมืองผลิตแต่เซรามิกขาย แต่ก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าวันหนึ่งแบรนด์จะต้องโด่งดังระดับโลกให้ได้

ช่วงสิบปีแรกของการทำงาน คุณพยายามตั้งใจทำงานเพื่อให้คนยอมรับ ตอนนี้คุณอยากให้คนยอมรับพลอย จริยะเวช ในด้านไหนที่สุด

ไม่ต้องการแล้ว แค่ตัวเองยอมรับตัวเองได้ก็พอแล้ว สิ่งหนึ่งที่อยากให้คนรู้ก็คือ มีคนสงสัยมากว่าเราทำงานอะไร ทำไมเรามีชีวิตที่ดูดี ดูสบาย ไม่เห็นทำงานอะไร งานที่เห็นก็ดูง่ายไปหมด เราอยากจะให้คนเหล่านั้นรู้ว่า เราทำงานนะ คนที่รู้จักเราจริงๆ จะรู้ว่าเราทำงานจริงจัง และใช้ความพยายามไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ เลย ถ้าจะมีใครสักคนอยากเป็นแบบเรา เราอยากให้เขาเป็นคนที่ตั้งใจทำงาน และทำงานหนัก

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล